November 22, 2024

SCB CIO มอง Fed ปรับลดอัตราดอกเบี้ย 50 bps มาอยู่ที่ 4.75%-5.00% ต่อปี พร้อมปรับลดต่อเนื่องในปีนี้อีก 50 bps และในปีหน้าอีก 100 bps จากอัตราเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มปรับลดลงเข้าใกล้เป้า 2% ของ Fed ขณะที่การจ้างงานที่อ่อนแอลง แต่ยังอยู่ในระดับที่จัดการได้ ผนวกกับภาพรวมของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ยังไม่มีสัญญาณบ่งชี้ถึงการเกิด Recession ชี้การปรับลดอัตราดอกเบี้ย ช่วยนโยบายการเงินผ่อนคลายขึ้น ต้นทุนการเงินต่ำลง หนุนกำไรบริษัทจดทะเบียนเพิ่มขึ้น แนะหุ้นสหรัฐฯ ยังให้ผลตอบแทนที่ดี กลุ่ม Quality Growth ประเภท IT รวมทั้งกลุ่ม Defensive เช่น สาธารณูปโภค สุขภาพ และสินค้าจำเป็น ยังคงน่าสนใจ

ส่วนการจัดพอร์ตเน้นกระจายความเสี่ยงโดย Core portfolio แนะลงทุนในหุ้นกู้เอกชนต่างประเทศที่มีคุณภาพสูง (IG) เน้นลงทุนตลาดหุ้นพัฒนาแล้วมากกว่าตลาดเกิดใหม่ ยังให้น้ำหนักส่วนใหญ่บนตลาดหุ้นสหรัฐฯ ด้านพอร์ตเสริม แบ่งเงินลงทุน 15 -25% ในตลาดหุ้นเวียดนามและไทย จากเศรษฐกิจเวียดนามที่มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง ส่วนไทยได้รับแรงหนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่มีออกมาอย่างต่อเนื่อง

นายศรชัย สุเนต์ตา, CFA รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงาน Investment Office and Product กลุ่มธุรกิจ Wealth ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า จากการที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) มีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 50 bps มาอยู่ที่ 4.75%-5.00% สอดคล้องกับการคาดการณ์ของตลาด และเป็นการสะท้อนให้เห็นว่า Fed มีความมั่นใจมากขึ้นบนทิศทางอัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ ที่กำลังเข้าสู่เป้าหมายที่ระดับ 2% อย่างยั่งยืน โดย Fed กล่าวว่า ความเสี่ยงในการบรรลุเป้าหมายด้านเงินเฟ้อ และการจ้างงานมีความสมดุลกัน และ Fed แสดงความมุ่งมั่นอย่างเต็มที่ในการสนับสนุนการจ้างงาน ส่วนในการคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบาย หรือ Dot Plot นั้น เจ้าหน้าที่ Fed ส่งสัญญาณปรับลดอัตราดอกเบี้ยอีก 50 bps ภายในสิ้นปีนี้ และปรับลดอัตราดอกเบี้ย 100 bps และ 50 bps ในปี 2568 และ 2569 ตามลำดับ นอกจากนี้ Fed ยังได้ปรับคาดการณ์ต่างๆ โดย Fed ปรับลดคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 2567 ลงเล็กน้อยอยู่ที่ 2.0% ต่อปี จากเดิมที่คาดไว้ในเดือน มิ.ย.ที่ 2.1% ต่อปี ปรับเพิ่มคาดการณ์อัตราการว่างงานในช่วงสิ้นปี 2567 เป็น 4.4% จากเดิมคาดไว้ที่ 4.0% ขณะที่ปรับลดคาดการณ์ของเงินเฟ้อ PCE ในช่วงสิ้นปี 2567 ลงเหลือ 2.3%YoY จากเดิมคาดไว้ที่ 2.6%YoY โดยอัตราเงินเฟ้อทั้ง PCE และ Core PCE จะเข้าสู่ระดับ 2.0% ในปี 2569 เป็นต้นไป

นายศรชัย มีมุมมองว่า แม้ว่าตลาดแรงงานจะอ่อนแอลง แต่ยังอยู่ในระดับที่จัดการได้ และยังไม่มีสัญญาณว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ กำลังเข้าสู่ภาวะถดถอย (Recession) โดยการปลดพนักงานยังอยู่ในระดับที่ต่ำ ผู้บริโภคยังคงใช้จ่าย อย่างไรก็ตาม มีสัญญาณของการชะลอตัวของเศรษฐกิจแบบ Soft landing ท่ามกลางความไม่แน่นอนที่จะเพิ่มสูงขึ้น ในช่วงการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐฯ ในเดือน พ.ย. ซึ่งจะมีผลต่อการดำเนินนโยบายการคลัง และการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐฯ นอกจากนี้ ยังมีความตึงเครียดทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังดำเนินอยู่ โดยคาดว่า Fed มีแนวโน้มปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป เมื่อเทียบกับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในอดีต โดยจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย Fed fund ลงรวม 50bps ในการประชุมช่วงที่เหลือของปีนี้ อยู่ที่ 4.25%-4.50% และปรับลดรวมอีก 100 bps ในปี 2568 ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ย Fed funds สิ้นปี 2568 อยู่ที่ 3.25%-3.50%

การปรับลดอัตราดอกเบี้ยของ Fed ในขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังไม่ได้เผชิญกับภาวะ Recession จะช่วยสนับสนุนทั้งการลงทุนในตลาดหุ้นโลก โดยเฉพาะตลาดหุ้นสหรัฐฯ รวมทั้ง ตลาดตราสารหนี้สหรัฐฯ ตามสถิติตั้งแต่ปี 2517การปรับตัวของราคาสินทรัพย์ลงทุนประเภทต่างๆ ในช่วงที่ Fed ปรับลดดอกเบี้ยนโยบายครั้งแรก ในกรณีที่ไม่เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย ตลาดหุ้นทั่วโลกและตราสารหนี้ของสหรัฐฯ มักมีผลตอบแทนที่ดี โดยเงินดอลลาร์ สรอ.มักจะอ่อนค่าลงในช่วง 12 เดือนหลังจากการปรับลดดอกเบี้ย ด้าน ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ทองคำ น้ำมัน ล้วนปรับเพิ่มขึ้น

ในส่วนของตราสารหนี้ เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ มักปรับเพิ่มความชันขึ้น เมื่อใกล้ช่วงที่ Fed เริ่มจะปรับลดดอกเบี้ยครั้งแรก อย่างไรก็ตาม หากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังเติบโตได้ และไม่มี Recession การปรับเพิ่มความชันของ Yield Curve หลังจากนี้อาจไม่มากนัก ความชันของเส้นอัตราผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้นรอบนี้ แสดงถึงความกังวลด้านเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงที่จะเกิดเศรษฐกิจถดถอยในปี 2567 ยังคงต่ำ ทำให้คาดว่า Bond Yield สหรัฐฯ จะลดลงไม่มาก และผลตอบแทนของตราสารหนี้สหรัฐฯ น่าจะมาจาก Carry Yield เป็นหลัก ซึ่งเป็นโอกาสในการสร้างกระแสเงินสดสำหรับนักลงทุนที่ต้องการพอร์ตการลงทุนที่มีความผันผวนต่ำ

แนวโน้มของตลาดหุ้น นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมีส่วนช่วยให้ต้นทุนทางการเงินต่ำลง และสนับสนุนให้กำไรของบริษัทจดทะเบียนเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ตามสถิติในอดีต หลัง Fed ปรับลดดอกเบี้ย 12 เดือน ในภาวะที่ไม่เกิด Recession หุ้นขนาดใหญ่ในสหรัฐฯ เช่น S&P 500 มักให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าหุ้นขนาดเล็ก เช่น Russell 2000 นอกจากนี้ หุ้นกลุ่ม Quality Growth อย่าง IT และกลุ่ม Defensive เช่น กลุ่มสาธารณูปโภค (Utilities) กลุ่มสุขภาพ (Healthcare) และ กลุ่มสินค้าจำเป็น (Consumer Staples) ยังคงน่าสนใจ โดยเรายังให้น้ำหนักการลงทุนในตลาดพัฒนาแล้วมากกว่าตลาดเกิดใหม่ จากกำไรของตลาดเกิดใหม่ จะเข้าสู่ช่วงชะลอตัวในปี 2568

สำหรับกลยุทธ์การลงทุน SCB CIO ยังคงยึด 3 วัตถุประสงค์หลักที่สามารถสร้างผลตอบแทนได้ดี แม้ในช่วงที่ตลาดมีความผันผวน โดยเน้นกระจายการลงทุนเพื่อลดความเสี่ยง เนื่องจากได้รวบรวมสถิติต่างๆ แล้วพบว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เดือนกันยายน มีผลตอบแทนแย่ที่สุดในทุกสินทรัพย์ และเดือนตุลาคม มีความผันผวนสูงที่สุดโดยเฉพาะตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่มีการเก็บสถิตินับตั้งแต่ 2527 นอกจากนี้ ความเสี่ยงจากปัจจัยทางการเมือง การเลือกตั้งสหรัฐฯ ที่จะมีขึ้นในเดือนพฤศจิกายนนี้ ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่สูงขึ้นทั้งจากสงครามยูเครน -รัสเซีย และความขัดแย้งระหว่างอิสราเอล และฮามาสที่มีการตอบโต้กันเป็นระลอก เราจึงให้ความสำคัญในเรื่องการกระจายการลงทุน เพื่อลดความผันผวนของพอร์ต

โดยพอร์ตลงทุนหลัก ( Core Portfolio) ลงทุนระยะยาว 1 ปีขึ้นไป ควรกระจายลงทุนในสินทรัพย์เพื่อตอบโจทย์ 3 วัตถุประสงค์หลัก ได้แก่ 1) เพื่อสร้างกระแสเงิน แนะนำลงทุนในหุ้นกู้เอกชนต่างประเทศที่มีคุณภาพสูง ( IG) ที่ให้อัตราผลตอบแทนสูงกว่าหุ้นกู้เอกชนในไทย หุ้นกู้ Perpetual ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือของผู้ออกตราสารที่สูง และตราสารหนี้นอกตลาด (Private Credit) ที่ให้ผลตอบแทนที่น่าสนใจกว่าหุ้นกู้เอกชนในตลาด ขณะที่ สามารถเลือกคุณสมบัติของผลิตภัณฑ์ที่ช่วยลดความเสี่ยงได้ เช่น มีสิทธิเรียกร้องการชำระหนี้ลำดับแรก และมีหลักประกัน เป็นต้น 2) เพื่อสร้างการเติบโต เน้นน้ำหนักการลงทุนในตลาดหุ้นพัฒนาแล้วมากกว่าตลาดเกิดใหม่ โดยยังให้น้ำหนักอยู่ในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่เศรษฐกิจยังคงชะลอตัวในระดับปานกลาง กำไรบริษัทยังเร่งตัวสูงขึ้น แต่เศรษฐกิจ และผลกำไรของบริษัทจดทะเบียนยังคงสนับสนุนการเติบโตของตลาดในระยะยาว และ 3) การป้องกันความเสี่ยงของพอร์ต ด้วยการลงทุนในทองคำ ซึ่งช่วยป้องกันความเสี่ยงความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ได้เป็นอย่างดี

ส่วนที่เหลืออาจพิจารณาลงทุนในพอร์ตเสริม (Opportunistic Portfolio) กรณีที่รับความเสี่ยงได้ในระดับปานกลาง – สูง โดยแนะนำให้แบ่งเงินลงทุนบางส่วน ประมาณ 15 -25% อาจพิจารณาลงทุนในตลาดหุ้นเวียดนาม และไทย โดยตลาดหุ้นเวียดนามน่าสนใจ เนื่องจากมีแนวโน้มได้แรงหนุนดังนี้ 1) เศรษฐกิจเวียดนามที่มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง

โดยดัชนี PMI เดือนสิงหาคม ขยายตัว 53.4 ขณะที่ การส่งออกเดือนสิงหาคม ขยายตัว 14.5% YoY 2) กำไรสุทธิบริษัทจดทะเบียน ใน 2Q2567 ขยายตัว 14%YoY และมีแนวโน้มขยายตัวดีใน 2H2567 3) เงินเฟ้อเดือนสิงหาคม อยู่ที่ 3.5%YoY ลดลงจากเดือนกรกฎาคม และต่ำกว่าเป้าระยะยาวที่ 4.5% ส่งผลให้ความกังวลมบนประเด็นการปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางเวียดนามลดลง และ 4) Valuation อยู่ในระดับที่น่าสนใจ 12M Blended Forward P/E อยู่ที่ 10.4 เท่า ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปี -1 s.d.

ส่วนตลาดหุ้นไทย มองว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2567 ต่อเนื่องถึงปี 2568 ได้แรงหนุนจากโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ปี 2567 ผ่านผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและคนพิการ โดยภาครัฐจะสนับสนุนเงินจำนวน 10,000 บาทต่อคน ที่จะช่วยกระตุ้นการบริโภคภาคเอกชน จากการเบิกจ่ายงบประมาณลงทุนของภาครัฐ ที่ต่อเนื่องมากขึ้น และ จากภาคการท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มฟื้นตัว นอกจากนี้ คาดว่า เศรษฐกิจไทยยังได้แรงหนุนจากการที่ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีแนวโน้มปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยคาดว่า ในเดือน ธันวาคม นี้ กนง.จะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 25 bps และลดต่อเนื่องในช่วงต้นปี 2568 ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 2.0%

นอกจากนี้ ตลาดหุ้นไทย ได้แรงหนุนจากผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนที่มีแนวโน้มถูกปรับประมาณการดีขึ้น ตามภาพรวมเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว ท่ามกลาง Valuation ของดัชนีหุ้นไทย (SET Index) ที่ยังอยู่ในระดับที่ไม่แพง โดย SET Index ซื้อขายอยู่บนระดับ valuation ที่น่าสนใจ โดย 12M Blended Forward P/E อยู่ที่ 14.4 เท่า ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปี อยู่ประมาณ -1.0 s.d. และมองว่า เม็ดเงินที่ไหลเข้าลงทุนในตลาดหุ้นไทยมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น ทั้งจากเม็ดเงินลงทุนของกองทุนรวมวายุภักษ์ รวมทั้งเม็ดเงินที่ไหลเข้าลงทุนผ่านกองทุนรวม Thai ESG จากการปรับปรุงมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนเพื่อความยั่งยืน ซึ่งมีแนวโน้มดึงดูดเม็ดเงินลงทุนของนักลงทุนในประเทศที่ต้องการลดหย่อนภาษี และนักลงทุนต่างประเทศ จากธรรมาภิบาลของบริษัทจดทะเบียน (Governance) ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มสภาพคล่องและมูลค่าการซื้อขายในตลาดหุ้นไทย ประกอบกับ ทิศทางเงินทุนจากต่างประเทศยังมีแนวโน้มไหลเข้าลงทุนในตลาดหุ้นไทย จาก Sentiment ที่ดีขึ้นตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและตลาดทุนที่ออกมา และจากค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นในระยะสั้น ตามการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของ Fed ซึ่งมากกว่าการปรับลดดอกเบี้ยของกนง.

สำหรับอัตราผลตอบแทนรวมของสินทรัพย์ต่างๆ ทั่วโลก นับตั้งแต่ต้นปี 2567 – YTD (18 กันยายน 2567) ทองคำให้ผลตอบแทนดีที่สุด อยู่ที่ 24.5% โดยได้รับผลบวกจากการที่ Yield ปรับตัวลดลง และธนาคารกลางของประเทศต่างๆมีความต้องการถือครองทองคำมากขึ้น รองลงมาเป็นตลาดหุ้นสหรัฐฯ 19.3% จากการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ยังดีในช่วงครึ่งแรกของปี ประกอบกับ การคาดหวังว่า Fed จะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ย และมีแรงส่งจากหุ้นกลุ่ม Tech ที่มีผลประกอบการที่ค่อนข้างดีในช่วงไตรมาสที่ 1 แม้ในไตรมาสที่ 2 ผลประกอบการจะแผ่วลงแต่ถือว่าอยู่ในทิศทางที่ค่อนข้างดี ต่อมาคือ Global REITs อยู่ที่ 13.8% ได้รับอานิสงค์จากการที่ Bond Yield ปรับตัวลดลง ทำให้ผลตอบแทนของ REITs ดีขึ้น DM Equity ex US อยู่ที่ 10.7% EM Equity อยู่ที่ 9.1% HY Bond อยู่ที่ 8.8% TIPS อยู่ที่ 5.2% IG Bond อยู่ที่ 5.1% Gov Bond อยู่ที่ 2.8% และ Oil อยู่ที่ -1.4% ส่วนการลงทุนในรายประเทศ US large อยู่ที่ 19.3% India อยู่ที่ 18.2% Vietnam อยู่ที่ 12.2% ยุโรปอยู่ที่ 11.8% China offshore 11.3% US Small 9.9% Japan 9.2% Indonesia 7.8% Thai 4.7% และ Korea -3%

SCB CIO พร้อมสนับสนุนมาตรการรัฐ กระตุ้นตลาดทุนไทย ปรับเกณฑ์เพิ่มวงเงินลงทุนกองทุน ThaiESG ไม่เกิน 30% ของเงินได้พึงประเมิน และไม่เกิน 300,000 บาท ลดระยะเวลาลงทุนเหลือเพียง 5ปี นับจากวันที่ลงทุน พร้อมดึง 6 กองทุน 3 รูปแบบ 2 ทางเลือก ได้แก่ SCBTM(ThaiESG) SCBTM(ThaiESGA) SCBTA(ThaiESG) SCBTA(ThaiESGA) SCBTP(ThaiESG) และ SCBTP(ThaiESGA) เป็นทางเลือกการออม

ที่ผ่านการคัดสรรมาอย่างดีให้กับผู้ลงทุน เพื่อตอบโจทย์ตามเป้าหมายความต้องการของลูกค้า แนะสะสมหุ้นไทยไว้ใน Core port จาก 5 ปัจจัยหลัก ที่หนุนดัชนีหุ้นไทยปีนี้ ได้แก่ 1) การเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐในปี 2567 ที่เร่งตัวขึ้น และมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง 2) Valuation ของตลาดหุ้นไทยยังอยู่ในระดับที่ไม่แพง 3) ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในปี 2567 ที่คาดว่าจะขยายตัวประมาณ 14% 4) ค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น หาก Fed ปรับลดอัตราดอกเบี้ย และ 5) การประกาศใช้มาตรการ Uptick Rule หรือ ให้ Short Sales หุ้นได้เฉพาะราคาที่สูงกว่าราคาตลาด

นายศรชัย สุเนต์ตา, CFA รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงาน Investment Office and Product กลุ่มธุรกิจ Wealth ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า SCB CIO พร้อมสนับสนุนมาตรการส่งเสริมการออมการลงทุน ภายหลังจากที่ 3 หน่วยงาน ได้แก่ กระทรวงการคลัง สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ได้สรุปแนวทางและพร้อมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายใน2 สัปดาห์นี้ ในการปรับเงื่อนไขกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน (Thailand ESG Fund : ThaiESG) โดย SCB CIO มองว่า การขยายวงเงินลงทุนจากไม่เกิน 30% ของเงินได้พึงประเมิน ที่ซื้อได้ไม่เกิน 100,000 บาท เพิ่มขึ้นเป็น ไม่เกิน300,000 บาท และลดระยะเวลาการถือครองจาก 8 ปี เป็น 5 ปี นับจากวันที่ลงทุน จะช่วยดึงดูดเม็ดเงินลงทุนเข้ามาในตลาดหุ้นไทยได้มากขึ้น จากกลุ่มผู้ลงทุนที่ต้องการรับสิทธิประโยชน์ทางภาษี และลงทุนเพื่อการออมระยะยาว โดยเฉพาะกลุ่มนักลงทุนรุ่นใหม่ กลุ่มคนที่มีรายได้ประจำ รวมถึงผู้ประกอบอาชีพอิสระ ที่ต้องการสร้างวินัยในการออม เพื่อเป้าหมายในอนาคต โดยเลือกลงทุนตามความเสี่ยงที่รับได้

นอกจากนี้ การขยายนโยบายการลงทุนให้ครอบคลุมด้านธรรมาภิบาล (Governance) ส่งเสริมความโปร่งใส จากเดิมเน้นด้านสิ่งแวดล้อม (Environment) ซึ่งจะทำให้ครอบคลุมจำนวนบริษัทจดทะเบียนใน SET และ mai เพิ่มขึ้น จาก 128 บริษัท เป็น 200 บริษัทนั้น SCB CIO มองว่า จะทำให้การลงทุนในหุ้นไทยผ่าน ThaiESG มีความครอบคลุมครบทุกมิติของ ESG และมีความหลากหลายในการเลือกลงทุนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นโอกาสในการสร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับนักลงทุนได้มากขึ้น และสร้างความเชื่อมั่นที่ดีให้กับนักลงทุนเพราะเงื่อนไขการลงทุนของบริษัทต่างๆ จะต้องเป็นไปตามเกณฑ์ที่ก.ล.ต. กำหนด

ทั้งนี้ SCB CIO แนะนำให้ผู้ลงทุน พิจารณาลงทุนในตลาดหุ้นไทยบนพอร์ตลงทุนหลัก (Core port) ที่เป็นพอร์ตการลงทุนระยะยาว โดยเรามองว่า ดัชนีตลาดหุ้นไทยมีปัจจัยสนับสนุนระยะยาว 5 ประเด็นหลักที่หนุนดัชนีหุ้นไทย ได้แก่ 1) การเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐในปี 2567 ที่เร่งตัวขึ้นประมาณ 39% ในช่วงต้นเดือน มิ.ย. 2567 และยังมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป 2) Valuation ของตลาดหุ้นไทยยังอยู่ในระดับที่ไม่แพง ใกล้เคียงกับช่วงโควิด-19 3) ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในปี 2567 ที่คาดว่าจะขยายตัวประมาณ 14% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา 4) ค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2567 หลังจากที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง จะช่วยสนับสนุนเงินทุนไหลกลับเข้าไทยมากขึ้น และ 5) การประกาศเริ่มใช้มาตรการ Uptick Rule หรือ ให้ Short Sales หุ้นได้เฉพาะราคาที่สูงกว่าราคาตลาด ล่าสุด (uptick) ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. เป็นต้นไป ซึ่งคาดว่าจะช่วยลดความผันผวนของตลาดลงได้ จากการที่ทำธุรกรรม Short Sales ได้ยากขึ้นในช่วงตลาดขาลง

สำหรับ ผู้ลงทุนที่สนใจลงทุนระยะยาว พร้อมรับสิทธิประโยชน์ทางภาษี ผ่านกองทุนรวม ThaiESG นั้น ปัจจุบัน SCB มีกองทุน ThaiESG ให้เลือก 3 รูปแบบที่ผ่านการคัดสรรมาอย่างดี และตอบโจทย์ตามความต้องการของลูกค้า โดยในแต่ละรูปแบบมี 2 ทางเลือก คือ แบบปันผล และสะสมมูลค่า ได้แก่ กองทุน SCBTM(ThaiESG) และ SCBTM(ThaiESGA) ที่ลงทุนแบบผสมหุ้นไทยและตราสารหนี้ ESG กองทุน SCBTA(ThaiESG) และ SCBTA(ThaiESGA) ที่ลงทุนหุ้นไทย ESG ด้วยกลยุทธ์บริหารเชิงรุก และกองทุน SCBTP(ThaiESG) และ SCBTP(ThaiESGA) ลงทุนหุ้นไทย ESG ที่ผลตอบแทนอิงตามดัชนี SET ESG รวมทางเลือกมากที่สุดในตลาดทั้งหมด 6 กองทุน โดยผู้ลงทุนสามารถเลือกตามความเหมาะสม และเป้าหมายของแต่ละท่านที่ตั้งไว้ รวมทั้งความเสี่ยงที่สามารถรับได้

SCB CIO วิเคราะห์หากทรัมป์ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีสหรัฐในเดือน พ.ย.นี้ คาดจะมีนโยบายที่สนับสนุนต่อเศรษฐกิจสหรัฐมากกว่าไบเดน จากการบริโภคที่ได้รับแรงหนุนนโยบายต่ออายุการลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และคงอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล ที่ส่งผลดีต่อบริษัทจดทะเบียนในสหรัฐฯ ส่วนจีนจะได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าหนักขึ้น ด้านค่าเงินในภูมิภาคเอเชีย ที่พึ่งพาการส่งออกไปสหรัฐมีแนวโน้มอ่อนค่า เช่น วอนเกาหลีใต้ ดอลลาร์ไต้หวันและเงินบาท อาจส่งผลให้เงินทุนไหลออกได้ พร้อมแนะนำลงทุนตลาดหุ้นสหรัฐฯ และตลาดหุ้นจีน A-Share บนพอร์ตลงทุนระยะยาว 1 ปีขึ้นไป แต่ต้องจับตาความผันผวนที่อาจเกิดขึ้นก่อนการเลือกตั้ง พร้อมลงทุนตลาดหุ้นจีน H-Share บนพอร์ตระยะสั้นรับแรงหนุนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากทางการจีน

น.ส.เกษรี อายุตตะกะ CFP® ผู้อำนวยการกลยุทธ์การลงทุน SCB Chief Investment Office (SCB CIO) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด(มหาชน) เปิดเผยว่า จากการติดตามผลสำรวจคะแนนความนิยมของนายโจ ไบเดน และนายโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้ท้าชิงประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในการเลือกตั้งเดือน พ.ย. 2567 นี้ ผ่านเว็บไซต์ผลสำรวจ realclearpolitics พบว่า ล่าสุด คะแนนความนิยมของทรัมป์ อยู่ที่ 47.5 นำเล็กน้อยเมื่อเทียบกับคะแนนนิยมของไบเดน ซึ่งอยู่ที่ 46.4 และในสภาคองเกรส ผลสำรวจระบุว่า พรรค Republican มีคะแนนนำเล็กน้อยในสภาผู้แทนราษฎร หรือสภาล่าง ส่วนวุฒิสภา หรือสภาบน คะแนนทั้งสองพรรคใกล้เคียงกันมาก

ทั้งนี้ SCB CIO วิเคราะห์ผลกระทบเปรียบเทียบระหว่างทรัมป์หรือไบเดน เป็นประธานาธิบดีสมัยหน้า โดยมองว่า หากทรัมป์เป็นประธานาธิบดีจะมีนโยบายที่สนับสนุนต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ มากกว่าไบเดน เนื่องจากการบริโภคจะได้รับแรงหนุน จากนโยบายต่ออายุการลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ที่จะหมดอายุลงในปี 2568 ขณะที่ไบเดนมีแผนเก็บภาษีรายได้บุคคลธรรมดาเพิ่มขึ้นสำหรับผู้ที่มีความมั่งคั่งสูง แต่การบริโภคสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ อาจได้รับผลกระทบบ้างจากนโยบายของทรัมป์ ที่จะเก็บภาษีนำเข้าสินค้าทั้งหมดจากจีนมากกว่า 60% และสินค้านำเข้าจากประเทศคู่ค้าอื่น 10% ส่วนการส่งออกสุทธิ อาจได้รับผลกระทบจากต้นทุนนำเข้าสินค้าทุนที่แพงขึ้น และจากการตอบโต้กลับของประเทศอื่น ทำให้สหรัฐฯ สูญเสียความได้เปรียบทางการแข่งขัน ต่างจากไบเดนที่เก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนเพิ่มขึ้นโดยพุ่งเป้าเฉพาะสินค้ายุทธศาสตร์ของจีนเป็นหลักทำให้ไม่ส่งผลกระทบมากนัก

ด้านการลงทุน จะคงอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลไว้ที่ 21% หรืออาจปรับลดเพิ่มเติม รวมทั้งมีนโยบาย American First เพิ่มการผลิตในประเทศ ทดแทนการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ ส่วนการคลังจะขาดดุลการคลังมากขึ้น ทำให้ต้องออกพันธบัตรรัฐบาล (Bond) เพิ่มขึ้น และอาจเผชิญข้อจำกัด เนื่องจากยอดหนี้สาธารณะต่อ GDP ที่เพิ่มขึ้นนับตั้งแต่ช่วงโควิด ซึ่งจากข้อมูลของสำนักงานงบประมาณรัฐสภา (CBO) ในปี 2567 คาดว่า หนี้สาธารณะต่อ GDP จะอยู่ที่ 99% ต่างจากเมื่อปี 2559 ที่ทรัมป์เป็นประธานาธิบดี ซึ่งอยู่ที่ 77% และสหรัฐฯ จะมีปัญหาชนเพดานหนี้อีกครั้ง จากที่ได้ขยายเวลาเพดานหนี้ไปถึงช่วงต้นปี 2568

สำหรับอัตราเงินเฟ้อ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น หากทรัมป์เป็นประธานาธิบดี เพราะการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจีนและประเทศคู่ค้าอื่น จะทำให้ต้นทุนการนำเข้าของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น และอาจเกิดปัญหาห่วงโซ่อุปทานหยุดชะงัก (Supply Chain Disruption) นอกจากนี้ ยังเผชิญแรงกดดันจากการเพิ่มการขาดดุลการคลัง รวมทั้งการจำกัดการอพยพย้ายถิ่นฐานที่จะไปกดดันอุปทานแรงงาน ต่างจากไบเดนที่อัตราเงินเฟ้ออาจเพิ่มขึ้นน้อยกว่า เนื่องจากมีการกระตุ้นทางการคลัง และการปรับขึ้นภาษีนำเข้าน้อยกว่า

ขณะที่ทิศทางนโยบายการเงิน เราคาดว่าทรัมป์จะดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย และยังมีแนวโน้มลดอัตราดอกเบี้ย โดยเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ (US Yield Curve) มีแนวโน้มชันมากขึ้น จากเงินเฟ้อคาดการณ์ที่เพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งการออกบอนด์ที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ Bond Yield ระยะยาวปรับเพิ่มขึ้น (Yield Curve ชันมากขึ้น) อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่เผชิญข้อจำกัดในการใช้นโยบายการคลัง โดยเฉพาะกรณีไม่สามารถครองเสียงข้างมากทั้ง 2 สภา ทรัมป์อาจจะกดดันให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ปรับลดอัตราดอกเบี้ย ส่งผลให้ Bond Yield ระยะสั้นปรับลดลง และทำให้ Yield Curve มีความชันเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ อาจส่งผลให้เกิดความเสี่ยงบนความต่อเนื่องของนโยบายการเงินได้ โดยมีแนวโน้มที่จะไม่ต่ออายุนายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟด ที่จะครบวาระในวันที่ 15 พ.ค. 2569 และน่าจะแต่งตั้งประธานเฟดคนใหม่ ที่มีนโยบายปรับลดอัตราดอกเบี้ย ซึ่งอาจทำให้มีการผ่อนคลายทางการเงินมากเกินไป ส่งผลให้การคาดการณ์เงินเฟ้อปรับเพิ่มขึ้น

สำหรับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินคู่ค้า จากความเสี่ยงการปรับขึ้นภาษีนำเข้า และสงครามการค้าโลกที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น รวมทั้งยังมีแรงหนุนจากการปรับลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา การออกบอนด์เพิ่มขึ้น ที่จะทำให้ Bond Yield เพิ่มขึ้นด้วย ตรงกันข้ามกับไบเดน เป็นประธานาธิบดี ที่ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ มีแนวโน้มทรงตัวถึงอ่อนค่า ตามทิศทางการลดอัตราดอกเบี้ยของเฟด

ในส่วนของผลต่อตลาดหุ้นสหรัฐฯ นั้น จากสถิติในอดีต พบว่า ตลาดหุ้นสหรัฐฯ มักผันผวนเพิ่มขึ้นในช่วงก่อนการเลือกตั้งสหรัฐฯ แต่เมื่อการเลือกตั้งผ่านพ้นไปแล้ว ความผันผวนจะปรับลดลง ทั้งนี้ หากทรัมป์ เป็นประธานาธิบดี จะเป็นผลดีต่อบริษัทจดทะเบียนในสหรัฐฯ มากกว่าไบเดน จากการปรับลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ที่จะส่งผลให้ผู้บริโภคใช้จ่ายเพิ่มขึ้น และทำให้ยอดขายสินค้าเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ขณะที่การปรับลดภาษีเงินได้นิติบุคคล จะช่วยหนุนให้กิจการมีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม การปรับขึ้นภาษีนำเข้าอาจกระทบปัจจัยพื้นฐานของตลาดหุ้น โดยเฉพาะผู้ที่นำเข้าสินค้ามาเพื่อผลิตต่อ ขณะที่ผู้ส่งออก ยังมีแนวโน้มเผชิญการตอบโต้กลับด้านภาษีการค้าของประเทศอื่นๆ ส่วน Valuation มีแนวโน้มปรับลดลง จากการที่ Bond Yield ระยะยาว มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะปัจจุบันที่ Valuation อยู่ในระดับที่ค่อนข้างแพงมากกว่าในอดีต นอกจากนี้ เรามองว่า การที่ ทรัมป์ได้รับชัยชนะจะทำให้ความไม่แน่นอนในการดำเนินนโยบายต่างๆ ที่อาจจะเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งการสื่อสารนโยบายผ่านช่องทางต่างๆ เข่น Twitter (X) และการดำเนินมาตรการคว่ำบาตรต่างๆ เป็นต้น ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ลงทุนในตลาดหุ้นต้องการผลตอบแทนเพื่อชดเชยความเสี่ยง (Equity Risk Premium) สูงขึ้น กดดัน Valuation ของดัชนีตลาดหุ้นสหรัฐฯ ได้

ส่วนกรณีที่ ไบเดน เป็นประธานาธิบดี จะเป็นผลดีต่อบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นสหรัฐฯ น้อยกว่า โดยแนวโน้มกำไรต่อหุ้น (EPS) มีความเสี่ยงจะได้รับแรงกดดันจากการปรับขึ้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และการเก็บภาษีการซื้อหุ้นคืนด้วย ขณะที่ ราคาต่อกำไรต่อหุ้น (P/E) มีโอกาสปรับเพิ่มขึ้นบ้างจากการที่ Bond Yield มีแนวโน้มเป็นขาลง และความไม่แน่นอนในการดำเนินนโยบายต่างๆ ปรับลดลง

น.ส.เกษรี กล่าวว่า สำหรับผลที่มีต่อประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะจีน จากนโยบายของ ทรัมป์ และ ไบเดนนั้น ถือว่าเป็นลบกับจีนทั้งคู่ แต่นโยบายของทรัมป์ จะส่งผลกระทบต่อจีนมากกว่า เพราะนอกจากเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจีนทั้งหมดแล้ว ยังมีแนวโน้มลดระดับความสัมพันธ์ทางการค้ากับจีน ยกเลิกการนำเข้าสินค้าที่จำเป็นจากจีน ตั้งแต่สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เหล็ก ไปจนถึงยา ภายใน 4 ปี ทั้งยังขึ้นภาษีนำเข้ารถยนต์จีนที่ผลิตในเม็กซิโกในอัตรา 100% กำหนด

ข้อจำกัดการถือครอง (ownership) ของจีน ในโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของสหรัฐฯ เช่น พลังงาน เทคโนโลยี การแพทย์ และการสื่อสาร และยังออกกฎใหม่เพื่อหยุดการลงทุนของบริษัทสหรัฐฯ ในจีนอีกด้วย

อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมาจีนมีการเตรียมการรับมือเอาไว้แล้ว ด้วยการปรับห่วงโซ่อุปทานและปรับช่องทางการค้า โดยกระจายความเสี่ยงส่งออกไปยังประเทศอื่นๆ มากขึ้น ซึ่งจะช่วยจำกัดผลลบต่อเศรษฐกิจจีนได้ ประกอบกับธนาคารกลางจีน (PBoC) อาจยอมปล่อยให้เงินหยวนอ่อนค่าลงเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ ในระดับที่ไม่ทำให้เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดเงินทุนไหลออก ซึ่งก็จะช่วยบรรเทาผลลบจากกำแพงภาษีได้อีกทาง

ในส่วนของผลกระทบต่อประเทศอื่นในภูมิภาคเอเชียนั้น เรามองว่า การปรับขึ้นภาษีสินค้านำเข้าของสหรัฐฯ รวมทั้งความไม่แน่นอนของตลาดที่มากขึ้น อาจส่งผลให้ค่าเงินในเอเชียผันผวนมากขึ้น โดยเฉพาะสกุลเงินที่พึ่งพาการส่งออกไปยังสหรัฐฯ สูง และเกินดุลการค้าสหรัฐฯ ค่อนข้างมาก เช่น วอนเกาหลีใต้ ดอลลาร์ไต้หวัน และเงินบาท ซึ่งอาจทำให้เงินทุนไหลออกได้ ขณะที่ค่าเงินรูปีอินเดีย รูเปียห์อินโดนีเซีย และเปโซฟิลิปปินส์ อาจได้รับผลกระทบน้อยกว่า เพราะพึ่งพาการส่งออกไปสหรัฐฯ และจีนค่อนข้างต่ำ

สำหรับคำแนะนำการลงทุนของ SCB CIO ในปัจจุบัน เราแนะนำให้ลงทุนตลาดหุ้นสหรัฐฯ บน Core Portfolio ซึ่งเป็นพอร์ตลงทุนหลัก สำหรับการลงทุนระยะยาว 1 ปีขึ้นไป โดยเรามองว่า จะเริ่มเห็นการขยายตัวของกำไรบริษัทจดทะเบียนไปยังหุ้นอื่นๆ นอกเหนือจากกลุ่มหุ้นที่มีมูลค่าสูงที่สุดในตลาด 7 ตัว (Magnificent 7) มากขึ้น รวมทั้งเห็นการกระจายตัวของกำไรในอุตสาหกรรมอื่นๆ นอกเหนือจากกลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศ กลุ่มธุรกิจบริการสำหรับผู้บริโภค และกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือย ซึ่งจะช่วยประคอง Valuation ของตลาดหุ้นสหรัฐฯ ให้อยู่ในระดับสูงได้

ส่วนตลาดหุ้นจีน A-Share เราแนะนำลงทุนบน Core Portfolio เช่นกัน เนื่องจากมีแนวโน้มได้รับแรงหนุนจากเศรษฐกิจที่ทยอยฟื้นตัว ตามความคาดหวังของนักลงทุนบนการออกมาตรการกระตุ้นเพิ่มเติม ในการประชุม 3rd Plenum และการประชุม Politburo ช่วงเดือนก.ค. นี้ แม้เมื่อเข้าใกล้การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ดัชนีตลาดหุ้นจีน A-Share อาจมีแนวโน้มเผชิญความผันผวนเพิ่มมากขึ้น จากท่าทีที่แข็งกร้าวมากขึ้นของทางสหรัฐฯ ก็ตาม

ในส่วนของตลาดหุ้นจีน H-Share เราแนะนำให้ลงทุนบน Opportunistic Portfolio ซึ่งเป็นพอร์ตเสริมโอกาสระยะสั้น เฉพาะนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้ปานกลางถึงสูง เนื่องจาก มีแนวโน้มได้แรงหนุนจาก 1) การออกมาตรการกระตุ้นเพิ่มเติมของทางการจีน โดยเฉพาะบนมาตรการเยียวยาภาคอสังหาริมทรัพย์ 2) เงินลงทุนไหลเข้า (Inflows) ผ่านช่องทาง Southbound stock connect ที่มีแนวโน้มมากขึ้น ตามการผ่อนคลายที่สนับสนุนตลาดทุน 3) การซื้อหุ้นคืนเพิ่มขึ้น และการเพิ่มเงินปันผลของบริษัทจดทะเบียนจีนที่ไปจดทะเบียนในตลาดหุ้น H-Share (offshore) โดยเฉพาะกลุ่มอินเทอร์เน็ตรายใหญ่ ซึ่งอาจช่วยหนุนอัตราผลตอบแทนต่อส่วนผู้ถือหุ้น (ROE) และ valuation และ 4) การคาดการณ์กำไรต่อหุ้น (EPS) ของตลาด H-Share ที่มีแนวโน้มทรงตัวถึงถูกปรับตัวเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี ข้อพิพาททางการค้าระหว่างจีนกับคู่ค้าต่างๆ และประเด็นข้อพิพาทช่องแคบไต้หวัน โดยล่าสุด จีนซ้อมรบใหญ่รอบไต้หวัน อ้างว่าเป็นการลงโทษท่าทีแบ่งแยกดินแดนของประธานาธิบดีไต้หวันคนใหม่ อาจเพิ่มความผันผวนแก่ตลาดได้

SCB CIO จับตา 3 ปัจจัยเสี่ยง ที่อาจกระทบการลงทุนหากเกิดความขัดแย้งระหว่างประเทศ ทั้งสงครามจริง และสงครามทางเศรษฐกิจ ได้แก่ ราคาพลังงาน ห่วงโซ่อุปทานของโลก และความเชื่อมั่นต่อการลงทุน โดย ณ ปัจจุบันความขัดแย้งในตะวันออกกลาง ระหว่างอิสราเอล-อิหร่าน คาดว่าความรุนแรงจะอยู่ในวงจำกัด แม้ราคาน้ำมันจะปรับตัวขึ้น อยู่ในช่วง 80-90 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ประเทศต่างๆ ยังพอจะรับมือกับความเสี่ยงของเงินเฟ้อได้ ซึ่งไม่มีความจำเป็นที่จะต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย แต่การปรับลดอัตราดอกเบี้ยจะช้าลงกว่าเดิม ด้านตลาดหุ้นทั่วโลกได้รับผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในระยะสั้นเท่านั้น จึงแนะนำให้ทยอยลงทุนในตลาดหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานดี เช่น ตลาดหุ้นเกาหลีใต้ ตลาดหุ้นเวียดนาม และกองทุนผสม (multi asset) ที่มีความยืดหยุ่น ผู้จัดการกองทุนปรับตามสถานการณ์ของตลาดได้ดี แนะนำเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในทองคำ จับจังหวะช่วงราคาปรับตัวลง แนะนำมีในพอร์ต 5-10% ตามความเสี่ยงที่รับได้ เพื่อกระจายความเสี่ยง ลดความผันผวนของพอร์ตลงทุน หากเกิดภาวะไม่ปกติขึ้นอีกในอนาคต

นายศรชัย สุเนต์ตา, CFA รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงาน Investment Office and Product กลุ่มธุรกิจ Wealth ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า ภาพรวมเหตุการณ์ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitical Risk) มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น จากข้อมูลในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ความถี่ของเหตุการณ์สูงกว่าค่าเฉลี่ยในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา โดยมีทั้งสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ -จีน และ สงครามที่เกิดความรุนแรง ได้แก่ สงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ,อิสราเอล-ฮามาส (ปาเลสไตน์) และล่าสุดอิสราเอล-อิหร่าน ซึ่งเหตุการณ์เหล่านี้เป็นหนึ่งในปัจจัยลบ ที่ทำให้นักลงทุนมีความกังวลเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ SCB CIO แนะนำให้ผู้ลงทุนจับตาว่า ความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitical Risk ) จะมีผลกระทบต่อการลงทุนมากน้อยเพียงใด ผ่านปัจจัยเสี่ยงที่ต้องจับตา 3 ด้าน ได้แก่ 1) ผลกระทบจากราคาพลังงาน โดยเฉพาะความขัดแย้งในตะวันออกกลาง ที่เป็นแหล่งผลิตน้ำมันและก๊าซหลักของโลก 2) ผลกระทบจากห่วงโซ่อุปทานของโลกหยุดชะงัก ซึ่งจะมีผลต่อเศรษฐกิจ และ 3) ผลกระทบต่อ Sentiment การลงทุนในตลาด โดยอาจพิจารณาได้จาก ความขัดแย้งจะรุนแรงและขยายวงหรือไม่ เนื่องจากสงครามทำให้เกิดต้นทุนทางเศรษฐกิจ หากมีความรุนแรง และยืดเยื้อ ก็จะสร้างความเสียหายแก่เศรษฐกิจประเทศต่างๆ รวมถึงเศรษฐกิจโลกได้ แต่ในกรณีที่ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อ 3 ด้านนี้ ผลกระทบต่อตลาดการลงทุนก็อาจจะมีไม่มาก

ตัวอย่างเช่น กรณีศึกษาในอดีตจาก สงครามคูเวต ที่อิรักมีการบุกเข้ายึดครองคูเวตที่มีน้ำมันมหาศาล และมีการต่อสู้กับกองกำลังประเทศพันธมิตรตะวันตก ซึ่งอิรักตอบโต้กลับด้วยการระเบิดบ่อน้ำมันในคูเวต พร้อมเทน้ำมันจำนวนมหาศาลลงในอ่าวเปอร์เซีย ซึ่งเหตุการณ์นี้ทำให้เกิดการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน ราคาน้ำมันมีการปรับขึ้นไปถึง 50%

ส่งผลต่อ Sentiment ของตลาด จึงทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกในช่วง 3 เดือนหลังเกิดเหตุการณ์ ปรับตัวลดลงถ้วนหน้า โดยดัชนี MSCI World ตัวแทนดัชนีตลาดหุ้นโลก โดยเฉพาะตลาดพัฒนาแล้ว ปรับลดลง 9.69% ส่วนดัชนี MSCI EM ตัวแทนดัชนีตลาดหุ้นเกิดใหม่ ปรับลดลง 26.27% หรือกรณีสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่กระทบราคาอาหาร เมล็ดพันธุ์พืช และพลังงานอย่างมาก เนื่องจากชาติตะวันตกคว่ำบาตรน้ำมันจากรัสเซีย ขณะที่ รัสเซียตอบโต้กลับโดยการปิดท่อส่งก๊าซ นอร์ต สตรีม 1 ไปยังสหภาพยุโรป โดยราคาน้ำมันปรับขึ้นไป 15% ซึ่งเหตุการณ์นี้มีผลกระทบต่อตลาดหุ้นโลกค่อนข้างสูง โดยพบว่า ดัชนี MSCI World ปรับลดลง 7.08% ส่วนดัชนี MSCI EM ปรับลดลง 11.71%

ขณะที่ สงครามรัสเซีย-ไครเมีย ที่ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมัน ตลาดหุ้นก็ยังทำผลงานได้ตามปกติ หรือช่วงอิสราเอลโจมตีปาเลสไตน์ในเขตกาซา และไม่ขยายวงไปยังประเทศผู้ผลิตน้ำมันในตะวันออกกลาง ก็ไม่ส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันมากนัก ตลาดหุ้นยังสามารถเป็นบวกได้

สำหรับ สถานการณ์สงครามอิสราเอล-อิหร่าน ที่เกิดขึ้นล่าสุด ช่วงกลางเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา เรามองว่า ความขัดแย้ง ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น แต่มีมานับตั้งแต่ปี 2522 แล้ว เพียงแต่ในอดีตเป็นการทำสงครามตัวแทน (Proxy war) ผ่านกลุ่มต่างๆ ที่อิหร่านสนับสนุน เช่น กลุ่มฮิซบอลเลาะห์ (เลบานอน) กลุ่มติดอาวุธปาเลสไตน์ ฮามาส (ฉนวนกาซา) และกลุ่มฮูตี (เยเมน) แต่ขณะนี้เริ่มกลายเป็นสงครามระหว่างกันโดยตรง (Direct war) ที่ความรุนแรงเริ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตาม เราประเมินว่า ความเสียหายยังอยู่ในวงจำกัด เนื่องจากทั้ง 2 ฝ่าย ไม่ได้เล็งเป้าหมายสำคัญทางยุทธศาสตร์ที่จะทำให้เกิดความเสียหายจำนวนมาก เพราะทราบดีว่า หากลุกลามบานปลายจะทำให้เกิดผลเสียทั้งคู่ อีกทั้งสหรัฐฯ ก็ไม่ได้สนับสนุนอิสราเอลในการทำสงครามกับอิหร่าน

ทั้งนี้ เราประเมินผลกระทบจากสงครามอิสราเอล-อิหร่าน เป็น 3 กรณี คือ 1) Baseline กรณีสงครามอยู่ในวงจำกัด ซึ่งปัจจุบันเรามองว่ายังอยู่ในกรณีนี้ จะทำให้ราคาน้ำมันปรับขึ้นบ้าง แต่ไม่ทะลุ 100 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล แต่อาจยืนอยู่ในระดับ 80-90 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ซึ่งเป็นระดับที่ประเทศต่างๆ ยังรับมือกับเงินเฟ้อได้และทำให้ยังไม่มีความจำเป็นต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย แต่การปรับลดอัตราดอกเบี้ยจะช้าลงกว่าเดิม ตลาดหุ้นทั่วโลกอาจได้รับผลกระทบเชิง Sentiment ระยะสั้น ซึ่งที่ผ่านมาตลาดหุ้นทั่วโลกปรับฐานมาระยะหนึ่งแล้ว แต่เมื่อตลาดเริ่มคลายกังวล ปรับตัวได้ ก็จะกลับมาพิจารณาปัจจัยพื้นฐานเป็นหลัก จึงแนะนำให้ทยอยลงทุนในตลาดหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานดี เช่น ตลาดหุ้นเกาหลีใต้ ตลาดหุ้นเวียดนาม และกองทุนผสม (multi asset) ที่มีความยืดหยุ่น ผู้จัดการกองทุนปรับตามสถานการณ์ของตลาดได้ดี

2) Challenging กรณีสงครามยืดเยื้อ การสู้รบเป็นแบบเอาจริงเอาจังมากขึ้น มีการโจมตีโครงสร้างพื้นฐานการผลิตพลังงานของแต่ละประเทศ โจมตีจุดยุทธศาสตร์สำคัญที่มีประชากรอาศัยอยู่มาก จะส่งผลให้ราคาน้ำมันเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 100-120 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) และธนาคารกลางอื่นๆ อาจจะยังไม่ปรับลดดอกเบี้ย ซึ่งกรณีนี้จะทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลก ไม่สามารถยืนอยู่ในระดับปัจจุบันได้ อาจปรับฐานมากขึ้น เนื่องจากนักลงทุนยังรับรู้ผลกระทบเป็นเพียงแค่กรณี Baseline จึงแนะนำให้หยุดลงทุนในหุ้นเพิ่มเติม พร้อมเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในทองคำ แต่เรามองว่า โอกาสเกิดกรณีนี้ยังมีไม่มากนัก

3) Extreme กรณีสงครามเกิดขึ้นจริง และ ขยายวงเป็นสงครามภูมิภาคตะวันออกกลาง ที่มีความรุนแรงมากขึ้น จะส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันอย่างมาก เนื่องจากในภูมิภาคตะวันออกกลางมีผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ของโลกรวมตัวกันอยู่ หากห่วงโซ่อุปทานหยุดชะงักมากยิ่งขึ้นก็จะยิ่งน่ากังวล โดยเฉพาะ หากอิหร่านปิดช่องแคบเฮอร์มุซ ซึ่งมีปริมาณน้ำมันไหลเวียนถึง 20% ของตลาดน้ำมันโลก ทำให้ผู้ผลิตน้ำมันที่อยู่รอบช่องแคบนี้ ส่งออกน้ำมันไม่ได้ หรือการผลิตทำได้น้อยลง ราคาน้ำมันอาจปรับขึ้นไปไกลมากกว่า 150 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล จากเดิมธนาคารกลางหลักๆ ของโลกอาจจะมีนโยบายลดดอกเบี้ย ก็อาจต้องเปลี่ยนมาเป็นปรับขึ้นดอกเบี้ยได้ เนื่องจากเกิดผลกระทบต้นทุนราคาน้ำมันที่ส่งผลผ่านไปยังเงินเฟ้อนานกว่าที่ประเมินไว้ ซึ่งสถานการณ์นี้จะส่งผลกระทบการลงทุนมาก หากนักลงทุนมีกำไรจากการลงทุนในตลาดหุ้น แนะนำให้ขายเพื่อทำกำไร แล้วซื้อเงินดอลลาร์สหรัฐ และทองคำ เนื่องจาก เงินดอลลาร์สหรัฐ เป็นสกุลเงินที่อยู่ในทุนสำรองทั่วโลก ดังนั้นค่าเงินก็อาจจะแข็งค่าขึ้นได้

ขณะที่ ทองคำ มีความน่าสนใจ เนื่องจาก เป็นสินทรัพย์ที่นักลงทุนมองว่าปลอดภัย (Safe Haven) เพราะสู้เงินเฟ้อได้ และสู้กับความเสี่ยงภาวะสงครามได้ ในช่วงที่สงครามรุนแรงมากขึ้น ประกอบกับ คนเริ่มมีความกังวลประเด็นหนี้สาธารณะของสหรัฐฯ ที่สูงเป็นประวัติการณ์ อีกทั้ง ประเทศหลักๆ ที่มีความขัดแย้งกับสหรัฐฯ ได้กระจายความเสี่ยง ลดการถือเงินดอลลาร์สหรัฐในทุนสำรอง แล้วหันไปถือทองคำมากขึ้น ทำให้ความต้องการซื้อทองคำเพิ่มขึ้น ดังนั้น ราคาทองคำจึงยังมีโอกาสปรับตัวได้อีกมาก ในระยะกลาง 1-2 ปีขึ้นไป เพียงแต่ในระยะสั้นราคาอาจปรับฐานได้ เพราะปรับขึ้นมารวดเร็ว จากความกังวลของสงคราม

นายศรชัย กล่าวว่า นักลงทุนควรให้ความสำคัญกับการกระจายความเสี่ยง ลงทุนในสินทรัพย์ที่หลากหลายยิ่งขึ้น มากกว่าการเน้นลงทุนในตลาดหุ้นเพียงอย่างเดียว โดยอาจจะลงทุนผ่านกองทุนรวมผสม ที่มีผู้จัดการกองทุนดูแลปรับพอร์ตลงทุนตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน หากยังมีสินทรัพย์ทางเลือก เช่น ทองคำ ในพอร์ตลงทุนอยู่น้อย อาจพิจารณาเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในทองคำ ในช่วงที่ราคาทองคำปรับลดลง โดยควรมีประมาณ 5-10% ของพอร์ตโดยรวม ขึ้นอยู่กับความเสี่ยงของแต่ละคนที่ยอมรับได้ การมีทองคำในพอร์ตลงทุน จะช่วยผ่อนคลายความผันผวนของพอร์ตลงทุนในช่วงที่มีเหตุการณ์ไม่ปกติได้ นอกจากนี้ ควรให้ความสำคัญเรื่องการลงทุนอย่างต่อเนื่อง (Stay Invested) สำหรับเป้าหมายการลงทุนระยะยาว มากกว่าการถือเงินสดเพื่อรอจับจังหวะเวลาเข้าลงทุนในตลาด (Market Timing) ซึ่งมีโอกาสพลาดได้มาก และการถือเงินสด ไม่สามารถสู้เงินเฟ้อได้

SCB CIO ประเมินมุมมองเศรษฐกิจและการลงทุน หลังผลเลือกตั้งอินโดนีเซีย ที่นายปราโบโว ซูเบียนโต ได้รับคะแนนเสียงสูงสุด เตรียมเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี ในวันที่ 20 ต.ค. นี้  เดินหน้านโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ และสวัสดิการสังคม พร้อมสานต่อนโยบายรัฐบาลชุดเดิม สร้างเศรษฐกิจให้เติบโตด้วยกลไกตลาดเสรี  ดึงดูดเงินลงทุนจากต่างชาติ และเน้นการพึ่งพาตัวเองมากขึ้น ทั้ง ด้านพลังงาน อาหาร และน้ำ รวมทั้ง ลดการพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศ   ตั้งเป้าเศรษฐกิจอินโดนีเซียเติบโตเฉลี่ย 6-7% ต่อปี   SCB CIO ยังคงมุมมอง Neutral   แม้หุ้นกลุ่มธนาคารเติบโตดี    Valuationของตลาดหุ้น อยู่ในระดับต่ำ  และรายได้ (Earning) ของบริษัทจดทะเบียน คาดว่ามีแนวโน้มขยายตัวได้ดีในปีนี้ที่กว่า 12% และปี 2568 กว่า 9%  แต่ยังมีปัจจัยกังวลในเรื่องภาคการส่งออกที่หดตัวอย่างต่อเนื่อง    การปรับลดลงของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ และความเสี่ยงที่รัฐบาล อาจปรับเพิ่มเพดานขาดดุลการคลังต่อ GDP จาก 3% เป็น 6% ที่อาจจะกระทบต่อเสถียรภาพทางการคลังระยะกลางถึงยาวได้

ดร.กำพล  อดิเรกสมบัติ  ผู้อำนวยการอาวุโส และหัวหน้าทีม SCB Chief Investment Office (SCB CIO)  ธนาคารไทยพาณิชย์  เปิดเผยว่า จากการเลือกตั้งประธานาธิบดีอินโดนีเซีย เมื่อวันที่ 14 ก.พ. 2567 ผลการนับคะแนนแบบไม่เป็นทางการ (Quick Count) ที่มีความแม่นยำค่อนข้างสูง ชี้ว่า นายปราโบโว  ซูเบียนโต (Prabowo Subianto)ได้คะแนนเฉลี่ย 58% ของคะแนนเสียงทั้งหมด ทำให้ นายปราโบโว คว้าชัยชนะจากการเลือกตั้งประธานาธิบดี และเตรียมรอเข้าพิธีสาบานตนรับตำแหน่งอย่างเป็นทางการในวันที่  20 ต.ค.นี้ โดยไม่น่าจะต้องมีการเลือกตั้งรอบสอง เนื่องจากเป็นไปตามกฎการเลือกตั้งประธานาธิบดีอินโดนีเซียที่ระบุว่า กรณีผู้สมัครชนะการเลือกตั้ง ต้องได้คะแนนมากกว่า 50% และ ได้คะแนนอย่างน้อย 20% ในจังหวัดต่างๆ มากกว่าครึ่งหนึ่งของจังหวัดทั้งประเทศ หากไม่มีผู้สมัครคนใดได้คะแนนเสียงถึงเกณฑ์ที่กำหนด จึงจะจัดเลือกตั้งรอบสอง ให้ผู้สมัครที่มีคะแนนเสียงอันดับ 1 และ 2 ชิงชัยชนะกัน

เมื่อวิเคราะห์นโยบายหาเสียงของนายปราโบโว พบว่า โดยภาพรวมเน้นไปที่การกระตุ้นเศรษฐกิจ และด้านสวัสดิการสังคม นโยบายหลักๆ ได้แก่ ด้านสุขภาพ อสังหาริมทรัพย์ แรงงาน การคลัง และ สวัสดิการสังคม โดยตัวอย่างนโยบายเด่นๆ เช่น จัดตรวจสุขภาพฟรีให้ประชาชนทุกคนปีละ 1 ครั้ง พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของหมู่บ้านและตำบลอย่างต่อเนื่อง เพิ่มเงินเดือนข้าราชการ จัดตั้งสำนักงานสรรพากรของรัฐ แยกออกมาจากกระทรวงการคลัง เพื่อเพิ่มอัตราส่วนรายได้ภาครัฐต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) และเพิ่มโปรแกรมบัตรสวัสดิการสังคม เพื่อขจัดความยากจนอย่างแท้จริง เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังพร้อมสานต่อนโยบายรัฐบาลของนายโจโก วีโดโด (Joko Widodo) ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน เช่น นโยบายโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะโครงการสร้าง "นูซันตารา" เมืองหลวงแห่งใหม่ ทั้งยังต้องการมุ่งเน้นให้เศรษฐกิจเติบโตด้วยกลไกตลาดเสรี  ดึงดูดเงินลงทุนจากต่างชาติ และเน้นการพึ่งพาตัวเองมากขึ้นด้านพลังงาน อาหาร และน้ำ รวมทั้ง ลดการพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศด้วย

สำหรับช่วง 5 ปีต่อจากนี้ที่ นายปราโบโว  จะเข้ามาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ได้ตั้งเป้าหมายเศรษฐกิจอินโดนีเซียเติบโตเฉลี่ย 6-7% ต่อปี  ซึ่งสูงกว่าที่ IMF คาดอยู่ที่ 5% ระหว่างปี 2024-2025 นอกจากนี้ ยังต้องการลดจำนวนคนว่างงานลงประมาณ 2 ล้านคน ภายใน 5 ปี ผ่านการสืบสานและต่อยอดนโยบายประธานาธิบดี โจโก ซีโดโด โดยเราคาดว่า จะช่วยสนับสนุนภาคการลงทุน จากการที่ภาคเอกชนมีความมั่นใจมากขึ้น และการเพิ่มการใช้จ่ายงบลงทุน (CAPEX) ส่วนการบริโภค คาดว่าจะได้รับผลบวกจากการใช้จ่ายภาครัฐฯ ในด้านสังคม ที่มีแนวโน้มดำเนินต่อไป ตามที่ได้ผ่านงบประมาณรายจ่ายไว้แล้ว ขณะเดียวกัน  นายปราโบโว ประกาศไว้ว่าจะเริ่มต้นเดินหน้านโยบายที่หาเสียงไว้หลายประการทันทีที่เข้ามาบริหารประเทศเต็มตัว จึงเป็นแรงกระตุ้นการบริโภคภาคเอกชน ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจระยะต่อไป

ทั้งนี้ SCB CIO มีมุมมองเชิงบวกเพิ่มขึ้นต่อตลาดหุ้นอินโดนีเซีย โดยมองว่าตลาดหุ้นได้รับแรงหนุนระยะสั้น จากปัจจัยดังนี้  1) การเลือกตั้งที่มีแนวโน้มสำเร็จในรอบแรก ส่งผลบวกต่อ sentiment บนตลาดหุ้นอินโดนีเซีย 2) ผลประกอบการของกลุ่มธนาคารยังมีแนวโน้มเติบโตดี 3) Valuation ของตลาดหุ้นอินโดนีเซีย อยู่ในระดับที่น่าสนใจ โดยเทรดอยู่บน ราคาต่อกำไรต่อหุ้นในระยะข้างหน้า (forward PE) ที่ 13.7x หรือยังอยู่ในระดับต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปี ประมาณ -1 s.d. และ 4) Earnings ของบริษัทจดทะเบียนยังมีแนวโน้มขยายตัวได้ดีในปี 2567 ที่ประมาณ +12.2%   และในปี 2568  คาดว่าจะขยายตัวได้ต่อเนื่องที่ +9.4%

อย่างไรก็ตาม เรายังคงมุมมอง Neutral (ถือ) บนตลาดหุ้นอินโดนีเซียอยู่ เนื่องจากประเด็นความกังวลที่มีอยู่ ได้แก่ 1) ภาคการส่งออกที่หดตัวอย่างต่อเนื่อง 2) การปรับลดลงของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ซึ่งจะส่งผลต่อการส่งออก ดุลบัญชีเดินสะพัด และรายได้ภาครัฐฯ ของอินโดนีเซีย 3) ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับลดลง อาจส่งผลกดดันต่อรายได้สุทธิของรัฐบาลให้ปรับลดลง และ 4) ความเสี่ยงที่รัฐบาลภายใต้การนำของ นายปราโบโว อาจปรับเพิ่มเพดานขาดดุลการคลังต่อ GDP จากปัจจุบันที่ 3% เป็น 6% ซึ่งหากเกิดขึ้น จะกระทบต่อเสถียรภาพทางการคลังระยะกลางถึงยาว และส่งผลลบต่อค่าเงินรูเปี๊ยะให้อ่อนค่าลง และ Bond Yield อินโดนีเซีย อาจกลับมาปรับตัวเพิ่มขึ้นได้

Page 1 of 4
X

Right Click

No right click