December 22, 2024

 บริษัท สิงห์ เอสเตท จำกัด (มหาชน) หรือ S โดยคุณปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา ประธานกรรมการ และคุณฐิติมา รุ่งขวัญศิริโรจน์ กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร พร้อมด้วยคณะกรรมการ จัดประชุมผู้ถือหุ้นประจำปี 2567 รายงานผลการดำเนินงานในปี 2566 พร้อมเผยแผนการดำเนินงานและกลยุทธ์ปี 2567 เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายในการสร้าง New All-Time High ในด้านรายได้และกำไรในทุกพอร์ตธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ผ่านปรัชญา “Go Beyond Dreams”

คุณฐิติมา รุ่งขวัญศิริโรจน์ กรรมการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สิงห์ เอสเตท จำกัด (มหาชน) เปิดเผยหลังการประชุมว่า ในปี 2566 ที่ผ่านมา สิงห์ เอสเตท กวาดรายได้รวมเติบโตขึ้นถึง 17% เป็นจำนวน 14,675 ล้านบาท คิดเป็นผลกำไร 240 ล้านบาท ด้วยปัจจัยดังกล่าวที่ประชุมจึงอนุมัติจ่ายปันผลในอัตราหุ้นละ 0.015 บาท โดยคิดเป็นอัตราการจ่ายปันผล 45.12% ของกำไรสุทธิหลังการปรับปรุงรายการ และมีกำหนดจ่ายเงินปันผลในวันที่ 15 พฤษภาคม 2567

 

 

 

โดยในช่วงไตรมาส 4 ของปี 2566 สิงห์ เอสเตท มีสัญญาณการเติบโตของธุรกิจที่ชัดเจน และต่อเนื่องมาจนถึงช่วงต้นปี 2567 จากผลตอบรับที่ดีจากตลาด ผนวกกับความสำเร็จจากการดำเนินการตามแผนพัฒนาที่สร้างไว้ในปี 2566 ทำให้ธุรกิจเติบโตอย่างแข็งแกร่ง ทำรายได้รวมสูงสุดในประวัติการณ์ ตามเป้าหมายพร้อม New All-Time High ที่ตั้งไว้ได้สำเร็จ

ทั้งนี้ ในปี 2567 สิงห์ เอสเตท ยังเดินหน้าเพิ่มศักยภาพในการสร้างผลกำไร ผ่านการขยายพอร์ตโฟลิโอ เพื่อยกประสิทธิภาพการสร้างรายได้และการทำกำไร ภายใต้ปรัชญา Go Beyond Dreams ที่ใช้ 3 แนวทางสนับสนุนในการขับเคลื่อนการเติบโตครั้งนี้ ได้แก่ 1) Go Expertise การสร้างซินเนอร์จีจากความชำนาญของทีมระหว่าง 4 กลุ่มธุรกิจ โดยดึงเอาจุดแข็งและความชำนาญที่แตกต่างและโดดเด่นของแต่ละธุรกิจเพื่อเกื้อหนุนกันและกัน 2) Go Elixir การผนึกกำลังกับพันธมิตรใหม่ เพื่อขยายโอกาสทางธุรกิจและการลงทุน 3) Go Exceed, Go Exist ความมุ่งมั่นในการพัฒนาอย่างยั่งยืน สู่การเป็นองค์กร Carbon Neutrality ของสิงห์ เอสเตท ในปี 2573 เพื่อสร้างความสมดุลของธุรกิจทั้งกับชุมชน สังคมและสิ่งแวดล้อม โดยมีกลยุทธ์สำคัญในแต่ละธุรกิจ ได้แก่

1. กลุ่มธุรกิจที่พักอาศัย ยังคงยึดหลักการ Best in Class พร้อมเปิดตัวโครงการที่พักอาศัยคุณภาพในปี 2567 มูลค่ารวม 10,000 ล้านบาท อาทิ โครงการแบรนด์สริน (S’RIN) แห่งที่สอง เพื่อต่อยอดกระแสตอบรับและความต้องการที่ดีของลูกค้า โดยคาดว่าจะพร้อมรับรู้รายได้ในช่วงปลายปี 2567 และโครงการเอ็กซ์คลูซีฟ เรสซิเดนท์ ภายใต้แบรนด์สมิทธ์ (SMYTH’S) เพื่อตอบรับ Real Demand ที่เติบโต ในกลุ่มที่พักอาศัยระดับบน ที่มีจำนวนยูนิตไม่มาก เน้นความเป็นส่วนตัว ทำเลใกล้เมืองและพื้นที่เมืองชั้นใน รวมถึงการเข้าซื้อที่ดินเพื่อพัฒนาโครงการใหม่ ๆ และการเปิดโอกาสเข้าร่วมลงทุนกับพันธมิตรทางธุรกิจเพื่อเร่งการเติบโตอย่างต่อเนื่อง

2. กลุ่มธุรกิจโรงแรมภายใต้การบริหารงานของ SHR มุ่งเน้นการลงทุนโรงแรมที่เป็นสินทรัพย์คุณภาพ เพื่อสร้างศักยภาพในการแข่งขันและการเติบโตของรายได้ในระยะยาว โดยยกระดับประสบการณ์ท่องเที่ยวและบริการให้กับลูกค้า เช่นการปรับปรุงห้องพัก ทั้งนี้ในไตรมาส 1 ปี 2567 ที่ผ่านมา ห้องพักที่ได้รับการปรับปรุงแล้ว สามารถ command ADR ได้สูงขึ้น 20 – 30% โดยในปี 2567 – 2568 จะเดินหน้าปรับปรุงโรงแรมศักยภาพในประเทศไทย และสหราชอาณาจักร ต่อเนื่องจากส่วนแรกที่ทำการปรับปรุงในปี 2566 รวมถึงการยกระดับและนำเสนอ Brand Concept ใหม่ให้ตอบโจทย์ความต้องการและเทรนด์การท่องเที่ยวในระดับสากล ในขณะที่การหมุนเวียนสินทรัพย์ (Asset Rotation) ยังเป็นปัจจัยหนึ่งในการเสริมความแข็งแกร่งด้านผลประกอบการ พร้อมมองหาโอกาสในการควบรวมกิจการเพื่อสร้างการเติบโตให้แก่พอร์ตโฟลิโอของบริษัทฯ

3. กลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และกลุ่มธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมและโครงสร้างพื้นฐาน เน้นเจาะลูกค้ากลุ่มธุรกิจที่มีศักยภาพในการเติบโต และใช้ช่องทางการขายที่หลากหลายและเหมาะสมต่อแต่ละสภาวการณ์ ซึ่งจะช่วยผลักดันผลประกอบการธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อการค้า และธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมให้เติบโตต่อเนื่องได้

“จากแนวทางกลยุทธ์ดังกล่าว เชื่อมั่นได้ว่า สิงห์ เอสเตท จะขับเคลื่อนผลการดำเนินงานให้เติบโตขึ้น ผ่านการส่งมอบสินค้าและบริการที่เป็นเลิศ เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตของลูกค้าไปพร้อมกับพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืน ภายใต้วิสัยทัศน์มุ่งมั่นสร้างคุณค่าและการเติบโตอย่างยั่งยืน (Entrusted And Value Enricher) และปรัชญา ‘Go Beyond Dreams’ โดยเชื่อมั่นที่จะบรรลุเป้าหมายรายได้รวมของบริษัทให้เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง และในปี 2567 ตั้งเป้ารายได้โต 20% อยู่ที่ 1.8 หมื่นล้านบาท ” คุณฐิติมา กล่าวเสริม

ดร. นริศ ชัยสูตร (ที่ 4 จากขวา) ประธานกรรมการบริษัท บริษัท ฟังก์ชั่น อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ FTI พร้อมด้วยคณะกรรมการบริษัท ฯ เข้าร่วมการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2567 ในรูปแบบการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (e-AGM) โดยที่ประชุมผู้ถือหุ้น มีมติอนุมัติทุกวาระการประชุม รวมถึงวาระการพิจารณาการจ่ายปันผลเป็นเงินสดในอัตราหุ้นละ 0.04 บาทต่อหุ้น จากที่ได้มีการจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลไปแล้วในอัตรา 0.03 บาทต่อหุ้น รวมเป็นการจ่ายเงินปันผลประจำปี 2566 ทั้งสิ้น 0.07 บาทต่อหุ้น โดยกำหนดรายชื่อผู้ถือหุ้นที่มีสิทธิได้รับเงินปันผล (Record Date) 12 มีนาคม 2567 และกำหนดจ่ายเงินปันผลในวันที่ 15 พฤษภาคม 2567

นายวิโรจน์ ธนาลงกรณ์ ประธานกรรมการ นายบุญชัย ปัณฑุรอัมพร ประธานคณะกรรมการบริหาร นางสาวดวงดาว มหะนาวานนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และคณะกรรมการ บริษัท ซาบีน่า จำกัด (มหาชน) หรือ SABINA เข้าร่วมการประชุมผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2567 โดยที่ประชุมรับทราบผลการดำเนินงานประจำปี 2567 ซึ่งบริษัทฯ มีรายได้สูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ระดับ 3,450.4 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 462.5 ล้านบาท พร้อมทั้ง มีมติอนุมัติการจ่ายเงินปันผลในอัตราหุ้นละ 1.33 บาท คิดเป็น 100% ของกำไรสุทธิ โดยมีการจ่ายปันผลระหว่างกาลไปแล้วในอัตรา 0.66 บาทต่อหุ้น คงเหลือการจ่ายปันผลอีก 0.67 บาทต่อหุ้น ที่มีกำหนดวันปิดสมุดทะเบียนผู้มีสิทธิรับเงินปันผล (Record Date) ในวันที่ 7 พฤษภาคม 2567 และกำหนดจ่ายเงินปันผลในวันที่ 17 พฤษภาคม 2567

บมจ. ไวส์ โลจิสติกส์ หรือ WICE ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ระหว่างประเทศแบบครบวงจร จัดงานประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2567 ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (E-AGM) โดยมีนายเอกพล พงศ์สถาพร ประธานกรรมการบริษัท ดร. อารยา คงสุนทร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และนายชูเดช คงสุนทร กรรมการผู้จัดการ ฝ่ายพัฒนาธุรกิจ พร้อมด้วยคณะกรรมการบริษัท ผู้บริหารระดับสูง เข้าร่วมประชุม

นายชูเดช คงสุนทร กรรมการผู้จัดการ ฝ่ายพัฒนาธุรกิจ บริษัท ไวส์ โลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) หรือ WICE เปิดเผยว่า ที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2567 รับทราบผลการดำเนินงานประจำปี 2566 โดยผู้ถือหุ้นมีมีมติอนุมัติจ่ายเงินปันผลงวดผลการดำเนินงานในปี 2566 เป็นเงินสดในอัตรา 0.24 บาทต่อหุ้น หรือคิดเป็น 153.83 ล้านบาท และคิดเป็น 51.18% ของกำไรสำหรับปี โดยจะกำหนดรายชื่อผู้มีสิทธิเข้าร่วมประชุม (Record date) พร้อมกำหนดขึ้นเครื่องหมาย XD วันที่ 5 มีนาคม 2567 และกำหนดจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นในวันที่ 13 พฤษภาคม 2567 เพื่อตอบแทนและสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ถือหุ้น และพร้อมปักธงเพื่อก้าวสู่ผู้นำในการให้บริการโลจิกติกส์ครบวงจรที่มีเครือข่ายครอบคลุมทั้งภูมิภาคเอเชีย

สำหรับแผนธุรกิจปี 2567 ว่า บริษัทตั้งเป้าการเติบโตไม่น้อยกว่า 20% จากปีก่อน โดยมองว่าอัตราค่าระวางเรือและอากาศจะมีการปรับตัวขึ้น พร้อมกับปริมาณการขนส่งทั้งนำเข้าและส่งออกจะมีเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน บริษัทเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าอย่างสหรัฐอเมริกาและประเทศจีนจะกลับมาฟื้นตัว จากนโยบายและแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งภาคเอกชนและการบริโภคภายในประเทศ รวมถึงภาคการลงทุน จนส่งผลให้ภาพรวมของธุรกิจโลจิสติกส์ดีขึ้นไปด้วย นอกจากนี้บริษัทเน้นกลยุทธ์ wallet share และเครือข่ายโลจิสติกส์แบบครบวงจรที่จะช่วยเพิ่มฐานลูกค้า ตลอดจนการสร้างโซลูชั่นการบริการให้สามารถตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าควบคู่ไปด้วยกัน

ขณะที่บริษัทคาดว่าได้เริ่มรับรู้รายได้จากโครงการต่างๆ ที่เริ่มลงทุนไปในปีที่แล้ว เช่นโครงการ Green Logistics Hub ที่ร่วมมือกับพันธมิตร ในการพัฒนาพื้นที่เพื่อให้เป็นศูนย์กลางการบริหารจัดการโลจิสติกส์ ที่ให้ความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงโครงการการให้บริการขนส่งสินค้าแบบตู้ควบคุมอุณหภูมิ ซึ่งเริ่มให้บริการแบบเต็มกำลังตั้งแต่ช่วงปลายไตรมาส 2และบริษัทอยู่ระหว่างการเจรจากับลูกค้าเพิ่มอีกหลายราย การให้บริการขนส่งเชื้อเพลิงชีวมวลอัดแท่ง จากสปป.ลาวมายังท่าเรือแหลมฉบัง โดยจะเริ่มให้บริการ ภายในไตรมาส 2 นี้

บริษัทยังมีแผนที่จะขยายพื้นที่คลังสินค้าใหม่ เพื่อรับรองการเติบโตของลูกค้า โดยตั้งเป้าขยายพื้นที่อีก 20,000-30,000 ตารางเมตร ซึ่งจะทำให้บริษัทมีพื้นที่ให้บริการ ถึง 100,000 ตารางเมตร ทั้งนี้คาดว่าจะใช้งบสำหรับการลงทุนและขยายกิจการในโครงการต่างๆประมาณ 200-300 ล้านบาท

บริษัท อิชิตัน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ ICHI จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2567 ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (E-AGM) โดยที่ประชุมผู้ถือหุ้นผ่านการอนุมัติทุกวาระตามมติที่คณะกรรมการเสนอ พร้อมทั้งอนุมัติการจ่ายเงินปันผลประจำปี 2566 ในอัตราหุ้นละ 1.00 บาท ซึ่งได้จ่ายเงินปันผลระหว่างกาลไปแล้วสำหรับงวดวันที่ 1 มกราคม – 30 กันยายน 2566 ในอัตราหุ้นละ 0.50 บาท คงเหลือเงินปันผลจ่ายสำหรับงวดวันที่ 1 ตุลาคม – 31 ธันวาคม 2566 ในอัตราหุ้นละ 0.50 บาท โดยจ่ายจากกำไรสุทธิและกำไรสะสม กำหนดจ่ายเงินปันผลในวันที่ 10 พฤษภาคมนี้

พร้อมทั้ง อนุมัติการแต่งตั้งกรรมการอิสระท่านใหม่ แทนกรรมการอิสระที่พ้นจากตำแหน่งตามวาระจำนวน 2 ท่าน คือ นายสรกล อดุลยานนท์ และนางสาวเพชรชมพู เทพพิพิธ ซึ่งเป็นบุคคลผู้ที่มีความเหมาะสม มีประสบการณ์ความรู้ความสามารถในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มเป็นอย่างดี สอดคล้องตามหลักกำกับดูแลกิจการที่ดีของบริษัทจดทะเบียนไทย

ด้าน ตัน ภาสกรนที กรรมการผู้อำนวยการ กล่าวว่า “ขอขอบคุณทุกความเชื่อมั่นจากท่านผู้ถือหุ้นที่ไว้วางใจตลอดมา สำหรับการดำเนินธุรกิจในปี 2567 อิชิตันวางเป้าหมายรายได้แตะ 9,000 ล้านบาท คาดบันทึกสถิติสูงสุดใหม่ต่อเนื่อง โดยเริ่มเดินหน้าบุกตลาดตั้งแต่ไตรมาส 1 มีแนวโน้มทำได้ดีมาก รับอากาศร้อนช่วงซัมเมอร์ รวมทั้งส่งเครื่องดื่มใหม่ในกลุ่ม Non-Tea เพื่อขยายตลาดให้ครอบคลุมผู้บริโภคทุกกลุ่ม โดยในเดือนมีนาคมได้เปิดตัว “ตัน พาวเวอร์ (TAN POWER)” เครื่องดื่ม Energy Drink เสริมพอร์ต ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีจากพันธมิตรคู่ค้าทั่วประเทศ ช่วยกันผลักดันสินค้าที่มีจุดแข็งด้านราคา 10 บาทสบายกระเป๋า ให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ตลอดจนได้ส่งแคมเปญสนุกและสร้างสรรค์รับหน้าร้อนบนโลกโซเชียล ทั้งจากแบรนด์อิชิตัน กรีนที, เย็นเย็น น้ำจับเลี้ยงสมุนไพรฤทธิ์เย็น และตันซันซู น้ำอัดลมสไตล์เกาหลี เพื่อเดินหน้าสร้างไดนามิคกระตุ้นยอดขายสร้างกำไรให้เข้าตามเป้าที่ได้วางไว้

นอกจากนี้ อิชิตันยังมุ่งมั่นนำเสนอเครื่องดื่มคุณภาพและนวัตกรรม พร้อมเติบโตไปกับสังคมที่ดี โดยความสำเร็จล่าสุดจาก อิชิตัน น้ำด่าง (pH PLUS) แบรนด์สินค้ามีความโดดเด่นด้านนวัตกรรมในกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มจนสามารถคว้ารางวัล BUSINESS+ PRODUCT OF THE YEAR 2023 ไปครองได้สำเร็จ ปัจจุบันน้ำด่างบรรจุขวดพร้อมดื่ม (Ready to drink) เกิดขึ้นด้วยนวัตกรรมการผลิตที่ช่วยทำให้ชีวิตง่ายขึ้น มีมาตรฐานปลอดภัย สะดวกสบายพกพาง่าย และดีต่อสุขภาพ ซึ่งได้รับความนิยมอย่างสูงที่ประเทศไต้หวัน ญี่ปุ่น และอิชิตันนำเทรนด์นี้เข้าสู่ประเทศไทย เป็นทางเลือกใหม่สำหรับผู้รักสุขภาพ จนสามารถขยายฐานลูกค้าได้เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ มีแนวโน้มการเติบโตที่ดี

พร้อมทั้งมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจอย่างมีจริยธรรม โปร่งใส และยั่งยืน ส่งเสริมให้คู่ค้าและพันธมิตรทางการค้าในระดับ SMEs เติบโตไปด้วยกัน ล่าสุดได้จัดกิจกรรมสัมมนาเชิญชวนคู่ค้ากลุ่ม SME เข้าร่วมประกาศเจตนารมณ์ตามโครงการแนวร่วมการต่อต้านทุจริตคอร์รัปชันของภาคเอกชนไทยภายใต้โครงการ CAC Change Agent เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา ควบคู่กับการให้ความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อม ด้วยการกำหนดแผนการมุ่งไปสู่องค์กรที่มีการผลิตแบบความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2050 โดยปัจจุบันสินค้าทุกขวดของอิชิตัน สามารถลดปริมาณการใช้พลาสติกลงได้ถึง 28.5% จากเทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัยและดีต่อโลกของอิชิตัน กรีน แฟคทอรี ที่เปิดให้นักเรียนนักศึกษา เข้าชมฟรี ภายใต้พื้นที่ “ศูนย์การเรียนรู้ตันแลนด์” เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่ได้เข้าใจถึงผลกระทบต่อการเลือกดื่มผลิตภัณฑ์อย่างรับผิดชอบที่จะมีต่อธรรมชาติ ภายใต้แนวคิด Produce Responsibly, Drink Sustainably อีกด้วย

Page 1 of 3
X

Right Click

No right click