December 22, 2024

เคทีซีเปิดเวทีเสวนา KTC FIT Talk 13 "โฟกัสเศรษฐกิจปี 2568: โอกาสและความท้าทาย" นำเสนอข้อมูลแนวโน้มเศรษฐกิจ การรับมือความผันผวนและปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่อาจเกิดขึ้นในปี 2568 ชี้อุตสาหกรรมสินเชื่อผู้บริโภคมีโอกาสเติบโตท่ามกลางความท้าทาย โดยมีดร. ศุภวุฒิ สายเชื้อ ประธานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และนายอภิเชษฐ์ เกียรติวรคุณ ผู้อำนวยการ - การเงิน “เคทีซี” ร่วมแลกเปลี่ยนมุมมอง ณ “เคทีซี” อาคารยูบีซี 2

ดร. ศุภวุฒิ สายเชื้อ ประธานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เผยถึงแนวโน้มของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยว่า “เศรษฐกิจไทยในปี 2567 จะขยายตัวได้ประมาณ 2.7% โดยไตรมาส 4/2567 จีดีพีจะขยายตัวได้ 4% จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล การท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง และการขยายตัวของการส่งออก แต่ในปี 2568 นั้น ไอเอ็มเอฟคาดการณ์ว่า จีดีพีจะขยายตัว 2.9% แต่แนวโน้มยังคงมีความไม่แน่นอนสูง โดยมีความเสี่ยงที่โน้มเอียงไปในทิศทางขาลง ซึ่งทางไอเอ็มเอฟคงจะนึกถึงการชนะการเลือกตั้งของประธานาธิบดีทรัมป์ และความเสี่ยงของภูมิรัฐศาสตร์ ดังนั้นหากมองไปในปี 2568 จะมี 4 ปัจจัยที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้คือ

1. การส่งออกสินค้าซึ่งคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 50% ของจีดีพี โดยการส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ เท่ากับเกือบ 10% ของจีดีพี จะมีความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับโอกาสที่มีผลกระทบทางลบหรือความเสียหาย (downside risk) มาก และตลาดยุโรปกับจีนก็ดูจะ ไม่แข็งแรง

2. การท่องเที่ยวคงจะฟื้นตัวต่อไป คือจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศในปี 2568 น่าจะกลับไปที่ 40 ล้านคน เท่ากับปริมาณก่อนการระบาดของโควิด 19 แต่รายจ่ายต่อหัวจะยังต่ำกว่า

3. แรงกระตุ้นจากภาครัฐคงจะมีต่อเนื่องถึงประมาณกลางปีหน้า จากการแจกเงินก้อนสุดท้าย และการเร่งใช้งบลงทุน แต่การที่รัฐมนตรีคลังพูดถึงการเก็บภาษีเพิ่ม แปลว่า นโยบายการคลังน่าจะตึงตัวขึ้น

4. นโยบายการเงินนั้น ตลาดคาดการณ์ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย จะลดดอกเบี้ยนโยบายลง 2 ครั้งในปี 2568 เพราะเงินเฟ้อต่ำมาก แต่ในขณะเดียวกันธนาคารแห่งประเทศไทย ก็ยังคงจะส่งสัญญาณให้ธนาคารพาณิชย์เข้มงวดกับการปล่อยสินเชื่อใหม่ และธนาคารพาณิชย์เองก็คงจะต้องใช้เวลากับการแก้หนี้เสียที่ยังหลงเหลืออยู่ไม่น้อย ดังนั้น แนวโน้มของการลดลงของสัดส่วนหนี้สินต่อรายได้ (debt deleveraging) ก็จะยังดำเนินต่อไปในปี 2568

อย่างไรก็ตาม หากธนาคารแห่งประเทศไทยผ่อนคลายนโยบายการเงินเชื่องช้าเกินไป ผลที่จะตามมาคือ กำลังซื้อในประเทศจะ ไม่แข็งแรงและเงินบาทจะแข็งค่าขึ้นไปอีกได้”

 

นายอภิเชษฐ์ เกียรติวรคุณ ผู้อำนวยการ - การเงิน “เคทีซี” หรือ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เผยถึงแนวโน้มของเศรษฐกิจไทยว่า “เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มเติบโตร้อยละ 2.9 ในปี 2568 ท่ามกลางความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าโลก โดยเฉพาะประเด็นการขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ที่อาจส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่การผลิตและการส่งออกในภูมิภาค การที่สหรัฐฯ อาจขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนเพิ่มเติมอีกร้อยละ 60 และขึ้นภาษีทั่วไปร้อยละ 10 สำหรับประเทศอื่นๆ จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในรูปแบบการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ อย่างไรก็ตาม ไทยมีโอกาสได้รับประโยชน์ในระยะสั้น จากการย้ายฐานการผลิตของจีนมายังอาเซียน (China+1) แม้ว่าในระยะยาวอาจต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นในตลาดส่งออก จุดแข็งสูงสุดของการเติบโตคาดว่าจะอยู่ในช่วงไตรมาส 4/2567 และไตรมาส 1/2568 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากนโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย คาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทยจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงมาอยู่ที่ร้อยละ 1.50-2.00 สอดคล้องกับทิศทางทั่วโลก เนื่องจากเงินเฟ้อที่ชะลอตัวและราคาพลังงานที่คาดว่าจะปรับ

ลดลง การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศโดยเฉพาะในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์และดิจิทัลยังคงมีแนวโน้มเข้ามาต่อเนื่อง โดยมีอาเซียนเป็นศูนย์กลางการลงทุนที่สำคัญ รวมถึงการใช้จ่ายภาครัฐที่คาดว่าแข็งแกร่งในช่วงครึ่งปีแรกของ 2568

ภาคธุรกิจที่มีแนวโน้มเติบโตโดดเด่น ได้แก่ ธุรกิจร้านอาหารและโรงแรม บริการสุขภาพที่ได้ประโยชน์จากสังคมผู้สูงอายุ และสถาบันการเงินที่มีการพัฒนานวัตกรรมทางการเงินและปรับตัวสู่ดิจิทัล โดยเฉพาะการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ช่วยให้ลูกค้าบริหารจัดการหนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ความสำเร็จในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในปี 2568 จะขึ้นอยู่กับความสามารถในการใช้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงของห่วงโซ่การผลิตโลก ควบคู่ไปกับการบูรณาการความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน และการบริหารจัดการความเสี่ยงอย่างรอบคอบ เพื่อสร้างการเติบโตที่ยั่งยืนในระยะยาว

อุตสาหกรรมสินเชื่อผู้บริโภคมีโอกาสเติบโตจากเศรษฐกิจที่จะเร่งตัวขึ้น และต้นทุนทางการเงินที่ลดลง ซึ่งเอื้อให้สถาบันการเงินสามารถนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่แข่งขันได้มากขึ้น รวมถึงการนำเทคโนโลยีมาใช้จะช่วยขยายการเข้าถึงบริการทางการเงิน อย่างไรก็ตาม ความ ท้าทายสำคัญยังคงเป็นเรื่องหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ซึ่งต้องมีการบริหารความเสี่ยงอย่างรัดกุม รวมถึงการปรับตัวต่อกฎระเบียบที่เข้มงวดขึ้นและการแข่งขันจากผู้ให้บริการเดิมและผู้เล่นใหม่ โดยเคทีซีพร้อมที่จะเสนอผลิตภัณฑ์ที่ช่วยให้ลูกค้าสามารถจัดการหนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นธรรม และตอบโจทย์รูปแบบการใช้ชีวิตที่ปรับเปลี่ยนตามยุคสมัย

ทิศทางธุรกิจเคทีซีในปี 2568 จะนำพาองค์กรสู่องค์กรดิจิทัลอย่างยั่งยืนด้วย 3 องค์ประกอบ คน ระบบและเทคโนโลยี เราเชื่อมั่นว่าการทำความเข้าใจแนวโน้มเศรษฐกิจในอนาคต และการวางแผนกลยุทธ์ที่รอบคอบ จะช่วยให้เคทีซีสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืนในยุคที่โลกเผชิญความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เรามุ่งมั่นสนับสนุนการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมไทย ด้วยบริการทางการเงินที่ทันสมัยและครบวงจร พร้อมเป็นพันธมิตรเชิงกลยุทธ์ในการช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ด้วยการขยายผลิตภัณฑ์และบริการที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้า รวมถึงการใช้เทคโนโลยีเพื่อเสริมสร้างการเข้าถึงบริการทางการเงิน และขยายฐานลูกค้าให้กว้างขึ้น เพื่อรักษาตำแหน่งผู้นำในตลาดสินเชื่อผู้บริโภคและสนับสนุนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืนในปี 2568 และต่อไปในอนาคต”

ผลการดำเนินงานในปี 2567 เคทีซีทำกำไรสุทธิ 5,549 ล้านบาทในช่วง 9 เดือนแรก และคาดว่าจะบรรลุเป้าหมายกำไรสุทธิ 7,295 ล้านบาทในสิ้นปี สำหรับปี 2568 บริษัทตั้งเป้ากำไรสุทธิที่เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า โดยพอร์ตสินเชื่อรวมคาดว่าจะเติบโตในอัตรา 4-5% พร้อมรักษาคุณภาพของพอร์ตสินเชื่อให้มีอัตราส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ NPL (Non-Performing Loan) ไม่เกิน 2.0% เคทีซียังวางแผนเพิ่มยอดการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต 10% โดยใช้กลยุทธ์สร้างการมีส่วนร่วมกับลูกค้า และขยายผลิตภัณฑ์บัตรกดเงินสด “เคทีซี พราว” (KTC PROUD) เติบโต 3% และยอดลูกหนี้ใหม่ของสินเชื่อ “เคทีซี พี่เบิ้ม รถแลกเงิน” เท่ากับ 3,000 ล้านบาท ด้วยโซลูชันการเงินเฉพาะบุคคลที่ ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค

คาร์ดเอกซ์ (CardX) เผยผลประกอบการครึ่งปีแรกเติบโตต่อเนื่อง โดยหมวดธุรกิจที่มียอดการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตเติบโตสูงสุด เรียงตามยอดการใช้จ่าย 5 อันดับแรก ได้แก่ ร้านค้าปลีกขนาดใหญ่หรือไฮเปอร์มาร์เก็ต ประกันภัย การศึกษา โรงแรม และดีพาร์ทเมนท์สโตร์ สะท้อนคนไทยเน้นการเลือกซื้อเฉพาะสิ่งของที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน และส่งเสริมคุณภาพชีวิตมากกว่าการจับจ่ายกับสินค้าที่มีความฟุ่มเฟือย สอดคล้องไปกับเหตุจูงใจด้านสถานการณ์เศรษฐกิจที่ยังฟื้นตัวได้ไม่เต็มที่ ตั้งเป้าอัตราการเติบโตของการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตในปี 2567 อยู่ที่ 5-8% พร้อมขานรับนโยบายเร่งด่วนจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากสถานการณ์น้ำท่วม มุ่งสนับสนุนช่วยเหลือเพื่อช่วยลดภาระ และเสริมสภาพคล่องให้กับลูกหนี้ รวมถึงแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนไปพร้อมกัน โดยยังคงให้ความสำคัญกับการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending) อย่างต่อเนื่อง

จากการศึกษาแนวโน้มสถานการณ์ทางเศรษฐกิจครึ่งปีหลังของไทยจาก SCB EIC พบว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มการฟื้นตัวได้ไม่เต็มที่ ส่งผลให้ผู้บริโภคยังคงมีความระมัดระวังในการจับจ่าย แม้ว่าหลายภาคส่วนจะมีการเร่งปรับตัว พร้อมมาตรการต่าง ๆ เพื่อให้เกิดการฟื้นตัวได้อย่าวรวดเร็ว ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคยังปรับลดลงต่อเนื่องตามแนวโน้มเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวช้าและราคาพลังงานที่ปรับสูงขึ้น นอกจากนี้ ภาระหนี้ครัวเรือนยังคงกดดันสภาวะการใช้จ่ายในปัจจุบัน ยังผลให้พฤติกรรมของผู้บริโภคในปัจจุบันได้มีการเปลี่ยนแปลงไป การจับจ่ายใช้สอยในแต่ละครั้งของผู้คนในปัจจุบัน เริ่มมีการวางแผนมากขึ้น ลดค่าใช้จ่ายที่ฟุ่มเฟือย อย่างไรก็ตาม คาดว่าเศรษฐกิจภาพรวมในสถานการณ์ครึ่งปีหลัง จะมีการปรับตัวดีขึ้นเรื่อย ๆ ส่วนหนึ่งมาจากรัฐบาลที่มีการเบิกจ่ายงบประมาณที่เพิ่มมากขึ้น รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่กำลังเร่งดำเนินการ ซึ่งจะเป็นปัจจัยบวกต่อเศรษฐกิจโค้งสุดท้ายของปีในภาพรวม

นายสารัชต์ รัตนาภรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท คาร์ด เอกซ์ จำกัด (CardX) เปิดเผยว่า “พฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภคในปัจจุบัน หลายครอบครัวเลือกที่จะจับจ่ายซื้อของด้วยความรอบคอบ วางแผนการใช้จ่าย และเลือกซื้อของใช้ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน ลดการใช้จ่ายกับสินค้าที่ฟุ่มเฟือย โดยคำนึงถึงความคุ้มค่า ทั้งด้านการใช้งานและราคา อีกทั้งยังมองหาโปรโมชัน หรือส่วนลดที่คุ้มค่าต่อการซื้อของในแต่ละครั้งมากที่สุด สะท้อนผ่านการจับจ่ายใช้สอยผ่านบัตรเครดิตของคาร์ดเอกซ์ โดยหมวดธุรกิจที่มียอดการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตที่มีอัตราเติบโตสูงสุดในช่วงครึ่งปีแรกเทียบกับปีที่แล้ว เติบโตระหว่าง 8%-17% ได้แก่ ร้านค้าปลีกขนาดใหญ่หรือไฮเปอร์มาร์เก็ต (+17%) ประกันภัย (+12%) การศึกษา (+11%) โรงแรม (+9%) และดีพาร์ทเมนท์สโตร์ (+8%) ตามลำดับ ซึ่งมีการเติบโตสอดคล้องกับแผนการดำเนินธุรกิจที่คาร์ดเอกซ์ ที่มุ่งผลักดันการเติบโตอย่างมีคุณภาพ ผ่านแคมเปญ โปรโมชันต่างๆ รวมถึงความร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจในทุกภาคส่วนที่มีอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี "

 

โดยผลประกอบการในช่วงที่ผ่านมา ถือว่ามีการเติบโตอย่างมั่นคงเป็นที่น่าพอใจจากการเดินกลยุทธ์ของบริษัทที่มุ่งพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการ รวมถึงการขยายระบบนิเวศด้านพันธมิตร เพื่อร่วมกันนำเสนอสิทธิพิเศษที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคตลอดทั้งปี โดยในช่วงปลายปีที่กำลังจะมาถึงนี้ จะเริ่มเข้าสู่ช่วงเทศกาลเฉลิมฉลองและการท่องเที่ยว คาร์ดเอกซ์ ได้เตรียมแผนการตลาดที่จะกระตุ้นการใช้จ่ายในช่วงนี้อย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งเน้นที่ธุรกิจช้อปปิ้ง ท่องเที่ยว และ ร้านอาหาร เพื่อสร้างความพึงพอใจสูงสุดให้แก่ลูกค้าในช่วงเทศกาลแห่งความสุขที่กำลังจะมาถึง นอกจากนี้ คาร์ดเอกซ์ ยังคงเดินหน้าขานรับมาตรการต่าง ๆ ให้สอดคล้องและเป็นไปตามแนวทางของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยเฉพาะมาตรการในการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ อย่างเหมาะสม อาทิ

1. มาตรการเร่งด่วนสำหรับการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ในจังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วม เพื่อช่วยลดภาระ และเสริมสภาพคล่องของลูกหนี้ โดยการผ่อนปรนเงื่อนไขบางประการ อาทิ การพักชำระหนี้สูงสุด 3 รอบบัญชี โดย คาร์ดเอกซ์ยังคงให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืนตามแนวนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทยมาโดยตลอด เพื่อนำเสนอผลิตภัณฑ์หรือบริการทางการเงินที่เหมาะสมและไม่กระทบต่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดีของลูกค้าแต่ละราย พร้อมทั้งสร้างความเป็นไปได้ทางการเงินอย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม

2. มาตรการทางการเงินเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ในการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือน โดยผ่อนปรนอัตราการผ่อนชำระขั้นต่ำของบัตรเครดิต ให้ยังคงอยู่ที่ร้อยละ 8 ออกไปอีก 1 ปี จนถึงสิ้นปี 2568 เพื่อช่วยลดภาระการจ่ายชำระหนี้และรักษาสภาพคล่องให้ครัวเรือน โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง และให้เครดิตเงินคืน เพื่อจูงใจให้ลูกหนี้ปิดจบเร็วขึ้น โดยครึ่งปีแรก ลูกหนี้ที่ผ่อนชำระหนี้ขั้นต่ำมากกว่าหรือเท่ากับ 8% จะได้รับเครดิตเงินคืนเทียบเท่ากับการลดดอกเบี้ย 0.5% ของยอดค้างชำระ และ 0.25% สำหรับครึ่งปีหลังของปี 2568

“คาร์ดเอกซ์ เข้าใจสถานการณ์ที่ท้าทายในขณะนี้ พร้อมเดินหน้าช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบ ทั้งนี้ ลูกค้าของคาร์ดเอกซ์ ยังสามารถใช้โปรโมชันผ่อนสินค้า รวมถึงรายการส่งเสริมการขายร่วมกับเครือข่ายร้านค้าและพันธมิตรอื่น ๆ ที่มีความหลากหลาย เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระทางการเงินให้กับทุกท่าน เพื่อให้ทุกความจำเป็นทางการเงินเป็นไปได้ด้วยบัตรเครดิตและสินเชื่อจากคาร์ดเอกซ์ โดยเรายังคงให้ความสำคัญกับการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending) อย่างต่อเนื่อง และเน้นย้ำการให้ความรู้ทางด้านการเงิน พร้อมทั้งการวางแผน และสร้างความเข้าใจเรื่องการเป็นหนี้ และวินัยทางการเงิน พร้อมส่งเสริมการกู้เท่าที่จำเป็นและชำระคืนไหว” นายสารัชต์ กล่าวเสริม

ในส่วนของผลการดำเนินงานในช่วงครึ่งปีแรก 2567 ที่ผ่านมา ยอดสินเชื่อรวมครึ่งปีแรก อยู่ที่ 103,000 ล้านบาท ฐานสมาชิกรวม 2.9 ล้าน บัญชี สำหรับครึ่งปีหลัง 2567 ทางคาร์ดเอกซ์ ตั้งเป้าอัตราการเติบโตของการใช้จ่ายอยู่ที่ประมาณ 5-8% เพราะธุรกิจในขณะนี้ยังคงเผชิญปัจจัยทางเศรษฐกิจที่มีความท้าทาย และยังต้องระมัดระวังอยู่ตลอด โดยกลยุทธ์หลังจากนี้ จะยังคงเน้นการเติบโตและกระตุ้นการใช้จ่ายในกลุ่มลูกค้าเดิม ควบคู่ไปกับการเจาะกลุ่มลูกค้าใหม่ที่มีรายได้สูงขึ้น และเฝ้าระวังหนี้เสียให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมตลอดครึ่งปีหลัง

แกร็บ ประเทศไทย ประกาศปรับพอร์ตฯ สินเชื่อเงินสดเพื่อพาร์ทเนอร์ร้านค้า นำเสนอ 3 ผลิตภัณฑ์สินเชื่อเพื่อตอบโจทย์ผู้ประกอบการร้านค้าและร้านอาหารให้ครอบคลุมทุกขนาดธุรกิจ พร้อมขยายวงเงินสินเชื่อสูงสุดถึง 10 ล้านบาท พร้อมอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 1% ต่อเดือนสำหรับร้านขนาดใหญ่ หวังช่วยเพิ่มทุนหมุนเวียน เสริมสภาพคล่องและให้ผู้ประกอบการสามารถต่อยอดธุรกิจท่ามกลางสภาพเศรษฐกิจที่ท้าทาย โดยยังชูจุดเด่น ขั้นตอนที่สะดวกไม่ต้องยื่นเอกสาร อนุมัติไวภายใน 1 วัน และผ่อนจ่ายสบายแบบรายวัน

นางสาวจันต์สุดา ธนานิตยะอุดม รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานพาณิชย์และการตลาด แกร็บ ประเทศไทย กล่าวว่า “ด้วยสภาพเศรฐกิจในปัจจุบันที่ชะลอตัว จากปัจจัยทั้งภายในและภายนอกประเทศ ประกอบกับอัตราหนี้ครัวเรือนไทยอยู่ในระดับที่สูงส่งผลต่อการเบิกใช้สินเชื่อใหม่ อีกทั้งในช่วงไตรมาสที่สองยังคงมีแรงกดดันจากการทยอยชำระคืนสินเชื่อโดยเฉพาะสินเชื่อภาครัฐและภาคธุรกิจ ทำให้ภาพรวมตลาดสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ขยายตัวชะลอลงราว 0.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว1 โดยเป็นที่คาดการณ์ว่าตลาดสินเชื่อในปี 2567 จะมีอัตราการเติบโตเพียง 1.5% ลดลงจากที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้าที่ 3%2 แม้ภาพรวมตลาดสินเชื่อของประเทศจะอยู่ในช่วงชะลอตัว แต่ธุรกิจสินเชื่อของแกร็บยังคงมีผลประกอบการที่ดีและเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการให้สินเชื่อกับกลุ่มพาร์ทเนอร์ร้านค้า ซึ่งในช่วงครึ่งปีที่ผ่านมามีจำนวนผู้ได้รับสินเชื่อเงินสดจากแกร็บเพิ่มขึ้นมากกว่า 15% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า และมีอัตราหนี้เสีย (NPL) อยู่ที่ 2.35% ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยอัตราหนี้เสียของประเทศ3 สะท้อนให้เห็นถึงคุณภาพของกลุ่มผู้ขอสินเชื่อเงินสดจากแกร็บ”

แกร็บได้นำเทคโนโลยี AI และ Big Data เข้ามาใช้เป็นส่วนหนึ่งในขั้นตอนการประเมินความเสี่ยง โดยพิจารณาจากพฤติกรรมและข้อมูลการทำธุรกรรมผ่านแอปพลิเคชันของพาร์ทเนอร์ร้านค้า (Behavioural Scorecard) เพื่อการอนุมัติสินเชื่อและลดความเสี่ยงในการผิดนัดชำระ ทั้งนี้ ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ที่ขอสินเชื่อจากแกร็บมีความต้องการสินเชื่อเพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนและเสริมสภาพคล่องให้กับธุรกิจ เช่น การซื้อวัตถุดิบและบริหารสต็อกสินค้า การบริหารลูกจ้างและพนักงาน การจัดการกระแสเงินสด การปรับปรุงหน้าร้าน รวมไปถึงการอัพเกรดเทคโนโลยีและการขยายธุรกิจ เป็นต้น

“เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจและสนับสนุนผู้ประกอบการร้านอาหาร ทั้งรายย่อยและ SME อย่างต่อเนื่อง ล่าสุด แกร็บได้ปรับพอร์ตฯ ผลิตภัณฑ์สินเชื่อสำหรับพาร์ทเนอร์ร้านค้าเพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการที่หลากหลายตามขนาดและรูปแบบธุรกิจ พร้อมขยายวงเงินสูงสุดถึง 10 ล้านบาท โดยยังคงจุดเด่นในเรื่องของขั้นตอนการขอรับสินเชื่อที่ไม่ยุ่งยาก (ไม่ต้องยื่นเอกสาร) อนุมัติไวภายใน 1 วัน และสามารถผ่อนชำระคืนแบบรายวัน” นางสาวจันต์สุดา กล่าวเสริม

สำหรับผลิตภัณฑ์สินเชื่อเงินสดเพื่อพาร์ทเนอร์ร้านค้าของแกร็บถูกออกแบบมาเพื่อเป็นตัวช่วยในการประกอบอาชีพและส่งเสริมการดำเนินธุรกิจสำหรับผู้ประกอบการรายย่อย รวมถึงเจ้าของธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง โดยมีการกำหนดวงเงินสินเชื่อเพื่อให้สอดคล้องไปกับขนาดและรูปแบบของธุรกิจที่ต่างกันไป ซึ่งประกอบไปด้วย

· สินเชื่อเงินสดทันใจ: เจาะกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อย (ดำเนินธุรกิจในรูปแบบบุคคลธรรมดา) ซึ่งเป็นเจ้าของร้านค้า ร้านอาหารขนาดเล็กหรือสตรีทฟู้ด โดยให้วงเงินสูงสุด 1 แสนบาท อัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 2.75% ต่อเดือน4 และมีระยะเวลาผ่อนชำระสูงสุด 9 เดือน

· สินเชื่อเงินสดทันใจ พลัส: เจาะกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อย (ดำเนินธุรกิจในรูปแบบบุคคลธรรมดา) ซึ่งเป็นเจ้าของร้านค้า ร้านอาหารที่มีขนาดใหญ่ขึ้นหรือมีหลายสาขา โดยให้วงเงินสูงสุด 1 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 2.08% ต่อเดือน5 และมีระยะเวลาผ่อนชำระสูงสุด 12 เดือน

· สินเชื่อเงินสดทันใจ เอ็กซ์ตร้า: เจาะกลุ่มเจ้าของธุรกิจ SME หรือแฟรนไชส์ ดำเนินธุรกิจในรูปแบบนิติบุคคล โดยให้วงเงินสูงสุด 10 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 1% ต่อเดือน และมีระยะเวลาผ่อนชำระสูงสุด 12 เดือน

“นอกจากบริการสินเชื่อแล้ว ล่าสุด แกร็บยังได้ร่วมกับ บริษัท ชับบ์สามัคคีประกันภัย จำกัด (มหาชน) พัฒนาบริการประกันภัยสำหรับพาร์ทเนอร์ร้านค้าแกร็บในชื่อ ‘ประกันค้าขายหายห่วง’ เพื่อให้ความคุ้มครองผู้ประกอบการธุรกิจจากเหตุไม่คาดฝันอย่างอุบัติภัยหรือภัยธรรมชาติ เช่น ไฟไหม้หรือน้ำท่วม ด้วยวงเงินคุ้มครองสูงสุดถึง 5 ล้านบาท โดยมีค่าเบี้ยประกันเริ่มต้นเพียงวันละ 14 บาทเท่านั้น ทั้งนี้ แกร็บจะยังคงมุ่งมั่นพัฒนาและยกระดับผลิตภัณฑ์ทางการเงินต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น ระบบชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ สินเชื่อ รวมถึงประกัน เพื่อตอบโจทย์ความต้องการและส่งเสริมการเข้าถึงโอกาสทางการเงินให้กับทุกคนในอีโคซิสเต็ม ทั้งผู้ใช้บริการ พาร์ทเนอร์ร้านค้าและคนขับ เพื่ออำนวยความสะดวกและเสริมศักยภาพในการสร้างรายได้และเติบโตทางธุรกิจได้อย่างมั่นคง” นางสาวจันต์สุดา กล่าวทิ้งท้าย

Funding Societies แพลตฟอร์มการเงินดิจิทัลแบบครบวงจรสำหรับธุรกิจ SME ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มองการเติบโตของสินเชื่อที่เกี่ยวข้องกับผู้ประกอบการ SME ในประเทศว่าจะยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง เล็ง 1 ปีต่อจากนี้ตั้งเป้าการเติบโตของพอร์ตที่ 30% โดยจะเร่งปล่อยสินเชื่อผ่านรูปแบบสินเชื่อเพื่อการค้าระยะสั้นเพิ่มอีก 2 พันล้านบาท

โดยจะโฟกัสที่คุณภาพของสินเชื่อ และกลุ่มธุรกิจที่มีศักยภาพในการเติบโตต่อไปได้ อาทิ กลุ่มผู้ผลิต โมเดิร์นเทรด ผู้รับเหมาโครงการภาครัฐฯ และเอกชน เป็นต้น รับดีมานด์ของผู้ประกอบการ SME ที่ยังขาดโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนหมุนเวียนธุรกิจจากสถาบันการเงินต่าง ๆ ได้คว้าโอกาสในการเติบโต ตอกย้ำการเป็นผู้นำการให้กู้ยืมโดยตรงแก่ธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก

ผู้ประกอบการ SME ยังคงประสบความท้าทายในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนจากสถาบันการเงินต่าง ๆ แม้จะมีความสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศเป็นอย่างมาก นับเป็นกว่า 99.5% ของวิสาหกิจทั้งประเทศ ไม่ว่าจะด้วยข้อจำกัดด้านหลักทรัพย์ค้ำประกัน การเดินบัญชีกับธนาคารที่สั้นเกินไป หรือขั้นตอนที่ยุ่งยากและใช้ระยะเวลายาวนาน ทำให้ SME ไม่สามารถเติบโตได้ ซึ่งเป็นช่องว่างทางการเงินถึงมูลค่ากว่า 1.5 ล้านล้านบาท ประกอบกับเศรษฐกิจระดับมหภาคที่ยังไม่มีสัญญาณการเติบโตที่แน่ชัด ธุรกิจ SME อาจพบว่าการขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินอื่น ๆ มีความยากลำบากมากขึ้น เนื่องด้วยสถาบันการเงินต่าง ๆ อาจมีการขอหลักประกันและเอกสารเพิ่มเติมซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับธุรกิจขนาดเล็ก

นางสาว เอื้ออารีย์ อัจฉริยบุญ Country Head ประจำ Funding Societies ประเทศไทย กล่าว “Funding Societies (ภายใต้การให้บริหารของ FS Capital Co., Ltd. เชี่ยวชาญในการให้กู้ยืมโดยตรงแก่ผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก) จะยังคงเดินหน้าสนับสนุนผู้ประกอบการ SME ให้เติบโตต่อไป เพื่อช่วยพวกเขาปิดช่องว่างทางการเงิน ซึ่งเราเชื่อมั่นว่าด้วยเครื่องมือทางการเงินที่เหมาะสม ผู้ประกอบการขนาดเล็กสามารถเติบโตสู่ขนาดกลางได้ และผู้ประกอบการขนาดกลางก็สามารถเติบโตสู่ขนาดใหญ่ได้ ซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญในการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจต่อไป ทั้งนี้ Funding Societies สามารถให้การสนับสนุน SME ได้ถึง 15 ล้านบาทต่อราย ผ่านสินเชื่อเพื่อการค้าระยะสั้นแบบ B2B ที่ได้รับการพัฒนาให้เหมาะสมสำหรับทุกช่วงวงจรธุรกิจของ SME ไทย”

“จุดเด่นของสินเชื่อเพื่อการค้าแบบระยะสั้นจาก Funding Societies คือการมุ่งตอบโจทย์ความต้องการที่มีความหลากหลายสำหรับลูกค้า SME ที่ต้องการเงินทุนทุกประเภท และนอกจากนี้เรายังให้ความสำคัญเกี่ยวกับขั้นตอนในการทำเรื่องที่มันง่าย ความรวดเร็วในการให้บริการและการอนุมัติสินเชื่อ และที่สำคัญไม่ต้องมาที่สาขาเลย ลูกค้าสามารถทำผ่าน online ในทุก ๆ ขั้นตอน และไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน” นางสาว เอื้ออารีย์ เสริม

สินเชื่อเพื่อการค้าแบบระยะสั้นของ Funding Societies มาในรูปแบบ 5 ผลิตภัณฑ์ ดังนี้

1. สินเชื่อหมุนเวียนจากลูกหนี้การค้า (Invoice Financing) ซึ่ง SME สามารถนำบิลหรือใบแจ้งหนี้มาเปลี่ยนเป็นเงินหมุนเวียนได้

2. สินเชื่อใบสั่งซื้อ (PO Financing) เพื่อจ่ายค่าสินค้าและบริการล่วงหน้าไปยังซัพพลายเออร์

3. สินเชื่อธุรกิจโครงการ (Project Financing) สำหรับผู้รับเหมาจัดซื้อจัดจ้างกับภาครัฐฯและเอกชนในการทำโครงการให้แล้วเสร็จ

4. สินเชื่อระยะสั้น (Business Term Loan) หรือสินเชื่ออเนกประสงค์

5. สินเชื่อกลุ่ม Express สำหรับ SME ขนาดเล็ก

โดยที่ผ่านมา Funding Societies ได้สนับสนุน SME ให้เข้าถึงสินเชื่อเพื่อการค้าระยะสั้นในรูปแบบต่าง ๆ ใน 5 ตลาดหลัก ได้แก่ ไทย สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และเวียดนาม โดย ณ ปัจจุบันได้ให้สินเชื่อไปแล้วกว่า 1.32 แสนล้านบาท (มากกว่า 3.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ) รวมเป็นธุรกรรมมากกว่า 5 ล้านครั้งให้กับธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง (SME) ทั่วทั้งภูมิภาค สำหรับ SME ที่มีความสนใจ สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.fundingsocieties.co.th

SCAP กระแสตอบรับหุ้นกู้ครั้งที่ 2/2567 รวม 3 ชุดดีเยี่ยม ขายครบเต็มวงเงิน 1,500 ลบ. พร้อมดึงกรีนชู ออกขายเพิ่มรองรับดีมานด์นักลงทุน ปิดยอดขายสุทธิ 2,277 ล้านบาท สะท้อนความเชื่อมั่นหุ้นกู้ของบริษัทหลังขายเต็มจำนวนและดึงกรีนชูมาใช้เกือบหมดอีกครั้ง เตรียมนำเงินปล่อยสินเชื่ออย่างมีคุณภาพในช่วงครึ่งปีหลัง สนับสนุนการเติบโตของธุรกิจตามเป้าหมาย

บริษัท ศรีสวัสดิ์ แคปปิตอล 1969 จำกัด (มหาชน) หรือ SCAP เปิดเผยถึง การเสนอขายหุ้นกู้ชุดใหม่ ภายใต้ชื่อ ‘หุ้นกู้ของบริษัท ศรีสวัสดิ์ แคปปิตอล 1969 จำกัด (มหาชน) ครั้งที่ 2/2567’ เมื่อวันที่ 10-12 มิถุนายนที่ผ่านมา รวมทั้งสิ้น 3 ชุด โดยมีอายุตั้งแต่ 2-4 ปี ดอกเบี้ยคงที่ 4.50% ต่อปี, 4.90% ต่อปี และ 5.05% ต่อปี ตามลำดับ ซึ่งได้รับกระแสตอบรับที่ดีเยี่ยมจากนักลงทุนทั่วไป ปิดยอดขายเต็มวงเงินจัดสรร 1,500 ล้านบาท ส่งผลให้บริษัทได้ดำเนินการนำหุ้นกู้ส่วนสำรองออกเสนอขายเพิ่มเติมในวงเงินไม่เกิน 1,000 ล้านบาท ตามความต้องการของนักลงทุน ผลปรากฏมียอดจองซื้อเพิ่ม รวมยอดขายสุทธิราว 2,277 ล้านบาท

สำหรับการเปิดเสนอขายหุ้นกู้ครั้งที่ 2 ของบริษัทในปี 2567 ยังคงได้รับการตอบรับจากนักลงทุนเป็นอย่างดี จากระยะเวลาการลงทุนที่พอเหมาะ ผลตอบแทนที่อยู่ในระดับดี สนับสนุนให้เกิดการจองซื้อเต็มวงเงินจัดสรรและนำหุ้นสำรองเสนอขายเพิ่มเป็นครั้งที่ 2 ในปีนี้ ตอกย้ำความเชื่อมั่นจากนักลงทุนที่มองเห็นความสามารถในการชำระหนี้คืนของบริษัทและศักยภาพของธุรกิจในอุตสาหกรรมการเงิน โดยเฉพาะธุรกิจสินเชื่อรถจักรยานยนต์ใหม่ที่บริษัทสามารถดำเนินงานจนก้าวสู่เบอร์ 1 ของประเทศไทย

ทั้งนี้ บริษัทมุ่งมั่นในการนำเงินที่ระดมทุนได้กว่า 2.2 พันล้านบาท ขยายกิจการด้วยการปล่อยสินเชื่อในช่วงครึ่งปีหลังที่มีความต้องการสูงขึ้นจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่กำลังขยายตัวและเป็นเงินทุนหมุนเวียนสำหรับกิจการ โดยบริษัทมุ่งเน้นการปล่อยสินเชื่อที่มีคุณภาพมากขึ้นตามแนวทางของธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อแก้ปัญหาการก่อหนี้เรื้อรังในภาคประชาชน อีกทั้งบริษัทสามารถควบคุม NPLs ให้อยู่ในระดับเหมาะสมในการดำเนินธุรกิจ เพื่อเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมสินเชื่อรถจักรยานยนต์ต่อไป

Page 1 of 9
X

Right Click

No right click