สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี อุปนายิกาผู้อำนวยการสภากาชาดไทย ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จพระราชดำเนินเปิดงานกาชาด ประจำปี 2567 โดย นายสมยศ ธนพิรุณธร รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) นำคณะผู้บริหารเข้าเฝ้ารับพระราชทานเกียรติบัตรผู้ให้การสนับสนุนการจัดงาน พร้อมร่วมเฝ้ารับเสด็จฯ ณ พลับพลาพิธีหน้าห้องสมุดประชาชน สวนลุมพินี เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2567
บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็นที ตระหนักถึงภารกิจสำคัญของสภากาชาดไทยในการดำเนินภารกิจบรรเทาทุกข์ บำรุงสุข บำบัดโรคแก่ประชาชนผู้ยากไร้ ผู้ด้อยโอกาสและผู้ประสบภัยพิบัติต่าง ๆ เพื่อเป็นที่พึ่งของประชาชนและสร้างสังคมที่เปี่ยมสุข ดังนั้นเอ็นทีในฐานะผู้ให้บริการด้านการสื่อสารโทรคมนาคมของประเทศที่คำนึงถึงการมีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม จึงมีความภูมิใจที่ได้มีโอกาสร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการจัดกิจกรรมและนำรายได้จากการออกร้านสมทบทุนโดยเสด็จพระราชกุศลบำรุงสภากาชาดไทยมาโดยตลอด
สำหรับร้านกาชาดเอ็นทีในปีนี้ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 โดยนำเสนอแนวคิด “น้ำพระทัย ใต้ร่วมพระบารมี สู่เอ็นทีจิตอาสา เพื่อสังคม” ที่ออกแบบตกแต่งภายนอกอาคารให้มีความสวยงามด้วยโทนสีเหลืองโดยใช้วัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม พื้นที่ภายในร้านจัดแบ่งออกเป็น 5 โซน ได้แก่
โซนเฉลิมพระเกียรติ “น้ำพระทัย ใต้ร่มพระบารมี” เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ รัชกาลที่ 10 และร่วมถวายพระพรเนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 6 รอบ 72 พรรษา ในวันที่ 28 กรกฎาคม 2567 โดยนำเสนอข้อมูลโครงการที่พระองค์ทรงให้ความสำคัญและพระราชทานน้ำพระทัยสู่ปวงชนชาวไทยให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น อาทิ ด้านการศึกษา ด้านสาธารณสุข ด้านสังคมสงเคราะห์และด้านบรรเทาความเดือดร้อนจากภัยพิบัติ
โซน “เอ็นทีจิตอาสา สร้างสุขแก่ปวงประชา ด้วยน้ำพระทัย ใต้ร่มพระบารมี” จัดแสดงนิทรรศการโครงการด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมขององค์กร อาทิ โครงการ “ถุงน้ำใจเอ็นที” ช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ โครงการเพาะพันธุ์ดี NT Youth Club กิจกรรมเอ็นทีทำมากกว่าที่เห็น...เป็นมากกว่าหน้าที่
โซน “เอ็นที Co-Working Space and Business Structure” นำเสนอการจำลองพื้นที่ทำงานเพื่อตอบสนองและรองรับไลฟ์สไตล์การทำงานของคนรุ่นใหม่ที่ต้องการความยืดหยุ่นและสามารถทำงานได้ในรูปแบบ Work from Anywhere
โซน “เล่าขานผ่านภาพ ด้วยน้ำพระทัย ใต้ร่มพระบารมี” พื้นที่สำหรับถ่ายภาพเป็นที่ระลึก
โซน “เอ็นทีส่งสุข สนุกอย่างมีสันทนาการ” ร่วมสนุกกับเกม “ลุ้นปั๊บ รับโชค” กับคูปองชิงโชคใบละ 20 บาท
แวะเยี่ยมชมและร่วมกิจกรรมลุ้นโชคเพื่อสมทบทุนสภากาชาดไทยร่วมกับร้านกาชาด NT ได้ที่บูธเลขที่ 6.12 บริเวณประตูทางเข้า 1 สวนลุมพินี กรุงเทพฯ ได้ถึงวันที่ 22 ธันวาคม 2567 เวลา 22.00 น.
บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) และสมาคมอากาศยานไร้คนขับแห่งประเทศไทย สานต่อความร่วมมือ เดินเครื่องบูรณาการนวัตกรรมการบริการดิจิทัล เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมและบริการอากาศยานไร้คนขับด้านความมั่นคงแบบองค์รวม พร้อมร่วมกันศึกษาเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่เป็นดิจิทัลโซลูชัน เพื่อพัฒนาและยกระดับอุตสาหกรรมและบริการระบบอากาศยานไร้คนขับให้มีประสิทธิภาพในอนาคต โดยมี พลเอก วิษณุ ไตรภูมิ นายกสมาคมอากาศยานไร้คนขับแห่งประเทศไทย และพันเอก สรรพชัยย์ หุวะนันทน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) (NT) ร่วมลงนาม ณ ห้องประชุม Ability 1 ชั้น 9 NT สำนักงานใหญ่
NT และ สมาคมอากาศยานไร้คนขับแห่งประเทศไทย จะเดินหน้าศึกษาความเป็นไปได้ในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมและบริการอากาศยานไร้คนขับ ให้พร้อมรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมและบริการอากาศยานไร้คนขับแบบองค์รวมที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยเบื้องต้นจะร่วมกันศึกษาและพัฒนานวัตกรรมด้านการบริหารจัดการห้วงอากาศและภาคพื้น (Unmanned Aircraft System Traffic Management : UTM) ด้านการผลิตชิ้นส่วน (Manufacturing) ซอฟต์แวร์และแอปพลิเคชัน (SW and Application Development) ตลอดจนสร้างนวัตกรรมและบริการดิจิทัลโซลูชัน โดยการใช้อากาศยานไร้คนขับ (Unmanned Aircraft Vehicle : UAV) เพื่อเป็นเครื่องมือสำหรับภารกิจด้านความมั่นคง รวมถึงกิจกรรมอย่างอื่นที่เกี่ยวข้อง และสามารถนำไปใช้ในการสนับสนุนภารกิจหน่วยงานภาครัฐ ได้แก่ กระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข รวมถึงหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายอื่นๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
การร่วมมือในครั้งนี้ เป็นความมุ่งมั่นของสมาคมฯ ที่ต้องการพัฒนาขีดความความสามารถ และยกระดับอุตสาหกรรมและบริการระบบอากาศยานไร้คนขับในประเทศไทย (UAS: Unmanned Aircraft Systems) และ การผลักดันของ NT บนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs: Sustainable Development Goals) ซึ่งขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมโครงข่ายโทรคมนาคม และบริการดิจิทัล (Digital Services) เพื่อสร้างประโยชน์สูงสุดให้กับสังคมและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องได้อย่างมีมาตรฐาน ประสิทธิภาพและความปลอดภัยเทียบเท่าในระดับสากล
บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็นที จัดพิธีลงนามข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact) "โครงการจัดหารถยนต์เช่าในภาพรวม ของ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน)” ระหว่างผู้แทนเอ็นที พันเอก สรรพชัยย์ หุวะนันทน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ และ คณะผู้สังเกตการณ์ จากคณะกรรมการความร่วมมือและป้องกันการทุจริต (คปท) กรมบัญชีกลาง เพื่อยกระดับความโปร่งใสของโครงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ เพิ่มประสิทธิภาพการใช้จ่ายเงินงบประมาณ และสร้างความเชื่อมั่นให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการจัดหาในโครงการดังกล่าว โดยมีผู้บริหารเอ็นที และหน่วยงานภายนอกได้แก่ กองความร่วมมือและความโปร่งใสในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ กลุ่มงานพัฒนาระบบข้อตกลงคุณธรรม ร่วมเป็นเกียรติในพิธีลงนามฯ ในวันที่ 8 มีนาคม 2567 ณ ห้องแถลงข่าว อาคาร 9 สำนักงานบริษัทเอ็นที แจ้งวัฒนะ
พันเอก สรรพชัยย์ หุวะนันทน์ เปิดเผยว่า เอ็นทีในฐานะหน่วยงานรัฐวิสาหกิจด้านสื่อสารโทรคมนาคมของชาติได้ยึดหลัก CG (Corporate Good Governance) ในการกำกับดูแลกิจการที่ดี ร่วมกับการใช้หลักข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact) กำกับให้เกิดความโปร่งใสในโครงการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานภาครัฐ โดยคัดเลือกโครงการที่เป็นภารกิจหลักของหน่วยงานที่มีมูลค่าตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป เพื่อจัดทำข้อตกลงคุณธรรมตามแนวทางความร่วมมือป้องกันการทุจริตในการจัดซ้อจัดจ้างภาครัฐ ทั้งนี้ ในปี 2567 “โครงการจัดหารถยนต์เช่าในภาพรวม ของ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน)” ซึ่งอนุมัติจากคณะกรรมการบริษัทเอ็นทีเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ได้รับคัดเลือกเข้าร่วมข้อตกลงคุณธรรม โดยเป็นโครงการจัดหารถยนต์เช่าจำนวน 2,248 คัน ระยะเวลา 5 ปี แบ่งเป็นรถยนต์เช่าระบบสันดาป 2,214 คัน และรถยนต์ไฟฟ้า 34 คัน วงเงินงบประมาณ 2,058,339,825 บาท ซึ่งเอ็นทีจะดำเนินการจัดเช่าด้วยวิธีเชิญชวนทั่วไป ตามระเบียบคณะกรรมการ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) ว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุที่เกี่ยวกับการพาณิชย์โดยตรง พ.ศ.2564
โครงการดังกล่าวเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์เอ็นทีด้านพัฒนาการดำเนินงานสู่ระดับสากลตามหลักการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน(ESG) และการพัฒนาเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน (BCG) ภายใต้แผนการใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้า (Electric Vehicle) ของเอ็นที ซึ่งมุ่งเพิ่มจำนวนรถพลังงานไฟฟ้าทดแทนรถยนต์เครื่องสันดาป และมีเป้าหมายภายในปี 2570 สัดส่วนจำนวนรถ EV ต่อรถทั้งหมดไม่น้อยกว่า 10% ซึ่งจะเพิ่มประสิทธิภาพเอ็นทีในการบริการลูกค้าผู้ใช้บริการ พร้อมกับเป็นส่วนหนึ่งของการลดมลพิษและดูแลสิ่งแวดล้อม
สำหรับโครงการจัดหารถยนต์เช่าของเอ็นทีซึ่งเข้าร่วมข้อตกลงคุณธรรมในครั้งนี้ ผู้สังเกตการณ์จะเข้าร่วมสังเกตการณ์ในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างทุกขั้นตอนตลอดระยะเวลาของโครงการฯอย่างใกล้ชิด ตั้งแต่การจัดทำทีโออาร์ การกำหนดราคากลาง การดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง จนถึงการตรวจรับงานตามสัญญา เพื่อความโปร่งใสในการดำเนินโครงการให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด นอกจากนี้ ยังเป็นการแสดงเจตจำนงร่วมกันของทุกฝ่ายที่จะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความโปร่งใส ซื่อสัตย์สุจริต ซึ่งจะก่อให้เกิดการแข่งขันอย่างเป็นธรรม และใช้งบประมาณให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนประเทศชาติ
บริษัท เคหะสุขประชา จำกัด (มหาชน) ลงนามความร่วมมือ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ “เอ็นที” (NT) ร่วมกันยกระดับโครงสร้างพื้นฐานด้านการสื่อสารโทรคมนาคมของโครงการบ้านเคหะสุขประชา และพื้นที่การประกอบอาชีพทั้ง 6 รูปแบบหลัก รวมถึงสิ่งอำนวยความสะดวกที่จำเป็นในชุมชน ช่วยสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี ตลอดจนเป็นโครงข่ายเชื่อมโยงแต่ละชุมชนเพื่อสร้างระบบเศรษฐกิจที่มั่นคงในทุกมิติ
นายพิษณุพร อุทกภาชน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เคหะสุขประชา จำกัด (มหาชน) เผยว่า การพัฒนาธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ภาคที่อยู่อาศัยของเคหะสุขประชา จะมุ่งเน้นให้ผู้เช่าหรือผู้มีรายได้น้อยได้รับการเสริมสร้างทักษะที่เหมาะสมกับการประกอบอาชีพทั้ง 6 รูปแบบหลัก เพื่อต่อยอดสร้างระบบเศรษฐกิจชุมชมที่ครบวงจรและเอื้อต่อการพัฒนาด้านอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์ ซึ่งองค์ประกอบที่จำเป็นและทำให้การดำเนินการนี้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ นั่นคือการยกระดับด้านการสื่อสาร เพื่อให้ประชาชนได้มีโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยี รวมไปถึงสภาพแวดล้อมการอยู่อาศัยและการทำงานที่ได้คุณภาพ
ซึ่งนอกเหนือจากการสร้างความมั่นคงภาคที่อยู่อาศัยอย่างต่อเนื่องแล้ว เคหะสุขประชา ยังได้มีการดำเนินการความร่วมมือกับ “เอ็นที” (NT) หรือ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นพันธมิตรผู้มีศักยภาพในการให้บริการด้านการสื่อสารโทรคมนาคม รวมถึงระบบ 5G และดาวเทียม ตลอดจนการนำเอาดิจิทัลมาให้บริการสังคมอย่างมีประสิทธิภาพ
นายพิษณุพร อุทกภาชน์ กล่าวเสริมต่ออีกว่า ความร่วมมือในครั้งนี้จะมีระยะเวลาการดำเนินการรวม 3 ปี ที่สององค์กรจะได้นำจุดแข็งและความเชี่ยวชาญที่มีมาบูรณาการร่วมกัน ในแง่มุมของการพัฒนาสภาพแวดล้อมที่มีเครือข่ายโทรคมนาคม-อินเทอร์เน็ตมาตรฐานมาใช้ในพื้นที่พักอาศัย, ใช้ในพื้นที่การทำงาน เช่น ตลาดสุขประชามาร์เก็ต ,ศูนย์การค้าเคมอลล์ , พื้นที่การเกษตรและอื่น ๆ ใช้อำนวยความสะดวกเพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีในชุมชน อาทิ การพัฒนาศูนย์สาธารณสุข-ศูนย์การเรียนรู้ต่าง ๆ เป็นต้น
ด้าน นายรังสรรค์ จันทร์นฤกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานธุรกิจลูกค้าองค์กร บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT เปิดเผยว่า ความร่วมมือในครั้งนี้ NT และ เคหะสุขประชา มีเป้าหมายร่วมกันที่จะเสริมสร้างความมั่นคงและยกระดับมาตรฐานการใช้ชีวิตให้แก่ประชาชนกลุ่มเป้าหมายในโครงการเคหะสุขประชาในทุกพื้นที่ทั่วประเทศแบบบูรณาการ ซึ่ง NT เอง พร้อมที่จะนำโครงข่ายสื่อสารโทรคมนาคม รวมถึงนวัตกรรมทางการสื่อสารที่มีมาให้บริการเพื่อสนับสนุนให้โครงการนี้ประสบผลสำเร็จ สามารถส่งเสริมให้ผู้ที่มีรายได้น้อยได้มีโอกาสที่จะมีที่อยู่อาศัยเป็นหลักแหล่ง และเข้าถึงเทคโนโลยีที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการใช้ชีวิต และเพียงพอที่จะดำรงชีพได้อย่างมีคุณภาพ ทั้งนี้ระบบสื่อสารโทรคมนาคมในปัจจุบัน นอกจากจะช่วยให้การใช้ชีวิตประจำวันของผู้อยู่อาศัยง่ายขึ้นแล้ว ยังช่วยเปิดโลกกว้างให้ได้เรียนรู้และเปิดช่องทางในการหารายได้เสริม หรือแม้แต่อาจจะกลายเป็นรายได้หลักได้อีกทางหนึ่งด้วย สำหรับความร่วมมือในครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญที่ NT มีความภูมิใจเพราะได้มีส่วนร่วมต่อการช่วยเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับคนไทย
บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) (เป็นองค์กรที่เกิดจากการควบรวมกิจการของรัฐซึ่งประกอบไปด้วย กสท โทรคมนาคม และ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน)) จับมือ ซุปเปอร์แนป (ประเทศไทย) ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ในการสนับสนุนภาครัฐบาลก้าวสู่ระบบดิจิทัลที่ล้ำหน้า กับโครงการความร่วมมือเพื่อยกระดับศูนย์ข้อมูลแห่งชาติ (National Data Center) และบริการแบบคลาวด์สู่มาตรฐานสากลในระดับเทียร์ 4 (Tier IV)
การที่บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ ประกาศเป็นพันธมิตรกับ ซุปเปอร์แนป (ประเทศไทย) ผู้นำศูนย์ข้อมูลในภูมิภาคอาเซียน นับเป็นการการยกระดับมาตรฐานของศูนย์ข้อมูลและการบริการคลาวด์ในประเทศไทยให้ก้าวสู่ระดับ เทียร์ 4 ซึ่งจะช่วยให้ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ สามารถให้บริการคลาวด์แก่หน่วยงานของรัฐได้แบบเต็มประสิทธิภาพ 100% ด้วยศูนย์ข้อมูลที่มีความปลอดภัยสูงที่ได้รับการรับรองมาตรฐานเทียร์ 4 ในระดับสากลที่ทั่วโลกยอมรับ
โครงการนี้ นับเป็นก้าวสำคัญของประเทศไทยในการยกระดับประสิทธิภาพ ความปลอดภัย และความมั่นใจในระบบคลาวด์ของรัฐบาลให้สูงยิ่งขึ้น เพื่อให้สอดรับกับการเร่งเปลี่ยนแปลงสู่ดิจิทัลได้อย่างรวดเร็ว จากการแพร่ระบาดใหญ่ในช่วงสองปีที่ผ่านมา
โดยในปัจจุบัน ได้มีการนำแอปพลิเคชั่นต่าง ๆ มาใช้เพิ่มขึ้นอย่างมาก เพื่อเป็นกำลังในการขับเคลื่อนระบบดิจิทัลของรัฐบาล รวมถึงการทำงานจากที่บ้าน การประชุมทางวิดีโอ และความจำเป็นในการจัดเก็บ บริหารจัดการ และเข้าถึงข้อมูลในรูปแบบที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ซึ่งกลายเป็นสิ่งที่มีความสำคัญสูงสุดในทุกวันนี้
นาวาอากาศเอก สมศักดิ์ ขาวสุวรรณ์ รักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือเอ็นที กล่าวถึงความร่วมมือกับซุปเปอร์แนป (ประเทศไทย) ว่าจะทำให้เอ็นที มีทางเลือกที่หลากหลายและสะดวกมากขึ้นในการใช้บริการ Data Center และ Cloud
“ในฐานะที่เอ็นที เป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่ได้รับมอบหมายภารกิจในการเป็นผู้ขับเคลื่อนและยกระดับการสื่อสารโทรคมนาคมและดิจิทัลให้แก่ภาครัฐ ซึ่งมาจากการที่เรามีโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมมากที่สุดและครอบคลุมทั่วประเทศอยู่แล้ว ดังนั้นความร่วมมือในครั้งนี้จึงเป็นการนำจุดแข็งของทั้งสององค์กรมาร่วมกันพัฒนาขีดความสามารถในการให้บริการของเอ็นที โดยเรามั่นใจว่าจะสามารถตอบโจทย์ความต้องการที่หลากหลายและมอบประโยชน์กับลูกค้าได้มากขึ้น” นาวาอากาศเอก สมศักดิ์ กล่าว
หน่วยงานของรัฐจะสามารถเข้าถึงบริการศูนย์ข้อมูลและคลาวด์ โดยไม่จำเป็นต้องตั้งศูนย์ข้อมูลของตนเอง โครงการนี้จะช่วยประหยัดทั้งเวลา และทรัพยากร อีกทั้งช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านระบบโครงสร้างพื้นฐานได้อย่างมาก ในขณะที่ช่วยปรับปรุงประสิทธิภาพของรัฐบาล
ซุปเปอร์แนป (ประเทศไทย) ในฐานะศูนย์ข้อมูลไฮเปอร์สเกลแห่งแรกในประเทศที่รองรับการเชื่อมต่อกับผู้ให้บริการโครงข่ายโดยไม่จำกัดค่าย จะให้บริการด้านพลังงาน พื้นที่ ความปลอดภัย และระบบเชื่อมต่อเครือข่ายให้กับกระทรวงต่าง ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการด้านประสิทธิภาพและความปลอดภัยในระดับสูง อีกทั้งยังรับประกันความพร้อมเพื่อรองรับความต้องการในอนาคตด้วยความยืดหยุ่นและให้ความสามารถในการปรับขยายได้
โครงการฯ ภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ในครั้งนี้ช่วยให้รัฐบาลปรับใช้ระบบคลาวด์ได้อย่างรวดเร็ว อีกทั้งมั่นใจได้ว่ากระทรวง และหน่วยงานต่าง ๆ สามารถเข้าถึงข้อมูลที่จำเป็นได้อย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ รวมถึงได้รับประโยชน์จากเทคโนโลยีที่ใช้ง่าย มีความยั่งยืน และพร้อมรองรับการปรับขยายศักยภาพได้ตามต้องการ
“ในฐานะศูนย์ข้อมูลและผู้ให้บริการคลาวด์ที่ทันสมัยที่สุด ศูนย์ข้อมูลของเราสร้างขึ้นเพื่อรองรับความต้องการของรัฐบาลและองค์กรต่างๆ ในขณะที่บริการของเราถูกจัดสรรเพื่ออำนวยความสะดวกในการจัดเก็บและประมวลผลข้อมูลที่สำคัญต่อภารกิจด้วยความปลอดภัยสูงสุดและรับประกันความพร้อมใช้งานตลอดเวลา” คุณสุนิตา บ๊อตเซ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ ซุปเปอร์แนป (ประเทศไทย) ได้กล่าว
“เรารู้สึกเป็นเกียรติที่ได้ร่วมงานกับเอ็นที และได้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการนวัตกรรมของเอ็นที ในขณะเดียวกันก็เป็นการสนับสนุนเป้าหมายด้านความยั่งยืนด้วยการนำเสนอบริการโครงสร้างพื้นฐานในระบบดิจิทัลของซุปเปอร์แนป ด้วยประสบการณ์ระดับสากลและความรู้ของคนในประเทศ เพื่อสนับสนุนภาครัฐบาลในการสร้างสรรค์นวัตกรรมได้เร็วยิ่งขึ้นและปรับขยายได้ตามความต้องการ” คุณสุนิตากล่าวเสริม
ศูนย์ข้อมูล ซุปเปอร์แนป (ประเทศไทย) ได้รับการออกแบบในลักษณะโมดูลาร์และพร้อมรองรับการขยายศักยภาพ ด้วยการขยายศูนย์ข้อมูลเพิ่มเติมอีก 2 อาคาร ที่สามารถให้บริการพลังงานถึง 60 เมกะวัตต์และพื้นที่รองรับได้มากกว่า 5,000 ตู้ รวมถึงการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ ที่ได้รับการสนับสนุนจากการออกแบบชั้นนำ ซึ่งช่วยให้โครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลของรัฐบาลสามารถเติบโตไปพร้อมกับความต้องการ
นอกจากนี้ ศูนย์ข้อมูลอันล้ำสมัยของซุปเปอร์แนป (ประเทศไทย) ยังเชื่อมต่อผ่านเครือข่ายไฟเบอร์จากผู้ให้บริการโครงข่ายหลายรายแบบแยกสายและการันตีความเสถียรด้วยระบบ Redundancy สำหรับการเชื่อมต่อเครือข่ายที่ให้ความมั่นใจได้สูงสุดในทุกสถานการณ์
ความร่วมมือในครั้งนี้นับเป็นโอกาสครั้งสำคัญ เพราะการโฮสต์เซิร์ฟเวอร์ที่ศูนย์ข้อมูลของ ซุปเปอร์แนป (ประเทศไทย) ที่สร้างขึ้นด้วยวัตถุประสงค์ที่เฉพาะเจาะจง ทำให้มีข้อได้เปรียบมากมายซึ่งรวมถึงเรื่องความยั่งยืน เนื่องจากนวัตกรรมเทคโนโลยีด้านพลังงานและระบบควบคุมอุณหภูมิของ ซุปเปอร์แนป (ประเทศไทย) ช่วยให้บริษัทกลายเป็นศูนย์ข้อมูลที่ทันสมัยที่สุดที่ให้ความยั่งยืนด้วยการออกแบบ ซึ่งพร้อมรองรับการใช้พลังงานความหนาแน่นสูงถึง 33 กิโลวัตต์ต่อตู้ และมีค่าเฉลี่ยประสิทธิภาพการใช้พลังงาน (PUE) ต่อปีที่ 1.35-1.45 โดยเป็นระดับที่ให้ประสิทธิภาพมากกว่าศูนย์ข้อมูลอื่น ๆ ในภาคพื้นอาเซียน
คุณสมบัตินี้จะช่วยให้หน่วยงานของรัฐสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และบรรลุเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมด้วยการเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนระดับโลกสู่พลังงานสะอาด
โครงสร้างพื้นฐานและโซลูชั่นของ ซุปเปอร์แนป (ประเทศไทย) จึงช่วยให้รัฐบาลไทยจะสามารถบรรลุมาตรฐานสากลสูงสุดสำหรับศูนย์ข้อมูลและบริการคลาวด์ และตอกย้ำสถานะและชื่อเสียงของประเทศไทยในฐานะศูนย์กลางดิจิทัลและเทคโนโลยีระดับโลก ที่มีความปลอดภัย ความน่าเชื่อถือ และความเป็นเลิศ