December 23, 2024

ท่ามกลางวิกฤตของสภาพแวดล้อมโลกที่เปลี่ยนผ่านจากโลกร้อน (Global Warming) เข้าสู่ภาวะโลกเดือด (Global Boiling) ส่งผลให้ทุกภาคส่วนจำเป็นต้องเร่งเดินหน้าสู่เศรษฐกิจสีเขียวภายใต้บริบทใหม่ของโลกที่มุ่งสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals) โดยเฉพาะภาคธุรกิจ การค้า การลงทุน ที่กำลังเผชิญแรงกดดันจากบริบทใหม่ดังกล่าว ทั้งนี้ ปัจจุบันมีมาตรการทางการค้าด้านสิ่งแวดล้อมทั่วโลกรวมแล้วราว 18,000 มาตรการ เมื่อประกอบกับผลการศึกษาของ Moore Global บริษัทที่ปรึกษาทางบัญชีและธุรกิจที่ระบุว่า บริษัทที่ให้ความสำคัญอย่างมากกับประเด็นเรื่องของสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการที่ดี (Environmental, Social, and Governance : ESG) จะมีอัตราการเติบโตของรายได้และกำไรสูงกว่าบริษัทที่ให้ความสำคัญน้อยถึง 2.2 และ 2.5 เท่าตามลำดับ ส่งผลให้บริษัททั่วโลกตื่นตัวและเร่งปฏิบัติตามหลัก ESG อย่างจริงจัง

ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) กล่าวว่า ในฐานะสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐภายใต้สังกัดกระทรวงการคลัง ธนาคารมีเจตนารมณ์แน่วแน่และเป้าหมายชัดเจนที่จะเดินหน้าสู่การเป็น Green Development Bank เพื่อตอบโจทย์การพัฒนาอย่างยั่งยืนและสมดุล ในทุกมิติ อีกทั้งสนับสนุนการสร้างระบบนิเวศ (Ecosystem) ของภาคการค้าการลงทุนระหว่างประเทศ ผลักดันการสร้างธุรกิจสีเขียว ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายทางที่สอดรับไปกับกระแสการพัฒนาอย่างยั่งยืน พร้อมเคียงข้างและนำพาผู้ประกอบการไทยก้าวเข้าสู่ Green Economy โดยมีแผนยุทธศาสตร์ปี 2567 ในการขับเคลื่อนบทบาทการเป็น Green Development Bank ผ่านยุทธศาสตร์ Sustainable Growth Escalator เพื่อยกระดับธุรกิจไทยสู่เศรษฐกิจที่เป็น ESG  โดยมุ่งเน้นให้การสนับสนุนสินเชื่อและเป็นกลไกในการยกระดับการบริหารจัดการธุรกิจสู่ความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างครบวงจร ผ่าน “กลยุทธ์ 3 เติม” ได้แก่ “เติมความรู้” ด้วยการบ่มเพาะให้ความรู้ด้านสิ่งแวดล้อมตามกติกาการค้าโลก พร้อมสร้างแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการเร่งปรับตัว ทั้งผู้ส่งออก และ Suppliers ของผู้ส่งออก เพื่อให้ดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง “เติมโอกาส” จับคู่ คู่ค้าทั้งใกล้และไกลทั่วโลก ผ่าน Business Matching และ E-commerce Platform และ “เติมเงินทุน” ด้วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการ รวมถึงนวัตกรรมทางการเงินใหม่ ๆ เพื่อยกระดับธุรกิจไทยให้สอดคล้องกับมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมสากล เช่น EXIM Green Start, Solar Orchestra, Solar D-Carbon Financing, EXIM Green Goal และ EXIM Extra Transformation เพื่อให้ EXIM BANK สามารถขยาย Green Portfolio จาก 28% ในปี 2565 เป็น 50% ของพอร์ตทั้งหมดภายในปี 2571 และสนับสนุนการปรับลดคาร์บอนของ Suppliers ใน Chain ของผู้ส่งออก พร้อมกับเป็นหนึ่งในเครื่องยนต์สำคัญของประเทศที่จะช่วยเปลี่ยนผ่านเศรษฐกิจและธุรกิจไทยไปสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน

 

“การปรับตัวของภาคธุรกิจสู่ ESG กลายเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการดำเนินธุรกิจให้สอดคล้องตามมาตรฐานสากล เนื่องจากผู้บริโภคทุกกลุ่มให้ความสำคัญกับการดูแลสิ่งแวดล้อมและสังคม เพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน ผู้ประกอบการที่สามารถปรับตัวได้ก่อน ก็จะสามารถอยู่รอดได้ รวมทั้งมีข้อได้เปรียบจากภาพลักษณ์ที่โดดเด่นขึ้น” ดร.รักษ์ กล่าว

 

นอกจากนี้ EXIM BANK ไม่เพียงพัฒนาสินเชื่อสีเขียว แต่ยังให้ความสำคัญในส่วนของเครื่องมือการระดมทุน ผ่านการออก Green Bond มูลค่า 5,000 ล้านบาท และ SME Green Bond มูลค่า 3,500 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนด้านการเงินแก่ธุรกิจสีเขียว ในระยะถัดไป EXIM BANK มีแผนจะขยายขอบเขตในด้านเครื่องมือของการระดมทุนให้ครอบคลุมไปถึงการออก Blue Bond ซึ่งเป็นตราสารหนี้ที่ระดมทุนเพื่อนำมาใช้กับโครงการที่เป็นประโยชน์กับสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรทางทะเลโดยเฉพาะ เพื่อการอนุรักษ์และฟื้นฟูมหาสมุทร ทะเล และทรัพยากรทางทะเลให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน เช่น พาณิชยนาวีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นการปรับปรุงเรือให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นและปล่อยมลพิษลดลง การซื้อเรือใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นต้น ยิ่งไปกว่านั้น ยังตอกย้ำบทบาทการเป็น Lead Bank ในการสนับสนุนทั้ง Green Economy และ Blue Economy ของประเทศ โดย EXIM BANK พร้อมทำหน้าที่เป็นกลไกเชื่อมโยงและบริหารจัดการการใช้ประโยชน์จากกองทุนของสถาบันการเงินระดับโลกและระดับภูมิภาคที่เกี่ยวข้องกับ Green/Climate Fund เพื่อช่วยผู้ประกอบการไทยในช่วงเปลี่ยนผ่านและปรับธุรกิจให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมถึงการสร้างกลไกสำหรับอำนวยความสะดวกในการปฏิบัติตามระเบียบการค้าใหม่ ๆ ของโลก เดินหน้าสู่ Carbon Neutrality และสร้างการพัฒนาที่สมดุลในที่สุด

 

“EXIM BANK มุ่งสนับสนุนการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) โดยเฉพาะอุตสาหกรรมใหม่ที่มีมูลค่าเพิ่มสูง รวมไปถึงอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยจะทำหน้าที่เสมือนเป็น Supply Chain Linker เชื่อมโยงระหว่างบริษัทข้ามชาติกับผู้ประกอบการไทย ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตร ตลอดจนเป็น Financial Arm ของภาครัฐในการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ ควบคู่กับการให้สิทธิประโยชน์ของหน่วยงานภาครัฐอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง” ดร.รักษ์ กล่าว

ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) รับรางวัล “Transport Deal of the Year” ประเภทพาหนะพลังงานไฟฟ้า

X

Right Click

No right click