ไม่ว่าใครก็อยากให้บ้านเกิดเมืองนอนของตัวเองเจริญรุดหน้า เพื่อส่งมอบเมืองที่มีคุณค่าต่อให้กับลูกหลานที่จะเป็นผู้ใช้ประโยชน์จากพื้นที่นั้นในอนาคต การพัฒนาเมืองจึงไม่ได้เป็นเพียงหน้าที่ของภาครัฐที่จะกำหนดแนวทางการพัฒนาเมืองต่างๆ เพียงอย่างเดียว หากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องและใกล้ชิดมากที่สุดคือ ประชากรที่อาศัยอยู่ในเมืองนั้นๆ ก็ควรจะสามารถกำหนดทิศทางการพัฒนาเมืองที่อยากให้เป็นในอนาคตได้
ในประเทศไทยการพัฒนาเมืองโดยภาครัฐส่วนใหญ่ยังกระจุกตัวอยู่ในเขตเมืองหลวง ด้วยจำนวนประชากรที่มากและความใกล้ชิดของผู้มีบทบาทในการตัดสินใจรวมถึงปัญหาที่สะสมมายาวนาน ทำให้ต้องเร่งจัดการพัฒนาเมืองในด้านต่างๆ ที่เห็นได้ชัดคือ การสร้างระบบขนส่งมวลชนที่กำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้างไปทั่วเมืองในขณะนี้ จากภาพการพัฒนาเมืองในประเทศไทยที่ผ่านมา ส่งผลให้คนขอนแก่นกลุ่มหนึ่งตั้งคำถามกับวิธีคิดพัฒนาเมืองของภาครัฐและมองหาทางออกด้วยการรวมกลุ่มกัน ก่อตั้ง บริษัท ขอนแก่นพัฒนาเมือง จำกัด (KKTT) เพื่อศึกษาหาแนวทางพัฒนาเมืองขอนแก่นอย่างที่ควรจะเป็น และได้บทสรุปเป็นแผนแม่บทที่จะบรรจุไว้ในแผนยุทธศาสตร์จังหวัดขอนแก่นเกี่ยวกับสมาร์ตซิตี้ในอีกไม่นานนี้
“ขอนแก่นโมเดล” คือชื่อที่พวกเขาเลือกใช้นำเสนอแนวคิดวิธีการพัฒนาเมืองในรูปแบบที่ยังไม่เคยมีเมืองอื่นในประเทศไทยคิดทำกันมาก่อน
สุรเดช ทวีแสงสกุลไทย ผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท ขอนแก่นพัฒนาเมือง จำกัด KKTT, รองคณบดีฝ่ายบริหาร วิทยาลัยปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น, ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ช ทวี จำกัด (มหาชน) พูดถึงคำว่า ‘ขอนแก่นโมเดล’ ว่า ต้องการเปลี่ยนภาพพจน์ที่เคยมีกับคำนี้เสียใหม่ ให้เป็นเรื่องที่ดี และวันนี้พวกเขาก็สามารถล้างคำเก่าที่เคยมีมา กลายเป็นความหมายใหม่ที่รับรู้กันว่า ขอนแก่นโมเดล คือ “ความหมายของการสามัคคี เอกชนร่วมรัฐพัฒนาเมือง” นับเป็นความสำเร็จขั้นต้นของ KKTT ที่ทำได้แล้ว
ในขั้นต้น KKTT พบว่าปัญหาในการพัฒนาท้องถิ่นที่พบเห็นคือปัญหาเรื่องการขับเคลื่อนและงบประมาณที่จะมาสนับสนุนการพัฒนา แต่ก็ยังมีหนทางสำหรับการแก้ไขปัญหาดังกล่าวด้วยการใช้ความร่วมมือระหว่างเอกชนและภาครัฐท้องถิ่นในการพัฒนา ในด้านทุนก็เลือกใช้ตลาดทุนและงบประมาณของภาครัฐมาขับเคลื่อนโครงการให้เดินหน้าต่อไป เพื่อสร้างประโยชน์ให้กับท้องถิ่น แก้ปัญหาที่เรื้อรังของประเทศไทยในหลายด้านอย่างยั่งยืน โดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจและสังคมของชุมชนให้เติบโตอย่างมีคุณภาพ ภายใต้แผนงานขอนแก่นสมาร์ตซิตี้ ซึ่งเริ่มต้นสร้างฐานด้วยระบบขนส่งมวลชนเพื่อพัฒนาเมืองพร้อมกับพัฒนาระบบอื่นๆ ไปพร้อมกัน
สุรเดชบอกว่า ระบบขนส่งเป็นเรื่องที่ยากที่สุดในการทำสมาร์ตซิตี้ เพราะหากใช้ขั้นตอน PPP (Public Private Partnership) การลงทุนร่วมระหว่างภาครัฐและเอกชนตามปกติ จะต้องใช้เวลาประมาณ 10-11 ปีโครงการจึงจะสำเร็จ แต่ด้วยความร่วมมือร่วมใจกันของทั้งภาครัฐและเอกชนในขอนแก่นจึงสามารถจัดทำแนวทางใหม่ที่เปิดให้พัฒนาโครงการภายใต้กระทรวงมหาดไทยโดยท้องถิ่นเป็นผู้ดำเนินงานซึ่งสามารถลดขั้นตอนการดำเนินการลงได้ถึงครึ่งหนึ่ง
บริษัท ขอนแก่น ทรานซิท ซิสเต็ม จำกัด (KKTS) จัดเป็นวิสาหกิจของรัฐ มีโครงสร้างผู้ถือหุ้นคือ 5 เทศบาลในขอนแก่น ประกอบด้วย เทศบาลนครขอนแก่น เทศบาลเมืองศิลา เทศบาลตำบลสำราญ เทศบาลตำบลเมืองเก่า
และเทศบาลตำบลท่าพระซึ่งได้รับอนุญาตจากกระทรวงมหาดไทยให้จัดตั้งบริษัทเรียบร้อยแล้ว คือหน่วยงานขับเคลื่อน ‘โครงการขอนแก่น Smart City (ระยะที่ 1) ก่อสร้างระบบ ขนส่งมวลชนระบบรางเบา รถไฟฟ้ารางเบา LRT สายเหนือ-ใต้ (สำราญท่าพระ) ต้นแบบในเมืองภูมิภาคจังหวัดขอนแก่นพร้อมกับการพัฒนาโครงสร้างเมืองและการจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อการสร้างโครงสร้างเมืองอย่างนำสมัยและยั่งยืน’ ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอีกไม่นานนี้
KKTS จะทำหน้าที่ควบคุมดูแลการดำเนินโครงการ ด้วยวิธีระดมทุนจากภาคเอกชนในท้องถิ่นและเอกชนทั่วประเทศเพื่อดำเนินโครงการโดยไม่เป็นภาระหนี้ภาครัฐ
KKTS’ s Wealth
สุรเดชอธิบายเรื่องทรัพย์สินของ KKTSว่า “เกิดจากมูลค่าโครงการที่มีอยู่ 15,000 ล้านบาท ถ้าโครงการนี้เสร็จ ซึ่ง KKTS ก็กู้เงินเขามาสร้าง แต่เมื่อเขาเริ่มดำเนินการ และเกิดกำไรขึ้นมาซึ่งที่เราดีไซน์กำไร กำไรคุณจดทะเบียนได้ เมื่อเข้าจดทะเบียนอย่างบริษัทผม (CHO) มูลค่าบริษัทขึ้นมา 7 เท่า นี่ระดับจังหวัดของประเทศไทย ผมว่า 10 เท่าเป็นอย่างต่ำ ถึงประเมินไว้ 150,000 ล้านบาท บริษัทนี้ถ้าอยากทำโครงสร้างพื้นฐานต่อก็ทำไป จะเอาหุ้นไปค้ำประกันบ้าง ก็ได้”
ทำไมรถไฟฟ้าขอนแก่นไม่ขาดทุน
เป็นที่ทราบกันดีกว่าการลงทุนในระบบขนส่งไม่ใช่โครงการที่สามารถสร้างผลกำไรได้อย่างรวดเร็ว สุรเดชมีคำตอบให้กับเรื่องการเงินของระบบรถไฟฟ้าที่เป็นจุดเริ่มต้นการสร้างขอนแก่นสมาร์ตซิตี้ว่า “ข้อแรกคือรถไฟฟ้าขอนแก่นใช้ Technology Transfer ผลิตเองในประเทศต้นทุนถูกลง แต่ปัญหาคือ IRR (Internal Rate of Return อัตราผลตอบแทนภายใน) ออกมาแค่ 2 เปอร์เซ็นต์ ไม่มีใครมาลงทุนด้วยหรอก แต่ขอที่ดินตรงนี้ มีที่นาอยู่กลางเมืองขอนแก่นของกระทรวงเกษตร แล้วที่นานี้ติดโครงการเอามาทำดีโป้ให้รถไฟฟ้า เป็นโครงการเดียวกัน โครงการก็จะเป็นรถไฟฟ้าแล้วมีที่นามาสวม ก็เป็นโครงการเดียวกันที่มีการพัฒนาที่ดินบวกรถไฟฟ้า พอทำIRR มาก็กลายเป็น 12 เปอร์เซ็นต์ ตัวที่ดินสร้างผลตอบแทนได้ประมาณ 10 รถไฟฟ้า 2 กลายเป็นว่าขอนแก่นใช้เงินแค่ 15,000 ล้าน ทำโครงการนี้แล้วรัฐไม่ต้องลงทุน รัฐให้ที่กับบริษัทของรัฐ KKTS ไปพัฒนา ที่ 231 ไร่ ใช้ได้จริงๆ ประมาณ 100 ไร่ ที่เหลือจะเป็นบึงขนาดใหญ่ ทำที่จอดรถ แล้วทำมิกซ์ยูส ห้างโรงแรม อยู่ข้างใน ที่ถามรายรับมาจากไหน ก็จากการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์และการเดินขนส่งมวลชน และค่าตั๋วของขอนแก่นเป็นค่าตั๋วที่ทุกอาชีพขึ้นได้ ค่าตั๋วสูงสุด 20 บาท นี่เป็นการทำโครงการที่เป็นขนส่งมวลชนจริงๆ”
แนวคิดการพัฒนาเมืองด้วยระบบขนส่งของ KKTT เริ่มจากการมองเห็นปัญหาของเมืองในประเทศไทยว่า เมืองด้านในเริ่มร้างผู้คนเพราะรถติดไม่สามารถหาที่จอดรถได้ ผู้คนย้ายออกไปอยู่อาศัยด้านนอกเมืองและมาใช้งานอาคารในเมืองช่วงกลางวัน การจะสร้างเมืองที่กระชับ (Compact City) จึงเริ่มด้วยการวางแผนให้มีรถรางวิ่งระหว่างเหนือใต้กลางถนนมิตรภาพ และเชื่อมต่อกับเมืองด้านในด้วยเส้นทางฟื้นฟูเมือง ร่วมกับระบบขนส่งมวลชนในเมืองที่พัฒนามาแล้ว 3 ปี
“คือเมืองไม่โตไปกว่านี้แล้ว คำว่าโตแบบไม่กลวง เพราะนี่คือสินทรัพย์ของประเทศนะ ห้องแถว อย่าบอกว่าเป็นทรัพย์สินของนาย ก. สร้างแล้วปิดไว้เฉยๆ”
สุรเดชเล่าตัวอย่างเมืองทั่วโลกที่เปลี่ยนเมืองด้วยการนำระบบขนส่งเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิตของผู้คนในเมืองจากเมืองที่ใช้รถยนต์เป็นเมืองที่ใช้ระบบขนส่งและการเดินจนพัฒนาเป็นเมืองที่คน 62 เปอร์เซ็นต์ไม่มีรถยนต์เป็นของตัวเอง เช่นเมืองพอร์ตแลนด์ รัฐออริกอน สหรัฐอเมริกา โดยคณะทำงานไปเรียนรู้จาก Portland State University เกี่ยวกับวิธีพัฒนาเมือง การกำหนดผังเมือง กำหนดแผนงานต่างๆ
“นี่เป็นการ Disruption วันนี้เป็นเรื่อง Disruption เป็นการทำลายอย่างสร้างสรรค์ ประเทศไทยจะไปต่อในโลกของการเปลี่ยนแปลง จะต้องเป็น Constructive Disruption แล้วเราจะยอมลอกคราบไหม แสบ เจ็บแต่ต้องทำ” สุรเดชระบุ
การผลักดันขอนแก่นเป็นสมาร์ตซิตี้ภายใต้ขอนแก่นโมเดล นอกจากจะได้ระบบขนส่งมวลชนภายในเมืองเพื่อช่วยฟื้นฟูเมือง ลดปัญหาการจราจรภายในเมืองแล้ว ยังส่งผลต่อเนื่องถึงการพัฒนาเมืองด้านอื่นๆ สุรเดชสรุปว่า ช่วยลดการก่อหนี้สาธารณะของภาครัฐด้วยการระดมทุนผ่านตลาดทุน ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เป็นการร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนแบบเข้มข้นเห็นได้ชัดเจน ส่งเสริมอุตสาหกรรมระบบรางในประเทศด้วยการกำหนดให้รถที่ใช้ต้องใช้รูปแบบ Technology Transfer นำแบบจากต่างประเทศมาสร้างเองภายในประเทศ นอกจากนี้ยังช่วยเพิ่ม Market Capital ให้กับตลาดทุนไทย เพิ่มงบประมาณในการพัฒนาท้องถิ่นให้กับประเทศ มีความโปร่งใสมากขึ้นจากการนำบริษัทเข้าจดทะเบียน และเป็นการวางแผนพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืนป้องกันปัญหาในอนาคต
ตามแผนงานขอนแก่นสมาร์ตซิตี้ที่วางไว้ถึงปี 2573 จะเห็นว่าระบบขนส่งทางรางเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการพัฒนาเมือง ยังมีแผนงานอีกจำนวนมากที่รอการดำเนินการเพื่อทำให้เมืองขอนแก่นกลายเป็นเมืองแห่งโอกาสสำหรับทุกคน รองรับความท้าทายต่างๆ ในอนาคตได้อย่างยั่งยืน
“ฐานคือฮาร์ดแวร์ ขึ้นไปคือซอฟต์แวร์ ที่สำคัญคือตรงนี้เราได้งบมา 100 ล้านบาท มาทำ SCOPC (Smart City Operation Center) ซึ่งเป็นหัวใจ สมาร์ตซิตี้ต้องกลายเป็น IOT หมด สมาร์ตซิตี้คืออินฟราทั้งหมด และผมจัดโครงสร้างขอนแก่นไว้ว่าฝั่งสถาบันการศึกษาอยากทำก็มาฝั่งนี้ อยากมาเรื่องการลงทุนมาฝั่งนี้”
การจะสร้างแผนงานพัฒนาเมืองโดยใช้ความร่วมมือของภาครัฐและเอกชนในท้องถิ่นร่วมกันผลักดันจนได้ในระดับเมืองขอนแก่นไม่ใช่เรื่องง่าย สุรเดช ย้อนความหลังกว่าที่แผนจะเดินมาถึงจุดนี้ว่า เริ่มจากเอกชน 20 รายรวมกันเป็น KKTT แล้วก็เริ่มเดินสายคุยกับเทศบาล
“คุยเทศบาล 5 ปี คุยกันเองอีก 2 ปี กว่าจะสรุปว่าเดินหน้าทำกันเถอะ แต่ยังไม่รู้ว่าจะทำอะไร ยังไม่เห็นภาพ ทุกคนบอก ถ้าเราออกเงิน 200 ล้านแล้วเปลี่ยนเมืองขอนแก่นได้จริง ถูกนะ เราทำ 3 ขั้นตอน ขั้นที่ 1 เราลงเงินเองหมด ไปศึกษาไปดูงานพาเทศบาลไป ลงทุนรถบัส ไม่มีเงินหลวง บาทเดียวก็ไม่เอา ขั้นที่ 2 ตั้งบริษัท KKTS ได้แล้ว ตอนนี้เปิดประมูลแล้ว ต่อไป ขั้นที่ 3 คือก่อสร้าง เสร็จแล้ว KKTS ก็จดทะเบียนเข้าตลาดฯ”
สุรเดชใช้ทฤษฎี 3 เหลี่ยมเขยื้อนภูเขาของ นพ.ประเวศ วะสี อธิบายสิ่งที่กำลังทำอยู่ว่า เป็นการเคลื่อนไหวทางสังคมคือการที่ภาคเอกชนรวมตัวกับหน่วยงานรัฐท้องถิ่นได้ สร้างความรู้ให้คนในเมืองขอนแก่นได้ทราบถึงประโยชน์ของระบบขนส่งมวลชนและเรื่องอื่นๆ และสุดท้ายคือได้ภาครัฐ (คสช./รัฐบาล) อนุมัติโครงการ
เคล็ดลับการเขยื้อนภูเขาของจังหวัดขอนแก่นคือการพูดคุยกันมาต่อเนื่องเกือบ 15 ปี ไม่ว่าจะเป็นใน KKTT เทศบาล อบจ. จังหวัด เอ็นจีโอ สื่อสารมวลชน รวมถึงประชาชนคนขอนแก่น ผ่านเวทีต่างๆ ผลที่ได้คือวิสัยทัศน์ร่วมสำหรับเมืองขอนแก่นที่เป็นที่รับทราบของคนในพื้นที่ ซึ่งลงไปถึงคนรุ่นใหม่ที่กลายเป็นกำลังสำคัญในการช่วยกระจายข้อมูลข่าวสารให้กับโครงการ
สุรเดชตอบคำถามว่าทำไมขอนแก่นจึงพร้อมกว่าจังหวัดอื่นในการทำโครงการเช่นนี้ว่า เกิดจากไม่มีความขัดแย้งทางการเมืองในจังหวัด การเมืองท้องถิ่นไม่อิงกับพรรคใหญ่ และคนในเมืองมีภาพจำเรื่องความเสียสละ ช่วยเหลือซึ่งกันและกันมาตั้งแต่รุ่นพ่อรุ่นแม่ กลุ่มคนที่อยู่ในกลุ่มร่วมคิดร่วมทำอยู่ในวัยเดียวกันคือเป็นคนรุ่นอายุประมาณ 50 ปี โดยเหล่าผู้อาวุโสของจังหวัดก็เปิดทางคอยให้กำลังใจแทนที่จะลงมาควบคุม รวมถึงหน่วยงานท้องถิ่นภาครัฐก็มีความมุ่งมั่นในการพัฒนาเมืองโดยไม่หวังพึ่งแต่งบประมาณจากรัฐบาลเพียงอย่างเดียว
“สุภาษิตจีน บอกว่าสังคมยิ่งใหญ่เมื่อชายชราปลูกต้นไม้ที่รู้ดีว่าตัวเองไม่ได้ใช้ เราทำไป ผมอาจจะได้ใช้ รุ่นที่เขาลงเงินแก่ๆ อาจไม่ได้เห็น แต่เด็กๆ วันนี้เห็นต้นไม้ของเขาแล้ว อย่างน้อยเขาเห็นขุดหลุมปลูกกันจริง เริ่มกันแล้วตั้งแต่โครงสร้าง
มียุทธศาสตร์จังหวัดแล้ว” สุรเดชกล่าว
ภายหลังจากขอนแก่นโมเดลเกิดขึ้นปัจจุบันแนวคิดนี้เริ่มกระจายไปสู่เมืองอื่นๆ 14 จังหวัดทั่วประเทศ โดยมีการรวมกลุ่มกันแบ่งปันความรู้และวิธีคิด เพื่อที่แต่ละจังหวัดจะไปหาแผนงานที่เหมาะสมกับท้องถิ่นตัวเองในการพัฒนาเมืองต่อไป สุรเดชมองว่า เคล็ดลับในการทำให้ประสบความสำเร็จนั้นต้องไม่ลืมเรื่องการสื่อสาร
“ขอนแก่นตั้งมา 7 ปีกลายเป็นฝังเข้าไปในดีเอ็นเอแล้วว่า ทำอะไรอย่าลืมประชาสังคม ทำอะไรอย่าลืมเทศบาล อบจ.ต้องเรียกมา 24 องค์กรจีนอีก แต่พวกนี้พอขึ้นมาบางเมืองไปเร็วไป พอลืมก็มีเสียบ่นด่า ก็เกิดความขัดแย้งพวกนี้ต้องไปช้าเวลามีอะไรก็เรียก ถึงเขาไม่ไปเราก็ไปนั่งเล่า นั่งพูดให้เขาฟัง แต่ละกลุ่มก็ต้องมีความรู้แต่ละชุด เรื่องพวกนี้ก็ต้องทำ หลายๆ เมืองวิ่งเร็วเกินไปทำให้บางทีสะดุดบ้าง ก็เกิดท้อขึ้นมา”
สุรเดชมองภาพเมืองขอนแก่นที่จะเกิดขึ้นภายหลังโครงการพัฒนาเมืองให้กลายเป็นสมาร์ตซิตี้เดินหน้าไปว่า ขอนแก่นจะเป็นเมืองแห่งโอกาส “หมายความว่าคนจะมาขอนแก่น เป็นเมืองที่มีโอกาส เมืองที่เข้ามาแล้วเสมอภาคกัน คนดีที่ต้องการทำเรื่องสุจริตมีโอกาส ความเท่าเทียมในการเจริญเติบโต สร้างสิ่งดีๆ ให้เมือง”
ขณะเดียวกันประชากรส่วนใหญ่ของขอนแก่นกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ที่เป็นเกษตรกรก็ไม่พลาดโอกาสที่จะเติบโตไปกับเมืองที่กำลังพัฒนาด้วยโครงการ Smart Farming ที่มุ่งเน้นเพิ่มศักยภาพของเกษตรกรในจังหวัดขอนแก่นให้สามารถสร้างรายได้สูงขึ้น และมีโอกาสเข้าถึงการลงทุนผ่านกองทุนที่จะเปิดขึ้นมาให้ลงทุนใน KKTS
“เวลาคอมเมนต์ พวกเอ็นจีโอ ประชาสังคม เขาก็จะบอกว่า สมาร์ตซิตี้เหมือนไข่ดาว ทำแต่ในเมืองเป็นไข่แดง ผมบอกว่าไม่ใช่ พี่ไปอ่านสมาร์ตซิตี้ขอนแก่นเป็นไข่เจียว เริ่มแรกคือสมาร์ตฟาร์มมิ่ง เรื่องของเกษตรกรล้วนๆ ในเฟสแรก 60 เปอร์เซ็นต์ของพวกเราคือเกษตรกร เราต้องเปลี่ยนโครงสร้างรายรับเขา เขาจะต้องเปลี่ยนโครงสร้างรายรับ เมืองไม่จำเป็นต้องเจริญทั้งหมด เขายังเป็นทุ่งนาเหมือนเดิม แต่เขาต้องปลูกของที่แพงขึ้นกว่าเดิมเขาต้องมีรายรับที่ดีกว่าเดิม และเขายังมีโอกาสขี่รถเข้าตลาดทุนที่พวกเราทำไว้อีก นั่นคือการเปลี่ยนโครงสร้างรายรับของเขา เปลี่ยนโครงสร้างรายรับของเมือง”
ตามแผนที่เขียนไว้ภายใน 12 ปี จีดีพีของขอนแก่นจะเพิ่มขึ้นประมาณหนึ่งเท่า หรือมีจีดีพีเท่ากับประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยยังมีการดูเรื่องดัชนีความสุขประกอบไปด้วย สุรเดชมองว่าหากโครงการระบบขนส่งมวลชนนี้สามารถเดินหน้าได้ก็จะช่วยสร้างความมั่นใจให้มีมากขึ้น และจะช่วยกระตุ้นให้เกิดการค้าการลงทุนต่อเนื่องในจังหวัด ตัวเลขจีดีพีภายในจังหวัดที่หวังว่าจะขยับขึ้นถึงจุดที่ตั้งเป้าหมายไว้อาจจะเร็วขึ้นมาได้อีก
สุรเดชมองว่าการเตรียมความพร้อมให้กับเมืองขอนแก่น เป็นเรื่องที่คนรุ่นเขาต้องเตรียมไว้ให้กับรุ่นลูกรุ่นหลานเพื่อรับมือกับกระแสโลกาภิวัตน์ที่ไหลบ่าเข้ามาอย่างรวดเร็ว เพื่อให้เมืองขอนแก่นสามารถหาข้อสรุปแบบวิน-วินกับกระแสที่เข้ามาได้ คนขอนแก่นมีวิธีคิด มีเครื่องมือในการรับมือกับความท้าทายที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
และ ‘ขอนแก่นโมเดล’ คือตัวอย่างรูปแบบการทำงานร่วมกันของภาครัฐท้องถิ่นและภาคธุรกิจที่เหนียวแน่น โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มคุณค่าและมูลค่าให้กับเมืองอย่างเป็นระบบ เพื่ออนาคตของลูกหลานขอนแก่นที่จะได้ใช้ชีวิตประกอบสัมมาชีพ ท่ามกลางกระแสความเปลี่ยนแปลงของโลกยุคปัจจุบัน
SPV หรือ Special Purpose Vehical นิติบุคคลหรือบริษัทจัดการที่ตั้งขึ้นมาเพื่อเป็นเครื่องมือในการระดมทุนคืออีกคำหนึ่งที่สุรเดชพูดถึงตลอดการสนทนา เพราะการจะลดช่องว่างระหว่างคนรวยคนจน จำเป็นต้องอาศัยตลาดทุนเป็นเครื่องมือหนึ่ง โดยจะจัดตั้งกองทุนที่มีวัตถุประสงค์ในการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของเมืองขอนแก่นกับ KKTS เปิดจำหน่ายให้กับประชาชนทั่วไป
“กองเปิดกว้าง วันนี้คนหลายคนรู้แล้วก็บอกว่าเมื่อไหร่เปิดบอกนะ กองนี้เวลา KKTS เข้าจดทะเบียนกองนี้ก็โตด้วย เราไม่ได้บอกว่าเราลดความเหลื่อมล้ำ เราพูดว่าเรามีวิธีไม่ถ่างความเหลื่อมล้ำ คุณต้องสร้าง SPV ให้เขา สร้าง vehicle ให้เขาขี่เพราะชาวบ้านเขาไม่รู้หรอกไปตั้งกองอย่างไร ถ้าคุณบอกว่าไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังถ้ามองออก อย่างกลุ่มทุนใจบุญก็สร้างกองอย่างนี้ใส่บริษัทเข้าไป ทำกองพวกนี้ขึ้นมาให้คนไปถือ คุณต้องมีรถให้เขาขี่เข้าตลาด และเข้าตอนพาร์ นี่คือรถคันนี้กำลังไป”