November 21, 2024

รายงาน“การกลับสู่ความมั่งคั่งที่ยั่งยืน : ครบรอบ 10 ปีหลังมหภาควิกฤตเศรษฐกิจโลกและนโยบายฟื้นฟู” (Beyond Austerity: Towards a Global New Deal)

 สาระสำคัญของรายงานการค้าและการพัฒนา 2017 สามารถแบ่งออกเป็นหัวข้อต่าง ๆ ได้ ดังนี้

  1. ภาวะเศรษฐกิจโลก (Global Economy)

เศรษฐกิจโลกในภาพรวมกำลังส่งสัญญาณฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยที่การดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วอันปราศจากการฟื้นตัวที่เข้มแข็ง ประกอบกับความผันผวนรอบใหม่ของการเคลื่อนย้ายเงินทุนโลก ได้จำกัดการเติบโตทางเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา แต่ก็มีความแตกต่างระดับภูมิภาคและประเทศที่สูง ขณะที่หากจำแนกตามภูมิภาคและประเทศแล้ว ก็จะสะท้อนภาพที่แตกต่างหลากหลายกันไป กล่าวคือ ในช่วงปี 2016 อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจโลกมาอยู่ในช่วงบวกได้ โดยการสนับสนุนของการกลับมาฟื้นตัวตามรอบวัฏจักรของเศรษฐกิจในยุโรปตะวันตกและญี่ปุ่นในช่วงปลายปี แต่ทั้งหมดก็ยังถือว่ามีความเปราะบาง เนื่องจากสหรัฐอเมริกากลับมีสัญญาณการชะลอตัวในช่วงปลายปีดังกล่าว และต่อเนื่องมาถึงปี 2017 ด้วยการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศเพียงร้อยละ 1.4 ในไตรมาสแรกของปี ขณะเดียวกัน การเติบโตทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศยุโรป หรือยูโรโซน ก็มีความแตกต่างกันอย่างมาก โดยประเทศระหว่างเมืองหลวงและเมืองเล็กๆ ที่มีอัตราการว่างงานที่สูงมากอย่างต่อเนื่อง และกำลังกลายเป็นปัญหาสังคมที่รุนแรงขึ้น แต่ประเทศแกนหลัก เช่น ยุโรปตะวันตก อเมริกา และญี่ปุ่นกลับมีอัตราการเติบโตที่ถดถอยลงเป็นลำดับ แม้จะมีอัตราการว่างงานที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญก็ตาม (ยกเว้นกรณีของประเทศกรีซ และสเปน) ส่วนเศรษฐกิจของสหราชอาณาจักร ก็ยังคงเติบโตได้เกินคาดหมายในช่วงครึ่งหลังของปี 2016 อันเป็นผลมาจากการลดลงของมูลค่าสกุลเงินปอนด์ อันส่งผลให้เกิดการทะยานขึ้นของการส่งออก คู่ขนานกับการเพิ่มขึ้นของการใช้จ่ายภาคครัวเรือน ซึ่งขับเคลื่อนโดยการกู้ยืมของผู้บริโภคที่สูงขึ้น และราคาบ้านที่พุ่งสูงขึ้นเช่นกัน

ในส่วนของภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิกพบว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจยังดำเนินไปได้ต่อเนื่อง แม้ว่าอาจต่ำกว่าค่าเฉลี่ยเทียบกับแนวโน้มในอดีตของเศรษฐกิจภูมิภาคไปบ้าง โดยมีอัตราการเติบโตที่ร้อยละ 4.9 ในปี 2016 และคาดว่าจะยังเติบโตได้อีกที่ร้อยละ 5 ในปี 2017 ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา ผลการดำเนินงานทางเศรษฐกิจของภูมิภาคขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดของสองประเทศ ได้แก่ จีน และอินเดีย อย่างไรก็ตาม แม้การเติบโตของเศรษฐกิจทั้งสองประเทศจะยังเติบโตได้ดี แต่ก็ถือว่าอยู่ในอัตราที่ช้าลงเทียบกับก่อนวิกฤติเศรษฐกิจ และยังต้องเผชิญกับความเสี่ยงที่มีผลต่อการชะลอตัวทางเศรษฐกิจในระยะข้างหน้าด้วย โดยในส่วนของจีนเอง รัฐบาลได้ริเริ่มมาตรการที่พยายามจะควบคุมระดับหนี้ที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม การดำเนินมาตรการดังกล่าวจะส่งผลให้เกิดการหดตัวของอุปสงค์ภายในประเทศ และส่งผลกระทบเชิงลบต่อส่วนที่เหลือของภูมิภาคได้ ขณะที่อินเดียก็ยังต้องดำเนินการปรับโครงสร้างและระบบการคลังซึ่งกำลังเผชิญกับปัญหาทรัพย์สินด้อยคุณภาพ รวมถึงมีสัญญาณการลดลงของการสร้างสินเชื่อใหม่ ทำให้ผลการดำเนินงานด้านการเติบโตทางเศรษฐกิจยังมีอุปสรรคต่อไป ขณะที่ประเทศเศรษฐกิจอุบัติใหม่เช่นประเทศอินเดียที่ถือเป็นประเทศกำลังพัฒนาของภูมิภาคกำลังเผจิญกับการปฐิรูปและปรับระบบบริหารเงินโดยมาตรการ “Demonetization”ที่เปลี่ยนเป็นระบบการการเงินออนไลน์แทนการใช้ธนบัตรเงินที่ธนาคารแห่งชาติเดิมเป็นผู้ออก ซึ่งรัฐบาลอินเดียได้เริ่มประกาศใช้ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2559 ที่แล้ว ในส่วนของเศรษฐกิจประเทศญี่ปุ่น เป็นการฟื้นตัวต่อยอดจากช่วงเวลายาวนานของการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่ำ อันเป็นผลมาจากการขับเคลื่อนด้วยการส่งออกที่ปรับขึ้นบนพื้นฐานของมูลค่าของสกุลเงินเยนที่ปรับตัวสู่ความเป็นจริง ภายหลังที่มีการบริหารค่าเงินเยนที่เอื้ออำนวยต่อการค้า (Over-valuation of Currency) มาเป็นเวลานานก็กำลังเริ่มเคลื่อนออกจากภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นของปี 2017 แต่อัตราการเติบโตก็ยังคงอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำและเปราะบางเช่นกัน

เมื่อพิจารณาภาวะเศรษฐกิจของภูมิภาคละตินอเมริกาและกลุ่มประเทศแคริบเบียนคาดว่า จะสามารถมีอัตราเติบโตในแดนบวกได้ในปีนี้ แม้ว่าจะเป็นการเติบโตตามหลังช่วงเวลาสองปีของการหดตัวทางเศรษฐกิจในปี 2015 และ 2016 ก็ตาม โดยกลุ่มประเทศอเมริกาใต้คาดว่าจะเติบโตที่ร้อยละ 0.6 แต่กลุ่มประเทศแคริบเบียนน่าจะเติบโตในอัตราสูงกว่าที่ร้อยละ 2.6 โดยสถานการณ์ทางการเมืองที่ขาดเสถียรภาพในบราซิลกับอาร์เจนตินา ผนวกกับราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ยังคงตกต่ำต่อเนื่อง รวมถึงความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจเม็กซิโก ที่ต้องเผชิญกับแรงกดดันจากเงินเฟ้อ การตัดลดงบประมาณรายจ่ายภาครัฐ และนโยบายที่ไร้ทิศทางของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา ภายใต้การนำของประธานาธิบดีคนใหม่ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ล้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงทางเศรษฐกิจของภูมิภาคทั้งสิ้น

ในท้ายที่สุด ภูมิภาคแอฟริกาได้รับผลกระทบเชิงลบจากราคาน้ำมันที่ลดลง และการสิ้นสุดของช่วงรุ่งเรืองของสินค้าโภคภัณฑ์ในปี 2014 อันส่งผลให้อัตราการเติบโตของภูมิภาคลดลงจากร้อยละ 3 ในปี 2015 เหลือเพียงร้อยละ 1.5 ในปี 2016 มีเพียงแอฟริกาตะวันออกเท่านั้นที่ยังคงสามารถเติบโตสูงกว่าร้อยละ 5 ในปี 2016 แม้ว่าจะยังมีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบอัตราการเติบโตในระดับประเทศ โดยประเทศไอโวรี โคสท์ และเอธิโอเปีย เติบโตสูงกว่าร้อยละ 7 ขณะที่โมร็อคโค และแอฟริกาใต้ เติบโตเพียงร้อยละ 1.1 และ 0.3 โดยในกรณีของแอฟริกาใต้อาจเข้าสู่ภาวะถดถอยด้วยในอนาคตอันใกล้ เนื่องจากภาคอุตสาหกรรมและการค้าประสบกับภาวะชะลอตัวอย่างชัดเจน แม้บางส่วนจะได้รับการชดเชยจากการขยายตัวในภาคเกษตรและเหมืองแร่อยู่บ้าง ส่วนประเทศอย่างไนจีเรียและกินี ต้องประสบกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่อัตราร้อยละ 1.5 และร้อยละ 7 ตามลำดับ เนื่องจากต่างล้มเหลวที่จะกระจาย ความเสี่ยงทางเศรษฐกิจ และยังคงพึ่งพาการสร้างรายได้จากสินค้าเพียงไม่กี่ประเภท

  1. แหล่งความเจริญเติบโตของโลกใหม่ที่เป็นอุปสงค์ของโลกจะมาจากที่ใด?

ในช่วงที่ผ่านมา เศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกายังคงดำเนินไปในสถานะของการเป็นประเทศหลักในการขับเคลื่อนอุปสงค์ของโลก โดยการนำเข้าสินค้าและบริการจากประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก รวมถึงการสร้างภาวะขาดดุลบัญชีเดินสะพัดในระดับสูง อย่างไรก็ตาม ด้วยความต้องการเงินดอลลาร์สหรัฐในฐานะเงินสกุลหลักของโลกที่ต้องถือไว้เป็นเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างสหรัฐอเมริกากับอารยประเทศก็จะยังราบรื่นต่อไป ขณะเดียวกัน ภาวะการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดของจีน ซึ่งเคยสูงที่สุดในโลกจนถึงประมาณปี 2553 กำลังทยอยลดระดับลงเป็นลำดับอย่างรวดเร็ว แต่เยอรมนีกลับกลายเป็นประเทศที่สามารถเพิ่มการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดได้ดีจนสามารถมาแทนที่จีนได้ในฐานะประเทศที่มีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดสูงที่สุดในโลกได้ในที่สุด แต่ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม การลงทุนระยะยาวที่มีนัยสำคัญทางเศรษฐกิจ และสามารถสร้างการเติบโตของประเทศที่มีรายได้ต่ำ น่าจะเป็นแนวทางที่ทำให้อุปสงค์ของโลกฟื้นตัวได้ดีที่สุด โดยมาตรการที่น่าสนใจและควรค่าแก่การเอ่ยถึงมากที่สุดในห้วงเวลานี้ ประกอบด้วย แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจ (Marshall Plan) ของประเทศเยอรมนี ที่มุ่งสนับสนุนการขยายการลงทุนภาคเอกชนในแอฟริกา และการลงทุนเพื่อพัฒนาเส้นทางสายไหมแห่งศตวรรษที่ 21 (One Belt, One Road: OBOR) ของจีน ก็ถือเป็นโครงการขนาดใหญ่มากที่อาจต้องใช้เงินลงทุนสูงถึง 9 แสนล้านเหรียญสหรัฐ แต่การดำเนินงานจะประสบความสำเร็จได้ ก็ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย โดยเฉพาะความสามารถของจีนในการจัดการกับความไม่สมดุลทางเศรษฐกิจภายในประเทศ และวิธีการระดมเงินทุนในการขับเคลื่อนการลงทุนทั้งในระยะและพื้นที่ต่าง ๆ ที่จะไปเชื่อมโยงกับประเทศอื่น ๆ ทั้งในส่วนที่เข้าร่วมลงทุน และที่ได้รับอานิสงส์จากการพัฒนาเส้นทางข้างต้น

  1. ช่วงเวลาแห่งการทดสอบสำหรับการค้าและการเคลื่อนย้ายเงินทุน

การค้าโลกมีแนวโน้มที่จะขยายตัวในปีนี้จากผลการดำเนินงานที่ตกต่ำในปี 2016 แต่ยังคงมีข้อกังขาเกี่ยวกับความยั่งยืนของการเพิ่มขึ้นจากการส่งออกของประเทศกำลังพัฒนา (Developing Economies) ที่เป็นสาเหตุพื้นฐานของการปรับตัวที่ดีขึ้นดังกล่าว แต่ด้วยอุปสงค์ของโลกที่ยังอ่อนแอ การค้าโลกยังไม่น่าจะเป็นปัจจัยกระตุ้นสำคัญสำหรับการเติบโตทางเศรษฐกิจได้ ยกเว้นในเพียงบางประเทศเท่านั้นที่อาจได้รับประโยชน์จากสถานการณ์พิเศษ ขณะที่ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ซึ่งเพิ่มขึ้นตั้งแต่ปีก่อนหน้าจนถึงช่วงต้นปีนี้ ก็ส่งผลให้มีการส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ในประเทศกำลังพัฒนาเพิ่มขึ้น ได้บ้างเช่นกัน อย่างไรก็ตาม แนวโน้มดังกล่าวก็กำลังเริ่มคลายตัวลงแล้ง และยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าราคาเฉลี่ยในช่วงทศวรรษแรกของศตวรรษอยู่มาก นอกจากนี้ ราคาสินค้าจำพวกเหล็กก็ลดลงเช่นกัน อันเป็นผลมาจากอุปสงค์ที่อ่อนลงของภาคการผลิตในสหรัฐอเมริกา ในทำนองเดียวกัน ท่ามกลางสภาพแวดล้อมของเศรษฐกิจโลกที่เต็มไปด้วยความท้าทายและคาดการณ์ได้ยากนั้น ความพยายามที่จะสร้างเศรษฐกิจและสังคมที่มีส่วนร่วมอย่างทั่วถึงจะต้องมีการเร่งรัดมากขึ้น ประกอบกับการฟื้นฟูระบบการค้าแบบพหุภาคีที่สามารถมีแรงผลักดันให้เกิดการขับเคลือใหม่เพื่อฟื้นฟู (Renewed Momentum) และสามารถกระจายผลประโยชน์ให้กับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้อย่างทั่วถึง ย่อมมีนัยสำคัญต่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในระยะข้างหน้า อย่างไรก็ตาม การจะทำให้การดำเนินการข้างต้นประสบผลสำเร็จได้ ประชาคมโลกก็จำเป็นต้องสามารถก้าวข้ามประเด็นที่เป็นอุปสรรคสำคัญต่อไปนี้

  • การครอบครองตลาดและอำนาจในลัษณะกึ่งผูกขาดโดยผู้ประกอบการรายใหญ่ในตลาด (Market Concentration) เพื่อแสวงหากำไรจากการเก็บค่าเช่าหรือค่าธรรมเนียม เพื่อแลกกับการใช้สิทธินั้นๆ ว่าจะเป็นทรัพย์สินหรือสิทธิทางการค้า (Rent-extracting Behavior) โดยอาศัยกลยุทธ์ต่าง ๆ อาทิ การหลบเลี่ยงภาษี การใช้กลยุทธ์การแข่งขั้นที่สร้างความได้เปรียบอย่างไม่ชอบธรรมเพื่อลดคู่แข่ง และการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของภาครัฐโดยใช้ช่องว่างทางกฎหมาย (ทั้งในส่วนของสินทรัพย์และเงินอุดหนุน) ซึ่งถือเป็นกำไรของสังคมที่ควรมีการจัดสรรอย่างเป็นธรรม แต่ด้วยปรากฏการณ์ข้างต้นจะทำให้ไปตกอยู่ในมือของกลุ่มคนส่วนน้อยในสังคม เป็นการซ้ำเติมและก่อให้เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำที่เรื้อรัง ซึ่งได้เกิดมาตั้งแต่ 3 ทศวรรษก่อนหน้า นับจากยุคโลกาภิวัตน์แบบรุนแรง (Hyper-globalization)
  • การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี หรือการดำเนินนโยบายของภาครัฐ ที่นำไปสู่การหยุดยั้งการสร้างงานใหม่ ก่อให้เกิดการจัดสรรงานที่ไม่เสมอภาค โดยเฉพาะในกลุ่มสตรีและกลุ่มผู้ด้อยโอกาส ที่อาจได้รับผลกระทบมากที่สุด อันสะท้อนถึงการเลือกปฏิบัติทางสังคมที่ซ้ำซากอย่างที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว ส่งผลต่อการเพิ่มขึ้นของความวิตกกังวลของประชาชนในสังคม
  • การเอารัดเอาเปรียบทางการค้าและการลงทุนโดยอาศัยกฎหมายทางทรัพย์สินทางปัญญา (IPR) เป็นเครื่องมือในการสร้างความได้เปรียบ เพื่อปกป้องผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของตนเองที่เกินควร ของบรรดาบริษัทข้ามชาติที่มาค้าขายหรือลงทุนในประเทศกำลังพัฒนาที่ไม่มีกฏหมายทางทรัพย์สินทางปัญญา (IPR) หรือมีระบบกฎหมายที่ไม่เท่าเทียมกัน ทั้งนี้ส่งผลกระทบโดยตรงไปถึงพลวัตทางนวัตกรรมในเศรษฐกิจอุบัติใหม่ที่สำคัญ อาทิ ประเทศบราซิล จีน และอินเดีย

ทั้งนี้ สิ่งที่จะมีบทบาทสำคัญและส่งผลต่อการตัดสินและบ่งชี้ทิศทางการพัฒนาการค้าและการเคลื่อนย้ายเงินทุนในอนาคตก็คือ การกำหนดและดำเนินนโยบายภาคอุตสาหกรรมที่คำนึงถึงวิวัฒนาการของยุคสมัยไปสู่ระบบดิจิทัล (Digital Industrial Policies) อย่างมีประสิทธิผล การส่งเสริมศักยภาพของระบบดิจิทัลให้เร่งรัดการเติบโตของผลิตภาพ และสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจของโลกที่เป็นธรรมและยั่งยืนมากขึ้น รวมถึงการสร้างโอกาสในการทำงานของภาคอุตสาหกรรม ควบคู่กับการใช้นโยบายการคลังแบบขยายตัวอย่างเหมาะสม อันจะก่อให้เกิดการยกระดับอุปสงค์ของแรงงาน และลดภาวะการแข่งขันในตลาดแรงงานลง

  1. ก้าวต่อไปข้างหน้า: สู่ข้อตกลงใหม่ของโลก

โดยสรุป การที่โลกจะสามารถก้าวเข้าสู่การพัฒนาระบบเศรษฐกิจที่มีส่วนร่วมอย่างทั่วถึงได้ จะต้องอาศัยวาระที่ชัดเจนและครอบคลุมองค์ประกอบต่าง ๆ ที่ครบถ้วน อันนำไปสู่การจัดการปัญหาสำคัญ ประกอบด้วย ความเหลื่อมล้ำทั้งในระดับโลกและประเทศ ไม่ว่าจะเป็นในมิติของการขับเคลื่อนทรัพยากร องค์ความรู้ทางเทคโนโลยี อำนาจตลาด และอิทธิพลทางการเมือง ซึ่งเกิดขึ้นจากโลกาภิวัตน์แบบรุนแรง เพราะปัญหาทั้งหมดข้างต้นก่อให้เกิดการสร้างผลที่ตามมาในลักษณะเฉพาะเจาะจงและขัดขวางการเข้าถึงของบางฝ่ายอย่างถาวร ดังนั้น สิ่งที่โลกต้องการก็คือ กลยุทธ์ที่มุ่งสู่การขยายตัวทางเศรษฐกิจบนพื้นฐานของการประสานประโยชน์ระหว่างกัน โดยอาศัยการเพิ่มรายจ่ายภาครัฐ และสามารถทำให้ทุกประเทศมีโอกาสที่จะได้รับประโยชน์ไปด้วยกันในการขยายตลาดทั้งภายในและภายนอกประเทศของตนเอง และการสร้างฉันทามติของทุกประเทศที่จะก่อให้เกิดการผสานด้านทรัพยากร นโยบาย และการปฏิรูปอย่างเหมาะสมที่จะนำไปสู่การผลักดันการลงทุนที่จำเป็น และส่งเสริมผลการดำเนินงานที่ทำให้ทุกฝ่ายได้รับประโยชน์อย่างทั่วถึง ทั้งในระดับโลกและระดับประเทศ

ความท้าทายสำคัญ 3 ประการที่จะต้องดำเนินงานเชิงนโยบายและก้าวข้ามให้ได้ ประกอบด้วย ความเหลื่อมล้ำ แรงกดดันด้านการเปลี่ยนแปลงประชากร และปัญหาสิ่งแวดล้อม แต่องค์ประกอบสำคัญของนโยบายดังกล่าว ซึ่งมาจากข้อตกลงใหม่บางประการของอดีตประธานาธิบดีรูสเวลท์ (Roosevelt’s New Deal) แห่งสหรัฐอเมริกา ได้แก่

  • การยกเลิกมาตรการรัดเข็มขัดทางการคลัง (Ending Austerity) ถือเป็นเงื่อนไขเบื้องต้นที่สำคัญสำหรับการสร้างเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและมีส่วนร่วมอย่างทั่วถึง โดยจะต้องมีการดำเนินนโยบายในแนวทางใหม่ที่แตกต่างออกไป เช่น นโยบายการคลัง ที่สามารถจัดการกับอุปสงค์และทำให้การจ้างงานที่สมบูรณ์เป็นเป้าหมายเชิงนโยบายสูงสุด และนโยบายการเงินที่สามารถอำนวยความสะดวกในการระดมทุนเพื่อการลงทุนของภาครัฐที่เหมาะสม เป็นต้น ทั้งนี้ เนื่องจากทั้งการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและการจ้างงาน ล้วนมีความสำคัญต่อการลดสภาวะที่ไม่สมดุลของภูมิภาค ที่ได้ก่อเกิดขึ้นทั้งในประเทศพัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนา
  • การยกระดับการลงทุนภาครัฐที่มีมิติของภาคสังคมและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการปรับตัวเข้ากับสภาวะการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ และการส่งเสริมโอกาสทางเทคโนโลยี ภายใต้กรอบความตกลงด้านภูมิอากาศแห่งปารีส รวมถึงการจัดการกับปัญหามลภาวะ และการร่อยหรอลงของทรัพยากรธรรมชาติ การเปลี่ยนแปลงด้านประชากรและสังคม การจัดหาบริการดูแลเด็กและผู้สูงวัย การลงทุนภาครัฐควรได้รับการออกแบบให้สามารถสร้างและดึงดูดการลงทุนจากภาคเอกชนมากขึ้น โดยครอบคลุมถึงวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมและสหกรณ์ด้วย
  • การเพิ่มรายได้รัฐบาล เป็นหนึ่งในหลักประกันของสังคม ในการคืนความสมดุลและความมั่งคั่งให้กับประเทศ ที่ต้องมีการพึ่งพาการบังคับใช้ภาษีแบบก้าวหน้า (Progressive Taxes) ให้มากขึ้น อาทิ ภาษีทรัพย์สิน เพื่อจัดการกับปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ของประชาชน นอกจากนี้ ยังต้องต่อสู้กับปัญหาการละเว้นและช่องโหว่ด้านภาษีที่มิชอบ และการใช้ประโยชน์จากเงินอุดหนุนของธุรกิจเอกชนในทางที่ผิดอีกด้วย
  • การจัดระบบเพื่อควบคุมสถาบันทางการเงินนอกระบบ ที่เอื้อต่อการเหลีกเลียงภาษี (Tax haven) เช่นมาตรการการจดทะเบียนและสร้างทำเนียบสถาบันทางการเงินที่เกี่ยวข้อง โดยจะต้องมีการดำเนินการทางกฎหมายทั้งในระดับประเทศและระหว่างประเทศ เพื่อจัดตั้งระบบจดทะเบียนทางการเงินของโลกที่สามารถบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับเจ้าของสินทรัพย์ทางการเงินจากทั่วโลกได้
  • การสนับสนุนให้มีการก่อตั้งสหภาพแรงงานที่ถูกต้องทางกฎหมาย และสามารถเป็นตัวแทนพนักงานในการต่อรองกับนายจ้างหรือนายทุน เพื่อให้เกิดความมั่นคงในการประกอบอาชีพการงานอย่างยั่งยืน โดยให้สหภาพแรงงานมีสิทธิเสรีภาพมากขึ้น ผนวกกับการดำเนินมาตรการเสริมที่เหมาะสม เช่น การดำเนินการทางกฎหมาย (อาทิ การจัดให้มีสัญญาจ้างงานนอกระบบ) มาตรการที่ส่งเสริมการดำเนินงานของตลาดแรงงาน และการจัดตั้งกลไกหรือกองทุนที่สนับสนุนรายได้ส่วนเพิ่ม เป็นต้น
  • การพัฒนาเครื่องมือการเงินและการลงทุนที่ส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคม โดยจะต้องผลักดันให้สถาบันการเงินมีบทบาทในการดึงดูดหรือสนับสนุนการลงทุนที่รับใช้สังคม และก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อส่วนรวม
  • การเพิ่มแหล่งเงินทุนให้กับรัฐที่มีความประสงค์ในการพัฒนาประเทศ เพื่อจะลดช่องว่างเชิงสถาบันในด้านการปรับโครงสร้างหนี้ของประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะในรูปของการสนับสนุนความช่วยเหลือด้านการพัฒนาอย่างเป็นทางการ (Official Development Assistance: ODA) ที่บรรลุเป้าหมายอย่างแท้จริง
  • มาตราการการป้องกันการแสวงหากำไรที่ไม่เป็นธรรมในทางเศรษฐกิจของบริษัทเอกชน (ระบบทุนนิยมในลักษณะผูกขาดหรือกึงผูกขาด) ต้องมีการดำเนินมาตรการที่หยุดยั้งแนวปฏิบัติทางธุรกิจที่มีลักษณะจำกัดขอบเขตหรือรวบรัดอำนาจของตลาด ตัวอย่างเช่น การพัฒนากลไกระหว่างประเทศสำหรับการกำกับดูแลแนวปฏิบัติทางธุรกิจที่เอื้อให้เกิดการแข่งขันที่เท่าเทียมกัน การบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดกับบริษัทขนาดใหญ่ให้เปิดเผยและรายงานข้อมูลทางธุรกิจต่อทางการ การพัฒนาแนวทางและนโยบายจากแนวปฏิบัติอันเป็นเลิศในระดับระหว่างประเทศ และการกำหนดนนโยบายการแข่งขันที่มุ่งส่งเสริมความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ ฯลฯ
  • การส่งเสริมเพื่อการรักษากฎหมายและพันธะผูกพันการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ และมาตรการต่างๆ ที่เป็นธรรมต่อทุกๆฝ่าย ทันสมัย โปร่งใส และครอบคลุม (balanced) โดยจะปกป้องสิทธิของประเทศกำลังพัฒนาโดยเฉพาะจะต้องมีการยกเครื่องและสร้างระบอบการลงทุนระหว่างประเทศใหม่ โดยเฉพาะในส่วนที่เชื่อมโยงไปถึงการปฏิรูปนโยบายการลงทุนและทรัพย์สินทางปัญญาที่สร้างอุปสรรคต่อการแข่งขัน ขณะเดียวกัน ระบบการระงับข้อพิพาทและไกล่เกลี่ยความขัดแย้งที่เกิดจากการลงทุนระหว่างประเทศก็ต้องได้รับการปรับปรุงด้วย โดยอาจต้องถูกแทนที่ด้วยระบบที่รวมศูนย์มากขึ้น เพื่อให้เกิดกระบวนการอุทธรณ์ที่เหมาะสม และตั้งอยู่บนหลักนิติรัฐทางกฎหมายระหว่างประเทศ

 เรื่อง    สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา

X

Right Click

No right click