KKP Research โดยกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ประเมินว่าการเข้ามาของ EV จากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมยานยนต์ ไม่ใช่สาเหตุเดียวของการเปลี่ยนแปลงที่จะกระทบต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ไทย แต่สาเหตุที่สำคัญกว่า คือ การรุกคืบในการชิงส่วนแบ่งตลาดรถยนต์ของผู้ประกอบการจากประเทศจีนที่มีกำลังการผลิตส่วนเกิน และมีความสามารถในการแข่งขันด้านราคา ซึ่งผลักดันให้ยานยนต์จีนมีบทบาทเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในเวทีโลก โดย EV เป็นเพียงหนึ่งในจุดเปลี่ยนที่เร่งแนวโน้มดังกล่าว การก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำตลาดของอุตสาหกรรมรถยนต์จีนจะสร้างแรงกระเพื่อมมายังเศรษฐกิจและยานยนต์ไทยมากขึ้น

โดยผลกระทบต่อตลาดรถยนต์จะไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่กลุ่มรถยนต์นั่งส่วนบุคคลที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจาก EV แต่จะขยายวงกว้างไปยังตลาดรถ “ปิกอัพ” ซึ่งเป็นหัวใจหลักของธุรกิจยานยนต์ไทยและตลาดส่งออกของไทยอีกด้วย

EV เป็นเพียงจุดเริ่มต้น ปิกอัพไทยเสี่ยงถูกชิงตลาดเช่นกัน

เมื่อพิจารณาโครงสร้างการส่งออกรถยนต์ของจีนไปทั่วโลกจะพบว่า จีนส่งออกทั้ง EV และรถยนต์สันดาปภายใน (ICE) โดย EV คิดเป็นสัดส่วนเพียงประมาณ 30% ของการส่งออกรถยนต์ทั้งหมดจากจีนเท่านั้น ในขณะที่อีก 70% ที่เหลือเป็นรถยนต์สันดาปภายในที่มีการส่งออก “ปิกอัพ” รวมอยู่ด้วย ซึ่งคาดว่าในอนาคตจะเป็นคู่แข่งโดยตรงในตลาดส่งออกปิกอัพสำคัญของยานยนต์ไทย โดยเริ่มที่จะเห็นสัญญาณชัดเจนขึ้นในตลาดออสเตรเลียในปี 2023 ที่ปิกอัพของจีนสามารถแย่งส่วนแบ่งตลาดได้มากถึง 8% ของยอดขายกลุ่มรถยนต์เชิงพาณิชย์ทั้งหมดของออสเตรเลียภายในเวลาเพียง 2-3 ปี ดังนั้น ผลกระทบต่อการส่งออกปิกอัพไทยจึงมีแนวโน้มเกิดขึ้นได้เร็วแม้ยังไม่มีการเปิดตัวปิกอัพ EV

ครั้งนี้ไม่เหมือน 1980s…การลงทุนจีนอาจไม่ช่วยต่อยอดยานยนต์ไทย

การเข้ามาของทุนจีนในปัจจุบันเป็นไปเพื่อใช้กำลังการผลิตส่วนเกินในจีนมาเจาะตลาดภายในประเทศมากกว่าการมาใช้ไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อการส่งออกแบบญี่ปุ่นในช่วงทศวรรษ 1980s โดยยอดขายรถยนต์ในประเทศจีนมีแนวโน้มที่จะชะลอตัวลงตามภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่มีสัญญาณฟื้นตัว ซึ่งจะกดดันให้มีกำลังการผลิตส่วนเกินเพิ่มมากขึ้น ตลาดส่งออกจึงเป็นทางออกที่สำคัญสำหรับยานยนต์จีนในการระบายสต็อกรถยนต์ อย่างไรก็ตาม จีนไม่สามารถส่งออกรถยนต์ไปทั่วโลกได้ง่ายนัก ท่ามกลางการแบ่งขั้วมหาอำนาจระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกาที่ส่งผลให้มีการกีดกันสินค้าจากจีนรุนแรงมากขึ้น อีกทั้งยุโรปยังมีแนวโน้มที่จะเพิ่มภาษีการนำเข้ารถยนต์จีนมากขึ้นเพื่อปกป้องอุตสาหกรรมยานยนต์ของยุโรป ส่งผลให้ภูมิภาคอาเซียนกลายเป็นเป้าหมายหลักถัดไปสำหรับการระบายรถยนต์จีน โดยเฉพาะประเทศไทยที่มีมาตรการให้เงินสนับสนุนการซื้อ EV และยังยกเว้นภาษีนำเข้ารถยนต์จีนผ่านสิทธิประโยชน์ทางภาษีจาก China-ASEAN FTA ซึ่งไทยเป็นเพียงไม่กี่ประเทศที่เปิดให้นำเข้ารถไฟฟ้า นอกจากนี้การลงทุนของจีนอาจสร้างความน่ากังวลต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ไทยมากขึ้นด้วยปัจจัยภายใต้ภาวะอุปสงค์และอุปทานตลาดรถยนต์ของไทยที่ปรับแย่ลง ได้แก่

(1) ตลาดรถยนต์ในประเทศของไทยได้ผ่านจุดสูงสุดและเริ่มเข้าสู่ภาวะชะลอตัวนับตั้งแต่ปี 2018 ซึ่งส่งผลให้ยอดขายรถยนต์ภายในประเทศจะเปลี่ยนเป็นทิศทางขาลงต่อเนื่อง และในอนาคตมีแนวโน้มไม่สามารถรองรับ EV จีนที่จะทะลักเข้า

มาในตลาดและที่กำลังจะมีการผลิตภายในประเทศได้ทั้งหมด ทางออกที่สำคัญ คือ ความสามารถในการส่งออก EV จากไทยไปยังประเทศอื่นที่จะช่วยพยุงอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยต่อไปได้

(2) อย่างไรก็ตาม ไทยต้องแข่งกับจีนโดยตรงในตลาดส่งออกรถยนต์ในต่างประเทศ จากการที่ผู้ประกอบการจีนมีการส่งออกและเข้าไปลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศต่าง ๆ โดยตรง จะกดดันให้ส่วนแบ่งตลาดการส่งออกรถยนต์ของไทยมีขนาดเล็กลง ทำให้โอกาสสำหรับไทยในการเป็นผู้นำส่งออกรถยนต์ EV มีความท้าทายมากขึ้น

(3) มูลค่าเพิ่มภายในประเทศ (domestic value add) ที่ไทยจะได้รับจากการผลิตรถยนต์ EV 1 คัน ต่ำกว่าการผลิตรถยนต์ ICE อย่างมาก จากการที่ต้องพึ่งพาการนำเข้าชิ้นส่วนสำคัญจากต่างประเทศ ในขณะที่ในกลุ่มสินค้าเดิมที่ไทยสามารถผลิตได้มีแนวโน้มต้องลดราคาเพื่อแข่งกับผู้ประกอบการจีน เพราะบริษัทจีนสามารถนำเข้าโดยตรงจากจีนด้วยต้นทุนที่ถูกกว่าไทยมาก ทำให้ถึงแม้จะมีการตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ EV ในไทย แต่ประโยชน์ที่ไทยจะได้รับจากการผลิตรถยนต์จะน้อยกว่าในอดีต

วิกฤตยานยนต์...สายเกินแก้แล้วหรือยัง?

การเปลี่ยนผ่านของตลาดรถยนต์ทั่วโลกยังคงมีความไม่แน่นอนสูง นั่นอาจจะหมายถึงโอกาสสำหรับไทยในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลง โดยยอดขายรถยนต์ไฟฟ้า (Battery Electric Vehicle: BEV) เริ่มชะลอตัวลงทั่วโลก แต่ยอดขายรถยนต์ไฮบริด (Hybrid Vehicles) กลับขยายตัวได้มากขึ้น สาเหตุหลักมาจากข้อจำกัดหลายด้านทั้งความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ และความไม่แน่นอนของเทคโนโลยี ทำให้ยังไม่สามารถชี้ชัดได้ว่าใครจะเป็นผู้นำตลาดรถยนต์ยุคใหม่ที่แท้จริง และอาจช่วยยืดเวลาสำหรับรถยนต์สันดาปภายในได้อีกระยะหนึ่ง นอกจากนี้ มีความเป็นไปได้สูงว่าค่ายรถจีนจะเข้ามาลงทุนในไทยต่อเนื่องเพื่อดันไทยเป็นหนึ่งในฐานการส่งออกหากการกีดกันสินค้าจากสหรัฐอเมริกาและประเทศตะวันตกรุนแรงมากขึ้น ซึ่งถือเป็นโอกาสที่อาจเอื้อให้เกิดการโอนถ่ายความรู้เทคโนโลยีให้กับไทยได้

อย่างไรก็ตาม นโยบายสนับสนุน EV ในปัจจุบันเอื้อต่อการเน้นการนำเข้าชิ้นส่วนเข้ามาประกอบภายในประเทศมากกว่า ซึ่งจะส่งผลให้มูลค่าเพิ่มที่ไทยได้รับจากการผลิต EV ลดลงมากกว่าครึ่งเมื่อเทียบกับการผลิตรถยนต์สันดาปภายใน ภาครัฐจึงควรให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพด้านเทคโนโลยีของผู้ประกอบการไทยอย่างเร่งด่วน ซึ่งเป็นรากฐานที่สำคัญที่สุดในการแข่งขันของอุตสาหกรรมยานยนต์ในปัจจุบันและอนาคตหากต้องการที่จะรักษาความเป็นผู้นำในภาคยานยนต์ไว้ และอาจจำเป็นต้องมีการทบทวนมาตรการด้านการให้เงินอุดหนุน EV เพื่อลดการบิดเบือนโครงสร้างและราคาในตลาดรถยนต์ รวมถึงการเพิ่มความเข้มงวดในการกำหนดและตรวจวัดสัดส่วนการใช้วัตถุดิบภายในประเทศ (Local content ratio) เพื่อซื้อเวลาให้ภาคยานยนต์ในระยะสั้น และเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ไทยให้ยังคงได้รับประโยชน์และมีเวลาปรับตัวรับมือกับการเปลี่ยนแปลงนี้ได้ในระยะยาว

โรงงานรถยนต์และชิ้นส่วนเสี่ยงปิดตัวสูงหากปล่อยตามกลไกตลาด

สถานการณ์ปัจจุบันมีโอกาสสูงที่จะนำไปสู่การปิดโรงงานผลิตรถยนต์ของบางรายที่ไม่สามารถอยู่รอดได้ในสมรภูมิใหม่หากภาครัฐปล่อยไปตามกลไกการแข่งขันในปัจจุบัน ค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นหลายค่ายได้เสียส่วนแบ่งตลาดในไทยให้กับ EV จีนมากกว่า 10% ภายในระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้สต็อกรถยนต์ ICE เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และกำลังการผลิตรถยนต์ ICE เริ่มปรับลดลง แต่โดยรวมยังไม่สามารถลดกำลังการผลิตได้มากนักจากข้อจำกัดเรื่องต้นทุนคงที่ (Fixed cost) ซึ่งมีขนาดใหญ่ ซึ่งส่งผลให้เกิดการแข่งขันด้านราคาเพื่อระบายสินค้าและกดดันอัตรากำไรของบริษัทยานยนต์ในประเทศ อย่างไรก็ดี ค่ายรถยนต์บางรายอาจไม่สามารถสู้การตัดราคาขายแข่งได้และมีแนวโน้มขาดทุน ซึ่งมีความเสี่ยงมากขึ้นที่จะเกิดการปิดตัวของโรงงานผลิตรถยนต์บางแห่ง คล้ายกับสถานการณ์ที่ค่ายรถญี่ปุ่นต้องเผชิญในประเทศจีน ซึ่งหากมีบริษัทจำเป็นต้องปิดตัวก็จะส่งผลเพิ่มเติมต่อการจ้างงานและเศรษฐกิจไทยในวงกว้างมากขึ้น

 

[]

บริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) โบรกเกอร์สัญชาติไทยแห่งแรกที่ออก HSI DW หรือ DW อ้างอิงดัชนีฮั่งเส็ง จัดงานสัมมนาหัวข้อ “เปิดโลกการลงทุนในตลาดหุ้นจีนและฮ่องกงกับ HSI DW06” ให้กับนักลงทุนที่สนใจ โดยมีนายพงศธร ลีลาประชากุล นักวิเคราะห์การลงทุนตราสารทุนต่างประเทศ ฝ่ายวิเคราะห์เศรษฐกิจและการลงทุน วิเคราะห์ภาพรวมเศรษฐกิจจีนและฮ่องกง ปัจจัยที่มีผลต่อตลาดหุ้น กลยุทธ์การลงทุน และโอกาสในการลงทุนในหุ้นกลุ่มต่างๆ และนายปวริศวร์ ภูริเวทย์คุณากร ผู้เชี่ยวชาญด้านผลิตภัณฑ์ ฝ่ายค้าหลักทรัพย์และสัญญาซื้อขายล่วงหน้า แนะนำการเริ่มต้นลงทุนใน HSI DW06 อาทิ กลไกการทำงาน ความเสี่ยง วิธีการซื้อขาย และกลยุทธ์การลงทุน นอกจากนั้นยังมี Boy DW Trader หรือนายธนภัทร ดวงจิตร จากเพจ DW Trader หุ้นใหญ่ กราฟสวย กูรูด้านการลงทุน DW มาร่วมให้มุมมองเกี่ยวกับเทคนิคการวิเคราะห์ กลยุทธ์การเข้าซื้อ-ขาย และการบริหารความเสี่ยง ณ หอประชุมศุกรีย์ แก้วเจริญ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อวันอาทิตย์ที่ 4 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา

บริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) จัดงานสัมมนา An Afternoon with Howard Marks: Navigating Market Realities Through Sea Change ฉายภาพการลงทุนท่ามกลางการเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่ (Sea Change) ผ่านมุมมองกูรูการลงทุนระดับโลกอย่าง Howard Marks และ ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ นักเศรษฐศาสตร์ชั้นแนวหน้าของประเทศ โดยงานสัมมนานี้จัดขึ้นสำหรับกลุ่มลูกค้า Wealth Management แบบเอกซ์คลูซีฟ เพื่อยกระดับการลงทุนและการบริหารความมั่งคั่งไปสู่โอกาสระดับโลก ณ โรงแรมวอลดอร์ฟ แอสโทเรีย กรุงเทพ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 5 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา

นาย Howard Marks ผู้ก่อตั้งร่วมและประธานร่วม บริษัท โอ๊คทรี แคปิตอล แมเนจเมนท์ บริษัทจัดการสินทรัพย์ผู้นำด้านการลงทุนทางเลือก (Alternative Investment) ของโลกกล่าวว่าปัจจุบันตลาดทุนอาจกำลังประสบกับ “การเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่” (Sea Change) ครั้งที่ 3 การเปลี่ยนผ่านครั้งแรกเกิดขึ้นในช่วงปี 1970-1980 ที่นักลงทุนได้เปิดรับแนวคิดว่าสามารถลงทุนในคุณภาพสินทรัพย์ระดับใดก็ได้ภายใต้ผลตอบแทนที่คุ้มค่าเมื่อเทียบกับความเสี่ยง การเปลี่ยนผ่านครั้งที่ 2 เกิดขึ้นในช่วงปี 1980-1990 หลังจากอัตราเงินเฟ้อพุ่งขึ้นสูง และธนาคารกลางสหรัฐต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยไปจนถึงร้อยละ 20 เพื่อควบคุมเงินเฟ้อ ก่อนจะปรับลดก่อให้เกิดยุคของอัตราดอกเบี้ยต่ำต่อเนื่อง และทำให้ตลาดหุ้นปรับตัวขึ้นอย่างก้าวกระโดดมากว่า 40 ปี สำหรับในปัจจุบัน สภาวะเงินเฟ้อระดับสูง และอัตราดอกเบี้ยสูงอาจนับเป็นการเปลี่ยนผ่านสำคัญครั้งใหญ่ครั้งที่ 3 ที่นักลงทุนจำต้องปรับแนวคิดต่างไปจากเดิม อัตราส่วนระหว่างผลตอบแทนและความเสี่ยงที่เปลี่ยนไปสำหรับสินทรัพย์ทุกประเภท ทำให้กลยุทธ์การลงทุนในตราสารหนี้ (Debt Investing) มีความน่าสนใจ และบ่งบอกว่ากลยุทธ์การลงทุนที่สามารถใช้ได้ดีในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา อาจจะไม่ใช่กลยุทธ์ที่เหมาะสมสำหรับการลงทุนในอนาคตอีกต่อไป

ด้าน ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษากลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร กล่าวว่าผลกระทบของการเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่ระดับโลกที่เกิดขึ้นในแต่ละครั้ง ล้วนส่งผลกระทบมาถึงไทยไม่ต่างจากประเทศอื่นๆ อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากประเด็นการเปลี่ยนผ่านระดับโลก ประเทศไทยยังมีความท้าทายเฉพาะตัว อันเนื่องมาจากอัตราการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจที่ลดลง การพึ่งพาอุปสงค์จากภายนอกที่มากขึ้น และความสามารถในการแข่งขันลดลง ดังนั้น การรับมือกับปัจจัยภายนอกอย่างประเด็นภูมิรัฐศาสตร์โลก การทวงคืนตลาดการส่งออก การฟื้นคืนจำนวนนักท่องเที่ยว ตลอดจนการบริหารอัตราส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพี และการปฏิรูปเชิงโครงสร้างในด้านการศึกษา พลังงาน สิ่งแวดล้อม การเกษตร การเมือง หรือโครงสร้างประชากรจึงเป็นสิ่งที่ประเทศไทยต้องพิจารณาเพื่อเตรียมรับกับการเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่ที่กำลังเกิดขึ้น

 

เมื่อเร็วๆ นี้ ธนาคารเกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) จัดพิธีลงนามข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ กับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

Page 1 of 2
X

Right Click

No right click