January 22, 2025

NT ขานรับนโยบายชาติ เร่งจัดทำระบบ Cell Broadcast Center (CBC) พัฒนาระบบแจ้งเตือนภัยฉุกเฉินผ่านโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ให้พร้อมตอบโจทย์ลดความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินของคนในประเทศ

ภาครัฐโดยนโยบายของ นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมในการยกระดับความมั่นคงปลอดภัยของประเทศและการพัฒนาเมืองน่าอยู่ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ได้ให้ความสำคัญในการจัดตั้งและพัฒนาระบบแจ้งเตือนภัยฉุกเฉินผ่านเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Cell Broadcast Service: CBS) เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ที่เกิดเหตุได้รับทราบข้อมูลอย่างทันท่วงทีผ่านช่องทางโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งภาพรวมของ CBS ประกอบด้วยระบบ Cell Broadcast Center (CBC) ที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ให้การสนับสนุนงบประมาณแก่ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ (AWN TUC และ NT) ในการจัดทำพัฒนาระบบ CBC ให้ทำงานร่วมกับระบบ Cell Broadcast Entity (CBE) ของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ที่ทำหน้าที่ในการกำหนดเนื้อหาข้อความเตือนภัยและวิธีปฏิบัติในการบรรเทาสาธารณภัยต่าง ๆ เพื่อส่งไปยังประชาชนในพื้นที่ภัยพิบัติ

ในส่วนของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม นายณัฐพล ณัฏฐสมบูรณ์ รองปลัดฯ กล่าวว่า กระทรวงฯ บูรณาการร่วมกับ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ในการจัดทำโครงสร้างพื้นฐานของระบบ CBE ประกอบไปด้วย ระบบคลาวด์ และระบบเครือข่ายที่เชื่อมโยงระหว่าง CBE กับ CBC ของผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทุกราย รวมถึงการเชื่อมโยงระหว่าง CBE กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแจ้งเตือน อาทิ ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ กรมป้องกันและบรรเทาสาธาณภัย กรมอุตุนิยมวิทยา กระทรวงสาธารณสุข กรุงเทพมหานคร และกรมชลประทาน เป็นต้น ตามแผนภาพรวมคาดว่าระบบ CBS ดังกล่าวจะแล้วเสร็จภายในไตรมาสที่ 2 ของปี 2568

บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT โดย ดร.ณัฏฐวิทย์ สุฤทธิกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ เปิดเผยว่า NT จึงได้เร่งดำเนินการระบบ CBC เพื่อเตรียมความพร้อมในการส่งข้อความเตือนภัยฉุกเฉินให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง รวดเร็ว แม่นยำ เกิดผลสัมฤทธิ์ในการลดความสูญเสียของประชาชนในภาพรวม และให้การจัดทำระบบ CBC อยู่ในกรอบเวลาตามแผนภาพรวม

โดยเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2567 NT ได้เข้าร่วมในการทดสอบระบบการแจ้งเตือนภัยผ่านเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ กสทช. ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดขึ้น ณ ศาลากลาง จังหวัดภูเก็ต ในลักษณะเสมือนจริง แบ่งการทดสอบออกเป็น 2 รูปแบบ ประกอบด้วย รูปแบบของ Government Domain โดยกระทรวงดีอี และ ปภ. และรูปแบบ Network Domain โดย กสทช. ซึ่งการทดสอบดังกล่าวได้ผลสัมฤทธิ์ตามเป้าหมาย และด้วยศักยภาพของระบบที่สามารถแจ้งเหตุฉุกเฉินและเตือนภัยแก่ประชาชนได้อย่างทันท่วงทีนี้เอง ทำให้เชื่อมั่นได้ว่าจะสามารถสร้างความปลอดภัยให้แก่ประชาชนและนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาสู่ประเทศไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ

“ NT มีความตั้งใจและมีความพร้อมที่จะนำบริการด้านดิจิทัลและสื่อสารโทรคมนาคมประเภทต่าง ๆ ที่มีอยู่มาสนับสนุนโครงการระบบแจ้งเตือนภัยฉุกเฉินผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งเป็นความร่วมมือกันของทั้งภาครัฐและเอกชนในการช่วยกันดูแลประชาชนด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยได้อย่างเป็นรูปธรรมที่เกิดประโยชน์ต่อชีวิตและทรัพย์สิน ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความสำเร็จในภาพรวมอันเป็นรากฐานของการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต”

ทรู คอร์ปอเรชั่น เผยความสำเร็จทดสอบ “Cell Broadcast” ระบบแจ้งเตือนภัยฉุกเฉินผ่านจอมือถือสำเร็จในห้องแลปเมื่อ 15 มกราคมที่ผ่านมา กำลังเจรจาความร่วมมือกับ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงาน กสทช. และกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) หวังเปิดระบบให้คนไทยได้รับทราบข้อมูลเหตุฉุกเฉิน 5 ระดับทุกพื้นที่ทั่วไทย แบบเจาะจงพื้นที่เกิดภัยพิบัติเพื่อความปลอดภัย อาทิ ภัยแผ่นดินไหว ภัยสึนามิ ภัยน้ำท่วม เป็นต้น เป้าหมายเพื่อป้องกันอันตรายความเสี่ยงทั้งชีวิตและทรัพย์สินทั้งผู้ใช้งานคนไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติ

นายจักรกฤษณ์ อุไรรัตน์ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านกิจการองค์กร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า “เราเดินหน้าทดสอบระบบแจ้งเตือนภัยฉุกเฉิน หรือ Cell Broadcast ในห้องทดสอบปฏิบัติการ (Lab test) เป็นผลสำเร็จเมื่อ 15 มกราคมที่ผ่านมา โดยนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อเพิ่มความปลอดภัยและลดความเสี่ยงในสถานการณ์ฉุกเฉินของผู้ใช้งานมือถือทรูและดีแทคทั่วประเทศไทย โครงการริเริ่มนี้ตอกย้ำความมุ่งมั่นของทรู คอร์ปอเรชั่น ด้านความปลอดภัยสาธารณะผ่านนวัตกรรมโซลูชันโทรคมนาคม ขณะนี้อยู่ระหว่างเจรจาร่วมมือกับภาครัฐเพื่อนำไปใช้งานจริง ซึ่งระบบนี้ประเทศไทยยังไม่เคยนำมาใช้งาน นับเป็นความสำเร็จก้าวแรกที่ทางทรู คอร์ปอเรชั่นเร่งเดินหน้าพัฒนาและร่วมมือสู่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงาน กสทช. และกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เพื่อเปิดใช้งานโดยเร็ว”

ระบบแจ้งเตือนภัยฉุกเฉิน หรือ Cell Broadcast คือระบบแจ้งเตือนภัยผ่านข้อความบนหน้าจอมือถือ จากเสามือถือทุกพื้นที่ทั่วไทย และสามารถเจาะจงพื้นที่เฉพาะที่เกิดเหตุและสถานการณ์ฉุกเฉินได้ทันที ซึ่งจะส่งข้อความเตือนไปยังมือถือของลูกค้าทรู และดีแทค ทุกเครื่องในพื้นที่ต้องการแจ้งเหตุซึ่งต่างจากระบบ SMS ทั่วไป เพราะระบบจะแจ้งเตือนทันทีแม้ปิดเครื่อง โดยจะมีทั้งสัญญาณเสียง และข้อความที่แสดง (Pop up) บนหน้าจอ แจ้งเหตุด่วนเหตุร้ายให้ทราบพร้อมกันแบบรอบเดียว ทำให้ผู้ใช้งานมือถือทุกท่านทราบข้อมูลอย่างรวดเร็วครอบคลุมพื้นที่ แค่มีมือถือเท่านั้นไม่ต้องโหลดแอปพลิเคชันใดๆ สามารถได้รับการแจ้งเหตุทันที

ระบบแจ้งเตือนภัยฉุกเฉิน หรือ Cell Broadcast ของทรู คอร์ปอเรชั่นสามารถตั้งระดับการเตือน 5 ระดับตามฟังก์ชั่นการใช้งานและร่วมมือกับภาครัฐ ประกอบด้วย

  1. การแจ้งเตือนระดับชาติ (National Alert) การแจ้งเตือนระดับสูงสุด ความสำคัญมากสุด และทุกคนในทุกพื้นที่เสาสัญญาณครอบคลุมจะทราบเหตุทันที
  2. การแจ้งเตือนเหตุฉุกเฉิน (Emergency Alert) การแจ้งเตือนภัยพิบัติต่างๆ เช่นภัยสึนามิ แผ่นดินไหว น้ำท่วมฉับพลัน หรือภัยจากคนร้าย เป็นต้น
  3. การแจ้งเตือนเด็กหาย (Amber Alert) ระบบตั้งเตือนข้อมูลเมื่อมีเด็กหายหรือการลักพาตัวเพื่อให้ประชาชนทราบข่าวเฝ้าระวังและช่วยเจ้าหน้าที่ภาครัฐสังเกตุการณ์และรายงานถ้าพบคนร้าย
  4. ความปลอดภัยสาธารณะ (Public Safety) ระบบการแจ้งเตือนความปลอดภัยสาธารณะในพื้นที่หรือการเฝ้าระวังกรณีแจ้งคนที่อยู่อาศัย ชุมชน และผู้สัญจรผ่านพื้นที่นั้น
  5. การแจ้งเตือนทดสอบ (Test Alert) ระบบทดสอบการแจ้งเตือนตามวัตถุประสงค์เฉพาะกิจต่างๆ โดยสามารถใช้งานเพื่อทดสอบก่อนขยายผลสู่การเฝ้าระวังและแจ้งเตือนในระดับต่างๆ ต่อไป

ทั้งนี้ ระบบแจ้งเตือนภัยฉุกเฉิน หรือ Cell Broadcast สามารถนำมาใช้งานอย่างสะดวกเพื่อประชาชนที่มีมือถือโดยไม่ต้องดาวน์โหลดแอปพลิเคชันใดๆ และสามารถรับข้อมูลได้ทันทีผ่านการเตือนทั้งระบบเสียงเตือนภัย ข้อความแจ้งเหตุที่ทางทรู คอร์ปอเรชันนำมาทดสอบสามารถรองรับ 5 ภาษา คือ ไทย อังกฤษ จีน ญี่ปุ่น และรัสเซีย ด้วยการแจ้งเหตุเพียงครั้งเดียวเท่านั้น

X

Right Click

No right click