November 22, 2024

ดร. สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2564 สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.) เข้าร่วมรับมอบรางวัลเลิศรัฐ ประจำปี 2564 ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดยมีรองนายกรัฐมนตรี นายวิษณุ เครืองาม เป็นประธานในพิธีมอบรางวัลดังกล่าว ทั้งนี้ สำนักงาน คปภ. ได้รับรางวัลบริการภาครัฐ ระดับดี ประเภทพัฒนาการบริการ จากผลงานประกันภัย เพื่อประชาชนภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ซึ่งเป็นรางวัลที่คณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) พิจารณามอบให้กับหน่วยงานของรัฐที่มีผลการพัฒนาคุณภาพการให้บริการเพื่อประชาชนได้รับบริการที่สะดวก รวดเร็ว โปร่งใส เป็นธรรม และเป็นที่พึงพอใจ  

เลขาธิการ คปภ. กล่าวเพิ่มเติมว่า รางวัลบริการภาครัฐที่สำนักงาน คปภ. ได้รับในครั้งนี้ ถือเป็นความภาคภูมิใจและเป็นกำลังใจให้กับบุคลากรของสำนักงาน คปภ. ที่ได้ทุ่มเททำงานให้บริการประชาชนอย่างเต็มกำลังความสามารถภายใต้สถานการณ์ การแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยสำนักงาน คปภ. ได้ผลักดันให้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยคุ้มครองโรคโควิด-19 และออกนโยบายให้ความเห็นชอบผลิตภัณฑ์ประกันภัยดังกล่าวด้วยกระบวนการแบบรวดเร็ว โดยรอบคอบ เพื่อช่วยให้ประชาชน มีเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงภัยจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นการเฉพาะอย่างทันสถานการณ์ด้วยเบี้ยประกันภัย ที่ไม่สูง รวมทั้ง ได้นำทีมภาคธุรกิจประกันภัยส่งมอบกรมธรรม์ประกันภัยเพื่อให้ความคุ้มครองแก่บุคลากรทางการแพทย์ ตลอดจนนำการประกันภัยนี้ไปต่อยอดเพื่อขยายการเข้าถึงประชาชนในวงกว้าง และยังจัดให้มีกระบวนการดูแลประชาชนอย่างครบวงจรเมื่อเกิดปัญหาไม่ได้รับความเป็นธรรมอีกด้วย ทั้งนี้ สำนักงาน คปภ. ยังคงมุ่งมั่นและให้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยเพื่อให้บริการประชาชนและคุ้มครองสิทธิประโยชน์ด้านประกันภัยของประชาชนอย่างต่อเนื่อง โดยการส่งเสริมให้ภาคอุตสาหกรรมประกันภัยนำกลยุทธ์น่านน้ำสีคราม “Blue Ocean Strategy” เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่ตอบสนองความต้องการและการมีส่วนร่วมของประชาชน รวมถึงนำนวัตกรรมบริการเชิงสร้างสรรค์เพื่อเพิ่มคุณค่าด้านการประกันภัยให้กับประชาชนได้ในทุกมิติของความเสี่ยงภัย ดังนี้ ในปีงบประมาณ 2564 สำนักงาน คปภ. ได้เริ่มใช้แผนพัฒนาการประกันภัย ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2564-2568) แผนยุทธศาสตร์ของสำนักงาน คปภ. ระยะ 3 ปี (พ.ศ. 2564-2566) แผนการปรับเปลี่ยนองค์กรเพื่อเตรียมความพร้อมสู่ SMART OIC แผนการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศ ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2564-2568) และแผนกลยุทธ์ด้านการบริหารทรัพยากรบุคคล ระยะ 3 ปี  เป็นปีแรก เพื่อรองรับกระแสการเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยีและการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ด้วยการพัฒนากระบวนการทำงานภายใน รวมถึงพัฒนาการสื่อสารทั้งภายในและภายนอก เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพด้านการบริหารจัดการ

“รางวัลที่สำนักงาน คปภ. ได้รับในครั้งนี้ แสดงถึงความสำเร็จในระดับหน่วยงานที่พัฒนาคุณภาพการให้บริการ มีระบบการบริหารงานและการบริหารจัดการภายในองค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน ซึ่งต้องขอขอบคุณด้านกำกับ โดยเฉพาะทีมงานจากสายกำกับผลิตภัณฑ์ประกันภัยและผู้ที่เกี่ยวข้องทุกท่าน ที่เป็นกำลังสำคัญทำให้สำนักงาน คปภ. สามารถคว้ารางวัลอันทรงเกียรตินี้ได้ โดยสำนักงาน คปภ. จะมุ่งมั่นทำงานและปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ จะยึดประชาชนเป็นศูนย์กลางในการให้บริการ รวมทั้งจะส่งเสริมและผลักดันให้ระบบประกันภัยมีส่วนร่วมในการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชนทุกระดับ เพื่อช่วยพัฒนาสังคมและประเทศชาติให้เจริญรุ่งเรืองยิ่งขึ้นต่อไป” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย

ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) ได้มอบหมายให้ นายชูฉัตร ประมูลผล รองเลขาธิการ ด้านกำกับ สำนักงาน คปภ. พร้อมนางสาวอายุศรี คำบรรลือ ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ฝ่ายคุ้มครองสิทธิประโยชน์ เป็นผู้แทนเข้ารับรางวัลเลิศรัฐ สาขาบริการภาครัฐ ประจำปี พ.ศ. 2562 ประเภทพัฒนาการบริการ จากนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ในงานสัมมนาวิชาการและมอบรางวัลเลิศรัฐ ประจำปี 2562 “Shift to the future : ภาครัฐปรับ อนาคตเปลี่ยน” ณ ห้องรอยัล จูบิลี่ บอลรูม อิมแพค เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี

 

รองเลขาธิการ คปภ. เปิดเผยว่า การยกระดับมาตรฐานการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ประชาชนด้านการประกันภัย เป็นนโยบายที่ท่านเลขาธิการ คปภ. ได้ให้ความสำคัญและพัฒนาอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด ประกอบกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ได้จัดให้มีการตรวจประเมินหน่วยงานของรัฐที่มีผลงานการพัฒนาประสิทธิภาพการปฏิบัติราชการ และการให้บริการประชาชนได้อย่างโดดเด่น เพื่อเข้ารับการพิจารณามอบรางวัลเลิศรัฐ สาขาบริการภาครัฐ ประจำปี พ.ศ. 2562

โดยได้ส่งผลงานในความรับผิดชอบของสายคุ้มครองสิทธิประโยชน์ และสำนักนายทะเบียนคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำนวน 4 ผลงาน ประกอบด้วย

  • ผลงานการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชนด้านการประกันภัย สมัครประเภทบริการที่เป็นเลิศ
  • ผลงานการรายงานอุบัติภัยกลุ่มหรือรายใหญ่ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์เกี่ยวกับการประกันภัย สมัครประเภทนวัตกรรมการบริการ 
  • ผลงานงานไกล่เกลี่ยข้อพิพาทด้านการประกันภัย สมัครประเภทพัฒนาการบริการ 
  • ผลงานการจ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 สมัครประเภทพัฒนาการบริการ

สำหรับปีนี้เป็นปีแรกที่สำนักงาน คปภ. ร่วมส่งผลงาน และเป็นปีที่มีหน่วยงานภาครัฐส่งผลงานเข้ารับการพิจารณาเป็นจำนวนมากกว่าทุกปี โดยมีคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิร่วมพิจารณาคัดเลือกตามหลักเกณฑ์การพิจารณารางวัลเลิศรัฐอย่างเข้มข้น โดยสำนักงาน คปภ. สามารถคว้ารางวัลบริการภาครัฐ ระดับดี ประเภทพัฒนาการบริการ ผลงานงานไกล่เกลี่ยข้อพิพาทด้านการประกันภัยมาได้

ด้าน ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ คปภ. ในฐานะเป็นผู้บุกเบิกและจัดตั้งศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทด้านการประกันภัย เป็นครั้งแรกในประเทศไทย กล่าวว่า  ปัจจุบันศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทด้านการประกันภัย (Insurance Mediation Center : IMC) ดำเนินงานมาเป็นระยะเวลา 3 ปีกว่าแล้ว นับตั้งแต่วันที่ 28 เมษายน 2559 มีเรื่องร้องเรียนเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ทั้งสิ้น 839 เรื่อง สามารถดำเนินการไกล่เกลี่ยยุติได้จำนวน 675 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 80.45 และคาดว่าอนาคตจะมีจำนวนเรื่องร้องเรียนที่เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทด้านการประกันภัยเพิ่มขึ้น

ดังนั้น เพื่อให้บริการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ประชาชนด้านการประกันภัยมีประสิทธิภาพและเข้าถึงประชาชนผู้เอาประกันภัยได้มากขึ้น จึงได้ขยายศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทด้านการประกันภัยไปยังสำนักงาน คปภ. ภาค ทั้ง 9 ภาค และ สำนักงาน คปภ. จังหวัด 69 จังหวัด ทั่วประเทศ นอกจากนี้ ได้จัดทำ “คู่มือการพัฒนาเพื่อป้องกันและแก้ไขข้อพิพาทด้านการประกันภัย” และ “คู่มือนักเจรจาไกล่เกลี่ย” เพื่อเป็นคู่มือแนวทางปฏิบัติสำหรับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน

 

“สำหรับรางวัลเลิศรัฐ เป็นรางวัลอันทรงเกียรติที่มอบให้กับหน่วยงานของรัฐที่มีผลการพัฒนาคุณภาพการให้บริการประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วยการนำนวัตกรรมมาปรับใช้ในการดำเนินงาน  ดังนั้น การที่สำนักงาน คปภ. ได้รับรางวัลเลิศรัฐ จึงถือเป็นความสำเร็จในระดับหน่วยงานในด้านการพัฒนาการบริการ ซึ่งจะสร้างขวัญกำลังใจในการปฏิบัติงาน และจุดประกายให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมด้านอื่นๆ ให้ดียิ่งขึ้น ทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ รวมถึงการปรับระบบการทำงานไปสู่ความเป็นดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ ให้ประชาชนได้รับบริการที่สะดวก รวดเร็ว โปร่งใส เป็นธรรม และเป็นที่พึงพอใจ เพื่อก้าวไปเป็นต้นแบบที่ดีมีความเป็นเลิศ โดยยึดประชาชนเป็นศูนย์กลางในการให้บริการ สามารถเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อน ส่งเสริม ผลักดัน ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนมุ่งพัฒนาระบบการให้บริการ ให้มีประสิทธิภาพ  ซึ่งจะก่อให้เกิดการพัฒนาสังคมและประเทศชาติให้เจริญรุ่งเรืองยิ่งขึ้นต่อไป” เลขาธิการ คปภ. กล่าว ในตอนท้าย

X

Right Click

No right click