December 22, 2024

แอปพลิเคชัน “ทางรัฐ” เป็นแอปพลิเคชันของภาครัฐที่พัฒนาขึ้นเพื่อเป็นศูนย์กลางบริการภาครัฐสำหรับประชาชนที่มีการเชื่อมข้อมูล และบริการจากส่วนราชการต่างๆ มาไว้ในที่เดียวกัน เพื่อให้ประชาชนในทุกช่วงวัยสามารถใช้บริการออนไลน์ของภาครัฐได้ในแอปฯ เดียวอย่างสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย โปร่งใส และตรวจสอบได้ รวมถึงเป็นช่องทางในการลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการเติมเงิน 10,000 บาทผ่าน Digital Wallet ดังนั้น การที่ประชาชนจะเข้าใช้งานแอปฯ ทางรัฐ จำเป็นต้องมีการพิสูจน์ว่าผู้ที่กำลังจะเข้าใช้งานแอปฯ ทางรัฐ เป็นประชาชนตัวจริงหรือไม่ โดยการให้ประชาชนผู้นั้นถ่ายภาพใบหน้า และภาพบัตรประจำตัวประชาชนของตนเอง เพื่อเอาไปเปรียบเทียบกับภาพใบหน้าและข้อมูลบัตรประชาชนของประชาชนผู้นั้นที่มีอยู่ในระบบของภาครัฐว่าตรงกันหรือไม่ หรือที่เรียกว่าการทำ KYC (Know Your Customer) เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้บุคคลอื่นเข้าถึงข้อมูลของประชาชนผู้นั้น หรือสวมสิทธิ์ ซึ่งเป็นมาตรการการป้องกันและรักษาความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูลที่มีความน่าเชื่อถือแบบเดียวกับที่ธนาคารในประเทศไทยใช้ (IAL 2.3) ตามประกาศของคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ในปัจจุบัน แอปฯ ทางรัฐเป็นเพียงช่องทางในการเชื่อมโยงข้อมูลและบริการจากหน่วยงานต้นทางโดยไม่ได้เก็บข้อมูลประชาชนจากหน่วยงานต้นทางมาไว้ที่แอปฯ ทางรัฐแต่อย่างใด และข้อมูลส่วนบุคคลที่แสดงในแอปฯ ทางรัฐสามารถเข้าถึงได้เฉพาะเจ้าของข้อมูล และผู้มีอำนาจตามกฎหมายในการเข้าถึงข้อมูลเท่านั้น

นอกจากนี้ แอปฯ ทางรัฐมีมาตรการในการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของระบบและข้อมูลต่างๆ ตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบ และพัฒนาระบบที่มีการเข้ารหัสข้อมูลและใช้เทคโนโลยีการยืนยันตัวตนที่ทันสมัยโดยทีมวิศวกรผู้เชี่ยวชาญของสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ DGA ร่วมกับทีมงานผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์ในการพัฒนาระบบที่มีผู้ใช้บริการจำนวนมาก โดยเน้นเรื่องความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูลและระบบเป็นหลัก มีการตรวจสอบและทดสอบระบบอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการทดสอบเจาะระบบและแก้ไขช่องโหว่ต่างๆ ทั้งก่อนให้บริการและระหว่างการให้บริการเพื่อป้องกันการแฮ็กและการเข้าถึงข้อมูลและบริการโดยไม่ได้รับอนุญาตตามมาตรฐานสากล อีกทั้งยังมีการใช้เทคโนโลยีป้องกันการโจมตีทางไซเบอร์ในระดับสูง (State-of-the-Art Cybersecurity Protection) ตลอดจนการบริหารจัดการและจัดเก็บข้อมูลส่วนบุคคลภายใต้แนวทางที่สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) กำหนด และเป็นไปตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 และพ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. 2562 รวมถึงตามมาตรฐานที่ DGA ได้รับการรับรอง เช่น ISO 27001 (Security Management) เป็นต้น นอกจากแอปฯ ทางรัฐยังให้บริการอยู่ในระบบที่มีความน่าเชื่อถือ มีเสถียรภาพพร้อมทั้งมีการตั้ง war room เฝ้าระวังระบบและภัยคุกคามทางไซเบอร์ด้วยทีมวิศวกรผู้เชี่ยวชาญของ DGA ร่วมกับ สกมช. และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมตลอด 24 ชั่วโมง โดยสามารถพิสูจน์ได้จากวันแรกที่เปิดรับลงทะเบียนโครงการเติมเงิน 10,000 บาทผ่าน Digital Wallet ซี่งมีผู้ไม่ประสงค์ดีพยายามโจมตีระบบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างหนัก ตั้งแต่ชั่วโมงแรกที่เปิดรับลงทะเบียน โดยเป็นช่วงเวลาที่ประชาชนกดเข้าใช้งานแอปฯ ทางรัฐเป็นจำนวนมหาศาลเช่นเดียวกัน  แต่แอปฯ ทางรัฐก็ยังสามารถให้บริการได้อย่างต่อเนื่อง โดยสามารถรองรับการลงทะเบียนฯ ได้ถึง 18.8 ล้านคนภายใน 24 ชั่วโมงโดยระบบไม่ล่มและไม่มีปัญหาเรื่องข้อมูลรั่วไหล

สำหรับประเด็นข้อสงสัยที่ว่า แอปทางรัฐเป็นระบบเปิดที่เชื่อมต่อไปถึงบัญชีธนาคารของทุกคนหรือไม่นั้น ในปัจจุบัน แอปทางรัฐ ยังไม่มีการเชื่อมกับบัญชีธนาคารและไม่มีการเก็บข้อมูลบัญชีธนาคารของประชาชนแต่อย่างใด ทั้งนี้แอปฯ ทางรัฐ อนุญาตให้หน่วยงานของรัฐเชื่อมโยงข้อมูลและบริการของตนเข้าสู่แอปพลิเคชันทางรัฐเท่านั้น ภายใต้วิธีการเชื่อมต่อที่มีการควบคุมกำกับดูแล และมีความมั่นคงปลอดภัยสูง โดยไม่ได้เปิดให้บุคคลทั่วไป หรือภาคเอกชน หรือธนาคารเชื่อมโยงข้อมูลบัญชีและระบบบริการกับแอปฯ ทางรัฐแต่อย่างใด  ซึ่งแอปฯ ของธนาคาร และผู้ให้บริการกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ที่เข้าร่วมโครงการเติมเงิน 10,000 บาทผ่าน Digital Wallet ต้องเชื่อมโยงและรับส่งข้อมูลกับแพลตฟอร์มการชําระเงินกลาง (Payment Platform) ของภาครัฐเพื่อรองรับการชำระเงินซึ่งเป็นคนละระบบกับแอปฯ ทางรัฐ

เพิ่มช่องทางเชื่อมต่อข้อมูลประกันภัยแบบไร้รอยต่อเพียงปลายนิ้วสัมผัส

สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) โดย พลอากาศตรี   อมร ชมเชย เลขาธิการคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ และ สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (DGA) โดย นางไอรดา เหลืองวิไล รองผู้อำนวยการ รักษาการแทนผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล ร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) ด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ เพื่อสนับสนุนการเรียนรู้และยกระดับทักษะด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์สำหรับผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ภาครัฐ ทั้งในรูปแบบการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ และการเรียนรู้ผ่านสื่อออนไลน์ e-learning รวมถึงการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจและตระหนักถึงสถานการณ์ที่เกี่ยวกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ ตลอดจนการดำเนินการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ร่วมกัน เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2567 ณ ห้อง Confidential สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ ถ.แจ้งวัฒนะ

พลอากาศตรี อมร ชมเชย เลขาธิการคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ กล่าวว่า “หนึ่งในภารกิจหลักของ สกมช.คือการมุ่งมั่นลดความเสี่ยงจากภัยคุกคามทางไซเบอร์เพื่อยกระดับประเทศให้มีความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะที่ผ่านมาประเทศไทยยังคงเผชิญกับปัญหาภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งประเด็นเรื่องข้อมูลรั่วไหลและการโจมตีทางไซเบอร์ที่มีจำนวนครั้งที่เกิดถี่ขึ้นเรื่อย ๆ และมีความสลับซับซ้อนมากขึ้น รวมถึงปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำด้านองค์ความรู้และทักษะ ทางดิจิทัลเริ่มส่งผลกระทบกับองค์กรต่าง ๆ อย่างรุนแรงยิ่งกว่าเดิม ดังนั้น สกมช. จึงเพิ่มความเข้มข้นของการทำงานโดยบูรณาการร่วมมือกับหน่วยงานทุกภาคส่วนในการทำงานเพื่อวางรากฐานด้านความปลอดภัยไซเบอร์ โดยสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับสถานการณ์ความเสี่ยงด้านไซเบอร์ของประเทศให้แก่บุคลากรผู้ปฏิบัติงานเพื่อให้สามารถป้องกันและสามารถรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการสร้างความตระหนักรู้และทักษะด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ให้เข้าถึงประชาชนทุกระดับทุกช่วงวัย ผ่านเครือข่ายของ สกมช. ในรูปแบบของการทำงานเชิงรุก ไม่ว่าจะเป็นการจัดโครงการหรือการจัดอบรมต่าง ๆ ตั้งแต่ระดับภูมิภาคไปจนถึงระดับประเทศ เพื่อให้ประชาชนได้ศึกษาเพิ่มพูนองค์ความรู้ด้านไซเบอร์ โดยท่านสามารถติดตามรายละเอียดโครงการดีๆ จาก สกมช. ได้ที่ Facebook NCSA Thailand

สุดท้ายนี้ สกมช. มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงร่วมกับ สพร. โดยหวังว่าความร่วมมือกันของทั้ง 2 หน่วยงาน จะนำพาไปสู่การเดินหน้ายกระดับทักษะและองค์ความรู้แก่ภาครัฐในการป้องกันภัยคุกคามทางไซเบอร์และก้าวสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัลอย่างมั่นคงปลอดภัย”

นางไอรดา เหลืองวิไล รองผู้อำนวยการ รักษาการแทนผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัลกล่าวว่า การรู้เท่าทันด้านเทคโนโลยีดิจิทัลในเชิงลึกของบุคลากรภาครัฐมีความจำเป็นอย่างยิ่งในยุคที่ต้องตอบสนองความต้องการของประชาชนที่คาดหวังว่าจะสามารถใช้บริการภาครัฐได้ตลอดเวลาแม้ไม่ใช่เวลาราชการ ซึ่งปัจจุบันหน่วยงานราชการก็มีการปรับตัวสามารถให้ประชาชนหลากหลายช่องทางมากขึ้นทั้งแบบออนไลน์และให้บริการผ่านศูนย์บริการร่วมภาครัฐในวันเสาร์และอาทิตย์ การให้บริการภายในห้างสรรพสินค้า เป็นต้น ดังนั้นการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ รวมถึงการสร้างความตระหนักถึงสถานการณ์เกี่ยวกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่อาจส่งผลกระทบต่อการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง ความร่วมมือในครั้งนี้จึงเป็นโอกาสอันดีที่สถาบัน TDGA ได้ร่วมจัดฝึกอบรมหลักสูตรสำคัญด้านความมั่นคงปลอดภัย อาทิ หลักสูตรผู้บริหารระดับสูงภาครัฐในด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัย หรือ Chief Information Security Officer: CISO หลักสูตรการอบรมเชิงปฏิบัติการที่เกี่ยวกับการโจมตีทางไซเบอร์ หรือ Cyber war game  และหลักสูตรทางด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์อื่น ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต อาทิ หลักสูตร CISO สำหรับผู้ปฏิบัติงานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ รวมถึงการผลักดันขับเคลื่อนให้ทุกหน่วยงานเล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาทักษะของบุคลากรภาครัฐด้านความมั่นคงปลอดภัยไซบอร์ ผ่านการสำรวจระดับความพร้อมรัฐบาลดิจิทัลหน่วยงานภาครัฐของประเทศไทย

นอกจากนี้ สถาบัน TDGA มีความยินดีที่จะแลกเปลี่ยนสื่อการเรียนรู้ออนไลน์ในหลักสูตรที่เกี่ยวกับความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ และหลักสูตรด้านดิจิทัลอื่น ๆ ร่วมกับ สกมช. เพื่อการยกระดับทักษะด้านการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัล Digital Literacy ไปสู่ Cyber Security Literacy ซึ่งจะช่วยสร้างความรู้ความเข้าใจและตระหลักถึงการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ผู้ที่สนใจสามารถเรียนรู้หลักสูตรดังกล่าวผ่านระบบ Digital Government Learning Platform ซึ่งเป็นระบบการเรียนรู้ออนไลน์ผ่านสื่อ e-Learning ที่ผู้เรียนสามารถเข้าเรียนได้ทุกที่ ทุกเวลา ปัจจุบันแพลตฟอร์มนี้เปิดให้บริการหลักสูตรด้านดิจิทัลแบบออนไลน์ ให้แก่บุคลากรภาครัฐ ตลอดจนประชาชนที่ ต้องการพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลโดยไม่มีค่าใช้จ่าย โดยหน่วยงานที่เป็นเครือข่ายความร่วมมือ ก็สามารถใช้ประโยชน์จากศูนย์กลางการเรียนรู้นี้เพื่อการยกระดับทักษะความรู้ด้านดิจิทัลให้แก่กลุ่มเป้าหมายของหน่วยงานได้ด้วย ปัจจุบันมีผู้เข้าอบรมหลักสูตร e-Learning และได้รับใบประกาศนียบัตรดิจิทัลจากสถาบัน TDGA รวมแล้วมากกว่า 1.9 ล้านครั้ง สำหรับผู้ที่ต้องการ Upskill และ Reskill สามารถเข้าเรียนหลักสูตรการพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลตามความสนใจได้ที่เว็บไซต์ tdga.dga.or.th

 

นางสาวอภิณห์พร อังคกมลเศรษฐ์ รองผู้อำนวยการ สำนักงานรัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) ร่วมเป็นสักขีพยานการลงนาม MOU ความร่วมมือ การใช้โปรแกรมเสริมสร้างวินัยการเงินการคลังขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ระหว่างสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน กับ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น สมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย และสมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย เพื่อยกระดับความโปร่งใส ตรวจสอบได้ ตามนโยบายสำคัญของรัฐบาล และแนวทางสำคัญรัฐบาลดิจิทัล ณ ห้องดำริอิศรานุวรรต สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน

นางสาวอภิณห์พร กล่าวว่า DGA มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มีส่วนร่วมในการสนับสนุนนโยบายสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ที่มีความมุ่งมั่นพัฒนานวัตกรรมทางการตรวจเงินแผ่นดินโดยใช้โปรแกรมที่เข้าถึงง่าย ช่วยให้หน่วยงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนำไปใช้งานได้สะดวก DGA จึงขอเชิญชวน อปท. ทั่วประเทศลงทะเบียนอีเมลของหน่วยงานเพื่อใช้เป็นอีเมลกลางในการลงทะเบียนเข้าใช้โปรแกรมเสริมสร้างวินัยการเงินการคลังเพื่อให้ อปท.สามารถประเมินตนเองเบื้องต้นในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการตั้งงบประมาณและการเบิกจ่าย รวมทั้งช่วยสนับสนุนและยกระดับรัฐบาลดิจิทัลหน่วยงานอปท. เพื่อความสะดวก รวดเร็วในการรับ-ส่งเอกสารหนังสือทางราชการ รวมถึงช่วยให้ค้นหาอีเมลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้ง่ายยิ่งขึ้น สร้างความเชื่อมั่นในการใช้บริการของประชาชน สามารถป้องกันการปลอมแปลงหรือแอบอ้างได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้นับเป็นการปฏิบัติให้สอดคล้องตามมาตรา 10 ของ พ.ร.บ.การปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2565 โดยให้หน่วยงานใช้อีเมลเป็นช่องทางการติดต่อ DGA ได้นำเสนอแนวทางการลงทะเบียนอีเมลกลางโดยสามารถดาวน์โหลดได้ที่ลิงก์ https://dg.th/w0dm769ipe และ ตรวจสอบรายชื่อหน่วยงานที่มีการลงทะเบียน E-mail กลางกับทาง DGA ได้ที่ https://dg.th/cp9k2gsiq8 เพื่อร่วมกันยกระดับการบริหารการทำงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศไทยสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัลอย่างเต็มประสิทธิภาพ

นายมณเฑียร เจริญผล รองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน รักษาราชการแทน ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน แถลงว่า ในวันนี้ (15 มีนาคม 2567) สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) การใช้โปรแกรมเสริมสร้างวินัยการเงินการคลังขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ระหว่างสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน กับ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น โดย นายขจร ศรีชวโนทัย อธิบดี กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น สมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย  โดย พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง อุปนายกสมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย  สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย โดย นายสมชาย รังสิวัฒนศักดิ์ นายกสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย และสมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย โดย นายสำราญ จันทร์ขจร อุปนายกสมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย โดยมีพลเอกชนะทัพ อินทามระ ประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน และนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

นายมณเฑียร กล่าวว่า สตง. ภายใต้นโยบายการตรวจเงินแผ่นดินของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินระยะยาว (พ.ศ. 2566-2570) และนโยบายการตรวจเงินแผ่นดินประจำปี ได้ให้ความสำคัญกับการสนับสนุนบุคลากรขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการรักษาวินัยการเงินการคลัง การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ และการใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินที่อยู่ในการกำกับดูแล รวมทั้งจัดให้มีการประเมินผลการรักษาวินัยการเงินการคลังขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อพัฒนาให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีการรักษาวินัยการเงินการคลังเพิ่มมากขึ้น อันจะทำให้การใช้จ่ายงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นไปอย่างโปร่งใส มีความคุ้มค่า และเกิดประโยชน์ต่อท้องถิ่น ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ. 2561- 2580) ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ และบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 62 

“สตง. ได้พัฒนาโปรแกรมเสริมสร้างวินัยการเงินการคลังในรูปแบบของ Web Application ขึ้นเป็นครั้งแรก ซึ่งสะดวกต่อการใช้งานและสามารถเข้าถึงได้ทุกที่ ทุกเวลา และทุกอุปกรณ์ และถือเป็นอีกหนึ่งบทบาทที่สำคัญนอกเหนือจากบทบาทด้านการตรวจสอบภาครัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการพัฒนาเครื่องมือที่มีลักษณะเป็นแบบประเมินการบริหารจัดการการเงินการคลังของหน่วยรับตรวจ ซึ่งถือเป็น Non-audit Products และเป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมทางการตรวจเงินแผ่นดิน เพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถใช้ประเมินตนเองเบื้องต้นในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการตั้งงบประมาณและการเบิกจ่าย ดังนี้  1) โครงการที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจ่ายเงินอุดหนุนให้กับหน่วยงานของรัฐ 2) โครงการจัดงานประเพณี และ 3) โครงการส่งเสริมกีฬาหรือการแข่งขันกีฬาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  โดยแบบประเมินตนเองดังกล่าวมีกรอบการประเมิน 4 หัวข้อ ได้แก่ 1) อำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 2) แผนพัฒนาท้องถิ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 3) การจัดทำงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และ 4) กฎหมาย ระเบียบที่ใช้ในการปฏิบัติตามแผนการดำเนินงาน ทั้งนี้ เพื่อเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใช้เป็นเครื่องมือสำหรับการรักษาวินัยการเงินการคลังของรัฐ และเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ในการพัฒนาโปรแกรมดังกล่าว สตง. จึงได้จัดให้มีบันทึกข้อตกลงความร่วมมือขึ้น  เพื่อให้มีแนวทางการประสานความร่วมมือที่ชัดเจนบนฐานความประสงค์ร่วมกันของทุกฝ่าย” นายมณเฑียร กล่าว

นายอนุทิน  ชาญวีรกูล  รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นหน่วยงานปกครองที่กล่าวได้ว่าอยู่ใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุด กระจายอยู่ในทุกพื้นที่ของประเทศรวมแล้ว 7,850 หน่วยงาน มีภารกิจในการให้บริการสาธารณะ การป้องกัน บรรเทา และแก้ไขปัญหาต่าง ๆ เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนในพื้นที่อย่างทั่วถึงและรวดเร็ว โดยในแต่ละปี มีรายได้ที่ได้รับการจัดสรรสำหรับการดำเนินงาน รวมเป็นเงินประมาณ 760,000 ล้านบาท หรือประมาณ 1 ใน 4 ของงบประมาณรายจ่ายของประเทศในแต่ละปี รวมถึงยังมีเงินสะสมรวมกันอีกไม่น้อยกว่า 600,000 ล้านบาท นอกจากนี้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นยังเป็นหนึ่งในกลไกภาครัฐในการขับเคลื่อนธรรมาภิบาล เพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดิน การจัดทำบริการสาธารณะ และการใช้จ่ายเงินงบประมาณมีประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อประโยชน์สุขของประชาชน

“กระทรวงมหาดไทย โดยกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นยินดีให้ความร่วมมือ ตลอดจนส่งเสริมและสนับสนุนอย่างเต็มที่ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้รับทราบ และนำโปรแกรมเสริมสร้างวินัยการเงินการคลังดังกล่าวไปใช้ในการประเมินตนเองเบื้องต้นเพื่อทราบสถานะในการดำเนินการเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แผนพัฒนาท้องถิ่น การตั้งงบประมาณและการเบิกจ่ายที่ถูกต้อง ซึ่งจะนำไปสู่การลดข้อบกพร่องในการใช้จ่ายเงิน และเสริมสร้างมาตรฐานในการรักษาวินัยการเงินการคลังตามหลักธรรมาภิบาล และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้จะเป็นการแสดงเจตจำนงร่วมกันในการส่งเสริมและพัฒนาระบบการตรวจสอบและการบริหารราชการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยการใช้ประโยชน์จากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีดิจิทัลให้บรรลุเป้าหมายเดียวกัน คือการรักษาวินัยการเงินการคลังอย่างเคร่งครัด เสริมสร้างระบบธรรมาภิบาล เพื่อให้การใช้จ่ายเงินแผ่นดิน เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติและประชาชน” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าว

สถาบันนวัตกรรมและธรรมาภิบาลข้อมูล (Data Innovation and Governance Institute : DIGI) ภายใต้ สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ DGA จัดงาน วันข้อมูลเปิดนานาชาติ ประจำปี 2567 (International Open Data Day 2024) ภายใต้หัวข้อ “Data-Driven for Sustainability: การขับเคลื่อนด้วยข้อมูลเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” เพื่อส่งเสริมการใช้งานระบบข้อมูลแบบเปิด (Open Data) เป็นกุญแจสำคัญในการเดินหน้าประเทศสู่การเป็นรัฐบาลเปิดได้อย่างยั่งยืน โดยได้รับเกียรติจาก ดร.พวงเพ็ชร ชุนละเอียด รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีพร้อมมอบรางวัลให้แก่หน่วยงานที่ได้รับรางวัลทั้ง 45 หน่วยงาน พร้อมด้วย นายฉัตรชัย ธนาฤดี คณะกรรมการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล โดยมี นางไอรดา เหลืองวิไล รองผู้อำนวยการ รักษาการแทนผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล กล่าวรายงานภาพรวมข้อมูลเปิดของรัฐบาลดิจิทัลและกล่าวให้การต้อนรับแขกผู้มีเกียรติ ทั้งกูรูที่คร่ำหวอดในวงการ Open Data ผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่จากภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนที่ให้ความสนใจเข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2567 ณ สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์การมหาชน)

ดร.พวงเพ็ชร ชุนละเอียด รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวแสดงความยินดีให้แก่หน่วยงานที่ได้รับรางวัลทั้ง 45 หน่วยงาน และ ขอบคุณทุกหน่วยงานที่มุ่งมั่นตั้งใจและให้ความสำคัญกับ “การเปิดเผยข้อมูล” ซึ่งถือว่าเป็นกุญแจสำคัญในการเปลี่ยนผ่านไปสู่รัฐบาลดิจิทัล โดยเน้นย้ำว่า การดำเนินงานภาครัฐในยุคดิจิทัล ข้อมูลถือเป็นปัจจัยสำคัญในการการตัดสินใจเชิงนโยบายให้บรรลุเป้าหมาย และตรวจสอบการดำเนินการได้ นำไปสู่การบริหารงานแบบ Data Driven Government รวมถึง การนำข้อมูลไปใช้ต่อยอดนวัตกรรม หรือใช้สนับสนุนการขับเคลื่อนนโยบาย ทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม/ ให้เติบโตอย่างเข้มแข็งและยั่งยืน ดังนั้น การใช้ประโยชน์จากข้อมูล ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ตอบโจทย์ภาครัฐ และสร้างการมีส่วนร่วมกับประชาชน โปร่งใส ตรวจสอบได้ ยกตัวอย่าง ชุดข้อมูลด้านการบริการสาธารณสุข ของ สปสช. ซึ่งถือเป็นครั้งแรกของประเทศไทย ที่นำข้อมูลเหล่านี้ มาเปิดเผยในรูปแบบ Open Data เพื่อให้ภาคธุรกิจสามารถประเมินความต้องการในอนาคตนักลงทุนมั่นใจ และตัดสินใจมาลงทุน ตั้งฐานการผลิตในประเทศไทย นอกจากการสร้างประโยชน์จากชุดข้อมูลเปิดแล้ว ความสำคัญพื้นฐานคือ การพัฒนาชุดข้อมูลเปิดให้มีคุณภาพ และมีชุดข้อมูลที่หลากหลาย ตอบโจทย์ความต้องการของประชาชน และภาคธุรกิจ

นางไอรดา เหลืองวิไล รองผู้อำนวยการ รักษาการแทนผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล กล่าวว่า DGA ได้จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นหน่วยงานกลางในการขับเคลื่อนการพัฒนารัฐบาลดิจิทัลของประเทศไทยโดยเฉพาะ นอกจากภารกิจหลักในการขับเคลื่อนให้ภาครัฐปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการพัฒนาให้เกิดบริการออนไลน์ต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนและภาคส่วนต่างๆ ในการติดต่อราชการ และการบูรณาการเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงานภาครัฐแล้ว การผลักดันให้ภาครัฐเปิดเผยข้อมูล เพื่อความโปร่งใส ตรวจสอบได้ ให้ประชาชนได้รับรู้ถึงภารกิจ และกิจกรรมต่างๆ ที่ภาครัฐดำเนินการ อันนำไปสู่การมีส่วนร่วมของประชาชนในการบริหารราชการแผ่นดิน โดยสามารถนำข้อมูลเปิดภาครัฐไปใช้ประโยชน์ หรือพัฒนาต่อยอดให้เกิดนวัตกรรมต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ  เป็นอีกหนึ่งประเด็นสำคัญของการพัฒนาให้เกิดรัฐบาลดิจิทัล

ที่ผ่านมา DGA ได้ดำเนินการจัดตั้งศูนย์กลางข้อมูลเปิดภาครัฐ หรือ data.go.th ขึ้นมาตั้งแต่ปีพ.ศ 2558  นับเป็นก้าวสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลแบบเปิด หรือ Open Government และเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนให้เกิดขึ้นมาในประเทศไทย ในปัจจุบัน หน่วยงานภาครัฐได้เปิดเผยข้อมูลแล้วกว่า 11,000 ชุดข้อมูล แสดงให้เห็นถึงความสำเร็จในการทำให้ข้อมูลภาครัฐเป็นทรัพยากรสาธารณะที่มีค่า มีการสนับสนุนให้เกิดการนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ประโยชน์ในภารกิจต่างๆ ที่มีส่วนในการช่วยให้ประชาชนคนไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น อีกทั้ง DGA ยังมีการสำรวจชุดข้อมูลเปิดภาครัฐตามความต้องการของประชาชนเป็นประจำทุกปี เพื่อใช้เป็นกรอบแนวทางในการขับเคลื่อนให้ภาครัฐเปิดเผยชุดข้อมูลที่ตรงกับความต้องการของประชาชนผู้ใช้งานให้มากที่สุด

สำหรับงาน International Open Data Day ซึ่งเป็นกิจกรรมที่กำหนดให้จัดขึ้นพร้อมกันทั่วโลกโดยประเทศต่างๆ ที่ให้ความสำคัญกับการเปิดเผยข้อมูล ในปีนี้จัดตรงกับวันที่ 5 มีนาคม ในส่วนประเทศไทยมี DGA เป็นเจ้าภาพในการจัดงาน International Open Data Day เป็นประจำทุกปีอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2558 โดยในปีนี้ จัดกิจกรรมขึ้นภายใต้หัวข้อ “Data-Driven for Sustainability” อันเป็นการแสดงถึงการส่งเสริมสนับสนุนให้ภาคส่วนต่างๆ ในประเทศไทยให้ความสำคัญกับการใช้ข้อมูลเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน

การจัดงานในปีนี้นอกจากกิจกรรมที่ DGA ได้จัดร่วมกับหน่วยงานต่างๆ แล้ว ยังมีการมอบรางวัล Open Data Awards จำนวน 45 รางวัล ให้กับหน่วยงานภาครัฐที่ขับเคลื่อนข้อมูลเปิดดีเด่นอีกด้วย ประกอบด้วย โล่รางวัลชุดข้อมูลยอดนิยม จำนวน 3 รางวัล โล่รางวัลชุดข้อมูลที่ตรงกับความต้องการของประชาชน จำนวน 3 รางวัล และประกาศนียบัตรรางวัลชุดข้อมูลเปิดทรงคุณค่า จำนวน 39 รางวัล เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้กับหน่วยงานภาครัฐที่เป็นต้นแบบที่ดีในการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐอย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ ช่วยให้เกิดระบบนิเวศข้อมูลเปิดอย่างเป็นรูปธรรม

และในงานนี้ ยังจัดให้มีพิธีลงนาม MOU ความร่วมมือระหว่าง DGA และ สปสช. ในการจัดทำแนวทางการกำกับดูแล และบริหารจัดการข้อมูลสารสนเทศสุขภาพด้านการบริการสาธารณสุข และการเปิดเผยข้อมูลการรักษาพยาบาลจากการใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพ เพื่อการบริหารจัดการข้อมูลบริการด้านสาธารณสุขอย่างมีประสิทธิภาพ และสนับสนุนให้ประชาชนและภาคส่วนต่างๆ สามารถนำชุดข้อมูลเปิดดังกล่าวไปวิเคราะใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ อันเป็นประโยชน์ต่อสังคม เศรษฐกิจ และประเทศชาติต่อไป

สำหรับ หน่วยงานภาครัฐ เอกชน นักพัฒนาซอฟต์แวร์ นักเรียน/นักศึกษา และผู้ที่ต้องการเรียนรู้การใช้ข้อมูลเปิดภาครัฐเพื่อนำไปพัฒนาต่อยอดนวัตกรรมจาก Open Data สามารถติดตามข้อมูลข่าวสารได้ที่ Facebook: Data Innovation and Governance Institute, DIGI

Page 1 of 3
X

Right Click

No right click