December 23, 2024

ลักษณะของ SME 4.0 คือ การรวม Transformation กับ Innovation เข้าไว้ด้วยกันและใช้เทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Trend) ติดปีกให้กับธุรกิจ คุณสุมาวสี ศาลาสุข ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายธุรกิจดิจิทัล  ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย กล่าวอธิบายถึงการก้าวไปสู่โลกใหม่ของธุรกิจในยุค Digital 4.0 นี้ว่า “สิ่งแรกคือการเริ่มต้นด้วยการทำ Digital Transformation โดยการนำเอาเทคโนโลยีมาใช้ประยุกต์หรือปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงาน (Digitization) ช่วยลดต้นทุน ทำให้สะดวกรวดเร็วและตรวจสอบได้ ต่อมาคือการใช้เทคโนโลยีมาช่วยในเรื่องของขั้นตอนการผลิตและการออกแบบ Packaging ไม่ว่าจะเป็น 3D Printing, Visual Marketing หรือ VR และส่วนสุดท้ายคือ การนำเอาการซื้อขายขึ้นไปอยู่ใบแพลตฟอร์มออนไลน์ (Digital Trend) เพิ่มช่องทางการขายที่ควบคู่ไปกับการมีหน้าร้าน สถิติจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมพบว่ามี SME ในประเทศไทยใช้เทคโนโลยีในการบริหารกิจการ 27 เปอร์เซ็นต์ ทั้งนี้ไม่รวมช่องทางโซเชียลมีเดียต่างๆ อย่างกรณีของ Line ที่มีคนไทยใช้งานมากถึง 42 ล้านคนจากจำนวน 46 ล้านคนทั่วประเทศที่มีโทรศัพท์มือถือ รวมไปถึงการใช้ Facebook เป็นช่องทางการตลาดสูงถึง 2 ล้านแอคเคาน์สูงที่สุดในอาเชียน เพราะฉะนั้น หากเราสามารถใช้ Line หรือ Facebook เป็นช่องทางในการสื่อสารระหว่างธุรกิจกับกลุ่มลูกค้าก็จะสามารถเข้าถึงผู้บริโภคจำนวนมหาศาลได้ในเวลาเพียงไม่กี่วินาที”

อีกสิ่งสำคัญในการปรับตัวในภาคธุรกิจให้เข้ากับโลกดิจิทัลในตอนนี้ คือ Digital Innovation ซึ่งเป็นการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ ขึ้นมา เริ่มจากกระบวนการวางแผน Business Model Innovation เพื่อสร้างคุณค่าธุรกิจใหม่ร่วมกับลูกค้า Service Innovation การสร้างนวัตกรรมบริการที่เปลี่ยนสินค้าให้เป็นบริการ และ Technology Innovation สร้างนวัตกรรมทางเทคโนโลยีให้กับธุรกิจ สิ่งเหล่านี้ถือเป็นความคิดสร้างสรรค์ในการสร้างรูปแบบทางการทำธุรกิจแนวใหม่ขึ้นมาได้หมด ธุรกิจในลักษณะไหนก็สามารถคิดและเริ่มต้นทำได้โดยไม่จำเป็นต้องเป็น Start up เสมอไป

ปัจจุบัน Digital Trend ที่มีผลต่อภาคธุรกิจแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรกคือกลุ่มที่ทำให้เกิดการเชื่อมต่อทั้งจากธุรกิจสู่ลูกค้าหรือระหว่างคู่ค้า (Connectivity) เช่น แอพลิเคชั่น โซเชียลมีเดีย และ IoT ต่อมาคือกลุ่มที่ช่วยในการตัดสินใจ (Insight & Intelligent) อย่างพวก Big Data, AI และ Cloud Computing ทำให้ผู้บริหารสามารถวิเคราะห์แนวโน้มและทิศทางในการวางกลยุทธ์เพื่อนำพาธุรกิจเดินหน้าต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสุดท้ายคือกลุ่มที่จะทำให้เกิดความปลอดภัยในการใช้ระบบ (Trust Protocol) ตัวอย่างเช่น Distributed Ledger, High Performance Computer และ Blockchain สำหรับ Blockchain ในภาคธุรกิจจะถูกนำมาใช้บริหารจัดการข้อมูลการทำธุรกรรมต่างๆ ระหว่างเครือข่าย ทำให้การติดต่อกับคู่ค้าจำนวนมากทำได้อย่างรวดเร็ว เพราะข้อมูลทุกอย่างจะถูกอัพโหลดเข้าไปอยู่ในระบบ มีการจัดการตามเงื่อนไขเฉพาะที่สร้างขึ้นมาสำหรับ Supplier แต่ละเจ้า ย่นระยะเวลาในการดำเนินงานและเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงสัญญาทุกคนในเครือข่ายจะมีโอกาสได้เห็นพร้อมกัน สามารถตรวจสอบได้และปลอดภัยจากการเจาะระบบโดยไม่ได้รับอนุญาต

นอกจากนี้ คุณสุมาวลียังได้สรุปประโยชน์ของ Blockchain ต่อธุรกิจขนาดกลางและย่อยไว้อย่างน่าสนใจว่า

“อย่างแรกเลย Blockchain เปิดโอกาสให้ธุรกิจรายย่อยมีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุนมากขึ้นจากเดิม ด้วยระบบการระดมทุนออนไลน์ (Crowdfunding) และในอนาคตสถาบันการเงินก็อาจมีการพัฒนาระบบสินเชื่อให้เข้าถึงคนได้มากที่สุดผ่าน Nano Finance Application ยิ่งไปกว่านั้น Blockchain ยังช่วยประหยัดเวลาในการดำเนินงานตัดขั้นตอนที่ไม่จำเป็นออกไป ลดต้นทุนแรงงาน ลดอัตราการแลกเปลี่ยนในธุรกิจที่มีการติดต่อกับ Supplier หลายเจ้า ที่สำคัญคือความปลอดภัยในการควบคุมข้อมูลต่างๆ ภายในองค์กรโดยมีการกำหนดบทบาทของผู้เข้าถึงเอาไว้ชัดเจน”

จริงๆ แล้ว Blockchain ก็คือ Protocol หนึ่งที่สามารถประยุกต์ใช้ได้หลากหลายและในตอนนี้ภาครัฐก็มีความพยายามในการออกกฏหมายทั้งในส่วน Digital Asset และเร็วๆ นี้อาจจะมีกฏหมายเกี่ยวกับข้อมูลส่วนบุคคลออกมาซึ่งจะไปสอดคล้องกับการใช้งาน Blockchain มากขึ้น เทคโนโลยีดิจิทัลไม่ใช่สิ่งที่เราต้องกลัวหรือเป็นกังวล แต่สิ่งที่เราควรทำคือเรียนรู้และใช้งานสิ่งเหล่านี้ให้เกิดประโยชน์มากที่สุดเพื่อยกระดับธุรกิจของท่านไปสู่โลกยุค Digital 4.0 ด้วยกัน


สามารถรับชมคลิปวิดีโอ หัวข้อ Blockchain and SME 4.0
โดย สุมาวสี ศาลาสุข ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายธุรกิจดิจิทัล | ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย
จากงาน Blockchain Talk ได้ที่นี่


เรื่องโดย : กองบรรณาธิการ

X

Right Click

No right click