January 22, 2025
×

Warning

JUser: :_load: Unable to load user with ID: 805

บริติช เคานซิล ร่วมยกระดับการเรียนการสอนภาษาอังกฤษในไทย เชื่อมต่อครูสู่เครือข่ายระดับโลกผ่านโครงการ Enabling Fund

 บริติช เคานซิล ผู้นำระดับโลกด้านการส่งเสริมการศึกษาและวัฒนธรรม รุกขับเคลื่อนโครงการ Enabling Fund ที่มุ่งยกระดับคุณภาพการสอนภาษาอังกฤษในประเทศไทย โดยเชื่อมต่อครูไทยกับเครือข่ายครูภาษาอังกฤษทั่วโลกผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัล TeachingEnglish ซึ่งเป็นแหล่งรวบรวมทรัพยากรการเรียนรู้และข้อมูลด้านการสอนภาษาอังกฤษที่ใหญ่ที่สุด โครงการนี้ช่วยให้ครูสามารถพัฒนาทักษะการสอนได้ทุกที่ทุกเวลา และเปิดโอกาสให้มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับครูทั่วโลก

ในงานเปิดตัวโครงการ มร.แดนนี ไวท์เฮด ผู้อำนวยการ บริติช เคานซิล ประเทศไทย ได้เน้นถึงการสนับสนุนการปฏิรูปการสอนภาษาอังกฤษในไทย พร้อมมอบทุนสนับสนุนให้กับเขตพื้นที่การศึกษาและสถาบันอาชีวศึกษาในไทย โครงการนี้ยังสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่มุ่งเน้นการศึกษาอย่างเท่าเทียมและครอบคลุม โดยในปีแรกคาดว่าจะมีครูไทยกว่า 1,000 คน ที่จะได้รับประกาศนียบัตรสำเร็จหลักสูตรออนไลน์

นอกจากนี้ ครูที่เข้าร่วมยังสามารถต่อยอดความรู้ผ่านกิจกรรม MOOCs และ Webinar โดยมีการจัดประชุมและสัมมนาวิชาการเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่ได้จากการเรียนรู้ในชุมชนครูระดับโลก

ด้วยโครงการนี้ บริติช เคานซิล แสดงถึงความมุ่งมั่นในการพัฒนาศักยภาพครูไทย พร้อมเชื่อมต่อครูเข้ากับแหล่งข้อมูลและเครือข่ายระดับนานาชาติ เพื่อส่งเสริมให้การสอนภาษาอังกฤษในไทยมีประสิทธิภาพและทันสมัยยิ่งขึ้น.

EXIM BANK ประสบความสำเร็จในการเสนอขายพันธบัตรอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเพื่อ SMEs (SME Green Bond) ครั้งแรกภายใต้กรอบการระดมทุนเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Finance Framework) อายุ 3 ปี มูลค่ารวม 3,500 ล้านบาท เพื่อนำไปใช้สนับสนุนสินเชื่อโครงการพลังงานสะอาดให้แก่ผู้ประกอบการกลุ่ม SMEs โดยมีธนาคารออมสินเป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายพันธบัตร และธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) เป็นผู้จัดการการจำหน่ายพันธบัตร และนายทะเบียนพันธบัตร ซึ่งนักลงทุนชั้นนำในประเทศไทยตอบรับเป็นอย่างดีด้วยยอดการจองซื้อสูงกว่าวงเงินที่เสนอขายถึง 2.5 เท่า ทำให้ระดมทุนได้ในอัตราดอกเบี้ยที่ดี ท่ามกลางตลาดการเงินที่มีความผันผวนและภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น ตอกย้ำบทบาทการเป็นผู้นำด้านการเงินสีเขียว เติมเต็ม Green Financial Ecosystem ให้ครบวงจรมากขึ้น

ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) เปิดเผยว่า EXIM BANK ออก SME Green Bond เป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2566 โดยเสนอขายให้แก่นักลงทุนสถาบันและนักลงทุนรายใหญ่ ในรูปแบบพันธบัตรประเภทไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน อายุ 3 ปี ครบกำหนดไถ่ถอน ปี 2569 อัตราดอกเบี้ยคงที่ 2.71% ต่อปี ชำระดอกเบี้ยทุก 6 เดือนตลอดอายุพันธบัตร มูลค่ารวม 3,500 ล้านบาท พันธบัตร SME Green Bond ที่เสนอขายในครั้งนี้ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือระดับ AAA โดยบริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด สะท้อนถึงสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งและมั่นคงของ EXIM BANK ต่อเนื่องจากการเสนอขาย Green Bond ในปี 2565 และในปี 2566 ยังคงได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากนักลงทุนชั้นนำในประเทศไทยด้วยยอดการจองซื้อสูงกว่าวงเงินที่เสนอขายถึง 2.5 เท่า ทำให้ EXIM BANK สามารถระดมทุนได้เกินกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ และได้อัตราดอกเบี้ยที่ดีในช่วงที่ตลาดการเงินมีความผันผวนและอัตราดอกเบี้ยอยู่ในช่วงขาขึ้น

กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK กล่าวว่า ที่ผ่านมา EXIM BANK ให้การสนับสนุนทางการเงินแก่ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy : BCG Economy) ไปแล้วประมาณ 30% ของพอร์ตสินเชื่อรวมของธนาคาร หรือประมาณ 50,000 ล้านบาท และตั้งเป้าหมายจะขยายสินเชื่อ BCG ของธนาคารเป็น 100,000 ล้านบาทภายในปี 2570 สนับสนุนการนำพลังงานสะอาดมาใช้พัฒนาอุตสาหกรรมเพื่อรองรับการอุปโภคบริโภคและการค้าการลงทุนระหว่างประเทศ ลดปัญหาสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศที่ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ การออกพันธบัตรในครั้งนี้จึงตอกย้ำความมุ่งมั่นของ EXIM BANK ในการบริหารจัดการการเงินอย่างมีความรับผิดชอบตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ขยายผลความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนให้ดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ นำไปสู่ความร่วมมือระดับชุมชน สังคม และนานาประเทศเพื่อสร้างโลกที่สะอาดและเติบโตอย่างสมดุลในทุกมิติ 

ทั้งนี้ EXIM BANK ได้รับรางวัล Best Green Bond ประเภทสถาบันการเงินจากเวทีระดับโลก The Asset Triple A Awards 2022 จัดโดย The Asset นิตยสารการเงินชั้นนำแห่งเอเชีย และรางวัล State Owned Enterprise ESG Bond of the Year จากสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (The Thai Bond Market Association : ThaiBMA) จากการออกพันธบัตรเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (Green Bond) จำนวน 2 รุ่น มูลค่ารวม 5,000 ล้านบาท ในปี 2565

“ด้วยเป้าหมายสู่การเป็นธนาคารเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน EXIM BANK มุ่งมั่นดำเนินธุรกิจที่สร้างผลตอบแทนให้แก่ทุกภาคส่วนอย่างยั่งยืน สร้างผลลัพธ์ที่เป็นเลิศให้แก่ลูกค้าผู้ประกอบการ ตลอดจนสังคมและสิ่งแวดล้อม เพื่อส่งต่ออนาคตที่ดีสู่คนรุ่นหลัง ธนาคารจึงพัฒนารูปแบบการดำเนินธุรกิจและผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เป็นการลงทุนในระยะยาวเพื่อความยั่งยืนของภาคธุรกิจ เสริมสร้างการพัฒนาสังคมและแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจังและต่อเนื่อง โดยใช้ความรู้ความเชี่ยวชาญและจุดแข็ง ตลอดจนเครือข่ายพันธมิตร ในการบริหารจัดการการเงินและดำเนินธุรกิจที่นำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนของประเทศไทยและโลกโดยรวม” ดร.รักษ์ กล่าว

บทสรุปของการพัฒนาอย่างยั่งยืนในทั้ง 17 Sustainable Development Goals ที่ UN ได้กำหนดไว้นี้ ดูเหมือนว่าจะมาอยู่ในหัวใจสำคัญของภารกิจพิชิต Goal สุดท้ายนี้เอง นั่นคือ การรวมพลังสานเครือข่ายจากทั่วทุกมุมโลกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม โดยทุกฝ่ายมุ่งมั่นแชร์หลักการเดียวกัน ในวิสัยทัศน์เดียวกัน เพื่อสร้างพลังยิ่งใหญ่ที่จะนำพาทุกองคาพยพให้เข้าถึงการพัฒนาอย่างยั่งยืนร่วมกันนั่นเอง

 

โดยการดำเนินการที่ควรทำอย่างเร่งด่วน คือ การปลอดล็อกเงินทุนจำนวนมหาศาลกว่าล้านล้านบาทที่กระจุกตัวอยู่ในภาคเอกชน ให้กระจายไปยังภาคส่วนของการพัฒนาอย่างยั่งยืนด้วยความถูกต้องและเหมาะสม โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา ที่ต้องส่งเสริมให้เกิดการลงทุนระยะยาวด้านการพัฒนาประเทศ เพิ่มอัตราการลงทุนในการส่งออกสู่ต่างประเทศ ซึ่งหมายรวมทั้ง การลงทุนด้านพลังงาน การวางระบบสาธารณูปโภค สาธารณูปการ และการคมนาคมที่ทันสมัย ไปจนถึงระบบการสื่อสารด้วยเทคโนโลยีที่ล้ำหน้า 

 

ภารกิจที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ เป็นหน้าที่ของภาครัฐที่ต้องเป็นเสาหลักในการกำหนดทิศทางที่ชัดเจน ควบคู่ไปกับการตรวจสอบกรอบและกำหนดกฎหมายที่เข้มแข็ง เพื่อนำไปบังคับใช้ในการลงทุนที่นำไปสู่ความยั่งยืน นอกจากนั้น เพื่อความสำเร็จของภารกิจยิ่งใหญ่นี้ จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องอาศัยความร่วมมือของหน่วยงาน องค์กร สนับสนุน ดังที่กล่าวมาข้างต้น นอกจากภาครัฐ เอกชนแล้ว องค์กรภาคประชาสังคมก็มีบทบาทเคียงข้างภาครัฐในการมีส่วนร่วมและผลักดันโครงการดีๆ เกี่ยวข้องกับการพัฒนาอย่างยั่งยืนด้วยสถาบันไทยพัฒน์ นับเป็นองค์กรภาคประชาสังคมต้นแบบ ที่มีจุดมุ่งหมายดำเนินการให้เกิดความยั่งยืนขึ้นในสังคมไทย โดยได้ลงนามเข้าเป็นภาคีในข้อตกลงโลกแห่งสหประชาชาติ (UN Global Compact) เมื่อปี พ.ศ. 2555 และได้รับการยอมรับให้เป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกการลงทุนทางสังคม โดยสำนักงานเลขาธิการว่าด้วยหลักการลงทุนทางสังคม (Principles for Social Investment: PSI) ซึ่งเป็นความคิดริเริ่มที่สนับสนุนโดยสหประชาชาติ

 

ขอยกตัวอย่างบทบาทสำคัญล่าสุด ที่นำสู่การขับเคลื่อนอย่างยั่งยืนในทุกองคาพยพในเวลาต่อมา นั่นคือ เมื่อครั้งที่มีการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน (UNCSD) หรือ Rio+20 ณ เมืองรีโอเดจา-เนโร ประเทศบราซิล ถือเป็นจุดตั้งต้นของกระบวนการหารือเพื่อกำหนดวาระการพัฒนาภายหลังปี ค.ศ. 2015 โดยมีความคิดริเริ่มที่สำคัญ คือ การจัดทำเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งยกร่างโดยคณะทำงานของสมัชชาสหประชาชาติว่าด้วยเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Open Working Group on SDGs) สถาบันไทยพัฒน์ เป็น 1 ใน 4 องค์กรภาคประชาสังคมของประเทศไทยที่ได้รับการรับรองเป็นองค์กรในกลุ่มภาคผนวกที่ 1 จากสมัชชาสหประชาชาติ ให้เข้าร่วมการประชุม Rio+20 อย่างเป็นทางการ โดยในการประชุมเต็มคณะ (Plenary Meeting) ได้มีการให้ความเห็นชอบในเอกสารผลลัพธ์ การประชุม (Outcome Document) ที่ใช้ชื่อว่า “The Future We Want”

 

ต่อมา หลังจากที่ชาติสมาชิกขององค์การสหประชาชาติ 193 ประเทศ ได้จัดประชุมเพื่อให้การรับรองวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 ซึ่งรวมถึงเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 17 ข้อ เมื่อวันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2558 สถาบันไทยพัฒน์ก็ได้แถลงถึงการจัดตั้งคณะกรรมการเครือข่ายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Develop-ment Network Board (SDNB) ในวันที่ 29 กันยายน พ.ศ.2558 โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะใช้เป็นกลไกขับเคลื่อนการทำงานส่งเสริม สนับสนุน และสานเครือข่ายการพัฒนาที่ยั่งยืนในประเทศไทย ภายใต้วาระสังคม 2020 หรือ Society 2020 ที่เชื่อมโยงกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในระดับสากล  

 

 

คณะกรรมการเครือข่ายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือเรียกสั้นๆ ว่า “บอร์ดยั่งยืน” ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิทั้งจากภาคเอกชน ภาคสังคม ภาควิชาการ และสื่อมวลชน ที่ผลักดันงานด้านความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) ในประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ คุณศิริชัย สาครรัตนกุล ดร.วัฒนา โอภานนท์อมตะ ดร.สุวัฒน์ ทองธนากุล ดร.สุนทร คุณชัยมัง คุณสุกิจ อุทินทุ รศ.ทองทิพภา วิริยะพันธุ์ และดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ รวม 7 ท่าน โดยมีสถาบันไทยพัฒน์ ทำหน้าที่เป็นเลขานุการคณะกรรมการ  โดยบทบาทของคณะกรรมการเครือข่ายการพัฒนาที่ยั่งยืน เน้นการทำหน้าที่เป็นกลไกประสานหน่วยงาน โดยหลีกเลี่ยงการดำเนินงานที่ซ้ำซ้อนกับหน่วยงานที่มีอยู่แล้วในปัจจุบัน แต่จะทำงานในลักษณะเครือข่ายความร่วมมือเพื่อตอบโจทย์ SDGs ในลักษณะที่เป็น Collective Impact เรียกว่าเป็น ‘หุ้นส่วนการพัฒนาที่ยั่งยืนสู่สังคม 2020’ หรือ Partnership for Sustainable Development towards Society 2020 ตามเจตนารมณ์ของเป้าหมาย SDG ข้อที่ 17 นั่นเอง

 

Society 2020 เป็นวาระที่บอร์ดยั่งยืนริเริ่มขึ้น เพื่อสร้างขบวนเคลื่อนไหวทางสังคมต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ด้วยการทำงานในรูปของกลุ่มความร่วมมือของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลายฝ่าย (Multi-Stakeholder Group) ที่ต้องการเห็นภาคประชาชนทำหน้าที่ (Perform) ของตนเองอย่างมีประสิทธิผล ภาคธุรกิจเปลี่ยนผ่านหรือแปรรูป (Transform) ไปสู่การยกระดับการประกอบธุรกิจที่ทำให้สังคมได้รับการดูแลตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนไปพร้อมกัน และภาครัฐมีการปฏิรูป (Reform) หน่วยงานอย่างจริงจัง เพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงและความคาดหวังของสังคมอย่างมีประสิทธิภาพ ตามวิสัยทัศน์ “People -> Perform, Business -> Transform, State -> Reform” มุ่งไปสู่ “สังคมที่เราต้องการ” (The Society We Want) ในอีก 15 ปีข้างหน้า โดยมีกรอบเวลา 5 ปี ในระยะแรก (สิ้นสุดปี ค.ศ. 2020) และจะมีการประเมินการดำเนินงาน เพื่อพิจารณาสู่การขับเคลื่อนในกรอบเวลา 10 ปี (สิ้นสุดปี ค.ศ.2030) ในระยะต่อไป

 

ทั้งนี้ การขับเคลื่อนวาระสังคม 2020 จะมีการจัดกลุ่มการพัฒนาในแต่ละด้าน ในรูปของคณะกรรมการหรือคณะทำงานผู้มีส่วนได้เสียหลายฝ่าย นำโดยหน่วยงานหรือองค์กรที่เข้าร่วมเป็นหุ้นส่วนการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งมีแผนงานหรือความริเริ่ม หรือมีโครงการที่ริเริ่มขึ้นในปี ค.ศ. 2015 เป็นต้นไป และมีระยะเวลาการดำเนินโครงการอย่างน้อยจนถึงปี ค.ศ. 2020 โดยสามารถตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในข้อใดข้อหนึ่ง หรือหลายข้อพร้อมกัน วาระสังคม 2020 ถูกออกแบบให้เป็นความเคลื่อนไหวทางสังคม (Social Movement) ที่มุ่งให้เกิดการทำงานร่วมกันระหว่างภาคส่วนต่างๆ ในสังคมในลักษณะเครือข่าย บูรณาการเป้าหมายการพัฒนาที่มีความหลากหลายและแตกต่างกัน ให้สามารถเชื่อมโยงกับการตอบโจทย์เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนไปพร้อมกัน โดยในการออกแบบการร่วมดำเนินงาน ได้คำนึงถึงการนำทรัพยากรและความเชี่ยวชาญหลักของหน่วยงานที่เข้าเป็นหุ้นส่วนการดำเนินงานมาใช้ในการขับเคลื่อนวาระสังคม 2020 เพราะในทุกหน่วยงานจะมีความเชี่ยวชาญเฉพาะตน ที่มีความโดดเด่นและเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนา และที่สำคัญ คือ การทำงานตามวาระสังคม 2020 จะเน้นที่การต่อยอดการทำงานของแต่ละหน่วยงาน โดยไม่เริ่มจากศูนย์ และพร้อมเปิดรับการทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่น เพื่อขยายผลการดำเนินงานของหน่วยงานในเชิงปัจเจก มาสู่ผลลัพธ์ในเชิงท้องถิ่น ภูมิภาค และโลกโดยรวม

 

 

การร่วมขับเคลื่อนวาระสังคม 2020 สามารถดำเนินการได้ใน 2 ระดับ คือ ระดับที่เป็น “องค์กรริเริ่ม” และระดับที่เป็น “องค์กรเข้าร่วม” ดำเนินงาน

องค์กรริเริ่ม หมายถึง หน่วยงานที่มีความประสงค์จะเป็นผู้ริเริ่มและนำการดำเนินงาน โดยอาจมีการตั้งคณะกรรมการหรือคณะทำงานในรูปของกลุ่มความร่วมมือผู้มีส่วนได้เสียหลายฝ่าย นำโดยองค์กรริเริ่ม ซึ่งได้มีการเสนอแผนงานหรือโครงการที่มีระยะเวลาการดำเนินงานอย่างน้อยจนถึงปี ค.ศ. 2020 ในอันที่จะตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในข้อใดข้อหนึ่ง หรือหลายข้อพร้อมกัน

องค์กรเข้าร่วม หมายถึง หน่วยงานที่มีความประสงค์จะเป็นผู้เข้าร่วมดำเนินงานที่หน่วยงานอื่นเป็นผู้ริเริ่ม โดยอาจเข้าร่วมในคณะกรรมการหรือคณะทำงานที่จัดตั้งขึ้นเพื่อดำเนินงานตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่องค์กรเข้าร่วมมีความสนใจและสามารถให้การสนับสนุนทุน ทรัพยากร หรือความเชี่ยวชาญที่องค์กรมีอยู่ในเบื้องต้น ธนาคารออมสิน ได้เข้าร่วมเป็นหุ้นส่วนการพัฒนาที่ยั่งยืนสู่สังคม 2020 ซึ่งนับเป็นองค์กรในหมวดธุรกิจธนาคารรายแรกที่ได้นำเอาเป้าหมายโลกว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน 17 ข้อไปใช้เป็นกรอบการขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืนในสังคมไทย และ บมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น หรือ ดีแทค ก็ได้เข้าร่วมมือเป็นเครือข่ายการพัฒนาที่ยั่งยืน ตามกรอบ SDGs ขององค์การสหประชาชาติ เพื่อเสริมสร้างให้เกิดความยั่งยืนทางสังคมและสิ่งแวดล้อมของโลก

 

นี่เป็นหนึ่งในต้นแบบองค์กรภาคประชาสังคมของไทย ที่ดำเนินการจนกระทั่งเห็นผลไปในทิศทางก่อให้เกิดความยั่งยืน ทว่าในส่วนของ Goals ที่ UN ตั้งไว้ เพื่อขับเคลื่อนให้เกิด the global partnership for sustainable development ให้ได้ภายในปี 2030 นั้น ยังแบ่งออกเป็น การให้ความช่วยเหลือทางการเงิน สร้างความเข้มแข็งให้กับหน่วยงานในประเทศกำลังพัฒนา รวมถึงผสานความช่วยเหลือจากองค์กรนานาชาติที่จะเข้าไปสนับสนุนการพัฒนาประเทศ ทั้งด้านการเพิ่มประสิทธิภาพให้ระบบการจัดเก็บภาษีในรูปแบบต่างๆ การสนับสนุนให้ประเทศกำลังพัฒนาเข้าถึงแหล่งเงินทุนคุณภาพที่จะใช้ในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนได้มากยิ่งขั้น ขณะเดียวกัน ยังต้องพัฒนาด้านการเข้าถึงองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยอาจจัดตั้งศูนย์กลางการเรียนรู้ ที่จะมาเป็นสื่อกลางนำเสนอนวัตกรรมและเครื่องมือที่เหมาะสมในการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในเรื่องนี้ UN ตั้งเป้าไว้ว่าต้องทำให้เห็นผลภายในปี 2017 ที่จะถึงนี้ด้วย

 

เผยแพร่    นิตยสาร MBA ฉบับครบรอบ เดือนมีนาคม 2016

เรื่อง : กองบรรณาธิการ 

X

Right Click

No right click