November 24, 2024

บริษัท ไอ-เทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ITC รายงานผลการดำเนินธุรกิจประจำไตรมาสที่ 2 ปี 2567 มีรายได้จากยอดขายรวมที่ 4,567 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 41 เปอร์เซ็นต์ และมีกำไรสุทธิอยู่ที่  
1,009 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 127 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ผลจากความต้องการสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยงที่เพิ่มขึ้น   
การเพิ่มสัดส่วนการขายสินค้าพรีเมียมและการปรับราคา ทำให้ไอ-เทลมีอัตรากำไรขั้นต้นรายไตรมาสสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 30 เปอร์เซ็นต์ สะท้อนให้เห็นถึงการบริหารต้นทุนที่มีประสิทธิภาพและความสามารถในการทำกำไรของบริษัทฯ แม้ต้องเผชิญกับความท้าทายจากความผันผวนของสภาวะเศรษฐกิจและแรงกดดันจากการแข่งขันทั่วโลก 

นายพิชิตชัย วงศ์ปิยะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไอ-เทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “เราได้เห็นการฟื้นตัวของตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องในหลายภูมิภาคทั่วโลก อย่างไรก็ตาม แรงกดดันจากสภาวะเศรษฐกิจยังคงส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของไอ-เทล และภาคอุตสาหกรรม แต่เรายังคงคาดหวังการเติบโตของยอดขายที่สูงขึ้นจากการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ของเราในช่วงเวลาหลังจากนี้  ยิ่งไปกว่านั้น บริษัทฯ ยังเดินหน้าตามแผนเชิงกลยุทธ์เพื่อเร่งสร้างการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกและการเติบโตอย่างก้าวกระโดด เพื่อบรรลุเป้าหมายการดำเนินธุรกิจ 
ในระยะยาวด้วยยอดขาย 1.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ ภายในปี 2573” 

สำหรับผลการดำเนินธุรกิจช่วงครึ่งปีแรกของปี 2567 ไอ-เทล คอร์ปอเรชั่น มีรายได้จากยอดขายรวม 8,596 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 26 เปอร์เซ็นต์ และมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 1,831 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 110 เปอร์เซ็นต์ จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ บริษัทฯ  
ได้อนุมัติการจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลที่ 0.40 บาทต่อหุ้น คิดเป็น 66 เปอร์เซ็นต์ของกำไรสุทธิของรอบครึ่งปีแรก ซึ่งจะจ่ายปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นในวันที่ 3 กันยายน 2567 และกำหนดรายชื่อผู้ถือหุ้นที่มีสิทธิได้รับเงินปันผลในวันที่ 20 สิงหาคม 2567 โดยเตรียมขึ้นเครื่องหมาย XD ในวันที่ 19 สิงหาคม 2567 

ในช่วงครึ่งปีแรก บริษัทฯ มีสัดส่วนของยอดขายในสหรัฐอเมริกาอยู่ที่ 49 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ทั้งหมด ในขณะที่เอเชียและโอเชียเนียอยู่ที่ 34 เปอร์เซ็นต์และยุโรปอยู่ที่ 17 เปอร์เซ็นต์  โดยสามารถแบ่งสัดส่วนของยอดขายตามประเภทของ 
สินค้าหลัก 3 ประเภท ได้แก่ อาหารแมว 70 เปอร์เซ็นต์ อาหารสุนัข 15 เปอร์เซ็นต์ ขนมทานเล่นของสัตว์เลี้ยง 11 เปอร์เซ็นต์ และธุรกิจอื่นราว 2 เปอร์เซ็นต์ โดยบริษัทฯ ได้พัฒนาและออกผลิตภัณฑ์ใหม่กว่า 700 รายการ เพื่อรองรับความต้องการสินค้าที่เพิ่มขึ้น รวมถึงบริษัทฯ ยังคงให้ความสำคัญต่อการเจาะตลาดกลุ่มสินค้าตราห้าง (private label)  และกลุ่มธุรกิจ 
ค้าปลีกสินค้าเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงในสหรัฐฯ และอีกหลายประเทศในยุโรป  

บริษัทฯ ให้ความสำคัญต่อการตอบสนองต่อการเติบโตของเทรนด์ Pet Humanization ในประเทศไทย ผ่านการเปิดตัว 
แบรนด์พรีเซนเตอร์ให้กับแบรนด์อาหารสัตว์เลี้ยงของไอ-เทล ได้แก่ ‘เบลลอตต้า’ อาหารแมวสูตรพรีเมียม และอาหารแมวและสุนัขสูตรเป็นมิตรต่อไต ‘เชนจ์เตอร์’ เพื่อตอกย้ำจุดยืนและความสามารถด้านการดำเนินธุรกิจในการส่งมอบผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์เลี้ยงที่มีความโดดเด่นด้วยรสชาติที่อร่อยถูกปากและเต็มเปี่ยมด้วยคุณค่าทางโภชนาการด้วยนวัตกรรมที่ก้าวล้ำจากเทคโนโลยีและกระบวนการผลิตที่เป็นมาตรฐานระดับโลก เพื่อรองรับความต้องการและครองใจบรรดา Pet Parents ในประเทศไทยอีกด้วย 

นอกจากนี้ ไอ-เทล คอร์ปอเรชั่น มีผลงานที่โดดเด่นในช่วงครึ่งปีแรก โดยหุ้น ITC ได้รับเลือกจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ให้เป็นหุ้นที่เข้าคำนวณดัชนี SET50 รอบครึ่งปีหลังของปี 2567 สะท้อนให้เห็นถึงพื้นฐานที่ดีและศักยภาพในการบริหารองค์กรและนโยบายด้านการเงินที่เข้มแข็ง การได้รับเลือกครั้งนี้จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นต่อกลุ่มนักลงทุนทั้ง 
ในประเทศไทยและต่างประเทศ  

ท้ายที่สุดนี้ ในช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ศูนย์วิจัยอาหารแมว i-Cattery ภายใต้การดำเนินงานของบริษัทฯ  
ประสบความสำเร็จในการเป็นหน่วยงานเอกชนรายแรกในประเทศไทยและเป็นบริษัทอาหารสัตว์เลี้ยงเพียงรายเดียวของโลกที่ได้รับการรับรองมาตรฐานสากล Association for Assessment and Accreditation of Laboratory Animal Care (AAALAC) International ซึ่งเป็นเครื่องยืนยันว่าระบบปฏิบัติการของศูนย์วิจัยฯ มีความสอดคล้องและเป็นไปตามมาตรฐานสากล และมีการรับผิดชอบต่อสวัสดิภาพที่ดีของสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ที่ถูกต้องตามจรรยาบรรณ ส่งผลให้ข้อมูลและงานวิจัยของศูนย์วิจัยฯ มีคุณภาพและมีความถูกต้อง แม่นยำ และน่าเชื่อถือ 

“ผมมั่นใจว่ากลยุทธ์ในการเร่งสร้างการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกด้วยการจัดการองค์กรสู่ความเป็นเลิศควบคู่ไปกับการบริหารต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการนำเสนอนวัตกรรมที่ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจจะสามารถขับเคลื่อนไอ-เทลไปในทิศทางที่ถูกต้อง เพื่อรักษาผลการดำเนินงานให้อยู่ในระดับดีอย่างต่อเนื่องตลอดปี 2567 และสร้างการเติบโตที่มั่นคงและยั่งยืนนับจากนี้” นายพิชิตชัยกล่าวทิ้งท้าย

บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) รายงานผลกำไรสุทธิในไตรมาสที่สองของปี 2567 ที่ระดับ 1,219 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 14.2 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยได้รับแรงหนุนจากการฟื้นตัวต่อเนื่องของกลุ่มธุรกิจอาหารกระป๋องอาหารสัตว์เลี้ยง และสินค้าเพิ่มมูลค่าและอื่น ๆ ขณะที่อัตราส่วนกำไรขั้นต้นปรับตัวขึ้นมาอยู่ที่ 18.5 เปอร์เซ็นต์ นับเป็นอัตราเติบโตสูงที่สุดอันดับสองในรอบ 3 ปี และทำยอดขายได้ถึง 35,283 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.6 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน โดยเฉพาะการเติบโตของกลุ่มอาหารสัตว์เลี้ยง ที่มียอดขายสูงถึง 40.6 เปอร์เซ็นต์ เช่นเดียวกันกับอัตราส่วนกำไรขั้นต้นที่ขยายตัวแตะ 31.3 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้ ยังเดินหน้าจ่ายปันผลต่อเนื่อง ตอกย้ำสถานะทางการเงินแข็งแกร่งของบริษัท 

 นายธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป กล่าวว่า ภาพรวมธุรกิจไทยยูเนี่ยนในไตรมาสสองปี 2567 ยังคงขยายตัวดีอย่างต่อเนื่อง โดยสามารถทำยอดขายได้ดีถึง 35,283 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.6 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่อัตราส่วนกำไรขั้นต้นของบริษัท ขึ้นมาแตะที่ระดับ 18.5 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นตัวเลขอัตราการเติบโตสูงสุดเป็นอันดับสองในรอบ 3 ปี ซึ่งปัจจัยสนับสนุนการฟื้นตัวในไตรมาสนี้มาจากกลุ่มธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยง ที่นำกลยุทธ์เพิ่มสัดส่วนการขายสินค้าพรีเมียมและการปรับปรุงราคาสินค้า และการปรับปรุงประสิทธิภาพของกลุ่มธุรกิจสินค้ามูลค่าเพิ่มและธุรกิจอื่น ๆ รวมถึง การปรับโครงสร้างทางกลุ่มธุรกิจอาหารทะเลแช่แข็งให้คงเฉพาะธุรกิจหลักที่สร้างรายได้และผลกำไร  

ขณะที่อัตราส่วนหนี้สินต่อทุนอยู่ในเกณฑ์ที่ดี 0.82 เท่า ณ สิ้นไตรมาสสองปี 2567 ซึ่งดีกว่าเกณฑ์ของทั่วไปที่กำหนดไว้ 1.0 – 1.1 เท่า นอกจากนี้ บริษัทยังประกาศจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลสำหรับงวดครึ่งปีแรก 2567 ในอัตราหุ้นละ 0.31 บาท คิดเป็นอัตราการจ่ายเงินปันผล 59 เปอร์เซ็นต์ โดยบริษัทได้กำหนดวันกำหนดรายชื่อผู้ถือหุ้นที่มีสิทธิรับเงินปันผลในวันที่ 22 สิงหาคม 2567 และมีกำหนดจ่ายเงินปันผลในวันที่ 4 กันยายน 2567 สะท้อนให้เห็นถึงสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งของบริษัท 

ไทยยูเนี่ยนได้แสดงให้เห็นว่าเราสามารถรับมือและปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ท้าทายตั้งแต่ปี 2566 ได้อย่างรวดเร็ว และการที่บริษัทให้ความสำคัญกับธุรกิจหลักมากขึ้นจึงทำให้กลุ่มธุรกิจอาหารกระป๋อง กลุ่มธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยง และกลุ่มธุรกิจสินค้าเพิ่มมูลค่าและอื่น ๆ ฟื้นตัวดีขึ้น จนสามารถขับเคลื่อนการเติบโตทางธุรกิจจากไตรมาสแรกได้เป็นอย่างดี ส่งผลให้บริษัทมีผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่ง มั่นคง พร้อมก้าวสู่การเติบโตอย่างยั่งยืนในที่สุด นายธีรพงศ์ กล่าว  

สำหรับผลประกอบการตามกลุ่มธุรกิจในไตรมาสสอง พบว่า กลุ่มธุรกิจอาหารกระป๋อง มียอดขายอยู่ที่ 17,376 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.4 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน จากความต้องการที่เพิ่มขึ้นในสหรัฐอเมริกา แคนาดา และตะวันออกกลาง ขณะที่อัตราส่วนกำไรขั้นต้นอยู่ที่ 18.9 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากต้นทุนวัตถุดิบที่มีอยู่ในสต็อกต่ำลง และราคาทูน่าที่ปรับตัวสูงขึ้น กลุ่มธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยง มียอดขายอยู่ที่ 4,456 ล้านบาท เพิ่มขึ้นสูงถึง 40.6 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับไตรมาสที่สองของปีที่ผ่านมา โดยได้ปัจจัยสนับสนุนจากกลยุทธ์เพิ่มสัดส่วนการขายสินค้าพรีเมียม การปรับปรุงราคาสินค้า รวมถึง ปริมาณความต้องการสินค้าในตลาดยุโรปและสหรัฐอเมริกาที่ดีต่อเนื่อง ทำให้ในไตรมาสนี้กลุ่มอาหารสัตว์เลี้ยงมีอัตรากำไรขั้นต้นขยายตัวสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 31.3 เปอร์เซ็นต์  

ขณะที่กลุ่มธุรกิจสินค้ามูลค่าเพิ่มและธุรกิจอื่น ๆ สามารถขับเคลื่อนยอดขายในไตรมาสที่สองได้ 2,609 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 15.5 เปอร์เซ็นต์ คิดเป็นอัตราส่วนกำไรขั้นต้นถึง 26.5 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันปีก่อน อย่างไรก็ดี กลุ่มธุรกิจอาหารทะเลแช่แข็ง ยอดขายอยู่ที่ 10,842 ล้านบาท โดยปรับตัวลดลงราว 5.7 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน เนื่องจากปริมาณความต้องการที่ลดลงในสหรัฐอเมริกา แต่เมื่อพิจารณาอัตราส่วนกำไรขั้นต้นของกลุ่มธุรกิจอาหารทะเลแช่แข็งพบว่ามีการฟื้นตัว 10.7 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน เนื่องจากราคาต้นทุนวัตถุดิบที่ลดลงและธุรกิจอาหารสัตว์น้ำอาหารสัตว์เศรษฐกิจมีการปรับปรุงโครงสร้างมุ่งสร้างประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจได้ดีขึ้นต่อเนื่อง 

 

ทั้งนี้ สัดส่วนยอดขายของไทยยูเนี่ยนตามภูมิภาค มาจากประเทศสหรัฐอเมริกาและแคนาดา คิดเป็นอัตรา 40.0 เปอร์เซ็นต์ของรายได้รวมทั้งหมด รองลงมาเป็น ยุโรป 32.3 เปอร์เซ็นต์ ไทย 10.3 เปอร์เซ็นต์ และ อื่นๆ อีก 17.3 เปอร์เซ็นต์ 

นอกจากนี้ ในครึ่งแรกของปี 2567 บริษัทยังประสบความสำเร็จในโครงการซื้อหุ้นคืนเพื่อบริหารทางการเงิน จำนวน 200 ล้านหุ้นเป็นที่เรียบร้อย พร้อมทั้งดำเนินการจดทะเบียนลดทุนจากการตัดหุ้นที่ซื้อคืนและจำหน่ายไม่ได้ในโครงการดังกล่าวที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2566 ได้แล้วเสร็จเมื่อวันที่ 25 กรกฏาคม 2567 ทั้งนี้ เพื่อแสดงสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งของบริษัทสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ถือหุ้น รวมถึงช่วยเพิ่มกำไรต่อหุ้นให้ดีขึ้น  

นอกจากนี้ ไทยยูเนี่ยนยังมีได้รับปัจจัยบวกจากการที่บริษัท ไอ-เทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ITC ได้รับการคัดเลือกให้เป็น 1 ใน 50 บริษัทในดัชนี SET 50 ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เป็นครั้งแรก นับตั้งแต่เข้าจดทะเบียนเมื่อเดือนธันวาคม 2565 และยังเป็นบริษัทใหม่เพียงรายเดียวจากกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มในดัชนีดังกล่าวอีกด้วย 

ขณะเดียวกัน บริษัทยังคงเดินหน้าวิจัยและพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ ต่อเนื่อง เพราะเป็นกุญแจสำคัญต่อการเติบโตในระยะยาวของธุรกิจ โดยในไตรมาสที่ผ่านมาแบรนด์ จอห์น เวสต์ (John West) ของไทยยูเนี่ยนประกาศเปิดตัว ECOTWIST® ซึ่งเป็นบรรจุภัณฑ์ที่ปฏิวัติวงการออกแบบ เพื่อให้ใช้งานง่าย ใส่ใจสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน และลดจำนวนขยะบรรจุภัณฑ์ให้มากที่สุด โดย ECOTWIST® เป็นการเดินหน้าสร้างนวัตกรรมบรรจุภัณฑ์ครั้งใหญ่สำหรับกลุ่มผลิตภัณฑ์ปลาทูน่ากระป๋องของ สหราชอาณาจักร ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา 

เพราะความยั่งยืนนับเป็นหัวใจสำคัญในการดำเนินธุรกิจของไทยยูเนี่ยนมาโดยตลอด ทำให้บริษัทเดินหน้าทำกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง โดยในวันมหาสมุทรโลกที่ผ่านมา อาสาสมัครไทยยูเนี่ยนได้ร่วมกันเก็บขยะทะเลในชุมชนท้องถิ่นในประเทศไทย สหรัฐอเมริกา แอฟริกา และยุโรป นอกจากนี้ ไทยยูเนี่ยนยังได้รับการคัดเลือกให้เป็นสมาชิกของดัชนี FTSE4Good Emerging Index เป็นปีที่ 9 ติดต่อกัน พร้อมออกรายงานความยั่งยืนประจำปี 2566 เพื่อรายงานถึงความก้าวหน้าในการดำเนินงานตามกลยุทธ์ SeaChange® 2030 ของไทยยูเนี่ยนอีกด้วย 

ผมมั่นใจว่าแผนยุทธศาสตร์องค์กรเพื่อมุ่งสู่ปี 2573 จะช่วยเตรียมความพร้อม สร้างนวัตกรรม เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว ให้เราสามารถดูแลสุขภาพที่ดีของผู้คน สัตว์เลี้ยง ควบคู่กับการดูแลโลกใบนี้ และสามารถบรรลุเป้าหมายในการเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกด้านสุขภาพและโภชนาการเพื่อความอุดมสมบูรณ์ของท้องทะเลอย่างยั่งยืน” นายธีรพงศ์ กล่าว 

 

ดร. นริศ ชัยสูตร (ที่ 4 จากขวา) ประธานกรรมการบริษัท บริษัท ฟังก์ชั่น อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ FTI พร้อมด้วยคณะกรรมการบริษัท ฯ เข้าร่วมการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2567 ในรูปแบบการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (e-AGM) โดยที่ประชุมผู้ถือหุ้น มีมติอนุมัติทุกวาระการประชุม รวมถึงวาระการพิจารณาการจ่ายปันผลเป็นเงินสดในอัตราหุ้นละ 0.04 บาทต่อหุ้น จากที่ได้มีการจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลไปแล้วในอัตรา 0.03 บาทต่อหุ้น รวมเป็นการจ่ายเงินปันผลประจำปี 2566 ทั้งสิ้น 0.07 บาทต่อหุ้น โดยกำหนดรายชื่อผู้ถือหุ้นที่มีสิทธิได้รับเงินปันผล (Record Date) 12 มีนาคม 2567 และกำหนดจ่ายเงินปันผลในวันที่ 15 พฤษภาคม 2567

นายวิโรจน์ ธนาลงกรณ์ ประธานกรรมการ นายบุญชัย ปัณฑุรอัมพร ประธานคณะกรรมการบริหาร นางสาวดวงดาว มหะนาวานนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และคณะกรรมการ บริษัท ซาบีน่า จำกัด (มหาชน) หรือ SABINA เข้าร่วมการประชุมผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2567 โดยที่ประชุมรับทราบผลการดำเนินงานประจำปี 2567 ซึ่งบริษัทฯ มีรายได้สูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ระดับ 3,450.4 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 462.5 ล้านบาท พร้อมทั้ง มีมติอนุมัติการจ่ายเงินปันผลในอัตราหุ้นละ 1.33 บาท คิดเป็น 100% ของกำไรสุทธิ โดยมีการจ่ายปันผลระหว่างกาลไปแล้วในอัตรา 0.66 บาทต่อหุ้น คงเหลือการจ่ายปันผลอีก 0.67 บาทต่อหุ้น ที่มีกำหนดวันปิดสมุดทะเบียนผู้มีสิทธิรับเงินปันผล (Record Date) ในวันที่ 7 พฤษภาคม 2567 และกำหนดจ่ายเงินปันผลในวันที่ 17 พฤษภาคม 2567

สิงห์ เอสเตท รายงานรายได้รวมจากการขายและการบริการสำหรับปี 2566 จำนวน 14,675 ล้านบาท โดยรายได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ เติบโตเด่นถึง 42% ด้วยแรงส่งสำคัญจากการเปิดตัว 5 โครงการ มูลค่ารวม 10,000 ล้านบาท มั่นใจปี 2567 โตแรงจากสินค้าพร้อมขายในระดับสูง ขณะที่รายได้จากธุรกิจให้บริการปรับตัวเพิ่มขึ้น 11% จากอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่เติบโต ซึ่งส่งผลให้ระดับรายได้เฉลี่ยต่อห้อง (RevPAR) ของโรงแรมในปี 2566 เพิ่มขึ้นถึง 23% แรงส่งสำคัญคือการปรับอัตราค่าห้องพักเฉลี่ย (ADR) ที่โดดเด่นจากการปรับปรุงโรงแรมตามแผนและความสามารถในการดึงดูดลูกค้าตลาดใหม่

บริษัท สิงห์ เอสเตท จำกัด (มหาชน) ประกาศรายได้รวมเติบโตขึ้น 17% สู่จำนวน 14,675 ล้านบาท และกำไรสำหรับปี 2566 จำนวน 240 ล้านบาท พร้อมเตรียมจ่ายปันผลสำหรับผลดำเนินงานประจำปี 2566 จำนวน 0.015 บาท ต่อหุ้น ซึ่งจะขึ้นเครื่องหมาย XD ในวันที่12 มีนาคม 2567 และกำหนดวันจ่ายเงินปันผลวันที่ 24 พฤษภาคม 2567 ทั้งนี้ สิทธิในการรับเงินปันผล ขึ้นอยู่กับการอนุมัติจากที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2566

สำหรับรายได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ของบริษัทฯ จำนวน 3,638 ล้านบาท เติบโตก้าวกระโดดถึง 42% ซึ่งประกอบด้วย (1) ยอดโอนกรรมสิทธิ์อสังหาริมทรัพย์เพื่อการพักอาศัยจำนวน 3,416 ล้านบาท ปัจจัยสนับสนุนหลักมาจากการการรับรู้รายได้เต็มสัดส่วน จำนวน 919 ล้านบาท จากโครงการดิ เอส สุขุมวิท 36 ภายหลังสิงห์ เอสเตท เข้าถือหุ้น 100% เพื่อรองรับโอกาสการฟื้นตัวของดีมานด์กลุ่มคอนโดมิเนียม และการเปิดตัวโครงการบ้านแนวราบใหม่ โดยเฉพาะโครงการพร้อมโอน “ลาซัวว์ เดอ เอส” โครงการ Flagship Cluster Home ระดับอัลตร้าลักชัวรี่ และ “โครงการสริน ราชพฤกษ์ สาย 1” บ้านแนวราบระดับลักชัวรี่ ซึ่งสามารถรับรู้รายได้ทันทีในปีจำนวนรวมประมาณ 900 ล้านบาท และ (2) การรับรู้ค่าเช่าของโครงการสิงห์ คอมเพล็กซ์ ตามสัญญาเช่าพื้นที่ระยะยาวจำนวน 175 ล้านบาท

ในขณะที่รายได้จากการให้บริการของบริษัทฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้น 11% มีสาเหตุสำคัญมาจากรายได้ของธุรกิจโรงแรมที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น 12% สู่จำนวน 9,701 ล้านบาท หนุนจากทั้งอัตราการเข้าพักเฉลี่ยของโรงแรมซึ่งคำนวณเฉพาะห้องพักที่เปิดให้บริการของบริษัท อยู่ที่ 68% ปรับเพิ่มขึ้น 8% จากปีก่อนหน้า ด้วยการปรับแผนการตลาดอย่างมีประสิทธิผล มุ่งเน้นการเข้าถึงกลุ่มลูกค้าที่มีศักยภาพ นอกจากนี้ บริษัทฯ พัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการของโรงแรมอยู่เสมอ โดยเฉพาะความสำเร็จสำคัญจากการปรับปรุงโรงแรมตามแผน ส่งผลให้อัตราค่าห้องพักเฉลี่ยต่อคืน (ADR) ที่ระดับ 5,675 บาท ปรับเพิ่มขึ้น 9% จากปีก่อน สำหรับรายได้จากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์จำนวน 1,060 ล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้น 4% จากการทยอยรับรู้รายได้ตามการส่งมอบพื้นที่เช่าของอาคารเอส โอเอซิส (S-OASIS)

นางฐิติมา รุ่งขวัญศิริโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สิงห์ เอสเตท จำกัด (มหาชน) หรือ ‘S’ เปิดเผยว่า “จากความมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจที่เป็นเลิศ ความสำเร็จของการพัฒนาโครงการอสังหาฯ และการปรับปรุงประสิทธิภาพของ Portfolio อย่างเข้มข้นในปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ในปี 2566 บริษัทฯ บันทึกรายได้ในระดับสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ ควบคู่กับการคุมต้นทุนต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพเหมาะสมกับช่วงการขยายธุรกิจและเปิดตลาดใหม่ ส่งผลให้เรามีผลกำไรสุทธิในปี จำนวน 240 ล้านบาท ด้วยความพร้อมทางการเงินและประสบการณ์ที่จะขยายธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนและให้เป็นไปตามแผนธุรกิจที่วางไว้ รวมถึงการเดินหน้าสร้างผลประกอบการที่แข็งแกร่ง เพื่อสร้างผลตอบแทนที่ดีอย่างต่อเนื่องให้กับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยในปีนี้ เราประกาศจ่ายปันผลการดำเนินงานดังกล่าวเป็นเครื่องยืนยันความสำเร็จจากการปรับตัวทางธุรกิจ ทำให้เราสามารถช่วงชิงโอกาสได้ทันกับการฟื้นตัวของธุรกิจที่พักอาศัยและโรงแรม ทั้งนี้ บริษัทฯ เห็นสัญญาณการเติบโตของธุรกิจที่ชัดเจนในช่วงไตรมาส 4 ปี 2566 ต่อเนื่องมาจนถึงช่วงต้นปีนี้ เราจึงเชื่อมั่นว่าแรงส่งจากการตอบรับที่ดีของตลาดต่อผลิตภัณฑ์ของสิงห์ เอสเตท ผนวกกับพัฒนาการสำคัญต่างๆ ที่เราได้สร้างไว้ในปี 2566 นี้ จะเป็นแหล่งรายได้สำคัญให้กับผลประกอบการในปี 2567 โดยอธิบายได้ตามหมวดธุรกิจ ดังนี้

ธุรกิจที่พักอาศัย: เราเห็นกิจกรรมโอนกรรมสิทธิ์ที่เร่งตัวขึ้นในไตรมาสสุดท้ายของปี ที่จำนวน 1,734 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็นกว่า 50% ของยอดโอนทั้งปีมีแรงขับเคลื่อนหลักจากการรับรู้ Backlog ของโครงการศิรนินทร์ เรสซิเดนเซส และการรับรู้ยอดโอนของโครงการใหม่ สริน ราชพฤกษ์สาย 1 ที่มีมูลค่า 3,700 ล้านบาท ซึ่งพึ่งเปิดตัวในต้นไตรมาส 4 ที่ผ่านมา และได้รับกระแสตอบรับเป็นอย่างดี พร้อมมียอดโอนกรรมสิทธิ์ทันทีกว่า 12% ของมูลค่าโครงการซึ่งเราเชื่อว่ายอดโอนของทั้งสองโครงการนี้ในปี 2567 จะสามารถปิดได้ตามเป้าหมายของเราที่ 2,000 ล้านบาท หนุนด้วยโครงการใหม่ SHAWN ทั้งสองทำเล ปัญญาอินทรา และวงแหวนจตุโชติ มีมูลค่าโครงการรวมกันราว 4,600 ล้านบาท ที่เปิดตัวอย่างไม่เป็นทางการไปในช่วงปลายปีที่แล้ว ซึ่งได้ความสนใจจากลูกค้าเป็นอย่างดี เสริมด้วยการเริ่มโอนกรรมสิทธิ์โครงการ The Extro พญาไทรางน้ำ ซึ่งคาดว่าจะพร้อมส่งมอบห้องชุดให้กับลูกค้าได้ตั้งแต่เดือนมีนาคมเป็นต้นไป และ ณ ปัจจุบัน มียอดขายรอรับรู้รายได้ของโครงการแล้วกว่า 1,200 ล้านบาท

ธุรกิจโรงแรม: เราเห็นสัญญานบวกที่แข็งแกร่งในปี 2567 จากจำนวนนักท่องเที่ยว และความเต็มใจในการใช้จ่ายสำหรับการท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น อาทิเช่น (1) โรงแรมในประเทศไทย ได้รับแรงสนับสนุนจากการจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้น รวมถึงการปรับเพิ่มอัตราค่าห้องพักภายหลังการปรับปรุงตามแผน ทำให้ตอบโจทย์กับกระแสนิยมการท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี สะท้อนอัตราการเข้าพักในเดือนมกราคมในปี 2567 ของโรงแรมทั้ง 4 แห่งในประเทศไทยสูงถึงกว่า 90% ประกอบกับแผนการปรับปรุงห้องพักทั้งหมดที่เราเตรียมทำเพิ่มในช่วง 2 ปีข้างหน้า จะสามารถผลักดันผลการดำเนินงานของโรงแรมในประเทศไทยให้เติบโตได้อย่างก้าวกระโดด (2) สัญญานการตอบรับอย่างดีของโรงแรม SO/ Maldives จากกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีกำลังซื้อสูง อาทิ ชาวรัสเซีย สหราชอาณาจักร และตะวันออกกลาง รวมถึงยอดจองห้องพักล่วงหน้าที่แข็งแกร่งตลอดช่วง High Season ของปี 2567 ของโรงแรม SAii Lagoon Maldives, Curio Collection by Hilton และ โรงแรม Hard Rock Hotel Maldives และ (3) ความต้องการท่องเที่ยวในสาธารณรัฐหมู่เกาะฟิจิที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากนักท่องเที่ยวชาวออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ซึ่งเป็นตลาดหลัก รวมถึงศักยภาพในการเพิ่มอัตราค่าห้องพักภายหลังการปรับปรุงเสร็จสมบูรณ์ไปในช่วงเดือนพฤศจิกายนปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ในเดือนมกราคมปี 2567 นี้ เราสามารถบริหารอัตราการเข้าพักเฉลี่ยสูงกว่า 70% และมีระดับ RevPAR ในเดือนมกราคม เติบโตขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนถึง 43% เป็นต้น

ธุรกิจอาคารสำนักงาน: บริษัทฯ มีแนวทางในการบริหารอาคารสำนักงานทุกแห่งเพื่อให้ตอบสนองต่อความต้องการใช้พื้นที่อาคารสำนักงานที่เปลี่ยนแปลงไป และสามารถรักษาอัตราการปล่อยเช่าพื้นที่ (Occupancy rate) ได้เป็นอย่างดีท่ามกลางภาวะการณ์ต่างๆ รวมถึงการเพิ่มขึ้นของอัตราการเช่าพื้นที่ของอาคาร S-OASIS ในปี 2567 นี้จะขับเคลื่อนผลประกอบการของธุรกิจอาคารสำนักงานได้อย่างมั่นคง

ธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม: บริษัทคาดว่ารายได้จากธุรกิจนี้จะเติบโตโดดเด่นในปี 2567 จากกิจกรรมการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน สอดคล้องกับความสำเร็จในการพัฒนาที่ดินและระบบสาธารณูปโภค หนุนด้วยความเชื่อมั่นต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ และมาตรการกระตุ้นจากภาครัฐ นอกจากนี้ การเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ของโรงไฟฟ้าทั้งสามแห่ง ซึ่งมีกำลังการผลิตรวมกว่า 400 เมกะวัตต์ และจะทำให้บริษัทมีรายได้ประจำจากการขายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย รวม 270 เมกะวัตต์

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการต่อยอดรากฐานทางธุรกิจอันมั่นคงที่ได้สร้างไว้ตลอดเวลาที่ผ่านมา บริษัทฯ จะเดินหน้ามุ่งเน้นการเพิ่มศักยภาพในการสร้างผลกำไรในปี 2567 ผ่านการขยายพอร์ตโฟลิโอ และยกประสิทธิภาพในการทำกำไร ได้แก่ (1) การเปิดตัวโครงการอสังหาฯ เพื่อการพักอาศัยต่อเนื่องที่ระดับ 10,000 ล้านบาท การเข้าซื้อที่ดินเพื่อพัฒนาโครงการใหม่ๆ รวมถึงการช่วงชิงโอกาสจากเรียลดีมานด์ที่เติบโตผ่านการพัฒนาโครงการเอ็กซ์คลูซีฟ เรสซิเดนท์ ซึ่งเป็นโครงการระดับบน จำนวนยูนิตไม่มากอยู่โซนพื้นที่ใกล้เมืองและพื้นที่เมืองชั้นใน และการเปิดโอกาสเข้าร่วมลงทุนกับพันธมิตรทางธุรกิจเพื่อเร่งการเติบโต (2) การมุ่งเน้นการลงทุนในโรงแรมที่เป็นสินทรัพย์คุณภาพ และการยกระดับประสบการณ์ท่องเที่ยวผ่านทางการบริการที่เฉพาะเจาะจงยิ่งขึ้น (personalized experiences) รวมถึงนำเสนอ Brand Concept ใหม่ให้ตอบโจทย์ความต้องการและเทรนด์การท่องเที่ยวในระดับสากล (3) การมองหาโอกาสในการเข้าซื้อและควบรวมกิจการเพื่อสร้างความหลากหลายให้แก่พอร์ตโฟลิโอของบริษัทฯ และ (4) การปรับแผนการตลาดเชิงรุก เน้นกลุ่มธุรกิจที่มีศักยภาพในการเติบโต และใช้ช่องทางการขายที่หลากหลายมากขึ้น ซึ่งจะช่วยผลักดันผลประกอบการธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อการค้า และธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมให้เติบโตต่อเนื่องได้

“เรามีความมั่นใจที่จะทำตามเป้าหมายในการสร้างรายได้ที่สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ต่อเนื่องอีกครั้งนึง ผนวกกับการควบคุมค่าใช้จ่าย พร้อมผลักดันอัตราการทำกำไรให้เติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง เพื่อสร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับผู้ถือหุ้น และส่งมอบคุณค่าที่ยั่งยืนและรับผิดชอบให้กับทุกภาคส่วน โดยเฉพาะพันธสัญญาที่จะพัฒนาสินค้าและบริการอันเป็นเลิศ เพื่อการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของลูกค้า ดั่งที่ สิงห์ เอสเตท ได้ทำมาด้วยดีแล้วตลอด ควบคู่ไปกับการรักษาวินัยทางการเงินที่ดี และการเตรียมความพร้อมในการเข้าถึงเครื่องมือทางการเงินที่เหมาะสมที่สุดกับสภาวะตลาดในแต่ละช่วง เพื่อเพิ่มความพร้อมในการสนับสนุนการขยายการเติบโตและการทำกำไรให้กับบริษัทอย่างต่อเนื่อง” นางฐิติมา กล่าวเสริม

Page 1 of 2
X

Right Click

No right click