February 23, 2025

สมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (สนจ.) และ องค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาฯ (อบจ.) ผนึกกำลังปิดสยามสแควร์ Block K และ สยามสแควร์ Walking Street ย้อมเป็นสีชมพู เพื่อประกาศความพร้อมงานฟุตบอลประเพณีธรรมศาสตร์-จุฬาฯ ครั้งที่ 75 ในงาน CHULA BAKA BEGINS หลังจากหายไปนาน 5 ปี ที่จะกลับมาในวันเสาร์ที่ 15 กุมภาพันธ์นี้ ณ สนามศุภชลาศัย ลั่นปีนี้กลับมายิ่งใหญ่กว่าเดิม นำทัพโดย ผู้นำเชียร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (Chulalongkorn University Cheerleader-CUCL) จุฬาฯ คทากร (The Drum Major of Chulalongkorn University) และ ประธานเชียร์ (The Cheer Master) ส่วนแปรอักษรปีนี้ ประธานโครงแย้มสแตนด์ฝั่งจุฬาสนุกมาก ขึ้นฟรี ดูบอลฟรี มีของแจก

ในงานเปิดตัวเทศกาลฟุตบอลประเพณีธรรมศาสตร์ - จุฬาฯ ครั้งที่ 75 “CHULA BAKA BEGINS” (จุฬา บาก้า บีกิน) ปิดสยามแบบจัดเต็ม โดยมี ศาสตราจารย์ วิเลิศ ภูริวัชร อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้เกียรติเปิดงาน ร่วมด้วย นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ นายกสมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ นายอัครุตม์ สนธยานนท์ ประธานคณะทำงานฝ่าย ประชาสัมพันธ์การแข่งขันฟุตบอลประเพณีธรรมศาสตร์ - จุฬา ครั้งที่ 75 (ฝ่ายจุฬาฯ) ,ดร.นิตยา โสรีกุล รองประธานคณะทำงานฝ่ายประชาสัมพันธ์ฯ ร่วมงานพร้อมแถลง 4 ไฮไลท์ ได้แก่

 

1. Pink carpet เปลี่ยนสยามสแควร์ Walking Street เป็นสีชมพู โดยเริ่มต้นขึ้นด้วยการเดินพรมชมพูโดยแขกผู้มีเกียรติจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตามด้วยศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบันที่มีชื่อเสียงมากมายเช่น ลีซอ - ธีรเทพ วิโนทัย แทน - แทนคุณ ดาราศีศักดิ์ บาร์โค้ด - ตฤณสิษฐ์ อิสระพงศ์พร เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีองค์กรต่าง ๆ จากฝั่งจุฬาและธรรมศาสตร์แบบเต็มระบบ

2. BAKA Exhibition นิทรรศการที่จัดแสดงงานศิลปะที่สื่อถึงงานฟุตบอลประเพณี การจัดแสดงเสื้อบอลจากปีต่าง ๆ อันเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงออกถึงประวัติศาสตร์อันยาวนาน รวมไปถึงกิจกรรมแปรอักษร ที่จะให้ผู้เข้าร่วมงานได้ลองแปรอักษรเพื่อสัมผัสกิจกรรมที่เป็นดั่งเครื่องหมายการค้าที่สำคัญของงานฟุตบอลประเพณี

3. CU BAKA BLOOD กิจกรรมที่ชาวจุฬาฯร่วมมือกับสภากาชาดไทยปิดสยามสแควร์ Block I ร่วมบริจาคโลหิตเพื่อสังคม

4. Baka Stage ซึ่งประกอบไปด้วยการแสดงจากองค์กรต่าง ๆ ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้แก่ ผู้นำเชียร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย การเปิดตัวทีมฟุตบอลจุฬาฯ อย่างยิ่งใหญ่ที่มี ธีรเทพ วิโนทัย พี่ ๆ ศิษย์เก่าที่นำทัพน้อง

ๆ เข้าร่วมแข่งขัน จุฬาฯ คทากร CU Colorguard CU POM POM และ ปิดท้ายลงด้วยการแสดงพิเศษจากศิลปิน PROXIE

รองศาสตราจารย์ ดร.สุกัญญา สมไพบูลย์ รองอธิการบดีด้านกิจการนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า งานเปิดตัวเทศกาลฟุตบอลประเพณีธรรมศาสตร์ - จุฬาฯ ครั้งที่ 75 CHULA BAKA BEGINS มีเป้าหมายสำคัญในการสร้างความตื่นตัวและปลุกจิตวิญญาณแห่งการแข่งขัน รวมถึงส่งเสริมความสามัคคีในหมู่นิสิตชาวจุฬาฯ นอกจากนี้งานยังเป็นเวทีที่ช่วยประชาสัมพันธ์การกลับมาของการแข่งขันฟุตบอลประเพณีฯ ซึ่งห่างหายไปนานพร้อมกับการกลับมาอย่างยิ่งใหญ่

สำหรับงานที่จะเกิดในปีนี้สำหรับฝั่งจุฬาฯ นั้นประกาศความมั่นใจถึงชัยชนะ ว่าจะเกิดขึ้นตั้งแต่ก้าวแรกที่เข้าสู่สนามโดยนายวรชิต สุนิวัชรานุพงษ์ นิสิตชั้นปีที่ 4 คณะวิทยาศาสตร์ ประธานโครงการงานฟุตบอลประเพณีธรรมศาสตร์ - จุฬาฯ ครั้งที่ 75 กล่าวว่า “สำหรับการแปรอักษรในปีนี้ สแตนด์จุฬาฯ สนุกมาก ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร อยากให้ทุกคนมาขึ้นสแตนด์ด้วยกัน เพราะไม่ต้องซ้อม แถมยัง ขึ้นฟรี ดูบอลฟรี มีของแจกอีกด้วย ดังนั้นไม่ควรพลาดเป็นอย่างยิ่ง สำหรับใครที่สนใจ เสาร์ 15 กุมภา ทีมจุฬาเจอกันสนามจุ๊บ 9 โมง 9 นาที รับรองสนุกแน่”

การกลับมาของฟุตบอลประเพณีธรรมศาสตร์-จุฬาฯ ครั้งที่ 75 นับเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญในการสานต่อประเพณีที่มีมาอย่างยาวนาน ทั้งนี้ งานฟุตบอลประเพณีฯ จะจัดขึ้นอย่างเป็นทางการในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2568 ณ สนามศุภชลาศัย ผู้สนใจสามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมผ่านช่องทาง Facebook: Chula BAKA Instagram: chulabaka TikTok: @chulabaka X: chulabakaofficial

พนมเปญ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยตอกย้ำบทบาทผู้นำด้านการศึกษาระดับภูมิภาคด้วยการเสริมสร้างความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นกับกัมพูชา ในวันที่ 17 มกราคม 2568 คณะผู้บริหารจุฬาฯ นำโดย ศ.ดร.วิเลิศ ภูริวัชร อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) เข้าเยี่ยมคารวะ ฯพณฯ ดร.ฮัง ชวน นารอนรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เยาวชน และกีฬาแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา ซึ่งเป็นศิษย์เก่าหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาบริหารการศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ

ศ.ดร.วิเลิศ ภูริวัชร อธิการบดีจุฬาฯ เข้าเยี่ยมคารวะ ฯพณฯ ดร.ฮัง ชวน นารอน

การประชุมครั้งนี้มุ่งเน้นขยายความร่วมมือให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นทั้งในด้านการศึกษา และการวิจัย ไม่เพียงแต่กับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการเสริมสร้างความสัมพันธ์ในภาคการศึกษาระหว่างสองประเทศ ซึ่งชี้ให้เห็นว่าการศึกษาเป็นกุญแจสำคัญในการพัฒนาคุณภาพชีวิต อีกทั้งยังร่วมหารือการยกระดับการศึกษาของกัมพูชาผ่านการบูรณาการเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในโรงเรียนและมหาวิทยาลัย โดยจะมีนำ AI มาช่วยเสริมสร้างรูปแบบการเรียนการสอน เพิ่มการเข้าถึงการศึกษาแก่เยาวชนทั่วภูมิภาคอย่างยั่งยืน ซึ่งการหารือเชิงกลยุทธ์ครั้งนี้สะท้อนถึงความมุ่งมั่นของจุฬาฯ ในการส่งเสริมนวัตกรรมด้านการศึกษาและความร่วมมือที่เปิดกว้างในอาเซียน

นอกจากนี้ยังได้เยี่ยมชมการประยุกต์ใช้วิศวกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูงในการจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อม การสร้างพลังสะอาดจากแสงอาทิตย์ และการสร้างหุ่นยนต์อำนวยความสะดวก ณ สถาบันเทคโนโลยีกัมพูชา (Institute of Technology of Cambodia – ITC) ภายใต้การบริหารของ ศ.ดร.โพ คิมโถ ศิษย์เก่าหลักสูตรปริญญาโท สาขาวิชาวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์และการสื่อสาร คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ

 

ศ.ดร.วิเลิศ ภูริวัชร อธิการบดีจุฬาฯ และ ดร.โพ คิมโถ ผู้บริหารสถาบันเทคโนโลยีกัมพูชา (ITC)

เจ้าหญิงนีน่า นโรดม ศิษย์เก่าคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ ก็เป็นอีกหนึ่งบุคคลที่สะท้อนถึงบทบาทของจุฬาฯ ในการสร้างผู้นำและขับเคลื่อนวัฒนธรรมของกัมพูชา โดยในโอกาสนี้ เจ้าหญิงนีน่า มีกำหนดการพบปะกับคณะผู้บริหารจุฬาฯ เพื่อพูดคุยถึงความประทับใจในช่วงที่ทรงศึกษา ณ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ รวมถึงร่วมหารือถึงแนวทางความร่วมมือทางวิชาการและวัฒนธรรมระหว่างสองสถาบันในอนาคต

 

เจ้าหญิงนีน่า นโรดม ศิษย์เก่าคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ และ คณะผู้บริหารจุฬาฯ

ฯพณฯ ดร.ฮัง ชวน นารอน เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการผลักดันการปฏิรูปการศึกษาของกัมพูชา โดยนำความรู้และทักษะความเป็นผู้นำที่ได้รับจากการศึกษาในจุฬาฯ มาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาระบบการศึกษาของประเทศ สะท้อนถึงความร่วมมือด้านการศึกษาที่ยาวนานระหว่างสองประเทศ

นอกจากนี้ ยังมีศิษย์เก่าจุฬาฯ ชาวกัมพูชา จำนวน 10 คน เข้าร่วมพบปะกับรัฐมนตรีในครั้งนี้ ซึ่งสะท้อนถึงความนิยมของจุฬาฯ ในหมู่นักศึกษาชาวกัมพูชา ซึ่งศิษย์เก่าหลายคนได้ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งสำคัญในแวดวงการศึกษา รัฐบาล และอุตสาหกรรมของราชอาณาจักรกัมพูชา

ดร.ฮง คิมเชือง ศิษย์เก่าสาขาการสอนภาษาอังกฤษ คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ และปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคโนโลยี Kampong Speu Institute of Technology (KSIT) และผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการฯ มีบทบาทสำคัญในการประสานความร่วมมือครั้งนี้

ปัจจุบัน มีชาวกัมพูชาที่กำลังศึกษาและทำวิจัยที่จุฬาฯ จำนวน 11 คน ประกอบด้วยนิสิตระดับปริญญาตรี คณะทันตแพทยศาสตร์จำนวน 7 คน นิสิตระดับปริญญาตรี คณะวิทยศาสตร์ จำนวน 1 คน นักวิจัยจำนวน 2 คนในคณะพยาบาลศาสตร์ และสถาบันวิจัยสังคมศาสตร์ รวมถึงบุคลากรจำนวน 1 คน ในคณะแพทยศาสตร์

ชี้ทักษะแห่งอนาคต พร้อมแนะกลยุทธ์สร้างมนุษย์แห่งอนาคต (Future Human) สำหรับประเทศไทย

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (จุฬาฯ) มหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศไทย ร่วมกับ Google Cloud ประกาศตัวโครงการ ‘ChulaGENIE’ เพื่อบุกเบิกการพัฒนาและส่งมอบแอปพลิเคชันที่นำเอาเทคโนโลยี Generative AI อันล้ำสมัยที่สุดในโลกอันหนึ่ง มาให้ประชาคมจุฬาฯ ใช้งานได้อย่างปลอดภัย เชื่อถือได้ และไม่มีค่าใช้จ่าย โดยคาดว่าในระยะแรก ChulaGENIE จะเปิดให้คณาจารย์และบุคลากรใช้งานได้ในเดือนมกราคม 2568 และจะเปิดให้บริการแก่นิสิตทุกคนได้ภายในเดือนมีนาคม 2568 โดยชื่อ ChulaGENIE ย่อมาจาก ‘Chula’s Generative AI Environment for Nurturing Intelligence and Education’

ด้วยการผสานรวมกับ Model Garden บน Vertex AI ทำให้ ChulaGENIE เปิดโอกาสให้ผู้ใช้สามารถค้นหาและเลือกใช้โมเดล AI พื้นฐานที่ได้รับการคัดสรรอย่างดี ซึ่งแต่ละโมเดลมีจุดเด่นและความเหมาะสมกับงานที่แตกต่างกัน ในระยะแรกผู้ใช้สามารถใช้งาน Gemini 1.5 Flash หรือ Gemini 1.5 Pro ของ Google และในอนาคตอันใกล้จะมีตัวเลือก ในการใช้โมเดล Claude จาก Anthropic และโมเดล Llama จาก Meta อีกด้วย

ผู้ใช้ ChulaGENIE สามารถใช้ความสามารถในการรองรับหลายภาษา (multilinguality) ของโมเดล Gemini เพื่ออธิบายหัวข้อที่ซับซ้อนให้เข้าใจได้ง่าย รวมถึงสร้างเนื้อหาในภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และภาษาอื่น ๆ ด้วยความรวดเร็วและความแม่นยำ และด้วยความสามารถในการรองรับข้อมูลหลายประเภท (multimodality) และขอบเขตการประมวลผลช่วงบริบทที่ยาว (long context window) ของโมเดล Gemini ทำให้ผู้ใช้สามารถอัปโหลดเอกสารที่มีความยาวและซับซ้อน (เช่น เอกสารที่มีความยาว 1.4 ล้านคำ พร้อมตาราง แผนภูมิ และภาพประกอบ) รวมถึงไฟล์ PDF โดยโมเดล Gemini สามารถประมวลผลเนื้อหาและองค์ประกอบภาพในเอกสารเหล่านี้เพื่อช่วยให้ผู้ใช้ดึงข้อมูลหรือวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งมีประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับนักวิจัยที่ต้องการสรุปวรรณกรรมทางวิชาการหรือวิเคราะห์ชุดข้อมูลขนาดใหญ่

ศาสตราจารย์ ดร.วิเลิศ ภูริวัชร อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า “เพื่อบรรลุวิสัยทัศน์ในการเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำด้าน AI ของประเทศไทย (AI University) วันนี้จุฬาฯ ประกาศจับมือกับพันธมิตรระดับโลกเพื่อเร่งรัดการพัฒนา Responsible AI เพื่อสร้างประโยชน์ให้กับสังคมไทยในระยะยาว การใช้แพลตฟอร์ม Vertex AI ของ Google Cloud ซึ่งรวมเอาความสามารถที่เราต้องการ ไม่ว่าจะเป็นมาตรการด้านความปลอดภัย และความเป็นส่วนตัวไว้ในที่เดียว รวมถึงความยืดหยุ่นในการเลือกโมเดลผ่าน Model Garden และความสามารถในการปรับแต่งโมเดลพื้นฐานที่ทรงพลังให้เหมาะกับความต้องการที่หลากหลายและการตอบสนองได้แม่นยำ ด้วยความสามารถเหล่านี้ ทำให้จุฬาฯ สามารถพัฒนา ChulaGENIE ได้ภายในเวลาไม่ถึงสามเดือน ทำให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกในประเทศไทยที่มีแอปพลิเคชัน Generative AI สำหรับการใช้งานเพื่อการศึกษาและวิจัยในระดับอุดมศึกษา โดยยึดหลัก Responsible AI และตอบสนองความต้องการของประชาคมในวงกว้าง โดยจุฬาฯ มีแผนที่จะร่วมมือกับ Google Cloud เพื่อพัฒนา ChulaGENIE ให้ดียิ่งขึ้น และส่งเสริมการสร้างนวัตกรรม AI ด้านการศึกษาที่พัฒนาขึ้นเองในประเทศให้ใช้งานได้จริงเพื่อสนับสนุนการศึกษาทุกระดับ”

เสริมศักยภาพให้ประชาคมจุฬาฯ ด้วย AI ที่ปรับแต่งได้และมีความรับผิดชอบ

จุฬาฯ เตรียมเพิ่มฟังก์ชันใหม่บน ChulaGENIE เร็ว ๆ นี้ โดยประชาคมจุฬาฯ จะสามารถสร้างตัวช่วยเฉพาะทางที่ปรับแต่งได้สำหรับงานเฉพาะด้าน ตัวอย่างของตัวช่วย AI ที่ปรับแต่งได้ มีดังนี้:

  • ตัวช่วยด้านการวิจัย ที่ถูกปรับแต่งในประเด็นเฉพาะ เช่น ประสิทธิภาพของเทคนิคการกักเก็บคาร์บอนต่าง ๆ ในวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม หรือการปรับปรุงการจราจรในเขตเมืองในด้านวิศวกรรมโยธา ซึ่งจะช่วยให้อาจารย์และนิสิตสามารถเชื่อมโยงหรือค้นหาความเชื่อมโยงในงานวิจัย รวมถึงเสนอคำถามหรือสมมติฐานใหม่ ๆ ได้
  • ตัวช่วยด้านการศึกษา ที่พัฒนาจากตำรา หรือฐานข้อมูลด้านการศึกษาและอาชีพ พร้อมข้อมูลแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศและข้อพิจารณาด้านจริยธรรม ช่วยให้นิสิตได้รับคำแนะนำที่ปรับให้เหมาะสมและเป็นเฉพาะบุคคลในการเลือกหลักสูตรและการวางแผนเส้นทางอาชีพได้
  • ตัวช่วยด้านการบริหารและธุรการ ที่สามารถเข้าใจและตอบคำถามในประเด็นต่าง ๆ เช่น การสมัครเรียน การลงทะเบียน ทุนการศึกษา การจัดการอาคารสถานที่ หรือการสนับสนุนด้าน IT เป็นต้น

จุฬาฯ ให้ความสำคัญสูงสุดกับการใช้งาน AI ที่มีความรับผิดชอบ โดยทางมหาวิทยาลัยได้นำระบบกรองเนื้อหาของ Vertex AI และนโยบาย AI ของจุฬาฯ มาใช้เพื่อออกแบบ ChulaGENIE มิให้ตอบหรือสร้างเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมหรือเป็นอันตราย นอกจากนี้จุฬาฯ ยังเตรียมเพิ่มความแม่นยำในการตอบคำถามของ ChulaGENIE ด้วยการเปิดใช้งานการ Grounding ด้วย Google Search ซึ่งเป็นฟีเจอร์พิเศษที่พัฒนาโดย Google Cloud

นอกจากนี้จุฬาฯ ยังใช้เทคโนโลยีการเข้ารหัสข้อมูลและการควบคุมการเข้าถึงระดับองค์กรของ Google Cloud เพื่อมอบประสบการณ์ AI ที่มีความเป็นส่วนตัวและปลอดภัย ระบบนี้ช่วยให้มั่นใจได้ว่าคำสั่งหรือข้อมูลที่ผู้ใช้งานป้อนรวมถึงคำตอบของ AI จะไม่ถูกผู้พัฒนาโมเดลภายนอกจุฬาฯ นำไปใช้ในการฝึกโมเดลพื้นฐานที่อยู่เบื้องหลัง ซึ่งเป็นการรักษาความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้งาน ในขณะเดียวกันจุฬาฯ ยังสามารถวิเคราะห์แนวโน้มการใช้งานโดยรวมของ ChulaGENIE เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพของแอปพลิเคชัน และที่สำคัญระบบดังกล่าวยังช่วยป้องกันไม่ให้ ChulaGENIE เผยแพร่ข้อมูลงานวิจัยที่เป็นความลับหรือทรัพย์สินทางปัญญาที่มีความอ่อนไหวโดยไม่ได้ตั้งใจอีกด้วย

ในอนาคต จุฬาฯ มีแผนที่จะขยายความร่วมมือกับ Google Cloud เพื่อพัฒนาโมเดลภาษาไทยขนาดใหญ่แบบโอเพ่นซอร์สที่เน้นเฉพาะด้านสำหรับการศึกษาในระดับอุดมศึกษา โมเดลนี้สามารถนำไปใช้ในการพัฒนาแอปพลิเคชันที่ปรับให้เหมาะกับความเร็วและรูปแบบการเรียนรู้ของนิสิตแต่ละคน โดยให้แบบฝึกหัด คำอธิบาย และข้อเสนอแนะที่ปรับแต่งได้ตามความต้องการ นอกจากนี้ โมเดลดังกล่าวยังสามารถสนับสนุนแอปพลิเคชันที่วิเคราะห์หลักสูตรที่มีอยู่ เพื่อค้นหาช่องว่างหรือจุดที่ควรปรับปรุง พร้อมเสนอแนวทางแก้ไขโดยอ้างอิงจากงานวิจัยล่าสุดและแนวโน้มด้านการศึกษาในปัจจุบัน

เสริมทักษะ AI ที่จำเป็นให้กับประชาคมจุฬาฯ

จุฬาฯ อบรมคอร์ส Google AI Essentials ให้กับบุคลากร คณาจารย์ และนักศึกษา โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ภายใต้โครงการ Samart Skills ของ Google ซึ่งในปัจจุบันมีผู้สำเร็จหลักสูตรนี้แล้วกว่า 800 คน และได้รับใบรับรองจาก Google เพื่อยืนยันความเชี่ยวชาญในการใช้งานเครื่องมือ Generative AI โดยคอร์ส Google AI Essentials นี้มุ่งเน้นให้ผู้เรียนพัฒนาทักษะการใช้งาน AI ผ่านวิดีโอการสอนจากผู้เชี่ยวชาญ การฝึกปฏิบัติจริง รวมถึงการประเมินผล และเครื่องมืออื่น ๆ โดยมีเป้าหมายให้ผู้เรียนเข้าใจเทคนิคการเขียนคำสั่ง (prompting) และการใช้งาน AI อย่างมีความรับผิดชอบ

ทั้งนี้ จุฬาฯ กำลังปรับหลักสูตร Google AI Essentials ให้เรียบง่ายขึ้นสำหรับผู้เรียนที่ไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลัก เพื่อให้ประชาคมจุฬาฯ ทุกคนสามารถเรียนรู้การใช้งาน ChulaGENIE ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อเพิ่มประสิทธิผลในการทำงาน แก้ไขปัญหาในโลกความเป็นจริง และส่งเสริมการสร้างนวัตกรรมในสาขาของตนเอง

นายอรรณพ ศิริติกุล Country Director, Google Cloud ประเทศไทย กล่าวว่า “ที่ Google Cloud เราเชื่อมั่นว่าประโยชน์ของ AI ขึ้นอยู่กับความแม่นยำและการนำไปใช้อย่างรับผิดชอบ แพลตฟอร์ม Vertex AI ของเราช่วยให้องค์กรต่าง ๆ อย่างเช่น จุฬาฯ สามารถนำ Responsible AI ไปใช้ได้จริงผ่านฟีเจอร์ต่าง ๆ เช่น Grounding บริการประเมินโมเดล และเครื่องมือที่ออกแบบมาเพื่อตอบโจทย์มาตรฐานที่เข้มงวดในด้านการกำกับดูแลข้อมูล ความเป็นส่วนตัว และการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา การเปิดตัว ChulaGENIE อย่างรวดเร็วของจุฬาฯ ตอกย้ำคุณค่าของแนวทางที่เน้นแพลตฟอร์มเป็นศูนย์กลาง (platform-first approach) สำหรับโครงการริเริ่มด้าน AI เชิงกลยุทธ์ ซึ่งช่วยให้สามารถพัฒนา ติดตั้ง และจัดการ AI ได้ในวงกว้าง ประกอบกับการพัฒนาโมเดลภาษาไทยขนาดใหญ่สำหรับการศึกษาในระดับอุดมศึกษา และโครงการพัฒนาทักษะ AI ของ Google จะช่วยเปิดโอกาสใหม่ ๆ ในด้านการวิจัยและวิชาการ ซึ่งในท้ายที่สุดจะสร้างประโยชน์ให้กับสังคมไทยของเรา”

บริษัท เบดร็อค อนาไลติกส์ จำกัด หรือ เบดร็อค ผู้เชี่ยวชาญในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการจัดการข้อมูลประกอบกับการให้บริการแพลตฟอร์มปัญญาประดิษฐ์ และข้อมูลเชิงพื้นที่ (Location Intelligence) หนึ่งในกลุ่ม บริษัท เอไอ แอนด์ โรโบติกส์ เวนเจอร์ส จำกัด หรือ ARV ผนึกกำลัง สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรือ อีอีซี  และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ร่วมกันลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เรื่อง การศึกษาแนวทางการพัฒนาระบบบริหารจัดการข้อมูลและการบริการนักลงทุน เพื่อยกระดับการนำเทคโนโลยีดิจิทัล เข้ามาใช้ในการวางแผนพัฒนาการบริหารจัดการพื้นที่เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก บูรณาการด้านข้อมูลเพื่อสนับสนุนการลงทุนให้แก่นักลงทุนได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ โดยมีผู้บริหารจากทั้ง 3 สถานบันร่วมลงนาม พร้อมด้วยคณะเจ้าหน้าที่เข้าร่วมเป็นพยาน ณ อาคารวานิชเพลซ อารีย์ กรุงเทพฯ

ดร.จุฬา สุขมานพ เลขาธิการ อีอีซี กล่าวว่า การลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ จะเป็นก้าวสำคัญเพื่อการศึกษาและจัดทำแผนการพัฒนาด้านดิจิทัลสำหรับเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก โดยจะนำเทคโนโลยี AI เข้ามาครอบคลุมการดำเนินงานใน 4 ด้านหลัก ได้แก่ ด้านธุรกิจ มุ่งเน้นการพัฒนาระบบการจัดการที่ดิน เช่น การขอใบอนุญาตต่าง ๆ โดยอาศัยเทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยลดกระบวนการทำงานที่ซับซ้อน ด้านการบริการ มุ่งเน้นสร้างระบบแชทบอท เพื่อให้บริการข้อมูลตอบคำถามได้ทันท่วงทีรวมไปถึงการออกใบอนุญาตดิจิทัล เพื่อลดขั้นตอนการขอใบอนุญาตต่าง ๆ ด้านการจัดการข้อมูล มุ่งเน้นการรวบรวมข้อมูลจากแหล่งต่าง ๆ ภายในและภายนอกองค์กร สร้างแพลตฟอร์มข้อมูลแบบเปิด ให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเข้าถึงข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพ และ ด้านโครงสร้างพื้นฐาน พัฒนาระบบด้านไอที เช่น คลาวด์คอมพิวติ้ง การจัดเก็บข้อมูลที่มีความปลอดภัย และรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ เป็นต้น

ทั้งนี้ ทั้งสามสถาบันได้ประสานความร่วมมือเพื่อการวางแผนพัฒนา สนับสนุนและส่งเสริมการพัฒนาต้นแบบแพลตฟอร์มดิจิทัลสำหรับวิเคราะห์และบริหารจัดการเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ ในพื้นที่เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (EECd) ให้สามารถนำเทคโนโลยีดิจิทัลดังกล่าว บริหารจัดการเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพ บูรณาการรวบรวมข้อมูลต่างๆ เพื่อการตัดสินใจ อำนวยความสะดวกผู้ประกอบการ สนับสนุนให้เกิดการลงทุน และจะใช้เป็นต้นแบบไปยังเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษอื่น ๆ ในพื้นที่อีอีซี ต่อไป 

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สรายุทธ ทรัพย์สุข คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะสถาบันอุดมศึกษาชั้นนำของประเทศไทยพร้อมที่จะเป็นส่วนหนึ่งของคณะที่ปรึกษาและคณะทำงาน เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือฯ ฉบับนี้  ทั้งนี้ ทางคณะฯ จะเข้ามามีส่วนร่วมในการศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลรวมไปถึงการสนับสนุนบุคลากรให้ร่วมศึกษา และวางแผนการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ดังกล่าว เพื่อจัดทำแผนการพัฒนาด้านดิจิทัลสำหรับพื้นที่เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (EECd) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้  ข้อมูลและงานวิจัยที่ได้จากการดำเนินงานตามบันทึกข้อตกลง จะถูกนำมาใช้ในการเรียนการสอน โดยทางจุฬาฯ จะเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนสามารถนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ประโยชน์ร่วมกันได้

ด้าน ดร.ธนา สราญเวทย์พันธุ์ กรรมการบริษัท เบดร็อค อนาไลติกส์ จำกัด กล่าวเพิ่มเติมว่า ความร่วมมือฯ ในครั้งนี้ นับเป็นก้าวสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไทยให้ก้าวสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะ ด้วยการนำเทคโนโลยีมาเป็นตัวขับเคลื่อน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการและการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืนในอนาคต โดย เบดร็อค ได้นำเสนอแนวทางด้านการบริหารจัดการเมืองและการลงทุน ผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัลซึ่งเป็นศูนย์กลางในการรวบรวมข้อมูลที่กระจัดกระจายในเขตพื้นที่อีอีซี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาไว้ในที่เดียวแบบครบวงจร ได้แก่ 1. Smart Building Permit: ระบบขออนุญาตและควบคุมอาคารอัจฉริยะ ซึ่งช่วยในการตัดสินใจ และทำให้กระบวนการขออนุญาตก่อสร้างรวดเร็วและโปร่งใส 2. City Digital Data Platform: แพลตฟอร์มดิจิทัลข้อมูลเมืองที่รวบรวมข้อมูลที่กระจัดกระจายในเขตพื้นที่อีอีซี ทำให้การค้นหา วิเคราะห์ และนำข้อมูลไปใช้เป็นไปอย่างรวดเร็ว ทำให้การบริหารจัดการเมืองเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งยังช่วยให้นักลงทุนสามารถวิเคราะห์ศักยภาพของพื้นที่อีอีซี ได้อย่างครบถ้วน และทำให้การวางแผนธุรกิจเป็นไปได้อย่างแม่นยำอีกด้วย

สอบถามรายละเอียดหรือติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ https://bedrockanalytics.ai/ เพจเฟซบุ๊ก Bedrock Analytics ( https://www.facebook.com/BedrockAnalyticsTH) หรือโทร. 02 078 6565

Page 1 of 5
X

Right Click

No right click