November 08, 2024

นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ แถลงข่าวมหกรรมไลฟ์คอมเมิร์ซนานาชาติ 2567 และเป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ(MOU) ระหว่างกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กับบริษัท Beijing Zhongshi Runpeng Culture Media Technology จำกัด (เป่ยจิง จงซื่อ รุ่นเผิง คัลเชอร์ มีเดีย เทคโนโลยี จำกัด) ผู้นำด้านการ Live Commerce ของจีน ซึ่งนายภูมิธรรมได้หารือกับ Mr.Zhou Jiang ประธานบริษัทฯ ในการผลักดันสินค้าและบริการไทยบุกตลาดจีนผ่านเครือข่าย KOL (บุคคลทรงอิทธิพลบนโลกออนไลน์)ของบริษัทฯ และนำตัวอย่างสินค้าคุณภาพของไทยกว่า 100 รายการมาให้ KOL จีนเลือก โดยภายในงานมีนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายภัณฑิล จงจิตรตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ และผู้แทนหน่วยงานภาครัฐและเอกชนร่วมด้วย

นายภูมิธรรม กล่าวว่า วันนี้ถือเป็นวันประวัติศาสตร์แห่งความร่วมมือระหว่างประเทศไทยและจีนในการส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ผ่านช่องทาง Live Commerce เป็นรูปแบบการค้าที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพ ทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศของไทยกับบริษัท Beijing Zhongshi Runpeng Culture Media Technology จำกัด ผู้นำด้าน Live Commerce ของจีน เป็นก้าวสำคัญที่จะเปิดประตูสู่โอกาสทางการค้าใหม่ สร้างความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจระหว่างสองประเทศ

ช่วงที่ผ่านมาจะได้เห็นบทบาทและกิจกรรมของกระทรวงพาณิชย์อย่างต่อเนื่อง ซึ่งโลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ถ้าเรายังใช้รูปแบบการค้าแบบเดิมโอกาสที่จะก้าวให้ทันหรือแข่งขันกับประเทศต่างๆก็ลำบาก เราได้ทดลองใช้เครื่องมือและเทคโนโลยีสมัยใหม่มาส่งเสริมการค้า เริ่มด้วยการเชิญมาย-อาโป กับฟรีน-เบคกี้ ที่เป็นดารานักแสดงที่เป็นที่รู้จักทั่วโลก จนกระทรวงพาณิชย์ขึ้นเทรนด์อันดับหนึ่งของโลกในหลายประเทศ การใช้โซเชียลมีเดียสามารถเปิดตลาดได้ทั่วถึงทุกมุมโลกในช่วงเวลาไม่ทันข้ามคืน

กระทรวงพาณิชย์เห็นความสำคัญของ E-Commerce ที่เป็นช่องทางที่ทำให้สินค้าไทย ทั้งอาหารและวัฒนธรรมเกิดการรับรู้ที่กว้างขึ้น ตนหวังให้ผู้ประกอบการไทย และ SMEs ได้มีโอกาสเรียนรู้จากบริษัทที่มีศักยภาพ โดยกิจกรรมวันนี้จะเป็นตัวอย่าง ได้นำสินค้าคุณภาพจากผู้ประกอบการ 42 บริษัท กว่า 100 รายการ มาให้ทางบริษัทเลือก ซึ่งเราจะจับมือกับผู้ประกอบการรายเล็ก SMEs ของไทยหาช่องทางการตลาดสร้างรายได้ให้ประเทศ ให้สินค้าไทยได้รับการยอมรับจากทั่วโลกเพิ่มขึ้น

โดยในอีก 2 เดือน จะมีมหกรรม International Live Commerce Expo 2024 เชิญอินฟลูเอนเซอร์ที่มีชื่อเสียง 30-50 ราย ที่บางรายมีผู้ติดตามเป็น 10 ล้าน 100 ล้านคน มาเลือกสินค้าของไทยไปขาย เพราะเขาจะเข้าใจความต้องการของจีน เราจะพิสูจน์ว่าการเปิดตลาดด้วยวิธีใหม่สามารถสร้างรายได้ เพิ่มโอกาสและช่องทางการตลาดให้กับผู้ประกอบการไทยและ SMEs ไทย โดยกระทรวงพาณิชย์จะเป็นสะพานเชื่อมผู้บริโภคชาวต่างประเทศ ให้ได้รับประสบการณ์ครั้งสำคัญในการหารายได้เข้าประเทศ

“เราเลือกสินค้าที่เป็นพรีเมียมและเห็นว่าเป็นของพื้นที่จะต่อยอดส่งออกได้ กระทรวงพาณิชย์จะไปเพิ่มศักยภาพและเป็นตลาดให้เขา โดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศและหน่วยงานอื่นๆในกระทรวงฯจะไปส่งเสริม เช่น การจัดงาน THAIFEX-ANUGA ASIA 2024 ที่เรามีศักยภาพใหญ่ที่สุดและครบวงจรที่สุดในเอเชีย เปิดโอกาสให้ SME ได้มีโอกาส หลายสินค้าสามารถขายผ่านอีคอมเมิร์ซได้ง่ายกว่า แต่ต้องพัฒนาคุณภาพให้ถึงระดับหนึ่ง และทำให้สินค้าเป็นที่ต้องการ”นายภูมิธรรมกล่าว

นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานในงานประกาศผลและพิธีมอบรางวัลการประกวดข้าวหอมมะลิของประเทศไทย ประจำปี 2566 (ครั้งที่ 41) และรางวัลการประกวดข้าวสารคุณภาพดีเด่นแห่งประเทศไทยประจำปี พ.ศ. 2566 ซึ่งจัดโดยกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ในวันนี้ (24 เมษายน 2567) ที่ห้องบุรฉัตรไชยากร กระทรวงพาณิชย์ เพื่อเฟ้นหาและอนุรักษ์ข้าวหอมมะลิคุณภาพชั้นเลิศไทย ส่งเสริมการเพาะปลูกข้าวหอมมะลิคุณภาพดี และสร้างต้นแบบเกษตรกร ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่นิยมข่าวคุณภาพสูงเป็นหลัก และยังมีการเชื่อมโยงการตลาดให้เกษตรกรผู้ชนะการประกวดเพิ่มมูลค่า สร้างรายได้ ขยายช่องทางการจำหน่ายให้กับเกษตรกรและสถาบันเกษตรกรอย่างยั่งยืน

นายภูมิธรรม กล่าวว่า ข้าว เป็นพืชเศรษฐกิจหลักของไทย เกี่ยวข้องกับพี่น้องเกษตรกร

กว่า 4.7 ล้านครัวเรือน และประชาชนในประเทศส่วนใหญ่บริโภคข้าวเป็นอาหารหลัก สะท้อนถึงความมั่นคงทางอาหารและเศรษฐกิจของประเทศ รวมถึงเกี่ยวข้องกับพี่น้องเกษตรกรจำนวนมาก รัฐบาลโดยกระทรวงพาณิชย์เล็งเห็นถึงความสำคัญของพี่น้องเกษตรกรไทยที่เปรียบเสมือนเป็นกระดูกสันหลังของชาติ ดำเนินนโยบาย พัฒนา สนับสนุน และส่งเสริมชาวนา ภายใต้หลักการ “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้ที่เพิ่มขึ้น

นายภูมิธรรมเน้นย้ำว่า ข้าวหอมมะลิถือเป็นข้าวในตลาดข้าวพรีเมียมที่มีชื่อเสียงด้วยอัตลักษณ์เฉพาะตัว  มีเม็ดยาวเรียวสวย สีมันวาว หุงแล้วมีกลิ่นหอมคล้ายกลิ่นใบเตย รสสัมผัสนิ่มนวล จึงได้รับความนิยมจากผู้บริโภคมากที่สุดทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ แม้ราคาจะสูงกว่าข้าวชนิดอื่นแต่ยังคงเป็นที่ต้องการของตลาด เพื่อเป็นการรักษาคุณภาพอย่างต่อเนื่อง การยกระดับเชิงนโยบายทั้งด้านการผลิตและการควบคุมคุณภาพจึงเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภค และให้ประเทศไทยยังคงไว้ซึ่งแหล่งผลิตและส่งออกข้าวหอมมะลิชั้นเลิศของโลก ประเทศไทยเป็นผู้ผลิตข้าวสำคัญของโลก โดยในปี 2566 ไทยสามารถส่งออกข้าวได้สูงถึง 8.76 ล้านตัน นับได้ว่าสูงสุดในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา คิดเป็นมูลค่ากว่า 178,135 ล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่าปีที่ผ่านมาร้อยละ 28 โดยข้าวหอมมะลิยังคงรักษาระดับการส่งออกได้ดีแม้ราคาสูงกว่าคู่แข่ง โดยมีปริมาณส่งออกในปี 2566 อยู่ที่ 1.32 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ร้อยละ 5.6 ตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา จีน แคนาดา และฮ่องกง

“ตนเดือนเดินทางไปหลายประเทศได้รับความชื่นชมในข้าวไทย ไม่ว่าจะเป็นจีนในหลายมณฑล สหรัฐอเมริกา และอีกหลายประเทศ ทุกคนต่างชื่นชมถึงแม้ราคาจะสูงกว่าที่อื่น แต่ยังสัมผัสได้ในความพิเศษของข้าวหอมมะลิไทย ”นายภูมิธรรมกล่าว

นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยเพิ่มเติมว่า การประกวดข้าวหอมมะลิของประเทศไทยวันนี้ แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ประเภทเกษตรกรรายบุคคล และประเภทสถาบันเกษตรกร ในครั้งนี้มีเกษตรกรผู้ปลูกข้าวหอมมะลิจาก 22 จังหวัด ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ ส่งตัวอย่างข้าวเข้าประกวดจำนวนรวม 967 ตัวอย่าง และได้นำตัวอย่างข้าวขาวของผู้ที่สมัครเข้าร่วมประกวดฯ ตรวจสอบคุณภาพข้าวทางวิชาการ ทั้งเคมีและกายภาพ ส่งให้คณะกรรมการตัดสินการประกวดทั้งในระดับจังหวัดและระดับประเทศพิจารณาคัดเลือกจนได้ผู้ได้รับรางวัลรวมจำนวน 21 ราย แบ่งเป็น เกษตรกรรายบุคคล 18 ราย และสถาบันเกษตรกร 3 ราย เป็นโล่รางวัลเกียรติยศและใบประกาศเกียรติคุณ พร้อมเงินรางวัล รวมกว่า 625,000 บาท

โดยในวันนี้รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ได้มอบรางวัลแก่เกษตรกรและผู้ประกอบการโรงสี ผู้ผลิตข้าวสารคุณภาพ ผู้ชนะการประกวดข้าวสารคุณภาพดีเด่นแห่งประเทศไทยประจำปี พ.ศ.2566 รวม 11 รางวัล ในประเภทต่างๆ อาทิ ข้าวหอมมะลิ ข้าวหอมไทย และข้าวสารเหนียวเมล็ดยาว สำหรับรายชื่อผู้ชนะการประกวดข้าวหอมมะลิของประเทศไทย ประจำปี 2566 ประกอบด้วย

ประเภทเกษตรกรรายบุคคล : ได้แก่

รางวัลชนะเลิศ นายณรงค์  จันทรุ่ง จ.อุบลราชธานี

รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 นางจันทร์สมสบบง จ.พะเยา

รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2 นายสุเรียนสังข์ลาย จ.สุรินทร์

ประเภทสถาบันเกษตรกร :  ได้แก่

รางวัลชนะเลิศ วิสาหกิจชุมชนข้าวหอมมะลิสงเปลือย ม.5 ต.เมืองทอง จ.ร้อยเอ็ด

รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 สหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้า ธ.ก.ส. นครพนม จำกัด จ.นครพนม

รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2 ศูนย์ข้าวชุมชนข้าวปลอดสารพิษตำบลแม่อ้อ จ.เชียงราย

โดยภายในงานได้มีการ MOU ซื้อ-ขายข้าวเปลือกหอมมะลิล่วงหน้าในราคานำตลาด สูงกว่าราคาตลาด 500 บาท/ตัน จำนวน 6 คู่ กว่า 343.4 ตัน ด้วย เพื่อสร้างความมั่นใจว่าข้าวที่มีคุณภาพสูงมีตลาดรองรับ ทั้งนี้สำหรับผู้ที่สนใจสามารถติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ เว็บไซต์กรมการค้าภายใน www.dit.go.th หรือ Line@ MR.DIT

X

Right Click

No right click