December 23, 2024
×

Warning

JUser: :_load: Unable to load user with ID: 7637

บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ อินทัช ประกาศผลประกอบการครึ่งแรกของปี 2564 มีรายได้รวม 7,530 ล้านบาท กำไรสุทธิที่ 5,474 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 4.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากส่วนแบ่งกำไรจากเอไอเอสและไทยคมลดลง

นายเอนก  พนาอภิชน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า “จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ขยายวงกว้างอย่างรวดเร็วทำให้บริษัทที่อินทัชเข้าไปลงทุนได้รับผลกระทบ เนื่องจากเกิดการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ และการใช้จ่ายอย่างระมัดระวังของผู้บริโภค ส่งผลให้ส่วนแบ่งกำไรจากเอไอเอสลดลงร้อยละ 1 ซึ่งมาจากการลดลงของรายได้โทรศัพท์เคลื่อนที่เป็นหลัก ขณะที่ไทยคม มีส่วนแบ่งกำไรลดลงถึงร้อยละ 90 โดยมีสาเหตุหลักมาจากการรับรู้รายการพิเศษจากเงินชดเชยในไตรมาสที่ 2/2563 และรายได้ที่ลดลงของการให้บริการดาวเทียม อันเนื่องมาจากลูกค้ามีการใช้งานลดลง ทั้งนี้ อินทัชจะจ่ายเงินปันผลในอัตราหุ้นละ 1.23 บาท โดยกำหนดวันที่ไม่ได้รับสิทธิปันผล (XD) ในวันที่ 17 สิงหาคม 2564 และกำหนดจ่ายปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นในวันที่ 2 กันยายน 2564”

เอไอเอส – ลูกค้าอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง และลูกค้าองค์กรเพิ่มขึ้น พร้อมทั้งขยายโครงข่าย 5G อย่างต่อเนื่องเพื่อสนับสนุนการใช้งานที่เพิ่มสูงขึ้น

เอไอเอสมีผลกำไรสุทธิในงวดครึ่งแรกของปี 2564 ที่ 13,685 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 0.5 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยรายได้จากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ลดลงร้อยละ 2.4 ซึ่งเกิดจากกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ชะลอตัว และการแข่งขันด้านราคาที่รุนแรง  ในขณะที่ธุรกิจอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงมีรายได้เติบโตถึงร้อยละ 19 เนื่องมาจากความต้องการใช้งานที่เพิ่มขึ้นในช่วงล็อกดาวน์ ทั้งการทำงานที่บ้านและการเรียนออนไลน์จึงทำให้จำนวนผู้ใช้งานเอไอเอสไฟเบอร์มีการเติบโตเพิ่มขึ้นสุทธิ 104,000 รายในไตรมาสนี้ นอกจากนี้ ในส่วนของลูกค้าองค์กรยังคงเติบโตได้ดีต่อเนื่อง จากความต้องการของภาคธุรกิจที่นำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาปรับใช้กับการดำเนินธุรกิจเพิ่มขึ้นโดยมีความต้องการใช้บริการโซลูชั่นต่างๆ เช่น Cloud Cybersecurity และ ICT ส่งผลให้รายได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 12 

ในส่วนของการขยายโครงข่าย 5G เอไอเอสสามารถขยายได้ครอบคลุมกว่าร้อยละ 25 ของประชากร โดยเน้นลงทุนบนคลื่นความถี่ย่าน 2600 เมกะเฮิรตซ์ ในพื้นที่ที่มีปริมาณการใช้งานสูง ปัจจุบันเอไอเอสมีผู้ใช้บริการ 5G แล้วกว่า 1 ล้านราย คิดเป็นร้อยละ 9.6 ของฐานลูกค้ารายเดือน โดยปรับเป้าหมายจำนวนลูกค้า 5G เพิ่มขึ้นเป็น 2 ล้านรายภายในสิ้นปีนี้   

ไทยคม พร้อมส่งเสริมธุรกิจดาวเทียมของประเทศไทยให้แข็งแกร่ง

ผลการดำเนินงานในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 ไทยคมมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 70 ล้านบาท ลดลงจากผลกำไรสุทธิ 695 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากมีการรับรู้รายการพิเศษจากเงินชดเชย ค่าใช้จ่ายทางด้านกฎหมายที่เพิ่มขึ้น และมีส่วนแบ่งขาดทุนจากเงินลงทุนในการร่วมค้า

ไทยคมมีรายได้จากการขายและให้บริการในงวดครึ่งแรกของปี 2564 ที่ 1,584 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 14 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากรายได้จากดาวเทียมแบบทั่วไปลดลงร้อยละ 13 จากการปลดระวางดาวเทียมไทยคม 5 ในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 และการลดการใช้งานของลูกค้าในประเทศ ขณะเดียวกัน รายได้จากดาวเทียมบรอดแบนด์ลดลงร้อยละ 15 จากการใช้งานลดลงของลูกค้าต่างประเทศ ซึ่งอัตราการใช้งานดาวเทียมแบบทั่วไป ณ สิ้นไตรมาส 2/2564 อยู่ที่ร้อยละ 64 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 63 ณ สิ้นไตรมาส 2/2563 และอัตราการใช้งานดาวเทียมบรอดแบนด์อยู่ที่ร้อยละ 18 ลดลงจากร้อยละ 19 ณ สิ้นไตรมาส 2/2563 ขณะที่ต้นทุนจากการขายและให้บริการลดลงตามการลดลงของรายได้จากการให้บริการดาวเทียมเป็นหลัก  

ทั้งนี้ ไทยคมพร้อมที่จะเข้าประมูลสิทธิการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมจาก กสทช. เพื่อส่งเสริมธุรกิจดาวเทียมของประเทศไทยให้แข็งแกร่งพร้อมรับความต้องการใช้งานที่เพิ่มมากขึ้นด้วยศักยภาพและประสบการณ์ในการดำเนินธุรกิจที่มีมายาวนาน

โครงการอินเว้นท์ – มูลค่าการลงทุนเพิ่มขึ้น และมุ่งเน้นการลงทุนในกลุ่ม HealthTech EdTech และ FinTech

สำหรับครึ่งแรกของปี 2564 โครงการอินเว้นท์ (InVent) ได้ลงทุนเพิ่มในบริษัท โคนิเคิล จำกัด และมีการตีมูลค่าเพิ่มจากการเพิ่มทุนในบริษัท แอกซินัน พีทีอี ลิมิตเต็ด หรืออิกลู จากการระดมทุนรอบใหม่ รวมทั้งได้รับเงินกู้ยืมคืนจากบริษัทสตาร์ทอัพรายหนึ่ง จึงทำให้มูลค่าการลงทุนในโครงการอินเว้นท์ ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2564 อยู่ที่ 1,084 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 11 จาก 975 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2563

ส่วนโครงการ Venture Builder ที่เปิดตัวในช่วงไตรมาส 1 ของปีนี้ ได้ลงทุนในธุรกิจเทคโนโลยีด้านสุขภาพ (HealthTech) ที่จะช่วยยกระดับ และเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการด้านสุขภาพด้วยเทคโนโลยี 5G และเครือข่ายของอินทัช รวมทั้งยังเพิ่มความสามารถในการเข้าถึงหรือกระจายการรักษาพยาบาลไปยังพื้นที่ต่างๆ ได้ในวงกว้าง ปัจจุบันได้คัดเลือก 3 ทีม ที่ตรงกับเป้าหมายการลงทุนของอินทัชซึ่งอยู่ในช่วงการพัฒนาสินค้าและบริการ โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในสิ้นปี 2564

ปัจจุบัน อินเว้นท์มุ่งเน้นการลงทุนทั้งใน และต่างประเทศในกลุ่ม HealthTech EdTech และ FinTech ที่สามารถนำมา synergy กับกลุ่มบริษัท เพื่อสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันให้กับกลุ่มอินทัชให้เข้าถึงโอกาสในการลงทุนธุรกิจใหม่ๆ เช่น เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับ 5G เทคโนโลยีคลาวด์ เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ หรือเทคโนโลยีอัจฉริยะ (Smart Solutions) เป็นต้น

อินทัช ยังคงมุ่งมั่นบริหารสินทรัพย์และลงทุนในธุรกิจใหม่ในกลุ่มอุตสาหกรรมโทรคมนาคม สื่อ เทคโนโลยี และดิจิทัลเพื่อสร้างผลตอบแทนให้กับผู้ถือหุ้นอย่างยั่งยืน รวมทั้งตั้งเป้าการเติบโตของมูลค่าสินทรัพย์สุทธิเพิ่มขึ้นเป็น 320,000 ล้านบาท ภายในปี 2568

หลายคนคงเคยได้ยินว่าคนอ่านหนังสือน้อยลง และหนังสือกำลังจะหมดความนิยม แต่จากผลสำรวจการอ่านของประชากรไทย ประจำปี 2561 จัดทำโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า คนไทยใช้เวลาอ่านในการอ่านเฉลี่ย 80 นาทีต่อวัน เพิ่มขึ้นจากการสำรวจครั้งที่ผ่านมาในปี 2558 อยู่ที่ 66 นาทีต่อวัน โดยหนังสือเล่มยังคงเป็นสื่อที่คนนิยมอ่านมากที่สุดตามมาด้วยสื่ออิเล็กทรอนิกส์ทั้งสื่อออนไลน์ เว็บไซต์ อีบุ๊ค เป็นต้น สอดคล้องกับพฤติกรรมการอ่านที่เปลี่ยนแปลงไปตามบริบทของเทคโนโลยีในโลกยุคดิจิทัล ซึ่งนับเป็นเรื่องน่ายินดีที่คนไทยยังให้ความสำคัญกับ “การอ่าน” เพราะเป็นทักษะพื้นฐานที่จะช่วยพัฒนาความรู้ ความคิค ช่วยเปิดโลกทัศน์และกระตุ้นการสร้างแรงบันดาลใจโดยเฉพาะเด็กและเยาวชนที่อยู่ในช่วงวัยแห่งการเรียนรู้

บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ อินทัช เล็งเห็นถึงความสำคัญดังกล่าวจึงส่งเสริมและสนับสนุนให้เยาวชนไทยเห็นคุณค่าของการอ่านผ่าน โครงการ จินตนาการ สืบสาน วรรณกรรมไทยกับอินทัช ที่ดำเนินโครงการมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2550 ตลอดระยะเวลา 12  ปีที่ผ่านมา เยาวชนทั่วประเทศที่เข้าร่วมโครงการกว่า 16,000 คนได้อ่านวรรณกรรมหลากหลายประเภททั้งพระราชนิพนธ์ วรรณกรรมพื้นบ้าน วรรณกรรมในชั้นเรียน วรรณกรรมร่วมสมัย รวมถึงวรรณกรรมที่ได้รับรางวัลต่างๆ มากมายรวมแล้วกว่า 2,000 เรื่อง จากเรื่องราวต่างๆ ที่ร้อยเรียงเป็นตัวหนังสือถูกถ่ายทอดและสร้างสรรค์เป็นผลงานศิลปะที่มีสีสัน สะท้อนถึงจินตนาการของผู้รังสรรค์ผลงานในมิติที่หลากหลาย ดังเช่นผลงานของผู้ชนะเลิศจากการประกวดในปีที่ 12 ที่ได้รับถ้วยรางวัลพระราชทานจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร มหาวชิราลงกรณวรราชภักดี สิริกิจการิณีพีรยพัฒน รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี

ผลงานชิ้นแรกชื่อ “สุขสุดของปวงไทย” จากวรรณกรรมเรื่อง “ความสุข ความทรงจำในรัชกาลที่ 9” ของนางสาวพิสชา  พ่วงลาภ หรือ น้องพิม อายุ 19 ปี เยาวชนที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ ระดับอุดมศึกษา ถ่ายทอดความรู้สึกประทับใจที่มีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นศูนย์รวมดวงใจของคนไทย ฝากถึงเพื่อนๆ ที่จะส่งผลงานเข้าประกวดว่า “ให้สร้างสรรค์ผลงานที่เป็นตัวของตัวเอง ใช้เทคนิคที่ตนเองถนัด ทำแล้วมีความสุข โดยไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงรางวัล แต่ทำผลงานให้สุดความสามารถแล้วจะได้ผลงานที่ทรงคุณค่า น่าสนใจ เพราะผู้ชมสามารถสัมผัสได้ถึงความสุขจากการชมผลงานของเรา

อีกหนึ่งผลงานชื่อ “อีสาน” จากวรรณกรรมเรื่อง “อีสานบ้านเฮา” ของนายธนาธิป นาฉลอง หรือ น้องติ๊ก อายุ 17  ปี ได้รับรางวัลชนะเลิศ ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ถ่ายทอดกลิ่นอายของความเป็นชนบทบนผืนแผ่นดินอีสานในแง่มุมที่หลากหลาย กล่าวว่า “ผมรู้สึกดีใจ และภูมิใจที่ได้รับถ้วยรางวัลพระราชทานจากพระองค์ท่าน ผมได้พัฒนาฝีมือ ได้สร้างสรรค์งานด้วยเทคนิควิธีการใหม่ๆ เพื่อถ่ายทอดผลงานให้ครอบคลุมเนื้อหาของวรรณกรรมให้ได้มากที่สุด และสิ่งสำคัญที่สุดที่ผมอยากให้เกิดขึ้น คือ เมื่อคนดูภาพของผมแล้ว เขาอยากอ่านวรรณกรรมเรื่องที่นำมาถ่ายทอดเพื่อจะได้เข้าใจภาพได้ชัดเจนขึ้น สำหรับเพื่อนๆ ที่สนใจส่งผลงานเข้าประกวดอย่าเพิ่งไปคิดถึงเรื่องรางวัล ให้คิดถึงโอกาสดีๆ ที่จะทำให้เราได้ฝึกฝน พัฒนาฝีมือ และทำให้หลงรักการอ่านมากขึ้น ”

สำหรับในปีนี้ อินทัช พร้อมเดินหน้าโครงการอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 13 โดยจัดการประกวดภาพวาดในหัวข้อ “บวร” ความสุข ความผูกพันของสังคมไทย เพื่อส่งเสริมให้เยาวชนได้ตระหนักรู้ถึงบทบาท หน้าที่ และความสำคัญของ “บ้าน วัด โรงเรียน” (บวร) ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นสามเสาหลักที่ยึดโยงความสัมพันธ์ของคนในสังคมไทยเข้าไว้ด้วยกัน เป็นกลไกให้คนในชุมชนร่วมกันคิด ร่วมกันพัฒนา และบริหารจัดการชุมชนของตนเองให้เข้มแข็ง  ชิงถ้วยพระราชทานจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร มหาวชิราลงกรณวรราชภักดี สิริกิจการิณีพีรยพัฒน รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี และทุนการศึกษาสำหรับเยาวชน และสถาบันการศึกษาที่สนับสนุนให้เยาวชนส่งผลงาน รวมมูลค่ากว่า 1.4 ล้านบาท สำหรับคณะกรรมการตัดสินทางโครงการได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิทั้งด้านวรรณศิลป์ และทัศนศิลป์ นำทีมโดย ดร.เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ และอาจารย์เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ พร้อมด้วยคณาจารย์อีกหลายท่าน ได้แก่ อาจารย์ปัญญา วิจินธนสาร ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์, ดร.สังคม  ทองมี ผู้อำนวยการศูนย์ศิลป์สิรินธร, อาจารย์เสฐียรพงษ์ วรรณปก ราชบัณฑิตไทย, คุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์ (ทมยันตี) ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ และคุณธวัชชัย สมคง บรรณาธิการบริหาร นิตยสาร Fineart

น้องๆ ที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับประถมศึกษาปีที่ 4 ถึงอุดมศึกษา สามารถศึกษารายละเอียด และติดตามความเคลื่อนไหวได้ที่ www.intouchcompany.com , FB : intouchstation หรือ Line ID : Jintanakarn.intouch เปิดรับผลงานตั้งแต่วันนี้ถึง 31 กรกฎาคม 2562 สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 082-796-1670-1 หรือ 02-118-6953 สแกน QR Code เพื่อดาวน์โหลดใบสมัคร หนังสือรับรองผลงาน และตัวอย่างวรรณกรรมแนะนำได้ตามด้านล่าง

บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ อินทัช ประกาศแต่งตั้งนายเอนก พนาอภิชน ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (Chief Executive Officer : CEO) สร้างศักยภาพการดำเนินธุรกิจของอินทัชให้มีความแข็งแกร่ง พร้อมรับกับความเปลี่ยนแปลงในโลกยุคดิจิทัล โดยรายงานตรงต่อ ประธานคณะกรรมการบริษัท มีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2562 เป็นต้นไป

นายเอนก พนาอภิชน สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท สาขาบริหารธุรกิจ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เข้าร่วมงานกับกลุ่มบริษัทฯ ตั้งแต่ปี 2535 โดยดูแลสายงานด้านการเงินและบัญชี เริ่มจากตำแหน่งผู้จัดการบัญชี และได้รับการมอบหมายหน้าที่ความรับผิดชอบเพิ่มเติมเรื่อยมาจนดำรงตำแหน่งรองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานการเงินและบัญชี และในปี 2560 ได้รับมอบหมายให้ดำรงตำแหน่ง รักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ซึ่งนายเอนก ได้ใช้ความรู้ ความสามารถ และความมุ่งมั่นบริหารงานให้เป็นไปอย่างเรียบร้อยด้วยดี ทางคณะกรรมการบริษัท จึงมีมติเห็นชอบแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร โดยมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนกลยุทธ์ และสานต่อการดำเนินงานต่างๆ ของอินทัชให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง มุ่งสู่เป้าหมายตามวิสัยทัศน์ในการเป็น “ผู้นำการบริหารสินทรัพย์ที่ลงทุนในธุรกิจโทรคมนาคม สื่อ และเทคโนโลยีเพื่อสร้างมูลค่าและการเติบโตอย่างยั่งยืน”

 

 

นอกจากนี้ บริษัทฯ ได้แต่งตั้งนายคิมห์ สิริทวีชัย ให้ดำรงตำแหน่ง หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านการเงิน (Chief Financial Officer : CFO) โดยรายงานตรงต่อ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2562

X

Right Click

No right click