December 23, 2024

นักวิจัยด้านพืชสมุนไพร ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) นำงานวิจัยการพัฒนาการผลิตพืชสมุนไพร 5 ชนิด (บัวบก ขมิ้นชัน กระชายดำ ฟ้าทะลายโจร และกะเพรา) เชื่อมโยงสู่ผู้ประกอบการสมุนไพรและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมสมุนไพรด้วยงานวิจัยด้านเกษตรสมัยใหม่ ภายใต้งานสัมมนา “การเชื่อมโยงและสร้างพันธมิตรในการพัฒนาอุตสาหกรรมสมุนไพรด้วยงานวิจัยด้านเกษตรสมัยใหม่”

จัดโดยเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) เมื่อเร็ว ๆ นี้ (19 ก.ค. 66) โดยมี ดร.วุฒิ ด่านกิตติกุล รองผู้อำนวยการ สวทช. สายงาน EECi และ นพ.ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ร่วมเปิดงาน พร้อมด้วย ดร.เจนกฤษณ์ คณาธารณา รองผู้อำนวยการ สวทช. สายงานอุตสาหกรรมและชุมชน ดร.ประพัฒน์ พันปี ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายความร่วมมืออุตสาหกรรม EECi ตลอดจนผู้ประกอบการ นักวิจัยไบโอเทค และผู้แทนกลไกสนับสนุนภาคเอกชนของ สวทช. เข้าร่วมในงาน

 

ดร.วุฒิ ด่านกิตติกุล รองผู้อำนวยการ สวทช. สายงาน EECi กล่าวว่า สวทช. โดย EECi ร่วมกับกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก จัดงานสัมมนาการเชื่อมโยงและสร้างพันธมิตรในการพัฒนาอุตสาหกรรมสมุนไพรด้วยงานวิจัยด้านเกษตร เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และแบ่งปันประสบการณ์ระหว่างนักวิจัยด้านพืชและผู้ประกอบการ ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างความร่วมมือที่ยั่งยืนและยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขันให้แก่ตลาดสมุนไพรไทย พร้อมกันนี้ ดร.เจนกฤษณ์ คณาธารณา รองผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวเสริมว่า ในการสร้างให้เกิดความยั่งยืนของผู้ประกอบการ สวทช. ได้มีกลไกสนับสนุนภาคเอกชนในหลายส่วน ไม่ว่าจะเป็นบัญชีนวัตกรรมไทย / AGRITEC (สท.) หรือโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ เช่น EECi / อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย / ซอฟต์แวร์พาร์ค / Food Innopolis เป็นต้น ซึ่งล้วนเป็นบริการสนับสนุนผู้ประกอบการในการร่วมพัฒนาอุตสาหกรรมสมุนไพรไทยด้วยงานวิจัยด้านเกษตรสมัยใหม่ผ่านเขตนวัตกรรม EECi ต่อไป

 

ด้าน ดร.ประพัฒน์ พันปี ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายความร่วมมืออุตสาหกรรม EECi สวทช. ระบุว่า ในการพัฒนาอุตสาหกรรมสมุนไพรด้วยงานวิจัยด้านเกษตรสมัยใหม่ สวทช. โดยนักวิจัยไบโอเทคได้พัฒนาเทคโนโลยีการผลิตสมุนไพร 5 ชนิดพืช ได้แก่ บัวบก ขมิ้นชัน กระชายดำ ฟ้าทะลายโจร และกะเพรา ซึ่งล้วนเป็นพืชสมุนไพรเพื่อเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ ให้มีเสถียรภาพทางการผลิต คุณภาพการผลิต นำไปสู่การสร้างความมั่นคงทางอาหาร (Food security) รวมถึงส่งเสริมให้เกิดเกษตร

แม่นยำ (Precision Farming) ที่มีการนำเทคโนโลยีผสมผสานการเกษตรยุคดิจิทัล มาใช้กับการเพาะปลูกและเพิ่มผลผลิตได้เท่าทวีคูณ

 

โดยพืชชนิดแรกคือ บัวบก โดย ดร.กนกวรรณ รมยานนท์ นักวิจัยจากทีมวิจัยนวัตกรรมโรงงานผลิตพืชสมุนไพร มีการศึกษาต้นแบบการผลิตบัวบกในระบบปลูกแนวตั้ง ที่เพิ่มผลผลิตต่อพื้นที่สูงขึ้น บัวบกสายพันธุ์ดี ได้แก่ ไบโอบก-143 และ ไบโอบก-296 ทั้งสองสายพันธุ์ ที่คัดเลือกมาจากการรวบรวมสายพันธุ์บัวบกกว่า 200 สายพันธุ์ ซึ่งให้ผลผลิตและปริมาณสารสำคัญสูง พืชชนิดที่สอง ขมิ้นชัน โดย ดร.รุจิรา ทิศารัมย์ นักวิจัยจากทีมวิจัยนวัตกรรมด้านพันธุศาสตร์และสรีรวิทยาพืช มีการศึกษากระบวนการผลิตต้นพันธุ์ การคัดเลือกสายพันธุ์ และระบบการปลูกในโรงเรือนและแปลงปลูก พืชชนิดที่สาม กระชายดำ โดย ดร.ยี่โถ ทัพภะทัต นักวิจัยจากทีมวิจัยนวัตกรรมโรงงานผลิตพืชสมุนไพร มีการศึกษาสายพันธุ์ที่มีสารออกฤทธิ์ทางยาสูง กรรมวิธีการผลิต และระบบการปลูกที่ลดการเกิดโรคในแปลงปลูก พืชชนิดที่สี่ ฟ้าทะลายโจร โดย ดร.ประเดิม วณิชชนานันท์ นักวิจัยจากทีมวิจัยนวัตกรรมโรงงานผลิตพืชสมุนไพร มีการศึกษาสายพันธุ์ที่มีศักยภาพ ระบบการผลิตที่ให้สารสำคัญสูง และต้นแบบระบบการผลิตแบบปิด แบบเปิด และกึ่งปิด และพืชชนิดที่ห้า กะเพรา โดย ดร.พนิตา ชุติมานุกูล นักวิจัยจากทีมวิจัยนวัตกรรมโรงงานผลิตพืชสมุนไพร มีการศึกษาข้อมูลสายพันธุ์ที่มีมากถึง 90 สายพันธุ์ และกระบวนการปลูกในโรงงานผลิตพืช (Plant Factory) ทั้งในด้านข้อมูลตอบสนองต่อปัจจัยสภาพแวดล้อมและต้นแบบการผลิตที่เหมาะสม ซึ่งงานสัมมนาครั้งนี้นอกจากสร้างการรับรู้ถึงความสำคัญของงานวิจัยพืชสมุนไพรแล้ว ยังได้ฉายภาพและนำเยี่ยมชมโครงสร้างพื้นฐานวิจัยขยายผล ณ โรงเรือนปลูกพืชอัจฉริยะ (Smart Greenhouse) และโครงสร้างพื้นฐานอื่น ๆ ของเมืองนวัตกรรมชีวภาพ หรือ BIOPOLIS ที่ตั้งอยู่ใน EECi เพื่อรองรับอุตสาหกรรมชีวภาพไทยที่จะเติบโตต่อไปในอนาคตอันใกล้ด้วย

 

หนึ่งในนักวิจัยพืช ‘กระชายดำ’ ดร.ยี่โถ ทัพภะทัต นักวิจัยจากทีมวิจัยนวัตกรรมโรงงานผลิตพืชสมุนไพร ไบโอเทค เล่าให้ฟังว่า ปัจจุบันทีมวิจัยกำลังจะได้พันธุ์กระชายดำดีเด่นที่มีสารออกฤทธิ์สูง และสามารถนำไปปรับใช้เฉพาะทางได้ เช่น เครื่องสำอาง อาหารเสริม และยา นอกจากนี้ได้พัฒนาระบบการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ การสร้างต้นพันธุ์ปลอดโรคที่จะนำไปให้เกษตรกร เพื่อลดต้นทุน แรงงาน และระยะเวลาการปลูก รวมถึงยังได้ความรู้ไปใช้กับการผลิตต้นพันธุ์ได้ทั้งปี ซึ่งแตกต่างจากเหง้าที่ผลิตไม่ได้ทั้งปี ซึ่งในการศึกษาที่ EECi จะมีห้องปฏิบัติการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อขนาดใหญ่ มีระบบ Bioreactor (เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อในอาหารเหลว) ที่จะขยายต้นพันธุ์ในระดับเชิงพาณิชย์ และใช้กับพืชอื่น ๆ ได้ เช่น ไม้ดอกไม้ประดับ พืชหายากที่ต้องการอนุรักษ์ เป็นต้น ซึ่งทีมวิจัยพร้อมจะทำงานเชื่อมโยงร่วมกับผู้ประกอบการทั้งในส่วนกลางน้ำและปลายน้ำ

 

และอีกหนึ่งพืชสมุนไพรที่มีความท้าทายในการแก้ปัญหา Pain Point มาอย่างยาวนานคือ กะเพรา ดร.พนิตา ชุติมานุกูล นักวิจัยจากทีมวิจัยนวัตกรรมโรงงานผลิตพืชสมุนไพร ไบโอเทค

เล่าให้ฟังว่า รัฐบาลกำหนดให้ ‘กะเพรา’ เป็นพืชสมุนไพรชนิดใหม่ในวงการของสมุนไพร แต่จุดอ่อนทางธุรกิจคือ การส่งออก ที่ถูกห้ามส่งออกมาตั้งแต่ปี 2554 เพราะกะเพรามีการใช้ยาฆ่าแมลงเป็นจำนวนมากและยังพบแมลงติดมากับพืชที่ส่งออกสูง สร้างความสูญเสียมูลค่ามหาศาล ฉะนั้น เพื่อการแก้ไขจึงได้พัฒนาการปลูกให้เป็นเกรดพรีเมียม ทดลองปลูกและศึกษาใน Plant factory เพราะไม่มีการใช้ยาปราบศัตรูพืชใด ๆ โดยทีมวิจัยได้ศึกษาตั้งแต่การรวบรวมสายพันธุ์ซึ่งมีมากถึง 90 สายพันธุ์ และยังไม่มีการศึกษาถึงสรรพคุณในแต่ละสายพันธุ์มาก่อน เช่น สายพันธุ์ที่ต้านอักเสบ ต้านจุลชีพ ป้องกันการเกิดอัลไซเมอร์ หรือสรรพคุณในด้านกลิ่น ที่ช่วยขับลม ลดคอเลสเตอรอล เป็นต้น รวมถึงศึกษาสภาวะ (condition) การปลูกที่เหมาะสมเพื่อกระตุ้นให้เกิดการสร้างสารสำคัญของกะเพราได้มากที่สุด ซึ่งในการเชื่อมโยงกับ EECi ทางทีมวิจัยมีแผนในอนาคตอันใกล้ว่า จะนำส่วนที่คัดสายพันธุ์ที่ดีและสำเร็จมาแล้วใน condition ต่าง ๆ ทั้งการปลูกใน Plant Factory ใน Greenhouse และแปลงทดลองของเกษตรกร เช่น พันธุ์ A ที่หอมมากและหอมทั้ง 3 ที่ที่ปลูกซึ่งให้ผลคงที่ ทีมจะนำพันธุ์เหล่านั้นมาปลูกทดสอบและขยายการผลิตในโรงเรือนที่ EECi เพื่อตอบโจทย์กับภาคเอกชนต่อไป ทั้งนี้ ผู้ประกอบการสมุนไพรและที่เกี่ยวข้องที่สนใจการพัฒนาสมุนไพรด้วยงานวิจัยด้านเกษตรสมัยใหม่ สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ ฝ่ายพัฒนาธุรกิจเทคโนโลยีชีวภาพ โทร. 0 2564 6700 ต่อ 3305 (จิราวรรณ)

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) ร่วมกับ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมมือทางวิชาการโครงการแผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุก (Agri-Map) เพื่อใช้ข้อมูลในการวางนโยบายด้านการเกษตรและวางแผนบริหารจัดการการผลิตสินค้าเกษตรผ่านระบบ Agri-Map ทั้งแบบออนไลน์ผ่านระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์(Agri-Map Online) และแอปพลิเคชันผ่านระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Agri-Map Mobile) เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย

ล่าสุด. นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ ศ. ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมลงนามข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ โครงการแผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุก (Agri-Map) ระหว่าง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กับ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยมีนายปราโมทย์ ยาใจ อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน ศ. ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ นางสาวภัทราภรณ์ โสเจยยะ รองอธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ร่วมเป็นสักขีพยาน ณ ห้องประชุม 115 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า “กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีนโยบายในการขับเคลื่อนงานภายใต้ 5 ยุทธศาสตร์ 15 แนวทางนโยบายหลัก ปรับตามสถานการณ์และปรับเปลี่ยนเป็นการทำงานเชิงรุกในการพัฒนาภาคการเกษตรอย่างเป็นระบบ ซึ่ง Agri-Map ถือเป็นเครื่องมือที่สามารถนำมาใช้ในการขับเคลื่อนงานดังกล่าว ให้เกิดความสะดวก รวดเร็ว มีประสิทธิภาพ สอดคล้องตามสภาพพื้นที่และสถานการณ์ในปัจจุบัน

นายปราโมทย์ ยาใจ อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าวถึงความร่วมมือและการสนับสนุนด้านการวิจัยเพื่อร่วมพัฒนาระบบ Agri-Map “กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีนโยบายจัดทำแผนที่สำหรับบริหารจัดการภาคการเกษตรของประเทศไทยให้มีประสิทธิภาพและครอบคลุมทุกพื้นที่ โดยบูรณาการข้อมูลพื้นฐานด้านการเกษตรและการพาณิชย์ สำหรับวิเคราะห์การจัดการสินค้าเกษตร ตามความต้องการของผู้ผลิตและผู้บริโภค และความเหมาะสมของการใช้ที่ดิน

โดยที่ผ่านมาได้รับความร่วมมือจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ทำให้ Agri-Map ถูกพัฒนาเป็นเครื่องมือสำคัญที่ใช้บริหารจัดการภาคการเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทันสมัย สะดวก และติดตามความเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา สามารถใช้ได้บนแพลตฟอร์มคอมพิวเตอร์ Agri-Map Online และบนแพลตฟอร์มมือถือ Agri-Map Mobile เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนนโยบายด้านการเกษตร และวางแผนการบริหารจัดการภาคเกษตรภายใต้โครงการสำคัญต่างๆ โดยมุ่งหวังให้เกษตรกรและผู้สนใจสามารถใช้งานได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว”

ศ. ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวถึงความร่วมมือและการสนับสนุนด้านการวิจัยเพื่อร่วมพัฒนาระบบ Agri-Map โดยเนคเทค สวทช. ได้นำงานวิจัยทางเทคโนโลยีด้านบูรณาการข้อมูลไปใช้กับข้อมูลจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ไปเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ประโยชน์ที่ดินด้านการเกษตร และพัฒนาเครื่องมือสร้างแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ร่วมกับเทคโนโลยีการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ มาสร้างแบบจำลองในการโซนนิ่งภาคการเกษตร โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มศักยภาพการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและผลผลิตให้ดีขึ้น นอกจากนี้ ยังได้วิจัยพัฒนาระบบการจัดการข้อมูลแบบอัตโนมัติเพื่อการเตรียมข้อมูลและวิเคราะห์ข้อมูล อย่างมีมาตรฐานสากล เพื่อใช้ในการแสดงผลในแบบแผนที่บนระบบ Agri-Map ในรูปแบบออนไลน์ผ่านเครือข่ายทางคอมพิวเตอร์ (Agri-Map Online) และแอปพลิเคชันผ่านระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Agri-Map Mobile) ซึ่งช่วยลดภาระเวลาการทำงานให้กับการจัดการข้อมูลในการส่งเข้าระบบ Agri-Map รวมทั้งได้พัฒนาระบบ Map Server ด้วย Opensource ที่ให้ประสิทธิภาพเทียบ Business Software ซึ่งช่วยลดภาระค่าลิขสิทธิ์ลงได้

สำหรับความร่วมมือที่เกิดขึ้นครั้งนี้ กรมพัฒนาที่ดิน ได้สนับสนุนปรับปรุงข้อมูลพื้นที่เพาะปลูกของพืชเศรษฐกิจ 13 ชนิดพืช ตามรอบการสำรวจของกรมฯ และเพิ่มข้อมูลพืชเศรษฐกิจทางเลือกในการเพาะปลูกให้แก่เกษตรกรอีก 5 ชนิด ได้แก่ มะม่วง กล้วย ลองกอง โกโก้ และส้มโอ ส่วนเนคเทค สวทช. ยังสนับสนุนการนำงานวิจัยการวิเคราะห์ภาพถ่ายดาวเทียมซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาโมเดลการทำนายพื้นที่เพาะปลูกพืชมาใช้ เพื่อช่วยลดภาระงานสำรวจพื้นที่ของทางกรมพัฒนาที่ดิน ปัจจุบัน ระบบ Agri-Map ได้

เปิดให้ใช้งานได้ทั้งแบบออนไลน์ผ่านระบบเครือข่ายทางคอมพิวเตอร์ (Agri-Map Online) และแบบแอปพลิเคชันผ่านระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Agri-Map Mobile) ซึ่งยังคงต้องมีการพัฒนาปรับปรุงข้อมูลให้ทันสมัยและดูแลรักษาระบบให้ใช้งานได้อย่างต่อเนื่องต่อไป

สาเหตุจากความต้องการพืชที่นำไปใช้อุตสาหกรรมลดลงจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ในขณะที่พืชอาหารยังขยายตัวได้ดี ตามการเปิดประเทศทั่วโลก ชี้ต้นทุนปุ๋ย ค่าเงินบาทผันผวนและมีแนวโน้มแข็งค่า กดรายได้สุทธิเกษตรกร

ปี 2565 รายได้เกษตรกรจาก 5 พืชเศรษฐกิจ รวมกันอยู่ที่ 8.75 แสนล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นกว่า 12.7% จากปี 2564 เมื่อแยกเป็นพืชแต่ละประเภท พบว่า อ้อย ปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลัง ข้าว และยางพารา เพิ่มขึ้น 54.1%, 24.1%, 18.2%, 8.3% และ 0.3% ตามลำดับ โดยรายได้เกษตรกรที่ปรับตัวดีขึ้น เป็นผลมาจากราคาสินค้าเกษตร ประกอบกับปริมาณนํ้าฝนเพิ่มขึ้น ทำให้นํ้าในอ่างเก็บนํ้าที่สำคัญ และแหล่งนํ้าตามธรรมชาติมีปริมาณเพียงพอ ทำให้ผลผลิตเกษตรเพิ่มขึ้น

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics คาดว่า ปี 2566 รายได้เกษตรกร 5 พืชเศรษฐกิจหลักของไทย จะลดลง 4.7% อยู่ที่ 8.33 แสนล้านบาท เนื่องจากรายได้เกษตรกรจากพืชที่นำไปใช้ในภาคอุตสาหกรรม ได้แก่ ปาล์มน้ำมัน และยางพารา ปรับตัวลดลง 32.6% และ 15.8% ตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ส่งผลให้สินค้าคงทนชะลอตัวลง และราคาพืชที่ใช้ในอุตสาหกรรมทั้งสองชนิดก็ปรับตัวลดลงเช่นเดียวกัน ในขณะที่รายได้เกษตรกรจากพืชที่นำไปประกอบอาหาร ได้แก่ อ้อย ข้าว และมันสำปะหลัง คาดว่าจะยังปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง โดยคาดว่าจะขยายตัว 18.4% , 7.7% และ 5.4% ตามลำดับ ตามความต้องการที่เพิ่มขึ้นของเศรษฐกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ อันเป็นผลมาจากการเปิดประเทศทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับเข้าสู่ระดับปกติ ภายหลังจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ทำให้ปิดประเทศไปนานในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา

แนวโน้มรายได้เกษตรกร 5 พืชเศรษฐกิจปี 2566

  • ปาล์มน้ำมัน : ปี 2566 คาดว่ารายได้เกษตรกรจะลดลง 6% อยู่ที่ 0.95 แสนล้านบาท โดยปริมาณผลผลิตในประเทศคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 3.6% และราคาคาดว่าจะลดลง 34.6 % ปริมาณผลผลิตที่เพิ่มขึ้นมาจากราคาปาล์มน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (ตั้งแต่ปี 2563-2565) จูงใจให้เกษตรกรขยายพื้นที่เพาะปลูกมากขึ้น แต่ในด้านราคาปาล์มน้ำมันที่ปรับลดลง เนื่องมาจากเกิดปรากฏการณ์ลานีญา ทำให้มีปริมาณน้ำฝนมากในพื้นที่ชายฝั่งผู้ผลิตปาล์มรายใหญ่ของโลก ได้แก่ อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ส่งผลทำให้ผลผลิตปาล์มน้ำมันโลกเพิ่มขึ้น จึงทำให้ราคาปาล์มน้ำมันลดลง อย่างไรก็ดี ระดับราคาปาล์มน้ำมันเฉลี่ยในปี 2566 อยู่ที่ 5 บาทต่อกิโลกรัม ก็ยังอยู่ในระดับสูง เมื่อเปรียบเทียบกับราคาเมื่อ 3 ปีก่อน
  • ยางพารา : ปี 2566 คาดว่ารายได้เกษตรกรจะลดลง 8% อยู่ที่ 2.17 แสนล้านบาท โดยปริมาณผลผลิตคาดว่าจะทรงตัวจากปี 2565 สำหรับราคายางพาราคาดว่าจะปรับลดลง 15.8% จากปี 2564-2565 ที่ราคาปรับตัวเพิ่มขึ้น 22.7% และ 1.5% ตามลำดับ เนื่องจาก 2 ปีที่ผ่านมา ราคายางพาราได้รับอานิสงส์จากราคาน้ำมันดิบที่ปรับสูงขึ้นทำให้ผู้ผลิตยางรถยนต์ปรับสัดส่วนการใช้ยางสังเคราะห์มาเป็นยางธรรมชาติ รวมถึงความต้องการยางพาราไปผลิตถุงมือยางทางการแพทย์ที่เพิ่มขึ้นจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างไรก็ดี ปี 2566 แนวโน้มเศรษฐกิจโลกชะลอตัว จะส่งผลทำให้ความต้องการยางพาราที่นำไปใช้ในอุตสาหกรรมยานยนต์ลดลง ส่งผลทำให้ราคายางพาราปรับตัวลดลง  
  • ข้าวเปลือก : ปี 2566 คาดว่ารายได้เกษตรกรจะขยายตัว 7% อยู่ที่ 3.11 แสนล้านบาท โดยปริมาณผลผลิตข้าวจะเพิ่มขึ้น 3.4% และราคาข้าวเปลือก (ความชื้น 15%) จะเพิ่มขึ้น 4.2% โดยรายได้เกษตรกรจะได้รับผลดีจากผลผลิตข้าวนาปรังที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากการขยายพื้นที่เพาะปลูกข้าว ประกอบกับปี 2566 ปริมาณน้ำในอ่างกักเก็บน้ำจากน้ำฝนที่ตกลงในปี 2565 มีปริมาณค่อนข้างมาก ส่วนราคาข้าวเปลือกปี 2566 คาดว่าจะดีขึ้น จากความต้องการบริโภคข้าว เนื่องจากกิจกรรมการค้าและบริการกลับมาเป็นปกติ จากการเปิดประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก โดยข้าวไทยยังคงเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ
  • อ้อย : ปี 2566 คาดว่ารายได้เกษตรกรจะขยายตัว4% อยู่ที่ 1.2 แสนล้านบาท โดยปริมาณผลผลิตและราคาคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 12.6% และ 5.2% ตามลำดับ ปริมาณผลผลิตที่เพิ่มขึ้นมาจากปริมาณน้ำที่เพียงพอต่อการเพาะปลูก รวมถึงราคาอ้อยที่ปรับสูงขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากความร่วมมือการประกันราคาอ้อยของ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย ได้แก่ สมาคมโรงงานน้ำตาลไทย สมาคมผู้ผลิตน้ำตาลและชีวพลังงานไทย และสมาคมการค้าอุตสาหกรรมน้ำตาล โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้มีวัตถุดิบอ้อยเพียงพอต่อการนำไปผลิตเป็นน้ำตาลเพื่อใช้ในประเทศและส่งออก จึงจูงใจให้เกษตรกรขยายพื้นที่เพาะปลูกมากขึ้น
  • มันสำปะหลัง : ปี 2566 คาดว่ารายได้เกษตรกรจะขยายตัว4% อยู่ที่ 0.90 แสนล้านบาท โดยปริมาณผลผลิตและราคาคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 2.2% และ 3.1% ตามลำดับ สาเหตุที่ปริมาณผลผลิตเพิ่มขึ้นเนื่องจากแนวโน้มราคาหัวมันสดที่เพิ่มขึ้น จูงใจให้เกษตรกรหันมาเพาะปลูกมากขึ้น ด้านราคามันสำปะหลังคาดว่าจะดีขึ้นต่อเนื่อง จากความต้องการที่จะนำไปแปรรูปเป็นมันเส้น มันอัดเม็ด แป้งมันสำปะหลัง และเอทานอล และความต้องการจากประเทศคู่ค้า โดยเฉพาะจีนซึ่งเป็นคู่ค้าหลักที่มีการเปิดประเทศ

นอกจากนี้ จะพบว่าแนวโน้มปี 2566 พืชเกษตรที่นำไปใช้ประกอบอาหาร ยังคงเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง จากความต้องการบริโภคอาหารที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากการเปิดประเทศที่ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจของโลกกลับเข้าสู่ระดับปกติอีกครั้ง ในขณะที่พืชที่นำไปใช้ในภาคอุตสาหกรรมชะลอตัวลง ทำให้ราคามีแนวโน้มลดลง สาเหตุจากทิศทางเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ทำให้ความต้องการสินค้าอุตสาหกรรมชะลอตัวลงตามไปด้วย ทั้งนี้ ต้นทุนการผลิตที่อยู่ในระดับสูง ได้แก่ ราคาปุ๋ยเคมี ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง รวมทั้งทิศทางค่าเงินบาทแข็งค่าและผันผวน จะเป็นปัจจัยกดดันที่ส่งผลกระทบต่อรายได้สุทธิของเกษตรกรได้

ttb analytics แนะเกษตรกรลดต้นทุนด้วยการปรับสัดส่วนการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ในการเพาะปลูกมากขึ้น นอกจากนี้ ควรจัดทำบัญชีรายการต้นทุนการเพาะปลูก อาทิ ค่าปุ๋ยเคมี ค่าเมล็ดพันธุ์ ค่าแรงงาน ค่าสูบน้ำ ค่าหว่าน ค่าไถพรวนดิน ฯลฯ เพื่อให้ทราบถึงต้นทุนการเพาะปลูก ซึ่งสามารถนำไปประกอบการพิจารณาลดต้นทุนการผลิตลง

ในขณะที่ ภาครัฐควรส่งเสริมให้เกษตรกรหันมาใช้ปุ๋ยสั่งตัด ซึ่งเป็นการผสมแม่ปุ๋ยให้ตรงกับสภาพดินและความต้องการของพืช ส่งเสริมให้เกษตรกรใช้ปุ๋ยเคมีและปุ๋ยอินทรีย์แบบผสมผสาน ซึ่งจะช่วยลดค่าปุ๋ยเคมีลงได้ นอกจากนี้ ควรส่งเสริมให้เกษตรกรรวมกลุ่มกันทำเกษตรแปลงใหญ่ ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการผลิต เพิ่มผลผลิตได้มากขึ้น และช่วยเพิ่มอำนาจต่อรองทางการตลาดได้ และในกรณีที่ต้นทุนการผลิตเพิ่มสูงมากเกินไป ภาครัฐควรพิจารณาใช้งบประมาณช่วยเหลือตามความเหมาะสม

ด้านแนวโน้มค่าเงินบาทปี 2566 ที่คาดว่าจะแข็งค่าและมีความผันผวนสูง ผู้ส่งออกสินค้าเกษตรควรพิจารณาบริหารความเสี่ยงด้วยการทำประกันอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศเพื่อล็อกผลกำไรจากการขาย ซึ่งจะช่วยรักษารายได้สุทธิของเกษตรกรได้ต่อไป

X

Right Click

No right click