December 22, 2024

NT ขานรับนโยบายชาติ เร่งจัดทำระบบ Cell Broadcast Center (CBC) พัฒนาระบบแจ้งเตือนภัยฉุกเฉินผ่านโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ให้พร้อมตอบโจทย์ลดความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินของคนในประเทศ

ภาครัฐโดยนโยบายของ นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมในการยกระดับความมั่นคงปลอดภัยของประเทศและการพัฒนาเมืองน่าอยู่ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ได้ให้ความสำคัญในการจัดตั้งและพัฒนาระบบแจ้งเตือนภัยฉุกเฉินผ่านเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Cell Broadcast Service: CBS) เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ที่เกิดเหตุได้รับทราบข้อมูลอย่างทันท่วงทีผ่านช่องทางโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งภาพรวมของ CBS ประกอบด้วยระบบ Cell Broadcast Center (CBC) ที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ให้การสนับสนุนงบประมาณแก่ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ (AWN TUC และ NT) ในการจัดทำพัฒนาระบบ CBC ให้ทำงานร่วมกับระบบ Cell Broadcast Entity (CBE) ของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ที่ทำหน้าที่ในการกำหนดเนื้อหาข้อความเตือนภัยและวิธีปฏิบัติในการบรรเทาสาธารณภัยต่าง ๆ เพื่อส่งไปยังประชาชนในพื้นที่ภัยพิบัติ

ในส่วนของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม นายณัฐพล ณัฏฐสมบูรณ์ รองปลัดฯ กล่าวว่า กระทรวงฯ บูรณาการร่วมกับ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ในการจัดทำโครงสร้างพื้นฐานของระบบ CBE ประกอบไปด้วย ระบบคลาวด์ และระบบเครือข่ายที่เชื่อมโยงระหว่าง CBE กับ CBC ของผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทุกราย รวมถึงการเชื่อมโยงระหว่าง CBE กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแจ้งเตือน อาทิ ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ กรมป้องกันและบรรเทาสาธาณภัย กรมอุตุนิยมวิทยา กระทรวงสาธารณสุข กรุงเทพมหานคร และกรมชลประทาน เป็นต้น ตามแผนภาพรวมคาดว่าระบบ CBS ดังกล่าวจะแล้วเสร็จภายในไตรมาสที่ 2 ของปี 2568

บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT โดย ดร.ณัฏฐวิทย์ สุฤทธิกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ เปิดเผยว่า NT จึงได้เร่งดำเนินการระบบ CBC เพื่อเตรียมความพร้อมในการส่งข้อความเตือนภัยฉุกเฉินให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง รวดเร็ว แม่นยำ เกิดผลสัมฤทธิ์ในการลดความสูญเสียของประชาชนในภาพรวม และให้การจัดทำระบบ CBC อยู่ในกรอบเวลาตามแผนภาพรวม

โดยเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2567 NT ได้เข้าร่วมในการทดสอบระบบการแจ้งเตือนภัยผ่านเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ กสทช. ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดขึ้น ณ ศาลากลาง จังหวัดภูเก็ต ในลักษณะเสมือนจริง แบ่งการทดสอบออกเป็น 2 รูปแบบ ประกอบด้วย รูปแบบของ Government Domain โดยกระทรวงดีอี และ ปภ. และรูปแบบ Network Domain โดย กสทช. ซึ่งการทดสอบดังกล่าวได้ผลสัมฤทธิ์ตามเป้าหมาย และด้วยศักยภาพของระบบที่สามารถแจ้งเหตุฉุกเฉินและเตือนภัยแก่ประชาชนได้อย่างทันท่วงทีนี้เอง ทำให้เชื่อมั่นได้ว่าจะสามารถสร้างความปลอดภัยให้แก่ประชาชนและนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาสู่ประเทศไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ

“ NT มีความตั้งใจและมีความพร้อมที่จะนำบริการด้านดิจิทัลและสื่อสารโทรคมนาคมประเภทต่าง ๆ ที่มีอยู่มาสนับสนุนโครงการระบบแจ้งเตือนภัยฉุกเฉินผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งเป็นความร่วมมือกันของทั้งภาครัฐและเอกชนในการช่วยกันดูแลประชาชนด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยได้อย่างเป็นรูปธรรมที่เกิดประโยชน์ต่อชีวิตและทรัพย์สิน ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความสำเร็จในภาพรวมอันเป็นรากฐานของการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต”

24 กันยายน 2567 - ทรู คอร์ปอเรชั่น ลุยนำแผนการใช้ปัญญาประดิษฐ์อย่างมีความรับผิดชอบ หรือ Responsible AI (RAI) Maturity Roadmap ของสมาคมจีเอสเอ็ม (GSMA) สู่การดำเนินงานเป็นองค์กรแรกในประเทศไทย โดยแผนดังกล่าวถูกพัฒนาขึ้นเพื่อส่งเสริมการใช้ปัญญาประดิษฐ์อย่างมีจริยธรรมในอุตสาหกรรมโทรคมนาคม และการประเมินผลของแผนการดำเนินงานนี้สนับสนุนมาตรฐานระดับสูงสำหรับการใช้ปัญญาประดิษฐ์อย่างปลอดภัย เท่าเทียม และยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องกับแนวปฏิบัติที่ดีที่สุดในระดับโลก

จากการประเมินโดย McKinsey พบว่าโอกาสทางธุรกิจจากการใช้ปัญญาประดิษฐ์ในภาคโทรคมนาคมอาจสูงถึง 680,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 22.7 ล้านล้านบาท) ในช่วง 15-20 ปีข้างหน้า สมาคมจีเอสเอ็มจึงร่วมมือกับบริษัทโทรคมนาคม 19 แห่ง รวมถึงทรู คอร์ปอเรชั่น ในการใช้เทคโนโลยีนี้อย่างมีจริยธรรมและความรับผิดชอบ นับเป็นครั้งแรกที่ทุกภาคส่วนมุ่งมั่นใช้แนวทางร่วมกันในด้านปัญญาประดิษฐ์

แผนพัฒนานี้จะช่วยให้ผู้ประกอบการโทรคมนาคมสามารถประเมินสถานะปัจจุบันในการใช้ปัญญาประดิษฐ์อย่างรับผิดชอบ เทียบกับเป้าหมายที่ต้องการ จากนั้นจึงให้แนวทางที่ชัดเจนและเครื่องมือวัดผลเพื่อช่วยให้บรรลุเป้าหมายเหล่านั้น พร้อมทั้งรับรองแนวปฏิบัติที่ดีที่สุดในอุตสาหกรรมสำหรับการใช้เทคโนโลยีอย่างรับผิดชอบ

นายมนัสส์ มานะวุฒิเวช ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)กล่าวว่า "ปัญญาประดิษฐ์จะมาขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงชีวิตและเศรษฐกิจทั่วภูมิภาคเอเชีย โดย ทรู คอร์ปอเรชั่นมุ่งมั่นที่จะใช้ประโยชน์จากศักยภาพนี้อย่างรับผิดชอบและมีจริยธรรม การนำแผนพัฒนาการใช้ปัญญาประดิษฐ์อย่างมีความรับผิดชอบ หรือ Responsible AI Roadmap ของสมาคมจีเอสเอ็มมาใช้ แสดงถึงความมุ่งมั่นของเราในการยึดมั่นมาตรฐานสากลระดับสูงสุด เพื่อให้มั่นใจว่าประโยชน์ของปัญญาประดิษฐ์จะเกิดขึ้นอย่างปลอดภัยและอยู่บนความเท่าเทียม"

การพัฒนาแผนนี้อยู่ภายใต้ความมุ่งมั่นอย่างต่อเนื่องของทรู คอร์ปอเรชั่น และบริษัทโทรคมนาคมชั้นนำทั่วโลก ในการรับรองว่าการบุกเบิกและบูรณาการปัญญาประดิษฐ์จะดำเนินการอย่างมีจริยธรรมและรับผิดชอบ

จากการปรึกษากับภาคอุตสาหกรรมอย่างกว้างขวาง สมาคมจีเอสเอ็มได้นำแนวทางต่างๆ มาผสมผสานกับกฎระเบียบ คำแนะนำ และมาตรฐานระดับโลกที่มีอยู่จากองค์กรระหว่างประเทศ รวมถึงองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) และข้อเสนอแนะด้านจริยธรรมของปัญญาประดิษฐ์ขององค์การ

ยูเนสโก (UNESCO) เพื่อสร้างแผนพัฒนาสำหรับทั้งอุตสาหกรรมในการใช้ปัญญาประดิษฐ์อย่างมีความรับผิดชอบ

นายชารัด เมห์โรทรา รองประธานคณะผู้บริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า "ทรู คอร์ปอเรชั่นใช้ปัญญาประดิษฐ์สู่การดำเนินงานของเรา เพื่อปรับปรุงทั้งประสบการณ์ของลูกค้าและประสิทธิภาพของธุรกิจ ด้วยความมุ่งมั่นอย่างแน่วแน่ของเราในด้านความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยของข้อมูล แผนพัฒนาการใช้ปัญญาประดิษฐ์อย่างมีความรับผิดชอบ หรือ Responsible AI Roadmap จะช่วยให้ทรู คอร์ปอเรชั่นมั่นใจในความพร้อมสำหรับโอกาสและความท้าทายใหม่ๆ ที่เทคโนโลยีสร้างสรรค์"

ทรู คอร์ปอเรชั่นเป็นบริษัทโทรคมนาคม-เทคโนโลยีแห่งแรกในประเทศไทยที่นำแผนพัฒนาการใช้ปัญญาประดิษฐ์อย่างมีความรับผิดชอบมาใช้ สำหรับในระดับโลก มีผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมให้บริการเครือข่ายมือถือ 19 รายที่ได้ให้คำมั่นในการใช้แผนพัฒนานี้เป็นวิธีในการติดตาม ดูแล และปรับปรุงการใช้ปัญญาประดิษฐ์อย่างรับผิดชอบ

หลักการแนวปฏิบัติที่ดีที่สุด (Best-practice principles)

Responsible AI หรือ RAI คือแผนพัฒนาการใช้ปัญญาประดิษฐ์อย่างมีความรับผิดชอบมีพื้นฐาน 5 หลักการ ได้แก่ 1. วิสัยทัศน์ ค่านิยม และเป้าหมายเชิงกลยุทธ์ขององค์กร 2. โมเดลการดำเนินงานและวิธีรักษาธรรมาภิบาลด้านปัญญาประดิษฐ์ในทุกการดำเนินงาน 3. การควบคุมทางเทคนิคตามข้อกำหนดด้านกฎระเบียบ 4. การทำงานร่วมกับระบบนิเวศของบุคคลที่สาม และ 5. กลยุทธ์การจัดการการเปลี่ยนแปลงและการสื่อสาร

สำหรับแต่ละหลักการ แผนพัฒนาจะแนะนำองค์กรให้ดำเนินการตามขั้นตอนที่เหมาะสมในการใช้ปัญญาประดิษฐ์อย่างรับผิดชอบตามระดับความพร้อมขององค์กร

นอกจากนี้ ยังอยู่บนพื้นฐานของหลักการแนวปฏิบัติที่ดีที่สุดที่มีมายาวนาน ซึ่งรวมถึงความเป็นธรรม การกำกับดูแลโดยมนุษย์ ความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัย ความปลอดภัยและความทนทาน ความโปร่งใส ความรับผิดชอบ และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

นายแมตส์ แกรนริด ผู้อำนวยการใหญ่ สมาคมจีเอสเอ็ม กล่าวว่า "ศักยภาพของของปัญญาประดิษฐ์เป็นที่ทราบกันดีแต่การบูรณาการในการทำงานและชีวิตของเราต้องทำอย่างรับผิดชอบและโปร่งใสเพื่อให้เกิดประสิทธิผลและความยั่งยืนอย่างแท้จริง แผนพัฒนานี้จะช่วยให้ผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือสามารถนำปัญญาประดิษฐ์มาใช้ โดยประยุกต์ใช้งานอย่างรับผิดชอบและมีจริยธรรม"

นายจูเลียน กอร์แมน หัวหน้าประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก สมาคมจีเอสเอ็ม กล่าวว่า "การตัดสินใจของทรู คอร์ปอเรชั่นในการให้ความสำคัญกับการใช้ปัญญาประดิษฐ์อย่างรับผิดชอบ เป็นการแสดงถึงความมุ่งมั่นในการสร้างนวัตกรรมและความยั่งยืน แผนพัฒนานี้จะให้เครื่องมือและแนวทางที่จำเป็นแก่ทรูในการใช้ประโยชน์จากปัญญาประดิษฐ์อย่างมีประสิทธิภาพ ในขณะเดียวกันก็รับรองว่าการใช้งานสอดคล้องกับมาตรฐานการปฏิบัติที่ดีที่สุดของอุตสาหกรรม"

X

Right Click

No right click