November 22, 2024

การศึกษาล่าสุดโดยบริษัท ดีลอยท์ คอนซัลติ้ง จำกัด (ดีลอยท์) ชี้ถึงโอกาสในการแก้ปัญหาหนี้เสียอย่างมีประสิทธิภาพ เน้นชูมาตรการด้านภาษี และผ่อนปรนข้อจำกัดในการลงทุนเพื่อให้นักลงทุนสถาบันในกลุ่มใหม่ เช่น บริษัทประกันภัย และกองทุนประกันสังคม รวมถึงบริษัทบริหารกองทุน เช่น Private Equity Firms และ Hedge Funds เข้ามามีส่วมร่วมในการจัดการหนี้เสียที่เพิ่มขึ้น

จากการศึกษา พบว่าประเทศไทยได้มีการพัฒนากลยุทธ์และแนวทางการบริหารหนี้เสียอย่างเคร่งครัด ในช่วง ปี พ.ศ. 2540 เพื่อรับมือกับเหตุการณ์วิกฤตการณ์ทางการเงิน อย่างไรก็ดี กลยุทธ์และความสามารถใหม่ ๆ ในการจัดการหนี้เสียไม่ได้มีการพัฒนาอย่างมีนัยสําคัญในช่วงสามทศวรรษที่ผ่านมา และวันนี้ประเทศไทยกําลังเผชิญกับปัญหาหนี้เสียที่เพิ่มขึ้นอีกครั้ง

 

ดร.เมธินี จงสฤษดิ์หวัง กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ดีลอยท์ คอนซัลติ้ง จำกัด กล่าวว่า “แนวทางสำคัญในการแก้ไขปัญหาหนี้เสียในประเทศไทย จากการวิเคราะห์กรณีศึกษาในต่างประเทศ ชี้ถึงการมีแนวทางการกำกับดูแลที่ชัดเจน และมีมาตรการทางธุรกิจที่จูงใจ อาทิ มาตรการทางภาษี เพื่อดึงดูดกลุ่มนักลงทุนสถาบันหรือผู้จัดการหนี้เสียที่มีความหลากหลายและในวงกว้างขึ้น เช่น บริษัทผู้บริหารกองทุน Private Equity, กองทุนรวมเพื่อความเสี่ยง (Hedge Funds), และ ผู้จัดการกองทุนประเภท General Partners (GPs) เป็นต้น กลุ่มนักลงทุนเหล่านี้สามารถนําความรู้และความสามารถในการปรับโครงสร้างหนี้และการฟื้นฟูกิจการสู่ตลาดทุนประเทศไทย เพื่อช่วยให้บริษัทที่มีภาวะตึงเครียดทางการเงินมีทางเลือกในการจัดการหนี้แบบครบวงจร เช่น โอกาสในการร่วมงานกับนักลงทุนสถาบันหรือผู้จัดการหนี้เสียเพื่อฟื้นฟูกิจการจากการล้มละลาย อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมการแลกเปลี่ยนความรู้และแนวปฏิบัติที่ดีที่สุดให้แก่บุคลากรท้องถิ่น

หากเทียบกับตลาดชั้นนำในต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา นั้น แนวทางและหลักการเรื่องของการปรับโครงสร้างหนี้และการฟื้นฟูกิจการเป็นรากฐานสำคัญที่ปลูกฝังอยู่ในระบบนิเวศตลาดทุนของเขา บริษัทในสหรัฐฯ มีโอกาสทํางานร่วมกับกลุ่มนักลงทุนเพื่อให้บริษัทของพวกเขามีโอกาสครั้งที่สอง เรามักจะไม่ได้เห็นสถานการณ์ลักษณะนี้กับบริษัทในประเทศไทย เนื่องจากข้อจำกัดในขีดความสามารถในการฟื้นฟูกิจการ

เคนเนท เทย์ หุ้นส่วน บริษัท ดีลอยท์ คอนซัลติ้ง จำกัด กล่าวว่า “การศึกษายังมองถึงแนวทางการเพิ่มสภาพคล่องของตลาด (Market Liquidity) โดยการทบทวนกฎระเบียบและพิจารณาผ่อนปรนข้อจำกัดในการลงทุนสำหรับผู้ลงทุนสถาบันประเภทต่างๆ เช่น บริษัทประกันภัย กองทุนประกันสังคม กองทุนบําเหน็จบํานาญ และ/หรือสํานักงานครอบครัว (Family Offices) เพื่อตอบโจทย์ปัญหาหนีเสียที่เพิ่มขึ้น อีกทั้งยังเป็นปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย อย่างไรก็ดี ยังคงต้องอยู่ภายใต้การกำกับดูแลที่เหมาะสม”

“ตลาดหนี้เสียในประเทศไทยทุกวันนี้มีลักษณะที่เน้น บริษัทบริหารสินทรัพย์ (Asset Management Companies) เป็นศูนย์กลาง ซึ่งในระบบนิเวศที่แข็งแกร่งและยั่งยืนนั้น เราต้องการให้มีผู้เล่นที่หลากหลายเข้ามามีส่วนร่วมในตลาดทุน เพื่อให้เกิดกระบวนการค้นหาราคาที่เหมาะสม (Price discovery) ของสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ เสริมสร้างความสามารถให้เพียงพอในการจัดการกับหนี้ที่เพิ่มขึ้น และมีนวัตกรรมอย่างต่อเนื่องในการแก้ไขหนี้" นิลภา บูชาสุข ผู้จัดการอาวุโส บริษัท ดีลอยท์ คอนซัลติ้ง จำกัด กล่าว

"เราทราบดีว่าปริมาณหนี้เสียในประเทศไทยมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หากเราต้องการจัดการกับหนี้เหล่านี้อย่างเหมาะสม เราจะต้องปรับปรุงระบบนิเวศของเราให้ทันสมัย ดึงดูดเงินลงทุนที่เพียงพอ และดึงดูดบุคลากรผู้มีความสามารถทางการเงินเพื่อสามารถจัดการวิกฤตการณ์ทางการเงินที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ" ดร.เมธินี กล่าว

ดีลอยท์ ประเทศไทย เผยผลสำรวจการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลของประเทศไทย ประจำปี 2566 ซึ่งเป็นการศึกษาเพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับมุมมองและแนวโน้มการใช้งานดิจิทัลขององค์กรธุรกิจต่างๆ ในประเทศไทย 

การสํารวจการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลในประเทศไทย (Thailand Digital Transformation Survey) เป็นการสำรวจที่ดีลอยท์ประเทศไทย ให้ความสำคัญและทำการศึกษาอย่างต่อเนื่องติดต่อกันเป็นปีที่สี่ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาทัศนคติขององค์กรต่อการปรับตัวสู่ดิจิทัล (Digital transformation) ผลการสำรวจดังกล่าวสะท้อนแนวคิดและมุมมองของผู้บริหารระดับสูง (C-suite) และพนักงานระดับอื่นๆ ในห้ากลุ่มอุตสาหกรรม ได้แก่ อุตสาหกรรมผู้บริโภค (Consumer) กลุ่มทรัพยากรพลังงานและอุตสาหกรรม (Energy Resources and & Industrials: ER&I) บริการการเงิน (Financial Services) ชีววิทยาศาสตร์และสุขภาพ (Life Science & Healthcare) และเทคโนโลยี สื่อ และ โทรคมนาคม (Technology, Media and Telecommunications: TMT) ผลการสำรวจในปีนี้สะท้อนถึงพัฒนาการของการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลภายใต้ 3 หัวข้อหลัก ดังนี้

1. การสำรวจยุคของดิจิทัล ดิสรัปชั่น

2. การปลดล็อกความสำเร็จในการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล

3. ภาพรวมอุตสาหกรรม

 

ตลอดช่วงเวลาในปี 2564-2566 ทัศนคติต่อผลกระทบของ ดิจิทัล ดิสรัปชั่น ส่วนใหญ่ยังคงอยู่ในระดับปานกลาง โดยธุรกิจสามารถแบ่งออกเป็นสองประเภทกว้าง ๆ ตามการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการดำเนินงาน ได้แก่

· ธุรกิจที่ใช้เทคโนโลยีเป็นหลักในการดำเนินงาน: ธุรกิจเหล่านี้มีการดำเนินงานโดยใช้เทคโนโลยีเป็นหลัก มองว่าได้รับผลกระทบจาก ดิจิทัล ดิสรัปชัน น้อยกว่า เนื่องจากการดําเนินงานของธุรกิจเหล่านี้จําเป็นต้องติดตามและปรับตัวต่อการเปลี่ยนของนวัตกรรมดิจิทัลเป็นปกติอยู่เสมอ

· ธุรกิจแบบดั้งเดิม หรือไม่ได้ใช้เทคโนโลยีเป็นหลัก: ธุรกิจเหล่านี้มักจะนําเทคโนโลยีมาใช้อย่างจํากัด โดยอาศัยเทคโนโลยีดิจิทัลการปรับปรุงกลไกภายในองค์กรเพื่อให้สามารถรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันในภาคธุรกิจได้

เมื่อพิจารณาในเชิงการวิเคราะห์การนำเทคโนโลยีดิจิทัลในแต่ละปี พบว่า ข้อมูลแต่ละปีแตกต่างกัน ในช่วงปี 2564-2566จากรายงานการสำรวจ ปี 2564 พบว่า องค์กรมีการปรับตัวสู่ดิจิทัลอย่างรวดเร็วในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในระยะแรก อย่างไรก็ตาม การขาดประสบการณ์และการดำเนินการปรับตัวสู่ดิจิทัลอย่างรวดเร็วนี้ทำให้ผลลัพธ์ไม่ได้เป็นไปตามที่คาดหวังในหลายธุรกิจ จากประสบการณ์ที่ได้เรียนรู้ในปีที่ผ่านมาทำให้ร้อยละ 43 ของบริษัทยังคงอยู่ในระยะ "Doing Digital" เนื่องจากพวกเขาได้ปรับตัวเชิงกลยุทธ์และเลือกใช้แนวทางที่เหมาะกับองค์กรของตนมากขึ้น ส่งผลให้การปรับตัวสู่ดิจิทัลประสบความสำเร็จมากยิ่งขึ้นในปี 2565-2566 จากการสั่งสมประสบการณ์และการเลือกใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมมากขึ้น

เมื่อพิจารณาข้อมูลเชิงลึกในด้านธุรกิจ ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ใช้แอปพลิเคชันบนโทรศัพท์มือถือและเว็บไซต์ในการสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้า โดยแอปพลิเคชันแชทและระบบส่งข้อความ (Instant Messaging) เป็นเครื่องมือการสื่อสารที่ได้รับความนิยม กลุ่มผู้ค้ามีแนวโน้มที่จะปรับโมเดลธุรกิจและเสริมทักษะในการเข้าใจลูกค้า ในขณะที่กลุ่มผู้ให้บริการ เน้นวิธีการให้บริการที่เน้นลูกค้าเป็นศูนย์กลาง ความปลอดภัยด้านไซเบอร์ และการพัฒนาระบบนิเวศทางดิจิทัล

เมื่อพิจารณาการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในอุตสาหกรรม ธุรกิจที่ใช้เทคโนโลยีเป็นหลัก โดยเฉพาะในกลุ่มเทคโนโลยี สื่อและโทรคมนาคม (TMT) และกลุ่มผู้บริโภคที่ต้องแข่งขันเพื่อส่วนแบ่งในตลาด ประสบความสำเร็จในการปรับตัวสู่ดิจิทัลได้ดีกว่าอุตสาหกรรมอื่นๆ เมื่อเปรียบเทียบระหว่างปี 2565 และ 2566 พบว่า องค์กรมีความสนใจที่จะลงทุนในเทคโนโลยีเป็นจำนวนมากขึ้น โดยเฉพาะเทคโนโลยีการวิเคราะห์ข้อมูล

ดร. นเรนทร์ ชุติจิรวงศ์ ผู้อำนวยการบริหาร Clients & Markets ดีลอยท์ ประเทศไทย กล่าวว่า “เมื่อองค์กรมีขนาดใหญ่ขึ้น องค์กรมักจะใช้เทคโนโลยีที่หลากหลายมากขึ้น โดยส่วนใหญ่เนื่องจากองค์กรขนาดใหญ่มีงบประมาณและความซับซ้อนในการบริหารจัดการภายในองค์กรสูงกว่าองค์กรขนาดเล็ก อย่างไรก็ตาม ทุกองค์กร ไม่ว่าจะเป็นองค์กรขนาดเล็กหรือใหญ่ มีการนำเทคโนโลยีด้านการวิเคราะห์ข้อมูลเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ”

การลดต้นทุนและเพิ่มผลิตภาพ เป็นผลสำเร็จสองอันดับแรกในการปรับองค์กรสู่ดิจิทัล อย่างไรก็ตาม กลุ่มผู้บริหารระดับสูงและพนักงานในระดับอื่นๆ มีมุมมองที่ต่างกันผลสำเร็จอันดับที่สาม โดยกลุ่มผู้บริหารระดับสูง มองว่า ความเสี่ยงในด้านการดำเนินการที่ลดลง เป็นอันดับที่สาม ในขณะที่พนักงานในระดับอื่นๆ มองว่าเป็นการยกระดับประสบการณ์ของลูกค้า เนื่องจากพวกเขาอาจมีปฏิสัมพันธ์กับลูกค้าได้อย่างใกล้ชิดมากกว่า

เมื่อพิจาณาในส่วนความท้าทาย ร้อยละ 60 ของผู้ตอบแบบสอบถามมองว่าความสามารถของบุคลากรยังเป็นความท้าทายอันดับแรก โดยมีประเด็นด้านงบประมาณและทรัพยากรที่ไม่เพียงพอ และวัฒนธรรมองค์กรแบบดิจิทัลที่ยังพัฒนาไม่เต็มที่ เป็นความท้าทายในอันดับรองลงมา ที่ร้อยละ 57 และ 47 ตามลำดับ ผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำภายหลังการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้เกิดข้อจำกัดในการจัดสรรงบประมาณเพื่อใช้ดำเนินการปรับองค์กรสู่ดิจิทัล ทั้งนี้ มีแนวโน้มที่จะนำโซลูชั่นมาใช้ในอนาคต เช่น การเปิดใช้ระบบไอทีผ่านแพลตฟอร์มในคลาวด์ ที่ให้บริการโดยหน่วยงานภายนอกเพื่อช่วยลดต้นทุน นอกจากนี้ การบังคับใช้พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ยังเป็นความท้าทายอีกประเด็นหนึ่ง เนื่องจากมีความกังวลเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัวของข้อมูลอีกด้วย

 

โกบินทร์ รัตติวรากร ผู้อำนวยการบริหาร ดีลอย์ คอนซัลติ้ง กล่าวว่า “ผลสำรวจแสดงให้เห็นว่าองค์กรที่มีความก้าวหน้าในดำเนินการปรับตัวสู่ดิจิทัล สามารถจัดการกับความท้าทายในด้านทรัพยากรได้ดีขึ้น พวกเขาจึงมุ่งให้ความสนใจกับการจัดการความท้าทายเกี่ยวข้องกับความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยของข้อมูล”

การปรับองค์กรสู่ดิจิทัล นับเป็นกระบวนการที่ยังคงเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้ภาคธุรกิจจำต้องเปิดรับนวัตกรรมใหม่ๆ และปรับตัวให้เท่าทันกับเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ช่วงเวลานี้จึงเป็นเวลาเหมาะสมที่องค์กรต่างๆ จะเปิดรับโอกาสใหม่ๆ เพื่อเปิดทางไปสู่อนาคตที่ดีต่อธุรกิจมากยิ่งขึ้น และการปรับองค์กรสู่ดิจิทัลเป็นจุดเชื่อมโยงที่สำคัญ ระหว่างธุรกิจในปัจจุบันและธุรกิจแห่งอนาคต

 

ดีลอยท์ ประเทศไทย เผยผลสำรวจ Global 2023 Gen Z and Millennial Survey ซึ่งเป็นผลการศึกษา สะท้อนมุมมองของเจนซี และมิลเลนเนียลในประเทศไทยที่มีต่อเศรษฐกิจ สังคม และ สิ่งแวดล้อม

เมื่อเปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยในปีเดียวกันของคนในเจเนอเรชั่นเดียวกันทั่วโลก Deloitte Global 2023 Gen Z and Millennial Survey จัดทำขึ้นโดยดีลอยท์ ต่อเนื่องกันมาเป็นปีที่ 12 ทำการสำรวจมุมมองแนวคิดเชิงลึกของคนในเจนซี และมิลเลนเนียล มากกว่า 22,000 คนจาก 44 ประเทศทั่วโลก มีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะติดตามความเปลี่ยนแปลงด้านแนวคิดและมุมมองต่าง ๆ ของกลุ่มเจนซีและมิลเลนเนียลที่เป็นกำลังสำคัญในตลาดแรงงานทั่วโลก ในผลสำรวจฉบับนี้ เจนซีหมายถึง ผู้ที่มีอายุ 19-28 ปี และมิลเลนเนียลหมายถึงผู้ที่มีอายุระหว่าง 29-40 ปี สำหรับประเทศไทยนั้น ดีลอยท์ได้ทำการสำรวจเจนซี 200 คน และมิลเลนเนียล 100 คน ในประเทศไทย โดยพบว่าผลการสำรวจสะท้อนมุมมองเชิงลึกคนในเจเนอเรชั่นดังกล่าวที่มีต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ดังต่อไปนี้

ด้านเศรษฐกิจ

จากผลสำรวจพบว่า คนในเจนซีและมิลเลนเนียลในประเทศไทยพึงพอใจกับการสร้างสมดุลให้ชีวิตและการทำงาน (Work/life Balance) และความหลากหลาย ความเสมอภาคและการมีส่วนร่วม (Diversity, Equity and Inclusion : DEI) สูงกว่าคนในเจเนอเรชั่นเดียวกันทั่วโลก โดยร้อยละ 51 และร้อยละ 41 ของเจนซี และมิลเลนเนียล พอใจมากกับการสร้างสมดุลให้ชีวิตและการทำงาน (Work/life Balance) สูงกว่าคนในวัยเดียวกันทั่วโลกที่ร้อยละ 34 และร้อยละ 31 ของคนในเจนซีและมิลเลนเนียลทั่วโลกตามลำดับ และร้อยละ 45 ของเจนซี และร้อยละ 24 ของมิลเลนเนียลในไทยพอใจกับการที่องค์กรให้ความสำคัญกับเรื่องความหลากหลาย ความเสมอภาคและการมีส่วนร่วม (Diversity, Equity, and Inclusion) สูงกว่าคนในช่วงวัยเดียวกันทั่วโลกที่ร้อยละ 33 และร้อยละ 28 ตามลำดับเช่นกัน

ประเด็นที่คนไทยรุ่นใหม่ทั้งสองเจเนอเรชั่นกังวลมากที่สุด 3 ลำดับแรก ได้แก่ 1) ค่าครองชีพสูง 2) การว่างงาน และ 3) ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ซึ่งนำไปสู่ความกังวลในการบริหารจัดการเงินส่วนบุคคล โดยเจนซี ร้อยละ 67 และมิลเลนเนียล ร้อยละ 62 บอกว่ามีการบริหารจัดการเงินแบบเดือนชนเดือน ซึ่งเป็นจำนวนที่สูงกว่าคนในเจเนอเรชั่นเดียวกันทั่วโลกที่ร้อยละ 51 และร้อยละ 52 ตามลำดับ

จากข้อกังวลดังกล่าวข้างต้น ส่งผลให้เจนซีและมิลเลนเนียลในประเทศไทย ร้อยละ 66 และมิลเลนเนียล ร้อยละ 71 ตามลำดับ ต้องทำงานเสริมเพื่อให้มีแหล่งรายได้ที่สอง โดยเจนซีนิยมทำงานเป็นกะ เช่น การเป็นพนักงานส่งอาหาร และการเป็น Social Media Influencer และContent Creator มากที่สุด ในขณะที่กลุ่มมิลเลนเนียลส่วนใหญ่นิยมขายสินค้าและบริการผ่านช่องทางออนไลน์

แม้ว่าจะต้องเผชิญกับแรงกดดันทางเศรษฐกิจ ร้อยละ 86 ของเจนซี และ ร้อยละ 65 ของมิลเลนเนียลในไทย มีแนวโน้มจะเปลี่ยนงานใหม่ หากบริษัทผู้ว่าจ้างต้องการให้พนักงานกลับไปทำงานเต็มเวลาที่ออฟฟิศ และเกือบร้อย 70 ของทั้งคนไทยรุ่นใหม่ทั้งสองเจเนอเรชั่น มีแนวโน้มที่จะขอให้บริษัทมีนโยบายการทำงานที่ยืดหยุ่น ที่มุ่งส่งเสริมแนวคิดการสร้างสมดุลให้ชีวิตและการทำงาน (Work/life Balance) ครอบคลุม 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1) มีทางเลือกในการทำงานร่วมกันได้มากขึ้น 2) ควรหาวิธีทำให้พนักงานพาร์ทไทม์ (part-time) มีโอกาสที่จะก้าวหน้าในอาชีพ และ 3) เปลี่ยนรูปแบบการทำงานเป็นทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ เป็นต้น

ทั้งนี้รูปแบบการทำงานที่ไม่สามารถสร้างสมดุลให้กับชีวิตส่วนตัวและการทำงานนั้นยังเป็นสิ่งที่เจนซีและมิลเลนเนียลในไทยกังวลอย่างมาก จากผลสำรวจ ร้อยละ 40 ของมิลเลนเนียล ต้องตอบข้อความ หรืออีเมลล์นอกเวลางานทุกวัน ในขณะที่ร้อยละ 32 ของเจนซีต้องตอบข้อความหรืออีเมลล์ 3-4 ครั้งต่อสัปดาห์ ส่งผลให้คนในทั้งสองเจเนอเรชั่นเกิดความเครียดจากการทำงานหนัก และร้อยละ 72 ของเจนซีและร้อยละ 63 ของมิลเลนเนียลรู้สึกเบื่อ อยู่ในภาวะหมดไฟในการทำงาน (Burnout) จากปริมาณงานและความต้องการด้านอื่น ๆ นอกจากนั้นยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่ส่งผลให้เกิดความเครียดมากยิ่งขึ้น 3 อันดับแรก ได้แก่ 1) การเงินในอนาคต 2) การเงินในชีวิตประจำวัน และ3) สุขภาพและความเป็นอยู่ของครอบครัว ทำให้มากกว่าร้อยละ 90 ของทั้งเจนซีและมิลเลนเนียลในประเทศไทย สนใจร่วมงานกับองค์กรที่มีนโยบายใส่ใจและส่งเสริมสุขภาพจิตที่ดีของพนักงาน ซึ่งสูงกว่าคนในช่วงวัยเดียวกันทั่วโลกอย่างมีนัยสำคัญที่มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 80

ด้านสังคม

เมื่อเปรียบเทียบข้อมูลด้านความพึงพอใจของทั้งเจนซี และมิลเลนเนียล กับบทบาทขององค์กรต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคม จากผลการสำรวจ พบว่าความพึงพอใจของคนทั้งสองกลุ่มมีแนวโน้มที่ลดลงในระยะเวลาสามปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2021-2023 โดยคนไทยรุ่นใหม่สองกลุ่มนี้ มองว่า นักการเมือง กลุ่มนักเคลื่อนไหวทางสังคม และผู้สื่อข่าว มีบทบาทสำคัญในการชี้นำประเด็นทางสังคมมากกว่านักแสดง ผู้นำทางศาสนา หรือนักกีฬา

ร้อยละ 82 ของเจนซี และ ร้อยละ 85 ของมิลเลนเนียลในไทย เชื่อว่าตัวเองมีพลังในการขับเคลื่อนความเปลี่ยนแปลง ซึ่งสูงกว่าคนในช่วงวัยเดียวกันทั่วโลกที่ร้อยละ 58 และ ร้อยละ 55 ตามลำดับ โดยร้อยละ 75 ของเจนซีและร้อยละ 52 ของมิลเลนเนียลปฏิเสธที่จะทำงานที่ได้รับมอบหมาย หากงานนั้นขัดกับความเชื่อและจริยธรรมส่วนบุคคล และร้อยละ 63 ของเจนซี และร้อยละ 52 ของมิลเลนเนียลปฏิเสธการร่วมงานกับองค์กรที่มีแนวคิดขัดกับความเชื่อและจริยธรรมส่วนบุคคล ซึ่งเป็นสัดส่วนที่สูงที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ทั้งนี้สิ่งที่คนไทยทั้งสองเจเนอเรชั่น ถือเป็นความภาคภูมิใจในการบอกอัตลักษณ์ความเป็นตัวตน 3 อันดับแรก ได้แก่ 1) งานหลัก 2) เพื่อนและครอบครัว และ 3) งานเสริม นอกจากนี้สิ่งที่คนไทยทั้งสองเจเนอเรชั่นให้คุณค่าในการชื่นชมความสำเร็จของผู้อื่น 3 อันดับแรก ได้แก่ 1) การใช้ชีวิตตามแนวทางของตัวเองโดยไม่ขึ้นหรืออิงกับความคาดหวังของสังคม 2) ความสามารถในการสร้างสมดุลให้กับชีวิตและการทำงาน และ 3) ความกระตือรือร้นในการเรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ

ด้านสิ่งแวดล้อม

เมื่อถามถึงความรู้สึกต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ในช่วงหนึ่งเดือนที่ผ่านมา ร้อยละ 78 ของเจนซี และ 81 ของมิลเลนเนียล กล่าวว่ารู้สึกกังวลกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ โดยร้อยละ 80 ของเจนซีและ 83 ของมิลเลนเนียลยอมจ่ายเงินเพื่อซื้อสินค้าและบริการที่ส่งเสริมความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม ซึ่งทั้ง 2 คำตอบของคนไทยสูงกว่าคนในเจเนอเรชั่นเดียวกันทั่วโลกที่ประมาณร้อยละ 60 นอกจากนี้ร้อยละ 30 ของคนไทยทั้ง 2 เจเนอเรชั่น เชื่อว่าบริษัทขนาดใหญ่มีการดำเนินการปกป้องสิ่งแวดล้อม ซึ่งสูงกว่าคนในเจเนอเรชั่นเดียวกันทั่วโลก ที่ประมาณร้อยละ 18

คนไทยรุ่นใหม่มองว่าสิ่งที่สามารถลงมือทำด้วยตนเองเพื่อช่วยลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อม คือการลดการใช้สินค้าฟาสต์แฟชั่น (Fast Fashion) เป็นอันดับแรก และสิ่งที่คนไทยรุ่นใหม่ตั้งใจจะลงมือทำในอนาคตเพื่อช่วยลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ได้แก่ 1) ปรับปรุงบ้านให้ประหยัดพลังงาน และ 2) เปลี่ยนมารับประทานมังสวิรัติหรือวีแกน (Vegan)

นอกจากนี้คนไทยรุ่นใหม่ทั้ง 2 เจเนอเรชั่นยังมีข้อเสนอแนะว่าองค์กรควรที่จะลงทุนเพิ่มเพื่อจัดการกับความท้าทายในด้านเปลี่ยนแปลงด้านสภาพอากาศ 3 อันดับแรก ได้แก่ 1) การส่งเสริมให้ชุมชนโดยรอบอาคารสำนักงานเป็นพื้นที่สีเขียว 2) การอบรมพนักงานในเรื่องความยั่งยืน และ 3) ให้เงินสนับสนุนแก่พนักงานให้ใช้เลือกสินค้าและบริการที่ส่งเสริมความยั่งยืน

คุณอริยะ ฝึกฝน กรรมการบริหาร ดีลอยท์ คอนซัลติ้ง กล่าวว่า “จากผลสำรวจพบว่า คนไทยรุ่นใหม่มีมิติความคิดที่แตกต่างจากคนในเจเนอเรชั่นเดียวกันของประเทศเพื่อนบ้านและโลกอย่างมีนัยสำคัญ และคนไทยทั้งสองเจเนอเรชั่นเองก็มีความเห็นที่แตกต่างกันในหลายประเด็นเชิงลึกลงไปอีก ดังนั้นการบริหารและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์จึงเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องบริหารจัดการด้วยความละเอียดอ่อนมากขึ้น”

ดร. โชดก ปัญญาวรานันท์ ผู้จัดการ Clients & Markets ดีลอยท์ ประเทศไทย กล่าวเสริมว่า “การพิจารณาข้อมูลของประเทศไทยเปรียบเทียบกับประเทศอื่นในปีเดียวกัน และข้อมูลเปรียบเทียบของประเทศไทยเองในแต่ละปี จะสะท้อนภาพรวมการเปลี่ยนแปลง และแนวโน้มต่าง ๆ ที่จะนำไปสู่การวางแผนบริหารจัดการและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น”

คุณอริยะ กล่าวทิ้งท้ายว่า “ดีลอยท์ ได้ทำการสำรวจคนในกลุ่มเจนซีและมิลเลนเนียล ติดต่อกันเป็นปีที่ 12 และจะทำการสำรวจคนกลุ่มนี้ต่อไป เพื่อติดตามแนวโน้มและความเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี ยังไม่มีทางเลือกใดที่ตอบโจทย์แก้ปัญหาได้อย่างเหมาะสม ต้องคำนึงถึงบริบทของแต่ละองค์กรนั้นด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่แต่ละองค์กรต้องพิจารณาต่อไป”

สำหรับผู้ที่สนใจ สามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมของ Deloitte Global 2023 Gen Z and Millennial Survey ได้ที่ https://www.deloitte.com/global/en/issues/work/content/genzmillennialsurvey.html

ระเบียบวิจัย

Deloitte Global 2023 Gen Z and Millennial Survey ได้ทำการสำรวจจกลุ่มคนในเจนซีจำนวน 14,483 คน และมิลเลนเนียลจำนวน 8,373 คน (ทั้งหมด 22,856 คน) จาก 44 ประเทศทั่วโลก ทั้งในเขตพื้นที่อเมริกาเหนือ ละตินอเมริกา ยุโรปตะวันตกและตะวันออก เขตตะวันออกกลาง แอฟริกา และเอเชียแปซิฟิก การสำรวจครั้งนี้จัดทำขึ้นผ่านการสัมภาษณ์ในช่องทางออนไลน์ ที่เปิดให้ผู้เข้าร่วมตอบแบบสอบถามด้วยตนเอง การสำรวจแบบภาคสนามมีขึ้นระหว่าง 29 พฤศจิกายน จนถึง 25 ธันวาคม 2565 นอกจากนี้ ในเดือนเมษายน 2566 ได้มีการจัดการสำรวจเชิงคุณภาพในกลุ่มเจนซีและมิลเลนเนียลจำนวน 60 คนจากประเทศบราซิล อินเดีย ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา สำหรับประเทศไทย ดีลอยท์ได้ทำการสำรวจคนในกลุ่มเจนซี 200 คน และมิลเลนเนียล 100 คน

ในการสำรวจดังกล่าว กลุ่มคนเจนซีที่เข้าร่วมตอบแบบสำรวจเป็นผู้ที่เกิดในระหว่างเดือนมกราคม 2538 ถึงเดือนธันวาคม2547 และกลุ่มมิลเลนเนียลที่เข้าร่วมการสำรวจครั้งนี้เป็นผู้ที่เกิดในระหว่างเดือนมกราคม 2526 ถึงเดือนธันวาคม 2537

 

 

การเสนอขายหุ้นแก่ประชาชนทั่วไป (IPO) เป็นขายหุ้นของบริษัทเอกชนต่อสาธารณชนในการออกหุ้นใหม่ ซึ่งหลายองค์กรมองว่า IPO เป็นหลักชัยในเติบโตและยั่งยืนขององค์กร สถานการณ์ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  ณ ปัจจุบันพบว่ามีแนวโน้มของจำนวนของบริษัทที่จดทะเบียน IPO และมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดเพิ่มสูงขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559 เรื่อยมาจนถึงปี พ.ศ. 2564 โดยในปี พ.ศ. 2564 เป็นปีที่มีมูลค่าตลาดสูงสุดเป็นประวัติการณ์[1]

เมื่อดูสถานการณ์ IPO ในประเทศไทยพบว่า บริษัทที่เข้าสู่ IPO ในประเทศไทยได้รับความสนใจจากนักลงทุนอย่างมาก เพราะสามารถระดมทุนได้สูงกว่าหลาย ๆ ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วยกัน เหตุผลก็คือบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยมีความหลากหลายมากกว่าทำให้นักลงทุนมีทางเลือก ตัวอย่างเช่น ในปี พ.ศ. 2563 สินค้าอุปโภคบริโภคและผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเป็นกลุ่มที่ระดมทุนได้มากที่สุด[2] (ร้อยละ 91 ของมูลค่าตลาดรวม) และในปี พ.ศ. 2564 ได้เปลี่ยนเป็นอุตสาหกรรมกลุ่มพลังงาน (ร้อยละ 76 ของมูลค่าตลาดโดยรวม) เป็นต้น อย่างไรก็ดีกลุ่มธุรกิจด้านเทคโนโลยีเป็นกลุ่มที่เติบโตอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา[3]

จากการที่บริษัทเอกชนเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นมากขึ้น คำถามจึงเกิดขึ้นจริง ๆ แล้วประโยชน์ของการเข้า IPO มีอะไรบ้าง?

ข้อดีที่บริษัทจะได้รับประโยชน์จากการเสนอขายหุ้น IPO 4 ประการ คือ

การเงิน: บริษัทเอกชนที่สามารถเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ได้จะสามารถเข้าถึงเงินลงทุนในเรือนหุ้นปริมาณมาก ๆ อย่างเป็นระบบ ทั้งจากการระดมทุนที่ IPO และการระดมทุนเพิ่มเติมในภายหลัง ซึ่งทำให้บริษัทเหล่านั้นจะได้รับการสนับสนุน โอกาสในการเติบโต และ การเข้าซื้อกิจการ

สภาพคล่อง: บริษัทที่เสนอขายหุ้นจะทำให้ผู้ถือหุ้นมีสภาพคล่อง ซึ่งช่วยให้ผู้ก่อตั้งและนักลงทุนเริ่มต้นสามารถถอนการถือหุ้นบางส่วนหรือทั้งหมดของตนออกจากบริษัทได้ โดยหุ้นของบริษัทสามารถซื้อขายได้ด้วยราคาเสนอซื้อซึ่งสามารถขยายปริมาณและความหลากหลายของผู้ถือหุ้นได้

ภาพลักษณ์: กระบวนการ IPO ต้องผ่านข้อกำหนดต่าง ๆ ที่เข้มงวด ซึ่งช่วยสะท้อนถึงศักยภาพการบริหารจัดการของบริษัทรวมถึงการรักษาความสัมพันธ์กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย นอกจากนี้ยังทำให้สื่อและโปรไฟล์สาธารณะมีศักยภาพที่จะเอื้อประโยชน์ทางการค้า ประเด็นสุดท้ายคือ ก.ล.ต. จะรับรู้ว่าบริษัทนั้น ๆ เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์

การสร้างแรงจูงใจ: การเข้าตลาดหลักทรัพย์เป็นโอกาสที่ดีในการกำหนดโครงสร้างค่าตอบแทนพนักงานและผู้บริหาร เสนอสิ่งจูงใจ สวัสดิการ และ ผลตอบแทนที่สะท้อนการทำงานของพนักงานอย่างความโปร่งใส ซึ่งจะช่วยดึงดูดและรักษาพนักงานที่มีความสามารถให้อยากทำงานกับบริษัทต่อไป

อย่างไรก็ตาม จะมีความท้าทายหลายประการที่ต้องพิจารณาควบคู่ไปกับข้อดี

ความท้าทายของการเสนอขายหุ้น IPO แบ่งออกเป็น 4 ด้านหลัก ๆ ดังนี้

การตรวจสอบ: บริษัทที่ผ่าน IPO จะได้รับความสนใจจากสาธารณชน เพิ่มการตรวจสอบข้อเท็จจริงและการมีส่วนร่วมซึ่งรวมถึงผู้ถือหุ้น นักวิเคราะห์ และ หน่วยงานกำกับดูแล ดังนั้น ฝ่ายบริหารของบริษัทจึงต้องเพิ่มความรับผิดชอบทั้งทางตรงและทางอ้อมในการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ และ ประมวลกฎหมายของการกำกับดูแลกิจการ ตั้งแต่การกำหนดนโยบายไปถึงกระบวนการทางธุรกิจที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการเปิดเผยข้อมูลและปฏิบัติข้อกำหนดที่เข้มงวดขึ้นให้ต่อเนื่องตลอดระยะเวลาของการเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์

ค่าใช้จ่าย: นอกจากค่าธรรมเนียมในการเข้า IPO แล้ว บริษัทจะต้องเตรียมงบประมาณสำหรับค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ตลอดระยะเวลาของการเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ รวมถึงการสำรองเวลาของฝ่ายบริหารและการเงินเพื่อดำเนินการตามข้อกำหนด

เปลี่ยนการควบคุม: เจ้าของเดิมบางคนอาจกังวลเกี่ยวกับประเด็นนี้ เพราะการเข้าตลาดหลักทรัพย์จะเปิดโอกาสให้นักลงทุนที่ตนเองไม่ได้ต้องการเข้ามาถือหุ้นบริษัท ซึ่งอาจจะเป็นคนที่เข้ามาแย่งสิทธิ์ความเป็นเจ้าของหรืออำนาจในการควบคุมก็ได้ นอกจากนี้ยังมีประเด็นเรื่องความรับผิดชอบต่อผู้ถือหุ้นภายนอกที่ต้องการการให้ความสำคัญมากขึ้นอีกด้วย

ข้อสุดท้าย บริษัทเราเหมาะจริง ๆ หรือไม่: มีเงื่อนไขอื่น ๆ อีกมากที่ควรพิจารณาก่อนตัดสินใจเข้าสู่ตลาดหุ้น นับตั้งแต่การกำหนดให้สัดส่วนหุ้นขั้นต่ำร้อยละ 25 ไปอยู่ในมือประชาชน การตรวจสอบข้อมูลทางการเงินย้อนหลังเป็นเวลาสามปี และ ขั้นตอนการรายงานทางการเงินที่เหมาะสมสำหรับการเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์

ความท้าทายอาจเกิดขึ้นได้หากบริษัทมีความรู้ไม่เพียงพอ อย่างไรก็ตาม สิ่งเหล่านี้สามารถแก้ไขได้ด้วยความช่วยเหลือจากที่ปรึกษาอิสระ ลองดูที่ส่วนสุดท้ายด้านล่าง

ที่ปรึกษาอิสระทำอะไร? มีบทบาทสำคัญ 4 ด้านดังนี้

ตรวจสอบทางเลือก: ที่ปรึกษาจะช่วยประเมินความเป็นไปได้ ค้นหาเส้นทางที่สำคัญ พิจารณาโครงสร้างและกำหนดเนื้อหาสาระสำคัญที่จะสื่อสารกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย

การเตรียมการก่อน IPO: ที่ปรึกษาจะช่วยในการระบุและจัดการทั้งด้านธุรกิจและด้านเทคนิคที่จำเป็น ช่วยผู้บริหารการพยากรณ์ตัวเลขทางการเงินและข้อกำหนดด้านเงินทุน รวมถึงการให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการกำกับดูแลกิจการและการวางแผนฉุกเฉินในการทำธุรกิจ

การดำเนินการ IPO: ที่ปรึกษาจะดูแลโครงการเสนอขายหุ้น IPO และกำหนดตารางเวลาการทำธุรกรรม ช่วยในการเลือกทีมที่ปรึกษาที่กว้างขึ้น ยอมรับเงื่อนไขที่สำคัญของการมีส่วนร่วม และให้คำแนะนำเกี่ยวกับเอกสารประกอบการเสนอขายหุ้น

หลัง IPO: หลังจากขั้นตอนการเสนอขายหุ้น IPO ที่ปรึกษายังสามารถให้ความช่วยเหลือเกี่ยวกับคำแนะนำด้านกลยุทธ์ การเงิน และการควบรวมกิจการอย่างต่อเนื่องโดยไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน รวมถึงการให้คำปรึกษาจากธนาคาร/นายหน้าและการให้ความรู้แก่กรรมการและผู้บริหารในหัวข้อที่สำคัญได้อีกด้วย

การเสนอขายหุ้นแก่ประชาชนทั่วไป เป็นการเดินทางที่ต่อเนื่องตั้งแต่การจัดเตรียม การยื่น การดูแลระบบ ไปจนถึงการที่บริษัทได้เปลี่ยนเป็นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เพื่อให้บริษัทสามารถระดมทุนจากประชาชนทั่วไปได้ เส้นทางการเปลี่ยนแปลงแต่ละก้าวเต็มไปด้วยความท้าทาย ดังนั้นการเข้าใจปัญหาล่วงหน้าอย่างชัดเจนจึงเป็นข้อได้เปรียบ สามารถใช้ประโยชน์จากการเสนอขายหุ้นได้อย่างเต็มที่เพื่อให้บริษัทสามารถเติบโตอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน

 

บทความโดย :

วิลาสินี กฤษณามระ   Disruptive Event Advisory Country Leader

ดีลอยท์ ประเทศไทย

X

Right Click

No right click