November 25, 2024

บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) (“ไทยออยล์”) เผยกลยุทธ์ธุรกิจปี 2568 มุ่งสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน แม้ภาพรวมอุตสาหกรรมพลังงาน และปิโตรเคมีในปีหน้ายังคงมีความท้าทายทั้งตลาดในประเทศ และต่างประเทศ ไทยออยล์ยังคงมั่นใจในศักยภาพ และโอกาสการเติบโตของธุรกิจในระยะยาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเร่งบริหารจัดการโครงการพลังงานสะอาด (Clean Fuel Project หรือ CFP) ซึ่งจะเป็นรากฐานสำคัญในการเสริม ความแข็งแกร่งให้กับไทยออยล์ และสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศ

นายบัณฑิต ธรรมประจำจิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “แม้เศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจไทยยังคงมีความผันผวน แต่ยังคงมีปัจจัยบวกที่จะส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมพลังงาน และโรงกลั่นในปี 2568 อยู่บ้าง โดยความต้องการน้ำมันอากาศยานมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากการเติบโตของเที่ยวบินพาณิชย์ โดยเฉพาะในเอเชียที่มีอัตราการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องภายหลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 คลี่คลายลงซึ่งไทยออยล์ครองส่วนแบ่งทางการตลาดสูงสุดประมาณ 50% รวมถึงอุปสงค์ของน้ำมันดีเซลที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นจากการเติบโตทางเศรษฐกิจในเอเชีย ส่วนตลาดน้ำมันเบนซินแม้ความต้องการใช้ยังคงเติบโตแต่อาจจะได้รับแรงกดดันจากอุปทานของโรงกลั่นใหม่ที่จะเริ่มดำเนินการผลิตในปีหน้า ทำให้ค่าการกลั่นมีแนวโน้มฟื้นตัวได้บ้างในปี 2568 อย่างไรก็ตาม คาดว่ายังคงจะเป็นปัจจัยบวก ต่อธุรกิจโรงกลั่นในระยะยาว”

ไทยออยล์พร้อมรับมือกับความท้าทาย และคว้าโอกาสในการเติบโตโดยกำหนดกลยุทธ์หลัก 4 ด้านในปี 2568 ประกอบด้วย

· เสริมความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจโรงกลั่น (Strengthen Refinery Business) และเร่งเดินหน้าโครงการพลังงานสะอาด (CFP) : ไทยออยล์ให้ความสำคัญกับโครงการพลังงานสะอาดที่ถือเป็นกุญแจหลักในการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับไทยออยล์ในระยะยาว รวมถึงการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ในการเพิ่มผลผลิต (Productivity Improvement) เพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขัน และควบคุมต้นทุน

 

สำหรับความคืบหน้าโครงการ CFP มีความสำเร็จส่วนแรก คือ การทดลองเดินเครื่องจักรหน่วยกำจัดกำมะถันในน้ำมันดีเซล (HDS-4) ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2567 เพื่อรองรับการผลิตน้ำมันดีเซลมาตรฐาน Euro 5 ซึ่งสนับสนุนนโยบายการใช้น้ำมันที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นของภาครัฐในต้นปี 2567 โครงการ CFP อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้างหน่วยผลิตต่างๆ และได้นำเครื่องจักรหลักเข้ามาในพื้นที่ก่อสร้างเป็นที่เรียบร้อยแล้วตั้งแต่ช่วงปลายปี 2566 ที่ผ่านมา ทั้งนี้หน่วยกลั่นน้ำมันดิบที่ 4 (CDU-4) มีความคืบหน้าไปมากกว่าส่วนงานอื่นๆ ในขณะที่หน่วย Residue Hydrocracking Unit (RHCU) ซึ่งเป็นหน่วยเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ โดยเปลี่ยนน้ำมันเตา และยางมะตอยให้เป็นน้ำมันอากาศยาน และน้ำมันดีเซลนั้น อยู่ระหว่างเร่งติดตั้งอุปกรณ์เครื่องจักรและเชื่อมต่อระบบท่อต่างๆ โดยเป็นหน่วยผลิต ที่มีความสลับซับซ้อนอยู่ในพื้นที่จำกัด จึงมีความคืบหน้าของงานน้อยกว่าหน่วยผลิตอื่น

· ขยายห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain Extension): มุ่งเน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง สำหรับการใช้งานในอุตสาหกรรมต่างๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดที่เปลี่ยนแปลงไป รวมถึงการสร้างความร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจทั้งใน และต่างประเทศ เพื่อขยายช่องทางการจำหน่าย และขยายตลาดไป ยังประเทศที่มีศักยภาพสูง เช่น เวียดนาม อินโดนีเซีย และอินเดีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการต่อยอดธุรกิจสารเคมีในกลุ่มสารฆ่าหรือยับยั้งเชื้อโรคและสารลดแรงตึงผิว (Disinfectant & Surfactants: D+S) โดยมีบทบาทสำคัญในตลาดผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดและลดความเสี่ยงในการติดเชื้อที่มีแนวโน้มเติบโตสูง นอกจากนี้ ภายใต้แนวทางการดำเนินงาน TOP for The Great Future ไทยออยล์ยังเดินหน้าศึกษาธุรกิจใหม่ๆ ร่วมกับ กลุ่ม ปตท. และพันธมิตรอื่นๆ เช่น Bio surfactant, Blue หรือ Green Hydrogen, น้ำมันอากาศยานชีวภาพ (Bio Jet),การดักจับ กักเก็บ และใช้ประโยชน์จากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CCUS)

· เสริมสร้างความแข็งแกร่งทางการเงิน (Financial Strength): ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการต้นทุน และค่าใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการบริหารความเสี่ยงด้านราคาสินค้าโภคภัณฑ์ และอัตราแลกเปลี่ยนอย่างรอบคอบ เพื่อรักษาสภาพคล่องทางการเงิน และรักษาอันดับความน่าเชื่อถือให้อยู่ในระดับน่าลงทุน ซึ่งจะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุน

· ขับเคลื่อนธุรกิจสู่ความยั่งยืน (Drive for Sustainability): มุ่งมั่นที่จะดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน โดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (ESG) โดยมุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การสร้างคุณค่าให้กับสังคม และชุมชน ผ่านโครงการต่างๆ เช่น การส่งเสริมการศึกษา การสร้างอาชีพ และการเข้าถึงสาธารณสุขในพื้นที่ห่างไกล

นายบัณฑิต กล่าวเสริมว่า “เรามั่นใจว่ากลยุทธ์ทั้ง 4 ด้านนี้จะช่วยให้ไทยออยล์สามารถรับมือกับความท้าทายและบรรลุเป้าหมายการเติบโตที่ยั่งยืนในระยะยาว พร้อมสร้างผลตอบแทนที่เหมาะสมให้กับผู้ถือหุ้น และสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศไทย”

ทั้งนี้ ไทยออยล์มีความเป็นห่วงต่อสถานการณ์ในปัจจุบันที่กลุ่มบริษัทผู้รับเหมาช่วงของ UJV - Samsung E&A (Thailand) Co., Ltd. (“Samsung”), Petrofac South East Asia Pte. Ltd. (“Petrofac”) และ Saipem Singapore Pte. Ltd. (“Saipem”) ได้ลงมติจะไม่ดำเนินงานก่อสร้างโครงการ CFP หาก UJV– Samsung, Petrofac และ Saipem ไม่ชำระหนี้ค้างชำระทั้งหมด ซึ่งไทยออยล์ตระหนักถึงความเดือดร้อนของผู้รับเหมาช่วงที่ไม่ได้รับเงินดังกล่าว โดยไทยออยล์ได้มีการทำหนังสือเร่งรัดให้ UJV – Samsung, Petrofac และ Saipem ตลอดจนบริษัทแม่ของ UJV– Samsung, Petrofac และ Saipem ชำระค่าตอบแทนค้างจ่ายให้แก่บริษัทผู้รับเหมาช่วงมาโดยตลอด เพราะเป็นหน้าที่ตามเงื่อนไขของสัญญารับเหมาช่วง

จากกรณีดังกล่าว ไทยออยล์และผู้รับเหมาช่วง ต่างเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการไม่ทำตามสัญญาของ UJV – Samsung, Petrofac และ Saipem ดังนั้น การเร่งบริหารจัดการโครงการ CFP จึงเป็นเป้าหมายหลัก และเร่งด่วน ที่ไทยออยล์มุ่งมั่นในการดำเนินการก่อสร้างโครงการ CFP ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว โดยได้ติดตามความคืบหน้าเหตุการณ์ล่าสุดอย่างใกล้ชิด และได้ประเมินผลกระทบทั้งด้านแผนงานของโครงการ (Project Timeline) ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น และผลกระทบต่อระบบนิเวศทางธุรกิจ รวมทั้งเร่งดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อบรรเทาความเสียหายที่เกิดขึ้นกับไทยออยล์ ตลอดจนเตรียมแนวทางดำเนินการที่เหมาะสมเพื่อผลักดันการเดินหน้าโครงการ CFP ให้แล้วเสร็จอย่างละเอียดรอบคอบ โดยคำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดของไทยออยล์และผู้ถือหุ้นเป็นสำคัญ ซึ่งปัจจุบัน คาดว่าจะมีความชัดเจนในช่วงต้นปี 2568 ถึงแม้ว่า สถานการณ์การเรียกร้องค่าตอบแทนค้างจ่ายของผู้รับเหมาช่วงจาก UJV– Samsung, Petrofac และ Saipem จะส่งผลกระทบต่อการดำเนินโครงการ CFP ให้ล่าช้า แต่ก็ไม่ได้ทำให้โครงการ CFP จะต้องเลื่อนเปิดดำเนินการออกไปอย่างไม่มีกำหนดแต่อย่างใด

แม้จะยังคงมีอุปสรรคและความท้าทายอีกมาก ไทยออยล์ยังมุ่งมั่นที่จะเร่งดำเนินการก่อสร้างโครงการ CFP ให้แล้วเสร็จโดยเร็วที่สุด เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจ และเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานและสนับสนุนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว

กว่า 60 ปี ของบริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน)  ในการดำเนินธุรกิจด้านพลังงาน และเป็นโรงกลั่นที่มีประสิทธิภาพแห่งหนึ่งในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยมีธุรกิจหลักคือธุรกิจการกลั่นน้ำมันเชื้อเพลิง และต่อยอดไปสู่ธุรกิจปิโตรเคมี น้ำมันหล่อลื่นพื้นฐาน การผลิตไฟฟ้า รวมถึงการจัดจำหน่ายเคมีภัณฑ์ประเภทสารทำละลาย และการแสวงหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ ภายใต้วิสัยทัศน์ “Empowering Human Life Through Sustainable Energy and Chemicals สร้างสรรค์คุณภาพชีวิตด้วยพลังงานและเคมีภัณฑ์ที่ยั่งยืน” ซึ่งนับเป็นอีกหนึ่งองค์กรไทยที่ดึงดูดคนรุ่นใหม่ ๆ ให้มาร่วมเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรอย่างต่อเนื่อง

ไทยออยล์ถือเป็นองค์กรที่ได้รวบรวมบุคลากรที่มีความสามารถหลากหลายแขนง ตั้งแต่ระดับพนักงาน ไปจนถึงระดับผู้บริหาร โดยการมีบุคลากรที่มีคุณภาพถือเป็นกุญแจดอกสำคัญแห่งความสำเร็จของการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้แก่ประเทศมาโดยตลอด สืบเนื่องจากการสั่งสมประสบการณ์และองค์ความรู้กว่า 6 ทศวรรษ นำมาสู่การพัฒนาและสร้าง “คน” ของไทยออยล์ให้มีพลัง ความสามารถ และดึงศักยภาพเพื่อสร้างผลผลิตได้อย่างมีคุณภาพ นอกจากนี้ยังมีวัฒนธรรมองค์กรที่สะท้อนถึงวิถีการทำงานตามแบบฉบับคนไทยออยล์ ผ่านการปลูกฝังวัฒนธรรมการทำงานจากรุ่นสู่รุ่น การสอนงานและการถ่ายทอดความรู้จากหัวหน้าสู่ลูกน้อง การพัฒนาศักยภาพด้วยการส่งเสริมความรู้ในหลากหลายมิติ รวมถึงการจัดการสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการทำงานที่ดี

ซึ่งภายในองค์กรของไทยออยล์ มีวัฒนธรรมการทำงานแบบ POSITIVE ที่เน้นการทำงานด้วยคุณลักษณะที่ดี 8 ประการ อาทิ ทำงานอย่างมืออาชีพ (P - Professionalism) ยึดมั่นในการเป็นเจ้าของและทุ่มเทต่อหน้าที่ความรับผิดชอบ (O - Ownership and Commitment) มีความรับผิดชอบต่อสังคม (S – Social Responsibility) การทำงานด้วยความซื่อสัตย์ (I - Integrity) การทำงานเป็นทีม (T - Teamwork and Collaboration) มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ (I – Initiative) การมุ่งมั่นในวิสัยทัศน์ (V- Vision Focus) และ การมุ่งสู่ความเป็นเลิศ (E – Excellence Striving) ในการปฏิบัติงานในทุก ๆ ด้าน

การดูแลบริหารทรัพยากรบุคคลของไทยออยล์นับว่าอยู่ในระดับเดียวกับองค์กรชั้นนำระดับประเทศ เพราะไทยออยล์เล็งเห็นถึงคุณค่าของ “คน” เป็นสิ่งสำคัญ อาทิ การเปิดโอกาสในพนักงานสามารถเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพแบบไม่มีที่สิ้นสุดด้วยคอร์สออนไลน์กว่า 700+ หลักสูตร และระบบการจัดการความรู้ (Knowledge Management) ที่มีในองค์กรอีกกว่า 4000+ รายการ รวมถึงการส่งเสริมเส้นทางอาชีพด้วยการมอบโอกาสและกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนให้แก่พนักงาน รวมทั้งการจ่ายค่าตอบแทนและสวัสดิการที่สูงติดอันดับ TOP5 ในกลุ่มอุตสาหกรรมเดียวกัน

นายวิรัตน์ เอื้อนฤมิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ไทยออยล์ให้ความสำคัญในการดูแลคนมาเป็นอันดับหนึ่ง (People First) เสมอ เพราะเราเชื่อว่า "คน" เป็นขุมพลังหลักในการขับเคลื่อนองค์กร จะเห็นได้ว่าในช่วงที่เกิดวิกฤตการณ์โควิด-19 เราได้ยกระดับมาตรการดูแลพนักงานเป็นพิเศษ ด้วยการจัดตั้งศูนย์ควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 (I – COVID Center) ที่ทำงานเชิงรุก ครอบคลุม และดำเนินการอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของโรคในกลุ่มพนักงานในองค์กร และเตรียมพร้อมรับมือหากเกิดเหตุการณ์แพร่ระบาดของโรค ทั้งในการดำเนินธุรกิจปกติและการก่อสร้างโครงการลงทุนต่าง ๆ รวมถึงการให้พนักงานสามารถ Work From Home 100% ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยและลดความเสี่ยงแก่พนักงานทุกคน”

ไทยออยล์ยังดูแลพนักงานในยุค New Normal ด้วยโครงการ 5 สุข ได้แก่ โครงการสุขเงิน – แลกเปลี่ยนสวัสดิการได้ตรงใจด้วยตัวเอง, โครงการสุขใจ – ปรึกษาทุกข้อกังวลใจกับนักจิตวิทยาและจิตแพทย์, โครงการสุขกาย – ตัวช่วยในการดูแลสุขภาพของพนักงานแบบอัจฉริยะ, โครงการสุขสังคม - สร้างความรู้สึกใกล้ชิดกับพนักงานด้วย Digital Collaboration Platform และ สุขชื่นชม – สนับสนุนการส่งพลังบวกและยกย่องชมเชยเพื่อนร่วมงาน ช่วยยกระดับวัฒนธรรมในองค์กรและเป็นพลังให้พนักงานสามารถสร้างผลงานที่ดีได้มากขึ้น ทั้งหมดนี้ก็เพื่อให้พนักงานมีคุณภาพชีวิตที่ดีในทุกมิติ มีแรงบันดาลใจ ความคิดสร้างสรรค์และพลังในการสร้างผลงานอันมีคุณค่าต่อตนเอง องค์กรและสังคมต่อไป

นอกจากการบริหาร ดูแลและพัฒนาบุคลากรให้มีศักยภาพสูงสุด พร้อมสนับสนุนคุณภาพชีวิตของพนักงานในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 แล้ว ในมุมของการดำเนินกิจการจะเห็นได้ว่า ไทยออยล์ ยังเป็นองค์กรที่มุ่งมั่นในการขับเคลื่อนและพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน ภายใต้แนวคิด ESG (Social / Environmental / Governance) ที่ใช้เป็นหลักยึดมั่นและเป็นรากฐานสำคัญในการดำเนินธุรกิจมาอย่างต่อเนื่อง นำมาสู่การเป็นองค์กรแห่งคุณภาพที่มีความน่าเชื่อถือและสร้างคุณค่าแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องรวมถึงพนักงานในองค์กร มาตลอด 60 ปี โดยแบ่งแนวคิดการดำเนินงานออกเป็น 3 มิติที่แตกต่าง ได้แก่

มิติสิ่งแวดล้อม: Enhance Environment การยกระดับการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมให้สอดคล้องกับทิศทางของโลก โดยศึกษาแนวทางที่จะมุ่งไปสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ หรือ Net Zero Carbon Emission

มิติสังคม: Engage Society มีเป้าหมายสร้างความผูกพันเพื่อเติบโตร่วมกันในระยะยาว ด้วยพลังงานและเคมีภัณฑ์ที่ยั่งยืน มุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของชุมชน ผ่านการสื่อสารเชิงรุก การรับฟังความเห็น การพัฒนาความสัมพันธ์และโครงการเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชน ตลอดจนการพัฒนาคุณภาพชีวิตของสังคม โดยเฉพาะด้านสุขอนามัย (Healthcare)

มิติบรรษัทภิบาล: Ensure Good Governance เพื่อสร้างความเชื่อมั่นด้านบรรษัทภิบาล ผ่านการบูรณาการ GRC (Governance, Risk and Compliance) โดยเน้นการสร้างสมดุลระหว่างความเข้มงวดของมาตรการควบคุมภายในและความยืดหยุ่นคล่องตัวในการดำเนินธุรกิจ โดยมีเป้าหมายการปราศจากการฝ่าฝืนกฎหมายและกฎระเบียบขององค์กร

เราให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนมาโดยตลอด ด้วยการขับเคลื่อนธุรกิจและองค์กรภายใต้แนวคิด ESG ซึ่งเป็นหัวใจหลักของการทำงานในทุกกระบวนการ ซึ่งทั้งหมดนี้จะเดินหน้าไปสู่เป้าหมายไม่ได้ หากขาดตัวแปรที่สำคัญนั่นคือ “พนักงาน” ของไทยออยล์ทุกคนที่ช่วยผลักดันให้องค์กรเติบโตสู่องค์กร 100 ปี เพื่อเชื่อมโยงคุณค่าสู่สังคม สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีและอนาคตของทุกคนไทยทั้งประเทศอย่างยั่งยืน” นายวิรัตน์ กล่าวทิ้งท้าย

###

ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ยังคงยืดเยื้อและทวีความรุนแรงมากขึ้น

X

Right Click

No right click