November 25, 2024

กรมปศุสัตว์ นำโดยนายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ จัดกิจกรรม Kick Off เปิดปฏิบัติการอวสานสารเร่งเนื้อแดง โดยมีนายอิทธิ  ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานในพิธี ณ อาคารมหานครมิวเซียม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร ขับเคลื่อนนโยบายห้ามใช้สารเร่งเนื้อแดงตลอดห่วงโซ่การผลิต พร้อมสร้างการรับรู้แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงโคขุนให้ตระหนักถึงอันตรายและผลกระทบเชิงลบที่เกิดขึ้นจากการใช้สารเร่งเนื้อแดง กรมปศุสัตว์จึงดำเนินการมาตรการเชิงรุกเฝ้าระวังการลักลอบใช้สารเร่งเนื้อแดงในโรงฆ่าสัตว์ โรงงานผลิตอาหารสัตว์ และฟาร์มเลี้ยงโคขุนทั่วประเทศ โดยตั้งเป้าหมายให้ประเทศไทยปลอดสารเร่งเนื้อแดง และสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภค พร้อมส่งออกไปยังประเทศคู่ค้า

นายอิทธิ ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ภายใต้การกำกับดูแลของ ศ.ดร. นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลด้านการเกษตรด้วยการยกระดับสินค้าเกษตรและบริการมูลค่าสูง ยกระดับศักยภาพของเกษตรกร/สถาบันเกษตรกรให้เข้มแข็ง และสานต่อการทำสงครามสินค้าเกษตรเถื่อน พร้อมผลักดันนโยบายตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้ โดยกรมปศุสัตว์ดำเนินการขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าว และบังคับใช้กฎหมายอย่างต่อเนื่อง มุ่งเน้นให้เกิดการยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนให้มีความกินดีอยู่ดีอย่างยั่งยืน และเป็นการยกระดับสินค้าเกษตรให้มีคุณภาพ ดังนั้น กิจกรรม Kick Off เปิดปฏิบัติการอวสานสารเร่งเนื้อแดง จึงเป็นกิจกรรมสำคัญที่มีการบูรณาการความร่วมมือระหว่างกรมปศุสัตว์ หน่วยงานกระทรวงสาธารณสุข และกองบังคับการปราบปรามกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค โดยมุ่งเน้นให้ประเทศไทยปราศจากการใช้สารเร่งเนื้อแดงในการเลี้ยงสัตว์ปศุสัตว์ ซึ่งจะนำไปสู่การยกระดับความปลอดภัยในอาหารและยกระดับมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารต่อไป

 

ด้านนายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สารเร่งเนื้อแดงที่มักพบการลักลอบใช้ ได้แก่ ซาลบูทามอล (Salbutamol) เคลนบูเทอรอล (Clenbuterol) และแรคโทพามีน (Ractopamine) ซึ่งมีคุณสมบัติในการกระตุ้นการสร้างโปรตีนในกล้ามเนื้อและลดการสะสมไขมัน จึงถูกนำมาใช้ผิดวัตถุประสงค์ในการเลี้ยงสัตว์ปศุสัตว์ โดยเมื่อนำสารชนิดนี้ไปผสมอาหารสำหรับเลี้ยงในฟาร์มสุกรและโคขุน จะทำให้ได้เนื้อสัตว์ที่มีสีแดงสด ชั้นไขมันบาง ซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาด แต่ก่อให้เกิดการตกค้างในผลิตภัณฑ์จากสัตว์ เมื่อผู้บริโภคทานผลิตภัณฑ์จากสัตว์ที่มีสารเร่งเนื้อแดงตกค้างเข้าไป จะทำให้กระสับกระส่าย ใจสั่น มือสั่น กล้ามเนื้อกระตุก ปวดศีรษะ คลื่นไส้ และความดันโลหิตสูง โดยจะอันตรายมากขึ้นในหญิงมีครรภ์ ผู้ป่วยโรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง ในผู้ที่แพ้ หรือได้รับสารในปริมาณมากอาจเกิดหัวใจเต้นผิดจังหวะถึงขั้นเสียชีวิตได้ ซึ่งกรมปศุสัตว์มอบหมายให้กองควบคุมอาหารและยาสัตว์เป็นหน่วยงานหลักในการกำหนดมาตรการควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ ดำเนินมาตรการป้องกันการลักลอบใช้สารเร่งเนื้อแดง โดยจัดให้มีการดำเนินการตรวจสอบอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ได้แก่ การตรวจสอบการลักลอบใช้สารเร่งเนื้อแดงตั้งแต่การเลี้ยงของเกษตรกรในฟาร์ม การเฝ้าระวังในโรงงานผลิตอาหารสัตว์ และการเฝ้าระวังสารเร่งเนื้อแดงตกค้างก่อนสัตว์เข้าโรงฆ่า อีกทั้ง สามารถตรวจสอบการเฝ้าระวังสารเร่งเนื้อแดงย้อนกลับแหล่งที่มา และ/หรือแหล่งผลิต ณ สถานที่จำหน่ายเนื้อสัตว์ ซึ่งสารเร่งเนื้อแดงเป็นวัตถุที่ห้ามใช้ผสมในอาหารสัตว์ ตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดวัตถุที่ห้ามใช้เป็นส่วนผสมในอาหารสัตว์ พ.ศ. 2559 ตามความในมาตรา 6(4) แห่งพระราชบัญญัติควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ พ.ศ. 2558 หากตรวจพบการฝ่าฝืน มีโทษตามมาตรา 71 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ นอกจากนี้ ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 269) พ.ศ. 2546 เรื่อง มาตรฐานอาหารที่มีการปนเปื้อนสารเคมีกลุ่มเบต้าอะโกนิสต์ กำหนดให้อาหารทุกชนิดมีมาตรฐาน โดยตรวจไม่พบการปนเปื้อนสารเคมีกลุ่มเบต้าอะโกนิสต์และเกลือของสารกลุ่มนี้ อาหารที่มีสารเร่งเนื้อแดงตกค้างถือว่าผิดมาตรฐาน ตามมาตรา 25(3) แห่งพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 มีมีโทษตามมาตรา 60 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท 

สำหรับการจัดกิจกรรม Kick Off เปิดปฏิบัติการอวสานสารเร่งเนื้อแดงในครั้งนี้ เป็นการมุ่งเน้นไม่ให้เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ลักลอบใช้สารเร่งเนื้อแดงในการเลี้ยงสัตว์ โดยกรมปศุสัตว์มีการรณรงค์ให้ความรู้แก่เกษตรกรถึงอันตรายของสารเร่งเนื้อแดง และส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์ตามมาตรฐานฟาร์มที่ดีอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการส่งเสริมการพัฒนาสินค้าเกษตรสู่มาตรฐานเพื่อสนับสนุนการส่งออกผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์ไปจำหน่ายยังต่างประเทศ พร้อมทั้งสร้างความตระหนักรู้แก่ผู้บริโภคในการเลือกซื้อเนื้อสัตว์ที่ปลอดภัย โดยสังเกตจากลักษณะเนื้อสัตว์ที่ไม่มีสีแดงเข้มผิดธรรมชาติ ไม่แห้งเหนียว หรือมีน้ำซึมออกมามากผิดปกติ

 

ทั้งนี้ หากต้องการซื้อเนื้อสัตว์ ผู้บริโภคควรเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์ที่ปลอดภัย โดยสังเกตจากสัญลักษณ์ ปศุสัตว์ OK ซึ่งได้รับการรับรองจากกรมปศุสัตว์ หรือป้ายทองอาหารปลอดภัย (Food Safety)  และหากพบผู้กระทำความผิดสามารถแจ้งเบาะแสได้ที่สายด่วนกรมปศุสัตว์ 063-225-6888 หรือแจ้งข้อมูลผ่าน Application DLD 4.0 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

วีเอ็นยู เอเชีย แปซิฟิค ร่วมกับ บริษัท Globus Events และ กระทรวงพาณิชย์ กรมปศุสัตว์ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) สมาคมที่เกี่ยวข้อง ตัวแทนจากหน่วยงานราชการและเอกชน เปิดตัวการจัดงาน "PET FAIR SOUTH EAST ASIA" (เพ็ท แฟร์ เซาส์ อีสท์ เอเชีย) อย่างเป็นทางการ โดยงานครั้งนี้จัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ ระว่างวันที่ 30 ตุลาคม – 1 พฤศจิกายน 2567 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค กรุงเทพฯ

ครั้งนี้นับเป็นการจัดงานครั้งที่ 3 ของงาน "PET FAIR SOUTH EAST ASIA" โดยยกระดับประสบการณ์จากงานแสดงสินค้าเพื่อการค้าปลีกสู่การเป็นเวทีระดับสากลในการเจรจาธุรกิจ โดยมีบริษัทชั้นนำกว่า 400 แห่ง จาก 40 ประเทศ และพร้อมต้อนรับผู้เข้าชมงานจาก 80 ประเทศทั่วโลก ในปี 2024 นี้มีพาวิลเลี่ยนนานาชาติจาก 12 ประเทศ ที่สะท้อนถึงความมุ่งมั่นในการส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ พร้อมด้วยงานสัมมนาเชิงวิชาการที่น่าสนใจกว่า 40 วิทยากรชั้นนำ ภายในงานยังมีโซนพิเศษ Thai Pet Avenue ซึ่งเป็นการรวบรวม SMEs ไทยในอุตสาหกรรมสัตว์เลี้ยงมาแสดงสินค้าที่เน้นความคิดสร้างสรรค์และคุณภาพ ตอบสนองต่อความต้องการของตลาดในประเทศและต่างประเทศ นอกจากนี้ ยังมี "Pet Trade Service Consultants Zone" เพื่อให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการนำเข้า ส่งออก การจดทะเบียนการค้า และมาตรฐานสินค้าที่เกี่ยวข้อง เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการในการขยายธุรกิจไปยังตลาดโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพและขยายฐานการตลาดได้เพิ่มมากขึ้น

ซึ่งงานนี้ถือเป็นเวทีสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและยกระดับมาตรฐานของอุตสาหกรรมสัตว์เลี้ยงในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ผู้จัดพร้อมรองรับผู้เข้าชมงานกว่าหมื่นรายจากนานาชาติ และคาดการณ์ว่าการจัดงานครั้งนี้จะสร้างมูลค่าการค้าสูงถึง 850 ล้านบาท (ประมาณ 25 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) จากข้อตกลงที่เกิดขึ้นทั้งในระหว่างและหลังงานแสดงสินค้า การจัดงานครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมการเติบโตระยะยาวและสร้างความร่วมมือเพื่อเสริมสร้างอุตสาหกรรมสัตว์เลี้ยงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และระดับนานาชาติ

นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ประธานในพิธีเปิดงาน กล่าวว่า “อุตสาหกรรมสัตว์เลี้ยงของไทย โดยเฉพาะอาหารสัตว์เลี้ยงเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมสำคัญที่ทำรายได้เข้าประเทศเป็นจำนวนมาก ปัจจุบันประเทศไทยเป็นผู้ผลิตชั้นนำและเป็นผู้ส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงรายใหญ่อันดับสองของโลก รองจากเยอรมนี ณ สิ้นไตรมาสที่ 3 ของปี 2567 ประเทศไทยส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงมีมูลค่ากว่า 2.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาถึง 26% การเติบโตที่สูงขึ้นอย่างมากนี้สะท้อนถึงศักยภาพและความทุ่มเทของผู้ผลิตอาหารสัตว์เลี้ยงของไทยในการผลิตอาหารสัตว์เลี้ยงที่มีคุณภาพสูงเป็นที่ยอมรับในระดับสากล และมีผลิตภัณฑ์ที่มีความหลากหลายสามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคทุกกลุ่มทั่วโลก

“กรมปศุสัตว์เล็งเห็นความสำคัญเกี่ยวกับอุตสาหกรรมอาหารสัตว์เลี้ยง เป็นอุตสาหกรรมที่ยั่งยืนสามารถเป็นแหล่งที่ก่อให้เกิดรายได้ของประเทศจำนวนมากและส่งผลที่เป็นประโยชน์ต่อการเจริญเติบโตของประเทศ กรมปศุสัตว์ จึงได้มีการจัดตั้งศูนย์ส่งเสริมอาหารสัตวเลี้ยงเเบบครบวงจร หรือ PET FOOD SERVICE CENTER (PFSC) ขึ้นมาเพื่ออำนวยความสะดวกและเป็นศูนย์กลางเกี่ยวกับอาหารสัตว์เลี้ยงโดยตรง เราได้นำระบบอิเล็คทรอนิกส์ New Single Window  เข้ามาใช้งานเป็นการอานวยความสะดวกต่อผู้ประกอบการอาหารสัตว์เลี้ยงให้มีความสะดวกและรวดเร็วมากยิ่งขึ้นเพื่อช่วยในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอาหารสัตว์เลี้ยงของประเทศให้พัฒนาและยั่งยืนทัดเทียมประเทศอื่น” กล่าวโดย นายสัตวเเพทย์ สมชวน รัตนมังคลานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์

นายสราญโรจน์ สุทัศน์ชูโต รองผู้อำนวยการ (Chief Operating Officer : COO) และรักษาการผู้อำนวยการฝ่ายบริหาร สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า “ปีนี้ถือเป็นปีที่สามของการจัดงาน งานในครั้งนี้จึงเน้นย้ำถึงความสำคัญที่เพิ่มขึ้นของอุตสาหกรรมสัตว์เลี้ยงทั้งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และทั่วโลก เราภาคภูมิใจที่ได้มีส่วนสนับสนุนการจัดงานครั้งนี้ และมองเห็นถึงศักยภาพอันยิ่งใหญ่ในการยกระดับบทบาทของประเทศไทยในภาคส่วนการดูแลสัตว์เลี้ยงระดับโลก งานนี้เป็นเวทีสำคัญในการสร้างความร่วมมือและความสำเร็จร่วมกันระหว่างผู้แสดงสินค้า ผู้ซื้อ และผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมนี้ ทีเส็บมุ่งมั่นที่จะเชื่อมโยงธุรกิจระหว่างประเทศกับโอกาสทางธุรกิจในภาคส่วนต่าง ๆ ของประเทศไทย เรามั่นใจว่างานนี้สร้างแรงบันดาลใจในการขับเคลื่อนนวัตกรรมและการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง”

“การจัดงานในครั้งนี้ก้าวเข้าสู่ปีที่ 3 แล้ว มีการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ โดยมีผู้เข้าร่วมจัดแสดงสินค้ากว่า 400 รายจาก 40 ประเทศ รวมถึงบริษัทใหม่อีก 100 แห่ง และยังมีพาวิลเลี่ยนระดับประเทศอีก 12 บูธ และพาวิลเลี่ยนสตาร์ทอัพไทยสุดพิเศษ ภายในงาน เรามุ่งมั่นในการมอบประสบการณ์ที่น่าจดจำมากมาย อาทิ Networking Night, Pitching Contest: Innovators Pitch เป็นการแข่งขันที่เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการที่มีความคิดสร้างสรรค์ได้นำเสนอนวัตกรรม ปิดท้ายด้วยกิจกรรมการกุศล ร่วมบริจาคกับมูลนิธิเพื่อสุนัขในซอย (Soi Dog) เพื่อเชื่อมโยงความช่วยเหลือจากบรรดาผู้ประกอบการของเราไปยังสังคมไทยต่อไป” กล่าวโดย นายยารูณ วาน โฮป ประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท รอยัล ดัตช์ ยาร์เบอร์ส (ผู้จัดงาน)

“ผมรู้สึกยินดีที่ได้เห็นบริษัทจากจีนจำนวนมากและสมาชิกของ Asia Pet Alliance (APA) เข้าร่วมงาน ทั้งในฐานะผู้แสดงสินค้าและผู้เยี่ยมชม สถานะที่แข็งแกร่งของพวกเขาเน้นย้ำถึงความสัมพันธ์ทางธุรกิจและความร่วมมือที่เพิ่มขึ้นระหว่างจีนและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในอุตสาหกรรมสัตว์เลี้ยง สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญที่เพิ่มขึ้นของการค้าและความร่วมมือในภาคส่วนนี้ระหว่างทั้งสองภูมิภาค เราและวีเอ็นยู เอเชีย แปซิฟิค มีความภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้นำเสนอแพลตฟอร์มอันยอดเยี่ยมซึ่งมอบโอกาสทางการตลาดใหม่ ๆ ให้กับอุตสาหกรรม” กล่าวโดย นายเดวิด จง ผู้ก่อตั้งและประธานบริษัท Globus Events

ขอเชิญผู้สนใจเข้าร่วมงาน PET FAIR SOUTH EAST ASIA ตั้งแต่วันที่ 30 ตุลาคม – 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567 ณ ไบเทค ฮอลล์ 98-100 ตั้งแต่เวลา 10:00-18:00 น. ข้อมูลเพิ่มเติมที่เว็บไซต์ www.petfairsea.com (ขอสงวนสิทธิสำหรับผู้เข้าชมงานที่มีอายุ 12 ปีขึ้นไป และสวมใส่ชุดสุภาพเพื่อการเจรจาธุรกิจายในงาน) 

X

Right Click

No right click