บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BPP ผู้ผลิตพลังงานไฟฟ้าระดับสากล เผยผลการดำเนินงานครึ่งปีแรก ปี 2567 เป็นที่น่าพอใจ โดยบริษัทฯ มีกำไรสุทธิ 1,659 ล้านบาท และมีกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) รวม 4,030 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 995 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน* พร้อมเริ่มต้นธุรกิจพลังงานหมุนเวียนในสหรัฐฯ ด้วยโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ Ponder Solar มีกำหนดเริ่มดำเนินการเดือนสิงหาคมนี้ ทั้งยังลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับ Gemeng International Energy เพื่อขยายการเติบโตของพลังงานสะอาดในจีน
นายอิศรา นิโรภาส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BPP กล่าวว่า “โรงไฟฟ้าของ BPP สามารถรักษาเสถียรภาพการผลิตและประสิทธิภาพในการบริหารจัดการต้นทุนการผลิต จึงสามารถสร้างกระแสเงินสดได้อย่างมั่นคง ทั้งนี้ บริษัทฯ ยังคงมุ่งมั่นเปลี่ยนผ่านธุรกิจสู่การเป็นบริษัทผู้ผลิตพลังงานที่ยั่งยืน ผ่านการขยายพอร์ตให้ครอบคลุมมากไปกว่าการเพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้า ตามแนวทาง ‘Beyond Megawatts Portfolio’ ทั้งการขยายกำลังผลิตจากโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงาน (Energy Infrastructure) และการพัฒนาธุรกิจแบตเตอรี่และระบบกักเก็บพลังงาน (Battery & Energy Storage System: BESS)”
ภาพรวมครึ่งปีแรก BPP มีผลการดำเนินงานที่ดี ส่วนสำคัญเกิดจากปริมาณการขายไฟฟ้าที่เพิ่มมากขึ้นของโรงไฟฟ้าแฝด Temple l และ Temple ll ในสหรัฐอเมริกา รวมถึงการรับรู้รายได้จากการเดินเครื่องที่มีประสิทธิภาพและมีค่าความพร้อมจ่ายไฟ (Equivalent Availability Factor: EAF) ในระดับสูงอย่างต่อเนื่องของโรงไฟฟ้าเอชพีซี (HPC) ใน สปป.ลาว และโรงไฟฟ้าบีแอลซีพี (BLCP) ในไทย อีกทั้งโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมในจีนยังรายงานผลการดำเนินงานที่ดีจากการบริหารต้นทุนเชื้อเพลิงอย่างมีประสิทธิภาพ
*หมายเหตุ: เทียบกับ EBITDA ที่ไม่รวมกำไรจากการวัดมูลค่าเงินลงทุนใหม่ในปี 2566
นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังเดินหน้าขยายการลงทุนในธุรกิจพลังงานหมุนเวียนในประเทศยุทธศาสตร์อย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุด ได้ติดตั้งโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ Ponder Solar ขนาด 2.5 เมกะวัตต์ ตั้งอยู่ในพื้นที่แหล่งก๊าซธรรมชาติ บาร์เนตต์ในรัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกา มีกำหนดเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ในเดือนสิงหาคม 2567 นับเป็นก้าวแรกที่สำคัญในการขยายธุรกิจพลังงานหมุนเวียนของ BPP ในสหรัฐฯ เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ BPP ยังได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับ Gemeng International Energy ในการร่วมพัฒนาธุรกิจพลังงานในรูปแบบใหม่ ธุรกิจระบบจัดเก็บพลังงาน และธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับพลังงานสะอาด เพื่อขยายโอกาสการเติบโตของธุรกิจพลังงานหมุนเวียนในประเทศจีน
ด้านธุรกิจเทคโนโลยีพลังงานซึ่ง BPP ได้ลงทุนผ่านบ้านปู เน็กซ์ ในสัดส่วนร้อยละ 50 มีความคืบหน้าในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมา โดยธุรกิจผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา ได้ลงนามสัญญาเพื่อผลิตและจ่ายกระแสไฟฟ้าให้กับพันธมิตรในประเทศต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันมีกำลังผลิตตามสัดส่วนการลงทุนรวม 100 เมกะวัตต์ ธุรกิจแบตเตอรี่และระบบกักเก็บพลังงาน เริ่มสายการผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนของโรงงาน SVOLT Thailand และส่งมอบแบตเตอรี่ลิเธียมนิกเกิลแมงกานีสโคบอลต์ออกไซด์ (NMC) ชุดแรกให้กับผู้ให้บริการรถบัสรายใหญ่ที่สุดในไทย ขณะที่โครงการแบตเตอรี่ฟาร์มอิวาเตะ โตโนะ (Iwate Tono) ในญี่ปุ่น มีความคืบหน้าในการก่อสร้างถึง 97% ธุรกิจอีโมบิลิตี้ รถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า MuvMi เดินหน้าขยายเส้นทางการให้บริการอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันได้ให้บริการรับส่งแล้วมากกว่า 13 ล้านเที่ยว ธุรกิจการบริหารจัดการพลังงาน ได้ลงนามในสัญญาบริการจำนวน 25 สัญญาให้แก่ SB Design Square ในจังหวัดภูเก็ต และ SB Design Square CDC ในกรุงเทพฯ นอกจากนี้ หน่วยงาน Corporate Venture Capital ยังได้ลงทุนใน enspired ผู้นำในการพัฒนาแพลตฟอร์มให้บริการซื้อ-ขายพลังงานไฟฟ้าแบบเรียลไทม์ ซึ่งจะช่วยพัฒนาศักยภาพด้านเทคโนโลยี AI ที่จะยกระดับการดำเนินงานในธุรกิจแบตเตอรี่และการซื้อขายพลังงานของบ้านปู เน็กซ์
“BPP จะยังคงเดินหน้าขยายกำลังผลิตไฟฟ้าคุณภาพจากโรงไฟฟ้าที่มีก๊าซธรรมชาติที่มีประสิทธิภาพสูงในการผลิตและลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เพื่อสร้างกระแสเงินสดที่มั่นคง และพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ ให้ตอบสนองต่อความต้องการไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้นและรูปแบบการใช้พลังงานในอนาคต สะท้อนให้เห็นว่า เราคือพันธมิตรที่แข็งแกร่งในการเปลี่ยนผ่านพลังงาน ควบคู่ไปกับการดำเนินธุรกิจโดยยึดหลัก ESG ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการ ที่มุ่งส่งมอบคุณค่าที่ยั่งยืนแก่ผู้ถือหุ้นและผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม” นายอิศรา กล่าวปิดท้าย
ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับธุรกิจ BPP ได้ที่ www.banpupower.com
บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ผู้นำด้านพลังงานที่หลากหลายในระดับนานาชาติ ประกาศผลประกอบการครึ่งปีแรก 2567 ด้วยรายได้จากการขายรวม 2,441 ล้านเหรียญสหรัฐ (*ประมาณ 88,425 ล้านบาท) กำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี และค่าเสื่อมราคา (EBITDA) รวม 650 ล้านเหรียญสหรัฐ (*ประมาณ 23,547 ล้านบาท) และกำไรสุทธิ 69 ล้านเหรียญสหรัฐ (*ประมาณ 2,489 ล้านบาท) บริษัทฯ ยังคงมุ่งเน้นเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานและมาตรการควบคุมต้นทุน เดินหน้าลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ ยกระดับการดำเนินงานด้านเทคโนโลยีดิจิทัล รวมทั้งจัดสรรงบประมาณการลงทุนอย่างรอบคอบเพื่อสร้างความมั่นคงในระยะยาว
นายสินนท์ ว่องกุศลกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Decarbonization) มีความคืบหน้าจากโครงการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture, Utilization and Sequestration: CCUS) ในสหรัฐฯ ที่ทำให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นก๊าซธรรมชาติที่มีคาร์บอนเป็นกลาง (Carbon Sequestered Gas: CSG) ที่สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งใน Scope 1 2 และ 3 ในขณะเดียวกัน เรายังผลักดันการนำเทคโนโลยีดิจิทัลและ AI มาใช้ยกระดับการดำเนินงานในทุกกลุ่มธุรกิจ (Digitalization) เพื่อเสริมประสิทธิภาพในการดำเนินงาน และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับระบบนิเวศภายในบ้านปู รวมทั้งมีการบริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐานและโลจิสติกส์อย่างมีประสิทธิภาพ และขยายโอกาสด้านการขายและการตลาด เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับกลุ่มธุรกิจแหล่งพลังงานในอินโดนีเซีย และสหรัฐฯ”
ในช่วงที่ผ่านมา บริษัทย่อยของบ้านปูในสหรัฐฯ BKV Corporation (BKV) ได้ขายสินทรัพย์ในธุรกิจต้นน้ำและกลางน้ำบางส่วนที่ไม่ใช่ธุรกิจหลักในแหล่งก๊าซธรรมชาติมาร์เซลลัส (Marcellus) ในรัฐเพนซิลเวเนีย สหรัฐฯ มูลค่าประมาณ 132 ล้านเหรียญสหรัฐ การขายสินทรัพย์ในครั้งนี้ทำให้ BKV ยังคงวินัยทางการเงินที่ดีและสามารถมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาทรัพย์สินที่มีผลตอบแทนสูงกว่า ส่วนโครงการ Ponder Solar โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ขนาด 2.5 เมกะวัตต์ ตั้งอยู่ในพื้นที่ในแหล่งก๊าซบาร์เนตต์ รัฐเท็กซัส มีกำหนดเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ในเดือนสิงหาคม 2567 โครงการนี้ถือเป็นก้าวสำคัญที่ BKV จะบรรลุเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกใน Scope 2 จากธุรกิจต้นน้ำและกลางน้ำในธุรกิจก๊าซธรรมชาติที่บริษัทเป็นเจ้าของและดำเนินการเอง ทั้งนี้ การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ของ BKV จะเป็นการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งโดยตรงและทางอ้อม ลดการพึ่งพาการซื้อไฟฟ้าจากภายนอก และใช้พลังงานที่ผลิตเองจากแหล่งพลังงานหมุนเวียน เช่น โครงการ Ponder Solar และการดำเนินโครงการ CCUS เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งของบริษัทและของบริษัทอื่นๆ
สำหรับผลการดำเนินงานของ 3 กลุ่มธุรกิจหลัก ในช่วงครึ่งปีแรก 2567 มีรายละเอียดดังต่อไปนี้
“ด้วยพอร์ตพลังงานที่ครบวงจรและผสมผสานทั้งพลังงานรูปแบบดั้งเดิมและรูปแบบใหม่อย่างสมดุลของบ้านปูในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก เราตั้งเป้าให้แต่ละกลุ่มธุรกิจสามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานได้อย่างแข็งแกร่งเพื่อผลตอบแทนที่มั่นคง สร้างคุณค่าที่ยั่งยืนแก่ผู้มีส่วนได้เสียและร่วมขับเคลื่อนโลกให้ดีขึ้นในทุก ๆ วัน” นายสินนท์ กล่าวปิดท้าย
*หมายเหตุ: คำนวณโดยอ้างอิงอัตราแลกเปลี่ยนถัวเฉลี่ยไตรมาสที่ 1 ปี 2567 ที่ USD 1: THB 35.6601 และ ไตรมาส 2 ปี 2567 ที่ USD 1: THB 36.7083
จาก “ธุรกิจก๊าซธรรมชาติ” ในสหรัฐอเมริกาที่ “บ้านปู” บุกเบิกมาตั้งแต่ปี 2558 บ้านปูเติบโตอย่างต่อเนื่องผ่านการบริหารงานของ BKV-BPP Power, LLC (BKV-BPP Power) ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนในสหรัฐฯ ระหว่างบริษัทย่อยของบริษัท Banpu Power US Corporation (BPPUS) และ BKV Corporation (BKV) และคืบหน้าเข้าสู่ธุรกิจผลิตไฟฟ้าในปี 2565 และธุรกิจค้าปลีกไฟฟ้าในรัฐเท็กซัสในปี 2566 เดินหน้ากลยุทธ์ทางการตลาดเจาะกลุ่มลูกค้าค้าปลีกเชิงพาณิชย์ อุตสาหกรรม และครัวเรือน พร้อมกันนี้ ยังต่อยอดสู่ “โครงการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์” (Carbon Capture, Utilization and Sequestration: CCUS) ผ่านกระบวนการกักเก็บคาร์บอนเพื่อการนำไปใช้ต่อในเชิงพาณิชย์ ภายใต้ชื่อโครงการ Barnett Zero ดำเนินการครั้งแรกโดย BKV ในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา นอกจากนั้นยังสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ขนาด 2.5 เมกะวัตต์ ภายใต้การบริหารจัดการของ BKV-BPP Power พร้อมเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ในเดือนสิงหาคมนี้
แน่นอนว่า การมีธุรกิจครอบคลุมตลอดห่วงโซ่คุณค่าส่งผลให้แต่ละหน่วยธุรกิจของบ้านปูดำเนินงานได้อย่างเชื่อมโยงและมีประสิทธิภาพ ตั้งแต่กระบวนการผลิตจนถึงการส่งมอบพลังงานไฟฟ้า สามารถบริหารจัดการทรัพยากร ลดต้นทุน ควบคุมความเสี่ยง และเพิ่มโอกาสในการสร้างผลกำไร โดยเป้าหมายที่เหนือกว่าการแสวงหาผลกำไร นั่นคือการมุ่งสร้างคุณค่าให้กับผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม (Stakeholder) แสดงถึงความมุ่งมั่นในการเป็นผู้นำในธุรกิจพลังงานที่มีการดำเนินงานครบวงจรด้วยรากฐานแข็งแกร่งอย่างแท้จริง
จุดแข็งทางธุรกิจ ที่สร้างข้อได้เปรียบทางการแข่งขัน
บ้านปูได้สร้างความได้เปรียบในการแข่งขันอย่างแข็งแกร่งหลายปัจจัย เริ่มต้นจากการมีแหล่งก๊าซธรรมชาติ คุณภาพภายใต้การบริหารงานของ BKV ทั้งแหล่งก๊าซบาร์เนตต์ (Barnett) ในรัฐเท็กซัส และแหล่งก๊าซมาร์เซลลัส (Marcellus) ในรัฐเพนซิลเวเนีย ซึ่งมีกำลังผลิตรวมกันถึง 860 ล้านลูกบาศก์ฟุตเทียบเท่าต่อวัน ส่งผลให้ BKV ก้าวสู่การเป็นผู้นำด้านการผลิตก๊าซธรรมชาติ 20 อันดับแรกของสหรัฐฯ ทั้งนี้ BKV ยังดูแลระบบท่อส่งรวม การแยกก๊าซ และการขนส่ง ซึ่งจะช่วยเพิ่มอัตรากำไรและลดต้นทุนการดำเนินงาน อีกทั้งยังสามารถบริหารเวลา ปรับปรุงพัฒนา และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตก๊าซธรรมชาติได้อย่างเต็มที่
ด้วยการสั่งสมประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในธุรกิจ และการแสวงหาโอกาสพัฒนาธุรกิจในห่วงโซ่คุณค่าให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด บริษัทร่วมทุน BKV-BPP จึงได้ขยายพอร์ตธุรกิจสู่การลงทุนในธุรกิจผลิตไฟฟ้าผ่านการเข้าซื้อกิจการของ โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ Temple I และ Temple II ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม (Combined Cycle Gas Turbines: CCGT) ตั้งอยู่ในตลาดไฟฟ้าเสรี ERCOT (Electric Reliability Council of Texas) เขตเหนือ ในเมืองเทมเพิล รัฐเท็กซัส กลยุทธ์การลงทุนในครั้งนี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน แบ่งปันทรัพยากรและองค์ความรู้ รวมทั้งบริหารต้นทุนจากแหล่งผลิตจนถึงกระบวนการผลิตไฟฟ้า ทำให้สามารถบริหารต้นทุนต่อหน่วยได้ต่ำลง และสร้างผลตอบแทนได้สูงขึ้น (Economies of Scale: EOS) โดยโรงไฟฟ้าทั้ง 2 แห่งมีกำลังการผลิตรวมกัน 1,499 เมกะวัตต์ และที่สำคัญ มีทำเลที่ตั้งอยู่ในบริเวณเดียวกัน เอื้อต่อการใช้พื้นที่ส่วนกลางเพื่อประโยชน์สูงสุดต่อธุรกิจ
กระบวนการผลิตไฟฟ้าที่มีเสถียรภาพ เกิดขึ้นได้ด้วยการมีโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่ใช้เทคโนโลยี CCGT ที่ทันสมัยผสมผสานกระบวนการทำงานของกังหันก๊าซ (Gas Turbine) กับกังหันไอน้ำ (Steam Turbine) เพื่อตอบสนองสภาพตลาดที่มีการเปลี่ยนแปลงแบบเรียลไทม์ ทำให้โรงไฟฟ้ามีความพร้อมในการจ่ายไฟในช่วงเวลาที่มีความต้องการสูง เช่น ในช่วงฤดูหนาวและฤดูร้อน โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ Temple I และ Temple II จึงตอบโจทย์ความต้องการในตลาดซื้อขายไฟฟ้าเสรีของ ERCOT และด้วยความพร้อมสู่การเติบโต บ้านปูยังได้เข้าสู่ธุรกิจซื้อขายไฟฟ้า (Power Trading) และธุรกิจค้าปลีกไฟฟ้า (Power Retail) เพื่อจำหน่ายไฟฟ้าโดยตรงให้แก่ผู้บริโภครายย่อย โดยนับตั้งแต่บริษัทร่วมทุน BKV-BPP Power เริ่มกิจการธุรกิจไฟฟ้าค้าปลีกในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ภายใต้ชื่อ BKV Energy ปัจจุบัน มีลูกค้ารายย่อยกว่า 58,000 ราย
ต่อยอดธุรกิจเดิม สร้างมูลค่าเพิ่ม เพื่อผลตอบแทนระยะยาว
จากต้นทุนแหล่งก๊าซธรรมชาติเดิมที่มีอยู่ บ้านปูต่อยอดธุรกิจเพื่อสร้างห่วงโซ่คุณค่าที่แข็งแกร่ง โดยมี BKV dCarbon Ventures, LLC ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ BKV โดยลงทุนใน โครงการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CCUS) อีกหนึ่งความสำเร็จจากการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยในการกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ที่เป็นผลพลอยได้ (Byproduct) จากกระบวนการแยกก๊าซธรรมชาติ โครงการ CCUS ยังช่วยให้เกิดธุรกิจขายก๊าซธรรมชาติที่มีคาร์บอนเป็นกลาง (Carbon-Sequestered Gas: CSG)1 ซึ่งเป็นก๊าซธรรมชาติที่สามารถนำไปจำหน่ายในตลาดด้วยคุณภาพระดับพรีเมียม ทั้งนี้ BKV ได้ทำสัญญากับ ENGIE Energy Marketing NA, Inc ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของบริษัทสาธารณูปโภคด้านพลังงานระดับโลก ENGIE S.A. ในเดือนสิงหาคม 2566 และ Kiewit Infrastructure South Co. บริษัทในเครือของ Kiewit Corporation ในเดือนมิถุนายน 2567 สำหรับการขายและการซื้อ CSG หลังจากบรรลุข้อตกลงนี้แล้ว คาดว่าการส่งมอบ CSG จะเริ่มในปลายปี 2567 เป็นต้นไป
นอกจากนี้ บ้านปูยังมองเห็นโอกาสจากการจัดสรรพื้นที่ที่มีอยู่เดิมในพื้นที่แหล่งก๊าซบาร์เนตต์ รัฐเท็กซัส ก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ (Ponder Solar) ภายใต้การดำเนินงานของบริษัทร่วมทุน BKV-BPP Power ซึ่งพร้อมเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ภายในเดือนสิงหาคม 2567 BKV-BPP Power ยังพิจารณาโอกาสที่จะเข้าซื้อกิจการเพื่อเพิ่มโอกาสในการเติบโตทางธุรกิจพลังงาน เช่น การขยายธุรกิจสู่โครงการแบตเตอรี่และระบบกักเก็บพลังงาน (Battery & Energy Storage System: BESS) หากประสบความสำเร็จ ธุรกิจนี้จะรองรับความต้องการการใช้พลังงานทางเลือกในอนาคต ช่วยให้ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมมุ่งสู่เป้าหมายด้านความยั่งยืนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ของบ้านปู โดยเฉพาะกับกลุ่มลูกค้าองค์กรธุรกิจและอุตสาหกรรมต่าง ๆ ในสหรัฐฯ
นายสินนท์ ว่องกุศลกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “บ้านปูขยายและปรับพอร์ตธุรกิจในสหรัฐฯ อย่างต่อเนื่อง เรามองสหรัฐฯ เป็นประเทศยุทธศาสตร์ที่สำคัญ ดังนั้น การพัฒนาห่วงโซ่ธุรกิจพลังงานที่ครอบคลุม และการแสวงหาโอกาสธุรกิจใหม่ เพื่อสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขัน จะเอื้อประโยชน์ต่อการเติบโตทางธุรกิจพลังงานของบ้านปู ทั้งนี้ เรามีการจัดสรรงบฯ ลงทุนธุรกิจในสหรัฐฯ กว่าร้อยละ 50 ของงบลงทุนในปีนี้ พร้อมความมุ่งมั่นที่จะสร้างคุณค่าในเชิงพาณิชย์ให้กับห่วงโซ่ธุรกิจพลังงาน และคุณค่าในเชิงประสิทธิภาพด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย ตอบโจทย์เป้าหมายทางสิ่งแวดล้อมและการต่อยอดทางธุรกิจอย่างยั่งยืน”
จากความต้องการพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้น เทคโนโลยีที่พัฒนาและเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา รวมถึงนโยบายภาครัฐที่มุ่งเน้นการผลิตพลังงานที่ตอบโจทย์ความยั่งยืน บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BPP ภายใต้การนำของ นายอิศรา นิโรภาส ซีอีโอ BPP ผู้มีความเชี่ยวชาญในธุรกิจพลังงานกว่า 30 ปี จึงมองหาโอกาสที่จะเดินหน้าเติบโตท่ามกลางความท้าทายต่าง ๆ โดยประกาศแนวทางการดำเนินธุรกิจ “Beyond Megawatts Portfolio” เพื่อขยายขอบเขตการดำเนินธุรกิจโดยเพิ่มการลงทุนในโครงการที่ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานและระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ การต่อยอดธุรกิจไฟฟ้าที่มีอยู่ รวมทั้งการผลิตพลังงานในรูปแบบอื่น ๆ
นายอิศรา นิโรภาส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BPP กล่าวว่า “ในฐานะที่เป็นผู้ผลิตพลังงานไฟฟ้าคุณภาพ ตลอดระยะเวลาเกือบ 30 ปีที่ผ่านมา BPP มุ่งมั่นสร้างความยั่งยืนด้านพลังงานไฟฟ้าที่มีความสมดุลทั้ง 3 ด้าน คือ สามารถเข้าถึงได้ด้วยราคาที่เหมาะสม (Affordable) สามารถส่งมอบได้อย่างต่อเนื่อง (Reliable) และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Eco-Friendly) จากนี้ต่อไป นอกจากจะรักษาจุดยืนนี้แล้ว BPP ยังพร้อมขยายขอบเขตของธุรกิจให้กว้างขวางขึ้นไปกว่าการเพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้า ตามแนวทาง ‘Beyond Megawatts Portfolio’ เพื่อเปิดประตูสู่โอกาสเติบโตจากธุรกิจใหม่ ๆ ที่จะมีส่วนพัฒนาโซลูชันพลังงานที่ยั่งยืนและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยเชื่อมั่นในจุดแข็งที่จะทำให้ BPP เดินทางตามแนวทางใหม่นี้ได้”
จุดแข็งเพื่อขับเคลื่อนให้ BPP ก้าวขึ้นเป็นผู้ผลิตพลังงานตามแนวทาง Beyond Megawatts Portfolio
“การดำเนินธุรกิจตามแนวทาง Beyond Megawatts Portfolio จะทำให้ BPP เติบโตอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืน โดยตั้งเป้าว่าในปี 2030 (พ.ศ. 2573) เราจะได้เห็นพอร์ตธุรกิจของ BPP ที่ยังคงความเชี่ยวชาญในธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้า และมีความคืบหน้าในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับพลังงานอื่น ๆ ที่สอดรับกับเทรนด์ของพลังงานแห่งอนาคต ในฐานะบริษัทผู้ผลิตพลังงานที่ยั่งยืน (Sustainable Energy Generation Company) เหนือสิ่งอื่นใด BPP ยังคงมุ่งมั่นดำเนินธุรกิจภายใต้หลัก ESG ที่คำนึงถึงทั้งการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การพัฒนาสังคมและชุมชน รวมถึงการกำกับดูแลกิจการให้มี
ความเป็นธรรม โปร่งใส และตรวจสอบได้ เช่น การได้รับการต่ออายุเป็นสมาชิกแนวร่วมต่อต้านคอร์รัปชันของภาคเอกชนไทย (Thai Private Sector Collective Action Against Corruption: CAC) และการสื่อสารนโยบายการกำกับดูแลกิจการไปยังพนักงานในองค์กรทุกระดับอย่างสม่ำเสมอ” นายอิศรา กล่าวสรุป
บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) เข้ารับโล่เกียรติยศ “คนดี รักษ์โลก” ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 โดยมี นายจิรเมธ อัชชะ ผู้ช่วยประธานเจ้าหน้าที่บริหาร – บริหารและพัฒนาองค์กร (ซ้ายสุด) เป็นตัวแทนรับมอบโล่เกียรติยศฯ จากศาสตราจารย์พิเศษ พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา (ที่ 2 จากซ้าย) ซึ่งมอบให้กับองค์กรที่มีแนวปฏิบัติที่ดีต่อสิ่งแวดล้อมและมีส่วนอนุรักษ์และรักษาสิ่งแวดล้อม ตอกย้ำการดำเนินธุรกิจตามหลัก ESG (Environmental, Social and Governance) เพื่อส่งมอบพลังงานที่ยั่งยืนควบคู่การรักษาสิ่งแวดล้อมในทุกพื้นที่ที่ดำเนินธุรกิจ
โล่เกียรติยศ “คนดี รักษ์โลก” จัดขึ้นโดยคณะกรรมาธิการการศาสนา คุณธรรม จริยธรรม ศิลปะและวัฒนธรรม วุฒิสภา เพื่อเชิดชูเกียรติองค์กรที่มีหลักการและแนวปฏิบัติที่ดีในการขับเคลื่อนและตระหนักรู้ถึงความสำคัญของการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ รวมทั้งมีการดำเนินงานที่มีหลักการและแนวปฏิบัติที่ดีต่อสิ่งแวดล้อม