November 23, 2024

การลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อลดภาวะโลกร้อนและแก้ไขปัญหาสภาพอากาศแปรปรวน ตลอดจนสร้างความยั่งยืนแก่โลกใบนี้ กลายเป็นประเด็นสำคัญที่ภาคธุรกิจทั่วโลกกำลังตื่นตัว ล่าสุด บริษัทเอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SCGP ได้จัดสัมมนา Sustainable Synergy for Decarbonization” เพื่อเปิดพื้นที่แห่งความร่วมมือทั้ง ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ SMEs และสถาบันการเงิน ในห่วงโซ่คุณค่าของอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ มาแลกเปลี่ยนมุมมองความท้าทายและแนวทางการปฏิบัติ เพื่อร่วมกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและสร้างสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน

Carbon Footprint ปัจจัยสำคัญสู่ความยั่งยืน

“วิชาญ จิตร์ภักดี” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทเอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SCGP เปิดประเด็นว่า โลกกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว หากธุรกิจไม่ปรับตัวจะไม่สามารถแข่งขันได้ ซึ่ง SCGP ได้ปรับตัวมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะ Sustainability Transformation ถือเป็นดีเอ็นเอของเอสซีจี โดย SCGP ตั้งเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 25% ภายในปี 2030 และ Net Zero ภายในปี 2050 ผ่านการดำเนินงานใน 2 ด้านหลัก ได้แก่ การประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กรหรือ CFO (Carbon Footprint for Organization) หันมาใช้พลังงานเชื้อเพลิงที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่ำ โดยติดตั้งโซลาร์รูฟ และใช้พลังงานชีวมวลแทนพลังงานถ่านหิน นำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์เข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพเพื่อใช้พลังงานน้อยลงและสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 1 ล้านตัน ปลูกต้นไม้สะสมจำนวน 2.3 ล้านต้น นำขยะพลาสติกมาหลอมเป็นเมล็ดพลาสติกใหม่ นำเศษเยื่อกระดาษจากกระบวนการผลิตไปทำสารปรับปรุงดิน 24,000 ตันต่อปี เพื่อนำไปปลูกต้นยูคาลิปตัสสำหรับผลิตกระดาษต่อไป

อีกด้านคือ การได้รับการรับรอง Carbon Footprint of Product  (CFP) 128 ผลิตภัณฑ์ จากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) ที่สามารถระบุจำนวนปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในบรรจุภัณฑ์และผลิตภัณฑ์แต่ละชิ้นได้ และได้รับการรับรอง Carbon Footprint จากกระบวนการพิมพ์และขึ้นรูปบรรจุภัณฑ์กระดาษรวม 16 กระบวนการ ครอบคลุมทุกกลุ่มสินค้ากระดาษบรรจุภัณฑ์ โดยลูกค้าสามารถนำ CFP ไปใช้ต่อยอดคำนวณปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดได้ นอกจากนี้ ยังได้พัฒนา “ฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์ที่ออกโดย SCGP (Private Declaration Label)” เพื่อแสดงปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของบรรจุภัณฑ์ และได้พัฒนา “ซอฟต์แวร์คาร์บอนฟุตพริ้นท์” ของผลิตภัณฑ์ พร้อมเอกสารรับรองการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของผลิตภัณฑ์แก่ลูกค้า ทั้งนี้ได้ตั้งเป้าขอการรับรอง CFP ในกลุ่มสินค้าที่ผลิตในประเทศไทย 100% ภายในปี 2027 ด้วย

“CFP จะช่วยให้ลูกค้าสามารถดำเนินธุรกิจได้สอดคล้องกับมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมของภาครัฐที่มีการบังคับใช้มากขึ้นในหลายประเทศ ช่วยเพิ่มโอกาสการขาย การเข้าสู่ตลาดใหม่ ๆ ให้ลูกค้าส่งออกกลุ่มต่าง ๆ อีกทั้งยังสามารถต่อยอดไปสู่การพัฒนาและเลือกใช้บรรจุภัณฑ์ที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ นับเป็นการช่วยเสริมศักยภาพอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ไทยให้มีมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมด้วย” วิชาญ กล่าว

ร่วมมือธุรกิจขับเคลื่อนความยั่งยืน

ตัวอย่างขององค์กรที่ดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมอย่างเข้มข้น สุทธิพงค์ ลิ่มศิลา” Head of Corporate Strategy บริษัท คาโอ อินดัสเตรียล (ประเทศไทย) จำกัด  เผยว่า คาโอได้กำหนดกลยุทธ์ทางด้านความยั่งยืน หรือ Kirei Lifestyle Plan ไว้จำนวน 19 แนวทางปฏิบัติด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการปรับปรุงคุณภาพชีวิต และการออกแบบผลิตภัณฑ์เพื่อทุก ๆ คน และอื่น ๆ คาโอใส่ใจในการพัฒนาและคิดค้นนวัตกรรมสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สะดวกต่อการใช้งาน มุ่งใช้นวัตกรรมเพื่อให้ผู้บริโภคมีชีวิตที่ง่ายขึ้น ทางด้านสิ่งแวดล้อมเองก็เป็นเรื่องที่สำคัญในยุคปัจจุบัน คาโอพัฒนาบรรจุภัณฑ์รักษ์โลกเพื่อลดการปล่อยคาร์บอน โดยเลือกใช้ Bio PET และวัสดุที่เป็น Mono Material รวมถึงเพิ่มการใช้ Flexible Packaging (บรรจุภัณฑ์ชนิดถุงหรือฟิล์ม) แทน Rigid Packaging (บรรจุภัณฑ์ชนิดขวด) เพื่อลดปริมาณการใช้พลาสติกลง 50-70% เพิ่มสัดส่วนการใช้ Green Carton by SCGP เป็น 100% ภายในปีนี้ หรือแม้แต่การคัดเลือกแหล่งวัตถุดิบที่ตรวจสอบย้อนกลับได้ว่าไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชนและบุกรุกป่า โดยคาโอมีเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนเป็น 100% ภายในปี 2025 และลดการปล่อยคาร์บอนใน Scope 1 (การปล่อยคาร์บอนทางตรง) และ Scope 2 (การปล่อยคาร์บอนทางอ้อม) ให้ได้ 55% และลด CFP ในผลิตภัณฑ์คาโอ ทั้งหมดให้ได้ 22% ภายในปี 2030 นอกจากนี้ได้ตั้งเป้าหมาย Net Zero ภายในปี 2040 และ Carbon Negative ภายในปี 2050

เสริมเอสเอ็มอีสู่แนวทางลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก

ตัวแทนหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย “ยุทธนา เจียมตระการ” ประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนและสิ่งแวดล้อม เผยว่า หอการค้าไทยมีสมาชิกกว่า 1.4 แสนรายทั่วประเทศ จากผลสำรวจเมื่อ 4 ปีก่อนพบว่า มีสมาชิกเพียง 30% ที่ตระหนักถึง ESG ซึ่งถือว่าค่อนข้างน้อย มาจากปัจจัยหลายอย่าง เพื่อให้เพิ่มความสามารถในการแข่งขัน SME  ควรเริ่มหาข้อมูล พรบ.การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ที่มีทั้งหมด 14 หมวด 177 มาตรา เพื่อทำความคุ้นเคย ซึ่งจะเป็นทั้งเครื่องมือและกลไกสำคัญในการพาผู้ประกอบการไปสู่จุดหมาย Net Zero รวมถึงมาตรฐานการจัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ หรือ Taxonomy ระบบการซื้อขายสิทธิคาร์บอนเครดิต (Emission Trading System) เป็นต้น

ธุรกิจในห่วงโซ่คุณค่าปรับตัว ลดปล่อยคาร์บอน

“เชวง เศรษฐพร” Head of Credit Product Development ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ธนาคารสามารถเป็นได้มากกว่าผู้สนับสนุนด้านสินเชื่อ โดยมุ่งให้บริการแก่ลูกค้ากลุ่ม SME แบบจูงมือไปด้วยกัน มีการจัดเตรียม “สินเชื่อธุรกิจเพื่อการเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืน” (Krungsri SME Transition Loan) เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการ ให้วงเงินกู้สูงสุด 100% ของมูลค่าโครงการ ระยะเวลาผ่อนชำระสูงสุด 10 ปี โดยมีอัตราดอกเบี้ย 2 ปีแรกที่ 3.50% ต่อปี ปีที่ 3-5 อัตราดอกเบี้ยคงที่ต่ำสุด 4.75% พร้อมสิทธิ์เข้าสมัครโครงการ Krungsri ESG Academy ให้ลูกค้าได้เรียนรู้และสนับสนุนธุรกิจเปลี่ยนผ่านได้อย่างรู้ลึก ทำได้จริง นอกจากนี้ ธนาคารยังมีกลไกสนับสนุนในรูปแบบต่าง ๆ อาทิ โครงการ Krungsri ESG Awards มอบรางวัลให้ผู้ประกอบการที่มีโครงการเพื่อความยั่งยืนที่โดดเด่น สร้างการมีส่วนร่วมเพิ่มเติม รวมถึงเครือข่ายพันธมิตรใน ESG ecosystem ของกรุงศรีด้วย

ด้าน “สายชล อนุกูล” ผู้จัดการโรงไฟฟ้าและไบโอแก๊ส บริษัทโชคยืนยงอุตสาหกรรม จำกัด หนึ่งในผู้ประกอบการได้ยกตัวอย่างการปรับแนวทางการดำเนินงานด้านความยั่งยืนกล่าวว่า บริษัทฯ ดำเนินธุรกิจโรงงานแป้งมันสำปะหลัง ซึ่งต้องใช้พลังงานไฟฟ้าสูงและมีน้ำเสีย จึงจัดตั้งบริษัทลูกเพื่อนำ “น้ำเสีย” มาผลิตเป็น “ก๊าซชีวภาพ” เพื่อนำกลับไปใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตกระแสไฟฟ้าภายในโรงงาน คิดเป็นสัดส่วน 60% ของการใช้พลังงานไฟฟ้าทั้งหมด โดยน้ำเสียส่วนหนึ่งจะถูกนำไปบำบัดและใช้ปลูกหญ้าเนเปียร์ ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจ โดยผลผลิตที่ได้ 60% จะแบ่งให้ชุมชนโดยรอบ และอีก 40% บริษัทฯ นำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงในโรงงาน นอกจากนี้ ได้ร่วมกับ SCGP ติดตั้งโซลาร์ฟาร์มขนาด 5 เมกะวัตต์ คิดเป็น 20% ของการใช้พลังงานไฟฟ้าทั้งหมด ในอนาคตมีเป้าหมายให้เป็นโรงงานที่ใช้พลังงานหมุนเวียน 100% โดยจะลงทุนเพิ่มกำลังการผลิตก๊าซชีวภาพ หรือติดตั้งโซลาร์ฟาร์มหรือโซลาร์ลอยน้ำเพิ่ม

ส่วน “ธเนศ เมฆินทรางกูร” Commercial Director บริษัทไวส์ โลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) หรือ WICE มองว่า ESG เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความยั่งยืน หากไม่เริ่มตั้งแต่วันนี้จะสูญเสียความสามารถการแข่งขันเนื่องจากมีกฎหมายเตรียมบังคับใช้ โดยการลดคาร์บอนในธุรกิจโลจิสติกส์ ไม่ใช่แค่การเปลี่ยนมาใช้รถ EV เท่านั้น แต่รวมถึงการปรับปรุงประสิทธิภาพการขนส่งให้ดียิ่งขึ้น เช่น การจัดเส้นทางขนส่งใหม่ ใช้เรือขนส่งที่ใช้เชื้อเพลิงกำมะถันต่ำ ติดตั้งโซลาร์เซลล์ โดยปัจจุบัน WICE อยู่ในระหว่างเตรียมการให้บริการขนส่งเชื้อเพลิงวูดเพลเลท (wood pellets) จาก สปป.ลาว มายังประเทศไทย และส่งออกไปยังประเทศญี่ปุ่น เพื่อนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิต Green Energy

ถือเป็นงานสัมมนาที่ส่งต่อความพร้อมให้กับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ในการเตรียมรับกับการเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อม และร่วมมือกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมถึงการเพิ่มมุมมองการดำเนินงานด้าน ESG จะมาช่วยลดความเสี่ยงในการทำธุรกิจ เพิ่มโอกาสในการเข้าถึงสินเชื่อ และเร่งพัฒนาเทคโนโลยีนวัตกรรมต่าง ๆ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน หรือสามารถต่อยอดไปสู่ธุรกิจใหม่ที่สร้างรายได้ให้เติบโตอย่างมั่นคง

SCGP เสริมธุรกิจด้วยกลยุทธ์ ESG เพื่อขับเคลื่อนองค์กรเติบโตอย่างยั่งยืนให้พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของโลก (Megatrends) ชูการรับรองคาร์บอนฟุตพรินท์ของผลิตภัณฑ์ (CFP) การพัฒนา Private declaration Label เพื่อระบุปริมาณ CFP บนผลิตภัณฑ์ พร้อม “ซอฟต์แวร์คาร์บอนฟุตพริ้นท์” ช่วยคำนวณปริมาณปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ได้อย่างรวดเร็ว เสริมศักยภาพการดำเนินธุรกิจ ช่วยจัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกใน Scope 3 ของลูกค้า เพิ่มโอกาสธุรกิจและเสริมศักยภาพอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ไทย ตั้งเป้าขอการรับรอง CFP ในกลุ่มสินค้าที่ผลิตในประเทศไทย 100% ภายในปี 2027

นายวิชาญ จิตร์ภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทเอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SCGP กล่าวว่า ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทั้งความผันผวนของสภาวะเศรษฐกิจ เทคโนโลยี รวมถึงสภาพภูมิอากาศ  SCGP ได้ทรานส์ฟอร์มธุรกิจในทุกด้านอย่างต่อเนื่อง ไปพร้อมกับการสร้างความยืดหยุ่น เพื่อสร้างการเติบโตของธุรกิจอย่างมีคุณภาพ การพัฒนาพนักงานให้พร้อมรับทุกสถานการณ์ การใช้ดิจิทัลเทคโนโลยีมาเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และบริการตรงใจลูกค้า และอีกหนึ่งการทรานส์ฟอร์มที่ SCGP ให้ความสำคัญ คือ Sustainability Transformation” หรือการขับเคลื่อนธุรกิจตามแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน ด้วยแนวคิด Inclusive Green Growth ที่เพิ่มการมีส่วนร่วมดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมและสร้างสรรค์คุณค่าแก่ผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม ผ่านการดำเนินธุรกิจที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม

SCGP ได้กำหนดเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2050 โดยมีแผนการลดก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการต่าง ๆ ทั้งการเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียน การพัฒนากระบวนการผลิต เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน ตลอดจนการสนับสนุนคู่ค้าและลูกค้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งห่วงโซ่คุณค่า เพื่อร่วมลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ

SCGP ยังเล็งเห็นว่า การผลิตบรรจุภัณฑ์ของบริษัทถือเป็น Scope 3 ของลูกค้าซึ่งเกี่ยวข้องกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จึงได้ทุ่มเทความพยายามและร่วมมือกับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ TGO ในการพัฒนาแนวทางและวิธีการ เพื่อขอรับรองคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์ (CFP) โดยมีเป้าหมายเพื่อเสริมศักยภาพการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้กับลูกค้า ทำให้ล่าสุด SCGP ได้รับการรับรองคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์ (CFP) จากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ TGO เป็นผลสำเร็จ ครอบคลุมผลิตภัณฑ์ที่ผลิตในประเทศ ได้แก่ กลุ่มสินค้าเยื่อกระดาษ กระดาษพิมพ์เขียน กระดาษถ่ายเอกสาร กระดาษบรรจุภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์อาหาร บรรจุภัณฑ์พลาสติก จำนวน 128 ผลิตภัณฑ์ อีกทั้งยังได้รับการรับรองคาร์บอนฟุตพริ้นท์จากกระบวนการพิมพ์และการขึ้นรูปบรรจุภัณฑ์กระดาษรวม 16 กระบวนการ ครอบคลุมทุกกลุ่มสินค้าบรรจุภัณฑ์กระดาษ

นอกจากนี้ SCGP ยังได้พัฒนา ฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์ที่ออกโดย SCGP (Private Declaration Label) เพื่อแสดงปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของบรรจุภัณฑ์ และได้พัฒนา “ซอฟต์แวร์คาร์บอนฟุตพริ้นท์” ของผลิตภัณฑ์ ที่แม่นยำ ง่าย และรวดเร็ว เพื่อเป็นโซลูชันให้กับลูกค้า สามารถดำเนินธุรกิจได้สอดคล้องกับมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมอีกด้วย พร้อมกับเอกสารรับรองการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของผลิตภัณฑ์ให้แก่ลูกค้าเพื่อนำไปใช้เป็นเอกสารอ้างอิง ซึ่งสอดคล้องกับมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมของภาครัฐที่มีการบังคับใช้มากขึ้นในหลายประเทศ สามารถช่วยเพิ่มโอกาสการขาย การเข้าสู่ตลาดใหม่ ๆ ให้ลูกค้าส่งออกกลุ่มต่าง ๆ อีกทั้งยังสามารถต่อยอดไปสู่การพัฒนาและเลือกใช้บรรจุภัณฑ์ที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ นับเป็นการช่วยเสริมศักยภาพอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ไทยให้มีมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมด้วย

“SCGP เดินหน้าการดำเนินธุรกิจตามกรอบแนวคิด ESG มุ่งพัฒนาบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม สร้างความร่วมมือกับผู้ที่อยู่ในห่วงโซ่คุณค่าเติบโตไปพร้อมกับการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม (Inclusive Green Growth) รวมถึงการศึกษาและติดตามสถานการณ์ เพื่อเตรียมพร้อมรับกับมาตรการใหม่ (New Regulations) ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และพร้อมให้การสนับสนุนและร่วมมือกับลูกค้าในการพัฒนานวัตกรรมและโซลูชันที่จะมาช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน” นายวิชาญ กล่าว 

เพราะความสำเร็จไม่ได้เกิดจากการต่อจิ๊กซอว์เพียงตัวเดียว หากแต่เกิดจากจิ๊กซอว์นับสิบนับร้อย บางเรื่องที่ต้องอดทนและใช้เวลา อาจต้องต่อจิ๊กซอว์นับพันนับหมื่นชิ้น เพื่อประกอบภาพร่างให้สมบูรณ์แบบ

วันนี้ ผู้ดูแลงานพัฒนานวัตกรรมและการนำเทคโนโลยีมาใช้สร้างความยั่งยืนให้กับองค์กร "คุณสุรศักดิ์ อัมมวรรธน์" Technology and Digital Platform Director ของบริษัทเอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SCGP ได้เล่าถึงการดำเนินงานของ SCGP ที่มุ่งเน้นด้านรีไซเคิล เพื่อสร้างมูลค่าตลอดห่วงโซ่อุปทาน ในงาน ASEAN Paper เมื่อเร็ว ๆ นี้

น่าสนใจว่าเทคโนโลยีและแพลตฟอร์มดิจิทัลนอกจากจะช่วยสร้างการแข่งขันทางธุรกิจได้ ยังเป็นจิ๊กซอว์ตัวสำคัญที่หนุนหลังให้พันธกิจองค์กรในด้าน ESG กับ Net Zero ที่ทำให้ธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืน

@เทคโนโลยีและแพลตฟอร์มดิจิทัลกับการดำเนินธุรกิจ

SCGP มีการดำเนินธุรกิจภายใต้วิสัยทัศน์ในการเป็นผู้นำด้านโซลูชันบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจรในภูมิภาค ด้วยนวัตกรรมสินค้าและบริการที่หลากหลาย ควบคู่กับการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน โดยมีการพัฒนานวัตกรรมและการนำเทคโนโลยีมาใช้สร้างความยั่งยืนให้กับองค์กรในด้านต่าง ๆ

ทั้งในด้านการผลิตที่มุ่งเน้น Operational Excellence ทำให้ซัพพลายเชนมีประสิทธิภาพสูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการนำระบบออโตเมชันต่าง ๆ มาใช้เพิ่มผลผลิต SCGP ได้นำเดต้าต่าง ๆ เข้ามาใช้ในองค์กรเพื่อให้ลูกค้าได้ประโยชน์ อาทิ ระบบการติดต่อ การสั่งซื้อ การส่งมอบสินค้า ลูกค้าสามารถตรวจสอบข้อมูลการสั่งซื้อได้ด้วยตัวเอง หลังจากมีการนำเดต้ามาใช้ในองค์กรทั่วถึง พนักงานขายสามารถเข้าไปตรวจสอบข้อมูลผลิตภัณฑ์ที่ลูกค้าสนใจ และตอบข้อมูลให้ลูกค้าได้รวดเร็วขึ้น ทำให้ลูกค้าสะดวกขึ้นซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมาก ขณะเดียวกันข้อมูลบนออนไลน์แบบทั่วถึง ทำให้ระบบการทำงานภายในองค์กรไหลลื่น ทำให้สามารถบริหารจัดการวัตถุดิบ ข้อมูลคงคลังได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ช่วยทำให้ต้นทุนการผลิต ทำให้เกิดการบริหารจัดการต้นทุนอย่างเหมาะสม เป็นประโยชน์กับทั้งซัพพลายเชน

“หลักการคือเราต้องการให้ข้อมูลต่าง ๆ เป็น single source of truth แปลว่าทุกคนในซัพพลายเชน เห็นตัวเลขบนข้อมูลเดียวกัน ทำให้ไม่เกิดความซับซ้อน ไม่เป็นช่องว่างในการบริหารจัดการทั้งกระบวนการ ซึ่งประโยชน์ที่ได้จากเทคโนโลยีและแพลตฟอร์มดิจิทัลเพิ่งเป็นแค่จุดเริ่มต้น เมื่อเราได้มีการนำมาใช้แล้ว สามารถต่อยอดเป็นประโยชน์อย่างอื่นได้อีก”

@เทคโนโลยีและแพลตฟอร์มดิจิทัลสู่บรรจุภัณฑ์ยั่งยืน

จากแนวทางการขับเคลื่อนธุรกิจของ SCGP ตามกรอบแนวคิด ESG ซึ่งมีแผนงานชัดเจนที่จะเพิ่มสัดส่วนบรรจุภัณฑ์เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ในปี 2025 ที่จะไปสู่เป้าหมายใช้บรรจุภัณฑ์รีไซเคิลและย่อยสลายได้ 100% และในปี 2050 ประกาศเป้าหมายปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ SCGP ได้พัฒนาเทคโนโลยีและแพลตฟอร์มดิจิทัลอย่างต่อเนื่องเพื่อขับเคลื่อนให้ถึงเป้าหมายความยั่งยืน

การเพิ่มอัตราบรรจุภัณฑ์รีไซเคิล”

SCGP เดินหน้าสร้างเครือข่ายและความร่วมมือในการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด แบ่งเป็นการเพิ่มพันธมิตรรีไซเคิล จาก 8 รายเป็น 22 ราย การเพิ่มเครือข่ายระบบการจัดเก็บบรรจุภัณฑ์รีไซเคิล หรือ recycling station เพื่อนำบรรจุภัณฑ์เหลือใช้กลับคืนมาที่โรงงาน ซึ่งมีการเพิ่มจากจำนวน 90 แห่งในปี 2563 เพิ่มเป็น 133 แห่งในปี 2566

SCGP ได้ลงทุนทำให้กระดาษรีไซเคิลมีประสิทธิภาพสูงขึ้น ด้วยการลงทุนติดตั้งเทคโนโลยีจากต่างประเทศ และการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต (Operational Excellence) มีการติดตั้งจุดตรวจวัดประสิทธิภาพในทุกกระบวนการ ทำให้ผลลัพธ์ที่ได้เป็นที่น่าพอใจ โดยคุณภาพของกระดาษที่ได้กลับมานั้น เพิ่มจากเดิมในอัตรา 80% เป็น 88-92% เทียบกับการประหยัดทรัพยากรได้ 20,000 ตันต่อปี

นอกจากนี้ SCGP ได้ศึกษาและพัฒนานวัตกรรม “เส้นใยนาโนเซลลูโลส” จากวัตถุดิบเหลือใช้ทางการเกษตร เพื่อน้ำไปใช้เป็นวัตถุดิบในกระบวนการผลิตกระดาษบรรจุภัณฑ์ ซึ่งได้มีการจดสิทธิบัตรเป็นที่เรียบร้อยแล้วทั้งในประเทศและต่างประเทศ

ต่อยอด Waste ให้เป็นเม็ดพลาสติก”

เมื่อนึกถึงการจัดการบรรจุภัณฑ์รีไซเคิล มักจะมีเศษวัสดุอื่น ๆ ปนมาด้วย เช่น เทปกาว หรือฟิล์ม ที่ไม่สามารถนำกลับมาใช้ได้ และจะถูกเผาเพื่อเป็นพลังงาน SCGP จึงพัฒนาคิดต่อยอดจาก waste เหล่านี้ ซึ่งเราเรียกว่า waste of waste ให้มีมูลค่ามากขึ้น ด้วยการลงทุนในเทคโนโลยีนำ waste เหล่านี้มาผลิตเป็นเม็ดพลาสติก และได้ขยายโรงงาน waste of waste แล้วถึง 3 โรงงาน ในประเทศไทย 1 แห่ง และโรงงานในอินโดนีเซียอีก 2 แห่ง

“พอเป็นเม็ดพลาสติก เราสามารถนำไปผสมกับเม็ดพลาสติกใหม่ เพื่อนำไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์อุปโภคบริโภคใช้ทั่วไปได้ เช่นกระบะพลาสติกใช้ในการขนส่งสินค้า ถังต่าง ๆ เพื่อต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ให้ผู้บริโภคสามารถนำกลับมาใช้ได้อีก แม้ว่าเรื่องนี้ยังไม่ได้ให้ผลตอบแทนการลงทุน แต่ช่วยลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม เป็นการใช้ waste อย่างคุ้มค่าจริง ๆ ”

การพัฒนาทั้งหมดนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญของการผลิตบรรจุภัณฑ์ ทั้งลดการใช้ทรัพยากรใหม่ เพิ่มการรีไซเคิลทรัพยากรเดิมให้มีประสิทธิภาพ ล้วนช่วยเสริมสร้าง Infinite Recycling ให้เกิดขึ้นได้จริง รวมถึงการนำมาใช้ประโยชน์ที่หลากหลาย Upcycling ซึ่งตอบโจทย์การดำเนินงานบนฐานของความยั่งยืนอย่างแท้จริง

SCGP นำโดย นายวิชาญ จิตร์ภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทเอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SCGP และคณะผู้บริหาร รับ 3 รางวัลคุณภาพ IAA Awards for Listed Companies 2022 จัดขึ้นโดยสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน (IAA) ได้แก่ รางวัล Outstanding CEO รางวัล Outstanding CFO และรางวัล Outstanding Investor Relations ในหมวดสินค้าอุตสาหกรรม จากการโหวตของนักวิเคราะห์และสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน ที่ให้การยอมรับ SCGP ในการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน และความมุ่งมั่นในการพัฒนานวัตกรรมสินค้าและบริการเพื่อตอบสนองความต้องการที่หลากหลายของผู้บริโภค พร้อมทั้งความทุ่มเทในการจัดเตรียมความพร้อมของข้อมูลต่าง ๆ ในการนำเสนอและสื่อสารข้อมูลที่ถูกต้องและครบถ้วนไปยังนักวิเคราะห์และนักลงทุน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายอย่างต่อเนื่อง พิธีมอบจัดขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้ ณ ห้อง The Chadra Ballroom โรงแรมสยามเคมปินสกี้ กรุงเทพฯ

Page 1 of 2
X

Right Click

No right click