September 23, 2024

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics ชี้รายได้ธุรกิจโรงแรมขยับแตะ 88% ของรายได้ศักยภาพ (Potential Income) (1) บนความเปราะบางของการเติบโตแบบไม่เท่าเทียมที่รายได้กระจุกตัวในกลุ่มผู้ประกอบการรายใหญ่เพิ่มสูงขึ้น และรายได้ไม่ได้กระจายไปยังเมืองรองอย่างมีประสิทธิภาพเท่าที่ควร แนะรัฐยกระดับนโยบายกระตุ้นเที่ยวเมืองรองให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นโดยลดข้อจำกัดและเพดานการใช้มาตรการพร้อมแนวทางช่วยเหลือยกระดับผู้ประกอบ SMEs

ธุรกิจโรงแรมในปี 2567 นับเป็นธุรกิจที่น่าสนใจเนื่องจากเป็นธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 สูงที่สุด ส่งผลให้ขนาดธุรกิจหดตัวลงจากจุดสูงสุดเดิมกว่า 65% ในปี 2564 (2.87 แสนล้านบาท ลดลงเหลือ 1.01 แสนล้านบาท) อย่างไรก็ตามการฟื้นตัวของธุรกิจมีสัญญาณกลับมาฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลง โดยในปี 2565 อุตสาหกรรมโรงแรมฟื้นตัวได้เกินกว่า 70% และด้วยแรงส่งจากภาคท่องเที่ยวในปี 2566 ทำให้ตัวเลขจากภาคท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดหนุนแรงส่งอุปสงค์ภาคโรงแรมบนข้อจำกัดด้านอุปทานที่ไม่สามารถเพิ่มได้อย่างรวดเร็วเพื่อตอบสนองอุปสงค์ ส่งผลให้ราคาห้องพักในภาพรวมปรับเพิ่มขึ้น ทำให้รายได้ของภาคโรงแรมสามารถก้าวผ่านจุดสูงสุดเดิมที่ระดับ 3.28 แสนล้านบาท

ทั้งนี้ ในปี 2567 ด้วยแรงส่งจากภาคท่องเที่ยวจากทั้งจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่คาดว่ามากกว่า 35 ล้านคน และนักท่องเที่ยวชาวไทยที่สร้างประวัติศาสตร์ต่อเนื่องจำนวน 320 ล้านคน-ครั้งแล้ว พฤติกรรมการเปลี่ยนแปลงบนโครงสร้างประชากรที่กลุ่มนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่เป็นวัยทำงาน เฉพาะแค่ในกลุ่ม Gen X และ Gen Y ครอบคลุมแล้วกว่า 70.5% ของกลุ่มประชากรที่เป็นอุปสงค์การท่องเที่ยว ซึ่งจัดว่าเป็นกลุ่มที่มีความพร้อมด้านการเงินเพียงพอในการตอบโจทย์ด้านการหาความสะดวกสบายในการท่องเที่ยว ทำให้ความเต็มใจจ่ายต่อทริปเพิ่มสูงขึ้นและส่งผลต่อการเลือกโรงแรมสามารถตอบโจทย์และได้รับความสะดวกสบายมากขึ้น ส่งผลให้แรงส่งดังกล่าวขยับรายได้ของธุรกิจโรงแรมเพิ่มเป็น 3.70 แสนล้าน (รายได้ธุรกิจโรงแรมประเมินจากข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า และประเมินผ่าน Potential Income(1) ของจำนวนโรงแรมที่สำรวจโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ) อย่างไรก็ตาม การเติบโตในเชิงของรายได้ในธุรกิจโรงแรมยังแฝงไว้ด้วยความเปราะบางสำคัญซึ่งประกอบด้วย

1) การกระจายรายได้ที่ไม่สมมาตรระหว่างผู้ประกอบการรายเล็กและรายใหญ่ โดยในปี 2562 สัดส่วนรายได้ของธุรกิจโรงแรมระหว่างผู้ประกอบการรายย่อย (SMEs) และ รายใหญ่มีขนาดใกล้เคียงกันในอัตราส่วน 45 : 55 แต่หลังจากการฟื้นตัวในปี 2566 อัตราส่วนกลับเปลี่ยนไปอยู่ที่ 37 : 63 บนความเป็นไปได้ที่สัดส่วนรายได้ของผู้ประกอบการ SMEs จะปรับตัวลดลงต่อเนื่อง จากการที่ผู้ประกอบการรายใหญ่มีข้อได้เปรียบหลายประการ เช่น 1) ความได้เปรียบด้านต้นทุนในการบริการ (Economy

of Scale) ที่ช่วยให้ผู้ประกอบการรายใหญ่มีอัตราส่วนต้นทุนห้องพักต่อลูกค้าหนึ่งรายมีราคาขายต่ำกว่า 2) ความได้เปรียบจากบริการที่หลากหลาย (Economy of Scope) เนื่องจากในโรงแรมขนาดใหญ่มีการบริการที่ครบวงจร (Full Services) ตอบสนองกลยุทธ์ในรูปแบบ On Demand ที่มีความยืดหยุ่นและผู้เข้าพักแรมสามารถปรับเพิ่มลดบริการเสริมให้ตอบโจทย์กับความต้องการได้เพิ่มมากขึ้น และ 3) ความได้เปรียบจากธุรกิจอื่นที่มีความสัมพันธ์กัน (Conglomeration Economy) โดยปกติกลุ่มธุรกิจโรงแรมขนาดใหญ่มักมีธุรกิจในอุตสาหกรรมอื่น เช่น สปา ร้านอาหาร ธุรกิจแฟชั่น อสังหาริมทรัพย์ หรือ ห้างสรรพสินค้า ที่อาจใช้ประโยชน์จากธุรกิจอื่นผ่านรูปแบบสิทธิประโยชน์ เช่น บัตรกำนัลในการใช้บริการธุรกิจในเครือเดียวกัน เป็นต้น

2) การกระจุกตัวรายได้เกิดในเมืองหลักในรูปแบบ Gateway City ที่สะท้อนถึงความสัมฤทธิ์ผลที่ไม่สมบูรณ์ของโครงการท่องเที่ยวเมืองรองที่ประสบความสำเร็จในเรื่องของจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ประสิทธิผลของการกระจายเม็ดเงินเข้าสู่พื้นที่เมืองรองยังไม่มากเท่าที่ควร เนื่องจากเมืองรองยังไม่สามารถพัฒนาศักยภาพเพื่อดึงดูดให้เกิดการพักแรม ส่งผลให้เม็ดเงินส่วนใหญ่ยังคงหมุนเวียนในพื้นที่เมืองท่องเที่ยวหลัก ตัวอย่างเช่น พื้นที่ภาคตะวันออกในปี 2566 เทียบกับปี 2565 ที่มีนักท่องเที่ยวในจังหวัดจันทบุรีเพิ่มขึ้นเกิน 200% แต่รายได้โรงแรมเติบโต 27% ในขณะที่ชลบุรีที่มีผู้เยี่ยมเยือนเพิ่มขึ้น 50% แต่รายได้โรงแรมเติบโตถึง 70%

ดังนั้น แม้ธุรกิจโรงแรมยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นสอดรับกับภาคการท่องเที่ยวที่ยังเติบโตต่อเนื่อง แต่ยังแฝงด้วยความเปราะบาง ด้วยเหตุดังกล่าว หากธุรกิจโรงแรมและการท่องเที่ยวไทยจะสามารถพัฒนาต่อได้อย่างยั่งยืน และเต็มรูปแบบ ทางttb analytics แนะภาครัฐควรเร่งพัฒนาศักยภาพ ผ่านนโยบายที่มีความต่อเนื่องและขยายผล เพื่อเพิ่มแต้มต่อให้กับธุรกิจโรงแรมในเมืองรองและกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อย ดังนี้

1. การสนับสนุนท่องเที่ยวเมืองรองให้เต็มประสิทธิภาพ ส่งผลให้สามารถใช้สิทธิประโยชน์จากโครงการต่าง ๆ ได้เต็มที่ เช่น สิทธิประโยชน์ลดหย่อนภาษีในโครงการ”เที่ยวเมืองรอง 2567” ที่กำหนดไว้ไม่เกิน 15,000 บาท โดยถ้าพิจารณาถึงเงินจำนวนดังกล่าวอาจเกิดจากการเดินทางแค่ 1 ทริป การท่องเที่ยวเมืองรองในทริปถัดไปอาจไม่จูงใจให้นักท่องเที่ยวเดินทางไปเมืองรอง รวมถึงเมื่อพิจารณา การนำรายจ่ายท่องเที่ยวเมืองรองมาหักภาษีได้เต็มจำนวนโดยไม่กำหนดเพดานอาจส่งผลดีกับรายรับของภาครัฐ เนื่องจากตามฐานข้อมูลผู้เสียภาษีพบกว่า 90% เสียภาษีในฐานภาษีไม่เกิน 10% และเม็ดเงินที่สามารถทำมาลดหย่อน ต้องเป็นเม็ดเงินที่อยู่ในระบบภาษีที่ส่วนใหญ่ถูกจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มที่อัตรา 7% รวมถึงผลทางอ้อมที่จะเกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในพื้นที่ผ่านตัวทวีรายจ่ายเอกชน (Multiplier Effect) ที่จะช่วยเพิ่มเม็ดเงินหมุนเวียนและส่งผลต่อทั้ง ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีเงินได้ที่เพิ่มสูงขึ้น

2. การสนับสนุนผู้ประกอบการรายย่อย เพื่อสร้างแต้มต่อจากความเสียเปรียบตามธรรมชาติที่มีอยู่เมื่อเทียบกับผู้ประกอบการรายใหญ่ เช่น ออกนโยบายลดหย่อนภาษีพิเศษสำหรับผู้ประกอบการในพื้นที่เมืองรอง พร้อมออกนโยบายกระตุ้นฝั่งอุปสงค์ทั้งภาคประชาชนและธุรกิจที่จะมาพักแรมหรือทำกิจกรรมบนพื้นที่เมืองรองแบบมีเงื่อนไขและข้อจำกัดให้น้อยที่สุด หรืออาจออกวงเงินพิเศษ (Transformation Loan) เพื่อเป็นเงินทุนให้ผู้ประกอบการรายย่อย สามารถปรับเปลี่ยนพัฒนาห้องพักและบริการให้สอดคล้องกับกำลังใช้จ่ายของกลุ่มอุปสงค์เป้าหมาย

กล่าวโดยสรุป ttb analytics คาดธุรกิจโรงแรมยังสามารถเติบโตได้ต่อเนื่องจากแรงหนุนของภาคท่องเที่ยวที่ยังคงเติบโตได้ต่อเนื่อง หากแต่ความเติบโตดังกล่าวมีลักษณะการเติบโตแบบไม่เท่าเทียม โดยธุรกิจรายใหญ่มีแนวโน้มเติบโตดีกว่ารายเล็ก เมืองท่องเที่ยวหลักยกระดับเป็นเมืองศูนย์กลางท่องเที่ยวภูมิภาค (Reginal Tourism Capital) ที่ดึงดูดการพักแรมของนักท่องเที่ยวจากเมืองรองในพื้นที่มาพักแรมในจังหวัดหลัก ส่งผลให้ส่วนแบ่งตลาดยังกระจุกตัวอยู่ที่กลุ่มผู้ประกอบการรายใหญ่โดยเฉพาะในพื้นที่เมืองหลัก ดังนั้น เพื่อลดความเปราะบางดังกล่าวภาครัฐควรสนับสนุนออกนโยบายแบบมุ่งเน้นผลสัมฤทธิ์ของนโยบายเที่ยวเมืองรอง รวมถึงเน้นย้ำ “ความยั่งยืนต่อเนื่องของนโยบาย และสร้างความเชื่อมั่นนโยบาย” โดยสนับสนุนให้เป็นโครงการระยะยาว ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการโรงแรมสามารถวางแผนธุรกิจเพื่อสร้างโอกาสในการเติบโตไปพร้อม ๆ กับแรงหนุนจากภาครัฐที่ช่วยสร้างแต้มต่อให้ผู้ประกอบการรายย่อย เพื่อเพิ่มศักยภาพการดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เลือกพักแรมในเมืองรองเพิ่มขึ้น ทำให้ขนาดเศรษฐกิจโตขึ้นและส่งผลต่อการขยายตัวของเมืองรอง ซึ่งจะทำให้เกิดกิจกรรมมากพอที่จะทำให้นักท่องเที่ยวเลือกที่จะพักและใช้เวลาในจังหวัดเมืองรองมากกว่าเพียงแค่เดินทางไปเช้า เย็นกลับ หรือใช้เป็นแค่ทางผ่านเหมือนอย่างปัจจุบัน

ททท. ร่วมกับเคทีซีส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน สนับสนุนโรงแรมและรีสอร์ตที่ผ่านมาตรฐานโครงการโรงแรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Hotel) กว่า 900 แห่งทั่วประเทศไทย ด้วยการออกแคมเปญกระตุ้นการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวช่วงกรีนซีซั่น รวมถึงเร่งสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับผู้ประกอบการท่องเที่ยวรับรู้ถึงเป้าหมายของภาครัฐเรื่องการยกระดับการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน หรือ Sustainable Tourism Goals (STGS) และเข้าร่วมใช้งานแพลตฟอร์ม CF-Hotels เพื่อจัดเก็บข้อมูลปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก มุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero Tourism รองรับเทรนด์โลกที่นักท่องเที่ยวเลือกใช้บริการสถานประกอบการที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก

นายนิธี สีแพร รองผู้ว่าการด้านสื่อสารการตลาด การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผย ว่า ททท. ร่วมมือกับบริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เพื่อกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวเดินทางและใช้จ่ายในช่วงกรีน ซีซั่น รวมถึงส่งเสริมการตลาดให้แก่ผู้ประกอบการที่พักที่ใส่ใจการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อม ททท. ในฐานะผู้นำด้านการส่งเสริมการท่องเที่ยวมีภารกิจโดยตรงในการส่งเสริมให้การท่องเที่ยวไทย มีส่วนในการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศและส่งเสริมให้มีการบริหารจัดการอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยอย่างยั่งยืน มีความยินดีอย่างยิ่งที่เคทีซี ซึ่งเป็นองค์กรภาคเอกชน มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจการท่องเที่ยว และเห็นความสำคัญของการดูแลสิ่งแวดล้อม เข้าร่วมจัดแคมเปญนี้ร่วมกัน ถือเป็นการนำเครื่องมือทางการตลาดมาใช้ในการขับเคลื่อนมิติด้านสิ่งแวดล้อม และส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวได้มีส่วนร่วมเดินทางท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ รวมถึงการใช้เวลาอย่างมีคุณค่ากับคนที่คุณรักอย่างทั่วถึง ตามสโลแกน “สุขทันที ที่เที่ยวไทย” ของ ททท.

นางสาวปริม ปัญญาเสรีพร ผู้บริหารสูงสุด ฝ่ายการตลาดบัตรเครดิต ‘เคทีซี’ หรือ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เคทีซีได้กำหนดกลยุทธ์ที่ชัดเจนในเรื่องการผลักดันการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมและกระตุ้นให้สมาชิกได้ท่องเที่ยวอย่างมีความหมายและตระหนักถึงการใส่ใจสิ่งแวดล้อม จึงได้ร่วมมือกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย มอบสิทธิพิเศษให้กับสมาชิกบัตรเครดิตเคทีซีเมื่อใช้จ่ายที่โรงแรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green Hotel) กว่า 900 แห่ง ได้แก่ 1) รับส่วนลดสูงสุด 55% โดยไม่ต้องใช้คะแนน สำหรับค่าห้องพัก และค่าอาหาร-เครื่องดื่ม ที่โรงแรมและรีสอร์ตที่เข้าร่วมรายการ และ 2) แลกรับเครดิตเงินคืนสูงสุด 13% ระหว่างวันที่ 15 สิงหาคม 2567 – 31 พฤษภาคม 2568 นอกจากนี้ เมื่อสมาชิกใช้จ่ายผ่านบัตรฯ ครบทุก 1,000 บาท ณ โรงแรมที่ร่วมรายการ รับ 1 สิทธิ์ลุ้นรับบัตรกำนัลห้องพัก 10 รางวัล มูลค่ารวมกว่า 128,000 บาท (จำกัด 10 สิทธิ์ ต่อท่าน ต่อวัน) ลงทะเบียนครั้งเดียวรับสิทธิ์ลุ้นตลอดรายการ ระหว่างวันที่

15 สิงหาคม 2567 – 31 ธันวาคม 2567 ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่  https://www.ktc.co.th/promotion/hotel-resort/domestic-hotel/greenhotels 

ผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ KTC PHONE โทรศัพท์ 02 123 5000 หรือติดตาม โปรโมชันของเคทีซีได้ที่ https://www.ktc.co.th สำหรับผู้ที่ต้องการสมัครสมาชิกบัตรเครดิตเคทีซี สามารถคลิกดูรายละเอียดได้ที่ลิงค์ https://ktc.today/apply-card หรือติดต่อศูนย์บริการสมาชิก “เคทีซี ทัช” ทุกสาขาทั่วประเทศ 

 

ธุรกิจโรงแรมขยับตัวรับการแข่งขัน เล็งใช้การออกแบบตกแต่งสร้างความแตกต่าง เน้นจับลูกค้าเฉพาะกลุ่ม ให้ความสำคัญไลฟ์สไตล์ พฤติกรรม และความสนใจผู้เข้าพัก พร้อมสร้างประสบการณ์ร่วมเพื่อหวังผลการบอกต่อ ด้าน  อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ประเทศไทย เผยเทรนด์ออกแบบใหม่ เน้นความโดดเด่นเฉพาะตัว ใช้เทคโนโลยี รักษ์โลก และเชื่อมโยงถึงธรรมชาติ ล่าสุดขยายโซน Hospitality Style ในงาน Food & Hospitality Thailand 2024 เพื่อครอบคลุมในทุกมิติของการออกแบบ พร้อมจับมือสมาคมมัณฑนากรแห่งประเทศไทย ให้คำปรึกษาแนะนำและจัดกิจกรรมบรรยายให้ความรู้ 3 หัวข้อสำคัญ คือ การออกแบบบาร์ การออกแบบร้านอาหารคาเฟ่ และการออกแบบโรงแรม 

นางกรกช คุณาลังการ นายกสมาคมมัณฑนากรแห่งประเทศไทย กล่าวถึงความสำคัญและแนวโน้มของการออกแบบตกแต่งที่พัก โรงแรม และรีสอร์ทให้เป็นจุดแข็งเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวว่า การออกแบบห้องพักสำหรับโรงแรมมีความสำคัญอย่างมาก นักท่องเที่ยววันนี้ต้องการประสบการณ์ใหม่จากการเดินทาง โรงแรมที่มีการออกแบบให้มีอัตลักษณ์ที่โดดเด่น น่าสนใจ จึงสร้างความประทับใจและตอบสนองต่อความต้องการดังกล่าวได้อย่างลงตัวและเป็นจุดแข็งที่แตกต่างจากคู่แข่งในตลาด รูปแบบในการออกแบบคำนึงถึงกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น  

สำหรับการพิจารณารูปแบบและสไตล์การออกแบบนั้น ผู้ประกอบการและนักออกแบบควรเริ่มต้นที่ความเข้าใจบริบทของพื้นที่ ข้อจำกัดด้านกฎหมาย และกลุ่มเป้าหมายหลักของผู้มาใช้บริการก่อน เพราะจะเป็นตัวกำหนด ประโยชน์ใช้สอยต่างๆ ของโรงแรม ซึ่งการออกแบบจะช่วยทำให้โรงแรมมีจุดขายที่ชัดเจน ช่วยดึงดูดกลุ่มแขกที่มาพักได้มากขึ้น ส่วนแนวคิดในการออกแบบว่าทำอย่างไรจะให้เกิดความโดดเด่น สวยงาม น่าประทับใจนั้น ต้องคำนึงถึงแนวคิดหลัก ความเหมาะสมกับข้อกำหนด และมาตรฐานของโรงแรมที่เป็นโจทย์ด้วย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องงบประมาณการลงทุน ระยะเวลาการดำเนินงาน ราคาห้องพัก ฯลฯ 

ส่วนการร่วมจัดงาน Food & Hospitality Thailand 2024 นั้น นับเป็นโอกาสดีของทางสมาคมฯ และ อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ประเทศไทย ที่มีวัตถุประสงค์เดียวกันในการร่วมพัฒนาผู้ประกอบการในธุรกิจท่องเที่ยวให้มีความเข้มแข็งและโดดเด่นในสายตาของนักท่องเที่ยว ซึ่งตลอดทุกครั้งของการร่วมจัดงานฯ นอกจากทางสมาคมฯ จะมีการให้คำปรึกษา แนะนำ ให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการและผู้สนใจอย่างต่อเนื่องแล้ว ในการจัดงานฯ ปีนี้ ยังมีอีกหลายกิจกรรมที่ทางสมาคมฯ จัดขึ้นเป็นพิเศษ อาทิ การจัดแสดง Designer Selected Zone โดยเลือกสินค้าและผลิตภัณฑ์ที่น่าสนใจมาจัดแสดง การบรรยาย 3 หัวข้อพิเศษ ได้แก่ การออกแบบบาร์ การออกแบบร้านอาหารคาเฟ่ และการออกแบบโรงแรม โดยอยากเชิญชวนให้ผู้ประกอบการและผู้สนใจเข้ามาเยี่ยมชมการจัดงาน และขอรับคำปรึกษาด้านการออกแบบจากทางสมาคมได้ภายในงานฯ 

ด้านนางสาวสุภาภรณ์ อังศรีสุรพร ผู้จัดการฝ่ายบริหารโครงการอาวุโส อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ประเทศไทย ผู้จัดงาน Food & Hospitality Thailand (FHT) กล่าวถึง การออกแบบตกแต่งที่พัก โรงแรม และรีสอร์ท เพื่อสร้างเป็นจุดขาย 

และจุดแข็งในการดึงดูดนักท่องเที่ยวว่า ข้อมูลจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่าครึ่งปีแรกของปี 2567 ประเทศไทยคว้าระดับโลกมาแล้วถึง 21 รางวัล จากการจัดอันดับทั่วโลก เป็นการยืนยันได้เป็นอย่างดีถึงการเป็นจุดหมายปลายทางด้านการท่องเที่ยว โดยประเทศไทยมีพร้อมทั้งสถานที่ท่องเที่ยว อาหาร และวัฒนธรรมประเพณีที่โดดเด่นน่าสนใจ นอกจากนั้นการออกแบบที่พักและบริการด้านการท่องเที่ยวยังเป็นอีกหนึ่งเสน่ห์ที่สร้างความพอใจแก่นักท่องเที่ยว โดยที่พัก  โรงแรม และรีสอร์ทในไทยหลายแห่งได้รับการยกย่องและคว้ารางวัลระดับโลกมาได้ทุกปี อาทิ รางวัล World’s 50 Best Hotels 2023 มีโรงแรมจากไทยติดอันดับถึง 4 โรงแรม ฯลฯ  ส่วนทิศทางการออกแบบที่เป็นเทรนด์ของโลกขณะนี้ เน้นที่การสร้างประสบการณ์อันน่าจดจำแก่ผู้เข้าพัก การออกแบบเฉพาะบุคคลมีเอกลักษณ์และเรื่องราว การนำเทคโนโลยีมาผสมผสาน คำนึงถึงความยั่งยืนเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพิ่มพื้นที่สาธารณะ เชื่อมต่อและนำธรรมชาติมาเป็นองค์ประกอบ  

ดังนั้นในงาน Food & Hospitality Thailand 2024 ปีนี้ จึงมีการขยายโซน Hospitality Style ให้มีความครอบคลุมในทุกมิติที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบ ตกแต่งมากขึ้น โดยมีทั้งเฟอร์นิเจอร์ อุปกรณ์ตกแต่ง เครื่องนอน เครื่องใช้ และของตกแต่งสำหรับธุรกิจที่พักโรงแรมจากบริษัทชั้นนำของไทยและระดับโลกหลากหลายแบรนด์กว่า 60 ราย อาทิ Hotel And Home Innovation, BrotherJ Co.,Ltd, GUANGZHOU HAOTIAN CLEANING EQUIPMENT TECHNOLOGY CO.,LTD, SONITE INNOVATIVE SURFACES CO.,LTD, MC Plus Company Limited, ITALY PRESENT-MORE SRL, Scent And Sense Laboratory Co., Ltd., Zhejiang MSD Group Share Co., Ltd. , Scientific Innovation Company Limited, Kusar International Co., Ltd., Top Class Design Co., Ltd., Table U Co., Ltd. and SETH Intertrade Co., Ltd เป็นต้น สิ่งเหล่านี้นอกจากเป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบที่จะช่วยสร้างความประทับใจให้แก่ผู้มาพักแล้ว ยังสร้างมูลค่าเพิ่มและเป็นจุดขายในความแตกต่างอีกด้วย ส่วนอีกหนึ่งไฮไลท์สำคัญของโซน Hospitality Style คือ การรวบรวมสินค้าประเภทเครื่องนอน ฟูก และเตียงทุกแบบทุกสไตล์สำหรับธุรกิจที่พักโรงแรมมาไว้ให้เลือกชม ทดสอบ และทดลองนอนมากที่สุดของประเทศไทยกว่า 20 แบรนด์ โดยแบรนด์ที่เข้าร่วมในการจัดแสดง อาทิ Darling Mattress Co., Ltd., Jaspal & Sons Co., Ltd., JESSICA , TULIP, Santa Mattress Co., Ltd., Serta (Thailand), Shanghai Zihui Textile Decoration Co.,Ltd, SIMMONS BEDDING & FURNITURE (THAILAND) CO., LTD., Sleepwell Industries Co., Ltd.,, Pornprapa International Co., Ltd,  Somphol Bedding and Mattress Industry Co., Ltd., AK&J TEXTILE and Aqua Hotel Supply Co., Ltd เป็นต้น พร้อมกันนั้นในปีนี้ยังมีงานแสดงสินค้าใหญ่ของเอเชียด้านผลิตภัณฑ์สำหรับการออกแบบตกแต่งอาคาร โรงแรมและพื้นที่เชิงพาณิชย์อย่าง Hotel & Shop Plus Thailand มาร่วมจัดแสดงภายในงานฯ ครั้งนี้ด้วย จึงอยากเชิญชวนทั้งนักออกแบบ ผู้ประกอบการ และผู้สนใจให้เข้าเยี่ยมชมการจัดงานฯ และ โซน Hospitality Style เพื่ออัปเดตเทรนด์ล่าสุดของทุกองค์ประกอบการออกแบบและตกแต่งที่พักโรงแรมที่มาร่วมจัดแสดงในงาน 

งาน Food & Hospitality Thailand 2024 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 21-24 สิงหาคม 2567 ฮอลล์ 1-4 ชั้น G  ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ผู้สนใจรายละเอียดการจัดงานเข้าชมได้ที่เว็บไซต์ www.fhtevent.com  Facebook : Food & Hospitality Thailand 

 

สมาคมโรงแรมไทย สมาคมภัตตาคารไทย และ อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ประเทศไทย ผสานพลังสร้างกลยุทธ์ สร้างการท่องเที่ยวมูลค่าสูงขับเคลื่อนเร็ว จับกระแส Maga Trend ส่งเสริม Soft Power อาหารไทย พร้อมร่วมมือจัดงาน Food & Hospitality Thailand 2023 ดึงผู้ผลิตสินค้า บริการและโซลูชั่นระดับโลก ร่วมโชว์ผลิตภัณฑ์ใหม่ นวัตกรรม-เทคโนโลยีล่าสุด คาดปีนี้มีผู้เข้าร่วมงานกว่า 28,000 คน

ในงานเสวนาพิเศษ “รวมพลังสร้างกลยุทธ์เพิ่มมูลค่า เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทย” ซึ่งร่วมกันจัดขึ้นโดย สมาคมโรงแรมไทย สมาคมภัตตาคารไทย และ อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ประเทศไทย พร้อมแถลงความร่วมมือการจัดงาน Food & Hospitality Thailand 2023 โดยเนื้อหาในการเสวนากล่าวถึงการส่งเสริมการท่องเที่ยวที่ขับเคลื่อนได้รวดเร็ว เป็นอีกกลยุทธ์สำคัญของการท่องเที่ยวไทย โดยต้องอาศัยความร่วมมือจากผู้ประกอบการในภาคท่องเที่ยวทั้งระบบ

นางมาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย กล่าวถึงแนวโน้มของกลุ่มนักท่องเที่ยวที่กำลังเติบโตขณะนี้ว่า เป็นกลุ่มการท่องเที่ยวพร้อมทำงาน (Work from Anywhere) ซึ่งเป็นวิถีชีวิตและการทำงานของคนรุ่นใหม่ที่ไม่ยึดติดกับสถานที่ คนเหล่านี้เรียกว่า Digital Nomad มักเลือกแหล่งท่องเที่ยวที่ใช้งานอินเตอร์เน็ตได้ ค่าครองชีพไม่สูง อากาศดี มาตรการวีซ่าไม่ยุ่งยาก และจะใช้เวลาการท่องเที่ยวนานกว่านักท่องเที่ยวปกติ ซึ่งไทยก็เป็นหนึ่งในจุดหมายของการท่องเที่ยวของคนกลุ่มนี้ ส่วนแนวโน้มการท่องเที่ยวของโลกนั้น การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (Sustainable Travel) กลายเป็นกระแสหลักที่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวตระหนักถึงและช่วยกันผลักดันให้ผู้เกี่ยวข้องเข้าสู่ระบบนิเวศ (Ecosystem) เดียวกัน ดังนั้นภาครัฐและผู้ประกอบการไทยต้องเร่งส่งเสริมเรื่องนี้อย่างเป็นรูปธรรม ทั้งการมิตรกับสิ่งแวดล้อม ลดขยะ ใช้พลังงานอย่างคุ้มค่า รักษาแหล่งท่องเที่ยวและธรรมชาติให้สมบูรณ์ หากเราทำได้ดีก็จะมีแต้มต่อในการสนับสนุนการท่องเที่ยวไทยจากทั่วโลกและยังส่งผลดีต่อทรัพยากรด้านการท่องเที่ยวด้วย

สำหรับการสนับสนุนและร่วมจัดงาน Food & Hospitality Thailand นั้น ถือเป็นวาระสำคัญของสมาคมฯ เพราะนอกจากจะได้ติดตามแนวโน้มการท่องเที่ยว พบกับสินค้าและบริการจากบริษัทชั้นนำแล้ว ปีนี้ยังเป็นปีพิเศษฉลองครบรอบ 60 ปี ของสมาคม พร้อมมีการจัดประชุมใหญ่ประจำปีและกิจกรรมให้ความรู้กับสมาชิกและผู้สนใจ โดยร่วมกับ มูลนิธิใบไม้สีเขียว ในหัวข้อเกี่ยวกับการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การคำนวณคาร์บอนในการเข้าพัก การลดการใช้ทรัพยากรและพลังงาน รวมถึงการจัด Hospitality Digital Day ที่พูดถึง Digital Marketing สำหรับธุรกิจโรงแรมทุกแง่มุม การแข่งขัน Thailand & AHRA ASEAN Hotel Bartenders’ Championships 2023 เพื่อพัฒนาทักษะพนักงานบาร์เทนเดอร์โรงแรมด้วย

 

นางฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทย กล่าวถึง การส่งเสริมอาหารไทยให้เป็น Soft Power ด้านการท่องเที่ยวไทยว่า อาหารไทย (Food) เป็นหนึ่งใน 5F ของ Soft Power เป้าหมายที่ ททท. วางไว้ในการส่งเสริมการท่องเที่ยวผ่านความอุดมสมบูรณ์ของวัฒนธรรมอาหารไทย หรือ การท่องเที่ยวเชิงอาหาร (Gastronomy Tourism) ซึ่ง 20% ของค่าใช้จ่ายที่นักท่องเที่ยวต่างชาติจ่ายในการท่องเที่ยวไทยมาจากอาหาร โดยในปี 2562 นักท่องเที่ยวต่างชาติมีการใช้จ่ายด้านอาหารในไทยสูงถึง 6 แสนล้านบาท ซึ่งในการการพัฒนาอาหารไทยให้เป็น Soft Power นั้น ต้องร่วมกันสร้างมาตรฐานพัฒนาทั้งระบบ ทั้งด้านสาธารณสุข ความสะอาด ปลอดภัย รสชาติ ฯลฯ รวมถึงประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อที่เข้าถึงง่าย อาทิ ภาพยนตร์ ซีรีย์ ดารานักร้อง รายการอาหาร และรางวัลอาหารระดับโลก อาหารไทยมีข้อได้เปรียบหลายด้าน ทั้งอาหารไทยแท้และเกิดจากการผสมผสานหลายวัฒนธรรมดัดแปลงร่วมกับวัตถุดิบท้องถิ่นจนมีรสชาติเป็นเอกลักษณ์ โดยปีนี้อาหารไทยติด 10 Best Rated Curries ถึง 5 อันดับ ได้แก่ แกงพะแนง ข้าวซอย แกงเขียวหวาน แกงมัสมั่น และแกงส้ม ความมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวเป็นเสน่ห์ที่ชวนให้หลงไหลและทำให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาเพื่อสัมผัสกับรสชาติที่แท้จริงของอาหารเหล่านี้

ส่วนการจัดงาน Food & Hospitality Thailand นั้น สมาคมฯ ให้การสนับสนุนมาตลอด มีการเชิญสมาชิกให้เข้าร่วมงานเพื่อหาความรู้รับทราบแนวโน้มธุรกิจใหม่ๆ พร้อมร่วมประชุมและร่วมกิจกรรม โดยกิจกรรมที่น่าสนใจปีนี้ คือ การเชิญวิทยากรที่เป็นนักธุรกิจอาหาร ซึ่งประสบความสำเร็จ มาสร้างแรงบันดาลใจ แนะนำการบริหารและการดำเนินธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ จึงขอเชิญให้ผู้สนใจติดตามและเข้าร่วมกิจกรรมที่จะจัดขึ้นในครั้งนี้

นายสรรชาย นุ่มบุญนำ ผู้จัดการทั่วไป อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ประเทศไทย กล่าวว่า งาน Food & Hospitality Thailand มีเป้าหมายการในการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการให้เป็นกำลังสำคัญของธุรกิจท่องเที่ยว ซึ่งไทยเป็นจุดหมายปลายทางด้านการท่องเที่ยวของโลก แต่เราจะสร้างความประทับใจ สร้างแรงดึงดูดใจ และรักษาตำแหน่งนี้ไว้ได้อย่างไร การจัดงาน Food & Hospitality Thailand แต่ละครั้งผู้จัดงานจึงต้องทำงานกันอย่างหนัก ทั้งรวบรวมฐานข้อมูลการจัดงานและผู้ประกอบการจากทั่วโลกมาประมวลผลสรุปเป็นแนวทางจัดงาน พร้อมนำเสนอแนวโน้ม ทิศทาง และโอกาสใหม่ๆ ของธุรกิจการท่องเที่ยวให้แก่ผู้เข้าร่วมงานได้รับทราบ เพื่อเตรียมความพร้อมให้แก่ธุรกิจก่อนเสมอ

สำหรับแนวคิดในการจัดงานฯ ครั้งนี้ คือ เชื่อมโยงสู่อนาคต (Connecting the Future) เนื่องจากปีนี้การท่องเที่ยวมีการเดินหน้าต่อเนื่องหลังฟื้นตัวจากช่วงโควิด ทำให้คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไทยถึง 30 ล้านคน ด้วยสัญญาณบวกนี้ส่งให้งานฯ ปีนี้มีความสำคัญมากขึ้น ผู้ประกอบการต่างมองหาผลิตภัณฑ์ บริการ และโซลูชั่นระดับพรีเมียมไว้รองรับและสร้างความพึ่งพอใจให้กับนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามามากขึ้นในช่วงปลายปีนี้และปีหน้า ทั้งยังเป็นการขานรับและดำเนินงานไปในทิศทางเดียวกันกับกลยุทธ์ที่ทาง ททท. และ องค์กรที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยววางไว้

ดังนั้นงาน Food & Hospitality Thailand 2023 จึงได้รับความสนใจจากผู้ผลิตสินค้าและบริการระดับพรีเมียมในการเข้าร่วมจัดแสดงงานกว่า 2,000 แบรนด์ จาก 20 ประเทศทั่วโลก ในโซนต่างๆ ของการจัดงานฯ ได้แก่ Coffee & Bakery Thailand (CBT), Restaurant & Bar Thailand (RBT) และ 2 โซนใหม่ Shop & Retail Thailand (SRT), และ Cleaning

Hygiene Thailand (CHT) ที่เกิดขึ้นครั้งแรก ส่วนความพิเศษในปีนี้ คือ การจับมือกับพันธมิตรรายใหญ่ยักษ์ใหญ่จากจีน ที่นำงาน Hotel & Shop Plus Thailand งานแสดงสินค้าและผลิตภัณฑ์สำหรับการออกแบบตกแต่งอาคาร โรงแรมและพื้นที่เชิงพาณิชย์ มาร่วมจัดแสดง นอกจากนั้นยังมีกิจกรรมงานสัมมนา การประชุม เวิร์กชอป และการแข่งขันที่น่าสนใจมากมาย อาทิ สัมมนาพิเศษจาก ททท. หัวข้อ “โอกาสการเติบโตของธุรกิจอาหารออร์แกนิกและความเป็นคลังอาหารของประเทศไทย รวมถึงการเป็นผู้นำด้านการท่องเที่ยวเชิงอาหาร (Gastronomy Tourism)”, การแข่งขันทำอาหาร Thailand's 27th International Culinary Cup (TICC), การแข่งขัน Latte Art และ Coffee in Good Spirits, การทำเบเกอรี่ ไอศกรีม ศิลปะการตกแต่งอาหาร บาริสต้าและบาเทนเดอร์เวิร์กชอป ฯลฯ โดยการจัดงานฯ ครั้งนี้คาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมชมงานกว่า 28,000 คน

โดยงาน Food & Hospitality Thailand 2023 มีกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 23-26 สิงหาคม 2566 ณ ฮอลล์ 1-3 ชั้น G ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ผู้สนใจรายละเอียดการจัดงานฯ สามารถติดตามข้อมูลได้ที่ www.fhtevent.com

เผยปี 2566 เตรียมเปิดโรงแรมเพิ่มอีก 14 แห่ง ใน 7 ประเทศทั่วโลก พร้อมรุกตลาดยุโรปและญี่ปุ่น ภายใต้แบรนด์ ‘ดุสิต’ เป็นครั้งแรก

X

Right Click

No right click