January 22, 2025

องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย และมารีญา พูลเลิศลาภ ทูตองค์กรฯ ผนึกกำลังเครือข่าย มูลนิธิชีววิถี (BioThai Foundation) และสภาลมหายใจเชียงใหม่ จัดงานเสวนาเพื่อสร้างความตระหนักและหาทางแก้วิกฤตควันพิษจากข้าวโพดอาหารสัตว์ร่วมกัน เนื่องในโอกาสวันสิ่งแวดล้อมโลก พร้อมทั้งฉายภาพยนตร์ และจัดนิทรรศการ ผลกระทบต่อคน สัตว์ และสิ่งแวดล้อมจากธุรกิจอาหารสัตว์ พร้อมเผยข้อมูลผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่น่าตกใจ ซึ่งเป็นต้นตอของหมอกควันพิษ PM 2.5 ที่เป็นปัญหาเรื้อรังระดับประเทศในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

ประเทศไทย มีการใช้พื้นที่กว่า 7 ล้านไร่ เพื่อปลูกข้าวโพด โดยร้อยละ 95 เป็นข้าวโพดเพื่อทำอาหารสัตว์ พื้นที่ปลูกข้าวโพดส่วนใหญ่อยู่บริเวณเชิงเขาและลาดชัน ดังนั้นการเผาจึงเป็นวิธีการที่ถูกนำมาใช้เพื่อกำจัดเศษวัชพืชหลังการเก็บเกี่ยว ซึ่งเป็นอีกหนึ่งสาเหตุสำคัญของมลพิษทางอากาศ หรือฝุ่น PM 2.5 ที่สร้างผลกระทบต่อคนไทยอย่างรุนแรงและหลีกเลี่ยงไม่ได้ นอกจากนั้นการปลูกข้าวโพดอาหารสัตว์ยังพบว่ามีการปลูกในพื้นที่ป่า ซึ่งทำให้เกิดการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ การทำลายพื้นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า รวมถึงการเร่งให้เกิดภาวะโลกรวน

“เราได้ย้ำเสมอว่าอุตสาหกรรมการผลิตเนื้อสัตว์ ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อทั้งคน สัตว์ และสิ่งแวดล้อม ฝุ่น PM 2.5 เป็นอีกหนึ่งหลักฐานที่ทำให้เราเห็นแล้วว่า อุตสาหกรรมนี้สร้างผลกระทบต่อสุขภาพและชีวิตของเราอย่างไร เราได้ทำงานสืบสวนในระดับพื้นที่ ซึ่งพบว่ายังมีช่องว่างของนโยบายในการตรวจสอบแหล่งที่มาของข้าวโพด ที่ยังมีการปลูกในพื้นที่ป่า และเกี่ยวข้องกับการเผา ตลอดจนการใช้สารเคมีอันตรายในขั้นตอนการปลูก ที่ส่งผลต่อสุขภาพของเกษตรกรและชุมชนแวดล้อม รวมถึงการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพที่เป็นพื้นที่สำหรับสัตว์ป่าหลายชนิด” โชคดี สมิทธิ์กิตติผล ผู้จัดการแคมเปญระบบอาหาร องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย กล่าว

วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี กล่าวเสริมว่า “ถ้าเราลงไปค้นดูถึงเบื้องหลังของปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 นี้ ก็จะพบว่าเกิดจากความต้องการอาหารสัตว์ที่เพิ่มขึ้นในประเทศไทย และความทะเยอทะยานของอุตสาหกรรมอาหารสัตว์เพื่อไปป้อนโลก ทำให้เกิดการขยายพื้นที่ปลูกข้าวโพดในประเทศไทย และอนุภูมิภาคกลุ่มแม่น้ำโขง พื้นที่ปลูกข้าวโพดในไทยขยายตัวเต็มที่อยู่คงที่ประมาณ 7 ล้านไร่ แต่ปัจจุบันพื้นที่ปลูกข้าวโพดในเมียนมาขยายตัวอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะในเขตรัฐฉานที่ติดกับชายแดนไทย ซึ่งเป็นแหล่งขนส่งข้าวโพดมายังประเทศไทย ดังนั้นฉากจบของเรื่องนี้ ขึ้นอยู่กับว่าใครเป็นคนเขียนบท ถ้าเราเป็นเพียงผู้ดู เราก็จะรอว่า พ.ร.บ. อากาศสะอาดจะประกาศใช้ไหม และจะรวมประเด็นเรื่องการจัดการบริษัทอาหารสัตว์ การเผาข้ามพรมแดนหรือไม่ ซึ่งที่จริงแล้วพวกเราล้วนเป็นคนเขียนบท และเล่นด้วยในภาพยนตร์นี้”

“มลพิษฝุ่นควันเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง มีความซับซ้อน ภายใต้สังคมเหลื่อมล้ำและมีผลประโยชน์ทับซ้อนพรบ.อากาศสะอาดต้องแก้ปัญหาได้จริง ไม่เป็นแค่เสือกระดาษ” ชัชวาลย์ ทองดีเลิศ ประธานสภาลมหายใจเชียงใหม่

ความต้องการบริโภคเนื้อสัตว์ทั่วโลกเพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 58 ในระยะ 20 ปีที่ผ่านมา และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ การประกาศนโยบายของรัฐบาลล่าสุดเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ที่หนุนไทยเป็นผู้นำโลกในการผลิตและส่งออกอาหารสัตว์เพื่อรองรับตลาดโลก เพิ่มมูลค่าถึง 3 แสนล้านบาท ก็สอดคล้องกับการขยายตัวของอุตสาหกรรมเลี้ยงสัตว์ฟาร์มที่กำลังเติบโตขึ้น ทั้งนี้ในแต่ละปี มีสัตว์ฟาร์มทั่วโลกกว่า 80,000 ล้านตัว (ไม่นับรวมสัตว์น้ำ เช่น ปลา หรือ กุ้ง) และ 2 ใน 3 ของสัตว์ฟาร์มเหล่านี้ อยู่ในระบบฟาร์มอุตสาหกรรม เราต้องใช้พื้นที่เพาะปลูกข้าวโพดมากมายมหาศาลขนาดไหน จึงจะเพียงพอต่อการป้อนสู่ระบบฟาร์มอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นต้นตอของปัญหาหลายอย่างที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสัตว์ที่มีชีวิตทุกข์ทรมาน มีสภาพความเป็นอยู่ที่ย่ำแย่ แออัดอยู่ในฟาร์ม การใช้ยาปฏิชีวนะจำนวนมหาศาล ตลอดจนผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย ซึ่งทั้งหมดล้วนเชื่อมต่อกันเป็นลูกโซ่

องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก เรียกร้องให้ภาครัฐต้องดำเนินการอย่างเข้มข้น ในการกำกับดูแล ตรวจสอบ นโยบายที่เกี่ยวข้องกับการผลิตอาหารสัตว์ของภาคเอกชน ตลอดจนมีนโยบายในการส่งเสริมระบบอาหารที่เป็นธรรมและเป็นมิตรต่อคน สัตว์ สิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน อีกทั้งเร่งให้บริษัทผลิตอาหารสัตว์มีนโยบายการจัดซื้อวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่ไม่ได้มาจากการรุกล้ำพื้นที่ป่า ปลอดการเผา และต้องมีการเปิดเผยข้อมูลสู่สาธารณะอย่างโปร่งใส

นอกจากนี้ ถึงเวลาแล้วที่ผู้บริโภคจะลดการบริโภคเนื้อสัตว์ลง หันมาบริโภคโปรตีนทางเลือกเพิ่มมากขึ้น (โดยเฉพาะจากพืช) และเลือกบริโภคเนื้อสัตว์จากแหล่งที่มาที่ดีและที่ตรวจสอบได้ โดย เลือกซื้อเนื้อสัตว์จากฟาร์มรายย่อยที่มีความยั่งยืน ที่ส่งเสริมสวัสดิภาพของสัตว์ สิ่งนี้จะสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ได้ และทางองค์กรฯ ขอชวนประชาชนให้ร่วมติดตามเรื่องนี้อย่างต่อเนื่องได้ที่ Facebook: องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก และร่วมส่งเสียงเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรมได้ที่ https://www.worldanimalprotection.or.th/our-work/Global-Food-System/no-future-for-factory-farming/farm-animal-feed/

X

Right Click

No right click