บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทโทรคมนาคม-เทคโนโลยี ชั้นนำอันดับ 1 ของไทย และอันดับ 1 ของโลกด้านความยั่งยืน ด้วยคะแนน DJSI 2023 สูงสุดในกลุ่มอุตสาหกรรมโทรคมนาคมเป็นปีที่ 6 ติดต่อกัน ประสบความสำเร็จในการปิดดีลเงินกู้ที่เชื่อมโยงกับการดำเนินงานด้านความยั่งยืน (Sustainability-Linked Syndicated Loan) เป็นครั้งแรก มูลค่ารวม 141.3 พันล้านเยน (ประมาณ 33 พันล้านบาท) เพื่อนำเงินที่ได้ไปชำระคืนหนี้เดิม (Refinancing) และถือเป็นบริษัทแรกของไทยในกลุ่มธุรกิจโทรคมนาคม-เทคโนโลยี ที่ได้รับสินเชื่อความยั่งยืนดังกล่าว
การปิดดีลเงินกู้ที่เชื่อมโยงกับเป้าหมายด้านความยั่งยืนครั้งแรกของทรู คอร์ปอเรชั่นนี้ เป็นการเข้าสู่ตลาดเงินเยนของญี่ปุ่นเป็นครั้งแรก และเป็นสินเชื่อความยั่งยืนสกุลเงินเยนที่บริษัทไทยได้รับการสนับสนุนจากธนาคารญี่ปุ่นและธนาคารต่างประเทศชั้นนำมากที่สุด บริษัทฯ จึงตัดสินใจขยายวงกู้เพิ่มขึ้นจากเริ่มแรก 109.9 พันล้านเยน เป็น 141.3 พันล้านเยน เพื่อนำเงินที่ได้ไปชำระคืนหนี้เดิม
ทรู คอร์ปอเรชั่น เป็นบริษัทโทรคมนาคม-เทคโนโลยีรายแรกของไทยที่ได้รับวงเงินกู้ซึ่งเชื่อมโยงกับการดำเนินงานด้านความยั่งยืน (Sustainability-Linked Syndicated Loan) และถือเป็นก้าวสำคัญในการมุ่งสู่เป้าหมายด้านความยั่งยืนของบริษัท อีกทั้งวงเงินกู้ที่ได้รับนี้ยังมีความเชื่อมโยงและสอดคล้องกับเป้าหมายการบริหารทางการเงินและการลดต้นทุนของบริษัท สำหรับเกณฑ์การวัดผลการดำเนินงานด้านความยั่งยืนสำคัญ 2 ประการ ได้แก่ (1) การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกใน Scope 1 และ Scope 2 และ (2) การเพิ่มการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในสถานีฐาน ตอกย้ำความมุ่งมั่นของทรู คอร์ปอเรชั่นในการมุ่งสู่การเป็นองค์กรที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ใน Scope 1 และ Scope 2 ภายในปี 2573 และมุ่งสู่เป้าหมาย ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2593 ตามแนวทาง Science-Based Target Initiative (SBTi)
วงเงินกู้ที่เชื่อมโยงกับเป้าหมายด้านความยั่งยืนของทรู คอร์ปอเรชั่นนี้ สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของบริษัทที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนในการดำเนินธุรกิจมาโดยตลอด รวมถึงเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล โดยในปี 2566 ทรู คอร์ปอเรชั่นได้รับคะแนนสูงสุดเป็นอันดับ 1 ของโลก จากทั้งหมด 166 บริษัทในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมสำหรับการประเมินความยั่งยืนขององค์กรโดย S&P Global เป็นปีที่ 6 ติดต่อกัน วงเงินกู้สกุลเงินเยนเชื่อมความยั่งยืนนี้เป็นการตอกย้ำถึงความมุ่งมั่นระยะยาวในการเพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียนและการนำเทคโนโลยีล้ำสมัย เช่น ปัญญาประดิษฐ์ มาใช้เพื่อลดการใช้พลังงานของบริษัท
นางสาวยุภา ลีวงศ์เจริญ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านการเงิน (ร่วม) บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า "บริษัท มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ธนาคารชั้นนำทั้งของญี่ปุ่นและต่างประเทศให้การสนับสนุนอย่างดียิ่งสำหรับวงเงินกู้สกุลเงินเยนที่เชื่อมโยงกับความยั่งยืนในครั้งนี้ และถือเป็นอีกก้าวสำคัญของทรู คอร์ปอเรชั่น ในการขยายฐานการระดมเงินไปยังตลาดต่างประเทศที่มีสภาพคล่องสูงและอัตราดอกเบี้ยเหมาะสม ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการบริหารการเงิน ลดความเสี่ยงตลอดจนเพิ่มความคล่องตัวทางการเงิน อีกทั้งยังสอดคล้องและส่งเสริมเป้าหมายของทรู คอร์ปอเรชั่น ในฐานะบริษัทโทรคมนาคม-เทคโนโลยี ชั้นนำอันดับ 1 ของไทย และอันดับ 1 ของโลกด้านความยั่งยืน
ทรู คอร์ปอเรชั่นมุ่งเน้นการสร้างคุณค่าที่ยั่งยืนผ่านการยกระดับประสบการณ์ลูกค้า การเติบโต และผลประโยชน์จากการควบรวม ทั้งนี้ เรามั่นใจว่าปี 2567 จะเป็นปีแห่งการเปลี่ยนแปลงสู่การเติบโตที่มีกำไร ในขณะที่ปี 2568 จะเป็นปีแห่งการทำกำไรอย่างยั่งยืนและการสร้างคุณค่าให้กับลูกค้า อุตสาหกรรม ตลาด และประเทศไทยโดยรวม การเติบโตอย่างยั่งยืนนี้มาจากผลประโยชน์จากการควบรวม การมีวินัยทางการเงิน การควบคุมต้นทุน การใช้เทคโนโลยีเพื่อยกระดับบริการให้ลูกค้าพึงพอใจสูงสุด และการให้ความสำคัญสูงสุดกับคุณภาพเครือข่าย”
วงเงินกู้ที่เชื่อมโยงกับการดำเนินงานด้านความยั่งยืนของทรู คอร์ปอเรชั่นนี้ เป็นการร่วมปล่อยกู้จากกลุ่มธนาคารชั้นนำ โดยมี Bank of China (Hong Kong) Limited, BNP Paribas (ดำเนินการผ่านสาขาสิงคโปร์), DBS Bank Ltd, Mizuho Bank, Ltd., Natixis สาขาสิงคโปร์, Oversea-Chinese Banking Corporation Limited, Standard Chartered Bank (Singapore) Limited และ Sumitomo Mitsui Banking Corporation เป็นผู้จัดการสินเชื่อร่วม (Mandated Lead Arrangers and Bookrunners) Mizuho Bank, Ltd. ทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานการจัดอันดับเครดิตกับบริษัทจัดอันดับเครดิต JCR ของญี่ปุ่น และ Sumitomo Mitsui Banking Corporation ทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานด้านความยั่งยืน
กลุ่มงานตลาดการเงิน ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB Financial Markets: SCB FM) เปิดเผยว่า เงินบาทแข็งค่าขึ้นเร็วตามราคาทองคำที่ปรับสูงขึ้นหลังสงครามอิสราเอลกลับมาปะทุ อีกทั้ง เงินเยนที่แข็งค่าขึ้นหลัง BOJ ขึ้นดอกเบี้ยตามตลาดคาดก็เป็นปัจจัยหนุนการแข็งค่าของเงินบาท นอกจากนี้ ตัวเลขตลาดแรงงานและเงินเฟ้อสหรัฐฯ ที่อ่อนแอกว่าคาดเป็นปัจจัยที่ทำให้บาทแข็งค่าขึ้นมาก่อนหน้านี้ด้วย ในระยะต่อไป ต้องจับตาผลการประชุม Fed คืนนี้ และการเลือกตั้งสหรัฐฯ ที่อาจทำให้ดัชนีเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น กดดันให้บาทกลับมาอ่อนได้ มองกรอบเงินบาทราว 35.50-36.00 ในช่วง 1 เดือนจากนี้
นายแพททริก ปูเลีย ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานตลาดการเงิน ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า เงินบาทในเดือนที่ผ่านมาแข็งค่าขึ้นเร็วเป็นผลจากหลายสาเหตุ คือ 1) ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาอ่อนแอกว่าคาด ไม่ว่าจะเป็นการจ้างงาน และอัตราเงินเฟ้อ (CPI) ที่ออกมาต่ำกว่าคาด 3 เดือนติดต่อกัน 2) เงินเยนที่แข็งค่าขึ้นต่อเนื่องหนุนให้เงินบาทแข็งค่าตาม โดยเงินเยนแข็งค่าจากที่ตลาดมองว่าธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) จะขึ้นดอกเบี้ยได้ ขณะที่ดอกเบี้ยในสหรัฐฯ มีแนวโน้มลดลง ทำให้ส่วนต่างดอกเบี้ยแคบลง ซึ่งล่าสุด BOJ ก็ขึ้นดอกเบี้ยนโยบายไป 15 bps มาอยู่ที่ 0.25% ทำให้เงินเยนแข็งค่าต่อ และ 3) ความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์โลกที่กลับมาปะทุขึ้น หลังอิสราเอลโจมตีเบรุต ทำให้ราคาทองคำสูงขึ้น หนุนให้บาทแข็งค่าขึ้นในช่วงข้ามคืน
สำหรับมุมมองในระยะข้างหน้า มองว่าเงินบาทอาจเผชิญแรงกดดันด้านอ่อนค่าได้ในระยะสั้นนี้ หากธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ไม่ส่งสัญญาณลดดอกเบี้ยดังที่ตลาดคาด ซึ่งจะทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ (Treasury yields) สูงขึ้น และกดดันให้บาทอ่อนค่าได้ นอกจากนี้ การเลือกตั้งสหรัฐฯ อาจทำให้ดัชนีเงินดอลลาร์ยังแข็งค่าต่อ และความไม่แน่นอนการเมืองไทยอาจส่งผลให้เงินทุนเคลื่อนย้ายอาจยังไม่ไหลกลับไทยได้เร็วนัก จึงมองเงินบาทราว 35.50-36.00 ในช่วง 1 เดือนนี้
ในระยะกลาง-ยาว การเลือกตั้งสหรัฐฯ มีแนวโน้มทำให้ดัชนีเงินดอลลาร์สหรัฐและ Treasury yields สูงขึ้น โดยหากโอกาสที่ Trump จะชนะการเลือกตั้งมีสูงขึ้น อาจส่งผลให้สกุลเงินภูมิภาคและเงินบาทอ่อนค่า และเป็นความเสี่ยง Tail-risk ต่อเงินบาท โดย SCB FM พบว่า เงินบาทจะได้รับผลกระทบจากนโยบายขึ้น Tariffs ทางอ้อม ผ่านแนวโน้มเศรษฐกิจจีนที่จะแย่ลง และ Correlation ระหว่างบาท-หยวนที่สูง ทำให้บาทอ่อนค่าตามเงินหยวน ทั้งนี้ ในวันที่มีการประกาศขึ้นภาษีนำเข้า (Tariffs) ต่อสินค้าจีนในปี 2019 ที่ทำให้สกุลเงิน EM และเอเชียอ่อนค่าลง พบว่าเงินบาทไม่ได้อ่อนค่าชัดเจนนัก (Direct impact ต่ำ) นายแพททริกประเมินว่า หาก Trump ชนะการเลือกตั้งและขึ้น Tariffs ดังที่ประกาศไว้ เงินบาทจะมีความเสี่ยง (Tail-risk) ที่อาจอ่อนค่าไปสู่ระดับ 38.10 บาทได้ (โดยให้ปัจจัยอื่นคงที่ และให้เงินหยวนอ่อนค่าไปที่ 8 หยวนต่อดอลลาร์)
สำหรับมุมมองอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล นายวชิรวัฒน์ บานชื่น นักกลยุทธ์ตลาดการเงินอาวุโส ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ (US Treasury yields) ที่ผ่านมาปรับลดลงเร็วจากเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ชะลอลง ทำให้ตลาดคาดการณ์ลดดอกเบี้ย 2 ครั้งในปีนี้ และให้โอกาสการลดดอกเบี้ยครั้งที่ 3 ราว 70% โดยนายวชิรวัฒน์ มองว่า Fed อาจลดดอกเบี้ยในเดือน ก.ย. และ ธ.ค. ส่วนการประชุม Fed ในคืนวันพุธนี้ คาดว่าน่าจะยังไม่ส่งสัญญาณลดดอกเบี้ยในการประชุมเดือน ก.ย. ชัดเจนนัก จึงเป็นความเสี่ยงให้ Treasury yields อาจมี Correction และปรับสูงขึ้นได้เล็กน้อย นอกจากนี้ มองว่าการ price-in ลดดอกเบี้ยครั้งที่ 3 มีมากเกินไป สะท้อนจาก GDP ไตรมาสที่ 2 ของสหรัฐฯ ที่ออกมาสูงกว่าตลาดคาด และล่าสุดมีการปรับเลข PCE เดือนก่อนขึ้น จึงมีสัญญาณว่าเงินเฟ้ออาจไม่ลดลงเร็วดังที่ตลาดบางส่วนกังวล ทำให้โอกาสที่ Fed จะลดดอกเบี้ยเร็วและแรงมีน้อยลง ดังนั้น Yields จึงอาจปรับสูงขึ้นจากระดับปัจจุบันเล็กน้อยได้ อีกประเด็นที่ต้องจับตาคือ ประกาศของกระทรวงคลังสหรัฐฯ ที่จะออกแผนการออกพันธบัตรในระยะต่อไป ซึ่งนายวชิรวัฒน์ คาดว่าจะคงการออกพันธบัตรในไตรมาส 3 เท่าเดิม แต่มีโอกาสที่จะออกพันธบัตรมากขึ้นในไตรมาสสุดท้าย
สำหรับมุมมองอัตราดอกเบี้ยไทยนั้น ยังมองว่า กนง. อาจลดดอกเบี้ย 1 ครั้งปลายปีนี้ เนื่องจากความเปราะบางในภาคครัวเรือนอาจเริ่มส่งผลมายังอุปสงค์ในประเทศ ซึ่งจะทำให้ความจำเป็นในการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายมีเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี หากมาตรการ Digital wallet ดำเนินได้ในปีนี้ ก็อาจทำให้ กนง. เลื่อนการลดดอกเบี้ยออกไปได้ สำหรับมุมมองอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยระยะยาว มองว่ามีโอกาสปรับสูงขึ้นได้ จากแนวโน้มเงินทุนไหลออกตามการปรับน้ำหนัก Bond index ของ JP Morgan และความเสี่ยงที่อุปทานพันธบัตรรัฐบาลไทยอาจมีออกมามากขึ้นได้ในระยะต่อไป