January 22, 2025

THIS TIME FOR AFRICA

August 25, 2017

พาดหัวนี้ ผมหยิบยกมาจากชื่อเพลง Waka Waka (This Time For Africa) ที่ขับร้องโดยชากีร่า เพลงอย่างเป็นทางการของฟุตบอลโลกปี 2010 เพราะเห็นว่าเหมาะเจาะและลงตัวกับวัตถุประสงค์และจุดใหญ่ใจความของบทความนี้ หลังจากมีโอกาสได้ร่วมฟังงานสัมมนา The Colours of Africa: Opportunity, Friendship and Cooperation ที่จัดโดยกรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลาง และแอฟริกา กระทรวงการต่างประเทศ เพื่อนำเรื่องราวน่าสนใจและน่ารู้บางประการเกี่ยวกับทวีป ‘แอฟริกา’ มาบอกกล่าว เพื่อให้ผู้อ่านได้สัมผัสและรู้จักกับทวีปที่เย้ายวน เต็มไปด้วยโอกาส มิตรภาพ และความร่วมมือในรูปแบบต่างๆ มากขึ้น อันจะก่อเกิดประโยชน์ทางธุรกิจมหาศาล หาใช่แดนดินถ่ินสนธยาที่ล้าหลังและแร้นแค้นไม่ 

 

 

 

1. ทั้งทวีปแอฟริกาประชากรราว 1,200 ล้านคนมีอัตราเพิ่มเฉลี่ย 2.5% ต่อปี มากกว่าการเพิ่มจำนวนประชากรของทวีปเอเชีย และอเมริกาใต้ถึงสองเท่า มีประชากรวัยแรงงานที่พร้อมจะเป็นฐานสำคัญในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมต่างๆ และคาดว่าจะมี GDP รวมกัน 2.6 ล้านล้านในปี 2020 

 

2. ทวีปแอฟริกาถูกจับตามองจากนักลงทุนว่าเป็น New Asia เลยทีเดียว หรือหมายความว่าเป็นหมุดหมายที่น่าลงทุนและกำลังจะเติบโตอย่างร้อนแรง จนกลายเป็นตลาดหลักในอนาคต เนื่องจากหลายประเทศเริ่มมีเสถียรภาพทางการเมืองมากขึ้น ชนชั้นกลางขยายตัวมากขึ้น รัฐบาลแต่ละประเทศมีการออกโปรแกรมแรงจูงใจต่างๆ มากมายให้กับนักลงทุนต่างชาติ เรียกว่าโอ้โลมปฏิโลมกันยกใหญ่ เรื่องท่องเที่ยวก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ทุกประเทศโหมกระหน่ำโปรโมทกันอย่างหนักหน่วง เพราะมีจุดร่วมที่คล้ายคลึงกันคือ ร่ำรวยวัฒนธรรมและทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะแร่ธาตุที่อุดมสมบูรณ์มากและที่ยังไม่ได้ทำการสำรวจก็มีอยู่ไม่น้อย เช่น ทองคำมีอยู่ 42% น้ำมัน 12% และเพชร 90% ของแหล่งแร่ธาตุเหล่านี้ในโลก ที่สำคัญยังมีพื้นที่มีศักยภาพในการเพาะปลูกที่ยังไม่ได้รับการพัฒนาอีก 60% ซึ่งหมายถึงเป็นแหล่งผลิตอาหารในอนาคตที่มีผลต่อปากท้องของประชากรโลก รวมถึงแหล่งท่องเที่ยวที่หลากหลายครบครัน แปลกใหม่ ไม่ซ้ำ ซึ่งล้วนแล้วแต่ยังบริสุทธิ์อยู่ เรียกว่าเป็นจุดหมายปลายทางที่สุดแสนมหัศจรรย์และควรค่าแก่การค้นหาอย่างแท้จริง ทำให้นักท่องเที่ยวรุ่นใหม่ซึ่งโดยพื้นฐานแล้วกล้าที่จะเสี่ยง กล้าที่จะไปเที่ยวที่ใหม่ๆ กอปรกับการรับรู้และเสาะแสวงหาข้อมูลข่าวสารต่างๆ มากมายจากโลกออนไลน์ ทำให้ยินดีที่จะเดินทางไปเปิดประสบการณ์ที่แอฟริกามากขึ้น เมื่อเทียบกับคนรุ่นก่อนเก่า และนั่นทำให้ธุรกิจท่องเที่ยวแอฟฟริกาเฟื่องฟูกว่าที่เคย ขณะที่อียิปต์ ประเทศที่น่าจะเป็นหนึ่งในหมุดหมายที่นักท่องเที่ยวไทยรู้จักมากที่สุดในทีวีปแอฟฟริกา ก็อยู่ในระหว่างการพิจารณาฟรีวีซ่าให้กับนักท่องเที่ยวไทย 

 

3. หลายประเทศแข่งขันกันจูงใจนักลงทุนด้วยการสร้างแรงจูงใจ สิทธิพิเศษ และการการันตีต่างๆ มากมาย เช่น ซูดาน ให้ถือครองกรรมสิทธิ์ได้ 100% ไม่มีภาษีบุคคล ไม่มีภาษีองค์กร ไม่มีข้อจำกัดในการจ้างงาน เป็นต้น 

 

4. ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดไม่ใช่แอฟริกาใต้อย่างที่เคยคิด เบอร์หนึ่งคือ ไนจีเรีย ประชากรมหาศาลราว 188 ล้านคน อุปโภคบริโภคกันอุตลุด นอกจากเป็นแหล่งน้ำมันแล้วยังเป็นแหล่งก๊าซธรรมชาติจำนวนมากด้วย แต่แม้จะเป็นตลาดที่เนื้อหอมทั่วโลกต่างรุมจีบ ก็ยังไม่มีเส้นทางการบินตรงจากกรุงเทพฯ ไปยังอาบูจา เมืองหลวงของไนจีเรีย ส่วนแอฟริกาใต้คือ เบอร์สองรองลงมา กระนั้นแอฟริกาใต้ก็ถือเป็นศูนย์กลางด้านธุรกิจค้าปลีก มีธุรกิจค้าปลีกขนาดใหญ่ที่สุดในแอฟริกา นอกจากนี้ ยังมีพื้นฐานระบบสาธารณูปโภคที่ดี การขนส่งที่มีประสิทธิภาพ และมีระบบการเงินระดับเวิลด์คลาส ซึ่งคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของแอฟริกาใต้ในอาเซียนคือ ไทย

 

5. เอสเอ็มอี คิดเป็นสัดส่วนมากถึง 80% ของทวีปนี้ แต่การเข้าถึงความช่วยเหลือทางการเงินยังมีต้นทุนที่สูง และเป็นไปอย่างจำกัดอยู่ เมื่อเทียบกับทวีปอื่นของโลก 

 

6. ธุรกิจที่ต้องการการลงทุนจากต่างชาติเป็นอย่างมากคือ การเกษตร ระบบสาธารณูปโภค สนามบิน และการท่องเที่ยว

 

 

 

7. ซาฟารีมีเกือบทุกประเทศในแอฟริกา แต่ใครพูดก่อนและพูดบ่อยกว่าก็ย่อมได้เปรียบกว่า หนึ่งในนั้นคือ เคนย่า ชัดมาก โดดเด่นมาก อาจจะด้วยความครบครันของบิ๊กไฟว์ และส่ำสัตว์อื่นๆ ที่มีอยู่จำนวนมาก กอปรกับการบอกซ้ำๆย้ำๆ อยู่อย่างนั้น ทำให้กลายเป็น Top of Mind ในใจนักท่องเที่ยว เมื่อนึกถึงซาฟารีต้องนึกถึงเคนยา การันตีว่าไปที่อื่นก็ไม่ฟินเท่า เหมือนกินออร์เดิร์ฟกับจานหลัก มันต่างกัน

 

8. น้ำตกวิคตอเรียที่ซิมบับเวกำลังได้รับความนิยมเป็นอย่างสูง ถึงจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงระดับโลก เพราะเป็นน้ำตกขนาดใหญ่ที่สุดในโลก แต่ก็น่าแปลกที่ผ่านมาสายการบินดังๆ ของแอฟริกาหลายสาย ยังไม่มีไฟล์ตบินตรงจากประเทศตัวเองไปจุดหมายนี้เลย ปีนี้และปีหน้านี่แหละจะมีให้เห็นมากขึ้น ล่าสุดสายการบินเคนยา แอร์เวย์ส เพิ่งเปิดเส้นทางบินตรงสู่น้ำตกวิคตอเรีย 

 

9. ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา โมซัมบิกเป็นหนึ่งในประเทศที่มี GDP เติบโตสูงสุดในแอฟริกา โดยมี GDP 17.609 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ เติบโต 6.4% ในปี 2015 โดดเด่นในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว จากความหลากหลายและครบครันของสถานที่ท่องเที่ยว,มีดอกไม้และสัตว์ท้องถิ่นหลากสายพันธุ์ มีความรุ่มรวยของสิ่งมีชีวิตใต้ท้องทะเล มีส่วนผสมที่ลงตัวที่ดีของ ‘Bush & Beach’ และพรั่งพร้อมไปด้วยสันทนาการทางน้ำระดับเวิลด์คลาส ปัจจุบันมีเมกะโปรเจกต์เกิดขึ้นมากมาย ทั้งท่าเรือ เส้นทางรถไฟใหม่ ถนน สะพาน สนามบิน พลังงาน และโทรคมนาคม การลงทุนที่ต้องการคือธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับไมซ์ รวมถึงที่เกี่ยวเนื่องกับวัฒนธรรม

 

10. ประเทศไทยลงทุนที่โมซัมบิกมากที่สุด ไม่ใช่ในแง่ของปริมาณโครงการ แต่เป็นมูลค่าของการลงทุนที่มีเม็ดเงินสูงที่สุด เฉพาะของเครือไมเนอร์ลงทุนเปิดเรซิเดนเชียลและคอมเมอร์เชียลทาวเวอร์ที่นี่กว่า 200 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แต่น่าแปลกไทยเพิ่งเปิดสถานทูตประเทศไทยประจำโมซัมบิกเมื่อปีที่แล้วนี่เอง ว่าไปแล้วหาดทรายและท้องทะเลที่โมซัมบิกมีความสวยงามแทบไม่ต่างจากมัลดีฟส์ก็ว่าได้ ด้วยชายหาดยาวเหนือจรดใต้ของประเทศและ รีสอร์ตหรูหรามากมี ไมเนอร์ โฮเต็ล กรุ๊ปดูจะพึงพอใจประเทศนี้มากเป็นพิเศษ มีหลายพร็อพเพอร์ตี้เลยทีเดียว 

 

11. นับตั้งแต่ปักหมุดลงทุนในแอฟฟริกาอย่างจริงจังตั้งแต่ปี 2011 ตอนนี้ไมเนอร์ โฮเทล กรุ๊ป มีโรงแรมและรีสอร์ต 28 แห่ง ส่วนใหญ่อยู่ทางตอนใต้ของทวีป ปีนี้ยังมีแผนที่จะลงทุนเพิ่มที่แองโกลา และเอธิโอเปีย โดยตั้งเป้าไว้ว่าภายใน 5 ปี จะครอบคลุมทั่วทั้งทวีปมากขึ้น Dillip Rajakarier ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ไมเนอร์ โฮเทล กรุ๊ป ได้เผยว่า การจะลงทุนให้ผลกำไรงอกงามที่แอฟริกา ต้องอย่าใจร้อน และจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องลงทุนเพื่อผลตอบแทนในระยะยาว โดยแต่ละประเทศก็มีความเสี่ยงที่แตกต่างกันไป กลุ่มลูกค้าหลักเป็นนักท่องเที่ยวไฮเอนด์จากสหรัฐอเมริกา ยุโรป รวมถึงฐานลูกค้าใหม่อย่างจีน และอาเซียน ที่ชื่นชอบการพักผ่อนหย่อนใจและท่องซาฟารี

 

12. หากมีคำถามว่าตอนนี้ใครกำลังบุกแอฟริกาอย่างหนักหน่วง คำตอบคือ ‘จีน’ ซึ่งไม่ใช่แค่เฉพาะนักลงทุนและคนจีนที่ขณะนี้มีมากราว 40 ล้านคนในแอฟริกาเท่านั้น แต่ยังมีนักท่องเที่ยวชาวจีน ซึ่งกำลังกลายเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวหลักเลยก็ว่าได้ และมีแนวโน้มของการเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ดูได้จากสายการบินหลายแห่งวางแผนเปิดเส้นทางไปยังเมืองต่างๆของจีนเพิ่มมากขึ้น Meaza Taye, Regional Manager Thailand & Southeast Asia เอธิโอเปียน แอร์ไลน์ส กล่าวว่า “คนจีนไม่กลัวอะไร” นั่นคือเหตุผลหลักๆ ในขณะที่นักท่องเที่ยวประเทศอื่นๆ ยังกล้าๆ กลัวๆ ที่จะมาเยือนแอฟริกา 

 

13. สิ่งที่ยังน่ากังวลสำหรับการลงทุนในแอฟริกาก็คือ เสถียรภาพทางการเมืองในประเทศ และความเสี่ยงจากความผันผวนของค่าเงิน ตลอดจนระบบการสาธารณสุขในบางพื้นที่ที่ยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ

 

เรื่อง : กองบรรณาธิการ 

X

Right Click

No right click