January 22, 2025
×

Warning

JUser: :_load: Unable to load user with ID: 802

ไม่ว่าใครก็อยากให้บ้านเกิดเมืองนอนของตัวเองเจริญรุดหน้า เพื่อส่งมอบเมืองที่มีคุณค่าต่อให้กับลูกหลานที่จะเป็นผู้ใช้ประโยชน์จากพื้นที่นั้นในอนาคต การพัฒนาเมืองจึงไม่ได้เป็นเพียงหน้าที่ของภาครัฐที่จะกำหนดแนวทางการพัฒนาเมืองต่างๆ เพียงอย่างเดียว หากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องและใกล้ชิดมากที่สุดคือ ประชากรที่อาศัยอยู่ในเมืองนั้นๆ ก็ควรจะสามารถกำหนดทิศทางการพัฒนาเมืองที่อยากให้เป็นในอนาคตได้

ในประเทศไทยการพัฒนาเมืองโดยภาครัฐส่วนใหญ่ยังกระจุกตัวอยู่ในเขตเมืองหลวง ด้วยจำนวนประชากรที่มากและความใกล้ชิดของผู้มีบทบาทในการตัดสินใจรวมถึงปัญหาที่สะสมมายาวนาน ทำให้ต้องเร่งจัดการพัฒนาเมืองในด้านต่างๆ ที่เห็นได้ชัดคือ การสร้างระบบขนส่งมวลชนที่กำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้างไปทั่วเมืองในขณะนี้ จากภาพการพัฒนาเมืองในประเทศไทยที่ผ่านมา ส่งผลให้คนขอนแก่นกลุ่มหนึ่งตั้งคำถามกับวิธีคิดพัฒนาเมืองของภาครัฐและมองหาทางออกด้วยการรวมกลุ่มกัน ก่อตั้ง บริษัท ขอนแก่นพัฒนาเมือง จำกัด (KKTT) เพื่อศึกษาหาแนวทางพัฒนาเมืองขอนแก่นอย่างที่ควรจะเป็น และได้บทสรุปเป็นแผนแม่บทที่จะบรรจุไว้ในแผนยุทธศาสตร์จังหวัดขอนแก่นเกี่ยวกับสมาร์ตซิตี้ในอีกไม่นานนี้
“ขอนแก่นโมเดล” คือชื่อที่พวกเขาเลือกใช้นำเสนอแนวคิดวิธีการพัฒนาเมืองในรูปแบบที่ยังไม่เคยมีเมืองอื่นในประเทศไทยคิดทำกันมาก่อน


ขอนแก่นโมเดล

สุรเดช ทวีแสงสกุลไทย ผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท ขอนแก่นพัฒนาเมือง จำกัด KKTT, รองคณบดีฝ่ายบริหาร วิทยาลัยปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น, ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ช ทวี จำกัด (มหาชน) พูดถึงคำว่า ‘ขอนแก่นโมเดล’ ว่า ต้องการเปลี่ยนภาพพจน์ที่เคยมีกับคำนี้เสียใหม่ ให้เป็นเรื่องที่ดี และวันนี้พวกเขาก็สามารถล้างคำเก่าที่เคยมีมา กลายเป็นความหมายใหม่ที่รับรู้กันว่า ขอนแก่นโมเดล คือ “ความหมายของการสามัคคี เอกชนร่วมรัฐพัฒนาเมือง” นับเป็นความสำเร็จขั้นต้นของ KKTT ที่ทำได้แล้ว
ในขั้นต้น KKTT พบว่าปัญหาในการพัฒนาท้องถิ่นที่พบเห็นคือปัญหาเรื่องการขับเคลื่อนและงบประมาณที่จะมาสนับสนุนการพัฒนา แต่ก็ยังมีหนทางสำหรับการแก้ไขปัญหาดังกล่าวด้วยการใช้ความร่วมมือระหว่างเอกชนและภาครัฐท้องถิ่นในการพัฒนา ในด้านทุนก็เลือกใช้ตลาดทุนและงบประมาณของภาครัฐมาขับเคลื่อนโครงการให้เดินหน้าต่อไป เพื่อสร้างประโยชน์ให้กับท้องถิ่น แก้ปัญหาที่เรื้อรังของประเทศไทยในหลายด้านอย่างยั่งยืน โดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจและสังคมของชุมชนให้เติบโตอย่างมีคุณภาพ ภายใต้แผนงานขอนแก่นสมาร์ตซิตี้ ซึ่งเริ่มต้นสร้างฐานด้วยระบบขนส่งมวลชนเพื่อพัฒนาเมืองพร้อมกับพัฒนาระบบอื่นๆ ไปพร้อมกัน


สุรเดชบอกว่า ระบบขนส่งเป็นเรื่องที่ยากที่สุดในการทำสมาร์ตซิตี้ เพราะหากใช้ขั้นตอน PPP (Public Private Partnership) การลงทุนร่วมระหว่างภาครัฐและเอกชนตามปกติ จะต้องใช้เวลาประมาณ 10-11 ปีโครงการจึงจะสำเร็จ แต่ด้วยความร่วมมือร่วมใจกันของทั้งภาครัฐและเอกชนในขอนแก่นจึงสามารถจัดทำแนวทางใหม่ที่เปิดให้พัฒนาโครงการภายใต้กระทรวงมหาดไทยโดยท้องถิ่นเป็นผู้ดำเนินงานซึ่งสามารถลดขั้นตอนการดำเนินการลงได้ถึงครึ่งหนึ่ง
บริษัท ขอนแก่น ทรานซิท ซิสเต็ม จำกัด (KKTS) จัดเป็นวิสาหกิจของรัฐ มีโครงสร้างผู้ถือหุ้นคือ 5 เทศบาลในขอนแก่น ประกอบด้วย เทศบาลนครขอนแก่น เทศบาลเมืองศิลา เทศบาลตำบลสำราญ เทศบาลตำบลเมืองเก่า
และเทศบาลตำบลท่าพระซึ่งได้รับอนุญาตจากกระทรวงมหาดไทยให้จัดตั้งบริษัทเรียบร้อยแล้ว คือหน่วยงานขับเคลื่อน ‘โครงการขอนแก่น Smart City (ระยะที่ 1) ก่อสร้างระบบ ขนส่งมวลชนระบบรางเบา รถไฟฟ้ารางเบา LRT สายเหนือ-ใต้ (สำราญท่าพระ) ต้นแบบในเมืองภูมิภาคจังหวัดขอนแก่นพร้อมกับการพัฒนาโครงสร้างเมืองและการจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อการสร้างโครงสร้างเมืองอย่างนำสมัยและยั่งยืน’ ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอีกไม่นานนี้
KKTS จะทำหน้าที่ควบคุมดูแลการดำเนินโครงการ ด้วยวิธีระดมทุนจากภาคเอกชนในท้องถิ่นและเอกชนทั่วประเทศเพื่อดำเนินโครงการโดยไม่เป็นภาระหนี้ภาครัฐ


KKTS’ s Wealth

สุรเดชอธิบายเรื่องทรัพย์สินของ KKTSว่า “เกิดจากมูลค่าโครงการที่มีอยู่ 15,000 ล้านบาท ถ้าโครงการนี้เสร็จ ซึ่ง KKTS ก็กู้เงินเขามาสร้าง แต่เมื่อเขาเริ่มดำเนินการ และเกิดกำไรขึ้นมาซึ่งที่เราดีไซน์กำไร กำไรคุณจดทะเบียนได้ เมื่อเข้าจดทะเบียนอย่างบริษัทผม (CHO) มูลค่าบริษัทขึ้นมา 7 เท่า นี่ระดับจังหวัดของประเทศไทย ผมว่า 10 เท่าเป็นอย่างต่ำ ถึงประเมินไว้ 150,000 ล้านบาท บริษัทนี้ถ้าอยากทำโครงสร้างพื้นฐานต่อก็ทำไป จะเอาหุ้นไปค้ำประกันบ้าง ก็ได้”


 ทำไมรถไฟฟ้าขอนแก่นไม่ขาดทุน

เป็นที่ทราบกันดีกว่าการลงทุนในระบบขนส่งไม่ใช่โครงการที่สามารถสร้างผลกำไรได้อย่างรวดเร็ว สุรเดชมีคำตอบให้กับเรื่องการเงินของระบบรถไฟฟ้าที่เป็นจุดเริ่มต้นการสร้างขอนแก่นสมาร์ตซิตี้ว่า “ข้อแรกคือรถไฟฟ้าขอนแก่นใช้ Technology Transfer ผลิตเองในประเทศต้นทุนถูกลง แต่ปัญหาคือ IRR (Internal Rate of Return อัตราผลตอบแทนภายใน) ออกมาแค่ 2 เปอร์เซ็นต์ ไม่มีใครมาลงทุนด้วยหรอก แต่ขอที่ดินตรงนี้ มีที่นาอยู่กลางเมืองขอนแก่นของกระทรวงเกษตร แล้วที่นานี้ติดโครงการเอามาทำดีโป้ให้รถไฟฟ้า เป็นโครงการเดียวกัน โครงการก็จะเป็นรถไฟฟ้าแล้วมีที่นามาสวม ก็เป็นโครงการเดียวกันที่มีการพัฒนาที่ดินบวกรถไฟฟ้า พอทำIRR มาก็กลายเป็น 12 เปอร์เซ็นต์ ตัวที่ดินสร้างผลตอบแทนได้ประมาณ 10 รถไฟฟ้า 2 กลายเป็นว่าขอนแก่นใช้เงินแค่ 15,000 ล้าน ทำโครงการนี้แล้วรัฐไม่ต้องลงทุน รัฐให้ที่กับบริษัทของรัฐ KKTS ไปพัฒนา ที่ 231 ไร่ ใช้ได้จริงๆ ประมาณ 100 ไร่ ที่เหลือจะเป็นบึงขนาดใหญ่ ทำที่จอดรถ แล้วทำมิกซ์ยูส ห้างโรงแรม อยู่ข้างใน ที่ถามรายรับมาจากไหน ก็จากการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์และการเดินขนส่งมวลชน และค่าตั๋วของขอนแก่นเป็นค่าตั๋วที่ทุกอาชีพขึ้นได้ ค่าตั๋วสูงสุด 20 บาท นี่เป็นการทำโครงการที่เป็นขนส่งมวลชนจริงๆ”


เริ่มที่ขนส่งสู่Smart City


แนวคิดการพัฒนาเมืองด้วยระบบขนส่งของ KKTT เริ่มจากการมองเห็นปัญหาของเมืองในประเทศไทยว่า เมืองด้านในเริ่มร้างผู้คนเพราะรถติดไม่สามารถหาที่จอดรถได้ ผู้คนย้ายออกไปอยู่อาศัยด้านนอกเมืองและมาใช้งานอาคารในเมืองช่วงกลางวัน การจะสร้างเมืองที่กระชับ (Compact City) จึงเริ่มด้วยการวางแผนให้มีรถรางวิ่งระหว่างเหนือใต้กลางถนนมิตรภาพ และเชื่อมต่อกับเมืองด้านในด้วยเส้นทางฟื้นฟูเมือง ร่วมกับระบบขนส่งมวลชนในเมืองที่พัฒนามาแล้ว 3 ปี
“คือเมืองไม่โตไปกว่านี้แล้ว คำว่าโตแบบไม่กลวง เพราะนี่คือสินทรัพย์ของประเทศนะ ห้องแถว อย่าบอกว่าเป็นทรัพย์สินของนาย ก. สร้างแล้วปิดไว้เฉยๆ”
สุรเดชเล่าตัวอย่างเมืองทั่วโลกที่เปลี่ยนเมืองด้วยการนำระบบขนส่งเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิตของผู้คนในเมืองจากเมืองที่ใช้รถยนต์เป็นเมืองที่ใช้ระบบขนส่งและการเดินจนพัฒนาเป็นเมืองที่คน 62 เปอร์เซ็นต์ไม่มีรถยนต์เป็นของตัวเอง เช่นเมืองพอร์ตแลนด์ รัฐออริกอน สหรัฐอเมริกา โดยคณะทำงานไปเรียนรู้จาก Portland State University เกี่ยวกับวิธีพัฒนาเมือง การกำหนดผังเมือง กำหนดแผนงานต่างๆ
“นี่เป็นการ Disruption วันนี้เป็นเรื่อง Disruption เป็นการทำลายอย่างสร้างสรรค์ ประเทศไทยจะไปต่อในโลกของการเปลี่ยนแปลง จะต้องเป็น Constructive Disruption แล้วเราจะยอมลอกคราบไหม แสบ เจ็บแต่ต้องทำ” สุรเดชระบุ
การผลักดันขอนแก่นเป็นสมาร์ตซิตี้ภายใต้ขอนแก่นโมเดล นอกจากจะได้ระบบขนส่งมวลชนภายในเมืองเพื่อช่วยฟื้นฟูเมือง ลดปัญหาการจราจรภายในเมืองแล้ว ยังส่งผลต่อเนื่องถึงการพัฒนาเมืองด้านอื่นๆ สุรเดชสรุปว่า ช่วยลดการก่อหนี้สาธารณะของภาครัฐด้วยการระดมทุนผ่านตลาดทุน ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เป็นการร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนแบบเข้มข้นเห็นได้ชัดเจน ส่งเสริมอุตสาหกรรมระบบรางในประเทศด้วยการกำหนดให้รถที่ใช้ต้องใช้รูปแบบ Technology Transfer นำแบบจากต่างประเทศมาสร้างเองภายในประเทศ นอกจากนี้ยังช่วยเพิ่ม Market Capital ให้กับตลาดทุนไทย เพิ่มงบประมาณในการพัฒนาท้องถิ่นให้กับประเทศ มีความโปร่งใสมากขึ้นจากการนำบริษัทเข้าจดทะเบียน และเป็นการวางแผนพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืนป้องกันปัญหาในอนาคต


ตามแผนงานขอนแก่นสมาร์ตซิตี้ที่วางไว้ถึงปี 2573 จะเห็นว่าระบบขนส่งทางรางเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการพัฒนาเมือง ยังมีแผนงานอีกจำนวนมากที่รอการดำเนินการเพื่อทำให้เมืองขอนแก่นกลายเป็นเมืองแห่งโอกาสสำหรับทุกคน รองรับความท้าทายต่างๆ ในอนาคตได้อย่างยั่งยืน
“ฐานคือฮาร์ดแวร์ ขึ้นไปคือซอฟต์แวร์ ที่สำคัญคือตรงนี้เราได้งบมา 100 ล้านบาท มาทำ SCOPC (Smart City Operation Center) ซึ่งเป็นหัวใจ สมาร์ตซิตี้ต้องกลายเป็น IOT หมด สมาร์ตซิตี้คืออินฟราทั้งหมด และผมจัดโครงสร้างขอนแก่นไว้ว่าฝั่งสถาบันการศึกษาอยากทำก็มาฝั่งนี้ อยากมาเรื่องการลงทุนมาฝั่งนี้”

กว่าจะเดินมาถึงจุดนี้


การจะสร้างแผนงานพัฒนาเมืองโดยใช้ความร่วมมือของภาครัฐและเอกชนในท้องถิ่นร่วมกันผลักดันจนได้ในระดับเมืองขอนแก่นไม่ใช่เรื่องง่าย สุรเดช ย้อนความหลังกว่าที่แผนจะเดินมาถึงจุดนี้ว่า เริ่มจากเอกชน 20 รายรวมกันเป็น KKTT แล้วก็เริ่มเดินสายคุยกับเทศบาล
“คุยเทศบาล 5 ปี คุยกันเองอีก 2 ปี กว่าจะสรุปว่าเดินหน้าทำกันเถอะ แต่ยังไม่รู้ว่าจะทำอะไร ยังไม่เห็นภาพ ทุกคนบอก ถ้าเราออกเงิน 200 ล้านแล้วเปลี่ยนเมืองขอนแก่นได้จริง ถูกนะ เราทำ 3 ขั้นตอน ขั้นที่ 1 เราลงเงินเองหมด ไปศึกษาไปดูงานพาเทศบาลไป ลงทุนรถบัส ไม่มีเงินหลวง บาทเดียวก็ไม่เอา ขั้นที่ 2 ตั้งบริษัท KKTS ได้แล้ว ตอนนี้เปิดประมูลแล้ว ต่อไป ขั้นที่ 3 คือก่อสร้าง เสร็จแล้ว KKTS ก็จดทะเบียนเข้าตลาดฯ”


สุรเดชใช้ทฤษฎี 3 เหลี่ยมเขยื้อนภูเขาของ นพ.ประเวศ วะสี อธิบายสิ่งที่กำลังทำอยู่ว่า เป็นการเคลื่อนไหวทางสังคมคือการที่ภาคเอกชนรวมตัวกับหน่วยงานรัฐท้องถิ่นได้ สร้างความรู้ให้คนในเมืองขอนแก่นได้ทราบถึงประโยชน์ของระบบขนส่งมวลชนและเรื่องอื่นๆ และสุดท้ายคือได้ภาครัฐ (คสช./รัฐบาล) อนุมัติโครงการ
เคล็ดลับการเขยื้อนภูเขาของจังหวัดขอนแก่นคือการพูดคุยกันมาต่อเนื่องเกือบ 15 ปี ไม่ว่าจะเป็นใน KKTT เทศบาล อบจ. จังหวัด เอ็นจีโอ สื่อสารมวลชน รวมถึงประชาชนคนขอนแก่น ผ่านเวทีต่างๆ ผลที่ได้คือวิสัยทัศน์ร่วมสำหรับเมืองขอนแก่นที่เป็นที่รับทราบของคนในพื้นที่ ซึ่งลงไปถึงคนรุ่นใหม่ที่กลายเป็นกำลังสำคัญในการช่วยกระจายข้อมูลข่าวสารให้กับโครงการ
สุรเดชตอบคำถามว่าทำไมขอนแก่นจึงพร้อมกว่าจังหวัดอื่นในการทำโครงการเช่นนี้ว่า เกิดจากไม่มีความขัดแย้งทางการเมืองในจังหวัด การเมืองท้องถิ่นไม่อิงกับพรรคใหญ่ และคนในเมืองมีภาพจำเรื่องความเสียสละ ช่วยเหลือซึ่งกันและกันมาตั้งแต่รุ่นพ่อรุ่นแม่ กลุ่มคนที่อยู่ในกลุ่มร่วมคิดร่วมทำอยู่ในวัยเดียวกันคือเป็นคนรุ่นอายุประมาณ 50 ปี โดยเหล่าผู้อาวุโสของจังหวัดก็เปิดทางคอยให้กำลังใจแทนที่จะลงมาควบคุม รวมถึงหน่วยงานท้องถิ่นภาครัฐก็มีความมุ่งมั่นในการพัฒนาเมืองโดยไม่หวังพึ่งแต่งบประมาณจากรัฐบาลเพียงอย่างเดียว
“สุภาษิตจีน บอกว่าสังคมยิ่งใหญ่เมื่อชายชราปลูกต้นไม้ที่รู้ดีว่าตัวเองไม่ได้ใช้ เราทำไป ผมอาจจะได้ใช้ รุ่นที่เขาลงเงินแก่ๆ อาจไม่ได้เห็น แต่เด็กๆ วันนี้เห็นต้นไม้ของเขาแล้ว อย่างน้อยเขาเห็นขุดหลุมปลูกกันจริง เริ่มกันแล้วตั้งแต่โครงสร้าง
มียุทธศาสตร์จังหวัดแล้ว” สุรเดชกล่าว
ภายหลังจากขอนแก่นโมเดลเกิดขึ้นปัจจุบันแนวคิดนี้เริ่มกระจายไปสู่เมืองอื่นๆ 14 จังหวัดทั่วประเทศ โดยมีการรวมกลุ่มกันแบ่งปันความรู้และวิธีคิด เพื่อที่แต่ละจังหวัดจะไปหาแผนงานที่เหมาะสมกับท้องถิ่นตัวเองในการพัฒนาเมืองต่อไป สุรเดชมองว่า เคล็ดลับในการทำให้ประสบความสำเร็จนั้นต้องไม่ลืมเรื่องการสื่อสาร
“ขอนแก่นตั้งมา 7 ปีกลายเป็นฝังเข้าไปในดีเอ็นเอแล้วว่า ทำอะไรอย่าลืมประชาสังคม ทำอะไรอย่าลืมเทศบาล อบจ.ต้องเรียกมา 24 องค์กรจีนอีก แต่พวกนี้พอขึ้นมาบางเมืองไปเร็วไป พอลืมก็มีเสียบ่นด่า ก็เกิดความขัดแย้งพวกนี้ต้องไปช้าเวลามีอะไรก็เรียก ถึงเขาไม่ไปเราก็ไปนั่งเล่า นั่งพูดให้เขาฟัง แต่ละกลุ่มก็ต้องมีความรู้แต่ละชุด เรื่องพวกนี้ก็ต้องทำ หลายๆ เมืองวิ่งเร็วเกินไปทำให้บางทีสะดุดบ้าง ก็เกิดท้อขึ้นมา”


ขอนแก่นเมืองแห่งโอกาส


สุรเดชมองภาพเมืองขอนแก่นที่จะเกิดขึ้นภายหลังโครงการพัฒนาเมืองให้กลายเป็นสมาร์ตซิตี้เดินหน้าไปว่า ขอนแก่นจะเป็นเมืองแห่งโอกาส “หมายความว่าคนจะมาขอนแก่น เป็นเมืองที่มีโอกาส เมืองที่เข้ามาแล้วเสมอภาคกัน คนดีที่ต้องการทำเรื่องสุจริตมีโอกาส ความเท่าเทียมในการเจริญเติบโต สร้างสิ่งดีๆ ให้เมือง”
ขณะเดียวกันประชากรส่วนใหญ่ของขอนแก่นกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ที่เป็นเกษตรกรก็ไม่พลาดโอกาสที่จะเติบโตไปกับเมืองที่กำลังพัฒนาด้วยโครงการ Smart Farming ที่มุ่งเน้นเพิ่มศักยภาพของเกษตรกรในจังหวัดขอนแก่นให้สามารถสร้างรายได้สูงขึ้น และมีโอกาสเข้าถึงการลงทุนผ่านกองทุนที่จะเปิดขึ้นมาให้ลงทุนใน KKTS
“เวลาคอมเมนต์ พวกเอ็นจีโอ ประชาสังคม เขาก็จะบอกว่า สมาร์ตซิตี้เหมือนไข่ดาว ทำแต่ในเมืองเป็นไข่แดง ผมบอกว่าไม่ใช่ พี่ไปอ่านสมาร์ตซิตี้ขอนแก่นเป็นไข่เจียว เริ่มแรกคือสมาร์ตฟาร์มมิ่ง เรื่องของเกษตรกรล้วนๆ ในเฟสแรก 60 เปอร์เซ็นต์ของพวกเราคือเกษตรกร เราต้องเปลี่ยนโครงสร้างรายรับเขา เขาจะต้องเปลี่ยนโครงสร้างรายรับ เมืองไม่จำเป็นต้องเจริญทั้งหมด เขายังเป็นทุ่งนาเหมือนเดิม แต่เขาต้องปลูกของที่แพงขึ้นกว่าเดิมเขาต้องมีรายรับที่ดีกว่าเดิม และเขายังมีโอกาสขี่รถเข้าตลาดทุนที่พวกเราทำไว้อีก นั่นคือการเปลี่ยนโครงสร้างรายรับของเขา เปลี่ยนโครงสร้างรายรับของเมือง”
ตามแผนที่เขียนไว้ภายใน 12 ปี จีดีพีของขอนแก่นจะเพิ่มขึ้นประมาณหนึ่งเท่า หรือมีจีดีพีเท่ากับประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยยังมีการดูเรื่องดัชนีความสุขประกอบไปด้วย สุรเดชมองว่าหากโครงการระบบขนส่งมวลชนนี้สามารถเดินหน้าได้ก็จะช่วยสร้างความมั่นใจให้มีมากขึ้น และจะช่วยกระตุ้นให้เกิดการค้าการลงทุนต่อเนื่องในจังหวัด ตัวเลขจีดีพีภายในจังหวัดที่หวังว่าจะขยับขึ้นถึงจุดที่ตั้งเป้าหมายไว้อาจจะเร็วขึ้นมาได้อีก
สุรเดชมองว่าการเตรียมความพร้อมให้กับเมืองขอนแก่น เป็นเรื่องที่คนรุ่นเขาต้องเตรียมไว้ให้กับรุ่นลูกรุ่นหลานเพื่อรับมือกับกระแสโลกาภิวัตน์ที่ไหลบ่าเข้ามาอย่างรวดเร็ว เพื่อให้เมืองขอนแก่นสามารถหาข้อสรุปแบบวิน-วินกับกระแสที่เข้ามาได้ คนขอนแก่นมีวิธีคิด มีเครื่องมือในการรับมือกับความท้าทายที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
และ ‘ขอนแก่นโมเดล’ คือตัวอย่างรูปแบบการทำงานร่วมกันของภาครัฐท้องถิ่นและภาคธุรกิจที่เหนียวแน่น โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มคุณค่าและมูลค่าให้กับเมืองอย่างเป็นระบบ เพื่ออนาคตของลูกหลานขอนแก่นที่จะได้ใช้ชีวิตประกอบสัมมาชีพ ท่ามกลางกระแสความเปลี่ยนแปลงของโลกยุคปัจจุบัน

 


                                         SPV for Everyone

               

SPV หรือ Special Purpose Vehical นิติบุคคลหรือบริษัทจัดการที่ตั้งขึ้นมาเพื่อเป็นเครื่องมือในการระดมทุนคืออีกคำหนึ่งที่สุรเดชพูดถึงตลอดการสนทนา เพราะการจะลดช่องว่างระหว่างคนรวยคนจน จำเป็นต้องอาศัยตลาดทุนเป็นเครื่องมือหนึ่ง โดยจะจัดตั้งกองทุนที่มีวัตถุประสงค์ในการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของเมืองขอนแก่นกับ KKTS เปิดจำหน่ายให้กับประชาชนทั่วไป
“กองเปิดกว้าง วันนี้คนหลายคนรู้แล้วก็บอกว่าเมื่อไหร่เปิดบอกนะ กองนี้เวลา KKTS เข้าจดทะเบียนกองนี้ก็โตด้วย เราไม่ได้บอกว่าเราลดความเหลื่อมล้ำ เราพูดว่าเรามีวิธีไม่ถ่างความเหลื่อมล้ำ คุณต้องสร้าง SPV ให้เขา สร้าง vehicle ให้เขาขี่เพราะชาวบ้านเขาไม่รู้หรอกไปตั้งกองอย่างไร ถ้าคุณบอกว่าไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังถ้ามองออก อย่างกลุ่มทุนใจบุญก็สร้างกองอย่างนี้ใส่บริษัทเข้าไป ทำกองพวกนี้ขึ้นมาให้คนไปถือ คุณต้องมีรถให้เขาขี่เข้าตลาด และเข้าตอนพาร์ นี่คือรถคันนี้กำลังไป”


 

X

Right Click

No right click