November 25, 2024
×

Warning

JUser: :_load: Unable to load user with ID: 6847

 

                อุตสาหกรรมการเงินการลงทุนเป็นอุตสาหกรรมหนึ่งที่สามารถหยิบจับเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาใช้สร้างประโยชน์ได้อย่างรวดเร็ว ด้วยความพร้อมทั้งด้านเงินทุนและบุคลากรในอุตสาหกรรมซึ่งมีความรู้ความสามารถอยู่มาก รวมถึงแรงจูงใจในการนำเอาเทคโนโลยีต่างๆ มาใช้ที่เห็นได้ชัด นั่นคือผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้นของผู้ที่เกี่ยวข้อง

                ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานอกจากเรื่องของฟินเทคที่จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงวงการการเงินการลงทุนแล้ว อีกเรื่องหนึ่งที่เป็นที่จับตามองคือเรื่องสินทรัพย์ดิจิทัล ที่นำมาโดยบิตคอยน์ คริปโตเคอเรนซีเหรียญแรกของโลก ซึ่งมีเทคโนโลยีบล็อกเชนอยู่เบื้องหลัง และสร้างแรงกระเพื่อมจนมีเหรียญใหม่ๆ ออกตามมาอีกจำนวนมาก ในรูปแบบต่างๆ กัน

                สินทรัพย์ดิจิทัลนี้เมื่อเป็นที่รู้จักของโลก ก็เข้ามาสู่ประเทศไทยด้วยเช่นกัน ท่ามกลางความผันผวนของราคาสินทรัพย์ที่เกิดขึ้นในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลก็ได้ออก พ.ร.ก.การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลออกมาเมื่อเดือน พ.ค. 2561 ทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศแรกๆ ในโลกที่มีกฎหมายออกมาดูแลเรื่องใหม่ทางด้านการเงินนี้โดยเฉพาะ

                ภาพหลังจากมีกฎหมายที่มอบอำนาจให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เป็นหน่วยงานกำกับดูแล จึงมีการเปิดรับฟังความคิดเห็น ประกาศกฎเกณฑ์ต่างๆ รวมทั้งเริ่มเปิดให้มีการขอใบอนุญาตเพื่อประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล มาอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับความเคลื่อนไหวของเพลย์เยอร์ต่างๆ ในอุตสาหกรรมที่เริ่มขยับตัว

                หัวแรงใหญ่ของ ก.ล.ต. ในเรื่องสินทรัพย์ดิจิทัล คือ ทิพยสุดา ถาวรามร รองเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ผู้ออกมาให้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับเรื่องนี้อยู่เป็นระยะ ในฐานะหน่วยงานผู้กำกับดูแลเรื่องดังกล่าว

                MBA ได้รับโอกาสเข้าพูดคุยกับรองเลขาธิการ ก.ล.ต. เกี่ยวกับความคืบหน้าในการกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัล และมุมมองต่างๆ ที่เธอมีต่อสินทรัพย์ใหม่ประเภทนี้

 

เกณฑ์ยังมีการปรับปรุง

                เราเริ่มต้นด้วยพัฒนาการของการกำกับดูแลหลังจากมีพ.ร.ก.และเกณฑ์ต่างๆ ออกมาระยะหนึ่งแล้ว ทิพยสุดา เล่าว่า มีหลายเรื่องที่ได้รับความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้อง และทำให้เห็นว่าเกณฑ์ที่มีอยู่ยังไม่ครอบคลุมจึงต้องไปปรับหรือออกเกณฑ์เพิ่มเติม

                “ตัวอย่างหนึ่งคือ เกณฑ์เราบอกว่า การออกมาเสนอขายโทเคนต้องผ่านการอนุญาต ก.ล.ต. มีผู้ที่ทำพรีไอซีโอ คือเขาระดมเงินจำนวนน้อยมาเพื่อทำไอซีโอ ซึ่งจุดแรกส่วนใหญ่เขายังไม่มีไวท์เปเปอร์ด้วยซ้ำ และเกณฑ์เราบอกว่าจะขายต้องผ่านการอนุญาตของเราและมีไวท์เปเปอร์ ตรงนี้จะทำอย่างไร ตัวอย่างแบบนี้ เรารู้ว่าในทางธุรกิจเขาจำเป็นต้องมีขั้นตอนนี้ เราก็ต้องมาปรับเกณฑ์ให้รองรับอะไรแบบนี้ด้วย ขณะเดียวกันก็ยังต้องตอบตัวเองได้ว่านี่ไม่ได้หย่อนแบบล้างอะไรที่ออกมา เช่นยอมให้ทำอย่างนี้ได้แต่ต้องขายในวงจำกัด เช่นต้องเป็นคนที่รู้เรื่อง ไม่เกิน 20 ล้านบาท  ไม่เกิน 50 ราย แต่ถ้าเป็นสถาบันไม่จำกัดอยู่ใน 50 ราย หรือ 20 ล้านบาท แต่คนที่ไม่ใช่สถาบันจะต้องเป็นผู้ที่เกี่ยวข้อง (พนักงาน ผู้บริหาร ที่ปรึกษา เป็นต้น) ไม่จำเป็นต้องขายราคาเดียวกัน แต่ว่า ใครก็ตามที่ได้ซื้อก่อน จะโดนล็อคอัพ ไม่ให้เปลี่ยนมือยาวไปจนกระทั่งออกไอซีโอไปแล้วอีก 6 เดือน เพื่อไม่ให้คนที่ได้ก่อนมาถล่มขายในวันแรก นี่เป็นเกณฑ์ที่ยังไม่ได้ออกมาแต่ผ่านหลักการผ่านบอร์ดแล้ว เดี๋ยวเราคงเอามาทำเฮียริ่งในระบบ เพราะเราทำโฟกัสกรุ๊ปไปแล้ว และเข้าคณะอนุกรรมการแล้ว และเราเร่งมาก ไม่อย่างนั้นทุกคนทำไอซีโอไม่ได้เพราะติดขั้นตอนนี้”

                นอกจากนี้ยังมีเรื่องการซักซ้อม เช่น เรื่องการที่โบรกเกอร์จะพาผู้ลงทุนไทยไปซื้อไอซีโอที่ออกในต่างประเทศ (ตามเกณฑ์บริษัทต่างชาติยังมาออกไอซีโอในประไทศไม่ได้) ซึ่งก.ล.ต.จะทำการซักซ้อมกับโบรกเกอร์เหล่านั้น โดยบอกว่า “เขายังมีหน้าที่ดูแลลูกค้า ให้เลือกของที่ถูกต้องตามประเทศที่ไป ไม่ใช่ไปเลือกซื้อของเถื่อนในประเทศนั้น หรือถ้าประเทศนั้นของชิ้นนี้เขาไม่ขายรายย่อย คุณก็ไม่ควรพารายย่อยไปซื้อ ไม่ควรไปซื้อเยอะเกิน นี่ก็เป็นเกณฑ์ที่ออกมาแล้ว เป็นเกณฑ์ของสำนักงานเพื่อซักซ้อมหน้าที่ของโบรกเกอร์ที่จะพาลูกค้าไป พอออกมาแล้ว ต้องมาตีความบ้าง ซักซ้อมบ้าง”

                ขณะเดียวกันทิพยสุดาให้ข้อมูลเกี่ยวกับการนำเสนอข้อมูลเพื่อซื้อขายโทเคนในต่างประเทศที่จะมาทำในประเทศไทยว่า ดูที่ความตั้งใจไม่ว่าจะเป็นการพูดคุยหรือใช้เครื่องมือสื่อสารต่างๆ ในการชักชวนผู้ลงทุนในลักษณะการทำโรดโชว์ซึ่งเป็นการละเมิดเกณฑ์ที่มีอยู่ โดยที่ผ่านมา ก.ล.ต. หากตรวจพบก็จะใช้วิธีแจ้งให้ระมัดระวังในเรื่องดังกล่าวเป็นเบื้องต้น

         

 ข้อกังวลเรื่องภาษี

                กรณีภาษีที่จะมีการจัดเก็บจากสินทรัพย์ดิจิทัล ทิพยสุดาระบุว่า เรื่องภาษีไม่ได้อยู่ในการดูแลของ ก.ล.ต. และให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า สภาวิชาชีพบัญชีก็พยายามสร้างความชัดเจนในเรื่องไอซีโอที่จะออกมา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็เริ่มมองเห็นไปในทิศทางเดียวกันแล้วว่า หากมองเป็นการระดมทุนก็ไม่ควรจะเป็นเงินได้ที่ต้องนำไปเสียภาษี  

                ส่วนของ Utility Token ซึ่งมองได้ว่าคนออกกำลังขายสินค้าหรือบริการล่วงหน้า การจะคิดว่าเป็นรายได้เมื่อไร ก็อาจจะใช้แนวทางเดียวกับการซื้อเมมเบอร์ในฟิตเนสหรือสนามกอล์ฟมาปรับใช้ได้ ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจจะใช้ตามเกณฑ์ปกติที่มีอยู่ได้เลย แต่ก็ต้องมีการนำมาซักซ้อมเพื่อให้เกิดความชัดเจนในการปฏิบัติต่อไป สำหรับเรื่องภาษีมูลค่าเพิ่มก็จะมีการดูแลให้ไม่เกิดความซ้ำซ้อน ซึ่งเรื่องเหล่านี้อยู่ระหว่างที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการอยู่

 

มองเทรนด์ต่างประเทศแล้วย้อนมาดูไทย

                สำหรับเครื่องมือในการเข้าถึงการลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัลที่ในต่างประเทศเริ่มมีการพูดถึงและเตรียมหาทางออกมา เช่น ETF Fund , อนุพันธ์, กองทุนรวม,  Crowdfunding ทิพยสุดาให้ความเห็นเกี่ยวกับเครื่องมือเหล่านี้โดยเริ่มจาก อนุพันธ์Futuresก่อนว่า เริ่มมีคนทำในต่างประเทศ และมีโบรกเกอร์ไทยพานักลงทุนไทยไปลงทุน ซึ่งตามเกณฑ์การกำกับดูแลของ ก.ล.ต. ให้สิทธิโบรกเกอร์สามารถพานักลงทุนไปลงทุนในตลาด Futures Market ที่มีการกำกับดูแล ซึ่งจากที่ตนเองดูสินค้าที่นำมาเสนอ ก็มีการเรียกประกันค่อนข้างมาก จนเหมือนกับเป็นเครื่องมือที่ทำให้ได้ลงทุนในสินทรัพย์นี้ทางอ้อม ทำให้เห็นว่า ผู้ออกตราสารนี้ต้องการตอบโจทย์ผู้ลงทุนสถาบันที่ต้องการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทนี้ และผู้ลงทุนสถาบันก็ต้องการลงทุนในรูปแบบที่มีการกำกับดูแล เป็นเครื่องยืนยันว่าการกำกับดูแลมีคุณค่า  ส่วนเรื่องความผันผวนของราคาเป็นเรื่องที่ผู้ลงทุนต้องไปรับความเสี่ยงเอง

                สำหรับตลาดอนุพันธ์ในประเทศไทยทิพยสุดาให้ความเห็นว่า ไม่น่าจะเห็นได้ในช่วงนี้ เพราะยังไม่มีอยู่ในพ.ร.ก. หรือหากจะทำก็ต้องผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีมาก่อน จึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะเกิดขึ้นโดยเร็ว

                Bitcoin ETF ซึ่งมีข่าวว่ามีการขออนุญาตจัดตั้งที่สหรัฐอเมริกาแต่ยังไม่ได้รับการอนุญาต ทิพยสุดา ให้มุมมองส่วนตัวว่า เนื่องจากสินทรัพย์นี้ยังมีความเข้าใจยากผู้กำกับดูแลจึงอาจจะไม่อยากให้คนทั่วไปเข้าถึงได้ง่าย หากปล่อยให้ออกมาอาจจะทำให้ ETF เสียชื่อได้ และผู้ลงทุนก็มีหนทางในการเข้าถึงสินทรัพย์นี้ได้ทางอื่นอยู่แล้ว

                เธอให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ในประเทศไทยก็ยังไม่มีใครเข้ามาขออนุญาตเรื่องนี้เช่นกัน  

                ด้านกองทุนรวม รองเลขาธิการ ก.ล.ต.บอกว่า อาจจะมีความน่าสนใจกว่า ETF เพราะบริหารโดยมืออาชีพและมีการกระจายการลงทุน แต่ก็ยังไม่มีบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนใดแสดงความสนใจจะออกผลิตภัณฑ์นี้ เท่าที่มีเข้ามาพูดคุยกับ ก.ล.ต. มีเป็นลักษณะที่คล้ายคลึงมากกว่า เช่น “อยากจะออก ICO ที่ไปลง ICO หรือ ICO ที่ไปลงคริปโต แปลว่าคนออกไอซีโอนี้เหมือนอยากจะทำแบบกองทุนรวมแต่ขายแบบ VC หรือ Crowdfunding คือมีการจำกัดอะไรบางอย่าง”

                Crowdfunding Platform for ICO คืออีกตัวอย่างที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ ทิพยสุดาให้ข้อมูลว่า ในไทยเรามี Crowdfunding Portal เปิดขึ้นมารองรับในลักษณะคล้ายกัน โดยเรายังมี Crowdfunding ที่มีอยู่แล้วทางด้านทุน และกำลังศึกษาในด้านหุ้นกู้สำหรับเอสเอ็มอีอยู่ ซึ่งอยู่ในแผนพัฒนาตลาดทุนของก.ล.ต.แล้ว

 

Hub ICO

  เมื่อถามว่าหากประเทศไทยอยากจะเป็นศูนย์กลางด้านการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลจะต้องทำอย่างไร ทิพยสุดาให้ความเห็นว่า ต้องเริ่มจากนโยบายของภาครัฐที่ออกมาสนับสนุนจากการเห็นประโยชน์ของสิ่งนี้และพยายามขจัดอุปสรรคต่างๆ ออกไปก่อน การมีกฎกติกาที่เป็นที่ยอมรับและเอื้อให้กับการเกิดขึ้นของระบบนิเวศเป็นสิ่งที่ต้องตามมา

  โดยเธอมองว่าในประเทศไทยยังมีคนที่เข้าใจในเรื่องนี้ไม่มาก กลุ่มหนึ่งคือพวกที่นิยมความเสี่ยงเป็นนักเก็งกำไรก็จะไม่สนใจทำความเข้าใจอย่างจริงจังสักเท่าไร กลุ่มหนึ่งมองเรื่องนี้เป็นแชร์ลูกโซ่ เป็นบ่อน ในทางที่ค่อนข้างจะเป็นลบ และอีกกลุ่มคือพวกที่อยากทดลอง อยากจะทำอะไรกับสิ่งที่เกิดขึ้นมาใหม่ๆ  ซึ่งผู้กำหนดนโยบายก็จะต้องมองตามเสียงของสังคมที่เรียกร้องในเรื่องนี้ว่าจะเป็นอย่างไร

 

Ecosystem

                 “ถามว่าตอนนี้เกณฑ์ของเราเรื่อง exchange เรามองเป็น 2 พวก พวกหนึ่งคือ ทำแบบ traditional คือเก็บทรัพย์สินลูกค้า ถือให้ลูกค้าในชื่อตัวเอง หรือไม่ถือให้แต่เก็บคีย์ให้ อย่างที่ทำกันหลายที่ แบบนี้เราเรียกว่า Centralize คือเขาเก็บให้ ถ้าแบบนี้เราก็ต้องกลัวว่าเขาจะทำหายหรือเอาไปใช้อะไร ทุกวันนี้เกณฑ์ทั่วไป ด้านโบรกเกอร์คือที่เขาถือให้ลูกค้า แต่เราใช้วิธีว่าเชื่อตัวกลาง เชื่อ TSD  แล้วถือผ่านโบรกเกอร์ ก.ล.ต.ก็เข้าไปกำกับไปตรวจ นี่คือระบบที่ดูตัวกลาง

หรืออีกระบบที่เกิด คือไม่มีตัวกลาง ถ้าเก็บคือไม่เก็บคีย์ให้ เป็นวอลเลตที่ลูกค้าเก็บคีย์เอง หรือ เก็บให้แต่ลูกค้าก็เก็บด้วย เวลาใช้ต้องใช้คู่กัน ถ้าอย่างนี้เราจะเรียกว่า คนที่ทำหน้าที่ตัวกลางไม่ได้มีความสามารถยักย้ายถ่ายเทของของลูกค้าหรือโอนได้ด้วยตัวเองถ้าลูกค้าไม่ได้ทำด้วย อย่างนี้ไม่ต้องกลัวจะถูกแฮก เพราะลูกค้าต้องร่วมมือด้วย แต่ถ้าเป็นอย่างแรก ต้องกลัว ตอนนี้ก็เริ่มมีคนพูดว่าจะทำอย่างที่สอง

ความต่างคือว่า อย่างแรกเขาถือให้ลูกค้าก็เลย KYC ทุกอย่างง่าย แต่อย่างที่สองคือเหมือนกับ ลูกค้าทำหมด อาจจะมองว่า ทางการอาจจะพึ่งพิงยากในการไปรู้ตัวตน แต่เราก็บอกนะว่าคุณต้องทำ แต่อาจจะเกิด Exchange แบบนี้ที่หาตัวคนทำไม่ได้ เพราะ Decentralize ไปหมด แล้วเราก็ไม่รู้จะไปจับใคร นี่คือสิ่งที่เราบอกว่า กฎหมายที่ออกมายังเขียนถึงตัวละครแบบเดิมๆ ที่เป็นตัวกลางเป็นโบรกเกอร์ แต่ยังไม่ได้รองรับกรณีที่หาตัวไม่ได้

คือโลกเรามีตัวกลางให้ลูกค้าพึ่ง ให้ทางการพึ่ง มีอะไรก็สั่งตัวกลาง แล้วทางการก็คุมทุกอย่างผ่านตัวกลาง ข้อเสียคือตัวกลางอาจทำแล้วพัง ไม่น่าไว้ใจ และนั่นคือที่มาที่คนคิดเรื่องคริปโตขึ้นมา เพราะไม่ไว้ใจตัวกลาง อีกโลกเขาถึงออกไปไม่มีตัวกลาง หาวิธีไม่มีตัวกลาง ทำไอย่างไรถึงจะช่วยกันได้ แล้วเราไปทำอะไรไม่ได้ เพราะเราหาตัวกลางไม่เจอ แล้วคุณจะไปทำอะไรกับเขา

                สิ่งที่เราพยายามคือบอกว่า ถ้ามีใครเสนอตัวเป็นตัวกลาง ที่เอาส่วนที่ดีของกลุ่มหลังมาคือความปลอดภัยบางอย่าง แต่ยังช่วยทำงานกับหน่วยงานกำกับดูแลบางอย่าง เราพยายามหาแต่นี่ไม่ใช่จะมีมาง่ายๆ คือถ้าเราไปออกกติกาจนกระทั่งตัวกลางทำแบบนี้ไม่ได้ ก็เลยไม่มี เราต้องพยายามคิดให้ตัวกลางทำแบบนี้เกิดได้แล้วเราจะได้ทำงานกับเขาได้ แต่ถ้าเราไปเขียนจนยากเกินไปเขาไม่ต้องง้อเรา เพราะวิธีที่จะทำแบบนี้ไม่ต้องมีตัวกลางก็ได้ เราจะหาไม่ได้ นี่คือวิธีที่ ก.ล.ต.คิดแบบนี้ คุณต้องพยายามหาตัวกลางเป็นพวกและทำให้เขาสามารถอยู่ได้”

 

ICO คือการเปลี่ยนกลไก

    ทิพยสุดาให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับผลกระทบที่ไอซีโอจะมีต่อสังคมในด้านอื่นนอกจากการระดมทุนว่า “เวลาเรานึกถึง Utitlity Token เรานึกถึงว่า คือการเปลี่ยนกลไกของระบบเศรษฐกิจจากสิ่งที่เรารู้จักมาเป็นร้อยๆ ปี กลไกที่บอกว่า ฉันเป็นนายทุน ฉันระดมทุนมาจากนายทุน แล้วฉันก็ไปสร้างอะไร เอาไปขายแล้วก็กินกำไรแล้วเอาไปให้นายทุน ขณะที่ถ้าเป็นโลกที่สร้างเป็น Utility ขึ้นมา คือกลไกที่สังคมมองดูว่ามีใครที่เกี่ยวข้องแล้วจะดึงมามีส่วนร่วมและให้รางวัล อย่างไรเพื่อให้ยุติธรรม และเอื้อกับการที่ให้เขามาช่วยกันสร้างประโยชน์ คิดว่านี่คือกลไกของ Utility Token ไม่ใช่ Security Token”

   เธอยกตัวอย่างตลาดหลักทรัพย์บนโลกนี้ที่เริ่มเกิดมาเป็นชุมชนของโบรกเกอร์ และต่อมาก็มีการแปลงเป็นบริษัทเพื่อให้มีผู้มีส่วนร่วมรายอื่นเพิ่มขึ้น ในอนาคตก็อาจจะต้องเปลี่ยนรูปแบบจากบริษัทที่มีหน้าที่ต่อผู้ถือหุ้น อาจจะออกมาเป็น Token เพื่อตอบโจทย์ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในรูปแบบต่างๆ แทน ทิพยสุดาระบุว่าเป็นการคิดภาพความเปลี่ยนแปลงที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคตของตลาดหลักทรัพย์ในต่างประเทศที่มีจุดกำเนิดมาในลักษณะข้างต้น

 

 

 บทบาท ก.ล.ต.ที่เปลี่ยนไป

                รองเลขาธิการ ก.ล.ต. บอกว่า เรื่องสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นเรื่องใหม่ของโลกรวมถึงก.ล.ต. จึงเป็นสิ่งที่ท้าทายของสำนักงานในทุกด้าน

                “เราอยู่ในโลกที่มี exchange เดียว ชื่อตลาดหลักทรัพย์ที่เกิดก่อนเรา แล้วในโลกหลักทรัพย์เป็นแบบนี้ กติกาถูกเขียนให้ตลาดมีสิทธิพิเศษเหนือคนอื่น อยู่ในกฎหมายของเรามาตั้ง 20 กว่าปีแล้ว เวลาเราไปเสนออะไรที่จะแก้สิ่งเหล่านี้คนจะนึกภาพไม่ออก รวมทั้งพวกเรากันเองด้วย เพราะเราชินกับการมีตลาดเดียว  

                แต่ทันทีที่มีกฎหมายนี้ ก็มีคนที่ทำฟังก์ชันแบบนี้ในอีกอย่างเดินเข้ามาแล้วมีหลายคนที่มาพูดกับเรา คือด้านหนึ่งคือนี่แหละคือโอกาสที่ผู้กำกับดูแลจะได้เห็นว่ามีการแข่งขันแล้วเป็นอย่างไร อาจจะดีก็ได้ไม่ดีก็ได้ อาจจะเหนื่อยไปเลยก็ได้ ถ้าสกรีนไม่ดีอาจจะเละไปเลยก็ได้ ก็มีความเสี่ยง แต่ก็มีโอกาส แต่ก็ไม่ใช่ทางเลือกอะไรมาก เหมือนความที่เราไม่คุ้น ไม่เคยคิดอย่างนี้เลย แล้วทุกคนต้องมาทำความเข้าใจว่าระบบของเขาเป็นอย่างไร ความเสี่ยงอยู่ตรงไหน จะอนุญาตหรือไม่เพราะอะไร ซึ่งไม่เคยไม่อนุญาตตลาดเพราะตลาดมีมาก่อนเรา

                ส่วนด้าน Primary นี่ ตลอดทั้งชีวิตก็เรียกว่าพยายามที่จะป้องกันปัญหาเรื่องคนที่ออกหลักทรัพย์จะมาเอาเปรียบหลอกลวงคนอื่น แล้ววิธีก็คือเราดูจากประวัติของเขาว่า เขาดีไหม เขาน่าเชื่อไหม เขาทำอะไรมาบ้าง งบเขาเป็นอย่างไร เราดูจากประวัติจากอดีต นี่คือโลกที่เราคุ้นเคยคือดูอดีต มีมาตรฐานสร้างขึ้นมาเพื่อการดูอดีตโดยเฉพาะ

                จริงๆ แล้วก็ไม่ใช่โจทย์ใหม่ เป็นตั้งแต่ตอน Crowdfunding แล้วว่า ถ้าไม่มีอดีตให้ดู มีแต่ความคิดคุณจะบอกว่า เพราะคุณไม่มีอดีตคุณเลยไม่ให้เขาหรือ แล้วถ้าเราไม่ให้เพราะเราเป็นห่วงผู้ลงทุน เรากำลังไปตันอะไรหรือไม่ แต่ถ้าเราให้แล้วเราเสี่ยงกับอะไร คนจะเข้าใจไหม เพราะคนก็เคยชินกับการที่เราดูอดีตมาให้  

                แต่คราวนี้เปลี่ยนใหม่เป็นอีกแบบว่า ต่อไปนี้คนที่อยากเข้าถึงทุนมีวิธีการเข้าไปหาคนที่มีเงินทุน ซึ่งกำลังอยากได้ ผลตอบแทนพอดี มีวิธีเข้าหาโดยที่ไม่ต้องง้อใคร แล้วรู้สึกทั้งสองฝ่ายก็พอใจกันด้วย แล้วเราจะทำอย่างไร ถ้าเราไม่ทำอะไรเลยปล่อยไปตามธรรมชาติ ก็คงหลอกกันจนเจ๊งไปเลย เพราะ 90 กว่าเปอร์เซ็นต์ก็หลอกก็เจ๊ง ในที่สุดเครื่องมือนี้ก็จะตายไปเพราะไม่มีใครเชื่อมั่น

                ปีที่แล้วตอนที่เอกชนเดินมาขอให้เรากำกับดูแล เพราะเขากลัวว่าจะหลอกกันจนตายไปเลย แล้วเขาจะใช้ประโยชน์จากเรื่องนี้ไม่ได้ จึงเป็นที่มาว่าอยากจะทำมาตรฐานที่ดี ที่อุตสาหกรรมเป็นคนคิดขึ้นมา นั่นคือแนวคิดเบื้องต้นของเรา แต่ตอนนี้มันก็ล่วงเลยมาถึงเราเป็นคนออกเกณฑ์มาขนาดนี้แล้ว ก็ยังคิดว่าต้องบอกว่า คุณค่าของการกำกับดูแลอยู่ตรงที่ว่าเราสามารถช่วยให้มีกลไกในการแยกระหว่างของจริงกับของเก๊ได้หรือไม่ แต่ของจริงจะเจ๋งหรือไม่เจ๋งก็อีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งเมื่อก่อนกลไกนี้เราใช้ Venture Capital แต่นี่มา Disrupt venture capital”

                รองเลขาธิการ ก.ล.ต.สรุปว่า เรื่องของสินทรัพย์ดิจิทัลในประเทศไทย ผู้เล่นต่างๆ นับว่ามีหมดแล้ว ทั้ง Exchange, Portal ผู้ที่อยากออก ICO โบรกเกอร์ ดีลเลอร์ ทำให้เห็นระบบนิเวศที่เริ่มเกิดขึ้นชัดเจนขึ้น ในส่วนกฎเกณฑ์ที่เดิมไม่มี ทำให้คนทั่วไปไม่มั่นใจ ปัจจุบันก็มีกฎหมายที่ออกมาช่วยสร้างความมั่นใจ ก.ล.ต. เองมีหน้าที่ออกเกณฑ์มารองรับเพื่อให้เมื่อมีคนมาขออนุญาตแล้วสามารถทำธุรกิจได้ โดยเกณฑ์หลักๆ นั้นออกมาแล้ว แต่ยังมีการแก้เติมสิ่งที่ขาดอยู่บ้าง คาดว่าในช่วงครึ่งปีหลังก็น่าจะเห็นภาพของธุรกิจที่เกี่ยวข้องได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น

                ขณะที่ก.ล.ต. ก็ต้องเตรียมพร้อมทั้งการเตรียมบุคลากรให้มีความเข้าใจในเรื่องเทคโนโลยีใหม่ๆ ในทุกฝ่าย รวมถึงกำลังคนที่จะมาดูแลเรื่องที่เกี่ยวข้อง โดยมีการรับพนักงานใหม่ที่มีความรู้ในเรื่องใหม่ๆ เช่น บล็อกเชน คนที่เคยลงทุนในไอซีโอเข้ามาเสริมทัพเพิ่มเติม

X

Right Click

No right click