September 19, 2024

สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) หรือ สศท.  จัดกิจกรรม SACIT Craft Power 2025 :  Symposium โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติ ซึ่งอยู่ในวงการศิลปหัตถกรรม และการออกแบบระดับโลก  เพื่อถ่ายทอดทิศทางหรือแนวโน้มงานศิลปหัตถกรรมไทยและองค์ความรู้เกี่ยวกับงานศิลปหัตถกรรม และการพัฒนางานคราฟต์เชิงพาณิชย์ ร่วมผลักดันงานคราฟต์ของไทยให้ก้าวไกลไปสู่ตลาดโลก

นางพรรณวิลาส แพพ่วง รักษาการแทนผู้อำนวยการ สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) หรือ สศท. เปิดเผยว่า การกำหนดทิศทางหรือแนวโน้มงานศิลปหัตถกรรมไทยให้ชัดเจน ถือเป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนาอย่างครอบคลุมตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ ดังนั้น สศท. จึงได้จัดกิจกรรม SACIT Craft Power 2025 :  Symposium  ซึ่งในครั้งนี้ ได้เชิญผู้เชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ ทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติ จากหลากหลายวงการ มาร่วมถ่ายทอดความรู้ แลกเปลี่ยนแนวคิด และมุมมอง เกี่ยวกับงานศิลปหัตถกรรม และการพัฒนางานคราฟต์เชิงพาณิชย์ กลยุทธ์ทางการตลาดทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงเทรนด์วิถีชีวิตของคนปัจจุบัน

โดย Speaker มาร่วมให้ความรู้ใน 3 หัวข้อหลัก ซึ่งล้วนเป็นหัวข้อที่น่าสนใจและเป็นประโยชน์ เพื่อให้ผู้ร่วมงานได้เข้าใจถึง SACIT Craft Power 2025  อย่างชัดเจนได้แก่

1. “ศิลปหัตถกรรมไทย สู่สากล” จากรากเหง้าสู่สากล พัฒนางานศิลปหัตถกรรมสู่เวทีระดับโลก Speaker โดย คุณศรัณญ อยู่คงดี ผู้ก่อตั้ง ‘SARRAN’ แบรนด์เครื่องประดับที่นำเสน่ห์หญิงไทยโบราณได้อย่างเฉียบคม รวมทั้งยังได้รับรางวัลนักออกแบบแห่งปี สาขา Jewelry Design ปี 2021 และรางวัล Craft Design Award จาก World Crafts Council แห่ง UNESCO และ Mr. Jean Charles Chappuis ที่ปรึกษาประธานกรรมการบริษัท Currey & Company ผู้นำเข้างานศิลปะ และของแต่งบ้านจากเอเชียสู่ตลาดยุโรป

2. “ถอดรหัสศิลปหัตถกรรม สู่งานศิลปะร่วมสมัย” การค้นหาอัตลักษณ์แห่งชนชาติ ต่อยอดสู่ศิลปหัตถกรรมร่วมสมัย Speaker โดย คุณนักรบ มูลมานัส ซึ่งเป็นศิลปิน นักสร้างสรรค์ด้านภาพ ที่ทำงานโดยใช้สื่อตัดแปะเป็นหลัก โดยการนำชิ้นส่วนประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมภาพในท้องถิ่น และความแปลกใหม่มาวางเคียงกัน เป็นการผสมผสานกับสุนทรียศาสตร์ร่วมสมัย ซึ่งได้รับรางวัลจาก Cité Internationale des Arts ในปารีส และเป็นหนึ่งในศิลปินของ Bangkok Art Biennale และ Mr. Haoyang Sun ทูตศิลปะและการออกแบบระดับนานาชาติ, ภัณฑารักษ์โครงการเครื่องประดับระดับนานาชาติ

3. “โลกตื่นตัวเรื่อง Sustainability ไทยตื่นตัวเรื่อง Soft Power” ซึ่งจะเป็นการขับเคลื่อนศิลปหัตถกรรมด้วยพลังแห่งความยั่งยืน Speaker โดย รศ.ดร. สิงห์ อินทรชูโต อาจารย์ทางด้านนวัตกรรมอาคาร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และผู้อำนวยการศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบด้านสิ่งแวดล้อม (Eco-Design) และ Mr. Martin Venzky-Stalling ที่ปรึกษาอาวุโส อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และเป็นผู้เปิดช่องทางการสั่งซื้องานหัตถกรรมภาคเหนืออย่าง salah made ช่วยก่อตั้งรางวัล CDA (Creative Design Awards) สำหรับงานดีไซน์ภาคเหนือ

ซึ่งเป้าหมายในครั้งนี้ สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) หรือ สศท. ตระหนักถึงกลไกแห่งการขับเคลื่อนศิลปหัตถกรรมไทยให้เกิดความยั่งยืน สนับสนุนกลยุทธ์และระบบการบริหารจัดการที่สร้างสรรค์ อันประกอบด้วย กลไกการค้นหา กลไกการรักษา และกลไกการพัฒนา เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจ ตอบรับกระแสตลาดไทยและตลาดโลก ต่อยอดองค์ความรู้ในมุมใหม่ๆของวงการหัตถศิลป์ไทย ผลักดันงานศิลปหัตถกรรมให้เป็นกลไกสําคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม อย่างสร้างสรรค์และยั่งยืน

ผู้สนใจงานในด้านศิลปหัตถกรรมไทย และแนวโน้มงานหัตถกรรมโลก ติดตามข้อมูลได้ผ่านทางหนังสือ SACIT Craft Power Book 2025 ในรูปแบบ E-book ได้ที่ https://www.sacit.or.th/th/detail/2024-06-20-16-40-45 หรือติดต่อขอรับหนังสือได้ที่ ฝ่ายพัฒนาผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรม สำนักวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรม สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) หรือ สศท. โทร. 0-3536-7054-9 ต่อ 1712

SACIT ระดมสมอง 9 กูรูผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปหัตถกรรม จัดทำ SACIT Craft Power Book 2025 เพื่อเป็นแนวทางการพัฒนาศิลปหัตถกรรมไทย พร้อมผลักดัน 8 ด้าน ยกระดับศิลปหัตถกรรมไทยให้ก้าวไกลไปในตลาดโลก และยังเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยผลักดัน soft power ของไทยให้ยกระดับสู่มาตรฐานสากล

นางพรรณวิลาส แพพ่วง รักษาการแทน ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) หรือ SACIT เปิดเผยว่า จากการที่ได้จัดงาน “SACIT Craft Power : แนวโน้มศิลปหัตถกรรมร่วมสมัย” โดยได้ระดมความคิดเห็นจากกูรูผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปหัตถกรรมในทุกด้าน รวม 9 ท่าน มาระดมสมองวิเคราะห์ถึงทิศทางแนวโน้มความต้องการของตลาดสินค้าศิลปหัตถกรรมในอนาคต และจัดทำ SACIT  Craft Power Book 2025 ให้เป็นคัมภีร์สำหรับผู้ประกอบการไทยในการพัฒนาสินค้าศิลปหัตถกรรมให้ตรงกับความต้องการของตลาดโลก

ทั้งนี้ การกำหนดทิศทางหรือแนวโน้มงานศิลปหัตถกรรมไทยให้ชัดเจน ถือเป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนาอย่างครอบคลุมตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ กระบวนการผลิตงานหัตถกรรม กลยุทธ์ทางการตลาดและจัดจำหน่ายสินค้า รวมถึงสร้างการรับรู้ของผู้บริโภค ที่ต้องอาศัยการวางแผนและสนับสนุนจากทุกภาคส่วนอย่างเป็นเอกภาพและเป็นรูปธรรมในระยะยาว “SACIT จะนำข้อมูลที่ได้ไปถ่ายทอดให้กับผู้ประกอบกิจการศิลปหัตถกรรมไทยทั่วประเทศ ใช้เป็นแนวทางนำไปปรับปรุงสินค้า เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคทุกกลุ่มในอนาคต ซึ่งความรู้ที่ได้นี้จะเป็นส่วนสำคัญในการเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน และต่อยอดศิลปหัตถกรรมไทยให้โดดเด่นในเวทีโลก” นางพรรณวิลาส กล่าว

จากข้อสรุปของการจัดทำ  SACIT Craft Power Book 2025  ได้แบ่งแนวทางที่สำคัญออกเป็น 8 ด้าน คือ 1. เผยแพร่องค์ความรู้จากผู้ผลิตงานศิลปหัตถกรรม เช่น นักวิชาการ รวบรวมความรู้จากครูช่าง แล้วนำมาถ่ายทอดผ่านช่องทางออนไลน์ และออฟไลน์ รวมถึงถ่ายทอดทักษะที่หายไปให้ช่างหรือคนรุ่นใหม่ได้พัฒนาฝีมือเพื่อดำเนินธุรกิจนั้นๆ อย่างยั่งยืน 2. เลือกใช้ภาพลักษณ์ที่เข้าใจง่ายมาเป็นตัวแทนในการสื่อสารกับลูกค้ากลุ่มคนรุ่นใหม่ และชาวต่างชาติ 3. ส่งเสริมคุณค่าในงานศิลปหัตถกรรมเพื่อให้เกิดเป็นของที่มีมูลค่า 4. สร้างวัฒนธรรมการส่งต่อสินค้าศิลปหัตถกรรมที่มีคุณค่าทางจิตใจจากรุ่นสู่รุ่น 5. สนับสนุนให้เกิดความร่วมมือในทางการผลิต เพื่อแบ่งปันองค์ความรู้เรื่องวัสดุไปจนถึงกระบวนการ และแลกเปลี่ยนความเห็น ระหว่างผู้ซื้อกับผู้ผลิตเพื่อสร้างสรรค์สินค้าให้ตรงตามความต้องการของตลาด 6. เน้นการสร้างสังคมผู้รักงานศิลปหัตถกรรม โดยปัจจุบัน SACIT มีการจัดประชุมเครือข่ายสมาชิกผู้ประกอบการจากภูมิภาคต่างๆ ให้เกิดกิจกรรมการแบ่งปันองค์ความรู้และศักยภาพของการผลิตสินค้า 7. จัดกิจกรรมสร้างประสบการณ์ในกลุ่มนักท่องเที่ยวที่เข้าไปในพื้นที่ ชุมชน ให้ทดลองลงมือทำางานศิลปหัตถกรรมด้วยตนเอง เพื่อให้เข้าใจกระบวนการผลิตจนเกิดเป็นความประทับใจจนตัดสินใจซื้อสินค้า และท้ายที่สุดเกิดการส่งต่อเรื่องราวสู่สังคมภายนอก 8. ส่งเสริมให้ผู้ผลิตเป็นผู้สร้าง – ผู้ใช้ และเป็นตัวแทนแฟชั่น โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าที่มีการออกแบบรูปลักษณ์ใหม่ให้ทันสมัยผสานกับวิธีการผลิตแบบเดิม จะช่วยผลักดันให้งานศิลปหัตถกรรมเป็นที่ยอมรับว่าใช้ในชีวิตประจำวันได้จริง และเข้าถึงทุกคนได้

ทั้งนี้ เพื่อถ่ายทอดข้อมูลความรู้ที่ได้จากการจัดทำ SACIT Craft Power Book 2025 ในครั้งนี้ SACIT ได้สร้างแพลตฟอร์มการเรียนรู้กระบวนการผลิตงานศิลปหัตถกรรมที่ต้องใช้ความประณีตและความทุ่มเท ตั้งแต่กระบวนการคิดไปจนถึงการสร้างสรรค์ ผ่านเรื่องราวเบื้องหลังการทำงานของครูศิลป์ของแผ่นดิน ครูช่างศิลปหัตถกรรม ทายาทช่างศิลปหัตถกรรม และผู้ประกอบการงานศิลปหัตถกรรมไทย เพื่อสร้างความภาคภูมิใจและความรู้สึกหวงแหนในภูมิปัญญาที่คนรุ่นก่อนได้สั่งสมมา นอกจากนี้ยังส่งเสริมให้เกิดกลุ่ม เครือข่ายหรือศูนย์กลางงานหัตถกรรมที่รวมกลุ่มช่างฝีมือไว้ด้วยกัน เพื่อให้เกิด การแลกเปลี่ยนและแบ่งปันองค์ความรู้ ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาที่ไม่หยุดนิ่ง ไม่เลือนหายตามกาลเวลา และเกิดความสัมพันธ์ของแวดวงช่างฝีมือ

โดย การจัดทำ SACIT Craft Power Book 2025 ยังเป็นส่วนหนึ่งของแผนปฏิบัติการระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2566 - 2570) มีพันธกิจที่เกี่ยวเนื่อง คือ การสร้างและถ่ายทอดองค์ความรู้ บริหารจัดการวัฒนธรรม รวมถึงจัดทำฐานข้อมูล เกี่ยวกับครูศิลปหัตถกรรมไทย ผู้ประกอบการ บุคลากร และข้อมูลอื่นที่เกี่ยวข้องกับศิลปหัตถกรรมไทย โดยมีเป้าหมายให้จำนวนผู้ประกอบการได้รับการพัฒนายกระดับศักยภาพในการผลิต รวมถึงสร้างโอกาสทางการตลาด โดยองค์ความรู้เหล่านี้ จะเป็นส่วนสำคัญในการผลักดันศิลปหัตถกรรมไทยให้ก้าวไกลไปสู่ตลาดโลก และเป็นเครื่องมือในการถ่ายทอด soft power ที่มีอิทธิพลในระดับสากลอีกด้วย

สำหรับผู้ที่สนใจเนื้อหาแนวโน้มงานหัตถกรรมฉบับสมบูรณ์ ติดต่อขอรับหนังสือได้ที่ SACIT Craft Power Book 2025 ได้ที่ สายงานพัฒนาผลิตภัณฑ์และศักยภาพ โทร. 0-3536-7054-9 ต่อ 1385 หรืออ่านในรูปแบบ E-book ได้ที่ https://www.sacit.or.th/th/detail/2024-06-20-16-40-45 

X

Right Click

No right click