November 22, 2024

บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารร้านเซเว่น อีเลฟเว่น เซเว่น เดลิเวอรี่ และผู้ถือหุ้นใหญ่ บริษัท ซีพี แอ็กซ์ตร้า จำกัด (มหาชน) ขอบคุณนักลงทุนที่เข้ามาร่วมจองซื้อหุ้นกู้ชุดใหม่เต็มจำนวน 13,000 ล้านบาท ท่ามกลางสถานการณ์ความผันผวนของตลาดตราสารหนี้ไทย ตอกย้ำความเป็นผู้นำในธุรกิจค้าปลีกของประเทศที่มีสาขากระจายอยู่ทั่วประเทศกว่า 14,854 สาขา และความเชื่อมั่นจากนักลงทุน

บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บริษัทฯ ประสบความสำเร็จในการออกหุ้นกู้ทั้ง 4 ชุด โดยเสนอขายให้กับประชาชนเป็นการทั่วไป ได้แก่ หุ้นกู้ชุดที่ 1 อายุ 4 ปี 4 วัน อัตราดอกเบี้ย 3.05% ต่อปี หุ้นกู้ชุดที่ 2 อายุ 5 ปี อัตราดอกเบี้ย 3.20% ต่อปี หุ้นกู้ชุดที่ 3 อายุ 8 ปี อัตราดอกเบี้ย 3.55% ต่อปี หุ้นกู้ชุดที่ 4 อายุ 10 ปี อัตราดอกเบี้ย 3.75% ต่อปี โดยบริษัทฯ จะนำเงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ครั้งนี้ไปชำระคืนหุ้นกู้ของบริษัทฯ ที่จะครบกำหนดในเดือนสิงหาคม 2567 นี้

“บริษัทฯ ขอขอบคุณนักลงทุนทุกท่าน ที่ให้ความไว้วางใจเข้ามาร่วมลงทุนในหุ้นกู้ของบริษัทฯ จนทำให้ยอดจองซื้อเต็มวงเงินที่เสนอขาย 13,000 ล้านบาท สะท้อนให้เห็นถึงความมั่นใจของนักลงทุนที่มีต่อบริษัทฯ ที่เป็นผู้นำในธุรกิจค้าปลีกของประเทศภายใต้แบรนด์ “เซเว่น อีเลฟเว่น” และมีบริษัทย่อยที่เป็นผู้นำในธุรกิจค้าส่งของประเทศอีกด้วย โดยในการแสดงความจำนงจองซื้อหุ้นกู้ของนักลงทุนสถาบันและนักลงทุนสหกรณ์ได้แสดงความสนใจเข้ามาเป็นจำนวนมากกว่า 5.6 เท่าของยอดที่จัดสรรให้ นอกจากนี้ บริษัทฯ ขอขอบคุณผู้จัดการการจัดจำหน่ายหุ้นกู้ทั้ง 4 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกสิกรไทย และธนาคารไทยพาณิชย์ ที่ให้การสนับสนุนบริษัทฯ ด้วยดีเสมอมา โดยหลังจากนี้ บริษัทฯ จะยังคงเดินหน้าสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อสร้างความสะดวกกับทุกชุมชน ตามวิสัยทัศน์ของบริษัทฯ ต่อไป”

ผู้จัดการการจัดจำหน่ายหุ้นกู้กล่าวเพิ่มเติมว่า “ทางผู้จัดการการจัดจำหน่ายหุ้นกู้ขอขอบคุณนักลงทุนทุกท่านที่ให้การตอบรับหุ้นกู้ของซีพี ออลล์ ในครั้งนี้เป็นอย่างดี ทำให้มียอดจองซื้อครบเต็มจำนวน 13,000 ล้านบาทตามที่บริษัทฯ ตั้งเป้าหมายไว้ อีกทั้งหุ้นกู้ซีพี ออลล์ ในครั้งนี้ได้รับการปรับอันดับความน่าเชื่อถือเพิ่มมาอยู่ที่ระดับ “AA-” และมีแนวโน้มเป็น “คงที่” (Stable) เป็นทางเลือกในการลงทุนที่น่าสนใจโดยเฉพาะในช่วงที่สถานการณ์ตลาดตราสารหนี้มีความผันผวนสูง ซึ่งเหมาะสมเป็นอย่างยิ่งสำหรับนักลงทุนที่ต้องการลงทุนในหุ้นกู้ที่มีความมั่นคงสูง และขอเน้นย้ำเพิ่มเติมสำหรับนักลงทุนที่พลาดโอกาสการจองซื้อหุ้นกู้ซีพี ออลล์ ในครั้งนี้ ขอให้ผู้ลงทุนโปรดระวังมิจฉาชีพที่แอบอ้างชื่อ “ซีพี ออลล์” หลอกลงทุน โดยนำเสนอผลตอบแทนที่สูงเกินจริงผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียต่างๆ เช่น Facebook และแอปพลิเคชั่น LINE เป็นต้น ทั้งนี้ ช่องทาง CP ALL ของจริง ต้องมีสัญลักษณ์ติ๊กถูกสีฟ้า (Verified Account) เท่านั้น”

ดั๊บเบิ้ล เอ ปิดการจำหน่ายหุ้นกู้มูลค่ารวม 2,500 ล้านบาทได้ภายในเวลาอันรวดเร็ว สะท้อนความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่อความแข็งแกร่งและศักยภาพการเติบโตของ ดั๊บเบิ้ล เอ และที่มีต่อตลาดทุนของประเทศไทย

บริษัท ดั๊บเบิ้ล เอ (1991) จำกัด (มหาชน) ประสบความสำเร็จในการออกและเสนอขายหุ้นกู้ของบริษัทฯ ระหว่างวันที่ 1-4 กรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมา มียอดจองซื้อหุ้นกู้เกินกว่าจำนวนที่เสนอขายที่ตั้งไว้ 2,500 ล้านบาท ส่งผลให้หุ้นกู้ทั้ง 2 ชุด ได้แก่ หุ้นกู้ชุดที่ 1 อายุ 3 ปี 9 เดือน อัตราดอกเบี้ยคงที่ร้อยละ 4.95 ต่อปี และหุ้นกู้ชุดที่ 2 อายุ 7 ปี อัตราดอกเบี้ยคงที่ร้อยละ 5.80 จำหน่ายหมดภายในเวลาอันรวดเร็ว
นายโยธิน ดำเนินชาญวนิชย์ ประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท ดั๊บเบิ้ล เอ (1991) จำกัด (มหาชน)
กล่าวว่า การเสนอขายหุ้นกู้ครั้งนี้ ให้กับนักลงทุนรายย่อยและนักลงทุนสถาบัน ได้รับความสนใจซื้อจากนักลงทุนทั้งจากรายเดิมและรายใหม่เกินจำนวนที่ออกจำหน่าย สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่มีต่อความแข็งแกร่งของบริษัทฯ และศักยภาพในการเติบโตของธุรกิจ ดั๊บเบิ้ล เอ
“ในนามตัวแทนของ ดั๊บเบิ้ล เอ ขอขอบคุณนักลงทุนทุกท่านที่ได้รับการจัดสรร และผู้ที่แสดงความจำนงเป็นจำนวนมาก ที่เชื่อมั่นและให้ความไว้วางใจ เรายังคงมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจที่สอดคล้องกับแนวทาง ESG ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และหลักธรรมาภิบาล เพื่อให้ ดั๊บเบิ้ล เอ เป็นแบรนด์คุณภาพชั้นนำที่ครองใจผู้บริโภคทั่วโลกอย่างต่อเนื่อง” นายโยธินกล่าว

นายณัฐพศิน เชฎฐ์อุดมลาภ (ที่ 2 จากขวา) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และ นางบุษกร กอดำรงค์ (ขวาสุด) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารทางการเงิน บริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง จำกัด (WEH) พร้อมด้วย นายชัยพัชร์ นาคมณฑนาคุ้ม (กลาง) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม นายจิตวิสุทธิ์ พู่มนตรี (ที่ 2 จากซ้าย) ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายธุรกิจหลักทรัพย์ตราสารหนี้ และ นายเฉลิมพล เทพกมล (ซ้ายสุด) ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายธุรกิจหลักทรัพย์ตราสารหนี้ บริษัทหลักทรัพย์ บียอนด์ จำกัด (มหาชน) ร่วมนำเสนอข้อมูลเสนอขายหุ้นกู้ของบริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง จำกัด ครั้งที่ 1/2567 โดยครบกำหนดไถ่ถอนปี 2569 อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 6.75 ต่อปี ชำระดอกเบี้ยทุก 3 เดือน ตลอดอายุหุ้นกู้แก่ผู้แนะนำการลงทุน และ นักลงทุนที่สนใจ ณ สำนักงานบริษัทหลักทรัพย์ บียอนด์ จำกัด (มหาชน) เมื่อเร็วๆนี้

SCAP กระแสตอบรับหุ้นกู้ครั้งที่ 2/2567 รวม 3 ชุดดีเยี่ยม ขายครบเต็มวงเงิน 1,500 ลบ. พร้อมดึงกรีนชู ออกขายเพิ่มรองรับดีมานด์นักลงทุน ปิดยอดขายสุทธิ 2,277 ล้านบาท สะท้อนความเชื่อมั่นหุ้นกู้ของบริษัทหลังขายเต็มจำนวนและดึงกรีนชูมาใช้เกือบหมดอีกครั้ง เตรียมนำเงินปล่อยสินเชื่ออย่างมีคุณภาพในช่วงครึ่งปีหลัง สนับสนุนการเติบโตของธุรกิจตามเป้าหมาย

บริษัท ศรีสวัสดิ์ แคปปิตอล 1969 จำกัด (มหาชน) หรือ SCAP เปิดเผยถึง การเสนอขายหุ้นกู้ชุดใหม่ ภายใต้ชื่อ ‘หุ้นกู้ของบริษัท ศรีสวัสดิ์ แคปปิตอล 1969 จำกัด (มหาชน) ครั้งที่ 2/2567’ เมื่อวันที่ 10-12 มิถุนายนที่ผ่านมา รวมทั้งสิ้น 3 ชุด โดยมีอายุตั้งแต่ 2-4 ปี ดอกเบี้ยคงที่ 4.50% ต่อปี, 4.90% ต่อปี และ 5.05% ต่อปี ตามลำดับ ซึ่งได้รับกระแสตอบรับที่ดีเยี่ยมจากนักลงทุนทั่วไป ปิดยอดขายเต็มวงเงินจัดสรร 1,500 ล้านบาท ส่งผลให้บริษัทได้ดำเนินการนำหุ้นกู้ส่วนสำรองออกเสนอขายเพิ่มเติมในวงเงินไม่เกิน 1,000 ล้านบาท ตามความต้องการของนักลงทุน ผลปรากฏมียอดจองซื้อเพิ่ม รวมยอดขายสุทธิราว 2,277 ล้านบาท

สำหรับการเปิดเสนอขายหุ้นกู้ครั้งที่ 2 ของบริษัทในปี 2567 ยังคงได้รับการตอบรับจากนักลงทุนเป็นอย่างดี จากระยะเวลาการลงทุนที่พอเหมาะ ผลตอบแทนที่อยู่ในระดับดี สนับสนุนให้เกิดการจองซื้อเต็มวงเงินจัดสรรและนำหุ้นสำรองเสนอขายเพิ่มเป็นครั้งที่ 2 ในปีนี้ ตอกย้ำความเชื่อมั่นจากนักลงทุนที่มองเห็นความสามารถในการชำระหนี้คืนของบริษัทและศักยภาพของธุรกิจในอุตสาหกรรมการเงิน โดยเฉพาะธุรกิจสินเชื่อรถจักรยานยนต์ใหม่ที่บริษัทสามารถดำเนินงานจนก้าวสู่เบอร์ 1 ของประเทศไทย

ทั้งนี้ บริษัทมุ่งมั่นในการนำเงินที่ระดมทุนได้กว่า 2.2 พันล้านบาท ขยายกิจการด้วยการปล่อยสินเชื่อในช่วงครึ่งปีหลังที่มีความต้องการสูงขึ้นจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่กำลังขยายตัวและเป็นเงินทุนหมุนเวียนสำหรับกิจการ โดยบริษัทมุ่งเน้นการปล่อยสินเชื่อที่มีคุณภาพมากขึ้นตามแนวทางของธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อแก้ปัญหาการก่อหนี้เรื้อรังในภาคประชาชน อีกทั้งบริษัทสามารถควบคุม NPLs ให้อยู่ในระดับเหมาะสมในการดำเนินธุรกิจ เพื่อเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมสินเชื่อรถจักรยานยนต์ต่อไป

SCB WEALTH เผยตั้งแต่ต้นปี 2566 เงินลงทุนทั่วโลกไหลเข้าตลาดเงิน (money market) สกุลดอลลาร์สหรัฐสูงที่สุด ตามด้วย ตราสารหนี้ภาคเอกชน พันธบัตรรัฐบาล และหุ้น โดย money market สกุลดอลลาร์สหรัฐ 5 ปีที่ผ่านมา เงินไหลเข้าประมาณ 3.6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หากเฟดลดดอกเบี้ย เม็ดเงินใน money market สกุลดอลลาร์สหรัฐจะเคลื่อนย้ายไปลงทุนในสินทรัพย์อื่นที่ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า แนะนักลงทุนหาจังหวะลงทุนในตราสารหนี้ต่างประเทศ ที่จะครบกำหนดไถ่ถอนในอีก 1-3 ปี เพื่อโอกาสรับผลตอบแทนที่ดีและอาจได้รับผลตอบแทนจากส่วนต่างราคาอีกด้วย ส่วนตลาดหุ้นแนะหาจังหวะช่วงปรับฐานทยอยสะสมหุ้นญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ด้านตลาดหุ้นสหรัฐและยุโรปสามารถลงทุนต่อได้แต่ผลตอบแทนอาจจะไม่สูงเหมือนปีที่ผ่านมา

นายศรชัย สุเนต์ตา, CFA รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงาน Investment Office and Product กลุ่มธุรกิจ Wealth ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า ตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐฯ ปรับลดลงช้ากว่าที่นักลงทุนคาดการณ์ ขณะที่ อัตราดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯ อยู่สูงกว่าอัตราเงินเฟ้อติดต่อกัน 6 เดือน คาดว่า เงินเฟ้อสหรัฐฯ จะค่อยๆ ลดลงและเมื่อธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) มั่นใจว่าสามารถควบคุมเงินเฟ้อให้อยู่ในกรอบเป้าหมายที่ 2%ได้ หลังจากนั้น Fed จะกลับมาให้ความสำคัญกับการเติบโตทางเศรษฐกิจ และเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรก ซึ่งตลาดคาดว่าจะเกิดขึ้นในเดือน มิ.ย. 2567 และรวมทั้งปีนี้ คาดว่าจะมีการลดดอกเบี้ยประมาณ 3-4 ครั้ง โดยในช่วงที่ดอกเบี้ยเริ่มลดลง จะทำให้ผลตอบแทนของการถือครองเงินสดในสกุลดอลลาร์สหรัฐปรับลดลง และผลตอบแทนไม่ได้ดีกว่าสินทรัพย์อื่น

“ในปี 2566 ที่ผ่านมา การถือเงินสดในสกุลดอลลาร์สหรัฐให้ผลตอบแทนประมาณ 5.1% ดีกว่าการลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์ แต่อาจจะไม่ได้ให้ผลตอบแทนดีกว่าสินทรัพย์อื่นๆ ขณะที่ จากสถิติย้อนหลัง 30 ปี พบว่า เงินสดในสกุลดอลลาร์สหรัฐให้ผลตอบแทนได้ดีกว่าสินทรัพย์อื่นในปีที่เกิดวิกฤต แต่ในจังหวะที่เงินเฟ้อทรงตัว อัตราดอกเบี้ยมีทิศทางเป็นขาลง เศรษฐกิจยังขยายตัวได้ สินทรัพย์เสี่ยงจะให้ผลตอบแทนเป็นบวก ส่วนเงินสดในสกุลดอลลาร์สหรัฐจะไม่ได้ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าสินทรัพย์อื่น ดังนั้น เราจึงควรหาแนวทางไปลงทุนในสินทรัพย์อื่นก่อนจะตกรถ” นายศรชัย กล่าว

ทั้งนี้ นับตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาจนถึงช่วงต้นเดือน มี.ค. 2567 เงินลงทุนทั่วโลกยังคงไหลเข้าไปในตลาดเงิน (money market) สกุลดอลลาร์สหรัฐสูงที่สุด ตามด้วย ตราสารหนี้ภาคเอกชน พันธบัตรรัฐบาล และหุ้น โดยในส่วนของ money market สกุลดอลลาร์สหรัฐ หากนับรวมตลอด 5 ปีที่ผ่านมา พบว่า มีเงินไหลเข้ามารวม 3.6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ แล้ว หมายความว่า เมื่อถึงช่วงเวลาที่อัตราดอกเบี้ยเริ่มปรับลดลง เม็ดเงินใน money market สกุลดอลลาร์สหรัฐ ส่วนนี้มีแนวโน้มที่จะเคลื่อนย้ายไปลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ

สำหรับผู้ลงทุนที่นำเงินส่วนใหญ่พักไว้ใน money market สกุลดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากมองว่าการลงทุนในตราสารการเงิน ซึ่งมีระยะเวลาสั้นๆ ยังให้ผลตอบแทนได้ดี ทำให้ไม่เคลื่อนย้ายเงินลงทุนไปยังสินทรัพย์ใดนั้น ในอนาคตผลตอบแทนระยะสั้นมีแนวโน้มปรับลดลงอย่างรวดเร็ว ในขณะที่สินทรัพย์อื่นเริ่มปรับตัวดีขึ้นไปก่อนแล้ว ดังนั้น เพื่อโอกาสในการสร้างผลตอบแทนที่ดี ผู้ลงทุนควรมองหาช่องทางไปลงทุนในสินทรัพย์อื่นๆ ที่น่าสนใจ ได้แก่ ตราสารหนี้อายุประมาณ 1-3 ปี รวมถึงการเพิ่มโอกาสลงทุนในตลาดหุ้นที่มีความน่าสนใจในเอเชีย เช่น ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้

ทั้งนี้ การลงทุนในตราสารหนี้ต่างประเทศ มองว่า ตราสารหนี้ที่มีระยะเวลาครบกำหนดไถ่ถอนในอีก 1-3 ปีข้างหน้า ยังให้ผลตอบแทนสูง เป็นกลุ่มที่น่าสนใจ และอาจได้รับผลตอบแทนจากส่วนต่างราคาในช่วงที่ดอกเบี้ยปรับลดลงในช่วง ไตรมาส 2-3 นี้ด้วย ส่วนการลงทุนในหุ้น พบว่า ช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ตลาดหุ้นพัฒนาแล้ว เช่น ตลาดหุ้นสหรัฐฯ และตลาดหุ้นยุโรป ล้วนมีผลการดำเนินงานที่ดี ด้วยอานิสงส์จากการปรับตัวขึ้นของหุ้นขนาดใหญ่ที่มีน้ำหนักในดัชนีค่อนข้างมาก เช่น ดัชนี S&P500 ของสหรัฐฯ นับตั้งแต่ต้นปี 2567 ( YTD) ปรับขึ้นมาประมาณ 7-8% ผลตอบแทนที่มาจากหุ้นขนาดใหญ่กลุ่ม 7 นางฟ้า ประมาณ 6% ส่วนที่เหลือไม่เกิน 2% เป็นผลตอบแทนของหุ้นอื่นๆ ในตลาด สะท้อนถึงการกระจุกตัวของผลตอบแทนที่มาจากหุ้นขนาดใหญ่ค่อนข้างชัดเจน ส่วนตลาดหุ้นยุโรป เมื่อดูจากดัชนี STOXX 600 พบว่า นับแต่ต้นปี 2567 (YTD) ปรับเพิ่มขึ้น 4.5% โดยเป็นผลการดำเนินงานจากหุ้นขนาดใหญ่ 7 ตัว เกือบ 4% มีเพียงส่วนน้อยที่เหลือที่มาจากหุ้นขนาดเล็ก

นายศรชัย กล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมาตลาดคาดหวังกับผลตอบแทนของหุ้นขนาดใหญ่ในตลาดหุ้นพัฒนาแล้วค่อนข้างมาก และให้ผลตอบแทนเป็นไปตามที่เป้าหมาย ซึ่งหุ้นเหล่านี้อาจมีการปรับฐาน จากการขายทำกำไร ขณะที่ปัจจัยพื้นฐานยังคงสนับสนุนให้เติบโตได้อีก และการปรับลดอัตราดอกเบี้ยยังเป็นผลบวกต่อหุ้นกลุ่มนี้ แม้นักลงทุนจะรับรู้ปัจจัยการลดดอกเบี้ยไปในราคาหุ้นแล้วก็ตาม ดังนั้น แนวโน้มในอนาคตอาจจะปรับขึ้นไม่มากอย่างที่ผ่านมา ทำให้มองว่า นักลงทุนสามารถถือลงทุนในตลาดหุ้นพัฒนาแล้วต่อไปได้ แต่ผลตอบแทนที่ได้รับอาจไม่สูงเช่นเดิม

สำหรับตลาดหุ้นในเอเชีย มองว่า ตลาดหุ้นญี่ปุ่น และตลาดหุ้นเกาหลีใต้ น่าสนใจ โดยตลาดหุ้นญี่ปุ่น นับแต่ต้นปี 2567 (YTD) ให้ผลตอบแทน 15-16% แต่ผลตอบแทนกระจุกตัวในหุ้นขนาดใหญ่กลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือย และเทคโนโลยีเป็นหลัก ในส่วนของดัชนีตลาดหุ้นญี่ปุ่น แม้จะปรับตัวขึ้นมามาก แต่เมื่อเทียบกับการปรับขึ้นในรอบก่อนที่เคยทำสถิติสูงสุด พบว่า ราคาต่อกำไรต่อหุ้น (P/E) มีความแตกต่างกัน โดยในครั้งนี้มีระดับ P/E ที่ต่ำกว่า ขณะที่ ตลาดหุ้นญี่ปุ่นมีมาตรการในการปฏิรูปธรรมาภิบาล ส่งเสริมให้บริษัทนำเงินสดที่เก็บไว้จำนวนมากในงบดุล ออกไปซื้อหุ้นคืน ซึ่งจะช่วยให้ราคาหุ้นมีโอกาสปรับตัวสูงขึ้น หนุนให้ EPS สูงขึ้น และสามารถจ่ายผลตอบแทนให้ผู้ถือหุ้นได้สูงขึ้น ก็จะช่วยให้ผลตอบแทนต่อส่วนผู้ถือหุ้น (ROE) ของตลาดหุ้นญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นได้ เมื่อเทียบกับปัจจุบันที่ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าตลาดหุ้นสหรัฐฯ และยุโรป ที่มี ROE มากกว่า 20% ส่วนภาพรวมเศรษฐกิจญี่ปุ่น เงินเฟ้อเริ่มปรับเพิ่มขึ้น การจ้างงานดีขึ้น โดยเฉพาะในภาคบริการ ส่วนค่าแรงปรับตัวขึ้นตามเงินเฟ้อ ซึ่งช่วยให้การบริโภคในญี่ปุ่นดีขึ้น และจะส่งผลให้เกิดการลงทุนที่มาจากนักลงทุนญี่ปุ่นมากขึ้นตาม ดังนั้น เราจึงมองว่า ตลาดหุ้นญี่ปุ่นน่าสนใจในระยะกลางถึงยาว เพียงแต่ในระยะสั้น ตลาดหุ้นญี่ปุ่นปรับขึ้นมามาก อาจจะมีการปรับฐานบ้าง นักลงทุนอาจรอจังหวะที่ตลาดปรับฐานเพื่อกลับเข้าไปลงทุนอีกครั้ง

ส่วนตลาดหุ้นเกาหลีใต้ ปัจจุบันยังมีอัตราส่วนราคาหุ้นต่อมูลค่าทางบัญชี (P/BV) ที่ต่ำมากเกือบทุกกลุ่มธุรกิจและมีเงินสดมากในงบดุล ซึ่งตลาดหุ้นเกาหลีใต้กำลังพยายามผลักดันการเพิ่มมูลค่าบริษัทคล้ายกับตลาดหุ้นญี่ปุ่น ผ่านการซื้อหุ้นคืน และการจ่ายเงินปันผลให้นักลงทุน นอกจากนี้ ROE ของตลาดหุ้นเกาหลีใต้มักจะเคลื่อนไหวสอดคล้องกับวัฏจักรของการส่งออกสินค้าของเกาหลีใต้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่ม อิเล็กทรอนิกส์ เซมิคอนดักเตอร์ ดังนั้น เมื่อเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวดีขึ้น การส่งออกเกาหลีใต้ก็น่าจะฟื้นตัว ทำให้ ROE ของตลาดหุ้นเกาหลีใต้ดีขึ้น ส่วนกำไรต่อหุ้นก็

น่าจะมีแนวโน้มดีขึ้นตามการส่งออก นอกจากนี้ ราคาต่อกำไรต่อหุ้น (P/E) ก็ยังถูกอยู่ โดย P/E ในระยะ 12 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ 10.6 เท่า หรือ -0.3 S.D. ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปี ทำให้ตลาดหุ้นเกาหลีใต้ เป็นตลาดที่น่าสนใจสำหรับการลงทุนใน Opportunistic Portfolio ซึ่งเป็นพอร์ตลงทุนส่วนเสริม สำหรับเพิ่มโอกาสรับผลตอบแทน ในไตรมาสที่ 2 นี้

Page 1 of 4
X

Right Click

No right click