November 25, 2024

พร้อมเปิดโพยเด็ดกองทุนลดหย่อนภาษี รับโค้งสุดท้ายปลายปี เพื่อการลดหย่อนภาษีที่คุ้มค่า พร้อมโอกาสรับผลตอบแทนที่ดี

SCB CIOประเมินความไม่แน่นอนของการเมืองไทยในการจัดรัฐบาลใหม่ เป็นความเสี่ยงระยะสั้น มองเป็นโอกาสลงทุนระยะยาว แนะสะสมกองทุนRMF-SSF หุ้นไทยกลุ่มท่องเที่ยว บริโภคอุปโภค และโรงพยาบาล ส่วนการจัดการเพดานหนี้สหรัฐฯ มีแนวโน้มเจรจายืดเยื้อเนื่องจากคะแนนเสียงของสองพรรคใหญ่ค่อนข้างใกล้เคียงกันและคุมเสียงพรรคละสภา (narrow majorities and divided government) ชี้หุ้นสหรัฐฯ กลุ่มโครงสร้างพื้นฐาน น่าสนใจ รอรองรับปันผล มีความผันผวนน้อย และกลุ่มเทคฯ ยักษ์ใหญ่สหรัฐฯ ส่วนหุ้นญี่ปุ่นแนะทยอยขาย หลังปรับขึ้นกว่า 14% จากอานิสงค์เงินเยนอ่อนค่า และการเปิดเมือง คาด ECB ขึ้นดอกเบี้ยอีก 2ครั้งๆละ 0.25% พร้อมคงดอกเบี้ยที่ 3.75%ถึงปลายปี 2566

ดร.กำพล อดิเรกสมบัติ ผู้อำนวยการอาวุโส และหัวหน้าทีม SCB Chief Investment Office (SCB CIO) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ขณะนี้มีประเด็นความไม่แน่นอนทางการเมือง 2 ประเด็นที่นักลงทุนต้องจับตา ได้แก่ การจัดตั้งรัฐบาลของไทย และการจัดการเพดานหนี้สาธารณะของสหรัฐฯ ซึ่งถือเป็นความเสี่ยงระยะสั้นต่อตลาด แต่มาพร้อมโอกาสการลงทุนระยะยาว

สำหรับประเด็นการจัดตั้งรัฐบาลของไทย ยังมีความไม่แน่นอนสูง และอาจใช้เวลานานกว่าปกติ ด้วยเงื่อนไขการลงคะแนนเลือกนายกรัฐมนตรี ที่ต้องมีเสียงสนับสนุน 376 เสียงขึ้นไป จากสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา ซึ่งกรอบกฎหมายกำหนดให้ต้องมีการประชุมสภาครั้งแรก ภายในวันที่ 28 ก.ค. นี้ อย่างไรก็ตาม การจัดตั้งรัฐบาลใหม่เกิดขึ้น ท่ามกลางเศรษฐกิจไทยที่กำลังฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย (GDP) ในปีนี้ ไตรมาสแรก เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ( YoY ) เติบโตได้ 2.7% (โดยฟื้นจากไตรมาส 4 /2565 ที่เติบโตได้ 1.4%) และหากพิจารณาการเติบโตเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (หลังหักผลของฤดูกาลแล้ว) เศรษฐกิจไทยไตรมาส1กลับมาขยายตัวได้ 1.9% (เมื่อเทียบกับไตรมาส 4 / 2565 ที่หดตัว -1.1%) โดยได้รับแรงหนุนหลักจากการบริโภคภาคเอกชน และการท่องเที่ยว ทำให้ความเสี่ยงที่เศรษฐกิจไทยจะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยทางเทคนิคลดลงอย่างมาก

ขณะที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่ที่จะออกมา ยังมีรายละเอียดไม่มากนัก ซึ่งอาจมีผลต่อเศรษฐกิจน้อยกว่ามาตรการกระตุ้นครั้งที่ผ่านมา เนื่องจากภาครัฐมีหนี้สาธารณะต่อGDPที่สูงอยู่แล้ว (smaller fiscal space) รวมถึงหนี้ภาคครัวเรือนที่สูง ถึง 87% ของ GDP ซึ่งน่าจะเป็นข้อจำกัดทำให้ภาคการเงินยังมีความระมัดระวังในการปล่อยกู้อีกด้วย

SCB CIO มองว่า ตลาดหุ้นไทย หลุดพ้นภาวะ earning recession หรือภาวะที่กำไรบริษัทจดทะเบียนเมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน หดตัวติดต่อกัน 2 ไตรมาส ได้เรียบร้อยแล้ว โดยเชื่อว่า ดัชนีในระดับปัจจุบันรับรู้ความเสี่ยงจากประเด็นการเมืองไปบ้างแล้ว จึงเป็นโอกาสสำหรับการลงทุนระยะยาว โดยเฉพาะการลงทุนในกองทุนรวมเพื่อลดหย่อนภาษี ประเภท กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) และกองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) รวมทั้งแนะนำให้สะสมหุ้นกลุ่มท่องเที่ยว บริโภคอุปโภค และโรงพยาบาล เนื่องจากผลประกอบการ มีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง นอกจากนี้ แนวโน้มราคาต่อ

กำไรต่อหุ้น forward P/E ratio ของหุ้นไทย ลดลง (derate) จากระดับ 15.4 เท่า ก่อนการเลือกตั้งลงมาที่ 15.0 เท่า (มีค่าความผันผวน -0.5 sd)

สำหรับประเด็นปัญหาเพดานหนี้สาธารณะของสหรัฐฯ อาจสร้างความผันผวนให้กับตลาดการเงินโลกได้ โดยคาดว่า ปัญหานี้จะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯในระยะสั้นเท่านั้น เนื่องจากตลาดแรงงานสหรัฐฯ ยังแข็งแกร่ง ขณะที่ตลาดหุ้นสหรัฐฯ เข้าสู่ภาวะ earning recession ไปแล้ว เมื่อมีปัจจัยความไม่แน่นอนทางการเมืองนี้เข้ามา ก็อาจทำให้ตลาดผันผวนได้

ทั้งนี้ จากฝ่ายบริหารที่ครองโดยพรรคเดโมแครต ในขณะที่ฝ่ายนิติบัญญัติครองโดยพรรคเดโมแครตในสภาสูงแต่พรรคริพับลิกันครองสภาล่าง (divided government) และจำนวนคะแนนเสียงในแต่ละสภาที่มีเสียงส่วนใหญ่ห่างจากเสี่ยงส่วนน้อยไม่มาก (Narrow majorities) ทำให้การผ่านร่างกฎหมายฯ มีแนวโน้มการต่อรองที่ยืดเยื้อ ซึ่งอาจจะมีผลกระทบทางลบเกิดขึ้นได้ หากมีการผิดนัดชำระหนี้ผูกพัน โดยSCB CIO เชื่อว่าน่าจะมีการตกลงกันและผ่านร่างกฎหมายได้ในนาทีสุดท้าย (last minute deal) และมาควบคู่กับการปรับลดงบประมาณใช้จ่ายบางส่วน

ดร.กำพล กล่าวต่อไปว่า เราได้ประเมินทางเลือกในการแก้ไขปัญหาเพดานหนี้สหรัฐฯ ดังนี้ 1) การเพิ่มเพดานหนี้ แต่เราคาดว่าร่างกฎหมายการเพิ่มเพดานหนี้ที่จะผ่านสภาคองเกรส จะมาควบคู่กับแผนการปรับลดรายจ่ายด้านงบประมาณ 2) กรณีที่ยังไม่สามารถหาข้อตกลงร่วมกันได้ก่อนเข้าใกล้ X-date ซึ่งเป็นวันที่มาตรการพิเศษและกระแสเงินสดของรัฐบาลสหรัฐฯ จะหมดลง เราคาดว่า ทางการอาจเลือกผ่านกฎหมายการเพิ่มเพดานหนี้เล็กน้อย หรือ ผ่านกฎหมายเลื่อนเพดานหนี้ออกไปชั่วคราวจนถึงวันที่ 30 ก.ย. นี้ โดยต้องพยายามผ่านกฎหมายการเพิ่มเพดานหนี้ควบคู่กับแผนการใช้จ่ายสำหรับปีงบประมาณ 2567

นอกจากนี้ ยังได้เปรียบเทียบการจัดการวิกฤตเพดานหนี้ในปี 2554 ที่ยกเพดานหนี้ไม่กี่ชั่วโมงก่อนเส้นตาย กับปี 2556 ที่ใช้วิธีเลื่อนเพดานหนี้ 1 วันก่อนเส้นตาย พบว่า การจัดการในปี 2554 สร้างความผันผวนต่อตลาดสูงมาก และทำให้ตลาดหุ้นปรับตัวลดลง เนื่องจากการเจรจามีความไม่แน่นอนสูงมาก รวมถึง S&P Global Ratings ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของสหรัฐฯ ลง (จาก AAA เป็น AA+) โดย 1 เดือนก่อนและหลังการยกเพดานหนี้ S&P500 index ปรับลดลงถึง -12% ส่วนผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปี (10y UST yield) ปรับลง 1.13 ppt. แต่ผลต่อค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ มีไม่มากนัก ขณะที่ ปี 2556 S&P500 index ปรับขึ้น +5% และผลต่อ 10y UST yield และเงินดอลลาร์สหรัฐฯ มีค่อนข้างจำกัด

ส่วนปัจจัยอื่นที่มีผลต่อการลงทุน ได้แก่ สถานการณ์เงินเฟ้อในยุโรปที่ยืดเยื้อกว่าที่คาดการณ์ ขณะที่เศรษฐกิจยุโรปยังฟื้นตัวได้ดี ทำให้ธนาคารกลางยุโรป (ECB) น่าจะขึ้นดอกเบี้ยต่อ แม้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) จะหยุดขึ้นดอกเบี้ยแล้ว โดยคาดว่า ECB จะขึ้นดอกเบี้ยอีก 2 ครั้ง ครั้งละ 0.25% จนกระทั่งดอกเบี้ยแตะระดับ 3.75% และคงดอกเบี้ยไว้ถึงปลายปี 2566 ส่วนอัตราดอกเบี้ยของ Fed เราคงมุมมองว่า น่าจะอยู่ที่ 5.0-5.25% จนถึงปลายปี 2566 เนื่องจากความตึงเครียดในภาคการเงินของสหรัฐฯ ยังคงมีแนวโน้มสูงขึ้น ทำให้โอกาสในการขึ้นดอกเบี้ยต่อมีน้อยลง แต่อัตราเงินเฟ้อที่ชะลอลงช้าและตลาดแรงงานที่ยังแข็งแกร่ง เป็นปัจจัยหลัก ทำให้ Fed ไม่น่าจะลดดอกเบี้ยในปีนี้

SCB CIO มองว่า ช่วงเวลาเช่นนี้ เป็นโอกาสจับจังหวะสะสมหุ้นกลุ่มเชิงรับ (Defensive) ในตลาดหุ้นสหรัฐฯ โดยเฉพาะในกลุ่มโครงสร้างพื้นฐาน (Utilities) ซึ่งมีคุณสมบัติผันผวนน้อย (low volatility) มีเงินปันผลรองรับ ขณะที่ มูลค่า

หุ้น (valuation) และการเติบโตของกำไรในปัจจุบัน จัดอยู่ในกลุ่มที่มีลักษณะเติบโตและมีราคาสมเหตุสมผล (Growth At Reasonable Price) นอกจากนี้ยังมี กลุ่มบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ (Mega Tech) ที่ได้อานิสงส์จากผลประกอบการที่ยังแข็งแกร่ง อัตราผลตอบแทนพันธบัตรที่ลดลง และได้รับกระทบน้อยจากความเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอย

ดร.กำพล กล่าวว่า SCB CIO ยังมีการปรับมุมมองหุ้นญี่ปุ่น เป็นทยอยขาย (Slightly negative from Neutral) เนื่องจากตลาดหุ้นญี่ปุ่นตั้งแต่ต้นปี 2566 ปรับตัวขึ้นมาแล้วกว่า 14% โดยได้อานิสงส์หลักจาก ค่าเงินเยนที่อ่อนค่ากว่า 4% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ และการเปิดเมือง แต่ในระยะข้างหน้าความเสี่ยงเงินเฟ้อของญี่ปุ่นมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จากการปรับค่าจ้างที่จะเกิดขึ้นในเดือน ก.ค. ซึ่งคาดว่าจะส่งผลให้ธนาคารกลางญี่ปุ่นมีการปรับนโยบายการควบคุมเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตร (Yield Curve Control) ทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นมีแนวโน้มปรับขึ้น สวนทางกับผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ที่คาดว่าจะลดลงจากการหยุดขึ้นดอกเบี้ยของ Fed และความเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐฯ ซึ่งจะส่งผลให้ค่าเงินเยนมีแนวโน้มกลับมาแข็งค่าขึ้น

X

Right Click

No right click