ธนาคารเอชเอสบีซี ประเทศไทย จับมือ บริษัท ไชน่า สเตท คอนสตรัคชั่น เอนยิเนียริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด (CSCECTH) สนับสนุนการค้ำประกันสีเขียว (Green Guarantee) มูลค่า 2,000 ล้านบาท ร่วมผลักดันการก่อสร้างงานโยธาในช่วงหนึ่งของโครงการรถไฟความเร็วสูงจากกรุงเทพฯ – หนองคาย ซึ่งเป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเชิงกลยุทธ์ในการเชื่อมโยงภูมิภาค ส่งเสริมการเติบโตของธุรกิจและเศรษฐกิจในประเทศไทย นอกจากนี้ โครงการรถไฟความเร็วสูงยังเป็นการสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่การคมนาคมด้วยระบบรางที่ใช้พลังงานไฟฟ้าที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลจากยานพาหนะและรถไฟ เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ อีกทั้งยังสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมและเศรษฐกิจของชุมชนไทยตลอดเส้นทางอีกด้วย
ภายใต้ความร่วมมือในครั้งนี้ ธนาคารเอชเอสบีซี ประเทศไทย ยังสนับสนุนสินเชื่อการค้าระหว่างประเทศ และสินเชื่อเพื่อห่วงโซ่อุปทาน มูลค่า 840 ล้านบาท โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนเชิงการค้า พร้อมเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารสภาพคล่องทางการเงินเพื่อบรรลุเป้าหมายเชิงธุรกิจที่ตั้งเป้าไว้
นายจอร์โจ กัมบา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารเอชเอสบีซี ประเทศไทย กล่าวว่า “การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ถือเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจไทย โดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เปิดเผยว่า โครงการยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศในช่วงครึ่งปีแรกของ 2567 มีมูลค่ารวม 325,736 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 16% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยแบ่งเป็นยอดขอรับการส่งเสริมจากผู้ประกอบการจากจีน 72,873 ล้านบาท หรือคิดเป็น 22 % ของมูลค่าขอรับการส่งเสริมทั้งหมด1 สำหรับเอชเอสบีซี มูลค่าการดำเนินธุรกิจระหว่างธนาคารฯ และลูกค้าองค์กรที่เข้ามาขยายธุรกิจในอาเซียนเติบโตขึ้นประมาณ 60% ในปี 2566 โดยประเทศไทยเป็นหนึ่งในตลาดสำคัญที่ขับเคลื่อนการเติบโตนี้ ด้วยบทบาทของธนาคารพาณิชย์ที่ให้บริการในประเทศไทยมาอย่างยาวนานถึง 136 ปี ธนาคารเอชเอสบีซีมุ่งมั่นที่จะผลักดันการลงทุนจากต่างประเทศมาอย่างต่อเนื่อง ผ่านการนำเสนอนวัตกรรมโซลูชันด้านการเงินที่ครบวงจรแก่ทั้งลูกค้าธุรกิจจากจีนและทั่วโลก”
การค้ำประกันสีเขียว (Green Guarantee) สินเชื่อการค้าระหว่างประเทศ และสินเชื่อเพื่อห่วงโซ่อุปทาน ภายใต้ความร่วมมือนี้ จะช่วยสนับสนุนการก่อสร้างงานโยธาของโครงการรถไฟความเร็วสูง ซึ่งเป็นเส้นทางที่สำคัญในการเชื่อมโยงระหว่างประเทศไทยและจีน โดยการค้ำประกันสีเขียว (Green Guarantee) วงเงิน 2,000 ล้านบาทนี้ครอบคลุมการชำระเงินล่วงหน้าและการค้ำประกันการปฏิบัติตามสัญญาแก่การรถไฟแห่งประเทศไทย เพื่อสนับสนุนการก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ - หนองคาย (สัญญาที่ 4 – 3 ระยะทางจากนวนคร - บ้านโพ) นอกจากนี้ สินเชื่อการค้าระหว่างประเทศ และสินเชื่อเพื่อห่วงโซ่อุปทาน วงเงิน 840 ล้านบาท จะเข้ามาตอบโจทย์ความต้องการเงินทุนหมุนเวียน การบริหารจัดการสภาพคล่อง และการขยายเวลาการชำระเงิน เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างคู่ค้าผ่านความน่าเชื่อถือและความมั่นคงทางการเงินที่ดียิ่งขึ้น
“บริษัท ไชน่า สเตท คอนสตรัคชั่น เอนยิเนียริ่ง (CSCEC) และบริษัทในเครือ มีความสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งกับธนาคารเอช-เอสบีซีมาอย่างยาวนานกว่า 40 ปีใน 20 ประเทศจากหลายภูมิภาคทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นตะวันออกกลาง สหรัฐอเมริกา แคนาดา สหราชอาณาจักร และอาเซียน โดยธนาคารเอชเอสบีซี ประเทศไทย มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมมือกับบริษัท ไชน่า สเตท คอนสตรัคชั่น เอนยิเนียริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญซึ่งจะเป็นปัจจัยขับเคลื่อนการเชื่อมโยงอาเซียนกับจีน ทั้งนี้ ความร่วมมือในครั้งนี้ยังเป็นการตอกย้ำความมุ่งมั่นของธนาคารฯ ในการขยายโอกาสการลงทุนจากต่างประเทศ และสะท้อนถึงความเชื่อมั่นที่องค์กรธุรกิจระดับโลกมีต่อเอชเอสบีซี ในฐานะธนาคารระหว่างประเทศยอดเยี่ยมของไทย ซึ่งได้รับการยอมรับจากยูโรมันนี่ (Euromoney) และไฟแนนซ์เอเชีย (FinanceAsia) เป็นเวลา 4 ปีติดต่อกัน” นายกัมบา กล่าวเสริม
นายเปง ลี่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการเงิน บริษัท ไชน่า สเตท คอนสตรัคชั่น เอนยิเนียริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “เราได้ทำงานกับธนาคารเอชเอสบีซี ประเทศไทย มาอย่างยาวนานตั้งแต่ปี 2551 ซึ่งความร่วมมือดังกล่าวถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การดำเนินธุรกิจในประเทศไทยของเราประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่อง รวมถึงโครงการก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิเฟส 2 โดยธนาคารเอชเอสบีซีได้สนับสนุนเราตลอดการดำเนินงาน ด้วยความเข้าใจเชิงลึกของสภาพแวดล้อมทางธุรกิจในประเทศไทย เครือข่ายธุรกิจใน 60 ประเทศ รวมทั้งความเชี่ยวชาญด้านการเงิน ความร่วมมือครั้งนี้จึงถือเป็นอีกก้าวสำคัญในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทย และแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นร่วมกันในการเชื่อมต่อระดับภูมิภาคและการพัฒนาอย่างยั่งยืน”
“โครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ – หนองคายจะเป็นอีกพลังขับเคลื่อนสำคัญที่จะกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ ดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ และเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างไทยกับจีนให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น โครงการนี้จะเชื่อมต่อเส้นทางจากกรุงเทพฯ สู่รถไฟเส้นทางลาว – จีน ซึ่งจะทำให้การคมนาคมเชื่อมโยงกันได้อย่างไร้รอยต่อ อีกทั้งยังส่งเสริมการค้าและการท่องเที่ยวระหว่างสองประเทศอีกด้วย” นายลี่ กล่าวทิ้งท้าย
สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) และธนาคารเอชเอสบีซี ประเทศไทย ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อผลักดันประเทศไทยสู่ศูนย์กลางการลงทุนของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และส่งเสริมการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถของทั้งสององค์กร ผ่านการให้คำปรึกษาด้านการลงทุนในไทยอย่างครบวงจร โดยอาศัยความแข็งแกร่งของเครือข่ายธุรกิจของธนาคารเอชเอสบีซีใน 62 ประเทศและเขตการปกครอง ความเชี่ยวชาญในการสนับสนุนองค์กรข้ามชาติในการขยายธุรกิจระหว่างประเทศ พร้อมทั้งแพลตฟอร์มด้านการเงินดิจิทัลของธนาคารเอชเอสบีซี เข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกให้นักลงทุนต่างชาติเข้าถึงโอกาสในการลงทุนและขยายธุรกิจในประเทศไทย
นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวว่า “ประเทศไทยถือเป็นประเทศที่มีความโดดเด่นมากที่สุดแห่งหนึ่งของภูมิภาคอาเซียน ด้วยศักยภาพและความพร้อมหลายด้านที่เอื้อต่อการลงทุน ทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐานที่ดี บุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญและทักษะขั้นสูง รวมทั้งมีมาตรการสนับสนุนเชิงรุกจากภาครัฐ ซึ่งถือเป็นปัจจัยที่ช่วยดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ โดยที่ผ่านมารัฐบาลและบีโอไอได้เดินหน้าออกมาตรการส่งเสริมการลงทุนด้านต่างๆ รวมถึงกิจกรรมชักจูงการลงทุนอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เกิดการลงทุนในโครงการสำคัญของบริษัทรายใหญ่จากต่างประเทศอย่างมีนัยสำคัญ
โดยในปี 2566 ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีตัวเลขการลงทุนทำสถิติสูงสุดในรอบ 9 ปี ด้วยมูลค่าการขอรับการส่งเสริมการลงทุนกว่า 8.48 แสนล้านบาท เติบโตร้อยละ 43 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) กว่า 6.63 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 72 ทั้งนี้ บีโอไอเชื่อว่ากระแสการลงทุนจากต่างประเทศจะยังเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยไตรมาสแรก ปี 2567 มียอดขอรับส่งเสริมการลงทุน จำนวน 724 โครงการ เพิ่มขึ้นร้อยละ 94 มูลค่าเงินลงทุนรวม 228,207 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 31 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566 สะท้อนถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติที่มีต่อประเทศไทย ซึ่งบีโอไอมั่นใจว่าการลงนามเป็นพันธมิตรกับธนาคารเอชเอสบีซีในครั้งนี้จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการเข้าถึง เข้าใจ และความสามารถในการประสานงานกับนักลงทุนจากต่างประเทศ เพื่อเร่งการดึงดูดการลงทุนเข้าสู่ประเทศไทยให้มากยิ่งขึ้นในอนาคต”
ความร่วมมือครั้งนี้ธนาคารเอชเอสบีซีจะใช้เครือข่ายลูกค้าธุรกิจระดับโลก และข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับการลงทุนในประเทศไทย เพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขันและสภาพแวดล้อมในการทำธุรกิจ ผ่านการสนับสนุนบริษัทต่าง ๆ ที่ต้องการขยายธุรกิจมาสู่ประเทศไทย ทั้งในรูปแบบของโซลูชันทางการเงินและการให้คำปรึกษา นอกจากนี้ ธนาคารเอชเอสบีซีจะจัดกิจกรรมโรดโชว์ในตลาดสำคัญ เช่น จีน ฮ่องกง อินเดีย ซาอุดิอาระเบีย อาเซียน ยุโรป และสหราชอาณาจักร เป็นต้น เพื่อส่งเสริมประเทศให้เป็นศูนย์กลางการลงทุนของภูมิภาค
“ความร่วมมือระหว่างบีโอไอและธนาคารเอชเอสบีซีจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยขับเคลื่อนการลงทุนจากต่างประเทศ โดยเฉพาะในสถานการณ์ปัจจุบันที่บริษัทรายใหญ่ระดับโลกมีความต้องการที่จะขยายธุรกิจและมองหาโอกาสใหม่ ๆ ซึ่งวันนี้อาเซียนถือเป็นภูมิภาคที่มีความโดดเด่น และไทยเป็นหนึ่งในประเทศอาเซียนที่มีความเหมาะสมจะเป็นฐานลงทุนแห่งใหม่ของตลาดโลก บีโอไอมั่นใจว่าเครือข่ายระดับโลกของธนาคารเอชเอสบีซี จะช่วยเสริมความแข็งแกร่งและเร่งการลงทุนใน 5 กลุ่มอุตสาหกรรมตามยุทธศาสตร์ของบีโอไอ ได้แก่ ยานยนต์ไฟฟ้า เซมิคอนดักเตอร์ ดิจิทัล อุตสาหกรรมชีวภาพและพลังงานสะอาด และสนับสนุนการตั้งสำนักงานภูมิภาคในประเทศไทย เพื่อขยายการเข้าถึงกลุ่มนักลงทุนกว้างขึ้น โดยบีโอไอและธนาคารเอชเอสบีซีจะทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดเพื่อผลักดันการลงทุนผ่านกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ร่วมกัน” นายนฤตม์ กล่าว
นายจอร์โจ กัมบา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารเอชเอสบีซี ประเทศไทย กล่าวว่า “ประเทศไทยเป็นหนึ่งในตลาดสำคัญที่ธุรกิจระหว่างประเทศต้องการลงทุน โดยบทวิจัย HSBC Global Connections ระบุว่า ร้อยละ 37 ของบริษัทที่เป็นกลุ่มตัวอย่างมีการดำเนินธุรกิจในประเทศไทยแล้วในปัจจุบัน ซึ่งแรงงานที่มีทักษะเป็นปัจจัยที่ทำให้ไทยเป็นตลาดที่น่าสนใจ ตามมาด้วยเศรษฐกิจดิจิทัลที่กำลังเติบโตและจำนวนประชากรที่มีรายได้ปานกลาง นอกจากนี้ ประเทศไทยยังเป็นฐานการผลิตที่สำคัญของภูมิภาคมาอย่างยาวนาน และยังคงเป็นส่วนสำคัญของซัพพลายเชนของโลก ทั้งนี้ ปัจจุบันไทยถือเป็นผู้ผลิตยานยนต์ที่ใหญ่ที่สุดของอาเซียน โดยมียอดการผลิตคิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 50 ของประเทศทั้งหมดในภูมิภาค ส่งผลให้ไทยเป็นจุดหมายปลายทางที่มีศักยภาพสำหรับการลงทุนขนาดใหญ่จากประเทศเศรษฐกิจสำคัญทั้งในภูมิภาคและทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี)”
“ธนาคารเอชเอสบีซีเป็นหนึ่งในธนาคารระหว่างประเทศที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งดำเนินธุรกิจอยู่ใน 62 ประเทศและเขตการปกครอง และเป็นธนาคารพาณิชย์แห่งแรกของไทยซึ่งมีประสบการณ์ในการธุรกิจในประเทศไทยมากว่า 135 ปี เราจึงเชื่อมั่นในศักยภาพขององค์กรในการเชื่อมโยงประเทศไทยกับนักลงทุนทั่วโลก ผ่านการนำเสนอโซลูชันด้านการเงินที่ครบวงจรและแพลตฟอร์มนวัตกรรมด้านการเงินดิจิทัล โดยธนาคารฯ พร้อมให้การสนับสนุนบีโอไอในกิจกรรมโรดโชว์ต่าง ๆ และพัฒนาความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุนใหม่ ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ และเศรษฐกิจดิจิทัล”
“รายงานของธนาคารเอชเอสบีซียังชี้ให้เห็นว่า ธุรกิจระหว่างประเทศร้อยละ 18 ที่ยังไม่ได้ดำเนินธุรกิจในไทยมีแผนจะขยายธุรกิจเข้ามาในประเทศไทยภายใน 2 ปีข้างหน้า สะท้อนให้เห็นว่าประเทศไทยยังคงเป็นตลาดนักลงทุนทั่วโลกให้ความสนใจและมองว่ามีศักยภาพในการเป็นศูนย์กลางการลงทุนของภูมิภาค เราเชื่อว่าความร่วมมือครั้งนี้และโซลูชันด้านการเงินระหว่างประเทศชั้นนำของเอชเอสบีซีจะช่วยให้เราบรรลุเป้าหมายในการร่วมปลดล็อคโอกาสการลงทุน เพื่อขับเคลื่อนการเติบโตของการลงทุนจากต่างประเทศได้อย่างมั่นคง” นายกัมบา กล่าวปิดท้าย
ภายหลังพิธีการลงนามข้อตกลงความร่วมมือ ยังมีการเสวนาในหัวข้อ “ปลดล็อคโอกาสการลงทุนในไทย” โดยมีตัวแทนจากภาครัฐและเอกชนเข้าร่วม ได้แก่ นางสาวฐนิตา ศิริทรัพย์ ผู้อำนวยการกองส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ บีโอไอ, นายกฤษฎา แพทย์เจริญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มลูกค้าธุรกิจ ธนาคารเอชเอสบีซี ประเทศไทย, นายแฟรงค์ คอนสแตนต์ ผู้ร่วมก่อตั้ง คอนสแตนท์ เอนเจอร์จี ผู้ให้บริการโซลูชันพลังงานหมุนเวียน และนายยี่ เสี่ยวผิง รองประธาน ไฮเซ่นส์ อาเซียน โดยผู้ร่วมเสวนาได้แลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับโอกาสของประเทศไทยในการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ เพื่อเจาะตลาดไทยควบคู่ไปกับการตั้งฐานการผลิตในไทยเพื่อส่งออกไปยังตลาดอื่น ๆ ในอาเซียน โดยการสนับสนุน อาทิ ฟรีวีซ่าและความตกลงการค้าเสรี ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่จะยกระดับความสามารถในการแข่งขันของไทย นอกเหนือไปจากสิทธิประโยชน์ทางภาษี
ภายในงานยังมีบุคคลสำคัญและผู้แทนจากสถานทูตและหอการค้าระหว่างประเทศเข้าร่วมงาน เช่น สถานเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย สถานเอกอัครราชทูตเวียดนาม องค์กรส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน สถานเอกอัครราชทูตออสเตรเลีย สถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย สำนักงานเศรษฐกิจและการค้าฮ่องกง หอการค้าอเมริกันในประเทศไทย หอการค้าเกาหลี – ไทย และหอการค้าอังกฤษ-ไทย