เคทีซีเล็งเห็นศักยภาพคนรุ่นใหม่ ผลักดันโครงการ “เตรียมน้องให้พร้อม ก่อนได้งาน” เผยเทคนิคในการทำเรซูเม่ (Resume) สมัครงาน การเตรียมตัวในการสัมภาษณ์งาน รวมถึงการสร้างสัมพันธภาพในการทำงาน เพื่อสร้างความมั่นใจก่อนก้าวเข้าสู่ชีวิตการทำงาน ผ่านประสบการณ์การเรียนรู้เสมือนจริง
นางสาวปิยะสุดา แคว้นนนทรีย์ ผู้บริหารสูงสุด สายงานทรัพยากรบุคคล “เคทีซี” หรือ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ปี 2567 เคทีซีได้มีโอกาสเข้าไปถ่ายทอดความรู้ภายใต้โครงการ “เตรียมน้องให้พร้อม ก่อนได้งาน” ให้กับนิสิต/นักศึกษา มหาวิทยาลัยต่างๆ ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยกรุงเทพ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต มหาวิทยาลัยรังสิต และมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง โดยมีนิสิต/นักศึกษาที่เข้าร่วมกิจกรรมกว่า 400 คน และในปี 2568 เคทีซีมีแผนจะส่งต่อความรู้ไปยังสถาบันการศึกษาอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งมีการเพิ่มเนื้อหาความรู้ด้านการเงิน และเทคโนโลยี ซึ่งนิสิต/นักศึกษาจะสามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ ทั้งในด้านการเรียนและการใช้ชีวิตในยุคปัจจุบัน”
นอกจากนี้ เคทีซียังคงเปิดรับนิสิต/นักศึกษาที่มีความสนใจฝึกงานกับบริษัท ผ่านความร่วมมือระหว่างเคทีซีและมหาวิทยาลัยทั่วประเทศไทย ภายใต้โครงการสหกิจศึกษา หรือ KTC COOP (KTC Co-operative Program) โดยมีวัตถุประสงค์จะสร้างโอกาสทางการศึกษา และมุ่งพัฒนาคนรุ่นใหม่ให้พร้อม ก้าวสู่โลกการทำงาน โดยนิสิต/นักศึกษาจะได้แสดงศักยภาพและเก็บเกี่ยวประสบการณ์ทำงานเป็นระยะเวลา 1 ภาคการศึกษา โครงการ KTC COOP เปิดให้ฝึกปฏิบัติงานทั้งหมดสามช่วง คือ ภาคต้น ภาคปลาย และภาคฤดูร้อน ซึ่งปัจจุบันกำลังเข้าสู่รุ่นที่ 7 หากนิสิต/นักศึกษาและสถาบันการศึกษาใดที่มีความสนใจ สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 02-828-5099 หรือคลิกดูรายละเอียดที่เว็บไซต์ www.ktc.co.th/careers หรือเฟซบุ๊ค “KTC Career” หรือส่งประวัติมาที่อีเมล This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.
เทคโนโลยีพัฒนาอย่างก้าวกระโดด อาชีพในปัจจุบันจะหายไป และจะมีอาชีพใหม่ๆ ที่ยากจะคาดเดา เพิ่มขึ้นมาในอนาคต การเรียนให้ตรงสายแทบจะเป็นไปไม่ได้ สิ่งที่เรียนในมหาวิทยาลัยล้าสมัยทันทีที่เรียนจบ ความสามารถในการออกแบบอาชีพของตนเองจึงเป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับทุกคน เอ็มจึงมาพูดคุยกับผู้ที่ทำอาชีพแห่งอนาคตทั้งสามท่าน
ดำเนินการเสวนาโดย ธีรยา ธีรนาคนาท (เอ็ม) ผู้ร่วมก่อตั้ง กิจการเพื่อสังคมแคเรียร์วีซ่า (ประเทศไทย)
ต้า ผู้ซึ่งเคยเป็น Data Scientist ของ Facebook ซึ่งเป็นอาชีพที่ไม่เคยมีสมัยต้าเรียนปริญญาตรี เส้นทางอาชีพเริ่มจาก วิศวกรรมศาสตร์ คอมพิวเตอร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยเลือกจากความชอบ และวิสัยทัศน์ว่าสายคอมพิวเตอร์ จะเป็นอาชีพแห่งอนาคต แต่ไม่อยากเป็นโปรแกรมเมอร์ที่เขียนโปรแกรมตามคำสั่งของคนอื่น แต่อยากใช้คอมแก้ปัญหาเลยเรียน Operation Research ที่ Massachusetts Institute of Technology (MIT) ซึ่งเป็นการนำคณิตศาสตร์มาแก้ปัญหาทางธุรกิจ เช่น การตั้งราคาตั๋วเครื่องบิน และโรงแรม แล้วพบว่าการตัดสินใจที่ดี ต้องมีข้อมูลที่ดีก่อน จึงไปเป็น data scientist ที่ Facebook 3 ปี
ดร.วิโรจน์ จิรพัฒนกุล (ต้า) กรรมการผู้จัดการ Skooldio
ส่วนแชมป์ ซึ่งเกิดมาพร้อมธุรกิจครอบครัวที่ถูกปลูกฝังมาโดยตลอดว่าจะต้องมาสืบทอด แต่วันนี้มาตั้ง Venture Capital กองทุนที่ลงทุนในสตาร์ตอัพ ที่สหรัฐอเมริกา เส้นทางอาชีพของเขาเริ่มจากวิศวกรรมศาสตร์เช่นกัน แต่เป็นด้านไฟฟ้า ปริญญาโท วิศวกรรมศาสตร์ อุตสาหการ แล้วกลับมาช่วยที่กรุงไทยการไฟฟ้าเปลี่ยนแปลงองค์กรด้วยการใช้เทคโนโลยี เพราะอยากทำอะไรใหม่ๆ ซึ่งทำให้ได้ทักษะในการสร้างความเปลี่ยนแปลง และเรียนต่อ MBA ที่ University of California Berkeley ด้วย ecosystem ที่อยู่รอบๆ ทำให้ได้เรียนรู้ความเป็นผู้ประกอบการ จากการพูดคุยกับคนจำนวนมากโดยไม่บอกเรื่องธุรกิจครอบครัว เพื่อค้นหาตัวตนของตัวเองใหม่ หลังจากได้พูดคุยกับผู้ก่อตั้งสตาร์ตอัพจำนวนมาก และทำงานในสตาร์ตอัพระยะเวลาหนึ่งก็ค้นพบว่าสิ่งที่อยากทำ คือ ช่วยผู้ก่อตั้งสตาร์ตอัพที่มี Passion มากถึงขั้นยอมขายบ้าน ขายรถสร้างสิ่งที่มีโอกาสขาดทุนมากกว่ากำไร จึงตั้ง Creative Ventures ซึ่งเป็นกองทุนที่ลงทุนในสตาร์ตอัพ แล้วคิดว่าการที่จะช่วยได้มากที่สุด ก็คือการใช้รากของตัวเอง ที่มาจากเมืองไทย เลยช่วยเป็นสะพานเชื่อมต่อสตาร์ตอัพที่อเมริกามาที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ปุณยธร สุทธิพงษ์ชัย (แชมป์) ผู้ก่อตั้งและผู้บริหารกองทุน Creative Ventures
ส่วนเด่น ที่ทำงานไม่ตรงสายที่สุด เนื่องจากเรียนสายวิชาชีพด้านสาธารณสุขมา จากเภสัชศาสตรบัณฑิต มาเป็น CEO โรงเรียนสร้างผู้ประกอบการในอนาคต ไม่ใช่เรื่องง่าย เริ่มจากตอนเอ็นท์ที่เลือกคณะตามที่พ่อแม่แนะนำ ทั้งๆ ที่อยากเรียนเศรษฐศาสตร์ วันแรกที่เข้าไปรู้เลยว่าไม่ชอบเคมี จึงพยายามค้นหาตัวเอง เคยไปเป็นดีเจ Scratch แผ่น แต่ลึกๆ ก็รู้ว่าตัวเองชอบการจัดการ ตลอดระยะเวลา 5 ปีก็ฝึกงานครบทั้ง 3 อาชีพหลักของเภสัชกรให้แน่ใจว่าไม่ชอบ ก่อนที่จะไปเรียนปริญญาโทด้านบริหารธุรกิจ ที่อังกฤษ งานแรกคือการขายเครื่องมือวิทยาศาสตร์ ในบริษัทขนาด 15 คน ได้ฝึกทักษะการขาย ได้ความรู้เรื่องการนำเข้า ได้คุยกับลูกค้า และซัพพลายเออร์อยู่ 3 ปี ก็เสนอตัวเข้าไปเป็นกรรมการผู้จัดการ บริษัทมหาชนที่ทำธุรกิจ แก๊ส LPG ซึ่งมีหนี้ 12,000 ล้าน อยู่ในแผนฟื้นฟู เขาใช้เวลา 3 ปีในการล้างหนี้ พาบริษัทออกจากแผนฟื้นฟูและมีรายได้ 5,000 ล้าน ซึ่งทำให้ได้เรียนรู้เรื่องกฎระเบียบโดยเฉพาะความซับซ้อนของการเป็นบริษัทมหาชน แต่สิ่งที่สำคัญ คือรู้ว่าชอบพลิกฟื้นบริษัทที่มีปัญหา จากนั้นก็ตัดสินใจลาออก และใช้เวลา 1 ปี ในการเรียนรู้เรื่องเศรษฐกิจใหม่ แล้วหางานใหม่ เนื่องจากรู้ว่าตัวเองไม่เหมาะเป็นเจ้าของกิจการ แต่เหมาะเป็นผู้บริหารมืออาชีพ เมื่อมาเจอพี่ไวท์ ชาคริต จันทร์รุ่งสกุล เลยมาเป็น CEO ของ Wecosystem
รณสิทธิ ภุมมา (เด่น) CEO บริษัท Wecosystem
ทั้งสามท่านมีวิธีการเพิ่มทักษะและความรู้เพื่อให้ตนเองพร้อมทำอาชีพที่ไม่ได้เรียนมาแตกต่างกัน อย่างแชมป์ ใช้วิธี คุยกับคนจำนวนมาก เพราะกลัวการเริ่มธุรกิจของตัวเอง แต่หลังจากได้รับการเตือนสติจากอาจารย์ท่านหนึ่ง ซึ่งบอกว่าไม่มีวันที่คนคนหนึ่งจะพร้อมเป็นผู้ประกอบการ ต้องรีบลงมือทำตั้งแต่ยังไม่พร้อม และกล้าถามคำถามโง่ๆ ตั้งแต่ตอนแรก ต้องรีบล้มให้เร็วและเรียนรู้ให้เร็ว หาทีมมาช่วยตั้งคำถาม ผู้ประกอบการต้องถามลูกค้าเยอะๆ
แต่ผู้บริหารภายในองค์กร ก็ต้องถามลูกน้อง เพราะลูกน้องก็คือลูกค้าของเรา
ส่วนเด่น ก็ใช้วิธีศึกษาเรื่องการจัดการจากหนังสือของ Peter Drucker เอาทฤษฎีต่างประเทศมาลองปรับใช้ในไทย ปัญหาที่พบ คือลูกน้องแก่กว่าและไม่เชื่อฟัง คุณบุญคลี ปลั่งศิริ แนะนำว่าต้องเรียนรู้ให้เร็วกว่าลูกน้องมากๆ การเป็นผู้จัดการต้องมีความรอบรู้ จึงเรียนรู้ทุกอย่างไม่ว่าจะเป็น บัญชี การเงิน การบริหารทรัพยากรบุคคล อย่างละนิดหน่อย เป็นเป็ด
สำหรับต้า อาชีพ Data Scientist เป็นอาชีพใหม่ ต้องใช้ทักษะใหม่ เพราะตอนเรียนยังไม่มี Smart Phone, Mobile App เลย เทคโนโลยีเปลี่ยนเร็ว และจะเปลี่ยนเร็วขึ้นเรื่อยๆ ทุกครั้งที่มีอะไรใหม่ๆ ออกมาถ้าเราสร้างทักษะนี้ได้ก่อน ก็ได้เปรียบ แต่ก็ต้องมีความรู้พื้นฐานเพียงพอ ในหลายๆ วิชาที่คิดว่าไม่รู้ว่าจะเรียนไปทำไม กลายเป็นพื้นฐานที่ดีในการไปศึกษาต่อด้วยตัวเอง ก่อนเป็น Data Scientist ก็ไม่เคยเรียน Big Data หรือวิธีการนำข้อมูลไปใช้มากขนาดนั้น ก็อาศัยการอ่าน และลงมือทำเอง ซึ่งการลงมือทำดีที่สุดในการฝึกทักษะ ทำให้เราได้รู้ว่าชอบหรือไม่ชอบ
ในฐานะผู้ลงทุนในสตาร์ตอัพ แชมป์ ตัดสินใจจากผู้ก่อตั้ง “การทิ้งทุกอย่างมาเป็นผู้ประกอบการมันไม่สมเหตุสมผลเลย คุณต้องหิว ต้องอยากทำให้มันเกิด ต้องอยากได้มันมากกว่าอย่างอื่น” นอกจากนี้ด้วยทักษะและประสบการณ์ ผู้ก่อตั้งจะต้องมีข้อได้เปรียบเหนือคนอื่น มีความอดทนที่จะจมอยู่กับปัญหานี้ 5 -10 ปี ต้องมี Passion มี GRIT ในสิ่งที่ทำ แต่ในขณะเดียวกันก็ยอมเปลี่ยนไปทำธุรกิจอื่นได้หากธุรกิจเดิมไม่สามารถไปต่อได้ ยืดหยุ่นแต่แข็งในเวลาเดียวกัน ต้องมีความสามารถในการปรับเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์
ซึ่งก็สอดคล้องกับมุมมองของต้า ซึ่งทิ้งอาชีพที่เซ็กซี่ที่สุดในศตวรรษอย่าง Data Scientist ขององค์กรนายจ้างอันดับต้นๆ ของโลกอย่าง Facebook มาเป็นผู้ประกอบ-การเพราะเห็นช่องว่างทักษะของนักศึกษากับสิ่งที่นายจ้างต้องการ เช่น เอกการตลาด เรียน 4Ps มา แต่นายจ้างต้องการคนทำ Search Engine Optimization (SEO) เป็น จบออกมาก็ยังไม่สามารถทำงานได้ทันที จึงสร้างเครือข่ายของคนไทยที่มีความสามารถ ทำงานบริษัทระดับโลกที่ต่างประเทศมาแชร์ประสบการณ์ ความรู้ ทักษะให้นิสิต นักศึกษาไทย ไม่ได้มองว่า Skooldio จะมาแทน แต่มาช่วยเสริมมหาวิทยาลัย เพราะในสังคม การที่เศรษฐกิจจะพัฒนาต้องมีคนหลากหลาย มีแต่ผู้ประกอบการไม่มีคนทำงาน ก็ไม่ได้ มีแต่คนทำเทคโนโลยี ไม่มีการเงินบัญชีก็ไม่ได้ สุดท้ายคือความรู้รอบ แต่มีความชัดเจน แข็งแกร่งในสิ่งที่เราเก่ง “ผมเก่งเรื่องเทคโนโลยี ผมก็ยังคงถ่ายทอดเรื่องนี้ แต่ก็ต้องไปเรียนรู้บัญชี การเงิน การบริหารทรัพยากรบุคคล เพื่อให้สามารถขับเคลื่อนสตาร์ตอัพไปข้างหน้าได้”
ปุณยธร สุทธิพงษ์ชัย, รณสิทธิ ภุมมา, ดร.วิโรจน์ จิรพัฒนกุล
เมื่อกล่าวถึงทิศทาง ความเปลี่ยนแปลงของอาชีพในอนาคต
แชมป์มองว่าในระดับแรงงาน เริ่มจากคนใช้มือทำ มาเป็นเครื่องมือทำ เป็นเครื่องจักรกลทำ ในอนาคตเราอาจไม่ขับรถแต่ควบคุมรถ 10 คันให้ขับไปพร้อมกัน ประเด็นต่อไป คือ จะหาคนแบบไหน จะฝึกคนพวกนี้อย่างไร ส่วนระดับพนักงานออฟฟิศ งานประสานงาน และงานวิเคราะห์จะถูกทดแทนโดยเทคโนโลยี เราไม่สามารถชนะ AI ในการแก้ปัญหาได้ แต่ชนะในการตั้งคำถามที่จะนำไปสู่ทางออกได้ เพราะความท้าทายที่สุดของการใช้ AI คือ จะใช้ข้อมูลยังไง จะเก็บข้อมูลอะไร จะตั้งคำถามอย่างไร ซึ่งนั่นคือ การสังเคราะห์ข้อมูล กล่าวคือ “ย่อยปัญหาออกมาเป็นส่วนๆ และหามุมที่จะแก้ได้ ตั้งคำถามแล้วใช้ AI แก้มัน”
ต้ามีเห็นว่า อาชีพจะไม่หายไป แต่เครื่องมือที่ต้องใช้ และทักษะที่ต้องมีในการประกอบอาชีพนั้นๆ จะเปลี่ยนไป AI จะเข้ามาช่วยทำสิ่งที่ Basic มี Pattern ทำซ้ำๆ ก็จะเก็บข้อมูลได้เยอะ เก่งขึ้น “ถ้ามองว่านักบัญชีเป็นเพียงคนลงเลขในบัญชี คอมพิวเตอร์เก่งกว่าคนเยอะ แต่ว่าถ้าให้ช่วยประหยัดภาษี คนยังเก่งกว่ามาก การจะสอน AI ต้องทำให้ AI เห็นทุกกรณีจึงจะทำได้”
อย่าง Data scientist หน้าที่หลักไม่ต่างจากนักสถิติ 100 ปีที่แล้ว ถ้าอยากเป็นต้องเรียนสถิติ ซึ่งเป็นวิชาที่มีนานแล้ว “พยายามหาจุดที่เราเก่งกว่าคอมพิวเตอร์ให้เจอ เพราะนั่นคือจุดที่เราสามารถสร้างมูลค่าให้กับอาชีพของเราได้”
สิ่งที่คนรุ่นใหม่จะต้องเตรียมตัวเพื่อให้ยังเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานในอนาคต
สำหรับต้า คือรีบหาตัวเองให้เจอ วิธีที่เร็วที่สุด คือการลองทำจะได้รู้ว่าเราชอบอะไรไม่ชอบอะไร ถ้าเราชอบอะไรแล้ว อะไรเราก็เรียนรู้ได้ ทุกอย่างมีในอินเทอร์เน็ต
แชมป์เสริมว่า ควรหาจุดที่เราทั้งชอบ และทำได้ดี เป็นสิ่งที่โลกต้องการ และสามารถหาเลี้ยงชีพได้จากการทำสิ่งนั้น ซึ่งญี่ปุ่นเรียกว่า Ikigai การที่จะเจอได้ คือ ทำเยอะๆ แล้วทบทวนหลังจากนั้นเป็นระยะ
สุดท้ายเด่นเสริมว่า เมื่อก่อนการเปลี่ยนแปลงมาทุก 7 ปี แต่อนาคตจะเร็วขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้น เราต้อง Learn, Unlearn, Relearn ต้องออกจากพื้นที่สบาย และพร้อมเปลี่ยนแปลง เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ตลอดเวลา
หากต้องการฟัง การเสวนาย้อนหลัง ติดตามได้ใน Facebook Fanpage: Thailand MBA Forum แต่หากสนใจค้นหาตัวเองเพื่อพร้อมรับมืออาชีพในอนาคต ติดตาม Facebook Fanpage: CareerVisa Thailand