มีองค์กรในไทยเพียง 9 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่มี ‘ความพร้อมเต็มที่’ (Mature) ในการรับมือกับความเสี่ยงด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้ยุคใหม่ ตามที่ระบุไว้ในรายงานดัชนี “ความพร้อมด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้ (Cybersecurity Readiness Index) ประจำปี 2567” ของซิสโก้
รายงานดัชนี “ความพร้อมด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้ประจำปี 2567” ของซิสโก้ ได้รับการจัดทำขึ้นในยุคที่มีการเชื่อมต่อถึงกันอย่างหลากหลาย (hyperconnectivity) และสถานการณ์ภัยคุกคามมีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว ทุกวันนี้ บริษัทต่างๆ ยังคงตกเป็นเป้าหมายการโจมตีด้วยเทคนิคที่แตกต่างมากมาย ตั้งแต่ฟิชชิ่งและแรนซัมแวร์ ไปจนถึงการโจมตีจากซัพพลายเชนและโซเชียล เอนจิเนียริ่ง ถึงแม้ว่าองค์กรต่างๆ จะมีการติดตั้งระบบรักษาความปลอดภัยเพื่อป้องกันการโจมตีเหล่านี้ แต่ก็ยังคงประสบปัญหาในการป้องกันภัยคุกคามอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งมาตรการรักษาความปลอดภัยที่มีความซับซ้อนมากจนเกินไป เนื่องจากมีการติดตั้งโซลูชั่นเฉพาะจุดจำนวนมาก ก็ส่งผลให้องค์กรประสบความยากลำบาก ปัญหาท้าทายเหล่านี้เกิดขึ้นในสภาพแวดล้อมการทำงานแบบกระจายในปัจจุบัน ซึ่งข้อมูลสามารถแพร่กระจายไปยังการให้บริการ อุปกรณ์ แอปพลิเคชั่น และผู้ใช้จำนวนมากอย่างไม่จำกัด อย่างไรก็ตาม 89% ของบริษัทที่ตอบแบบสอบถามยังคงรู้สึกมั่นใจใน ‘ระดับปานกลางถึงระดับสูงมาก’ เกี่ยวกับความสามารถในการป้องกันการโจมตีทางไซเบอร์ด้วยโครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่ในปัจจุบัน ความแตกต่างระหว่าง ‘ความเชื่อมั่น’ และ ‘ความพร้อม’ นี้ชี้ให้เห็นว่าบริษัทต่างๆ อาจมีความมั่นใจที่ผิดเกี่ยวกับความสามารถของตนเองในการรับมือกับภัยคุกคาม และอาจไม่สามารถประเมินความรุนแรงที่แท้จริงของปัญหาท้าทายกำลังเผชิญอยู่ได้อย่างถูกต้อง
รายงานดัชนี “ความพร้อมด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้ประจำปี 2567” ของซิสโก้: บริษัทที่ ‘ไม่เตรียมพร้อมและมีความมั่นใจมากเกินไป’ ต้องเผชิญและรับมือกับภัยคุกคามที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
รายงานดัชนีนี้ประเมินความพร้อมของบริษัทใน 5 ด้านที่สำคัญ ได้แก่ ระบบอัจฉริยะด้านข้อมูลบุคคล, ความยืดหยุ่นของเครือข่าย, ความน่าเชื่อถือของแมชชีน, ความแข็งแกร่งของคลาวด์ และการเสริมกำลังด้วย AI ซึ่งประกอบด้วยโซลูชั่นและฟีเจอร์ที่เกี่ยวข้อง 31 รายการ โดยอิงจากการสำรวจความคิดเห็นแบบปกปิดสองทาง (Double-Blind) ของผู้บริหารฝ่ายรักษาความปลอดภัยและฝ่ายธุรกิจขององค์กรเอกชนมากกว่า 8,000 คนใน 30 ประเทศทั่วโลก โดยการสำรวจความคิดเห็นครั้งนี้ดำเนินการโดยองค์กรอิสระ ผู้ตอบแบบสอบถามถูกขอให้ระบุว่ามีโซลูชั่นและฟีเจอร์ใดบ้างที่พวกเขาได้ติดตั้งใช้งาน รวมถึงระดับของการใช้งาน จากนั้นบริษัทต่างๆ ถูกแบ่งกลุ่มตามระดับความพร้อม 4 ระดับ ได้แก่ ระดับ Beginner (ระดับเริ่มต้น), Formative (ระดับสร้างฐานความพร้อม), Progressive (ระดับก้าวหน้า) และ Mature (ระดับพร้อมเต็มที่)
จีทู พาเทล, รองประธานบริหารและผู้จัดการทั่วไปฝ่ายระบบรักษาความปลอดภัยและการทำงานร่วมกันของซิสโก้ กล่าวว่า “เราไม่ควรละเลยความเสี่ยงจากภัยคุกคามที่เกิดจากความมั่นใจเกินไปของเรา องค์กรในปัจจุบันจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการลงทุนในแพลตฟอร์มแบบครบวงจร และนำ AI มาใช้เพื่อการดำเนินการของแมชชีน ซึ่งท้ายที่สุดแล้วจะช่วยให้องค์กรมีความได้เปรียบในการป้องกันมากขึ้น”
ข้อมูลที่พบจากผลการศึกษาโดยรวมแล้ว จากผลการศึกษาพบว่า บริษัทในไทยมีเพียง 9 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่พร้อมรับมือกับภัยคุกคามในปัจจุบัน โดยองค์กรมากกว่าครึ่งหนึ่ง (54%) มีความพร้อมในระดับเริ่มต้น หรือระดับสร้างฐานของความพร้อม ขณะที่บริษัทต่างๆ ทั่วโลก 3% มีระดับความพร้อมเต็มที่ นอกจากนั้น:
· เหตุการณ์ทางไซเบอร์ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต: 65% ของผู้ตอบแบบสอบถาม คาดการณ์ว่า เหตุการณ์ด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้จะทำให้ธุรกิจของพวกเขาหยุดชะงักใน 12 ถึง 24 เดือนข้างหน้า การที่องค์กรขาดความพร้อมอาจส่งผลให้เกิดความเสียหายที่มีมูลค่าสูงมาก โดยผู้ตอบแบบสอบถาม 51% กล่าวว่าพวกเขาประสบกับเหตุการณ์ด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา และ 69% ขององค์กรที่ได้รับผลกระทบระบุว่าปัญหาที่เกิดขึ้นสร้างความเสียหายอย่างน้อย 300,000 ดอลลาร์
· การติดตั้งโซลูชั่นเฉพาะจุดมากเกินไป: แนวทางแบบเดิมๆ ในการติดตั้งโซลูชั่นเฉพาะจุดจำนวนมากสำหรับการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ไม่ได้ให้ผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพ โดย 92% ของผู้ตอบแบบสอบถามยอมรับว่าการมีโซลูชั่นเฉพาะจุดจำนวนมากส่งผลให้ทีมทำงานได้ช้าลงในการตรวจจับการโจมตี การตอบสนอง และการกู้คืนระบบ ซึ่งก่อให้เกิดความกังวลใจเป็นอย่างมาก โดย 75% ขององค์กรกล่าวว่าพวกเขาได้ติดตั้งโซลูชั่นด้านการรักษาความปลอดภัยแบบเฉพาะจุด 10 โซลูชั่นขึ้นไป ขณะที่ 35% มีอย่างน้อย 30 โซลูชั่น
· อุปกรณ์ที่ ‘ไม่ปลอดภัย’ และ ‘ไม่มีการจัดการ’ สร้างความซับซ้อนเพิ่มมากขึ้น: 94% ของบริษัทกล่าวว่าพนักงานของตนเข้าถึงแพลตฟอร์มของบริษัทจากอุปกรณ์ที่ไม่มีการจัดการ และ 42% ของบริษัทเหล่านั้นใช้เวลาหนึ่งในห้า (20%) ในการล็อกออนเข้าสู่ระบบเครือข่ายของบริษัทจากอุปกรณ์ที่ไม่มีการจัดการ นอกจากนี้ 26% รายงานว่าพนักงานมีการสลับไปมาระหว่างเครือข่ายต่างๆ อย่างน้อยหกเครือข่ายในหนึ่งสัปดาห์
· การขาดแคลนบุคลากรทางไซเบอร์อย่างต่อเนื่อง: องค์กรต่างๆ ไม่สามารถพัฒนาด้านความปลอดภัยอย่างเต็มศักยภาพเนื่องจากขาดแคลนบุคลากรที่มีความสามารถ โดยบริษัท 91% เน้นย้ำว่าปัญหานี้นับเป็นเรื่องสำคัญ และที่จริงแล้ว บริษัท 43% พบว่าพวกเขายังคงขาดแคลนบุคลากรในตำแหน่งงานที่เกี่ยวกับการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์มากกว่า 10 อัตราในช่วงที่มีการสำรวจความคิดเห็น
· การลงทุนด้านไซเบอร์ที่เพิ่มขึ้นในอนาคต: บริษัทต่างๆ ตระหนักถึงปัญหาท้าทายดังกล่าว และกำลังดำเนินการเพื่อยกระดับการป้องกัน โดย 65% มีแผนที่จะอัปเกรดโครงสร้างพื้นฐานด้านไอทีครั้งใหญ่ใน 12 ถึง 24 เดือนข้างหน้า ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดจาก 47% ที่วางแผนจะทำเช่นนั้นในปีที่แล้ว โดยองค์กรต่างๆ วางแผนที่จะอัปเกรดโซลูชั่นที่มีอยู่ (70%) ปรับใช้โซลูชั่นใหม่ (53%) และลงทุนในเทคโนโลยีที่ขับเคลื่อนด้วย AI (61%) นอกจากนี้ เกือบทั้งหมด (99%) ของบริษัทที่ตอบแบบสอบถามคาดว่าจะเพิ่มงบประมาณด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้ใน 12 เดือนข้างหน้า และ 94% กล่าวว่างบประมาณของพวกเขาจะเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 10%
เพื่อเอาชนะปัญหาท้าทายเกี่ยวกับสถานการณ์ภัยคุกคามในปัจจุบัน บริษัทต่างๆ ต้องเร่งดำเนินการลงทุนที่สำคัญในระบบรักษาความปลอดภัย รวมถึงการใช้มาตรการรักษาความปลอดภัยที่เป็นนวัตกรรมใหม่, การปรับใช้แนวทางแพลตฟอร์มการรักษาความปลอดภัย, การเสริมความยืดหยุ่นของเครือข่าย, การใช้งาน Gen AI อย่างเหมาะสม และเพิ่มบุคลากรที่มีความสามารถเพื่อลดช่องว่างของทักษะด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้
วีระ อารีรัตนศักดิ์ กรรมการผู้จัดการ ซิสโก้ ประเทศไทย และเมียนมาร์ กล่าวว่า “สถานการณ์ภัยคุกคามในปัจจุบันมีความซับซ้อนมากขึ้น ขณะที่บริษัทต่างๆ ทั่วโลก รวมถึงในประเทศไทย ยังไม่มีการเตรียมความพร้อมอย่างเพียงพอ รายงานดัชนีความพร้อมด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้ล่าสุดของเราเปิดเผยว่า บริษัทในไทยเพียง 9% เท่านั้นที่มี ‘ความพร้อมอย่างเต็มที่’ ในการรับมือกับความเสี่ยงด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้ยุคใหม่ ซึ่งลดลงจากปี 2566 ที่องค์กรมีความพร้อมอยู่ที่ 27% องค์กรธุรกิจในไทยจึงจำเป็นที่จะต้องปรับใช้แนวทางแพลตฟอร์มแบบหลายทาง (multi-pronged platform approach) เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้ ตั้งแต่การลงทุนในมาตรการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ ไปจนถึงการใช้ประโยชน์จาก Gen AI เพื่อปรับปรุงระบบรักษาความปลอดภัย ลดช่องว่างด้านบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้ และวางรากฐานสำหรับการเตรียมความพร้อมในทุกๆ ส่วนทั่วทั้งองค์กร”
นักลงทุนรุ่นใหม่เผยความคิดเห็นว่าบิทคอยน์มีโอกาสจะเข้าสู่ภาวะ Supply Shock และการเกิด Bitcoin Halving เป็นแรงผลักดันราคาบิทคอยน์ ขณะที่ทองคำสามารถปรับตัวสูงขึ้นได้ทั้งที่ค่าเงินดอลลาร์ยังไม่อ่อนค่ามากนัก ทำให้สองสินทรัพย์นี้ยังมีความน่าสนใจแม้ราคาจะขึ้นมาสร้างจุดสูงสุดใหม่ ขณะที่ตลาดหุ้นจีนเริ่มกลับตัวเป็นขาขึ้นสามารถทยอยลงทุนได้
นายณพวีร์ พุกกะมาน นักลงทุนและผู้ก่อตั้ง Creative Investment Space (CIS) สถาบันให้ความรู้ด้านนวัตกรรมการลงทุนรูปแบบใหม่ เปิดเผยว่า ทั้งทองคำและบิทคอยน์ ซึ่งเป็นสินทรัพย์ที่มีคุณลักษณะใกล้เคียงกัน และยังสามารถขึ้นไปสร้างจุดสูงสุดใหม่ของราคาได้ในเวลาไล่เลี่ยกัน ถือว่ามีความน่าสนใจในการลงทุนแม้ราคาในช่วงนี้จะขึ้นมาสูงก็ตาม โดยปัจจัยหนุนราคาบิทคอยน์ คือการที่นักลงทุนรายใหญ่ระดับสถาบันเข้ามาลงทุนในบิทคอยน์ด้วยการไล่ซื้อในตลาด Spot ผ่านกองทุน Bitcoin ETF มากขึ้น จากความคาดหวังว่าหลังการเกิด Bitcoin Halving ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นในช่วงสัปดาห์ที่สามของเดือนเมษายน ราคาจะปรับตัวเป็นขาขึ้นเต็มตัวตามสถิติเดิมที่เกิดขึ้นในอดีต
ทั้งยังมีสถิติด้วยว่าตลอดระยะเวลาหนึ่งสัปดาห์ก่อนหน้ากองทุน Bitcoin ETF ได้เข้าซื้อบิทคอยน์กว่า 10,000BTC ขณะที่มีจำนวนบิทคอยน์ที่ออกมาสู่ตลาดในหนึ่งวันเพียง 900BTC ซึ่งหลัง Bitcoin Halving จำนวนบิทคอยน์ที่ออกสู่ตลาดจะลดลงครึ่งหนึ่ง อาจเป็นเหตุผลให้นักลงทุนรายใหญ่รีบเข้ามาเก็บบิทคอยน์ก่อนที่จะไม่สามารถหาซื้อในตลาดรองได้อีก
“ความกังวลว่าจะเกิดภาวะ Supply Shock ของบิทคอยน์น่าจะเป็นแรงจูงใจให้นักลงทุนรายใหญ่เร่งสะสมบิทคอยน์ก่อนที่จะเกิด Bitcoin Halving ซึ่งต้นทุนของนักลงทุนรายใหญ่เหล่านี้จะอยู่ตั้งแต่ระดับ 45,000 – 50,000 ดอลลาร์ เมื่อเทียบกับราคาในปัจจุบันที่ใกล้เคียงกับจุดสูงสุดเดิมที่ระดับ 69,000 ดอลลาร์ แม้จะมีกำไรแล้วแต่อัพไซด์ในอนาคตหลัง Bitcoin Halving มีโอกาสที่จะขึ้นสู่ระดับแสนดอลลาร์ขึ้นไปทำให้แนวโน้มราคาบิทคอยน์ยังสามารถที่จะปรับตัวขึ้นต่อได้”
ทั้งนี้การที่ราคาปรับฐานลงมาประมาณ 15% หลังขึ้นไปทดสอบจุดสูงสุดเป็นสัญญาณเตือนว่าแม้ตลาดจะเป็นขาขึ้น บิทคอยน์ยังมีโอกาสที่จะปรับฐานลงมาได้ตลอดเวลา นักลงทุนจึงยังจำเป็นต้องบริหารความเสี่ยงอย่างต่อเนื่อง โดยรอจังหวะเข้าซื้อเมื่อราคาย่อตัวลงมากกว่าไปรีบไล่ราคา
ขณะที่เหรียญทางเลือก หรือ Altcoin ที่น่าสนใจในการลงทุนคือ Ethereum ซึ่งกำลังมีสตอรี่ของการตัดสินใจของ ก.ล.ต.สหรัฐอเมริกา ว่าจะอนุมัติกองทุน Ethereum ETF แบบเดียวกับบิทคอยน์หรือไม่ ประกอบกับการอัพเกรดใหม่ที่จะเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของบล็อกเชนให้ดีขึ้น จึงสามารถทยอยสะสมลงทุนได้
ขณะที่ทองคำสามารถที่จะขึ้นไปทดสอบจุดสูงสุดเดิมที่ระดับ 2,140 ดอลลาร์ ได้สำเร็จ ทั้งที่ดัชนีค่าเงินดอลลาร์ไม่ได้แข็งค่าขึ้นเท่าที่ควร ประกอบกับตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ประกาศออกมาไม่ได้แสดงให้เห็นถึงความอ่อนแอที่จะทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ ต้องรีบปรับลดดอกเบี้ยเร็วกว่าที่ประกาศไว้ก่อนหน้านี้ ถ้าหากคณะกรรมการนโยบายการเงินมีการลดดอกเบี้ยน่าจะยิ่งเป็นแรงผลักดันให้กับราคาทองคำสามารถปรับตัวขึ้นต่อได้
ด้านสินทรัพย์อื่น ๆ เช่น หุ้นเทคโนโลยี อาจจะเริ่มมีอัพไซด์ที่จำกัด แม้ว่าผลประกอบการของหุ้นที่เกี่ยวข้องกับเอไอจะยังเติบโตได้อย่างดี แต่การที่ราคาปรับตัวขึ้นมาค่อนข้างมากอาจทำให้นักลงทุนบางส่วนอาจย้ายเงินลงทุนไปยังกลุ่มอื่น ถ้าจะลงทุนในหุ้นเทคโนโลยีขนาดใหญ่ต้องรอให้ราคาย่อตัวและจับจังหวะซื้อขายเก็งกำไรไปก่อน ส่วนหุ้นเทคโนโลยีกลุ่มรถยนต์ไฟฟ้ายังประสบปัญหาการแข่งขันตัดราคาจึงยังไม่น่าสนใจลงทุนตอนนี้
สำหรับสินทรัพย์ที่น่าสนใจในเดือนมีนาคมนี้ คือตลาดหุ้นจีน ทั้งตลาดในแผ่นดินใหญ่และตลาดฮ่องกงที่สัญญาณทางเทคนิคเริ่มเห็นภาพการกลับตัวเป็นขาขึ้นหลังจากที่แนวโน้มเป็นขาลงมาหลายปี สำหรับผู้ที่ยังไม่มีพอร์ตหุ้นจีนสามารถที่จะเริ่มต้นสะสมได้ ส่วนผู้ที่ลงทุนมาแล้วก่อนหน้านี้และยังมีเงินสดสามารถที่จะเข้าซื้อเพื่อถัวราคาได้แล้ว
ปัจจัยอื่นที่ต้องจับตา คือความเคลื่อนไหวของการคัดเลือกผู้รับสมัครตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่เริ่มต้นขึ้น โดยมุมมองของผู้รับสมัครที่มีต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ และนโยบายการเมืองระหว่างประเทศจะส่งผลต่อภาวะตลาดได้เช่นกัน โดยอาจจะมีความผันผวนมากขึ้นถ้าหากได้ตัวผู้สมัครที่ชัดเจนและเริ่มมีการประกาศนโยบายของตัวเองออกมา อย่างไรก็ตามยังไม่เห็นปัจจัยลบอื่นที่จะเกิดขึ้นในช่วงหลังจากนี้ จึงยังมีมุมมองเชิงบวกต่อการลงทุนในเดือนมีนาคมที่น่าจะยังสามารถสร้างผลตอบแทนได้ดี
CIS 2023 - Corporate Innovation Summit งานสัมมนาด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมแบบลงมือทำที่ครั้งใหญ่ในเอเชีย จัดโดย RISE สถาบันเร่งสปีดนวัตกรรมองค์กร กำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 14-15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566 ณ ทรู ดิจิทัล พาร์ค
RISE เผยถึงธีมหลักของการจัดงานปีนี้ คือ “Accelerating Growth While Saving The World” ที่ต้องการเน้นย้ำถึงความสำคัญของการพัฒนาธุรกิจและประเทศไทย รวมถึงภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างยั่งยืน โดยการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ในการดำเนินงานเพื่อสร้างความเติบโตทางธุรกิจแบบ ก้าวกระโดด และการพัฒนาธุรกิจควบคู่ไปกับการสร้างความยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องกับพันธกิจหลักของ RISE ในการขับเคลื่อน 1% GDP ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และการลดอัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนของโลกให้ได้ 1%
ในปีนี้ RISE มุ่งขยายความสำเร็จจากงานในปีก่อนๆ โดยมีผู้บริหารระดับสูงและเจ้าของธุรกิจเข้าร่วมงานกว่า 2,000 คน สปีกเกอร์ระดับโลกมากกว่า 100 คน และเวิร์คช็อปมากกว่า 60 หัวข้อ รวมไปถึง โชว์เคสสตาร์ทอัพที่มีเทคโนโลยีขั้นสูงกว่า 60 บริษัทจากทั่วโลก
ทั้งนี้ สปีกเกอร์ซึ่งถือเป็นหนึ่งในไฮไลท์ของงาน CIS 2023 คือ
- Chris Cowart, Managing Director จาก Nomura-SRI Innovation Center ผู้อยู่เบื้องหลังการสร้าง Siri ใน iPhone, อดีต Associate Partner ของ IDEO บริษัทที่ปรึกษาด้านการดีไซน์ระดับโลกที่อยู่เบื้องหลังนวัตกรรมเม้าส์คอมพิวเตอร์ตัวแรกของโลก
- Lake Dai ศาสตราจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิด้าน AI จาก Carnegie Mellon University ที่ได้รับการยกย่องให้เป็นมหาวิทยาลัยอันดับ 1 ด้าน AI ของโลกและเจ้าของ #RealAIusecases ผู้วิเคราะห์ผลกระทบของ AI ต่อกลยุทธ์ธุรกิจในหลากหลายอุตสาหกรรมและนำเสนอหนทางรอดของมวลมนุษยชาติ
- Christopher Mowry, CEO, Type One Energy, บริษัทพลังงานสะอาดแรกของโลก ที่มีแผนนำเอานิวเคลียร์ฟิวชั่นมาให้บริการกับผู้บริโภค โดยได้รับเงินให้เปล่าจากกระทรวงพลังงานสหรัฐฯ และได้รับเงินลงทุนจาก Breakthrough Energy Ventures ของ Bill Gates
- Michelle Khoo, Center Leader of Center of the Edgte จาก Deloitte SG ที่เป็นบริษัทให้คำปรึกษาแนวหน้าที่ตั้งขึ้นมาเฉพาะเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงโลกจากโอกาสทางธุรกิจและเทคโนโลยี
- 2 ผู้บริหารบริษัทเทคโนโลยีระดับโลก เช่น Jackie Wang, Country Director, Google Thailand และ แพร ดำรงค์มงคลกุล Country Director ประจำ Meta Thailand
CIS 2023 จะดำเนินไปภายใต้ 5 หัวข้อหลัก ได้แก่ Corporate Innovation, Sustainability, Deep Technology, People Transformation และ Future of Investment ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นความเคลื่อนไหวของโลกที่มีอิทธิพลต่อการขับเคลื่อนโลกไปข้างหน้าอย่างยั่งยืน
นักลงทุนรุ่นใหม่ วิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานบิทคอยน์ดีขึ้น เมื่อเทียบกับปัจจัยพื้นฐานในช่วงการ Halving รอบก่อน
ซีไอเอส เผยราคาทองคำยังมีปัจจัยพื้นฐานหนุนราคาขึ้นต่อได้ในระยะยาว