January 22, 2025

มูลนิธิรามาธิบดี ในพระบรมราชูปถัมภ์สมเด็จ พระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มอบโอกาสทางการศึกษาให้แก่คนพิการเพื่อผลิตบัณฑิตกลุ่มวิชาชีพครู หวังเพิ่มจำนวนบุคลากรครูที่เชี่ยวชาญเฉพาะด้านในการสอนคนพิการไปยังสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ เพื่อถ่ายทอดความรู้ ส่งเสริมศักยภาพให้คนพิการมีอาชีพที่มั่นคง สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน ผ่านการระดมทุนในโครงการทุนสถาบันราชสุดา เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีของคนพิการในสังคมไทย

คนพิการคือกลุ่มคนที่ต้องเผชิญกับปัญหาความเหลื่อมล้ำในหลายมิติ โดยเฉพาะด้านการศึกษา แม้ว่าในทางกฎหมาย ภาครัฐจะให้ความสำคัญต่อการศึกษาโดยบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญว่า การศึกษาเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ทุกคนจะต้องได้รับและสามารถเข้าถึงได้ แต่ในทางปฏิบัติ การจัดการศึกษาสำหรับกลุ่มคนพิการนั้นยังคงเป็นเรื่องที่เข้าถึงได้ยากและอาจไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควรจะเป็น เนื่องจากปัญหาทั้งด้านหลักสูตร โครงสร้างพื้นฐานทางการศึกษาสำหรับคนพิการ และความสามารถในการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ

อาจารย์นายแพทย์สมเกียรติ ลีละศิธร ผู้อำนวยการสถาบันราชสุดา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า “การขาดโอกาสทางการศึกษาส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดี จนนำมาสู่ปัญหาการขาดโอกาสในการประกอบอาชีพของกลุ่มคนพิการ จากข้อมูลของกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการเมื่อวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2567 พบว่า มีจำนวนคนพิการทางการได้ยินและสื่อความหมายในประเทศไทยทั้งสิ้น 423,936 คน คิดเป็น 19.19% ของคนพิการทั้งหมด โดยในจำนวนคนพิการทางการได้ยินหรือสื่อความหมายทั้ง 423,936 คนเหล่านี้ มีผู้ได้รับการศึกษาในระดับประถมศึกษาสูงที่สุด 282,410 คน รองลงมาคือระดับมัธยมศึกษาที่ 35,899 คน ในขณะที่ผู้ที่ได้รับ

การศึกษาในระดับปริญญาตรีหรือเทียบเท่ามีเพียง 9,227 คนเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ สถาบันราชสุดา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล จึงมุ่งมั่นเป็นสถาบันที่เปิดพื้นที่ทางการศึกษาสำหรับนักศึกษาทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน ตั้งแต่ระดับชั้นปริญญาตรี โท และเอก เพื่อผลิตบุคลากรครูสำหรับคนพิการทางการได้ยินโดยเฉพาะ รวมทั้งเป็นที่พึ่งพิงให้กับคนพิการที่ต้องการความช่วยเหลือด้านสุขภาพกายและจิตใจผ่านงานบริการและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการเพื่อให้สามารถใช้ชีวิตร่วมกับทุกคนในสังคมได้อย่างมีความสุข”

อาจารย์ ดร.ปรเมศวร์ บุญยืน ประธานหลักสูตรศึกษาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการศึกษาของคนหูหนวก กล่าวว่า “ประเทศไทยกำลังเผชิญกับสถานการณ์การขาดแคลนล่ามภาษามือ จากสถิติกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เดือนเมษายน ปี พ.ศ. 2567 พบว่า ล่ามภาษามือที่จดแจ้งมีจำนวนทั้งหมด 178 คน โดยส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑลมากที่สุด และ 36 จังหวัดในประเทศไทยไม่พบล่ามภาษามือที่จดแจ้ง สถาบันราชสุดา ในฐานะสถาบันการศึกษาแห่งเดียวที่ผลิตล่ามภาษามือในระดับปริญญาตรี จึงให้มุ่งมั่นในการผลิตบัณฑิตเพื่อส่งต่อความรู้ให้แก่คนพิการทางการได้ยินให้มีทักษะในการประกอบอาชีพ ตลอดจนสามารถหาเลี้ยงดูตนเองและครอบครัว นำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของคนพิการในสังคมไทย”

คุณพรรณสิรี คุณากรไพบูลย์ศิริ ผู้จัดการมูลนิธิรามาธิบดีฯ กล่าวเสริมว่า “มูลนิธิรามาธิบดีฯ มุ่งมั่นในการสร้างให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน ผ่านการขับเคลื่อนสังคมไทยสู่ความเท่าเทียมและไม่แบ่งแยก โดยเฉพาะความเท่าเทียมในการเข้าถึงการศึกษาซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาตนเอง โครงการทุนสถาบันราชสุดา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี จึงก่อตั้งขึ้นเพื่อระดมทุนสนับสนุนการศึกษาให้แก่นักศึกษาในระดับอุดมศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ให้มีโอกาสศึกษาเล่าเรียนอย่างเต็มศักยภาพ พร้อมจัดสรรเงินทุนเพื่อพัฒนาด้านการเรียนการสอนในสถาบันราชสุดา รวมถึงส่งเสริมด้านงานวิจัยนวัตกรรมด้านคนพิการและการให้บริการฟื้นฟูสมรรถภาพและพัฒนาศักยภาพของคนพิการ เพื่อให้คนพิการในสังคมไทยมีอาชีพที่มั่นคงในระยะยาว โดยเฉพาะกลุ่มวิชาชีพครูที่สร้างรายได้ให้แก่ตนเองและสามารถเลี้ยงดูครอบครัวได้ในอนาคต นำไปสู่ความสามารถในการพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืนของคนพิการในประเทศไทย”

สถาบันราชสุดา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มีระบบการศึกษาที่ยืดหยุ่นและเปิดโอกาสให้คนพิการสามารถเรียนรวมกับคนทั่วไปได้อย่างเท่าเทียม โดยมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในห้องเรียนเพื่อสร้างพื้นที่การเรียนรู้ระหว่างคนพิการและบุคคลทั่วไป พร้อมจัดบริการสนับสนุนการศึกษาอย่างเหมาะสมเพื่อลดอุปสรรคการเรียนรู้ที่เกิดจากข้อจำกัดด้านความพิการ สถาบันราชสุดา เปิดสอนทั้งหมด 5 หลักสูตร ดังนี้ ระดับปริญญาตรี ได้แก่ หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาหูหนวกศึกษา วิชาเอกการออกแบบเชิงพาณิชย์ และวิชาเอกล่ามภาษามือไทย และ หลักสูตรศึกษาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการศึกษาของคนหูหนวก ระดับปริญญาโท และปริญญาเอก ได้แก่ หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ หลักสูตรศึกษา

ศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการศึกษาสำหรับบุคคลที่มีความต้องการพิเศษ และ หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ

โครงการทุนสถาบันราชสุดา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี จึงถือเป็นอีกหนึ่งภารกิจสำคัญของมูลนิธิรามาธิบดีฯ เพื่อสร้างพื้นที่แห่งโอกาสทางการศึกษาให้คนพิการ นำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีให้คนพิการสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน เพื่อส่งเสริมการอยู่ร่วมกันระหว่างคนพิการและคนทั่วไป พร้อมขับเคลื่อนประเทศไทยสู่สังคมที่ปราศจากการแบ่งแยก ขอเชิญชวนประชาชนผู้มีจิตศรัทธาร่วมบริจาคเงินสมทบทุนให้กับโครงการทุนสถาบันราชสุดา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ได้ที่ มูลนิธิรามาธิบดีฯ www.ramafoundation.or.th

มูลนิธิรามาธิบดี ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ตอกย้ำบทบาทของการเป็นสะพานบุญแห่ง ‘การให้’ สานต่อภารกิจเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของโรงพยาบาลรามาธิบดี เดินหน้าโครงการใหม่ “รามา+1 เพิ่มพื้นที่ บวกความหวัง” ชวนคนไทยร่วมส่งพลังบวก 1 เพื่อเพิ่มพื้นที่รองรับผู้ป่วยและขยายศักยภาพการรักษา พร้อมเปิดตัวภาพยนตร์ประชาสัมพันธ์ชุดใหม่จากเรื่องราวของ “ความหวัง” เดินหน้าระดมทุนให้แก่โครงการอาคารโรงพยาบาลรามาธิบดี และย่านนวัตกรรมโยธี เพื่อเพิ่มพื้นที่และยกระดับศักยภาพการให้บริการทางการแพทย์แก่ประชาชนชาวไทย พร้อมผลักดันระบบสาธารณสุขไทยให้เท่าทันสภาวการณ์แห่งการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล

ศ.คลินิก นพ.อาทิตย์ อังกานนท์’ คณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี และประธานคณะกรรมการบริหารมูลนิธิรามาธิบดีฯ กล่าวว่า “เกือบ 60 ปีที่คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีเปิดให้บริการในฐานะโรงพยาบาลที่เปรียบเสมือน ‘ที่พึ่ง’ ของคนไทย พร้อมบทบาทด้านการผลิตบุคลากรทางการแพทย์เข้าสู่ระบบสาธารณสุข และด้านการวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้ทางการแพทย์เพื่อการรักษา โดยครอบคลุมทั้งงานวิจัยขั้นพื้นฐานด้านการหาตัวยาใหม่เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพและเพิ่มการเข้าถึงตัวยาได้มากขึ้น ไปจนถึงการคิดค้นแนวทางการรักษารูปแบบใหม่สู่การเป็นต้นแบบของการรักษาโดยเฉพาะการรักษาโรคที่มีความซับซ้อน โครงการอาคารโรงพยาบาลรามาธิบดี และย่านนวัตกรรมโยธี ถือเป็นโครงการที่ไม่เพียงเพิ่มพื้นที่ในการรักษาที่รองรับนวัตกรรมทางการแพทย์ล้ำสมัยเท่านั้น แต่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนและสนับสนุนพันธกิจของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีอย่างครอบคลุมในทุกมิติ เพื่อผลักดันระบบการแพทย์ไทยให้ก้าวหน้าต่อไป”

 

รศ.นพ.ชูศักดิ์ กิจคุณาเสถียร รองคณบดีฝ่ายนโยบายและแผน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวเสริมว่า “โครงการอาคารโรงพยาบาลรามาธิบดี และย่านนวัตกรรมโยธี จะเอื้อประโยชน์ต่อการบูรณาการและสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์สุขภาพเพื่อผลักดันการสร้างสรรค์และต่อยอดนวัตกรรมทางการแพทย์ที่สามารถเพิ่มศักยภาพทางการรักษาต่อไปในอนาคต โดยจะมีการนำนวัตกรรมทางการแพทย์หลากหลายประเภทเข้ามาให้บริการทางการแพทย์รวมถึงพัฒนาด้านระบบภายในโรงพยาบาลเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการทางการแพทย์ที่ดียิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีดิจิทัลในการบันทึกข้อมูลของผู้ป่วยและการจัดการข้อมูลทางการแพทย์ เครื่องมือช่วยในการรักษาทางการแพทย์ด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI (Artificial intelligence) เช่น การใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดเพื่อช่วยลดระยะเวลาการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ลงและลดระยะเวลาของการพักฟื้นของผู้ป่วย รวมถึงลดอาการบาดเจ็บและลดโอกาสการเกิดภาวะแทรกซ้อนของการผ่าตัด นอกจากนี้ โรงพยาบาลรามาธิบดีแห่งใหม่ยังให้ความสำคัญกับการลดระยะเวลาในการรอรับบริการของผู้ป่วย เช่น การใช้เทคโนโลยี AI เข้ามาช่วยในการจ่ายยา”

คุณพรรณสิรี คุณากรไพบูลย์ศิริ ผู้จัดการมูลนิธิรามาธิบดีฯ กล่าวว่า “มูลนิธิรามาธิบดีฯ เดินหน้าผลักดันความก้าวหน้าทางการแพทย์ควบคู่ไปกับการสร้างโอกาสให้ประชาชนไทยสามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้อย่างทั่วถึง พร้อมเปิดตัวโครงการ “รามา+1 เพิ่มพื้นที่ บวกความหวัง” และภาพยนตร์ประชาสัมพันธ์ชุดใหม่จากเรื่องราวของ “ความหวัง” เป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการช่วยระดมทุนให้แก่โครงการอาคารโรงพยาบาลรามาธิบดี และย่านนวัตกรรมโยธี ซึ่งถือเป็นภารกิจสำคัญในปีนี้และอย่างน้อยอีก 7 ปีข้างหน้า การสื่อสารภายใต้โครงการ “รามา+1 เพิ่ม

พื้นที่ บวกความหวัง” สะท้อนให้เห็นว่า มูลนิธิรามาธิบดีฯ นั้นตระหนักถึงพลังของการให้ และขอบคุณทุกน้ำใจที่ส่งต่อความช่วยเหลือและสร้างความหวังร่วมกันมาโดยตลอด จึงขอเชิญชวนทุกคนมาร่วมเป็นพลังบวกหนึ่งในการสร้างโรงพยาบาลรามาธิบดี และย่านนวัตกรรมโยธี ซึ่งอาคารแห่งนี้จะดูแลผู้ป่วยที่ใช้สิทธิรักษาเบิกจ่ายประกันสังคม และสิทธิพื้นฐานต่าง ๆ”

ภายในงานแถลงข่าว ฐิสา-วริฏฐิสา ลิ้มธรรมมหิศร ตัวแทนนักแสดงจิตอาสาร่วมแบ่งปันมุมมองในเรื่อง “ความหวัง” พร้อมเชิญชวนแฟนคลับร่วมซื้อเสื้อยืดสุขใจ เพื่อระดมทุนเข้าโครงการฯ และสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีในอนาคตร่วมกัน พร้อมด้วยการเปิดตัวกิจกรรม “#A4SpaceChallenge” ชวนทำคอนเทนต์ที่สะท้อนถึงพื้นที่ที่มีอยู่จำกัดในอาคารเก่าและแสดงให้เห็นถึงความจำเป็นการก่อสร้างอาคารใหม่ของโรงพยาบาลรามาธิบดี โดยวิธีการเล่นคือ จับกลุ่ม 4 คนมายืนด้วยกันบนกระดาษ A4 ให้ครบ 10 วินาที และร่วมกันท้าต่อเพื่อน ๆ ให้เล่นชาเลนจ์นี้ต่อ เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์เชิญชวนบริจาคเงินให้โครงการอาคารโรงพยาบาลรามาธิบดี และย่านนวัตกรรมโยธี โดยทุกคนสามารถร่วมทำชาเลนจ์แล้วโพสต์รูปหรือคลิปลงในโซเชียลมีเดียพร้อมแทค #A4SpaceChallenge ได้แล้วตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป

 

โครงการอาคารโรงพยาบาลรามาธิบดี และย่านนวัตกรรมโยธี ออกแบบภายใต้แนวคิด “เข้าใจเขา เข้าใจเรา เข้าใจทุก(ข์)คน” เพื่อตอบโจทย์ความต้องการทั้งผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงการแก้ไขปัญหาด้านความแออัดของพื้นที่อาคารเดิม โดยตั้งเป้าหมายการระดมทุนเพิ่มเติมจากการสนับสนุนของภาครัฐบาลรวมจำนวน 9,000 ล้านบาท เพื่อนำไปใช้ดำเนินการก่อสร้างอาคารโรงพยาบาลและการจัดซื้อเครื่องมือทางการแพทย์ที่ทันสมัยจำนวนมาก ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2573

มูลนิธิรามาธิบดีฯ ขอเชิญชวนประชาชนผู้มีจิตศรัทธาร่วมเป็นพลังบวกหนึ่งกับโครงการ “รามา+1 เพิ่มพื้นที่ บวกความหวัง” ด้วยการบริจาคเงินสมทบทุนก่อสร้างโครงการอาคารโรงพยาบาลรามาธิบดี และย่านนวัตกรรมโยธี

มูลนิธิรามาธิบดี ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เปิดตัวโครงการทุนสถาบันราชสุดา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มุ่งมั่นสนับสนุนการศึกษาแก่คนพิการเพื่อผลิตบัณฑิตกลุ่มวิชาชีพครู หวังยกระดับคุณภาพชีวิตคนพิการในสังคมไทยให้มีความเป็นอยู่ที่ดี สร้างอาชีพ และพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน พร้อมร่วมกับ บริษัท ซีเนริโอ จำกัด ชวนผู้ใจบุญ ชมละครเวทีรอบการกุศล “แฟนฉัน เดอะมิวสิคัล” ในวันเสาร์ที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566 จัดแสดง ณ เมืองไทยรัชดาลัย เธียเตอร์ รายได้ร่วมสมทบทุนเข้าโครงการทุนสถาบันราชสุดา

สถาบันราชสุดา หรือเดิมทีมีชื่อว่า วิทยาลัยราชสุดา มหาวิทยาลัยมหิดล ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม ถือเป็นสถาบันอุดมศึกษาชั้นนำแห่งแรกในประเทศไทย เป็นสถาบันที่ให้การสนับสนุนทางด้านการศึกษา การวิจัย การบริการวิชาการ และศูนย์กลางเครือข่าย เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการในประชาคมอาเซียน โดยเปิดทำการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2534 นับเป็นเวลากว่า 32 ปีแล้วที่สถาบันแห่งนี้ให้การศึกษาและยกระดับคุณภาพชีวิตคนพิการไทยกว่าหลายพันคน และในปี พ.ศ. 2566 นี้ วิทยาลัยราชสุดาและคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีได้ทำการควบรวมกัน เพื่อร่วมกันทำภารกิจส่งเสริมการศึกษาและสร้างพื้นที่สำหรับคนพิการให้เกิดสังคมแห่งการให้ที่ไม่ทอดทิ้งกัน

 

ศ.นพ.ปิยะมิตร ศรีธรา คณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า “เหตุผลสำคัญของการควบรวมวิทยาลัยราชสุดาและคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีเข้าด้วยกันจนเกิดเป็นโครงการสถาบันราชสุดาแห่งนี้ เพื่อร่วมกันทำภารกิจสำหรับคนพิการให้เกิดสังคมแห่งการให้ที่ไม่ทอดทิ้งกัน สนับสนุนให้เป็นสถาบันต้นแบบในการผลิตและพัฒนาบุคลากรกลุ่มวิชาชีพครูที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านในการสอนคนพิการที่มีคุณภาพให้มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นในสังคมไทย และ หวังกระจายครูสอนคนพิการไปยังสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ทั่วประเทศ เพื่อถ่ายทอดความรู้ ส่งเสริมศักยภาพให้คนพิการมีอาชีพที่มั่นคง พึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน สืบเนื่องจากการควบรวมกันนี้ มูลนิธิรามาธิบดีฯ จึงได้มีโอกาสเป็นสะพานบุญแห่งการให้เพื่อสนับสนุนค่าใช้จ่ายจำเป็นต่าง ๆ ของสถาบันราชสุดา เพื่อให้สถาบันนำไปสานต่อภารกิจต่าง ๆ อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป”

สถาบันราชสุดา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี เปิดสอนทั้งหมด 6 หลักสูตร แบ่งเป็น

ระดับปริญญาตรี เปิดสำหรับนักศึกษาที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน และนักศึกษาที่มีการได้ยิน

1. หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาหูหนวกศึกษา วิชาเอกการออกแบบเชิงพาณิชย์

2. หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาหูหนวกศึกษา วิชาเอกล่ามภาษามือไทย

3. หลักสูตรศึกษาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการศึกษาของคนหูหนวก

ระดับปริญญาโท และเอก เปิดสำหรับนักศึกษาที่มีความบกพร่องทางการเห็น นักศึกษาที่มีความบกพร่องทางการเคลื่อนไหว นักศึกษาทั่วไป

4. หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ

5. หลักสูตรศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการศึกษาสำหรับบุคคลที่มีความต้องการพิเศษ

6. หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ

 

ด้าน อ.นพ.สมเกียรติ ลีละศิธร ผู้อำนวยการ สถาบันราชสุดา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี เผยว่า “กลุ่มนักศึกษาหลักของสถาบันราชสุดาคือกลุ่มคนพิการทางการได้ยิน รวมถึงคนทั่วไปที่สนใจเข้ามาเรียนร่วมในหลักสูตร ศิลปศาสตร์และศึกษาศาสตร์ ที่เมื่อจบไปแล้วสามารถเป็นครูสอนคนพิการ หรือประกอบอาชีพอื่น ๆ ได้ตามศักยภาพ

นับตั้งแต่เปิดสถาบันราชสุดาแห่งนี้ได้ผลิตบัณฑิตไปแล้วกว่า 692 ราย ปัจจุบันมีจำนวนนักศึกษาระดับปริญญาตรี ชั้นปีที่ 1 และ 3 ทั้งสิ้น 153 ราย แบ่งเป็น นักศึกษาที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน จำนวน 84 ราย นักศึกษาที่มีการได้ยิน 69 ราย และคาดว่าจะมีผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีในปี 2567 จำนวน 54 ราย

ในส่วนของระดับบัณฑิตศึกษา แบ่งเป็นระดับปริญญาโท 49 คน คาดว่าจะเสร็จการศึกษาปี 2566 จำนวน 7 ราย และระดับปริญญาเอก 24 ราย จะสำเร็จการศึกษาปี 2566 จำนวน 8 ราย โดยระดับนี้มีนักศึกษาที่มีความบกพร่องทางการเห็น นักศึกษาที่มีความบกพร่องทางการเคลื่อนไหว รวมถึงนักศึกษาทั่วไป

ปัจจุบันมีคนพิการจำนวนมากที่หลุดออกจากระบบการศึกษา ซึ่งสาเหตุเหล่านั้นมีทั้งความไม่พร้อมของสถานศึกษาในการรองรับคนพิการ, สภาพแวดล้อมในครอบครัว, ปัจจัยด้านการเดินทาง รวมถึงสถานะทางการเงิน ปัญหาเหล่านี้จึงยิ่งก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำสูงขึ้นในสังคมไทย การมีอยู่ของสถาบันราชสุดาจึงถือเป็นเรื่องสำคัญในฐานะสถาบันการศึกษาที่จะช่วยสร้างโอกาสให้คนพิการได้เข้าถึงการศึกษา ผ่านการผลิตบัณฑิต และบัณฑิตเหล่านั้นไปส่งต่อความรู้ให้แก่คนพิการทางการได้ยินต่อไป”

 

นางสาวพรรณสิรี คุณากรไพบูลย์ศิริ ผู้จัดการมูลนิธิรามาธิบดีฯ กล่าวเสริมว่า “การระดมทุนในครั้งนี้ นับเป็นการให้ที่จะช่วยผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคมอย่างแน่นอน เพราะการศึกษานั้นเป็นรากฐานสำคัญของทุกคน ไม่แบ่งแยกด้วยสภาพร่างกาย เพศ อายุ ดังนั้น มูลนิธิรามาธิบดีฯ จึงมีความภูมิใจและดีใจเป็นอย่างยิ่งที่จะได้เป็นส่วนหนึ่งในการถ่ายทอด พันธกิจของสถาบันราชสุดาไปยังสังคมวงกว้าง และเป็นสะพานแห่งการให้ที่รับน้ำใจของผู้ที่อยากช่วยให้คนพิการได้มีโอกาสทางการศึกษา อันจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนพิการต่อไปในอนาคต และสร้างสรรค์สังคมที่พวกเราทุกคนสามารถได้ใช้ศักยภาพและความสามารถของตนเองได้อย่างเต็มที่”

 

“ในการเปิดตัว โครงการทุนสถาบันราชสุดา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ครั้งนี้ มูลนิธิรามาธิบดีฯ ได้ร่วมมือกับบริษัท ซีเนริโอ จำกัด ซึ่งเล็งเห็นความสำคัญของการ “ให้” โอกาสทางการศึกษาแก่คนพิการในสังคมไทยจัดรอบการแสดงละครเวทีการกุศล “แฟนฉัน เดอะมิวสิคัล” ขึ้นในวันเสาร์ที่ 11 พฤศจิกายน 2566 เวลา 19:30 น. โดยรายได้จากการจำหน่ายบัตรของรอบนี้จะถูกสมทบทุนให้แก่โครงการทุนสถาบันราชสุดา เพื่อช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนพิการต่อไป อีกทั้งยังได้เชิญชวนตัวแทนนักศึกษาของสถาบันราชสุดามาร่วมชมการแสดงในรอบนี้อีกด้วย” นางสาวพรรณสิรี กล่าว ทิ้งท้าย

 

โครงการทุนสถาบันราชสุดา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี นับเป็นภารกิจครั้งใหม่ของมูลนิธิรามาธิบดีฯ เพื่อช่วยสร้างพื้นที่แห่งโอกาสทางการศึกษาให้คนพิการ รวมถึงพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมด้านคนพิการ และการให้บริการฟื้นฟูสมรรถภาพและพัฒนาศักยภาพของคนพิการนำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตของคนพิการในประเทศไทย เพราะการมอบการศึกษาคือหนทางที่จะช่วยสร้างสังคมที่ทุกคนมีคุณค่า ช่วยลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเท่าเทียมกันในสังคม และเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการให้สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน ในโอกาสนี้จึงขอเชิญชวนประชาชนผู้มีจิตศรัทธาร่วมบริจาคเงินสมทบทุนให้กับโครงการทุนสถาบันราชสุดา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ได้ที่ มูลนิธิรามาธิบดีฯwww.ramafoundation.or.th

ภารกิจครั้งใหม่เพื่อมุ่งพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการผ่านการศึกษา

ตลอดช่วงทศวรรษที่ผ่านมาประเทศไทยให้การสนับสนุนประชาชนในการเข้าถึงบริการทางสุขภาพด้วยระบบสิทธิประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) เพื่อเปิดโอกาสให้คนไทยสามารถเข้าถึงบริการทางสาธารณสุขได้มากขึ้น แต่ไม่อาจสรุปได้ว่าคนไทยเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม เพราะยังคงมีกลุ่มคนบางกลุ่มที่มีข้อจำกัดในการเข้าถึงการรักษาพยาบาล โดยเฉพาะกลุ่มผู้ป่วยยากไร้ ทั้งในแง่ของการเข้าถึงและค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล และแม้ว่าคนไทยจะสามารถเข้าถึงบริการสุขภาพได้มากขึ้น แต่ในบางสถานบริการสุขภาพก็ยังคงมีศักยภาพไม่เพียงพอต่อการรักษาที่ครอบคลุม โดยเฉพาะการรักษาในกลุ่มโรคซับซ้อน

มูลนิธิรามาธิบดีฯ จึงมุ่งมั่นสืบสานพันธกิจแห่ง “การให้” ตลอด 54 ปีที่ผ่านมา ด้วยบทบาทของการเป็นเสมือนที่พึ่งให้กับคนไทยสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัยจากบุคลากรทางการแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในการรักษากลุ่มโรคซับซ้อน พร้อมมอบโอกาสให้ผู้ป่วยยากไร้สามารถเข้าถึงบริการทางสุขภาพได้อย่างทัดเทียม เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตควบคู่ไปกับการเสริมสร้างสุขภาวะที่ดีของคนไทย

ศ.นพ.วิบูลย์ บุญสร้างสุข ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี เล่าถึงแง่มุมในการทำงานภายใต้บทบาทของการเป็นแพทย์ด้านระบบการหายใจว่า “ปัจจุบันการพัฒนาเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัยทำให้ แวดวงการแพทย์สามารถก้าวข้ามข้อจำกัดในการรักษาและช่วยยืดระยะเวลาในการใช้ชีวิตของผู้ป่วยได้มากขึ้น สำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็งปอดในระยะที่ลุกลามเข้ามาในอวัยวะสำคัญ เช่น บริเวณท่อหลอดลมจนทำให้เส้นผ่านศูนย์กลางของหลอดลมมีขนาดแคบลง ส่งผลให้การหายใจเป็นไปได้อย่างยากลำบากและมีอาการเหนื่อยหอบ ผู้ป่วยจึงจำเป็นต้องได้รับการใส่ท่อค้ำหลอดลม (airway stent) เพื่อขยายเส้นผ่านศูนย์กลางของหลอดลมให้มีขนาดใหญ่เพียงพอสำหรับการหายใจ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถหายใจได้สะดวกมากขึ้น หลุดพ้นความทรมานจากอาการเหนื่อยหอบ และมีโอกาสดำเนินการรักษาโรคมะเร็งต่อไป นอกจากนี้ ท่อค้ำหลอดลมยังช่วยป้องกันไม่ให้มะเร็งลุกลามไปในบริเวณของหลอดลมได้อีกด้วย ในการใส่ท่อค้ำหลอดลมจะพิจารณาจากบริเวณการลุกลามของมะเร็ง ซึ่งมี 2 รูปแบบ ได้แก่ ท่อค้ำหลอดลมรูปแบบตรง และท่อค้ำหลอดลมรูปแบบตัว Y ซึ่งราคาของท่อค้ำหลอดลมอยู่ที่ประมาณ 20,000-45,000 บาทต่อชิ้น ขึ้นอยู่กับรูปแบบและความยาว โดยท่อค้ำหลอดลม อยู่นอกเหนือบัญชีการเบิกจ่ายกับสิทธิประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือบัตรทอง ทั้งผู้ป่วยของโรงพยาบาลรามาฯ เอง หรือผู้ป่วยที่ถูกส่งต่อมารับการรักษาที่โรงพยาบาลรามาธิบดี ไม่สามารถเบิกค่าท่อค้ำหลอดลมได้ ส่งผลให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยลดลง”

“แม้การใส่ท่อค้ำหลอดลมจะมีประโยชน์เพื่อลดอาการเหนื่อยจากหลอดลมตีบ เนื่องจากมะเร็งที่ลุกลาม และยืดอายุของผู้ป่วยได้ แต่ในแง่ของการเข้าถึงของผู้ป่วยถือว่ายังคงมีอย่างจำกัด ด้วยค่าใช้จ่ายที่สูง อีกทั้งสถานบริการที่มีศักยภาพในการใส่ท่อค้ำหลอดลมมักจะเป็นโรงพยาบาลที่เป็นโรงเรียนแพทย์เหมือนกับโรงพยาบาลรามาธิบดีแห่งนี้ สำหรับเคสตัวอย่างเป็นเคสที่ถูกส่งต่อการรักษามาจากจังหวัดราชบุรีคือผู้ป่วยโรคมะเร็งหลอดอาหารที่ลุกลามไปในบริเวณผนังหลอดลม ไม่สามารถหายใจได้ แม้จะได้รับการใส่ท่อช่วยหายใจแล้ว แพทย์จึงใส่ท่อค้ำหลอดลมร่วมกับการเจาะคอจึงทำให้ผู้ป่วยสามารถหายใจได้สะดวกยิ่งขึ้น และสามารถส่งตัวกลับไปรักษาโรคมะเร็งต่อที่จังหวัดราชบุรีได้” ศ.นพ.วิบูลย์ บุญสร้างสุข กล่าวเสริม

อ.นพ.ธัช อธิวิทวัส (สาขาวิชามะเร็งวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์) แพทย์ผู้ให้การรักษาผู้ป่วยมะเร็งต่อเนื่องหลังจากการถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรคมะเร็งปอด และมะเร็งหลอดอาหาร เผยว่า “ในอดีตโรคมะเร็งที่พบได้มากที่สุดเป็นอันดับที่ 1 ในกลุ่มชายไทย คือ โรคมะเร็งตับและท่อน้ำดี แต่ในปัจจุบันโรคมะเร็งปอด ถือเป็นโรคที่พบได้มากที่สุดในกลุ่มชายไทย และเริ่มพบมากขึ้นเรื่อย ๆ ในเพศหญิง ในปัจจุบันการรักษามะเร็งปอดพัฒนาไปมาก ทั้งยาเคมีบำบัด ยามุ่งเป้า และยากระตุ้นภูมิคุ้มกัน หากร่างกายของผู้ป่วยตอบสนองต่อยารักษาอย่างดีและติดตามการรักษาอย่างต่อเนื่อง จะช่วยยืดระยะเวลาการใช้ชีวิตของผู้ป่วยได้ถึง 2-3 ปี แต่การรักษามะเร็งปอดในกลุ่มผู้ป่วยระยะลุกลามจะเกิดขึ้นไม่ได้ หากผู้ป่วยไม่ได้รับการใส่ท่อค้ำหลอดลมเพื่อรักษาชีวิตของผู้ป่วยก่อน เพราะช่วงที่ผู้ป่วยไม่สามารถหายใจได้ ผู้ป่วยจะเสียชีวิตลงภายในไม่กี่นาทีในปี 2565 ที่ผ่านมา มูลนิธิรามาธิบดีฯ ได้ให้การช่วยเหลือผู้ป่วยที่จำเป็นต้องใส่ท่อค้ำหลอดลมแต่ขาดแคลนทุนทรัพย์กว่า 10 ราย แต่อย่างไรก็ตาม เชื่อว่ามีผู้ป่วยอีกจำนวนมากที่ต้องการเข้ารับการรักษาในการใส่ท่อค้ำหลอดลมเพื่อบรรเทาอาการทรมานจากเหนื่อยหอบแต่ไม่สามารถเข้าถึงบริการนี้ได้”

อีกหนึ่งกลุ่มโรคเรื้อรังที่มีจำนวนผู้ป่วยไทยเพิ่มมากขึ้นในทุกปีนั่นคือ โรคแพ้ภูมิตัวเอง ผศ.พญ.พิณทิพย์ งามจรรยาภรณ์ สาขาวิชาโรคภูมิแพ้อิมมูโนวิทยาและโรคข้อ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า “โรคแพ้ภูมิตัวเองคือโรคที่ร่างกายของผู้ป่วยมีการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันที่ผิดปกติและทำลายอวัยวะภายในร่างกายตนเอง สาเหตุของโรคมาจาก 2 ปัจจัยร่วม ได้แก่ 1) พันธุกรรมเสี่ยง และ 2) สิ่งแวดล้อมที่เป็นปัจจัยกระตุ้น เช่น พฤติกรรมการสูบบุหรี่ และการติดเชื้อของแบคทีเรียในช่องปาก เป็นต้น แต่กลุ่มโรคแพ้ภูมิตัวเองนั้นไม่ได้มีแค่โรคพุ่มพวง หรือ SLE (Systemic Lupus Erythematosus) อย่างที่คนส่วนใหญ่เข้าใจ เพราะกลุ่มโรคนี้ยังประกอบไปด้วยโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ (Rheumatoid Arthritis) โรคผิวหนังแข็ง (Scleroderma) และโรคหลอดเลือดอักเสบ (Vasculitis) โดยในแต่ละโรคนั้นผู้ป่วยจะมีช่วงอายุที่หลากหลาย โดยเฉพาะโรคพุ่มพวงที่เมื่อก่อนมักจะพบในกลุ่มผู้หญิงที่อายุน้อย แต่ปัจจุบันก็สามารถพบได้ในกลุ่มผู้ชายมากขึ้น ในระยะหลังมานี้อัตราการรอดชีวิตของผู้ป่วยกลุ่มโรคแพ้ภูมิตัวเองเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากการพัฒนาของเทคโนโลยีทางการแพทย์และแนวทางในการรักษาที่ทันสมัย อย่างไรก็ตาม การเข้าถึงการรักษายังถือว่าค่อนข้างจำกัด เนื่องจากจำนวนของแพทย์เฉพาะทางโรคแพ้ภูมิตัวเองยังมีไม่เพียงพอที่จะรองรับการรักษาของคนไทยทุกพื้นที่ทั่วประเทศ รวมถึงปัจจัยด้านค่าใช้จ่ายที่มีราคาสูง โดยเฉพาะกลุ่มผู้ป่วยที่ไม่ตอบสนองต่อยาที่อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ และจำเป็นต้องใช้สารชีวภาพ (Biologic Agents)”

ในมุมมองของ พรทิพย์ ผู้ประกอบอาชีพรับเหมาก่อสร้าง หนึ่งในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดอักเสบที่ได้รับการสนับสนุนด้านค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลจากมูลนิธิรามาธิบดีฯ กล่าวว่า “ในช่วงปี 2553 เริ่มมีอาการปวดตาข้างซ้ายจึงไปหาหมอที่โรงพยาบาลจังหวัดนครสวรรค์ แต่อาการดีขึ้นแค่ช่วงหนึ่งก็กลับมาปวดตาอย่างรุนแรง จึงถูกส่งตัวมารักษาต่อที่โรงพยาบาลรามาธิบดี คุณหมอวินิจฉัยว่าเป็นโรคหลอดเลือดอักเสบ ตอนนั้นมีก้อนเนื้อบริเวณหลังตาจึงต้องผ่าตัดเพื่อนำก้อนเนื้อและลูกตาออก หลังจากนั้นก็พบอาการผิดปกติที่หลายอวัยวะจึงทำให้ต้องรักษาอย่างต่อเนื่องที่โรงพยาบาลรามาธิบดีตลอด 10 ปี โดยได้เข้ารับการผ่าตัดมากกว่า 10 ครั้ง ช่วงที่ต้องนอนรักษาตัวที่โรงพยาบาลไม่มีรายได้เลย แต่โชคดีที่ได้รับเงินทุนช่วยเหลือจากมูลนิธิรามาธิบดีฯ ช่วยแบ่งเบาภาระค่ารักษาพยาบาลเกือบทั้งหมด ภายหลังการรักษารู้สึกเหมือนได้หลุดพ้นจากความทุกข์ทรมานของโรคร้าย แม้จะเหลือดวงตาขวาเพียงข้างเดียวแต่ก็ดีใจที่ยังมีชีวิต มีโอกาสได้ใช้เวลากับครอบครัวและหลานรัก ทุกวันนี้ยังคงเดินทางมาติดตามอาการที่โรงพยาบาลรามาฯ ขอขอบคุณคุณหมอและพยาบาลที่โรงพยาบาลรามาฯ ที่ให้ความช่วยเหลือและให้การรักษาอย่างเต็มที่ รวมถึงให้กำลังใจอย่างดีมาโดยตลอด ทำให้รู้สึกว่าไปโรงพยาบาลไหนก็ยังไม่ดีเท่าโรงพยาบาลรามาธิบดี”

มูลนิธิรามาธิบดีฯ มุ่งมั่นที่จะมอบโอกาสในการเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่ดีและมีประสิทธิภาพให้กับผู้ป่วยที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ภายใต้ “โครงการเพื่อผู้ป่วยยากไร้” เพื่อระดมเงินทุนสนับสนุนงบประมาณท่อค้ำหลอดลมให้แก่ผู้ป่วยโรคมะเร็งที่ไม่สามารถเบิกจ่ายได้ตามสิทธิการรักษา จำนวน 1,000,000 บาท และสนับสนุนงบประมาณในการช่วยเหลือผู้ป่วยโรคแพ้ภูมิตัวเอง จำนวน 2,000,000 บาท เพื่อต่อชีวิตให้กับผู้ป่วยที่ยังรอคอยความช่วยเหลือ และส่งเสริมคุณภาพชีวิตและสุขภาวะที่ดีของคนไทย ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของ “การให้” ที่ยิ่งใหญ่ ร่วมบริจาคกับมูลนิธิรามาธิบดีฯ

คำว่าให้...ไม่สิ้นสุด

###

 

Page 1 of 2
X

Right Click

No right click