January 22, 2025

กรุงศรี เอ็กซ์คลูซีฟ เปิดมุมมองเศรษฐกิจและการลงทุนในปี 2567 ในงานสัมมนา KRUNGSRI EXCLUSIVE Investment Outlook 2024 : AI Trends and Investment Strategies โดยได้รับเกียรติจากทีมผู้เชี่ยวชาญจากกรุงศรี กรุ๊ป แบล็คร็อค พันธมิตรระดับโลกของกรุงศรี และ ที.โรว ไพรซ์ มาร่วมแบ่งปันมุมมองเศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจภูมิภาคอาเซียน และเศรษฐกิจไทย วิเคราะห์สถานการณ์การลงทุน โดยเฉพาะกระแสการลงทุนในกลุ่ม AI พร้อมเผยกลยุทธ์การลงทุนในปี 2567 โดยชี้ว่าเศรษฐกิจโลกปีนี้ชะลอตัว รอลุ้นจังหวะดอกเบี้ยขาลง แนะลงทุนในตราสารหนี้และกองทุนรวมหุ้นเทคฯ

สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจโลกปีนี้ ดร.พิมพ์นารา หิรัญกสิ หัวหน้าทีมวิจัยเศรษฐกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (จำกัด) มหาชน มองว่า ภาพรวมของเศรษฐกิจโลกจะชะลอตัว โดยแรงหนุนหลักมาจากภาคบริการ ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมยังคงชะลอตัว เนื่องจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางในหลายๆ ประเทศ โดยมองว่าวัฎจักรการขึ้นดอกเบี้ยได้สิ้นสุดแล้ว และปัจจุบันอยู่ในช่วงนับถอยหลังสู่การปรับลดดอกเบี้ย ซึ่งหากเจาะลึกลงไปในประเทศหลักๆ จะพบว่าสถานการณ์เศรษฐกิจของสหรัฐฯยังคงชะลอตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป (Soft Landing) โดยในปีนี้จะชะลอลงจากปีก่อน แต่ยังไม่น่ากังวลมากนัก และคาดการณ์ว่าเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงกลางปีเป็นต้นไป ในส่วนของยูโรโซน ถึงแม้ในช่วงปลายปีที่ผ่านมาสามารถพ้นจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยมาได้อย่างหวุดหวิด อย่างไรก็ตามเศรษฐกิจของยูโรโซนจะยังคงฟื้นตัวช้าเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่นๆ จึงอาจมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าสหรัฐฯ สำหรับญี่ปุ่น เศรษฐกิจในปีที่ผ่านมามีการฟื้นตัวและเติบโตขึ้น 1-2% เนื่องจากได้รับอานิสงค์จากการเปิดประเทศ อย่างไรก็ตามเศรษฐกิจในปีนี้จะเริ่มชะลอตัว และด้วยเงินเฟ้อที่ระดับ 2% จึงคาดว่าธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) จะมีการปรับนโยบายขึ้นมาเป็นบวก ทางฝั่งของจีน เศรษฐกิจในปีนี้น่าจะชะลอตัวอยู่ที่ระดับ 4-6% จากเดิมปีที่แล้วอยู่ที่ 5% โดยมีปัจจัยเสี่ยงจากปัญหาตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่ยังคงยืดเยื้อ และส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจจีน สำหรับประเทศกลุ่ม ASEAN 5 ได้แก่ ไทย อินโดนิเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และสิงคโปร์ คาดการณ์ว่าในปีนี้จะมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเฉลี่ยอยู่ที่ 4.7% สูงขึ้นจากปีก่อนซึ่งอยู่ที่ 4.2% นับเป็นหนึ่งในไม่กี่ภูมิภาคที่มีการเติบโตที่ดี

ในส่วนของไทย ปีนี้คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวดีกว่าปีก่อนหน้า โดยปัจจัยที่จะสนับสนุนเศรษฐกิจไทย คือ 1) การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวซึ่งส่งผลให้การจ้างงานและภาคการบริโภคฟื้นตัวตามไปด้วย 2) การใช้จ่ายของภาครัฐจะเริ่มกลับมาทำหน้าที่ได้อย่างเต็มที่หลังจากพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2567 ผ่านสภาในช่วงเมษายน-พฤษภาคม ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงยังคงเกิดจากการที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัวต่อเนื่อง ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ และผลกระทบจากปรากฎการณ์เอลนีโญที่จะส่งผลกระทบต่อภาคการเกษตร นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่นๆ ของเศรษฐกิจไทยเช่น ภาวะหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง ต้นทุนสูง ปัญหาเชิงโครงสร้าง ตลอดจนความไม่แน่ในเชิงนโยบาย

เกาะกระแส AI เปิดมุมมองโอกาสหุ้นเทคฯ ยังไปต่อได้

จากกระแสและการเติบโตของ Generative AI ซึ่งมีความน่าสนใจสำหรับนักลงทุน นายเกียรติศักดิ์ ปรีชาอนุสรณ์ CFA ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการลงทุนทางเลือก บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงศรี จำกัด ได้แชร์มุมมองโอกาสการลงทุนจากกระแสของ AI โดยสรุปว่า นักลงทุนสามารถมองหาโอกาสการลงทุนในกลุ่มธุรกิจที่อยู่ใน Value Chain ทั้งหมดของ AI ได้ ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่กลุ่มธุรกิจการผลิตชิ้นส่วนฮาร์ดแวร์ หรือ Chip ได้แก่ NVIDIA AMD และ TSMC และกลุ่ม Data Infrastructure ซึ่งเป็นกลุ่มข้อมูลที่ใช้ในการเทรนด์เอไอ รวมถึงแอปพลิเคชันหรือซอฟต์แวร์ที่ผู้บริโภค หรือ End User ใช้งาน ซึ่งหลังจากนี้จะได้เห็นการพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆ มากมาย

หากเจาะจงที่หุ้นในกลุ่ม 7 นางฟ้า หรือ Magnificent 7 ซึ่งประกอบด้วย Apple (AAPL) Amazon (AMZN) Meta Platforms (META) Alphabet (GOOGL) Microsoft (MSFT) Nvidia (NVDA) และ Tesla (TSLA) พบว่าในปีที่ผ่านมามีการปรับราคาสูงขึ้น ขณะที่หุ้นเทคอื่นๆ ในตลาดยังไม่ปรับราคาสูงขึ้นหรือมีการปรับราคาสูงขึ้นมาเพียงเล็กน้อย ดังนั้นนับเป็นโอกาสที่นักลงทุนจะเข้าไปลงทุนเพิ่มเติมได้ ขณะที่หุ้น 7 นางฟ้า ในปีนี้คาดว่ายังคงเติบโตต่อเนื่องจากผลประกอบการและมุมมองเชิงบวกจากกลุ่มนักวิเคราะห์

ด้าน นายณพกิตติ์ จันทานานนท์ Southeast Asia Client Business Representative BlackRock กล่าวเสริมว่า ในช่วง 3-5 ปีที่ผ่านมา นักลงทุนจะโฟกัสกลุ่มผู้เล่นที่เป็นกลุ่มผลิต Hardware และ Infrastructure ซึ่งในอนาคตเราเห็นโอกาสในกลุ่มผู้เล่นที่พัฒนาระบบประมวลที่นำเอาข้อมูลไปประยุกต์ใช้ รวมถึงการนำเอา AI ไปเกิดเป็นผลิตภัณฑ์ บริการใหม่ๆ ในตลาด รวมไปถึง Sub Sector อื่นๆ อาทิ ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต บริษัทเกม Content Creator หรือแม้แต่การผลิตพลังงานทางเลือก เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ด้วยการเปลี่ยนแปลงที่ค่อนข้างรวดเร็วของหุ้นกลุ่มเทคฯ ต้องอาศัยการเข้าถึงข้อมูลอย่างรวดเร็วและปรับพอร์ตตามสถานการณ์อย่างทันท่วงที ซึ่งกองทุน KFHTECH บริหารจัดการโดย BlackRock จะมีทีมผู้จัดการกองทุนประจำอยู่ที่ซานฟรานซิสโก ทำให้เข้าถึงข้อมูลและปรับพอร์ตได้อย่างทันต่อสถานการณ์ การลงทุนจะเป็นแบบ Bottom Up Approach ซึ่งจะมีการทำ Research ว่าบริษัทไหนมีศักยภาพในการเติบโตในอนาคต มีพื้นฐานที่ดี โดยจะมีความยืดหยุ่นสูง ด้วยการลงทุนในหุ้น 100-150 ตัวจาก Universe 2,500 ตัวทั่วโลก จึงสามารถปรับพอร์ตให้ทันสถานการณ์การลงทุนได้ตลอดเวลา ปัจจุบันสามารถสร้างผลตอบแทนให้กับนักลงทุนได้ถึง 49.9%

ขณะที่ Mr. Nicholas Tong Head of Intermediary, Southeast Asia T. Rowe Price ได้ให้คำแนะนำเพิ่มเติมเกี่ยวกับกองทุน KFGTECH ซึ่งบริหารจัดการโดย T. Rowe Price ว่า กองทุนดังกล่าวเน้นการลงทุนในภาพใหญ่ของเทคโนโลยี และเป็นการลงทุนแบบ Bottom Up ขุดหาหุ้นมาลงทุนเป็นรายตัว ซึ่งปีที่แล้วสามารถสร้างผลตอบแทนได้ถึง 62% โดยจะให้ความสำคัญกับกลุ่มผู้เล่นที่เป็น Backbone สำคัญของ AI ซึ่งยังคงมีดีมานต์มหาศาล และมีพื้นฐานที่แข็งแรง

ทั้งนี้ จุดเด่นของกองทุนรวมทั้งสองเป็นกลุ่ม General Tech ไม่ได้ลงทุนเฉพาะหุ้นกลุ่ม AI แต่ด้วยกระแสและโอกาส สัดส่วนการลงทุนในกลุ่ม AI จึงค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับเทคโนโลยีอื่นๆ โดยกอง KFHTECH ของ BlackRock จะเป็นการสร้างพอร์ตแบบ Core & Opportunistic Holding คือ ลงทุนกลุ่ม Core 40-50% ขณะที่ลงทุนในกลุ่ม Opportunistic 50-60% ด้วยน้ำหนักที่น้อย แต่จะกระจายการลงทุนในหุ้นจำนวนมาก ให้ผลตอบแทนในระยะกลาง-ยาวที่ดีกว่า ผันผวนน้อยกว่า และผลตอบแทนสม่ำเสมอ ขณะที่กองทุน KFGTECH ของ T. Rowe Price เป็นสไตล์การลงทุนแบบ Highly Active และเปลี่ยนแปลงทุก 6 เดือน ซึ่งมีโอกาสทำกำไรได้มากกว่าในช่วงที่ตลาดขาขึ้น

แนะจัดพอร์ตการลงทุนด้วย 3 ธีมหลัก เน้น ‘ตราสารหนี้-กองทุนหุ้นเทคฯ’

ด้านนายวิรัตน์ วิทยศรีธาดา CFA ผู้บริหารฝ่ายวิเคราะห์กลยุทธ์และที่ปรึกษาการลงทุน และหัวหน้าทีม Krungsri Investment Intelligence ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ได้สรุปมุมมองการลงทุนในปีนี้ผ่าน 3 ธีมหลัก ได้แก่ ธีมที่หนึ่ง สำหรับช่วงดอกเบี้ยขาลง แนะนำลงทุนในกองทุนรวมตราสารหนี้ เช่น KF-CSINCOM ซึ่งลงทุนในกองทุนหลัก PIMCO GIS Income โดยจากข้อมูลในอดีตชี้ให้เห็นว่าหากเข้าลงทุนในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยตลาดอยู่ในระดับสูงจะให้ผลตอบแทนที่ดีในระยะหน้า ซึ่งในช่วง 1-3 ปีต่อจากนี้ อัตราดอกเบี้ยจะอยู่ในช่วงขาลงจึงเป็นโอกาสของการลงทุนตราสารหนี้

ในส่วนของตลาดหุ้น ช่วงที่ผ่านมาตลาดอยู่ในช่วงขาลงเพราะสถานการณ์อัตราดอกเบี้ยปรับเพิ่มขึ้น ซึ่งจากข้อมูลในอดีตจะเห็นว่า ตลาดหุ้นสหรัฐฯ มักให้ผลตอบแทนที่ดีหลังจากที่เฟดลดดอกเบี้ยครั้งแรกและเศรษฐกิจไม่เข้าสู่ภาวะถดถอย ขณะเดียวกันในปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในช่วง Q4 งบของบริษัทจดทะเบียนค่อนข้างดี และนักวิเคราะห์ยังปรับเพิ่มคาดการณ์กำไรบริษัทจดทะเบียนขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสองปัจจัยที่ผลักดันตลาดหุ้นคือ ดอกเบี้ยที่เป็นเทรนด์ขาลง และกำไรของบริษัทจดทะเบียนที่ยังคงแข็งแกร่ง อย่างไรก็ตาม จุดที่น่ากังวลของตลาดคือ หุ้นโดยเฉพาะหุ้นเทค P/E ที่ 20 เท่า ซึ่งราคาค่อนข้างสูง ทำให้การ Upside ของตลาดหุ้นจำกัดจากเรื่องของมูลค่าตามปัจจัยพื้นฐาน ดังนั้น จึงเป็นที่มาของการลงทุนในธีมที่สอง เมื่อเศรษฐกิจทั่วโลกชะลอตัว แนะนำลงทุนหุ้นในกลุ่ม Defensive อย่างเช่นกองทุน KFGBRAND ซึ่งกระจายการลงทุนหุ้นในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค สุขภาพ และเทคโนโลยี ซึ่งเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่ยังคงมีกำไรที่แข็งแกร่งแม้ในช่วงวิกฤต โดยจากผลตอบแทนรายปีในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา พบว่า ในช่วงวิกฤติกองทุนดังกล่าวไม่ได้ปรับลงมากเท่าตลาด และยังสามารถปรับขึ้นได้ในบางช่วงอีกด้วย และธีมที่สาม ด้วยเทรนด์การเติบโตของ Generative AI อาจส่งผลให้หุ้นกลุ่มเทคมีราคาสูง แต่ยังสามารถเติบโตได้อีกมาก จึงแนะนำกองทุนอย่าง KFHTECH ที่เน้นลงทุนในหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีต่างๆ เป็นหลัก ซึ่งคาดว่ารายได้จากกลุ่มธุรกิจเทคฯ จะเติบโตเฉลี่ย 42% ต่อปีในช่วง 10 ปีข้างหน้า

ชี้เป้าหุ้นไทย ‘โรงพยาบาล-ICT-แฟชั่น’ คาดดัชนีฯ 1,465-1,717 จุด

ด้านนายอิสระ อรดีดลเชษฐ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่กลุ่มงานวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัท หลักทรัพย์ กรุงศรี จำกัด (มหาชน) ได้ให้มุมมองภาพรวมเกี่ยวกับตลาดหุ้นต่างประเทศ และหุ้นไทยในปีนี้ว่า ช่วงไตรมาส 4/2567 ภาพรวมตลาดหุ้นโต 1.6% แต่หากเอาหุ้นเทคที่กล่าวถึง 6-7 ตัวออก Earning Growth จะยังคงติดลบอยู่ประมาณ 10% ดังนั้นจะต้องเพิ่มความระมัดระวัง โดยอาจจะเพิ่มหุ้น Defensive เช่น หุ้นกลุ่มโรงพยาบาล กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค รวมไปถึงหุ้นกลุ่ม Generative AI ซึ่งหากใครยังไม่มีอาจจะต้องรอจังหวะค่อยๆ สะสมไป รวมไปถึงพันธบัตรรัฐบาลที่น่าสนใจด้วย Yield ที่สูงประมาณ 4% กว่า ถือไว้ยังไงก็ไม่ขาดทุน ในส่วนของตลาดหุ้นไทยค่อนข้าง Laggard และตอนนี้เข้าข่าย Low Growth, Low Inflation ซึ่งน่าจะปิดปีที่ประมาณ 1,450 แต่ถ้า FED ลดดอกเบี้ยได้เร็ว และตลาดเริ่มฟื้นอาจจะปิดที่ประมาณ 1,500 แนะนำควรจะหลีกเลี่ยงหุ้นใหญ่ และรอดูสัญญาณ Macro ก่อน เน้นหุ้นที่มีธีมชัดๆ และมี Earning Growth ที่ชัดเจน เช่น หุ้นกลุ่ม ICT ได้แก่ TRUE หรือ ADVANC รวมไปถึงกลุ่มสินค้าแฟชันอย่าง MC และ Sabina ซึ่งเป็นหุ้นตัวเล็กทั้งคู่ แต่ Perform ค่อนข้างดี นอกจากนี้ ยังคงแนะนำหุ้นกลุ่มโรงพยาบาลที่สามารถถือได้ยาวๆ โดยมองเป้า SET Index ไว้ใน 3 กรณี คือ 1) หากมีการกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่ 1,717 2) หากไม่มีการกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่ 1,644 และ 3) หากเศรษฐกิจเติบโตชะลอ และเงินเฟ้อต่ำ ที่ 1,465

สำหรับผู้ที่สนใจ สามารถรับชมย้อนหลังได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=JXambdRQnSs และรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับ KRUNGSRI EXCLUSIVE โทร 02-296-5566 LINE: @KrungsriExclusive

X

Right Click

No right click