

กรุงศรี (ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)) จับมือ บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ผู้นำอุตสาหกรรมอาหารทะเลระดับโลก พร้อมด้วย บริษัท ไอ-เทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ผู้นำการผลิตอาหารสัตว์เลี้ยงชั้นนำระดับโลก เปิดตัวโครงการ ESG-Linked Foreign Exchange (FX) นับเป็นความร่วมมือครั้งสำคัญของทั้งสามองค์กรอีกครั้งในการสนับสนุนส่งเสริมด้านความยั่งยืนของประเทศไทย ตอกย้ำให้เห็นถึงความเป็นผู้นำของทั้งสามองค์กรในด้านการเงินเพื่อความยั่งยืน และยังเป็นการบริหารจัดการอัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงินต่างประเทศเพื่อความยั่งยืนที่สอดคล้องและเป็นไปตามมาตรฐานสากล สะท้อนให้เห็นถึงพัฒนาการและความก้าวหน้าของนวัตกรรมด้านการเงินเพื่อความยั่งยืนของประเทศไทยอีกด้วย
โครงการ ESG-Linked FX ได้ผสานเอาหลักการและมิติในด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) เข้ากับการทำธุรกรรมแลกเปลี่ยนสกุลเงินต่างประเทศ โดยเชื่อมโยงเงื่อนไขทางการเงิน อย่างเช่นเรื่องของต้นทุนการประกันความเสี่ยง เข้ากับการบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืน ภายใต้โครงการนี้ ลูกค้าที่ขับเคลื่อนและบรรลุเป้าหมายด้าน ESG ที่กำหนดไว้ อาทิ เป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน หรือการปรับปรุงตัวชี้วัดด้านการพัฒนาสังคม จะได้รับสิทธิประโยชน์ทางการเงิน เช่น ต้นทุนการประกันความเสี่ยงที่ลดลง
ทั้งนี้ ภายใต้โครงการดังกล่าว กรุงศรีได้ผสานตัวชี้วัดด้านความยั่งยืน (Key Performance Indicators: KPIs) และเป้าหมายด้านความยั่งยืน (Sustainability Performance Targets: SPTs) ซึ่งอยู่ภายใต้กรอบการเสนอขายตราสารหนี้ส่งเสริมความยั่งยืนของไทยยูเนี่ยน (Thai Union’s Sustainability-Linked Financing Framework) เข้ากับธุรกรรมป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งทั้ง KPIs และ SPTs จะได้รับการพิจารณาและตรวจสอบโดยหน่วยงานภายนอก เพื่อให้มั่นใจว่าแนวทางและการดำเนินงานดังกล่าวสอดคล้องและเป็นไปตามมาตรฐานสากล โดยการบูรณาการนี้จะช่วยให้การบริหารจัดการความเสี่ยงสกุลเงินต่างประเทศมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยรวมเอาปัจจัยด้านความยั่งยืนเข้าไว้ในกลยุทธ์ทางการเงิน และช่วยลดต้นทุนธุรกรรมแลกเปลี่ยนสกุลเงินต่างประเทศได้อีกด้วย
นายฮิโรทากะ คุโรกิ ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “เรามีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมมือกับ ไทยยูเนี่ยน และ ไอ-เทล ในโครงการ ESG-Linked FX นี้ โดยในฐานะที่กรุงศรีเป็นสถาบันการเงินที่มุ่งมั่นขับเคลื่อนด้านการเงินที่ยั่งยืน เราได้รวบรวมผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้าน ESG Finance และทำงานเชิงรุกอย่างใกล้ชิดกับลูกค้า โดยกรุงศรีเห็นถึงความต้องการผลิตภัณฑ์ทางการเงินความยั่งยืนที่เพิ่มมากขึ้นในตลาด เมื่อช่วงต้นปี 2567 ที่ผ่านมา ธนาคารจึงได้ออก ESG-Linked Derivatives และตามมาด้วยโครงการ ESG-Linked FX ในครั้งนี้ ซึ่งเป็นนวัตกรรมทางการเงินที่ผสานเอาหลักการด้าน ESG เข้าไว้กับการทำธุรกรรมแลกเปลี่ยนสกุลเงินต่างประเทศ เป็นการต่อยอดการบริหารจัดการความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงินต่างประเทศแบบดั้งเดิม เพื่อรวมปัจจัยด้านความยั่งยืนเข้าไว้กับกลยุทธ์ทางการเงิน ซึ่งจะเป็นการช่วยสนับสนุนวัตถุประสงค์ด้านความยั่งยืนของทั้งสององค์กร”
นายประกอบ เพียรเจริญ ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่และวาณิชธนกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ที่ผ่านมา กรุงศรี และ ไทยยูเนี่ยน ประสบความสำเร็จร่วมกันจากความร่วมมือในโครงการ Blue Finance หรือการบริหารจัดการการเงินเพื่อการทำงานด้านการอนุรักษ์ท้องทะเลของไทยยูเนี่ยน โดยเราได้บรรลุเป้าหมายที่สำคัญในภูมิทัศน์ทางการเงินด้านความยั่งยืนของประเทศไทย ทั้งการออกสินเชื่อที่เชื่อมโยงกับการดำเนินงานด้านความยั่งยืน (Sustainability-Linked Loan หรือ SLL) ครั้งแรกของประเทศไทยและญี่ปุ่น เมื่อปี 2564 และในปีเดียวกันนั้น กรุงศรีและไทยยูเนี่ยนยังประสบความสำเร็จในการออกหุ้นกู้ที่เชื่อมโยงกับการดำเนินงานด้านความยั่งยืน (Sustainability-Linked Bond หรือ SLB) เป็นครั้งแรกของประเทศไทย สำหรับความร่วมมือในครั้งนี้ยังคงเป็นการขับเคลื่อนนวัตกรรมด้านความยั่งยืนออกสู่ตลาดในประเทศไทย และชี้ให้เห็นถึงจุดยืนของกรุงศรีในการเป็นผู้นำตลาดด้านการเงินเพื่อความยั่งยืน และเน้นย้ำถึงคำมั่นสัญญาของเราที่จะให้การสนับสนุนลูกค้าสู่การบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืนได้อย่างแท้จริง”
นายยงยุทธ เสฎฐวิวรรธน์ กรรมการผู้จัดการ ฝ่ายการบริหารการเงินกลุ่มและศูนย์บริการร่วมทางการเงิน บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ความยั่งยืนถือเป็นหัวใจสำคัญในการดำเนินธุรกิจของไทยยูเนี่ยนและไอ-เทล เพื่อเป้าหมายการมีสุขภาพที่ดีและท้องทะเลที่อุดมสมบูรณ์ “Healthy Living, Healthy Oceans" ซึ่งขับเคลื่อนภายใต้กลยุทธ์ SeaChange®2030 ที่มุ่งสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกให้กับอุตสาหกรรม ผู้คน และโลก โดยในด้านการเงินไทยยูเนี่ยนมีเป้าหมายจัดหาเงินทุนที่เชื่อมโยงกับการดำเนินงานด้านความยั่งยืนให้ได้ 75 เปอร์เซ็นต์ของการจัดหาเงินทุนระยะยาวภายในปี 2568 เพื่อการทำงานด้านการอนุรักษ์ท้องทะเล ความร่วมมือครั้งนี้สะท้อนถึงความมุ่งมั่นในการทำงานด้านความยั่งยืนอย่างจริงจัง เพื่อเสริมความแข็งแกร่ง เพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน และยกระดับนวัตกรรมทางการเงินเพื่อสร้างสมดุลในด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล”
บริษัท ไอ-เทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ITC รายงานผลการดำเนินธุรกิจประจำไตรมาสที่ 2 ปี 2567 มีรายได้จากยอดขายรวมที่ 4,567 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 41 เปอร์เซ็นต์ และมีกำไรสุทธิอยู่ที่
1,009 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 127 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ผลจากความต้องการสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยงที่เพิ่มขึ้น
การเพิ่มสัดส่วนการขายสินค้าพรีเมียมและการปรับราคา ทำให้ไอ-เทลมีอัตรากำไรขั้นต้นรายไตรมาสสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 30 เปอร์เซ็นต์ สะท้อนให้เห็นถึงการบริหารต้นทุนที่มีประสิทธิภาพและความสามารถในการทำกำไรของบริษัทฯ แม้ต้องเผชิญกับความท้าทายจากความผันผวนของสภาวะเศรษฐกิจและแรงกดดันจากการแข่งขันทั่วโลก
นายพิชิตชัย วงศ์ปิยะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไอ-เทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “เราได้เห็นการฟื้นตัวของตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องในหลายภูมิภาคทั่วโลก อย่างไรก็ตาม แรงกดดันจากสภาวะเศรษฐกิจยังคงส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของไอ-เทล และภาคอุตสาหกรรม แต่เรายังคงคาดหวังการเติบโตของยอดขายที่สูงขึ้นจากการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ของเราในช่วงเวลาหลังจากนี้ ยิ่งไปกว่านั้น บริษัทฯ ยังเดินหน้าตามแผนเชิงกลยุทธ์เพื่อเร่งสร้างการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกและการเติบโตอย่างก้าวกระโดด เพื่อบรรลุเป้าหมายการดำเนินธุรกิจ
ในระยะยาวด้วยยอดขาย 1.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ ภายในปี 2573”
สำหรับผลการดำเนินธุรกิจช่วงครึ่งปีแรกของปี 2567 ไอ-เทล คอร์ปอเรชั่น มีรายได้จากยอดขายรวม 8,596 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 26 เปอร์เซ็นต์ และมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 1,831 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 110 เปอร์เซ็นต์ จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ บริษัทฯ
ได้อนุมัติการจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลที่ 0.40 บาทต่อหุ้น คิดเป็น 66 เปอร์เซ็นต์ของกำไรสุทธิของรอบครึ่งปีแรก ซึ่งจะจ่ายปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นในวันที่ 3 กันยายน 2567 และกำหนดรายชื่อผู้ถือหุ้นที่มีสิทธิได้รับเงินปันผลในวันที่ 20 สิงหาคม 2567 โดยเตรียมขึ้นเครื่องหมาย XD ในวันที่ 19 สิงหาคม 2567
ในช่วงครึ่งปีแรก บริษัทฯ มีสัดส่วนของยอดขายในสหรัฐอเมริกาอยู่ที่ 49 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ทั้งหมด ในขณะที่เอเชียและโอเชียเนียอยู่ที่ 34 เปอร์เซ็นต์และยุโรปอยู่ที่ 17 เปอร์เซ็นต์ โดยสามารถแบ่งสัดส่วนของยอดขายตามประเภทของ
สินค้าหลัก 3 ประเภท ได้แก่ อาหารแมว 70 เปอร์เซ็นต์ อาหารสุนัข 15 เปอร์เซ็นต์ ขนมทานเล่นของสัตว์เลี้ยง 11 เปอร์เซ็นต์ และธุรกิจอื่นราว 2 เปอร์เซ็นต์ โดยบริษัทฯ ได้พัฒนาและออกผลิตภัณฑ์ใหม่กว่า 700 รายการ เพื่อรองรับความต้องการสินค้าที่เพิ่มขึ้น รวมถึงบริษัทฯ ยังคงให้ความสำคัญต่อการเจาะตลาดกลุ่มสินค้าตราห้าง (private label) และกลุ่มธุรกิจ
ค้าปลีกสินค้าเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงในสหรัฐฯ และอีกหลายประเทศในยุโรป
บริษัทฯ ให้ความสำคัญต่อการตอบสนองต่อการเติบโตของเทรนด์ Pet Humanization ในประเทศไทย ผ่านการเปิดตัว
แบรนด์พรีเซนเตอร์ให้กับแบรนด์อาหารสัตว์เลี้ยงของไอ-เทล ได้แก่ ‘เบลลอตต้า’ อาหารแมวสูตรพรีเมียม และอาหารแมวและสุนัขสูตรเป็นมิตรต่อไต ‘เชนจ์เตอร์’ เพื่อตอกย้ำจุดยืนและความสามารถด้านการดำเนินธุรกิจในการส่งมอบผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์เลี้ยงที่มีความโดดเด่นด้วยรสชาติที่อร่อยถูกปากและเต็มเปี่ยมด้วยคุณค่าทางโภชนาการด้วยนวัตกรรมที่ก้าวล้ำจากเทคโนโลยีและกระบวนการผลิตที่เป็นมาตรฐานระดับโลก เพื่อรองรับความต้องการและครองใจบรรดา Pet Parents ในประเทศไทยอีกด้วย
นอกจากนี้ ไอ-เทล คอร์ปอเรชั่น มีผลงานที่โดดเด่นในช่วงครึ่งปีแรก โดยหุ้น ITC ได้รับเลือกจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ให้เป็นหุ้นที่เข้าคำนวณดัชนี SET50 รอบครึ่งปีหลังของปี 2567 สะท้อนให้เห็นถึงพื้นฐานที่ดีและศักยภาพในการบริหารองค์กรและนโยบายด้านการเงินที่เข้มแข็ง การได้รับเลือกครั้งนี้จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นต่อกลุ่มนักลงทุนทั้ง
ในประเทศไทยและต่างประเทศ
ท้ายที่สุดนี้ ในช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ศูนย์วิจัยอาหารแมว i-Cattery ภายใต้การดำเนินงานของบริษัทฯ
ประสบความสำเร็จในการเป็นหน่วยงานเอกชนรายแรกในประเทศไทยและเป็นบริษัทอาหารสัตว์เลี้ยงเพียงรายเดียวของโลกที่ได้รับการรับรองมาตรฐานสากล Association for Assessment and Accreditation of Laboratory Animal Care (AAALAC) International ซึ่งเป็นเครื่องยืนยันว่าระบบปฏิบัติการของศูนย์วิจัยฯ มีความสอดคล้องและเป็นไปตามมาตรฐานสากล และมีการรับผิดชอบต่อสวัสดิภาพที่ดีของสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ที่ถูกต้องตามจรรยาบรรณ ส่งผลให้ข้อมูลและงานวิจัยของศูนย์วิจัยฯ มีคุณภาพและมีความถูกต้อง แม่นยำ และน่าเชื่อถือ
“ผมมั่นใจว่ากลยุทธ์ในการเร่งสร้างการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกด้วยการจัดการองค์กรสู่ความเป็นเลิศควบคู่ไปกับการบริหารต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการนำเสนอนวัตกรรมที่ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจจะสามารถขับเคลื่อนไอ-เทลไปในทิศทางที่ถูกต้อง เพื่อรักษาผลการดำเนินงานให้อยู่ในระดับดีอย่างต่อเนื่องตลอดปี 2567 และสร้างการเติบโตที่มั่นคงและยั่งยืนนับจากนี้” นายพิชิตชัยกล่าวทิ้งท้าย
กุมภาพันธ์ 2567 - บริษัท ไอ-เทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ITC รายงานผลการดำเนินธุรกิจประจำไตรมาสที่ 4 ปี 2566 มีรายได้จากยอดขายรวมที่ 4,748 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 19 เปอร์เซ็นต์ และมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 767 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 19 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า อีกทั้งยังเติบโตเพิ่มขึ้น 13 เปอร์เซ็นต์จากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2565 ผลจากปริมาณการสั่งซื้อสินค้าจากลูกค้าแบรนด์อาหารสัตว์เลี้ยงชั้นนำที่เพิ่มขึ้นในหลายภูมิภาคทั่วโลก ทำให้บริษัทฯ มีรายได้จากยอดขายรวมตลอดทั้งปี 2566 อยู่ที่ 15,577 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 2,281 ล้านบาท โดยเริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวจากภาคอุตสาหกรรมตั้งแต่ช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2566 ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้อนุมัติการจ่ายเงินปันผลครึ่งปีหลังอยู่ที่ 0.35 บาทต่อหุ้น ทำให้เงินปันผลตลอดปีอยู่ที่ 0.60 บาทต่อหุ้น และเสนอจ่ายอัตราเงินปันผลตอบแทนในระดับดีต่อเนื่องอยู่ที่อัตรา 2.8 เปอร์เซ็นต์
นายพิชิตชัย วงศ์ปิยะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไอ-เทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ตลอดทั้งปี 2566 ธุรกิจการผลิตอาหารสัตว์เลี้ยงทั่วโลกต้องเผชิญกับความท้าทาย ซึ่งเป็นผลจากแรงกดดันจากภาคอุตสาหกรรมและการระบายสินค้าคงคลังจากกลุ่มแบรนด์อาหารสัตว์เลี้ยงชั้นนำระดับโลก ปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้การดำเนินธุรกิจของไอ-เทลมีปริมาณคำสั่งซื้อจากลูกค้าลดลงตลอดช่วงครึ่งปีแรก อย่างไรก็ตาม เรามองเห็นสัญญาณการฟื้นตัวจากปริมาณการสั่งซื้อจากลูกค้าที่ค่อยๆ เพิ่มขึ้นตามลำดับตั้งแต่ช่วงไตรมาสที่ 3 ทำให้บริษัทฯ มีรายได้เพิ่มมากขึ้นในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี แต่ยังคงต่ำกว่ายอดขายรวมของปี 2565 ที่สูงกว่าระดับปกติ โดยบริษัทฯ ยังคงมุ่งมั่นสร้างความแข็งแกร่งของธุรกิจที่สอดคล้องกับแนวโน้มการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมอาหารสัตว์เลี้ยง”
“แม้ว่าต้องเผชิญกับอุปสรรคและช่วงเวลาที่ท้าทายในปี 2566 สำหรับไอ-เทล ปัจจัยดังกล่าวที่เข้ามากระทบการดำเนินธุรกิจ ถือเป็นโอกาสสำคัญที่ทำให้เราได้เรียนรู้และมีประสบการณ์ในการปรับตัวได้ดีมากยิ่งขึ้น ด้วยการเร่งสร้างการเปลี่ยนแปลง
เชิงบวก ปรับกระบวนการทำงานและการผลิตให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงการพัฒนาสินค้าและบริการของเราให้สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าทั่วโลกและรองรับการเติบโตอย่างรวดเร็วของเทรนด์อาหารสัตว์เลี้ยงแบบ พรีเมี่ยมและรูปแบบ Humanization ในหลายภูมิภาคทั่วโลก อีกทั้ง บริษัทฯ ยังเดินหน้าศึกษาและพัฒนาเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์กลุ่มเสริมอาหาร (Supplement) สำหรับสัตว์เลี้ยง โดยวางเป้าหมายการเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่สู่ตลาดภายในปี 2568”
ในปี 2566 ที่ผ่านมา ไอ-เทลได้ก่อตั้งบริษัทในเครือภายใต้ชื่อ i-Tail Europe B.V. (ITE) ที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ และ i-Tail Pet Food (Shanghai) Limited Co. (ITS) ที่ประเทศจีน เพื่อเดินหน้ากลยุทธ์ขยายการดำเนินธุรกิจและเร่งสร้างการเติบโตสู่ตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงในทวีปยุโรปและประเทศจีน อีกทั้ง บริษัทฯ ยังประสบความสำเร็จในการเซ็นสัญญาทางธุรกิจร่วมกับลูกค้ารายใหม่ทั่วโลกเพิ่มขึ้นอีก 31 ราย ซึ่งรวมถึงลูกค้าแบรนด์อาหารสัตว์เลี้ยงรายใหญ่ในสหรัฐฯ อีกด้วย ยิ่งไปกว่านั้น บริษัทฯ ยังขยายการดำเนินธุรกิจสินค้า Private Label กับบริษัทผู้ค้าปลีกรายใหญ่ในฝรั่งเศส และมีรายได้จากคำสั่งซื้อสินค้า Private Label จากหนึ่งในบริษัทผู้ค้าปลีกรายใหญ่ที่สุดในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า ในปี 2566
นอกจากนี้ ไอ-เทลยังยกระดับมาตรฐานการดำเนินธุรกิจไปอีกขั้นด้วยการเปิดตัวศูนย์วิจัยอาหารแมว (i-Cattery) ตั้งอยู่ ณ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขต ศาลายา ในช่วงกลางปี 2566 ด้วยความตั้งใจในการเป็นศูนย์กลางสำหรับความร่วมมือด้านการวิจัยร่วมกับภาคการศึกษา ลูกค้า พันธมิตรทางธุรกิจ และภาคส่วนต่างๆ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันและสร้างการยอมรับในเวทีระดับโลกถึงผลิตภัณฑ์อาหารแมวของไอ-เทลที่มีคุณภาพ ปลอดภัย รับรองด้วยมาตรฐานการวิจัยระดับสากล อีกทั้ง บริษัทฯ เดินหน้าเสริมความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจด้วยการสร้างโรงงานแห่งใหม่ในจังหวัดสมุทรสาครตั้งแต่ช่วงปลายปี 2564 ด้วยเป้าหมายการขยายกำลังการผลิตสำหรับผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์เลี้ยงและขนมทานเล่นสำหรับสัตว์เลี้ยงแบบเปียกเพิ่มขึ้นอีก 18.7 เปอร์เซ็นต์ ด้วยระบบการผลิตแบบอัตโนมัติ (Automation) ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จและเริ่มต้นการผลิตภายในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้
ทั้งนี้ ยอดขายของไอ-เทลในปี 2566 มีสัดส่วนของยอดขายตามภูมิภาคดังนี้ สหรัฐอเมริกาอยู่ที่ 50 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ทั้งหมด ในขณะที่เอเชียและโอเชียเนียอยู่ที่ 37 เปอร์เซ็นต์และยุโรปอยู่ที่ 13 เปอร์เซ็นต์ อีกทั้ง สามารถแบ่งสัดส่วนของยอดขายตามประเภทของสินค้าหลัก 3 ประเภท ได้แก่ อาหารแมว 70 เปอร์เซ็นต์ อาหารสุนัข 15 เปอร์เซ็นต์ ขนมทานเล่นของสัตว์เลี้ยง 12 เปอร์เซ็นต์ และธุรกิจอื่นๆ อีก 3 เปอร์เซ็นต์ และได้นำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่และสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยงคุณภาพสูงออกสู่ตลาดมากกว่า 1,300 รายการ
ท้ายที่สุดนี้ ไอ-เทล ยังคงมุ่งมั่นการดำเนินธุรกิจที่ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาความยั่งยืนที่สอดคล้องกับกลยุทธ์ SeaChange® 2030 โดยภายในปี 2573 บริษัทฯ ตั้งเป้าหมายการจัดซื้อวัตถุดิบในกลุ่มของเนื้อไก่ทั้งหมดจากแหล่งผลิตที่มีความรับผิดชอบ รวมถึงวัตถุดิบในกลุ่มถั่วเหลืองและน้ำมันถั่วเหลืองทั้งหมดต้องมาจากกระบวนการผลิตที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำลายป่าไม้อีกด้วย
“ในปี 2566 แม้ว่าไอ-เทลจะสามารถก้าวผ่านอุปสรรคต่างๆ มาได้ แต่เรายังคงไม่หยุดยั้งการพัฒนาความสามารถและความเชี่ยวชาญของเราในการเป็นผู้นำในธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงชั้นนำระดับโลก และยังคงดำเนินธุรกิจตามเป้าหมายการรักษาอัตราการเติบโตเฉลี่ยของยอดขายรวมที่ 15 เปอร์เซ็นต์ต่อปี ระหว่างปี 2566 ถึง 2568 รวมถึงการเป็นกำลังสำคัญเพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอาหารสัตว์เลี้ยงไปสู่การเติบโตอย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต” นายพิชิตชัยกล่าวทิ้งท้าย
บริษัท ไอ-เทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ITC บริษัทแฟล็กชิพของบริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TU ด้านผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์เลี้ยงระดับโลก ได้ยื่นแบบแสดงรายการข้อมูล (ไฟลิ่ง) ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. สำหรับการเสนอขายหุ้นสามัญจำนวนไม่เกิน 660 ล้านหุ้น คิดเป็นไม่เกิน 22% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทฯ ภายหลังการออกและเสนอขายหุ้นสามัญต่อประชาชนทั่วไปในครั้งนี้ ประกอบด้วย การเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวนไม่เกิน 600 ล้านหุ้น และหุ้นสามัญเดิมที่เสนอขายโดยไทยยูเนี่ยนจำนวนไม่เกิน 60 ล้านหุ้น และจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) โดยได้แต่งตั้งบริษัทหลักทรัพย์ ฟินันเซีย ไซรัส จำกัด (มหาชน) เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน
ไอ-เทล เป็นผู้ผลิตและส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงรายใหญ่ และเป็นผู้นำธุรกิจ OEM ในการผลิตอาหารแมวและสุนัขของประเทศไทย รวมถึงเป็นผู้ผลิตอาหารสัตว์เลี้ยง อันดับ 2 ในเอเชีย และเป็นหนึ่งใน 10 อันดับแรก ของผู้ผลิตอาหารสัตว์เลี้ยงของโลก โดยที่กลุ่มไทยยูเนี่ยนได้เริ่มดำเนินธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงในปี 2520 และต่อมาได้มีการปรับโครงสร้างให้ ITC เป็นบริษัทแกนนำในการประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์เลี้ยง ในปี 2564 เพื่อเพิ่มศักยภาพการขยายธุรกิจจากปัจจุบันที่มีพอร์ตฟอลิโออาหารสัตว์เลี้ยงระดับพรีเมี่ยมกว่า 4,600 รายการ ซึ่งจัดจำหน่ายใน 45 ประเทศทั่วโลก ครอบคลุมทั้งธุรกิจการผลิตอาหารสัตว์เลี้ยงให้กับแบรนด์อาหารสัตว์เลี้ยงชั้นนำระดับโลก รวมถึงอาหารสัตว์เลี้ยงภายใต้แบรนด์ของ ไอ-เทล ได้แก่ Bellotta, Marvo, ChangeTer, Calico Bay และ Paramount
สำหรับวัตถุประสงค์ของการระดมทุนในครั้งนี้ ประกอบด้วย 1.ใช้เป็นเงินลงทุนในการขยายกำลังการผลิตปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต และขยายโครงสร้างพื้นฐานสนับสนุนการผลิต รวมไปถึงการปรับปรุงโรงงานให้ทันสมัยด้วยระบบและเครื่องจักรอัตโนมัติ และระบบคลังสินค้าและติดฉลากอัตโนมัติ (Automated Warehousing and Labelling System) 2.ใช้ในการขยายธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ 3.เพื่อใช้ชำระหนี้เพื่อลดภาระต้นทุนทางการเงิน 4.เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจ
ทั้งนี้ หุ้นสามัญที่จะเสนอขายต่อประชาชนเป็นครั้งแรก หรือ IPO จำนวนไม่เกิน 660 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1 บาท คิดเป็น 22% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทภายหลังการเสนอขายหุ้นในครั้งนี้ โดยจะจัดสรรหุ้นสามัญจำนวนไม่เกิน 132 ล้านหุ้น เพื่อเสนอขายให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมของ บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TU เฉพาะกลุ่มที่มีสิทธิได้รับการจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนตามสัดส่วนการถือหุ้นใน TU เพื่อรักษาสิทธิ (Pre-emptive Rights) ทั้งนี้ ไอ-เทล มีนโยบายจ่ายเงินปันผลไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของกำไรสุทธิ
ปัจจุบัน ไอ-เทล มีทุนจดทะเบียน 3,000 ล้านบาท เป็นทุนชำระแล้ว 2,400 ล้านบาท โดยมีไทยยูเนี่ยนเป็นผู้ถือหุ้นหลักในสัดส่วน 99.78% และจะปรับลดสัดส่วนเหลือ 77.82% หลังการเสนอขายหุ้นไอพีโอ ทั้งนี้ภายหลังการเสนอขายหุ้น IPO ของ ไอ-เทล ไทยยูเนี่ยนจะยังคงเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่และพร้อมสนับสนุน ไอ-เทล ในสถานะเป็นบริษัทย่อยของกลุ่มไทยยูเนี่ยนเช่นเดิม
ทั้งนี้ ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ไอ-เทล สามารถสร้างการเติบโตด้านยอดขายอย่างต่อเนื่องเฉลี่ยปีละ 15% จาก 10,955 ล้านบาทในปี 2562 เป็น 14,529 ล้านบาทเมื่อปีที่ผ่านมา ซึ่งสูงกว่าอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปี (CAGR) ของตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงทั่วโลกที่อยู่ที่ 5.8%* ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (ปี 2559-2564) โดยมีผลกำไรสุทธิเติบโตขึ้นจาก 1,695 ล้านบาท ในปี 2562 เป็น 2,721 ล้านบาท ในปี 2564 หรือเฉลี่ยปีละ 27%
*ที่มา: Frost & Sullivan
หมายเหตุ: เอกสารเผยแพร่นี้มิได้เป็นการเสนอขายหลักทรัพย์ในประเทศสหรัฐอเมริกาหรือประเทศอื่น ๆ หลักทรัพย์ที่กล่าวถึงในเอกสารนี้ไม่ได้จดทะเบียนตามกฏหมายหลักทรัพย์ของประเทศสหรัฐอเมริกา ค.ศ. 1933 (U.S. Securities Act of 1933) รวมทั้งฉบับที่มีการแก้ไขเพิ่มเติม และไม่อาจเสนอขายหรือขายในประเทศสหรัฐอเมริกา เว้นเเต่จะได้จดทะเบียนตามกฎหมายหลักทรัพย์ประเทศสหรัฐอเมริกาแล้ว หรือการเสนอขายหรือการขายหลักทรัพย์ดังกล่าวได้รับยกเว้นการจดทะเบียนตามกฎหมายหลักทรัพย์ของประเทศสหรัฐอเมริกา ทั้งนี้จะไม่มีการเสนอขายหลักทรัพย์ที่กล่าวถึงในเอกสารนี้ต่อประชาชนเป็นการทั่วไปในประเทศสหรฐัอเมริกา เอกสารฉบับนี้จะไม่ถูกเผยแพร่และไม่ควรเผยแพร่หรือส่งไปยังประเทศสหรฐัอเมริกา แคนาดา ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย