December 23, 2024

วิกฤตโรคเบาหวานคุกคามโลก! ปัจจุบันมีผู้ป่วยโรคเบาหวานมากกว่า 537 ล้านคนทั่วโลก และสมาพันธ์เบาหวานนานาชาติ (IDF) ได้คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 643 ล้านคนภายในปี 2573 คน และโรคเบาหวานมีส่วนทำให้เสียชีวิตสูงถึง 6.7 ล้านคน หรือเสียชีวิต 1 ราย ในทุกๆ 5 วินาที ประเทศไทยก็เผชิญวิกฤตเช่นกัน โดยคาดการณ์ว่าจะมีผู้ป่วยสูงถึง 5.3 ล้านคนภายในปี 2583 และที่น่าตกใจคือเกือบครึ่งยังไม่ได้รับการวินิจฉัย โรคเบาหวานไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง เช่น โรคหัวใจและโรคไต แต่ยังสร้างภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาสูงถึงปีละ 47,596 ล้านบาทต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศอีกด้วย

สถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงนี้สะท้อนให้เห็นถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการควบคุมโรคเบาหวานและลดภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น โครงการ Affordability Project ภายใต้การดำเนินงานของ Novo Nordisk จึงเป็นหนึ่งในความพยายามที่ตอบโจทย์ในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว และถือเป็นจุดเริ่มต้นของการร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนที่จะสร้างความรู้ความเข้าใจและยกระดับการเข้าถึงระบบสุขภาพให้ดีขึ้น

นายเอ็นริโก้ คานัล บรูแลนด์ รองประธานกรรมการและผู้จัดการทั่วไป บริษัท โนโว นอร์ดิสค์ ฟาร์มา ประเทศไทย จำกัด ได้กล่าวถึงความมุ่งมั่นของบริษัทในการดูแลสุขภาพผู้คนทั่วโลกมาตลอดระยะเวลา 100 ปี โดยเฉพาะโรคเบาหวาน รวมถึงโรคอ้วน และโรค NCDs อื่นๆ โดยมุ่งขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเพื่อการมีสุขภาพที่ดีในปัจจุบันและในอนาคตด้วยนวัตกรรมการรักษาและการป้องกันแบบบูรณาการ สำหรับประเทศไทย โนโว นอร์ดิสค์ ฟาร์มา ประเทศไทย ได้ริเริ่มโครงการ Affordability Project โดยร่วมมือกับกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้ผู้ป่วยเบาหวานมีโอกาสเข้าถึงการดูแลสุขภาพที่ดีอย่างเท่าเทียม ทั้งในการช่วยให้ผู้ป่วยเข้าถึงการตรวจวินิจฉัยได้อย่างทั่วถึง และการนำความรู้ความเชี่ยวชาญด้านการดูแลโรคเบาหวานมาถ่ายทอดให้กับบุคลากรทางการแพทย์และผู้ที่เกี่ยวข้องให้สามารถดูแลผู้ป่วยโรคเบาหวานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งจะช่วยลดการเกิดภาวะแทรกซ้อนและลดค่าใช้จ่ายในระบบสาธารณสุข

โครงการ Affordability Project มีระยะเวลาดำเนินการ 3 ปี ตั้งแต่ปี 2565 – 2568 โดยปัจจุบันได้บรรลุเป้าหมายไปมากกว่า 70% ตามที่กำหนดไว้ใน 3 ด้านหลักๆ ได้แก่

1) จำนวนผู้ได้รับการตรวจคัดกรองทั้งหมด 53,000 คน ใน 13 เขตสุขภาพ ครอบคลุมพื้นที่ 21 จังหวัด โดยปัจจุบันโครงการฯ ได้ตรวจคัดกรองโรคเบาหวานได้มากกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้

2) จำนวนบุคลากรทางการแพทย์และผู้เกี่ยวข้องในการดูแลรักษาผู้ป่วยทั้งหมด 7,000 คน โดยได้จัดฝึกอบรมสำเร็จไปกว่า 85% ครอบคลุมโรงพยาบาล 2,212 แห่งทั่วประเทศ รวมถึงได้จัดเวิร์กช็อปภาคปฏิบัติสำหรับผู้ที่ต้องการพัฒนาทักษะการรักษาโรคเบาหวาน  

3) จำนวนผู้ป่วยที่เป็นเบาหวานและอยู่ในการควบคุมดูแลระดับน้ำตาลอย่างเข้มข้นจำนวน 7,000 คน ในเฟสแรกมีผู้เข้าร่วมกว่า 2,500 คน และสามารถลดระดับ HbA1C (ตัวชี้วัดระดับน้ำตาลในเลือดเฉลี่ย) ได้ถึง 70% โดย 21.5% บรรลุเป้าหมายของตนเอง และโครงการฯ จะเริ่มเฟสที่สองสำหรับผู้ป่วยอีก 2,500 คนเป็นลำดับต่อไป จากผลลัพธ์ของโครงการได้สะท้อนให้เห็นถึงประสิทธิภาพของโปรแกรมการดูแลผู้ป่วยที่เข้มข้น

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้โครงการ Affordability Project บรรลุเป้าหมายในระยะยาว จึงจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วนและการสนับสนุนด้านงบประมาณอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการพัฒนาระบบข้อมูลเพื่อติดตามและประเมินผลการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยโครงการดังกล่าว ไม่เพียงแต่ช่วยเพิ่มจำนวนผู้ป่วยที่ได้รับการตรวจคัดกรองและเข้าถึงการรักษาเท่านั้น แต่ยังช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประเทศได้อย่างมีนัยสำคัญ จากการศึกษาพบว่า การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ดีขึ้น ทำให้ลดอัตราการเกิดภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง เช่น โรคไตวาย หรือโรคหลอดเลือดหัวใจ ซึ่งส่งผลให้ลดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลในระยะยาวลงอย่างมาก

นอกจากนี้ โนโว นอร์ดิสค์ ฟาร์มา ประเทศไทย ยังสนับสนุนกิจกรรมร่วมกับภาครัฐเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการดูแลผู้ป่วยโรคเบาหวานมาอย่างต่อเนื่อง และในโอกาสวันเฉลิมฉลองวันเบาหวานโลก ในปี 2567 (World Diabetes Day 2024)  โนโว นอร์ดิสค์ ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการต่อสู้กับโรคเบาหวาน ร่วมกับสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทยฯ สมาคมเครือข่ายโรคไม่ติดต่อไทย ภาคีเครือข่าย และกรุงเทพมหานคร ในงานปั่นจักรยานและวิ่งมาราธอน "Bangkok Ride and Run 2024 สุขกาย สุขใจ โลกสดใจ ใส่ใจเบาหวาน" ในวันอาทิตย์ที่ 10 พฤศจิกายน 2567 ณ ลานคนเมือง ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร

บริษัท โนโว นอร์ดิสค์ ฟาร์มา (ประเทศไทย) จำกัด สนับสนุนกรมอนามัย จัดโครงการนำร่องฝึกอบรมหลักสูตร ‘แนวทางการดูแลรักษาผู้ที่มีภาวะน้ำหนักเกินหรืออ้วน สำหรับแพทย์’ หรือ HCP Obesity Curriculum เพื่อให้ความรู้แก่บุคลากรทางการแพทย์ ให้มีความรู้ความเข้าใจ ทักษะการดูแลรักษาผู้ป่วยที่มีภาวะน้ำหนักเกินหรืออ้วน เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการดูแลผู้ป่วย การป้องกันและรักษาที่ต่อเนื่องและยั่งยืน โดยกรมอนามัยขับเคลื่อนงานผ่าน ‘เวชศาสตร์วิถีชีวิต’ (หรือ Lifestyle Medicine) ซึ่งเป็นรูปแบบการบริการทางการแพทย์แนวใหม่ ที่เน้น การปรับเปลี่ยนปัจจัยที่มีผลต่อพฤติกรรมเพื่อสุขภาพดี ร่วมกับการผสมผสานและบูรณาการศาสตร์ทางการแพทย์มาวางแผนเพื่อสนับสนุนให้ผู้ป่วยหรือผู้รับบริการสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมใน 6 ด้าน ได้แก่ 1) ด้านโภชนาการ  2) ด้านการออกกำลังกาย 3) ด้านการนอนหลับ 4) ด้านการจัดการความเครียดและจัดการด้านอารมณ์ 5) ด้านการลดเลิกบุหรี่ สุรา และ 6) ด้านความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล

จากข้อมูลองค์การอนามัยโลก (WHO) ปี 2565 พบว่าปัจจุบันมีผู้คนทั่วโลกมากกว่า 1 พันล้านคน ที่มีภาวะอ้วน แบ่งเป็นผู้ใหญ่ 650 ล้านคน วัยรุ่น 340 ล้านคน และเด็ก 39 ล้านคน โดยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และยังคาดการณ์ว่าภายในปี 2568 จะมีผู้คนกว่า 167 ล้านคนทั่วโลกจะมีสุขภาพที่ไม่ดีจากภาวะน้ำหนักเกินหรืออ้วน ซึ่งหากประเทศไทยไม่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ อาจส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจจากภาวะเหล่านี้ โดยคาดว่าจะเติบโตขึ้นเป็นร้อยละ 4.9 ของ GDP ในประเทศไทย ขณะเดียวกัน หากลดความชุกของภาวะอ้วนลงร้อยละ 5 จากระดับที่คาดการณ์ไว้หรือคงไว้ที่ระดับปี 2562 จะทำให้ต้นทุนทางเศรษฐกิจลดลงเฉลี่ยร้อยละ 5.2 และร้อยละ 13.2 ต่อปี ระหว่างปี พ.ศ. 2563 – 2603 ตามลำดับ

การฝึกอบรมหลักสูตร ‘แนวทางการดูแลรักษาผู้ที่มีภาวะน้ำหนักเกินหรืออ้วน สำหรับแพทย์’ หรือ HCP Obesity Curriculum ในช่วงต้นปี 2567 ที่ผ่านมา จึงเป็นอีกหนึ่งวิธีการที่จะช่วยส่งเสริมให้บุคลากรทางการแพทย์มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคอ้วนครบในทุกมิติ ครอบคลุมตั้งแต่สาเหตุของการเกิดภาวะอ้วน ผลของภาวะอ้วนที่มีต่อสุขภาพอนามัย จิตใจ เศรษฐกิจสังคม แนวทางการรักษาภาวะอ้วน รวมถึงการดูแลผู้ป่วย และการป้องกันการเกิดโรคแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้ โดยในการอบรมยังมีแพทย์เฉพาะทางและแพทย์ผู้ทรงคุณวุฒิ อาทิ ผศ.พญ.พัชญา บุญชยาอนันต์ ผศ.พญ.ดารุณีวัลย์ วโรดมวิจิตร และรศ.พญ.ประพิมพร ฉัตรานุกูลชัย ฯลฯ ร่วมให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อหลักสูตร อาทิ โรคอ้วน กลไกและสมดุลของร่างกาย หลักการในการดูแลรักษาโรคอ้วน แนวทางปฏิบัติและข้อควรพิจารณา ในการดูแลรักษาโรคอ้วนและการนำไปใช้จริง รวมถึงทัศนคติมุมมองที่มีต่อโรคอ้วนจากผู้ที่มีภาวะน้ำหนักเกินหรือโรคอ้วน และที่สำคัญได้นำความรู้ไปปรับใช้ในงานเวชปฏิบัติและสามารถพัฒนาต่อยอดในการส่งเสริมสุขภาพของผู้ป่วยต่อไป เพื่อการมีสุขภาพชีวิตที่ดีขึ้น

X

Right Click

No right click