ทีเอ็มบีธนชาต หรือ ทีทีบี มุ่งมั่นเดินหน้าเปลี่ยน...ชุมชนเพื่อความยั่งยืน เชิญชวนผู้ที่สนใจเป็นส่วนหนึ่งในกิจกรรม fai-fah for Communities ที่ดำเนินการโดย มูลนิธิทีทีบี ภายใต้แคมเปญ “ขอ 1 วัน ใน 1 ปี มาทำอะไรดี ๆ ด้วยกัน” ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือสังคม เพื่อจุดประกายและสร้างการเปลี่ยนแปลงให้ชุมชนดีขึ้นอย่างยั่งยืน
นางประภาศิริ โฆษิตธนากร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านทรัพยากรบุคคล ทีเอ็มบีธนชาต กล่าวว่า จุดเริ่มต้นของการรวมตัวกันของอาสาสมัครทีทีบี (ttb volunteer) เพราะเชื่อว่า นอกเหนือจากการมาทำงานที่ธนาคารแห่งนี้ พวกเราชาวทีทีบีไม่ได้มุ่งเน้นเรื่องธุรกิจเพียงอย่างเดียว แต่ยังทำกิจกรรมอาสาสมัครเพื่อสร้างสรรค์สิ่งดี ๆ ให้ชุมชนด้วยเช่นกัน จึงเกิดโครงการที่เปิดโอกาสให้พนักงานได้ใช้ความรู้ความสามารถในการสร้างการเปลี่ยนแปลงให้ชุมชนดีขึ้นอย่างยั่งยืน ซึ่งนอกจากจะช่วยจุดประกายโอกาสให้กับสังคมแล้ว ยังเป็นโอกาสดี ๆ ที่อาสาสมัครจะได้ทำความรู้จัก พบปะเพื่อนใหม่ต่างแผนก พัฒนาโครงการเพื่อสังคมที่ตนเองสนใจ วางแผนงานร่วมกับชุมชน และสุดท้าย ส่งต่อให้ชุมชนสามารถดำเนินงานต่อได้ด้วยตนเองอย่างยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องกับปรัชญา Make REAL Change ที่พนักงานทุกคนยึดถือมาโดยตลอด
โดยตลอด 10 ปีที่ผ่านมา อาสาสมัครทีทีบีกว่า 20,000 คน ได้นำความรู้ความสามารถ เข้าช่วยเหลือชุมชนแล้วกว่า 260 ชุมชน เป็นจำนวน 262 โครงการทั่วประเทศ ซึ่งส่งเสริมให้ชุมชนมีรายได้ มีช่องทางในการประกอบอาชีพที่เพิ่มขึ้น รวมถึงเพิ่มทักษะการบริหารจัดการทางการเงิน การทำบัญชี เพื่อให้วิสาหกิจชุมชน หรือองค์กรเหล่านั้นเติบโตได้อย่างยั่งยืน
ในปี 2567 นี้ เหล่าอาสาสมัครทีทีบี ยังคงมุ่งมั่นค้นหาชุมชนที่ต้องการความช่วยเหลือและพัฒนาสังคมต่อไป และเพื่อต่อยอดพร้อมทั้งส่งต่อความรู้สึกแห่งการให้แก่ผู้มีจิตอาสาภายนอกองค์กร เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงโลกให้น่าอยู่มากขึ้น จึงขอเชิญชวนมาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการแบ่งปัน ในกิจกรรม fai-fah for Communities ภายใต้แคมเปญ “ขอ 1 วัน ใน 1 ปี มาทำอะไรดี ๆ ด้วยกัน” กับ “ฝาขวด...รักษ์โลก” โดยร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการเปลี่ยน...ขยะพลาสติกเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ เพื่อลดขยะพลาสติก ลดมลพิษ และสร้างคุณค่าให้แก่ฝาขวดพลาสติกสามารถนำไปเป็นทรัพยากรหมุนเวียนใช้ประโยชน์ต่อได้ โดยฝาขวดน้ำพลาสติกที่ได้รับจะนำไปรีไซเคิลเปลี่ยนเป็นโต๊ะ เก้าอี้เพื่ออุปกรณ์การเรียน เครื่องดนตรี บล็อกปูพื้นถนน ฯลฯ โดยผู้เชี่ยวชาญอย่างมหาวิทยาลัยศิลปากร คณะวิทยาศาสตร์ และโครงการกรีนโรด จังหวัดลำพูน ก่อนนำไปมอบให้น้องนักเรียนที่ขาดแคลนต่อไป” นางประภาศิริ กล่าว
ผู้ที่สนใจร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับอาสาสมัครทีทีบี สามารถส่งฝาขวดมาได้ที่ โครงการอาสาช่วยกันทำ ที่อยู่ 1/31 ซ.เพิ่มสิน 39 แขวงออเงิน เขตสายไหม กทม. 10220
กรุงเทพฯ, 19 เมษายน 2567 – ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือ ทีเอ็มบีธนชาต (ทีทีบี) แจ้งผลประกอบการไตรมาส 1 ปี 2567 โดยธนาคารมีกำไรสุทธิ 5,334 ล้านบาท ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับ 4,295 ล้านบาท ในไตรมาส 1 ปี 2566 ปัจจัยหนุนมาจากกลยุทธ์การปรับโครงสร้างสินเชื่อและการบริหารเงินฝาก เพื่อให้ผลตอบแทนและต้นทุนทางการเงินมีความสอดคล้องกัน และการมีวินัยด้านค่าใช้จ่าย ในด้านคุณภาพสินทรัพย์ ธนาคารสามารถลดอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพลงมาได้อย่างต่อเนื่อง ทั้งยังคงอัตราส่วนสำรองฯ ต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพและฐานเงินกองทุนยังคงในระดับสูง สะท้อนสถานะทางการเงินที่มั่นคงแข็งแกร่ง
นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ทีเอ็มบีธนชาต เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานในไตรมาสแรกของปีถือว่าเป็นไปตามเป้าหมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการปรับโครงสร้างพอร์ตสินเชื่อและการบริหารจัดการต้นทุนทางการเงินเพื่อหนุนรายได้ การมีประสิทธิภาพด้านต้นทุน และการดูแลคุณภาพสินทรัพย์
หนึ่งในจุดเด่นของผลการดำเนินงานในไตรมาสนี้ ได้แก่ ด้านสินเชื่อ ซึ่งธนาคารยังคงเน้นการเติบโตอย่างมีคุณภาพ เน้นกลุ่มลูกค้าที่ธนาคารมีความชำนาญ เข้าใจทั้งความต้องการและความเสี่ยงเป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มคนมีรถ กลุ่มคนมีบ้าน และพนักงานเงินเดือน ภายใต้แนวคิด Ecosystem play หนุนให้ธนาคารสามารถเติบโตสินเชื่อกลุ่มเป้าหมายได้ต่อเนื่องจากไตรมาสที่แล้ว ไม่ว่าจะเป็น สินเชื่อรถแลกเงิน (+4%) สินเชื่อบ้านแลกเงิน (+3%) และสินเชื่อบุคคล (+4%)
ในประการสำคัญ ธนาคารยังคงให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ทุกกลุ่มอย่างต่อเนื่องในหลายรูปแบบ เช่น การปรับโครงสร้างหนี้ และการรวบหนี้ (Debt Consolidation) เพื่อช่วยบรรเทาภาระดอกเบี้ยและช่วยให้ลูกหนี้สามารถบริหารจัดการสภาพคล่องได้ในระยะยาว โดยปัจจุบันธนาคารได้ให้ความช่วยเหลือลูกค้าผ่านการปรับโครงสร้างหนี้คิดเป็นมูลค่าสินเชื่อประมาณ 11% ของพอร์ตสินเชื่อรวม ขณะที่จำนวนลูกค้าภายใต้โครงการรวบหนี้ เพิ่มขึ้นจากประมาณ 17,000 ราย ณ สิ้นปีที่แล้ว สู่ระดับ 21,000 ราย โดยธนาคารสามารถช่วยให้ลูกค้ากลุ่มดังกล่าวประหยัดดอกเบี้ยไปได้กว่า 1,400 ล้านบาท
นอกจากนั้นแล้ว ธนาคารยังได้เปิดตัวแคมเปญ “พิชิตหนี้” ซึ่งมุ่งช่วยพนักงานเงินเดือนลดภาระหนี้และปลอดหนี้ให้เร็วขึ้นอย่างยั่งยืน โดยได้ตั้งเป้าหมายช่วยเหลือคนไทยให้ได้ 200,000 ราย ภายใน 3 ปี เป็นไปตามพันธกิจของธนาคาร และสอดรับกับหลักเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม
จากการเติบโตสินเชื่ออย่างรอบคอบ การดูแลลูกค้าอย่างใกล้ชิด และการบริหารจัดการหนี้เสียในเชิงรุก ส่งผลให้คุณภาพสินทรัพย์ของธนาคารเป็นไปตามเป้าหมาย สามารถลดอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพลงมาได้อย่างต่อเนื่องจาก 2.62% ณ สิ้นปีที่แล้ว มาอยู่ที่ 2.56% ณ สิ้นไตรมาส 1 พร้อมยังคงอัตราส่วนสำรองฯ ต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ ซึ่งสะท้อนถึงความสามารถในการรองรับความเสี่ยงในระดับสูงที่ 155%
นี้ ด้วยแนวโน้มเศรษฐกิจที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง ธนาคารจะยังคงดำเนินธุรกิจอย่างรอบคอบและบริหารจัดการทุกองค์ประกอบของงบดุลให้มีคุณภาพ ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่เรามุ่งเน้นมาโดยตลอดและให้ผลลัพธ์ที่สอดคล้องกับเป้าหมายระยะยาวของธนาคารในการสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยเห็นได้ว่าตั้งแต่การรวมกิจการและหลังจากช่วงวิกฤตโควิด-19 ผลการดำเนินงานของธนาคารมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ด้านคุณภาพสินทรัพย์ก็มีเสถียรภาพ และสถานะทางการเงินก็แข็งแกร่งขึ้นโดยตลอด
สำหรับผลการดำเนินงานรายการหลัก ๆ ในไตรมาส 1 ปี 2567 มีดังนี้
สินเชื่อ ณ สิ้นไตรมาส 1 ปี 2567 อยู่ที่ 1,315 พันล้านบาท ชะลอลง 1.0% จากไตรมาสที่แล้ว เป็นไปตามแนวทางการเติบโตสินเชื่ออย่างรอบคอบ รวมทั้งการชำระคืนหนี้ของลูกค้า ทั้งนี้ สินเชื่อกลุ่มเป้าหมาย นำโดยสินเชื่อบ้านแลกเงิน สินเชื่อรถแลกเงิน และสินเชื่อบุคคล ยังคงรักษาโมเมนตัมการเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง
ด้านเงินฝาก อยู่ที่ 1,373 พันล้านบาท ลดลง 1.0% จากไตรมาสที่แล้ว สอดคล้องกับการเติบโตด้านสินเชื่อและเป็นไปตามแผนบริหารสภาพคล่องหลังจากที่ก่อนหน้านี้ในไตรมาส 4 ปี 2566 ธนาคารได้ขยายฐานเงินฝากไปแล้วกว่า 4.3% เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนเข้าสู่ปี 2567 โดยเงินฝากที่ลดลงเป็นผลจากเงินฝากกลุ่มลูกค้าธุรกิจ ขณะที่เงินฝากรายย่อยกลุ่มเป้าหมายโดยเฉพาะเงินฝากประจำยังคงขยายตัวได้ตามแผน ทั้งนี้ ด้วยสภาพคล่องที่ยังคงอยู่ในระดับสูงก็จะช่วยสร้างความยืดหยุ่นให้กับการบริหารต้นทุนทางการเงินในระยะถัดไป
ด้านรายได้ยังคงได้รับแรงหนุนจากการปรับโครงสร้างสินเชื่อไปยังสินเชื่อกลุ่มลูกค้ารายย่อยและการบริหารจัดการต้นทุนทางการเงิน ช่วยชดเชยผลกระทบจากรายได้ค่าธรรมเนียมซึ่งยังคงมีความท้าทาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งรายได้ค่าธรรมเนียมกองทุนรวม โดยในไตรมาส 1 ปี 2567 รายได้จากการดำเนินงานรวมอยู่ที่ 17,670 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.7% จากไตรมาส 1 ปี 2566 ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานอยู่ที่ 7,570 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
ทั้งนี้ ธนาคารยังคงบริหารจัดการต้นทุนให้สอดคล้องกับด้านรายได้ได้เป็นอย่างดี สะท้อนได้จากอัตราส่วนต้นทุนต่อรายได้ซึ่งอยู่ที่ 43% เป็นไปตามเป้าหมายแม้ว่าธนาคารยังคงเดินหน้าตามแผนการลงทุนด้านดิจิทัลอย่างต่อเนื่องก็ตาม
ด้านคุณภาพสินทรัพย์ ยังคงบริหารจัดการได้ตามเป้าหมายเช่นกัน โดยสินเชื่อด้อยคุณภาพลดลงมาอยู่ที่ 39,759 ล้านบาท ลดลง 3.0% จากสิ้นปีที่แล้ว หรือคิดเป็นอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อสินเชื่อรวม (NPL ratio) ที่ระดับ 2.56%
เทียบกับ 2.62% ณ สิ้นปีที่แล้ว นอกจากนี้ ในด้านพอร์ตการลงทุน ธนาคารเน้นการลงทุนในตราสารภาครัฐเป็นหลัก ไม่มีนโยบายแสวงหากำไรจากการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูง จึงทำให้ไม่ได้รับผลกระทบจากกรณีผิดนัดชำระหนี้ในตลาดตราสารหนี้ในช่วงที่ผ่านมา
จากภาพรวมด้านคุณภาพสินทรัพย์ข้างต้น ส่งผลให้การตั้งสำรองฯ ตามการดำเนินงานปกติยังคงเป็นไปตามแผน และเพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งด้านการเงิน ธนาคารได้เสริมกันชนรองรับแนวโน้มเศรษฐกิจที่ยังมีความไม่แน่นอน โดยธนาคารได้ตั้งสำรองฯ เพิ่มเติมจากระดับปกติ รวมตั้งสำรองฯ ทั้งสิ้นเป็นจำนวน 5,117 ล้านบาท ซึ่งหลังจากหักสำรองฯ และภาษี ธนาคารรายงานกำไรสุทธิในไตรมาส 1 ปี 2567 ที่ 5,334 ล้านบาท ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับ 4,295 ล้านบาทในไตรมาส 1 ปี 2566
ท้ายสุดด้านฐานะเงินกองทุน ยังคงอยู่ในระดับสูงและมีเสถียรภาพ โดยอัตราส่วน CAR และ Tier 1 ณ สิ้นไตรมาส 1 อยู่ที่ 20.8% และ 17.0% โดยระดับดังกล่าวถือว่าสูงเป็นลำดับต้น ๆ ของอุตสาหกรรม และสูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำของธนาคารกลุ่ม D-SIBs ที่ธปท.กำหนดไว้ที่ 12.0% และ 9.5% ตามลำดับ
นายปิติ กล่าวสรุป “นอกเหนือจากการเติบโตอย่างมีคุณภาพ ทีทีบียังคงเน้นย้ำการดูแลและช่วยเหลือลูกค้าอย่างต่อเนื่องตามแนวทางการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending) และการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนของภาครัฐ ทั้งนี้ ภายใต้พันธกิจหลัก Financial Well-being ซึ่งเราได้ดำเนินการมาโดยตลอด การสนับสนุนของเราไม่ได้จำกัดเพียงแค่ด้านสินเชื่อเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมถึงปัจจัยพื้นฐานทางการเงินที่สำคัญด้านอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็น ด้านการออม การลงทุน และการมีประกันที่เพียงพอและเหมาะสมกับลูกค้าในทุก ๆ ช่วงชีวิต โดยเรามุ่งมั่นที่จะเป็นธนาคารที่ LEAD the CHANGE หรือเป็นผู้นำในการสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริงเพื่อให้คนไทยมีชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน”