November 22, 2024

บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. พัฒนาแพลตฟอร์มข้อมูลวิทยาศาสตร์ทางทะเล หรือ PTTEP Ocean Data Platform เพื่อรวบรวมข้อมูลวิทยาศาสตร์ทางทะเล ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่มีการใช้แท่นผลิตปิโตรเลียมนอกชายฝั่งเป็นสถานีเก็บข้อมูลด้านอุตุนิยมวิทยาและด้านสมุทรศาสตร์ เช่น อุณหภูมิอากาศ ทิศทางลม อุณหภูมิน้ำ และการไหลเวียนของกระแสน้ำ เป็นต้น โดย ปตท.สผ. ร่วมมือกับหลายภาคส่วน อาทิ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์กรมหาชน) และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นต้น ในการเก็บข้อมูลดังกล่าว 

PTTEP Ocean Data Platform ยังแสดงผลการศึกษาปริมาณไมโครพลาสติกในทะเล การตรวจติดตามและระบุชนิดสัตว์ทะเลใต้ขาแท่นผลิตปิโตรเลียมเพื่ออนุรักษ์ความสมบูรณ์ของความหลากหลายทางชีวภาพ รวมทั้ง ข้อมูลโครงการเพื่อการส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับชุมชนรอบชายฝั่ง ที่ ปตท.สผ. ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง โดยข้อมูลวิทยาศาสตร์ทางทะเลดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ต่อการศึกษา วิจัย ด้านวิทยาศาสตร์ทางทะเลของประเทศไทย การจัดทำแผนอนุรักษ์ ฟื้นฟู ทรัพยากรทางทะเลอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการต่อยอดแบบจำลองทางคณิตศาสตร์เพื่อคาดการณ์การเคลื่อนที่ของขยะทะเล การเคลื่อนที่ของน้ำทะเลอันมีผลต่อการฟอกขาวและการฟื้นตัวของปะการัง ผลกระทบจากภาวะโลกร้อน และผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศ เป็นต้น

การพัฒนา PTTEP Ocean Data Platform สอดคล้องกับการดำเนินงานตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่ 14 ขององค์การสหประชาชาติ: Life Below Water ซึ่งให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากมหาสมุทร ทะเล และทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืนอีกด้วย ผู้ที่สนใจสามารถเยี่ยมชมหรือค้นหาข้อมูลที่เป็นประโยชน์จาก PTTEP Ocean Data Platform ได้ที่ oceandata.pttep.com

นางศุภมิตรา ด่านพานิช (ที่ 3 จากซ้าย) ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานศึกษาและวิเคราะห์ทางเทคนิค บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. และ รศ.ดร.อภิสิฏฐ์ ศงสะเสน (ที่ 4 จากซ้าย) คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ ภายใต้โครงการ PTTEP Subsurface University Energy Connect เพื่อพัฒนางานวิจัยทางวิชาการด้านธรณีศาสตร์ วิศวกรรมปิโตรเลียม สร้างบุคลากรด้านการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม รวมถึงการหาแหล่งกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาเทคโนโลยีการดักจับและกักเก็บคาร์บอน หรือ CCS (Carbon Capture and Storage) เพื่อช่วยขับเคลื่อนประเทศไทยสู่เป้าหมายสังคมคาร์บอนต่ำ พิธีลงนามจัดขึ้น ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กรุงเทพฯ

ภายใต้โครงการ PTTEP Subsurface University Energy Connect ปตท.สผ. ได้ลงนามความร่วมมือกับหลายสถาบันการศึกษา เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และมหาวิทยาลัยมหิดล โดยมีเป้าหมายจะขยายความร่วมมือดังกล่าวไปยังมหาวิทยาลัยอื่น ๆ ต่อไป

ปตท.สผ. ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยชั้นนำต่าง ๆ ของไทย โดยล่าสุดคือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พัฒนางานวิจัยทางวิชาการ ทั้งด้านธรณีศาสตร์ วิศวกรรมปิโตรเลียม และสร้างบุคลากรด้านการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม เพื่อเป็นกำลังหลักในการแสวงหาแหล่งพลังงาน สร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศ โดยสามารถต่อยอดองค์ความรู้สำหรับการพัฒนาเทคโนโลยี CCS เพื่อช่วยขับเคลื่อนประเทศไทยสู่เป้าหมายสังคมคาร์บอนต่ำ

นายมนตรี ลาวัลย์ชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. เปิดเผยว่า ปตท.สผ. ได้ริเริ่มโครงการ PTTEP Subsurface University Energy Connect ซึ่งเป็นความร่วมมือทางวิชาการกับมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในประเทศไทย เพื่อศึกษา พัฒนางานวิจัย แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และสร้างบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถด้านการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในหลากหลายสาขาวิชาที่เกี่ยวข้อง เช่น ธรณีศาสตร์ วิศวกรรมปิโตรเลียม เป็นต้น เนื่องจากปิโตรเลียมยังคงเป็นแหล่งพลังงานหลักที่มีความสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ขณะเดียวกัน องค์ความรู้ในด้านธรณีศาสตร์ ทั้งธรณีวิทยาและธรณีฟิสิกส์ สามารถนำมาใช้ในการพัฒนากระบวนการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือ CCS (Carbon Capture and Storage) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่สำคัญในการนำมาใช้ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ เพื่อช่วยขับเคลื่อนเป้าหมายของประเทศไทยในการลดปัญหาภาวะโลกร้อน

ล่าสุด ปตท.สผ. ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ (MoU) กับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภายใต้ความร่วมมือในโครงการ PTTEP Subsurface University Energy Connect โดยเน้นการให้ความสำคัญกับการศึกษาและวิจัยที่เกี่ยวข้องกับงานธรณีศาสตร์ และวิศวกรรมศาสตร์ด้านการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม รวมถึงการพัฒนาเทคโนโลยี CCS ร่วมกัน

นายมนตรี กล่าวว่า “สถาบันการศึกษา เป็นอีกภาคส่วนสำคัญที่จะช่วยสนับสนุนการพัฒนาการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ความร่วมมือระหว่าง ปตท.สผ. และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ในการผลิตและพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ความสามารถในด้านธรณีศาสตร์และวิศวกรรมปิโตรเลียม ในครั้งนี้ จะช่วยส่งเสริมการสร้างบุคลากรที่มีคุณภาพให้กับอุตสาหกรรมพลังงาน ซึ่งเป็นการสนับสนุนประเทศไทยทั้งด้านการสร้างความมั่นคงทางพลังงาน และการขับเคลื่อนประเทศไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำอีกด้วย”

ศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า “จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีพันธกิจมุ่งผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพออกไปเป็นผู้นำแห่งอนาคต ตลอดจนสร้างสรรค์องค์ความรู้และนวัตกรรม เพื่อสร้างเสริมสังคมสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ที่ผ่านมาจุฬาฯ ได้รับการสนับสนุนด้านทุนวิจัยและการพัฒนาหลักสูตรทางด้านปิโตรเลียมจาก ปตท.สผ. ซึ่งช่วยเพิ่มศักยภาพทางด้านงานวิจัย วิชาการของจุฬาฯ ในการขับเคลื่อนประเทศไทยให้ก้าวหน้า สำหรับความร่วมมือทางวิชาการระหว่างจุฬาฯ กับ ปตท.สผ. ภายใต้โครงการ PTTEP Subsurface University Energy Connect ในครั้งนี้ จะช่วยต่อยอดงานวิจัยและความร่วมมือทางวิชาการระหว่างทั้งสององค์กร รวมไปถึงการเพิ่มองค์ความรู้ใหม่ทางด้านงานธรณีศาสตร์ และวิศวกรรมศาสตร์ด้านการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ซึ่งจะมีส่วนร่วมผลักดันประเทศไทยให้ก้าวเข้าสู่สังคมที่มีความยั่งยืนทางพลังงานและสิ่งแวดล้อม”

ที่ผ่านมา ภายใต้โครงการ PTTEP Subsurface University Energy Connect ปตท.สผ. ได้ลงนามความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยมีเป้าหมายจะขยายความร่วมมือดังกล่าวไปยังมหาวิทยาลัยอื่น ๆ ต่อไป

นายมนตรี ลาวัลย์ชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. และนายพิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือ สผ. ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจเกี่ยวกับความร่วมมือ ในการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อสนับสนุนและขับเคลื่อนการดำเนินการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนและมุ่งไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ ฟื้นฟู ทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ รวมถึง การเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพในระดับพื้นที่ไปยังฐานข้อมูลของประเทศไทย เช่น การส่งเสริมการดำเนินงานของภาคเอกชนในโครงการดักจับ ใช้ประโยชน์ และกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture, Utilization and Storage หรือ CCUS) การเพิ่มการคุ้มครองความหลากหลายทางชีวภาพนอกเขตพื้นที่อนุรักษ์ตามกฎหมาย และการฟื้นฟูและอนุรักษ์พันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ที่ถูกคุกคาม เป็นต้น ความร่วมมือดังกล่าวยังรวมถึงการสนับสนุนกิจกรรมการมีส่วนร่วมระหว่างภาครัฐและเอกชนในระดับประเทศ ภูมิภาคและนานาชาติ และการเสริมสร้างความตระหนักรู้แก่สาธารณะอีกด้วย

ความร่วมมือของ ปตท.สผ. และ สผ. ในครั้งนี้ จะก่อให้เกิดการดำเนินงานระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนอย่างเป็นระบบและเป็นรูปธรรม ตามเจตนารมณ์ของทั้งสององค์กรที่จะร่วมกันขับเคลื่อนการสร้างความสมดุลให้กับสังคมและสิ่งแวดล้อมในด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อสนับสนุนเป้าหมายด้านความยั่งยืนของประเทศ

กรมประมง ร่วมกับ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และศูนย์พัฒนาการประมงแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAFDEC) ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOA) เพื่อร่วมกันศึกษาวิจัยการจัดสร้างแหล่งอาศัยสัตว์ทะเล เพื่อการประมงจากขาแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียมนอกชายฝั่งอ่าวไทย ณ ห้องประชุมอานนท์ กรมประมง กรุงเทพฯ

การศึกษาวิจัยการจัดสร้างแหล่งอาศัยสัตว์ทะเลเพื่อการประมงจากขาแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียม นอกชายฝั่งทะเลอ่าวไทยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำเพื่อการประมง ฟื้นฟูและพัฒนาแหล่งอาศัยสัตว์ทะเลให้มีความอุดมสมบูรณ์ รวมถึง ส่งเสริมหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในการพัฒนาองค์ความรู้ของประเทศต่อการบริหารทรัพยากรสัตว์น้ำให้สอดคล้องกับแนวทางการรักษาสมดุลระบบนิเวศทางทะเลอย่างยั่งยืนอีกด้วย

นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า กรมประมงเป็นหน่วยงานที่มีภารกิจหลักในการบริหารจัดการทรัพยากรประมงด้วยมาตรการหลากหลายรูปแบบ การจัดสร้างแหล่งอาศัยสัตว์ทะเลหรือปะการังเทียมเพื่อเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำนับเป็นหนึ่งในมาตรการที่สำคัญในการสร้างความสมดุลให้กับระบบนิเวศ เพื่อฟื้นฟูความสมบูรณ์ของทรัพยากรสัตว์ทะเลตามธรรมชาติ ที่ผ่านมากรมประมงได้มีการศึกษาและพัฒนาวัสดุและรูปแบบการจัดสร้างแหล่งอาศัยสัตว์ทะเลมาโดยตลอดซึ่งปัจจุบันกรมประมงใช้แท่งคอนกรีตเป็นมาตรฐานในการจัดสร้าง เนื่องจากเป็นวัสดุที่แข็งแรง ทนทาน และไม่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม สำหรับความร่วมมือในการจัดสร้างแหล่งอาศัยสัตว์ทะเลด้วยวัสดุขาแท่นปิโตรเลียม เป็นการนำร่องในการศึกษาด้านแหล่งอาศัยสัตว์ทะเลรูปแบบใหม่ในประเทศไทยที่ยังมีการศึกษาที่ไม่ครอบคลุมด้านการประมงจึงต้องอาศัยความร่วมมือกันในการพัฒนาองค์ความรู้ระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา เพื่อวางแนวทางการใช้ประโยชน์จากขาแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียมอย่างเหมาะสมในอนาคต นับเป็นก้าวสำคัญในการยกระดับด้านวิชาการและด้านการประมงที่ยิ่งใหญ่ของประเทศไทย โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างระบบนิเวศใหม่ที่มีความอุดมสมบูรณ์เป็นแหล่งฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำ เพิ่มความมั่นคงทางด้านอาหาร ตลอดจนส่งเสริมการทำประมงนอกชายฝั่งและการทำประมงชายฝั่งให้เกิดความยั่งยืนต่อการประกอบอาชีพของพี่น้องชาวประมงอีกทางหนึ่งด้วย

นายมนตรี ลาวัลย์ชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ปตท.สผ. กล่าวว่า ปตท.สผ. ดำเนินการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในอ่าวไทยมากว่า 37 ปี ซึ่งปัจจุบันกิจกรรมการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมบางพื้นที่ในอ่าวไทยได้สิ้นสุดลง สิ่งติดตั้งและอุปกรณ์การผลิตซึ่งจะต้องทำการรื้อถอนหลังจากที่สิ้นสุดการทำหน้าที่ ในการผลิตปิโตรเลียมเพื่อเป็นพลังงานให้กับประเทศแล้วนั้นยังสามารถนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อในการทำหน้าที่เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ทะเลได้ ซึ่งการนำขาแท่นผลิตปิโตรเลียมไปจัดสร้างเป็นปะการังเทียมในระดับน้ำลึกราว 50-60 เมตร เพื่อเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์ทะเลและช่วยเพิ่มผลผลิตที่เป็นประโยชน์ต่อการประมง ซึ่งนับเป็นแนวทางที่ทั้ง 5 หน่วยงาน จะมาร่วมกันศึกษาเพื่อเป็นทางเลือกในการนำทรัพยากรดังกล่าวมาใช้ให้เกิดคุณค่าและเป็นประโยชน์สูงสุดต่อท้องทะเลไทย

การลงนามบันทึกข้อตกลงครั้งนี้ ถือเป็นการเปิดโอกาสให้ทุกหน่วยงานมาร่วมกันศึกษาและพัฒนาองค์ความรู้ในการนำขาแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียมไปจัดสร้างเป็นแหล่งอาศัยสัตว์ทะเลเพื่อการประมง รวมถึง การนำไปต่อยอดให้เกิดการปฏิบัติได้จริงในอนาคต

Page 1 of 2
X

Right Click

No right click