February 23, 2025

แกร็บ ประเทศไทย รุดหน้าโครงการ Grab EV เผยยอดคนขับใช้รถ EV ให้บริการบนแพลตฟอร์มเกินหมื่นคัน พร้อมผนึกกำลัง 5 พันธมิตรใหม่ ได้แก่ SUSCO, Whale EV, AGEWAY, SHARGE และ Spark EV ร่วมเดินหน้าผลักดันการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในกลุ่มคนขับแกร็บ ชูโปรแกรม “ผ่อนขับรับรถ” ให้คนขับเช่าซื้อ BYD Seal ผ่อนจ่ายเริ่มต้นเพียง 1,010 บาทต่อวัน เปิดเช่าแท็กซี่ไฟฟ้าโดยเพิ่มรถรุ่น Aion ES เป็นตัวเลือก พร้อมอัดส่วนลด-สิทธิประโยชน์พิเศษสำหรับการชาร์จไฟกว่า 600 สถานีทั่วประเทศ

 

นายวรฉัตร ลักขณาโรจน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ แกร็บ ประเทศไทย เผยว่า “โครงการ Grab EV ได้ก้าวเข้าสู่ปีที่ 3 แล้วหลังจากที่เราได้ประกาศเป้าหมายที่จะเพิ่มจำนวนคนขับแกร็บที่ใช้ยานยนต์ไฟฟ้าให้มากขึ้น เพื่อสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดและลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากก๊าซเรือนกระจก โดยปัจจุบันเรามีคนขับที่ให้บริการเรียกรถผ่านแอปฯ และเดลิเวอรีโดยใช้รถยนต์และรถจักรยานยนต์ไฟฟ้ารวมกันเป็นจำนวนมากกว่าหมื่นคัน ครอบคลุมทั่วประเทศ โดยเฉพาะ 10 จังหวัดหลัก ได้แก่ กรุงเทพฯ ภูเก็ต ชลบุรี เชียงใหม่ โคราช ขอนแก่น สุราษฎร์ธานี สงขลา อุดรธานี และอุบลราชธานี”

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้จำนวนคนขับที่ใช้รถ EV เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ ส่วนหนึ่งมาจากการที่เรามีเครือข่ายพันธมิตรที่แข็งแกร่งและมีความเชี่ยวชาญจากหลายภาคส่วนมาช่วยสนับสนุน โดยร่วมกันพัฒนาโปรแกรมเพื่อส่งเสริมการเข้าถึงยานยนต์ไฟฟ้าในกลุ่มคนขับแกร็บ ไม่ว่าจะเป็น ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายยานยนต์ไฟฟ้า ผู้ให้บริการเช่ายานยนต์ไฟฟ้า ผู้ให้บริการทางการเงิน รวมถึงสถานีชาร์จไฟฟ้า และเพื่อเดินหน้าขับเคลื่อนโครงการ Grab EV อย่างต่อเนื่อง ล่าสุด เราได้จับมือกับ 5 พันธมิตรใหม่ อันได้แก่ บริษัท ซัสโก้ จำกัด (มหาชน) (SUSCO), บริษัท ไบโอ แลป ซัพพลาย จำกัด (Whale EV), บริษัท เอจีอี อีวี พลัส จำกัด (บริษัทในเครือของ AGE Group ภายใต้ชื่อ AGEWAY), บริษัท ชาร์จ แมเนจเม้นท์ จำกัด (SHARGE) และ บริษัท สปาร์ค อีวี จำกัด (Spark EV) ที่จะเข้ามาช่วยปลดล็อคข้อจำกัดต่างๆ และเพิ่มทางเลือกที่ตอบโจทย์ความต้องการของคนขับยิ่งขึ้น” นายวรฉัตร กล่าวเสริม

 

ภายใต้ความร่วมมือกับพันธมิตรเหล่านี้ แกร็บได้พัฒนาโปรแกรม รวมถึงสิทธิประโยชน์สำหรับคนขับแกร็บ ดังนี้

· โปรแกรม “ผ่อนขับรับรถ”: แกร็บได้ร่วมมือกับ SUSCO ผู้ให้บริการสินเชื่อยานยนต์ไฟฟ้า เปิดโอกาสให้คนขับแกร็บสามารถเป็นเจ้าของรถยนต์ไฟฟ้าได้ โดยพิจารณาอนุมัติสินเชื่อจากประวัติในการให้บริการกับแกร็บ ทั้งนี้ คนขับสามารถเช่าซื้อรถยนต์ไฟฟ้า BYD Seal รุ่น Dynamic รุ่น Premium และ รุ่น AWD Performance ด้วยการผ่อนจ่ายรายวันเริ่มต้นที่ 1,010 บาทโดยหักรายได้จากการให้บริการในแต่ละวัน ในระยะสัญญา 5 ปี และไม่ต้องวางเงินดาวน์ พร้อมยังได้รับสิทธิประโยชน์อื่นๆ อาทิ การรับประกันแบตเตอรี่ 8 ปีหรือ 160,000 กม. ฟรีค่าซ่อมบำรุงรักษาตามรอบ ฟรีประกันรถสาธารณะชั้น 1 รวมถึงการให้บริการช่วยเหลือฉุกเฉินจากผู้ให้บริการตลอดอายุสัญญา

· โปรแกรม “เช่าครบจบบนแอป”: แกร็บจับมือกับ 2 พันธมิตรผู้ให้บริการเช่าแท็กซี่ไฟฟ้า ได้แก่ Whale EV และ AGEWAY เปิดให้บริการเช่ารถแท็กซี่ไฟฟ้าเพื่อให้บริการเรียกรถผ่านแอปพลิเคชัน Grab โดยได้มีการนำรถยนต์ไฟฟ้ารุ่น Aion ES เข้ามาเป็นตัวเลือกเพิ่มเติม จากเดิมที่มีเพียงรถยนต์ไฟฟ้ารุ่น MG EP ให้บริการ โดยรถยนต์ไฟฟ้ารุ่น Aion ES ได้รับความนิยมอย่างมากในกลุ่มคนขับแท็กซี่ ซึ่งหลังจากที่ได้ทดลองปล่อยเช่าตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2567 ที่ผ่านมา ปัจจุบันมีคนขับใช้รถรุ่นนี้ให้บริการแล้วกว่า 400 คัน

· สิทธิประโยชน์พิเศษจากสถานีชาร์จไฟฟ้า: แกร็บยังได้ขยายความร่วมมือกับ 2 พันธมิตรผู้ให้บริการสถานีชาร์จไฟฟ้า ได้แก่ SHARGE และ Spark EV เพื่อเสริมความมั่นใจให้คนขับแกร็บในเรื่องโครงสร้างพื้นฐานสถานีชาร์จไฟฟ้าที่มีมากกว่า 600 แห่งทั่วประเทศ โดยมอบสิทธิประโยชน์พิเศษให้กับคนขับแกร็บเป็นพิเศษ อาทิ อัตราค่าไฟพิเศษเพียง 5.84 บาทต่อหน่วย (จากราคาปกติ 7.5–9.5 บาทต่อหน่วย) สำหรับการชาร์จไฟฟ้าที่สถานีชาร์จของ ReverSharger 1และบัตรกำนัลมูลค่า 1,000 บาท จำนวน 1,000 รางวัลให้กับคนขับแกร็บสำหรับการชาร์จไฟฟ้าที่สถานีชาร์จของ Spark EV ภายในกุมภาพันธ์นี้

“การส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าถือเป็นหนึ่งในแนวทางสำคัญที่แกร็บมุ่งลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่อาจเกิดขึ้นจากวงจรธุรกิจ ภายใต้พันธกิจ GrabForGood หรือ แกร็บ…เพื่อชีวิตที่ดีกว่า ซึ่งที่ผ่านมา เราไม่เพียงร่วมมือกับพันธมิตรจากหลากหลายภาคส่วนเท่านั้น แต่ยังให้ความสำคัญกับการส่งเสริมความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับข้อดีและประโยชน์ของการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าทั้งกับคนขับและผู้ใช้บริการไปควบคู่กัน โดยได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี ซึ่งสะท้อนผ่านจำนวนของคนขับที่หันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นนับหมื่นคัน รวมถึงจำนวนผู้ใช้บริการที่เปิดฟีเจอร์เลือกใช้รถอีวี (Grab EV Rides) เพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่า2 ซึ่งตัวเลขเหล่านี้นับเป็นแรงผลักดันสำคัญที่่ทำให้เรามุ่งมั่นเดินหน้าสานต่อความตั้งใจในการส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด และเทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อมเพื่อสร้างอนาคตที่ดีกว่าสำหรับทุกคนในสังคมต่อไป” นายวรฉัตร กล่าวปิดท้าย

การ์ทเนอร์คาดการณ์ว่าสิ้นปีหน้า (2568) จะมีปริมาณรถยนต์ไฟฟ้า (EVs) จำนวน 85 ล้านคัน วิ่งบนท้องถนน ครอบคลุมประเภทต่าง ๆ อาทิ รถยนต์, รถบัส, รถตู้ และรถบรรทุกขนาดใหญ่

โจนาธาน ดาเวนพอร์ท ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิจัยของการ์ทเนอร์ กล่าวว่า "แม้จะมีอุปสรรคหลายอย่างส่งผลกระทบต่อตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา แต่เรายังคาดการณ์ว่าในปีนี้ยอดรวมของรถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลกจะอยู่ที่ 64 ล้านคัน และจะเพิ่มขึ้น 33% ในปี 2568 ซึ่งผลจากการที่บริษัทหลายแห่งต่างประเมินสูงเกินจริงไปว่าการเปลี่ยนไปใช้รถยนต์ไฟฟ้าจะเกิดขึ้นรวดเร็ว นั่นส่งผลให้ต้องเลื่อนการเปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นใหม่ ๆ ออกไป โดยปัจจัยขับเคลื่อนการเติบโตของตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในปีหน้านั้น หลัก ๆ มาจากยอดขายที่เพิ่มสูงขึ้นในจีน (58%) และยุโรป (24%) ซึ่งเมื่อนับรวมกันแล้วคิดเป็น 82% ของจำนวนรถยนต์ไฟฟ้าทั้งหมดทั่วโลก"

การ์ทเนอร์คาดว่า สิ้นปี 2568 ปริมาณรถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ (BEVs) จะมีจำนวนเกือบ 62 ล้านคัน เพิ่มขึ้น 35% จากปี 2567 ส่วนรถยนต์ไฟฟ้าปลั๊กอินไฮบริด (PHEVs) คาดว่าจะเติบโตในอัตราที่ช้ากว่าเล็กน้อยและปีหน้าจะมีปริมาณอยู่ที่ 23 ล้านคัน เพิ่มขึ้น 28% จากปี 2567

สำหรับประเทศไทย การ์ทเนอร์คาดว่าในปี 2568 จะมีรถยนต์ไฟฟ้า (EVs) มากกว่า 77,800 คัน เพิ่มขึ้น 49% จากปี 2567 โดยรถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่จะมีสัดส่วน 74% และมียอดรวมทั้งหมดกว่า 57,900 คัน

สำหรับในระดับภูมิภาค การ์ทเนอร์คาดว่าความต้องการเป็นเจ้าของรถยนต์ไฟฟ้าในจีนจะยังคงมีปริมาณมากกว่าจำนวนรถยนต์ไฟฟ้าส่วนที่เหลือของโลกรวมกันยาวไปจนถึงปีหน้า และอาจเป็นเช่นนี้ต่อไปอีกทศวรรษ โดยความต้องการรถยนต์ไฟฟ้าจะเติบโตอย่างต่อเนื่องในยุโรปและอเมริกาเหนือ คาดว่าจะคิดเป็น 36% ของยอดรวมรถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลกในปีนี้ (2567) การ์ทเนอร์ประมาณการว่าในปีหน้า (2568) จะมีรถยนต์ไฟฟ้า 49 ล้านคัน วิ่งอยู่ตามท้องถนนในจีน 20.6 ล้านคันในยุโรป และ 10.4 ล้านคันในอเมริกาเหนือ

ภายในอีกหกปี (2573) ผู้ผลิตรถยนต์จะสามารถรีไซเคิลแบตเตอรี่รถ EVs ได้สูง 95% ช่วยลดปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบ

ตามที่คาดการณ์ว่ายอดจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าจะเพิ่มสูงขึ้นทุกปี และการแก้ไขปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบถือเป็นเรื่องท้าทาย ดังนั้น "ความพยายามในการรีไซเคิลอย่างจริงจังเพื่อใช้ประโยชน์จากแบตเตอรี่ที่ผ่านการใช้งานรวมถึงเศษวัสดุจากกระบวนการผลิต ผนวกเข้ากับความพยายามของสหภาพยุโรปเพื่อบังคับให้มีการรีไซเคิลแบตเตอรี่ ก็อาจช่วยลดความจำเป็นในการขุดแร่เพิ่มเติมได้" ดาเวนพอร์ตกล่าวเพิ่มเติม

“เนื่องจากความเข้มข้นของโลหะหายากในแบตเตอรี่มีสูงกว่าแร่ธรรมชาติ ดังนั้นแบตเตอรี่ที่ใช้งานแล้วจึงอาจถือเป็นแร่ที่มีความเข้มข้นสูง หากสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ในปริมาณมาก ๆ อาจช่วยเพิ่มโอกาสทางการค้าในภาพรวมของตลาดรถยนต์ไฟฟ้า ด้วยการลดราคาแบตเตอรี่ลง นอกจากนี้ยังมีประโยชน์เพิ่มเติมคือ แบตเตอรี่จะไม่ถูกกำจัดด้วยวิธีที่ผิดจริยธรรมหรือถูกนำไปทิ้งในหลุมฝังกลบ" ดาเวนพอร์ตกล่าวสรุป

บล.ฟิลลิป (ประเทศไทย) ได้ปรับราคาพื้นฐานของหุ้น WICE ขึ้นเป็น 7 บาท พร้อมคงคำแนะนำ "ซื้อ" เนื่องจากเห็นแนวโน้มการฟื้นตัวของอัตราค่าขนส่งทั้งทางทะเลและทางอากาศ โดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีหลังที่คาดว่าจะเติบโตตามเป้า หลังจากอัตราค่าระวางเรือปรับตัวดีขึ้น และปริมาณการขนส่งเพิ่มขึ้น

WICE มีโครงการใหม่ที่น่าสนใจ เช่น การขนส่งเชื้อเพลิงชีวมวลอัดแท่งจาก สปป.ลาวมายังท่าเรือแหลมฉบัง เพื่อนำส่งต่อไปยังญี่ปุ่น ซึ่งคาดว่าจะเริ่มดำเนินการในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ นอกจากนี้ยังมีโครงการขนส่งเมล็ดกาแฟดิบจาก OR ที่ใช้ยานยนต์เชื้อเพลิงไฟฟ้า (EV) ซึ่งจะเริ่มรับรู้รายได้ในไตรมาสที่ 3 ส่งผลให้แนวโน้มธุรกิจในครึ่งปีหลังเติบโตตามเป้าหมาย

นายชูเดช คงสุนทร กรรมการผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ WICE เปิดเผยว่า บริษัทได้ผ่านจุดต่ำสุดมาแล้วหลังค่าระวางเรือและปริมาณการขนส่งเริ่มปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในสหรัฐอเมริกาและจีน นอกจากนี้ WICE ยังเดินหน้าขยายธุรกิจผ่านการจัดตั้งบริษัทย่อยในฟิลิปปินส์และจีน ซึ่งจะช่วยเพิ่มฐานลูกค้าและขยายบริการในต่างประเทศ คาดว่ารายได้ทั้งปีนี้จะเติบโตไม่ต่ำกว่า 20% ซึ่งเป็นผลจากการขยายตัวของธุรกิจและการฟื้นตัวของตลาดขนส่ง

นอกจากนี้ นายชูเดช ยังมั่นใจว่า สถานการณ์ธุรกิจขนส่งจะกลับมาสู่ภาวะปกติหลังจากที่ช่วงหลังโควิดค่าระวางเรือปรับขึ้นอย่างรุนแรงและปรับลงในปี 2566 โดยครึ่งปีหลังนี้คาดว่าจะเป็นช่วงไฮซีซั่นของธุรกิจ ส่งผลให้ผลประกอบการของ WICE เติบโตตามเป้าหมายที่วางไว้

RÊVERSHARGER” ตอกย้ำเบอร์ 1 EV Ecosystem Operator ครบวงจร จับมือ บัตรเครดิต “เคทีซี” นำจุดแข็งของทั้งสองแบรนด์ จัดแคมเปญสุดเอ็กซ์คลูซีฟเอาใจผู้ใช้รถ EV ชาร์จครบ-สะดวก-สบายทั้งในและนอกบ้าน มอบส่วนลด 10% ค่าบริการชาร์จ-แลกคะแนน KTC FOREVER รับโค้ดส่วนลด-ซื้อและติดตั้ง EV Charger ผ่อน 0% 10 เดือน รุกขยายฐานเจ้าของรถ EV เสริมแกร่ง EV Charging Ecosystem สู่เป้าหมายยอดผู้ใช้แอปพลิเคชัน 200,000 ราย

นายพีระภัทร ศิริจันทโรภาส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ชาร์จ แมเนจเม้นท์ จำกัด ผู้ให้บริการสถานีชาร์จภายใต้แบรนด์ RÊVERSHARGER และผู้นำ EV Ecosystem Operator ครบวงจร เพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตอย่างยั่งยืน กล่าวว่า RÊVERSHARGER ร่วมกับ “เคทีซี หรือ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) จัดแคมเปญยกระดับประสบการณ์ขับขี่ให้กับผู้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ด้วยการมอบเอกสิทธิ์พิเศษให้ผู้ถือบัตรเครดิตเคทีซี สามารถชาร์จพลังงานไฟฟ้าได้ง่ายในราคาที่คุ้มค่า ครอบคลุมทั้งภายในที่อยู่อาศัยและสถานีชาร์จระหว่างทางทั่วประเทศ ต่อยอดแนวคิด RÊVERSHARGER ครบ-สะดวก-สบาย” ของบริษัท มุ่งให้บริการด้าน EV ที่ครบทุกความต้องการชาร์จ สถานีชาร์จครอบคลุมสะดวกทุกเส้นทาง และออกแบบบริการทุกขั้นตอนให้ใช้ง่ายและสบายสำหรับผู้ใช้งานมากที่สุด

“นอกจากพัฒนาเทคโนโลยีและขยายจำนวนสถานีชาร์จแล้ว ในปีนี้เรายังเดินหน้าจับมือกับพันธมิตรชั้นนำ ขยาย EV Charging Ecosystem เพื่อมอบบริการชาร์จที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ผู้ใช้รถ EV แต่ละกลุ่มให้มากที่สุด ครั้งนี้เราได้ร่วมมือกับเคทีซี ซึ่งเป็นพันธมิตรบัตรเครดิตรายแรกที่อยู่กับเรามาอย่างยาวนาน ทั้งยังมีฐานสมาชิกในไทยมากกว่า 2.6 ล้านรายครอบคลุมทั่วประเทศ ในการคัดสรรดีลโปรโมชันที่ตรงใจและตอบโจทย์การใช้งานจริงของผู้ใช้รถ EV สำหรับการชาร์จไฟฟ้าทั้งในและนอกบ้าน เราเชื่อว่าแคมเปญนี้จะผสานฐานลูกค้าของทั้ง 2 บริษัท ช่วยผลักดันยอดผู้ใช้งานแอปพลิเคชันสู่ 200,000 รายภายในสิ้นปี และสร้างความผูกพันระหว่าง RÊVERSHARGER กับกลุ่มผู้ใช้รถ EV ยิ่งขึ้น” นายพีระภัทร กล่าว

ที่ผ่านมา RÊVERSHARGER มุ่งมั่นยกระดับการบริการด้านการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าแบบครบวงจรอย่างต่อเนื่อง ด้วยจุดแข็งในหลากหลายมิติ ได้แก่ 1.การชาร์จภายในที่อยู่อาศัย เลือกให้บริการติดตั้งแบรนด์ EV Charger คุณภาพสูงจากผู้ผลิตรายใหญ่ระดับโลก เช่น ABB, Autel พร้อมทีมผู้เชี่ยวชาญที่พร้อมให้บริการติดตั้งทั่วประเทศ ให้ความปลอดภัยทุกการชาร์จ 2.การชาร์จระหว่างทาง มีเครือข่ายสถานีชาร์จขนาดใหญ่เตรียมให้บริการครบ 2,012 หัวชาร์จภายในปีนี้ ครอบคลุมการเดินทางไปยังทุกภูมิภาค ทุกระยะ 160 กม. มีสถานีชาร์จความเร็วสูงสุดถึง 360kW ที่ชาร์จเพียง 10 นาที วิ่งได้ไกลสุด 100 กม. 3.แอปพลิเคชัน REVERSHARGER ที่มีฟีเจอร์ Plug & Charge แค่จอดเสียบชาร์จได้ทันที พร้อมสิทธิพิเศษจากพันธมิตร มาช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ใช้งาน ประกอบกับภาพรวมยอดขายรถ EV ในงาน Motor Show ครั้งล่าสุดยังแข็งแกร่ง และคาดการณ์ว่าจะมียอดจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ (BEV) สะสมทะลุ 200,000 คันในสิ้นปีนี้ บริษัทจึงเชื่อมั่นว่า แคมเปญร่วมกับ เคทีซี จะช่วยรองรับความต้องการของผู้ใช้งานรถ EV ที่มองหา EV Charger สำหรับติดตั้งในบ้าน และสถานีบริการนอกบ้านได้

 

นายสุวัฒน์ เทพปรีชาสกุล ผู้บริหารสูงสุด ฝ่ายการตลาดบัตรเครดิต “เคทีซี” หรือ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บัตรเครดิตเคทีซีร่วมส่งเสริมสังคมไทยเปลี่ยนผ่านสู่การใช้รถ EV เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดี ด้วยการผนึกกำลังกับพันธมิตรด้านยานยนต์ไฟฟ้า ส่งมอบบริการที่ครอบคลุมความต้องการของผู้ใช้รถ EV และสามารถใช้บัตรเครดิตเคทีซีในการผ่อนชำระค่าจอง-ดาวน์รถ ซื้อประกันภัยรถ EV ไปจนถึงใช้คะแนนแลกรับส่วนลดการติดตั้งเครื่องชาร์จ ซึ่งปี 2566 ที่ผ่านมา มียอดการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตเคทีซีในหมวดรถ EV เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง และคาดว่าในปี 2567 จะเติบโตเพิ่มขึ้น ตามการขยายตัวของจำนวนผู้ใช้รถ EV ซึ่งจะช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้กับหมวดใช้จ่ายด้านรถยนต์ของเคทีซีได้เป็นอย่างดี

“กลุ่มผู้ใช้รถยนต์ EV เป็นกลุ่มที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและมีกำลังซื้อค่อนข้างสูง การออกแคมเปญนี้ร่วมกับ RÊVERSHARGER ซึ่งเป็นผู้ให้บริการที่มีจำนวนสถานีชาร์จและเครือข่ายผู้ใช้บริการขนาดใหญ่ คาดว่าจะช่วยกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายของสมาชิกบัตรฯ เพิ่มมากขึ้น” นายสุวัฒน์ กล่าว

สำหรับความร่วมมือระหว่าง RÊVERSHARGER และเคทีซี ในการมอบสิทธิประโยชน์ให้ผู้ใช้รถ EV ครอบคลุมทุกไลฟ์สไตล์การชาร์จ มีดังนี้

1. สิทธิประโยชน์สำหรับใช้บริการที่สถานีชาร์จในเครือข่าย RÊVERSHARGER ทั่วประเทศ

1.1 มอบโค้ดส่วนลด 10% ไม่มีขั้นต่ำ โดยใช้เพียง 1 คะแนน KTC FOREVER ในการแลกรับผ่านแอป KTC Mobile (จำนวนจำกัด) ในสถานีที่ร่วมรายการ ตั้งแต่วันนี้ - 30 มิถุนายน 2567

1.2 ใช้ 1,000 คะแนน KTC FOREVER แลกรับ e-Coupon ส่วนลด 130 บาท ผ่านแอป KTC Mobile ตั้งแต่วันนี้ - 31 กรกฎาคม 2567

2. สิทธิประโยชน์สำหรับบริการติดตั้ง EV Charger ภายในที่อยู่อาศัย รับสิทธิ์ผ่อนชำระ 0% นานสูงสุด 10 เดือน เมื่อติดตั้ง RÊVERSHARGER ภายในที่อยู่อาศัย สำหรับผู้ใช้รถทุกแบรนด์ ตั้งแต่วันนี้ - 31 กรกฎาคม 2567

ผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ KTC โทร. 02 123 5000 หรือติดตามโปรโมชัน ของเคทีซีได้ที่ https://www.ktc.co.th/promotion/gas-auto ทั้งนี้ผู้ถือบัตรเครดิตควรใช้เท่าที่จำเป็นและชำระคืนได้เต็มจำนวนตามกำหนด จะได้ไม่เสียดอกเบี้ย 16% ต่อปี  

ผู้สนใจติดตั้ง EV Charger สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Facebook: ReverSharger หรือ Line OA: @sharge.thailand โทร. 02 114 7571  และผู้สนใจค้นหาสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า สามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน REVERSHARGER ได้ที่ https://sharge.page.link/ib87 

KKP Research โดยกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ประเมินว่าการเข้ามาของ EV จากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมยานยนต์ ไม่ใช่สาเหตุเดียวของการเปลี่ยนแปลงที่จะกระทบต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ไทย แต่สาเหตุที่สำคัญกว่า คือ การรุกคืบในการชิงส่วนแบ่งตลาดรถยนต์ของผู้ประกอบการจากประเทศจีนที่มีกำลังการผลิตส่วนเกิน และมีความสามารถในการแข่งขันด้านราคา ซึ่งผลักดันให้ยานยนต์จีนมีบทบาทเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในเวทีโลก โดย EV เป็นเพียงหนึ่งในจุดเปลี่ยนที่เร่งแนวโน้มดังกล่าว การก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำตลาดของอุตสาหกรรมรถยนต์จีนจะสร้างแรงกระเพื่อมมายังเศรษฐกิจและยานยนต์ไทยมากขึ้น

โดยผลกระทบต่อตลาดรถยนต์จะไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่กลุ่มรถยนต์นั่งส่วนบุคคลที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจาก EV แต่จะขยายวงกว้างไปยังตลาดรถ “ปิกอัพ” ซึ่งเป็นหัวใจหลักของธุรกิจยานยนต์ไทยและตลาดส่งออกของไทยอีกด้วย

EV เป็นเพียงจุดเริ่มต้น ปิกอัพไทยเสี่ยงถูกชิงตลาดเช่นกัน

เมื่อพิจารณาโครงสร้างการส่งออกรถยนต์ของจีนไปทั่วโลกจะพบว่า จีนส่งออกทั้ง EV และรถยนต์สันดาปภายใน (ICE) โดย EV คิดเป็นสัดส่วนเพียงประมาณ 30% ของการส่งออกรถยนต์ทั้งหมดจากจีนเท่านั้น ในขณะที่อีก 70% ที่เหลือเป็นรถยนต์สันดาปภายในที่มีการส่งออก “ปิกอัพ” รวมอยู่ด้วย ซึ่งคาดว่าในอนาคตจะเป็นคู่แข่งโดยตรงในตลาดส่งออกปิกอัพสำคัญของยานยนต์ไทย โดยเริ่มที่จะเห็นสัญญาณชัดเจนขึ้นในตลาดออสเตรเลียในปี 2023 ที่ปิกอัพของจีนสามารถแย่งส่วนแบ่งตลาดได้มากถึง 8% ของยอดขายกลุ่มรถยนต์เชิงพาณิชย์ทั้งหมดของออสเตรเลียภายในเวลาเพียง 2-3 ปี ดังนั้น ผลกระทบต่อการส่งออกปิกอัพไทยจึงมีแนวโน้มเกิดขึ้นได้เร็วแม้ยังไม่มีการเปิดตัวปิกอัพ EV

ครั้งนี้ไม่เหมือน 1980s…การลงทุนจีนอาจไม่ช่วยต่อยอดยานยนต์ไทย

การเข้ามาของทุนจีนในปัจจุบันเป็นไปเพื่อใช้กำลังการผลิตส่วนเกินในจีนมาเจาะตลาดภายในประเทศมากกว่าการมาใช้ไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อการส่งออกแบบญี่ปุ่นในช่วงทศวรรษ 1980s โดยยอดขายรถยนต์ในประเทศจีนมีแนวโน้มที่จะชะลอตัวลงตามภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่มีสัญญาณฟื้นตัว ซึ่งจะกดดันให้มีกำลังการผลิตส่วนเกินเพิ่มมากขึ้น ตลาดส่งออกจึงเป็นทางออกที่สำคัญสำหรับยานยนต์จีนในการระบายสต็อกรถยนต์ อย่างไรก็ตาม จีนไม่สามารถส่งออกรถยนต์ไปทั่วโลกได้ง่ายนัก ท่ามกลางการแบ่งขั้วมหาอำนาจระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกาที่ส่งผลให้มีการกีดกันสินค้าจากจีนรุนแรงมากขึ้น อีกทั้งยุโรปยังมีแนวโน้มที่จะเพิ่มภาษีการนำเข้ารถยนต์จีนมากขึ้นเพื่อปกป้องอุตสาหกรรมยานยนต์ของยุโรป ส่งผลให้ภูมิภาคอาเซียนกลายเป็นเป้าหมายหลักถัดไปสำหรับการระบายรถยนต์จีน โดยเฉพาะประเทศไทยที่มีมาตรการให้เงินสนับสนุนการซื้อ EV และยังยกเว้นภาษีนำเข้ารถยนต์จีนผ่านสิทธิประโยชน์ทางภาษีจาก China-ASEAN FTA ซึ่งไทยเป็นเพียงไม่กี่ประเทศที่เปิดให้นำเข้ารถไฟฟ้า นอกจากนี้การลงทุนของจีนอาจสร้างความน่ากังวลต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ไทยมากขึ้นด้วยปัจจัยภายใต้ภาวะอุปสงค์และอุปทานตลาดรถยนต์ของไทยที่ปรับแย่ลง ได้แก่

(1) ตลาดรถยนต์ในประเทศของไทยได้ผ่านจุดสูงสุดและเริ่มเข้าสู่ภาวะชะลอตัวนับตั้งแต่ปี 2018 ซึ่งส่งผลให้ยอดขายรถยนต์ภายในประเทศจะเปลี่ยนเป็นทิศทางขาลงต่อเนื่อง และในอนาคตมีแนวโน้มไม่สามารถรองรับ EV จีนที่จะทะลักเข้า

มาในตลาดและที่กำลังจะมีการผลิตภายในประเทศได้ทั้งหมด ทางออกที่สำคัญ คือ ความสามารถในการส่งออก EV จากไทยไปยังประเทศอื่นที่จะช่วยพยุงอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยต่อไปได้

(2) อย่างไรก็ตาม ไทยต้องแข่งกับจีนโดยตรงในตลาดส่งออกรถยนต์ในต่างประเทศ จากการที่ผู้ประกอบการจีนมีการส่งออกและเข้าไปลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศต่าง ๆ โดยตรง จะกดดันให้ส่วนแบ่งตลาดการส่งออกรถยนต์ของไทยมีขนาดเล็กลง ทำให้โอกาสสำหรับไทยในการเป็นผู้นำส่งออกรถยนต์ EV มีความท้าทายมากขึ้น

(3) มูลค่าเพิ่มภายในประเทศ (domestic value add) ที่ไทยจะได้รับจากการผลิตรถยนต์ EV 1 คัน ต่ำกว่าการผลิตรถยนต์ ICE อย่างมาก จากการที่ต้องพึ่งพาการนำเข้าชิ้นส่วนสำคัญจากต่างประเทศ ในขณะที่ในกลุ่มสินค้าเดิมที่ไทยสามารถผลิตได้มีแนวโน้มต้องลดราคาเพื่อแข่งกับผู้ประกอบการจีน เพราะบริษัทจีนสามารถนำเข้าโดยตรงจากจีนด้วยต้นทุนที่ถูกกว่าไทยมาก ทำให้ถึงแม้จะมีการตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ EV ในไทย แต่ประโยชน์ที่ไทยจะได้รับจากการผลิตรถยนต์จะน้อยกว่าในอดีต

วิกฤตยานยนต์...สายเกินแก้แล้วหรือยัง?

การเปลี่ยนผ่านของตลาดรถยนต์ทั่วโลกยังคงมีความไม่แน่นอนสูง นั่นอาจจะหมายถึงโอกาสสำหรับไทยในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลง โดยยอดขายรถยนต์ไฟฟ้า (Battery Electric Vehicle: BEV) เริ่มชะลอตัวลงทั่วโลก แต่ยอดขายรถยนต์ไฮบริด (Hybrid Vehicles) กลับขยายตัวได้มากขึ้น สาเหตุหลักมาจากข้อจำกัดหลายด้านทั้งความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ และความไม่แน่นอนของเทคโนโลยี ทำให้ยังไม่สามารถชี้ชัดได้ว่าใครจะเป็นผู้นำตลาดรถยนต์ยุคใหม่ที่แท้จริง และอาจช่วยยืดเวลาสำหรับรถยนต์สันดาปภายในได้อีกระยะหนึ่ง นอกจากนี้ มีความเป็นไปได้สูงว่าค่ายรถจีนจะเข้ามาลงทุนในไทยต่อเนื่องเพื่อดันไทยเป็นหนึ่งในฐานการส่งออกหากการกีดกันสินค้าจากสหรัฐอเมริกาและประเทศตะวันตกรุนแรงมากขึ้น ซึ่งถือเป็นโอกาสที่อาจเอื้อให้เกิดการโอนถ่ายความรู้เทคโนโลยีให้กับไทยได้

อย่างไรก็ตาม นโยบายสนับสนุน EV ในปัจจุบันเอื้อต่อการเน้นการนำเข้าชิ้นส่วนเข้ามาประกอบภายในประเทศมากกว่า ซึ่งจะส่งผลให้มูลค่าเพิ่มที่ไทยได้รับจากการผลิต EV ลดลงมากกว่าครึ่งเมื่อเทียบกับการผลิตรถยนต์สันดาปภายใน ภาครัฐจึงควรให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพด้านเทคโนโลยีของผู้ประกอบการไทยอย่างเร่งด่วน ซึ่งเป็นรากฐานที่สำคัญที่สุดในการแข่งขันของอุตสาหกรรมยานยนต์ในปัจจุบันและอนาคตหากต้องการที่จะรักษาความเป็นผู้นำในภาคยานยนต์ไว้ และอาจจำเป็นต้องมีการทบทวนมาตรการด้านการให้เงินอุดหนุน EV เพื่อลดการบิดเบือนโครงสร้างและราคาในตลาดรถยนต์ รวมถึงการเพิ่มความเข้มงวดในการกำหนดและตรวจวัดสัดส่วนการใช้วัตถุดิบภายในประเทศ (Local content ratio) เพื่อซื้อเวลาให้ภาคยานยนต์ในระยะสั้น และเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ไทยให้ยังคงได้รับประโยชน์และมีเวลาปรับตัวรับมือกับการเปลี่ยนแปลงนี้ได้ในระยะยาว

โรงงานรถยนต์และชิ้นส่วนเสี่ยงปิดตัวสูงหากปล่อยตามกลไกตลาด

สถานการณ์ปัจจุบันมีโอกาสสูงที่จะนำไปสู่การปิดโรงงานผลิตรถยนต์ของบางรายที่ไม่สามารถอยู่รอดได้ในสมรภูมิใหม่หากภาครัฐปล่อยไปตามกลไกการแข่งขันในปัจจุบัน ค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นหลายค่ายได้เสียส่วนแบ่งตลาดในไทยให้กับ EV จีนมากกว่า 10% ภายในระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้สต็อกรถยนต์ ICE เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และกำลังการผลิตรถยนต์ ICE เริ่มปรับลดลง แต่โดยรวมยังไม่สามารถลดกำลังการผลิตได้มากนักจากข้อจำกัดเรื่องต้นทุนคงที่ (Fixed cost) ซึ่งมีขนาดใหญ่ ซึ่งส่งผลให้เกิดการแข่งขันด้านราคาเพื่อระบายสินค้าและกดดันอัตรากำไรของบริษัทยานยนต์ในประเทศ อย่างไรก็ดี ค่ายรถยนต์บางรายอาจไม่สามารถสู้การตัดราคาขายแข่งได้และมีแนวโน้มขาดทุน ซึ่งมีความเสี่ยงมากขึ้นที่จะเกิดการปิดตัวของโรงงานผลิตรถยนต์บางแห่ง คล้ายกับสถานการณ์ที่ค่ายรถญี่ปุ่นต้องเผชิญในประเทศจีน ซึ่งหากมีบริษัทจำเป็นต้องปิดตัวก็จะส่งผลเพิ่มเติมต่อการจ้างงานและเศรษฐกิจไทยในวงกว้างมากขึ้น

 

[]

Page 1 of 2
X

Right Click

No right click