×

Warning

JUser: :_load: Unable to load user with ID: 810

     เรื่องเล่าของ “ราชาผู้ให้” กับพระราชกรณียกิจในการพัฒนาบนดอยสูงทางภาคเหนือของประเทศไทย เริ่มต้นขึ้นในช่วงต้นปี พ.ศ. 2513 เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระปรมินทร-มหาภูมิพลอดุลยเดชทรงขับรถยนต์พระที่นั่งไปยังบ้านแม้วบนดอยปุยใกล้พระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์ และได้ทอดพระเนตรต้นท้อ (peach) ที่ชาวเขาเผ่าแม้วเอากิ่งพันธุ์ดีมาต่อกับต้นตอพื้นเมืองตามโครงการแต่ปีก่อน และตรัสถามเจ้าของว่าปลูกฝิ่นได้เงินเท่าไร และเก็บท้อพื้นเมือง (ลูกเล็ก) ขายได้กี่บาท จึงทรงทราบว่าฝิ่นกับท้อพื้นเมืองทำเงินให้เกษตรกรเท่าๆ กัน พระองค์มีพระราชดำริว่า ถ้าลูกท้อนิดๆ ยังทำเงินให้เกษตรกรได้ดีเท่าฝิ่นแล้ว เราก็ควรเปลี่ยนยอดให้ออกลูกมาเป็นท้อใหญ่ หวานฉ่ำ สีชมพูเรื่อดังกับแก้มสาวในนิทานจีน เมื่อรายได้จากท้อและผลไม้อื่นสูงกว่าฝิ่นแล้ว ฝิ่นก็จะสาบสูญไปเองตามธรรมชาติ ไม่ต้องใช้กำลังผลักดันแต่อย่างใด  

     จากวันนั้น วันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2513 มีพระราชดำรัสสั่งให้ดำเนินการ และพระราชทานเงิน 200,000 บาทแก่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ซึ่งมีสถานีวิจัยน้อยๆ ใกล้พระตำหนัก เพื่อซื้อสวนใหญ่ใกล้ๆ กัน เพื่อเป็นศิริมงคล สวนนี้จึงได้ชื่อว่าสวนสองแสน และคณะ 3M ก็ขยายกิจการอันในที่สุด กลายเป็น โครงการหลวง

หว่านเมล็ดพันธุ์ โครงการหลวง บนดอยสูง

      ความเป็นมาของโครงการหลวง ที่บอกเล่าอยู่ใน หนังสือโครงการหลวงกับในหลวง โดย หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี  ประธานมูลนิธิโครงการหลวง ทำให้ทราบว่า ด้วยพระองค์ทรงเล็งเห็นถึงปัญหาการทำลายป่าตามยอดเขาเพื่อปลูกฝิ่น และทำไร่เลื่อนลอยที่เกิดขึ้น และมีพระราชประสงค์จะแก้ไขปัญหาดังกล่าวจึงมีพระราชดำริว่า ถ้าจะให้ชาวเขาเลิกปลูกฝิ่นต้องมีพืช ทดแทน” ที่ราคาดี ขายได้ และจัดการให้ผลผลิตใหม่กลายเป็นรายได้เสียก่อน และนี่จึงเป็นที่มาการก่อเกิด โครงการหลวง ในเวลาต่อมา

 

 

     ทั้งนี้ หม่อมเจ้าภีศเดช ประทานสัมภาษณ์กับทีมงานนิตยสาร MBA ถึงเรื่องราวของโครงการหลวง ณ วังประมวญ เพิ่มเติมว่า 

      ในเวลานั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ ไปทรงพักผ่อนที่เชียงใหม่ คือพระองค์ตรัสว่าไปฮอลิเดย์แต่ความจริงพระองค์มิได้เสด็จฯ ไปเพื่อพักผ่อนอย่างเดียว เพราะถึงเวลาพระองค์ก็เสด็จฯ ออกไปเยี่ยมราษฎรที่เชียงใหม่ และในโอกาสนั้นพระองค์ได้เสด็จฯ ไปตามดอยเพื่อขึ้นไปทอดพระเนตรว่า ชาวเขาทำลายต้นน้ำลำธารเพื่อปลูกฝิ่นจริงหรือไม่ อย่างไร ซึ่ง ณ เวลานั้นไม่มีใครทำอะไรกับชาวเขา พระองค์จึงทรงตั้งโครงการหลวง เนื่องจากทรงตระหนักดีว่าเมืองไทยเป็นเมืองร้อน ผลิตผลเมืองหนาวต้องสั่งจากเมืองนอก ราคาจึงแพงและไม่ค่อยมีผลผลิตมามากนัก พระองค์ตรัสว่าถ้าเราปลูกพืชเมืองหนาวบนดอยมาขายข้างล่างก็จะได้เงินดี แล้วที่บนดอยมันหนาว อย่างที่อ่างขางบางทีเป็นน้ำแข็ง เป็นสาเหตุให้พระองค์ทรงตั้งโครงการหลวงขึ้นมา ให้หาพืชเมืองหนาวหลายๆ อย่างมาให้ชาวเขาปลูก ผมเป็นข้าราชบริพารตามเสด็จไป พระองค์ตรัสว่าจะทำโครงการหลวงและมอบหมายให้ผมทำ

      ในเบื้องต้น ทรงมอบหมายให้ หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี เป็นผู้รับสนองพระราชประสงค์ หม่อมเจ้าภีศเดช จึงได้ชักชวนให้ หม่อมราชวงศ์ชวนิศนดากร วรวรรณ อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มาร่วมกันปฏิบัติงานด้วย ต่อจากนั้น ก็ได้มีการชักชวนให้อาจารย์ท่านอื่นๆ มาร่วมกันทำงานเพิ่มขึ้น

      ดังนั้น โครงการหลวงจึงเป็นโครงการที่รวบรวมอาสาสมัครผู้มีความรู้ด้านการพัฒนาและการเกษตรมารวมกันเป็นจำนวนมากที่สุดก็ว่าได้ ทั้งคณาจารย์ ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ จากหน่วยราชการต่างๆ โดยในวันนี้ อาสาสมัครเหล่านี้มีมากถึง 500 คน เกือบครึ่งหนึ่งของเจ้าหน้าที่โครงการหลวงทีเดียว ทั้งหมดเป็นอาสาสมัครที่ไม่มีเงินเดือน แต่ทุกคนเต็มใจและทำงานอย่างทุ่มเท ด้วยพระ-บารมีของพระองค์

 

 

     หม่อมเจ้าภีศเดช เล่าว่า การดำเนินงานโครงการหลวงในระยะแรกนั้นมีอุปสรรคมากมาย เพียงแค่เริ่มต้นก็ไม่มีถนนหนทาง ไม่มีแหล่งน้ำแล้ว ดังนั้น จะไปไหนมาไหนจึงต้องใช้กำลังเท้าเป็นสำคัญ   

      เวลาพระองค์เสด็จฯ ไปไหนคนมานั่งกับพื้น พระองค์ก็ประทับกับพื้นเหมือนกัน เราทำงานกับพระเจ้าอยู่หัว ก็ย่อมปฏิบัติกับชาวนาในแบบเดียวกับที่พระองค์ทำ

      ด้วยเหตุนี้ เวลาท่านภีศเดชจะเดินทางขึ้นดอยลงดอย ท่านจะไม่จ้างลูกหาบ จะขอแบกของไปเอง และแทนที่จะเอาเต็นท์ไปนอนกาง ก็เข้าไปอยู่ในบ้านชาวเขา จากคนแปลกหน้าจึงกลายมาเป็นความสนิทสนม พอลงมือทำแล้ว ชาวบ้านชาวเขาใกล้ๆ เห็นผลงานว่าทำแล้วมีรายได้เพิ่มขึ้น ก็มาขอเข้าร่วมกับโครงการหลวง ด้วยเหตุนี้จึงสามารถขยายตั้งศูนย์ ใหม่ๆ ได้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทำให้งานพัฒนาและส่งเสริมของโครงการหลวงดำเนินไปได้ด้วยความสะดวกรวดเร็ว จนในปัจจุบันมีมากถึง 34 ศูนย์ 

     สำหรับเคล็ดลับความสำเร็จในการชักจูงชาวเขาให้เลิกปลูกฝิ่นและหันมาปลูกพืชเมืองหนาวได้อย่างยั่งยืนนั้น เกิดขึ้นได้อย่างไร หม่อมเจ้าภีศเดช ได้เล่าไว้ในหนังสือ โครงการหลวงกับในหลวง ว่า

 

 

 

     “ม่อนยะเป็นหมู่บ้านคอมมูนิสต์ และแม่แฮเอง ผ.ก.ค.ก็พยายามจะแทรกแซงเข้ามา เราจึงตั้งโครงการที่แม่แฮ โดยขอให้อยู่ในความควบคุมของสำนักงานเกษตรภาคเหนือ คนของเราอาศัยบ้านของผู้ใหญ่กะเหรี่ยงชื่อ พะคีริ กลางคืน ผ.ก.ค.จะต้องลาดตระเวนผ่านบ้าน อาวุธดีๆ ครบมือ และเอาไฟฉายส่องบ้าน แต่พวกเราก็ไม่กลัว (เท่าใดนัก) เพราะชาวบ้านเห็นกันทั่วแล้ว เราไม่เป็นพวกไหนๆ แต่เป็นคนของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และทำให้ชาวบ้านร่ำรวยมีการกินอยู่ดีขึ้น ใครทำอะไรพวกเราก็เท่ากับทำร้ายชาวบ้านเอง

     เพราะฉะนั้น เคล็ดลับจึงอยู่ที่ แนวทางของพระองค์ที่พระราชทานไว้ให้แก่การดำเนินงานของโครงการหลวง คือ ลดขั้นตอน และ ช่วยให้ชาวเขาเขาช่วยตนเอง โดยหม่อมเจ้าภีศเดช อธิบายว่าเพราะราชการขั้นตอนแยะ บางทีทำอะไรก็ต้องขออนุมัติ เขาก็ขออนุมัติแต่ละขั้น บางคนอยากทำอะไรเขาก็บอกเบื่อ  มาทำกับเราขั้นตอนไม่ค่อยมี ทำได้ดี เร็ว

 

 

ลิ้มลองอาหารดีที่บนดอย

      ใครจะคิดว่าพื้นที่บนดอยสูงในถิ่นทุรกันดารห่างไกลจากชุมชน  ไม่มีแม้แต่ทางเดินรถ เดินทางขึ้นลงแต่ละครั้งแสนลำบาก อีกทั้งยังเป็นพื้นที่สีชมพู มีทุ่งต้นฝิ่นกว้างไกลสุดตา ผ่านมาร่วม 42 ปี ภาพในวันนี้ช่างแตกต่างจากวันนั้นอย่างสิ้นเชิง ทุ่งต้นฝิ่นสลับกับพื้นที่โล่งเตียนจากการทำไร่เลื่อนลอยแปรสภาพไปเป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์ด้วยต้นไม้ ลำธาร กลายเป็นดินแดนที่ถูกแต่งแต้มด้วยสีสันละลานตาของพันธุ์ไม้ดอก ไม้ผล พืชผัก ซึ่งล้วนเป็นพืชเศรษฐกิจของประเทศ กระทั่ง พื้นที่แห่งนี้เป็นแหล่งก่อเกิดองค์ความรู้พืชเมืองหนาวอย่างมหาศาล 

     ทว่า กว่าจะมาเป็นภาพอย่างวันนี้ การปลูกพืชเมืองหนาวในประเทศร้อนชื้นอย่างบ้านเราไม่ใช่เรื่องง่าย แถมยังเป็นการเริ่มต้นบนพื้นที่ที่เต็มไปด้วยสารพันปัญหาที่ร้อยเกี่ยวกันอยู่ จึงใช้เวลาในการลงแรง เคี่ยวกรำ ลองผิดลองถูกหลายครั้งหลายครา โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาในช่วงเริ่มต้น เพราะเป็นเรื่องของการสร้าง การยอมรับ

      พอเข้าไปถึงพื้นที่ ไปบอกว่าโครงการหลวงมาช่วย โดยในหลวงเป็นผู้เข้าไปทำงาน ไปเยี่ยมราษฎรทุกหมู่บ้านในเขตโครงการหลวงแล้วไปแนะนำว่าสิ่งที่เขาทำไม่ดี โครงการหลวงหาพืชที่ถูกกฎหมายมาให้ แต่ชาวบ้านไม่กล้าเสี่ยงเพราะเขาไม่รู้ว่าสิ่งที่ทำจะดีกว่าสิ่งที่ผ่านมา กว่าจะไปทำให้เขาเห็นว่าสิ่งที่ทำปัจจุบันดีกว่าก็ต้องใช้เวลาสมชาย เขียวแดง ผู้อำนวยการสถานีโครงการหลวงอินทนนท์ และสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง กล่าวและยืนยัน

      โดยในระหว่างการปฏิบัติงาน สมชาย เล่าว่า ปัญหาว่าจะเอาพืชผักอะไรมาปลูก พระองค์มีพระราชดำรัสสั่งให้แก้ด้วยการลองทำ วิจัย เพราะการวิจัยเป็นการค้นหา องค์ความรู้ ที่เชื่อถือได้ ด้วยเหตุนี้ “การวิจัย” จึงกลายเป็นหัวใจการดำเนินงานของโครงการหลวง สมชายบอกเล่าประสบการณ์ว่า

      โครงการนี้จึงเป็นโครงการที่แปลกที่สุดในสายตาของใครหลายคนโดยเฉพาะนักเกษตรศาสตร์ บอกให้ผมปลูกพืชเมืองหนาว ซึ่งขัดกับที่เราเรียนมา ที่บอกได้เลยว่าปลูกไม่ได้ บ้านเราร้อน ในหลวงรับสั่งให้ทำอย่างนี้ๆ ลองดู แต่สิ่งที่ผมได้ ท่านภีศเดชรับสั่งกับผม ลองทำหรือยัง พอเราทำไปเราก็รู้ว่ามันได้ เป็นสิ่งที่ตำราไม่ได้สอน

      วันนี้ โครงการหลวงมีศูนย์พัฒนา 34 ศูนย์ มีสถานีวิจัย 4 สถานี ที่จะต้องมีหน้าที่วิจัย บุกเบิกสรรหาพืชพันธุ์ใหม่ๆ เข้ามาเรื่อยๆ รวมถึงการพัฒนาพันธุ์พืชที่มีอยู่แล้วให้ดียิ่งขึ้นเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต สมชาย เล่าว่า   

      ในหลวงรับสั่งชัดเจนว่า ถ้าไปปลูกพืชบ้านเรา ก็เท่ากับไปแข่งกันเอง ฉะนั้นต้องหาพืชอื่นที่มีศักยภาพ ไม่ต้องไปแข่งกับประเทศเราข้างล่าง ซึ่งถ้าเราไม่รู้ก็ต้อง วิจัย วิจัยเสร็จก็ต้อง พัฒนา ให้ชาวบ้านปลูก แต่ที่สำคัญเราต้อง ขายได้นี่คือ หลัก 3 ประการนี้ เป็น 3 ประสาน ที่เป็นแนวทางที่ในหลวงได้พระราชทานไว้” 

      มาในวันนี้ ปัญหาสำคัญ เรื่องการยอมรับ ดังที่กล่าวไว้ตอนต้น ได้มลายหายไปแล้ว... ภาพชาวปะหล่อง หมู่บ้านนอแล ทั้งผู้เฒ่าชรา คนหนุ่มสาว และเด็กน้อย มาร่วมกันทำพิธี สืบชะตาสะพานสามช่วง และ สืบชะตาน้ำ ณ ดอยอ่างขาง เพื่อถวายพระพรให้พระองค์ ทรงมีพระพลานามัยที่สมบูรณ์ และมีพระชนมายุยืนยาว เป็นประจักษ์พยานได้ชัดเจนว่า การยอมรับ นั้นสร้างได้ จากน้ำพระทัยขององค์พ่อหลวงที่อยากเห็นทุกผู้ทุกคนที่อาศัยอยู่ในแผ่นดินไทยมีความร่มเย็นเป็นสุข จนก่อเกิดเป็น โครงการหลวง ที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของชาวเขาเผ่าต่างๆ ให้ดีขึ้น ดังเสียงของชาวเขาผู้เฒ่าผู้แก่ ที่เคยกล่าวไว้ว่า 

      เราไม่รู้หรอกว่าโครงการหลวงเป็นอย่างไร แต่รู้ว่ามาประเทศไทยแล้วในหลวงให้อยู่ ทุกวันนี้ที่มีความสุขสบายได้ก็เพราะในหลวง ขอปฏิญาณว่าพวกเราจะจงรักภักดีต่อในหลวงตลอดไป

 

สถานีเกษตรหลวงปางดะ หัวใจเกษตรหลวง

     ณ ที่ที่เคยเป็นที่ตั้งของ ศูนย์ขยายพันธุ์พืชปางดะโครงการหลวง ต.สะเมิงใต้ อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ มีจุดประสงค์เพื่อเป็นแหล่งเพาะพันธุ์กล้าไม้ผลให้แก่ประเทศโดยเฉพาะ จนกระทั่งมูลนิธิโครงการหลวงได้เสาะหาพื้นที่เพื่อใช้เป็นแหล่งทดลองข้าวไร่และธัญพืชเมืองหนาว คณะทำงานของโครงการหลวงจึงมองหาพื้นที่ที่ไม่สูงมากนักเพื่อเพาะพันธุ์ต้นกล้าไม้ผล นำไปปลูก และใช้ขยายพันธุ์ต่อไป ศูนย์ขยายพันธุ์พืชปางดะโครงการหลวง จึงได้เปลี่ยนเป็น สถานีเกษตรหลวงปางดะ อย่างทุกวันนี้ 

      เพราะโดยลักษณะและธรรมชาติของไม้กล้าผล หากต้องเติบโตบนพื้นที่สูง อุณหภูมิหนาวเย็นจัด ไม้ผลจะพักตัวและไม่เจริญเติบโตได้เต็มที่ ระบบรากก็ไม่งอก ลำต้นไม่โตเพราะอากาศหนาวเย็นมากเกินไป ทำให้ต้นกล้าต้นเล็กๆ ไม่อาจแทงยอดขึ้นมาได้อย่างต่อเนื่อง ดังนั้น ต้องหาพื้นที่ที่ไม่สูงจนเกินไป มีอุณหภูมิที่เหมาะสม ความชื้นพอดี พืชย่อมเติบโตได้ดีกว่า สถานีเกษตรหลวงปางดะ จึงเป็นชัยภูมิที่เหมาะสมที่สุดในการดำเนินงานด้านนี้เพราะมีความสูงจากระดับทะเลไม่มากไม่น้อย ประมาณ 720 เมตร

      งานหลักที่นี่เป็นงานวิจัยพืชเขตร้อน รวบรวมพันธุ์พืชเขตร้อน เป็นพื้นที่ศึกษาดูงานให้คณะหรือหน่วยงานต่างๆ ที่สนใจ เป็นหน่วยเพาะพันธุ์พืชหลากหลายสายพันธุ์ เริ่มด้วยข้าวโพดหวาน ถั่วแขก กุยช่ายขาว หนอนไม้ไผ่ (รถด่วน) ส้ม ราสป์เบอร์รี มัลเบอร์รี อโวคาโด มะเดื่อฝรั่ง องุ่นไร้เมล็ด กีวีฟรุต เสาวรส ลิ้นจี่ อีกทั้งยังเป็นแหล่งรวบรวมพันธุ์มะม่วงต่างประเทศ (เรดดราก้อน โบวิ่น นวลคำ) ไผ่หวานอ่างขาง (หม่าจู๊) ไผ่หยกลี่จู๊ พืชผักสมุนไพร และมีเรือนไม้ดอก โรงเรือนกุหลาบที่ควบคุมอุณหภูมิ โรงเรือนปลูกผัก และงานอารักขาพืช

      ดังนั้น กระบวนการทดลองตั้งแต่การวิจัยพื้นที่ การสืบเสาะหาพันธุ์พืชต่างประเทศเพื่อมาทดลองปลูก สำเร็จบ้าง ล้มเหลวบ้าง แต่นั่นไม่ใช่ปัญหาใหญ่ของที่นี่เพราะหัวใจของที่นี่คืองานวิจัยเพื่อปลายทางสุดท้ายแล้วนำไปช่วยชาวเขา ช่วยชาวเรา และช่วยชาวโลก ดังแนวพระราชดำริที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทร-มหาภูมิพลอดุลยเดชพระราชทานไว้มากกว่า

แม่เหียะ โรงงานคัดความอร่อย ใหม่ สดเสมอ

      เพราะต้องสร้างความมั่นใจให้ได้ว่า ผลิตภัณฑ์ของโครงการหลวงทั้ง 37 สถานี ได้ผ่านการคัดเลือก ตรวจสอบคุณภาพ ในทุกกระบวนการจากต้นทางถึงปลายทาง ก่อนที่จะนำส่งถึงมือผู้บริโภคทั่วประเทศ งานคัดบรรจุเชียงใหม่ มูลนิธิโครงการหลวง ณ สถานีคัดบรรจุแม่เหียะ จึงมีหน้าที่สำคัญในการเป็นศูนย์รวบรวม รับผลิตผลจากศูนย์สถานีจากบนดอยทั้งหมด เพื่อมาตรวจเช็กสภาพให้ได้มาตรฐานเดียวกันก่อนที่จะจัดส่งให้แก่ลูกค้าเพื่อกระจายสินค้า โดยใช้มาตรฐานเกรดซึ่งเป็นของโครงการหลวงใช้เป็นมาตรฐานเดียวกันหมด ตรวจทั้งสารเคมีปนเปื้อนและคุณภาพทั่วไป เช่น น้ำหนัก เส้นผ่าศูนย์กลาง ความแก่ความอ่อน สรีระเฉพาะของพืชนั้นๆ

      ดังนั้น ภาพชินตาของที่นี่ คือ รถบรรทุกของโครงการหลวงที่วิ่งเข้าออกสถานีคัดบรรจุที่แม่เหียะ เพื่อนำผลไม้สด พืชผักที่ปลอดสารพิษส่งตรงไปยังสถานีปลายทางขึ้นห้างดัง เทสโก้โลตัส แม็คโคร บิ๊กซี โกลเด้นเพลส ท็อปส์ โฮมเฟรชมาร์ท กระทั่งขึ้นไปลอยอยู่บนอากาศก็ยังได้ลิ้มลองความกรอบ ความสดของพืชผักนานาพันธุ์ที่แปรรูปเป็นเมนูอาหารจานโปรดเสิร์ฟผู้บริโภคถึงบนเครื่องบินของครัวการบินไทยหรือจะแวะไปช็อปที่ร้านของโครงการหลวงก็ไม่ว่ากัน...งานของที่นี่จึงดูไม่มีวันหมด ไม่มีวันหยุด ไม่มีวันสิ้นสุด

 

 

สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง ปลูกความสุขให้ทุกคน

      สิ้นกระแสพระราชดำรัสของพระองค์ซึ่งตรัสอย่างเรียบง่ายไม่ฟุ่มเฟือยว่า ให้ช่วยเขาช่วยตัวเอง ต่อมาไม่นานสถานีวิจัยแห่งแรกของโครงการหลวงแห่งนี้จึงเกิดขึ้นเพื่อพัฒนาชีวิตชาวเขาให้อยู่ดีกินดีขึ้นเป็นลำดับ ล่วงมากว่า 42 ปี ปัจจุบันขุนเขาแห่งนี้ถูกแทนที่ด้วยพันธุ์ไม้ผลกว่า 12 ชนิด ผักเมืองหนาวกว่า 60 ชนิด และดอกไม้เมืองหนาวกว่า 20 ชนิด ไม่นับรวมพื้นที่สำหรับวิจัยและพัฒนาพันธุ์พืช รวมทั้งหมู่บ้านชาวเขารอบๆ ที่เป็นเขตส่งเสริมและพัฒนาอาชีพเกษตรกรรวม 9 หมู่บ้าน ประกอบด้วยชาวไทยภูเขาเผ่าจีนยูนนาน ไทใหญ่ มูเซอดำ และปะหล่อง กว่า 3,200 คน

      พัด หรือ กุลปรียา ธรรมมอน เกษตรกรผู้ชำนาญการปลูกสตรอว์เบอร์รีชาวดารา เล่าว่า

      ก่อนหน้านี้เกษตรกรชาวเขานิยมเช่าสวนของเผ่ามูเซอเพื่อเพาะกล้าสตรอว์เบอร์รีขายในราคาต้นละ 50 สตางค์ มีรายได้ตกประมาณปีละ 50,000-60,000 บาทเท่านั้น แต่หลังจากโครงการหลวงทำการจัดสรรพื้นที่ให้ครอบครัวละ 1 ไร่ พร้อมกับทำการวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์สตรอว์เบอร์รีอยู่เสมอควบคู่ไปกับการแนะนำให้ปลูกสตรอว์เบอร์รีเสียเองเพื่อขายผลและได้ราคาดีกว่า เกษตรกรจึงหันมาปลูกอย่างจริงจังจนเกิดผลดี จากนั้นทางโครงการหลวงจึงทำการเพาะกล้าและฝึกให้เกษตรกรลงทุนเองด้วยการขายกล้านั้นในราคาทุน โดยผลผลิตที่ได้จะขายส่งให้กับโครงการหลวงในราคากิโลกรัมละ 280 บาท ซึ่งค่าตอบแทนขึ้นอยู่กับความขยันขันแข็งและการดูแล ตามสถิติแล้วเคยพบว่าเกษตรกรที่ได้รายได้สูงสุดตกไร่ละ 500,000 บาทต่อปี และถึงแม้ว่าจะต้องต่อสู้กับศัตรูตัวฉกาจของสตรอว์เบอร์รีเช่น หนอน นก หรือแมลง แต่สารเคมีที่เกษตรกรใช้ได้จะต้องเป็นสารเคมีที่เบิกจ่ายจากโครงการหลวงซึ่งผ่านการรับรองว่าปลอดภัยแล้วเท่านั้น รวมถึงก่อนที่จะเก็บเกี่ยวส่งโครงการหลวงก็จะต้องตรวจสอบอีกครั้งหนึ่งเพื่อความปลอดภัย มิเช่นนั้นแล้วในกรณีร้ายแรง เกษตรกรจะต้องถูกเพิกถอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินที่ได้รับมา นั่นหมายความว่ารายได้ทั้งปีจะสูญเปล่าไปอย่างปราศจากการชดเชย

      หากถามว่า ทำไมชาวเขาถึงรักพระองค์ ต้องมาฟังคำตอบที่กลั่นจากความรู้สึกของผู้นำหมู่บ้านอย่าง อ่อน สุนันตา ชาวเขาเผ่าดารา 

      เฮามีกิน มีใช้ อยู่เย็น อยู่สบาย มีงานมีการทำอย่างทุกวันนี้ก็เพราะในหลวง ไม่เหมือนเมื่อก่อนที่ร้อนรนเหมือนกับว่ากำถ่านแดงไว้ในมืออยู่ตลอด ในหลวงมีบุญคุณกับเฮามาก อยากให้ในหลวงอยู่กับเฮาไปนานๆ นานจนกว่าตะไคร้จะออกดอก สากจะออกลูกนั่นแหละเฮาค่อยยอมให้ท่านไป

 

 

อินทนนท์ แหล่งอาหารที่ความสูง 1,400 เมตร

      ไม่ว่าจะเป็น สตรอว์เบอร์รี พลัม พีช บ๊วย อโวคาโด กีวีฟรุต องุ่นไร้เมล็ด หรือผลไม้ที่หน้าตาแปลกๆ ชื่อไม่คุ้นหูอย่าง เคปกูสเบอร์รี และผลไม้เมืองหนาวอีกมากมาย ล้วนมีแหล่งผลิตมาจากที่นี่ สถานีเกษตรหลวงอินทนนท์ แห่งนี้ รวมถึงโรงเรือนที่ตั้งเรียงรายที่ซึ่งเป็นแหล่งเรียนรู้ และวิจัย ทั้งพันธุ์ไม้ดอกละลานตา ไม้ผล พืชผล ผัก Hydroponics 

       บนความสูง 1,400 เมตรจากระดับทะเล อากาศจึงหนาวจัด และบนดอยอินทนนท์นี้ยังมีน้ำตกสรภูมิที่มีน้ำไหลเย็นตลอดปี ทำให้สภาพแวดล้อมของที่นี่ไม่ได้เหมาะแค่เป็นสถานีวิจัยพืชเท่านั้น หากแต่ยังสามารถตั้งเป็นแหล่งวิจัย ประมงน้ำจืดบนพื้นที่สูง ด้วย สมชาย เขียวแดง ผู้อำนวยการสถานีเกษตรหลวงอินทนนท์ อธิบายเพิ่มเติมว่า

      เป็นไอเดียหม่อมเจ้าภีศเดช ที่ท่านไปต่างประเทศ ก็เห็นปลาเทราต์มีราคาแพง และที่อินทนนท์เองก็มีแหล่งน้ำ มีน้ำตกที่อุณหภูมิได้ ท่านก็รับสั่งให้เลี้ยง มาค้นคว้าวิจัย ใช้เวลาร่วม 10 ปี แต่ก่อนเราต้องสั่งไข่จากต่างประเทศมา แต่ตอนนี้เราสามารถฟัก พัฒนา มีพ่อพันธุ์แม่พันธุ์บนนี้ได้” 

      ท่ามกลางสายลมหนาวที่พัดพลิ้ว แต่กลับสร้างความอบอุ่นใจได้อย่างน่าประหลาด เป็นความอิ่มอุ่นใจ เมื่อได้มาเยือนสถานีเกษตรหลวงอินทนนท์ ได้มาเห็นความเป็นมาเป็นไปของที่แห่งนี้ และรอยยิ้มของทั้งเจ้าหน้าที่สถานีฯ ชาวเขา และนักท่องเที่ยว ในวันที่ความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติกลับคืนมา ปราศจากต้นฝิ่น และเกษตรกรบนพื้นที่สูงมีรายได้ มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ด้วยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ของเรา

 

X

Right Click

No right click