November 24, 2024

นายอารภัฏ สังขรัตน์ (ที่สองจากซ้าย) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ร่วมแสดงความยินดี กับนายวิญญู ไชยวรรณ(ที่สามจากขวา) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยเครดิต  ในโอกาสเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในกลุ่มธุรกิจการเงิน / ธนาคาร ในชื่อย่อ “CREDIT” โดยมี นางสาวนลิน วิริยะเสถียร(ที่สองจากขวา)  รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ฝ่ายวาณิชธนกิจ บริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)พร้อมด้วยทีมงาน ร่วมแสดงความยินดี ในฐานะผู้จัดการการจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย ณ  ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

“ธนาคารไทยเครดิต” ปิดจองซื้อหุ้นไอพีโอ “CREDIT” ปลื้มกระแสตอบรับดี จากนักลงทุนสถาบันทั้งในประเทศและต่างประเทศแสดงความสนใจและจองซื้อเข้ามาสัดส่วนสูงถึง 87% ของจำนวนหุ้น IPO ที่เสนอขาย และเตรียมเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเป็นวันแรก วันที่ 9 กุมภาพันธ์ นี้

นายวิญญู ไชยวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยเครดิต จำกัด (มหาชน) (“ธนาคารฯ” หรือ “ธนาคารไทยเครดิต”) กล่าวว่า หลังจากปิดการจองซื้อหุ้นของนักลงทุนสถาบันระหว่างวันที่ 31 มกราคม 2567 ถึงวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา ธนาคารไทยเครดิตขอขอบคุณนักลงทุนรายย่อยและนักลงทุนสถาบันที่เชื่อมั่น ทำให้การเสนอขายหุ้นสามัญต่อประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) ของไทยเครดิตประสบความสำเร็จอย่างดีเยี่ยม สะท้อนให้เห็นถึงปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่ง เป็นธนาคารพาณิชย์ที่มีความสามารถในการสร้างผลการดำเนินงานที่มั่นคง และเติบโตสูงเมื่อเทียบกับธนาคารพาณิชย์ในอุตสาหกรรม และศักยภาพการขยายพอร์ตสินเชื่อที่ก้าวกระโดด ภายใต้การบริหารความเสี่ยงที่รัดกุม สะท้อนมาที่อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้ (Cost to Income Ratio) ต่ำที่สุดในอุตสาหกรรม แม้ในภาวะเศรษฐกิจและสถานการณ์การลงทุนที่มีความผันผวน ธนาคารไทยเครดิต ได้รับการตอบรับจากนักลงทุนสถาบันจองซื้อหุ้น IPO ในสัดส่วนประมาณ 87% และจัดสรรให้นักลงทุนรายย่อยประมาณ 13% คิดเป็นมูลค่าเสนอขายรวมประมาณ 7,369.60 ล้านบาท ที่ราคาเสนอขายหุ้นที่ 29.00 บาทต่อหุ้น นับเป็น IPO กลุ่มธนาคารพาณิชย์ในรอบ 10 ปีที่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

อีกหนึ่งในความสำเร็จ คือความเชื่อมั่นจากผู้ลงทุนสถาบันที่เป็น Cornerstone Investors ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ รวมจำนวน 6 ราย อาทิ บรรษัทเงินทุนระหว่างประเทศ (International Finance Corporation (IFC)) เป็นสมาชิกของกลุ่มธนาคารโลก (“The World Bank Group” หรือ “WBG”) รวมทั้ง ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank) และ E.SUN Commercial Bank, Ltd. เป็นหนึ่งในธนาคารภาคเอกชนที่ใหญ่ที่สุดที่มีสำนักงานใหญ่ในไต้หวัน ซึ่งกลุ่มสถาบันระดับโลกเหล่านี้เล็งเห็นวิสัยทัศน์และแนวทางการดำเนินธุรกิจของธนาคารไทยเครดิตที่มุ่งเน้นการสร้างความยั่งยืนสู่สังคม ได้ตกลงที่จะซื้อหุ้นสามัญของธนาคารฯ และผู้ถือหุ้นเดิมที่เสนอขายเป็นจำนวนรวมประมาณไม่เกิน 140,352,490 หุ้น คิดเป็นประมาณ 55% ของจำนวนหุ้น IPO ทั้งหมด  โดย ธนาคารไทยเครดิต เสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนที่ออกและเสนอขายโดยธนาคารฯ และหุ้นสามัญที่เสนอขายโดยผู้ถือหุ้นเดิม จำนวน 254,124,200 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้ 5.00 บาท/หุ้น คิดเป็นไม่เกิน 20.7% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วทั้งหมดของธนาคารฯ ภายหลังการทำ IPO

สำหรับเงินที่ได้จากการระดมทุน ธนาคารไทยเครดิตจะนำไปใช้ขยายพอร์ตสินเชื่อ และสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน ตอกย้ำโมเดลทางธุรกิจที่เป็นเอกลักษณ์ เป็นธนาคารพาณิชย์แห่งเดียวในประเทศไทยที่มุ่งเน้นการให้บริการสินเชื่อแก่ผู้ประกอบการรายย่อย และผู้ประกอบการที่เข้าไม่ถึงสินเชื่อในระบบ (Underserved) เป็นธนาคารที่พึ่งของชุมชนและการเป็นธนาคารเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Banking) ทั้งนี้ คาดว่าหุ้น CREDIT จะสามารถเข้าจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเป็นวันแรก วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2567

*การลงทุนมีความเสี่ยง โปรดทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน และโปรดอ่านหนังสือชี้ชวน หรือข้อมูลที่มีสาระตรงตามข้อมูลสรุปสาระสำคัญของหลักทรัพย์ (Executive Summary) อย่างรอบคอบ

ธนาคารไทยเครดิต จำกัด (มหาชน) เดินหน้าแผน IPO เข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ล่าสุด สำนักงาน ก.ล.ต. ได้นับหนึ่งไฟลิ่ง เพื่อเสนอขายหุ้นสามัญต่อประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว พร้อมก้าวสู่การเป็นธนาคารชั้นนำที่มีคุณภาพ และเติบโตในกลุ่มธุรกิจด้านการเงิน สนับสนุนสินเชื่อเพื่อคนไทย ภายใต้วิสัยทัศน์ “ธนาคารไทยเครดิต มุ่งมั่นสนับสนุนให้ลูกค้าเติบโตทางธุรกิจและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ด้วยบริการไมโครไฟแนนซ์ที่เป็นเอกลักษณ์ของธนาคาร” โดยมีธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน

นายวิญญู ไชยวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยเครดิต จำกัด (มหาชน) (“ธนาคารฯ”) กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้นับหนึ่งแบบคำขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์และแบบไฟลิ่ง เพื่อเสนอขายหุ้นสามัญต่อประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยจำนวนหุ้นที่คาดว่าจะเสนอขายทั้งหมด (รวมหุ้นสามัญเพิ่มทุนที่ออกและเสนอขายโดยธนาคารฯ และหุ้นสามัญที่เสนอขายโดยผู้ถือหุ้นเดิม) ไม่เกิน 347,029,122 หุ้น คิดเป็นไม่เกินร้อยละ 28.2 ของจำนวนหุ้นจดทะเบียนและชำระแล้วทั้งหมดของธนาคารฯ ภายหลังการทำ IPO1 ซึ่งนับเป็นธนาคารพาณิชย์ที่เสนอขายหุ้น IPO ในรอบ 10 ปี โดยมี ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) เป็นที่ปรึกษาทางการเงินในครั้งนี้

อย่างไรก็ดี ธนาคารฯ เป็นธนาคารพาณิชย์ที่มุ่งเน้นให้บริการสินเชื่อนาโนและไมโครเครดิตเพื่อคนค้าขาย (Nano and Micro Finance) และสินเชื่อธุรกิจไมโครเอสเอ็มอี (Micro SME) แก่กลุ่มลูกค้าในประเทศไทยที่ยังไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้เท่าที่ควร ซึ่งกลุ่มลูกค้าดังกล่าวเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ

สำหรับวัตถุประสงค์ของการระดมทุนในครั้งนี้ เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งของเงินกองทุนของธนาคารฯ เพื่อใช้เป็นเงินทุนสำหรับการขยายพอร์ตสินเชื่อ รวมทั้ง นำไปใช้ปรับปรุงและพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศในการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบดิจิทัล (Digital Transformation) และโครงสร้างพื้นฐานด้านความปลอดภัยของระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT Security and Infrastructure) ด้วยเป้าหมายมุ่งสู่การเป็นธนาคารพาณิชย์ที่ให้บริการสินเชื่อแก่ผู้ประกอบการรายย่อยและลูกค้าบุคคล รวมไปถึงความมุ่งหวังที่จะช่วยเหลือลูกหนี้นอกระบบให้เข้าถึงสินเชื่อในระบบได้ เป็นส่วนหนึ่งที่สนับสนุนการแก้ปัญหาเศรษฐกิจและสังคมในประเทศ และสอดคล้องกับปรัชญาการดำเนินธุรกิจของธนาคาร “Everyone Matters ทุกคนคือคนสำคัญ”

นายกนต์ธีร์ ประเสริฐวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน เปิดเผยว่า หลังจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้นับหนึ่งไฟลิ่งธนาคารไทยเครดิต จำกัด (มหาชน) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว คาดว่าธนาคารฯ จะเสนอขายและเข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ในหมวดกลุ่มธุรกิจการเงิน / ธนาคาร ตามแผน IPO

สำหรับ ธนาคารไทยเครดิต จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ให้บริการทางการเงินชั้นนำเพื่อลูกค้ารายย่อย ด้วยประสบการณ์การให้บริการสินเชื่อเพื่อรายย่อยที่หลากหลายมากว่า 10 ปี ทำให้ธนาคารฯ มีความเข้าใจในกลุ่มลูกค้าเป้าหมายอย่างลึกซึ้ง ประกอบกับการมีผลิตภัณฑ์และบริการที่หลากหลาย สามารถตอบสนองความต้องการของกลุ่มลูกค้าหลากหลายขนาดและประเภทธุรกิจ รวมถึงการบริหารต้นทุนที่มีประสิทธิภาพและการบริหารจัดการความเสี่ยงที่รัดกุม ทำให้เชื่อว่าธนาคารฯ อยู่ในจุดที่สามารถขยายพอร์ตสินเชื่อในการสนับสนุนกลยุทธ์ทางธุรกิจ ซึ่งแสดงให้เห็นได้จากการเติบโตอย่างรวดเร็วและแข็งแกร่งของเงินให้สินเชื่อของธนาคารฯ ในระหว่างปี 2563 ถึงปี 2565 ที่อัตราการเติบโตเฉลี่ยสะสมร้อยละ 33.0 ต่อปี และยังมีศักยภาพในการเพิ่มโอกาสทางธุรกิจสู่ตลาดที่มีขนาดใหญ่ แต่ยังไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินนี้ ด้วยรูปแบบการดำเนินธุรกิจที่เป็นเอกลักษณ์

นอกจากนี้ ธนาคารฯ ยังมีโครงสร้างต้นทุนการดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพ จากเครือข่ายสาขาที่มีต้นทุนการดำเนินงานต่ำ ทั้งนี้ ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2566 ธนาคารฯ มีสาขาทั้งสิ้น 527 แห่งทั่วประเทศไทย ประกอบไปด้วยสาขาสินเชื่อเพื่อรายย่อย สำนักงานนาโนเครดิต และสาขาที่ให้บริการเงินฝาก ตั้งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ในพื้นที่หรือใกล้เคียงกับกลุ่มลูกค้า รวมทั้งมุ่งเน้นการขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมผ่านช่องทางดิจิทัล โดยบริษัท ไทยไมโคร ดิจิทัล โซลูชั่นส์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกของธนาคารฯ ได้นำแพลตฟอร์มด้านเทคโนโลยีมาใช้เพื่อสร้างเสริมประสบการณ์ของลูกค้าผ่านแอปพลิเคชัน “ไมโครเพย์” ซึ่งปัจจุบันมีผู้ใช้งานที่ผ่านกระบวนการ KYC ถึง 384,460 ราย เป็นปัจจัยที่ทำให้ธนาคารฯ สามารถรักษาอัตราส่วนค่าใช้จ่ายดําเนินงานต่อรายได้รวม (Cost-to-Income Ratio) ไว้ได้ในระดับต่ำ หรือเท่ากับร้อยละ 36.0 ในงวด 6 เดือน สิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2566

 

ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานงวด 3 ปีที่ผ่านมา (ปี 2563 – 2565) และ ณ งวด 6 เดือน สิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2566 เงินให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้ของธนาคารฯ มีจำนวนเท่ากับ 68,562.4 ล้านบาท 97,728.7 ล้านบาท 121,298.0 ล้านบาท และ 132,758.1 ล้านบาท ตามลำดับ โดยมีอัตราการเติบโตโดยเฉลี่ยสะสมต่อปีระหว่าง 2563-2565 (Compound Annual Growth Rate: CAGR) อยู่ที่ร้อยละ 33.0 ต่อปี

เงินให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้ของธนาคารฯ สามารถแบ่งออกได้เป็น 5 กลุ่มผลิตภัณฑ์ประกอบด้วย (1) สินเชื่อสำหรับสินเชื่อธุรกิจไมโครเอสเอ็มอี (2) สินเชื่อนาโนและไมโครเครดิตเพื่อคนค้าขาย (3) สินเชื่อบ้าน (4) สินเชื่อหมุนเวียนส่วนบุคคล (5) สินเชื่อรายย่อยอื่นๆ

นอกจากนี้ สำหรับงวด 6 เดือน สิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2566 ธนาคารฯ มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 1,830.7 ล้านบาท โดยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยสะสมในระหว่างปี 2563 ถึงปี 2565 ร้อยละ 30.9 ต่อปี

โครงการตังค์โต Know-how โดยธนาคารไทยเครดิต เพื่อรายย่อย จำกัด (มหาชน) ได้รับผลการตอบรับที่ดี มีผู้เข้าอบรมทั้งสิ้นจำนวน 11,475 ราย ใน 3 เดือนแรกของปี โดยมีจำนวนผู้เข้าอบรมตลอดระยะ 6 ปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 77,329 คน รูปแบบการจัดอบรมมีทั้งแบบออนไลน์ผ่าน Facebook Live และลงพื้นที่จัดอบรมแบบ  ออนกราวน์

X

Right Click

No right click