December 22, 2024

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เป็นประธานและสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ เรื่อง “การป้องกันและแก้ไขปัญหาการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศในการกีฬา” โดยมี นายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ปลัด พม.) ร่วมลงนาม MOU และประกาศเจตนารมณ์ฯ ร่วมกับภาคีเครือข่ายและสมาคมกีฬานําร่อง 20 สมาคม รวมกว่า 40 หน่วยงาน เป้าหมายเพื่อสร้างความตระหนักรู้และส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศในวงการกีฬา โดยเฉพาะการป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงทางเพศที่มีต่อนักกีฬาสตรี เด็ก เยาวชน คนพิการ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ ณ ห้อง Richmond Grand Ballroom 1 ชั้น 6 โรงแรมแกรนด์ริชมอนด์ จังหวัดนนทบุรี

นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.พม. กล่าวว่า รัฐบาลไทยได้ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ สอดคล้องกับหลักการสิทธิมนุษยชนสากลตามพันธกรณีระหว่างประเทศที่ไทยเข้าเป็นภาคี ไม่ว่าจะเป็นอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ (Convention on the Elimination of All Forms of Discrimination Against Women: CEDAW) รวมถึงกรอบเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 5 หรือ SDG5 การบรรลุความเท่าเทียมระหว่างเพศและเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่สตรีและเด็กหญิง โดยมีข้อท้าทายที่สำคัญ คือ การปรับเปลี่ยนเจตคติของผู้คนอันเป็นผลจากบรรทัดฐานด้านเพศภาวะของสังคมที่มีมาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะปัญหาความรุนแรงต่อสตรี ที่รากเหง้าของปัญหาเกิดจากความสัมพันธ์เชิงอำนาจ เหยื่อผู้ถูกกระทำความรุนแรงส่วนใหญ่มักเป็นผู้หญิงและเด็กหญิง การปรับเปลี่ยนเจตคติของสังคมจึงเป็นเรื่องใหญ่และมีความสำคัญที่ต้องดำเนินการอย่างจริงจังและต่อเนื่อง

นายวราวุธ กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวง พม. มีนโยบาย 5x5 ฝ่าวิกฤตประชากร ที่ให้ความสำคัญกับประชาชนทุกกลุ่มเป้าหมาย มุ่งขับเคลื่อนการพัฒนาความมั่นคงของครอบครัวไทยสู่ความมั่นคงของมนุษย์อย่างยั่งยืน โดยเฉพาะการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศและยุติความรุนแรงในทุกรูปแบบ ผ่านการผลักดันนโยบายและมาตรการต่างๆ เพื่อคุ้มครองคนทุกเพศ ทุกวัย ควบคู่ไปกับสร้างการรับรู้และการเข้าถึงสิทธิอย่างเท่าเทียม ตลอดจนเสริมพลังให้ผู้เสียหายจากความรุนแรง โดยอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการสร้างสังคมที่เคารพในสิทธิและความแตกต่างหลากหลาย ลดความเหลื่อมล้ำ เพื่อสร้างความเสมอภาคอย่างแท้จริง

นายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัด พม. กล่าวว่า ปัญหาการถูกล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศ เป็นปัญหาความรุนแรงรูปแบบหนึ่งที่คุกคามความปลอดภัยต่อสังคมไทย สามารถเกิดขึ้นได้ทุกที่ทุกเวลา ทั้งในครอบครัว ในที่ทำงาน ในที่สาธารณะ แม้แต่ในวงการกีฬาก็ประสบกับปัญหานี้ แต่เป็นภัยเงียบที่ผู้ถูกกระทำไม่ค่อยออกมาแสดงตัวหรือปรากฎเป็นข่าว เนื่องจากความกังวลใจของผู้ถูกกระทำที่กลัวว่าจะได้รับผลกระทบในอาชีพการงานของตน ซึ่งในความเป็นจริงคงมีตัวเลขของผู้ถูกกระทำไม่ใช่น้อย โดยเฉพาะนักกีฬาผู้ถูกกระทำที่เป็นสตรี เด็ก เยาวชน คนพิการ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ ทุกภาคส่วนจึงควรร่วมมือกันผลักดันให้ปัญหานี้เป็นวาระสำคัญทางสังคมที่ต้องได้รับการแก้ไขโดยเร่งด่วน กระทรวง พม. โดยกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ซึ่งมีภารกิจในการส่งเสริมความเสมอภาคและความเท่าเทียมระหว่างเพศ คุ้มครองและป้องกันไม่ให้มีการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ กำหนดนโยบายเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศ รวมถึงยุติปัญหาความรุนแรงต่อสตรีในทุกรูปแบบ จึงได้ร่วมมือกับภาคีเครือข่ายกว่า 40 หน่วยงาน จัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ เรื่อง “การป้องกันและแก้ไขปัญหาการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศในการกีฬา” และร่วมประกาศเจตนารมณ์ครั้งนี้ วัตถุประสงค์เพื่อบูรณาการความร่วมมือในการป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าว การวางแนวปฏิบัติการประสานส่งต่อและการคุ้มครองพิทักษ์สิทธิให้แก่ผู้ถูกกระทำหรือผู้ที่ได้รับผลกระทบ ตลอดจนเสริมสร้างองค์ความรู้เรื่องความเสมอภาคระหว่างเพศให้แก่บุคลากรในวงการกีฬา และเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ในวงกว้างเพื่อสร้างความตระหนักรู้และทัศนคติที่ถูกต้องให้แก่สังคมต่อไป

นอกจาก พิธีลงนาม MOU และประกาศเจตนารมณ์ เรื่อง “การป้องกันและแก้ไขปัญหาการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศในการกีฬา” ภายในงานยังได้มีเวทีเสวนาในหัวข้อ Breaking the Silence : ยุติการล่วงละเมิดทางเพศในการกีฬา” โดย ดร.สุวรรณา ศิลปอาชา ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์, ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เจริญ วรรธนะสิน รองประธานกรรมการคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์, นางสุดา สุหลง รองอธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว, นายสุรศักดิ์ เกิดจันทึก รองผู้ว่าการฝ่ายกีฬาเป็นเลิศและวิทยาศาสตร์การกีฬา การกีฬาแห่งประเทศไทย, นางสาวศิริพร ไชยสุต นายกสมาคมบัณฑิตสตรีทางกฎหมายแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ร่วมด้วยนักกีฬา นำโดย นายภราดร ศรีชาพันธุ์ นักกีฬาเทนนิสชายมือหนึ่งเอเชีย และอดีตนักเทนนิสหมายเลข 9 ของโลก, นายชัชชัย เช หัวหน้าผู้ฝึกสอนนักกีฬาเทควันโดทีมชาติไทย, นางสาวสายสุนีย์ จ๊ะนะ นักกีฬาวีลแชร์ฟันดาบหญิง และ คุณนุศรา ต้อมคำ อดีตวอลเลย์บอลหญิงทีมชาติไทย พร้อมด้วยการแสดงที่สร้างแรงบันดาลใจ ความหวังและรอยยิ้ม จากเยาวชนทีมดาวน์ซินโดรม Bangkok Trisomy 21 ในชื่อชุดการแสดง Inspiration show BY DBK-T21 team

ดร.สุวรรณา ศิลปอาชา ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทย กล่าวในช่วงหนึ่งของการเสวนาว่า การตัดสินใจเข้าร่วม MOU เนื่องจากตระหนักถึงปัญหาการถูกคุกคามหรือล่วงละเมิดทางเพศของคนในวงการกีฬาทั้งในและต่างประเทศ โดยคาดหวังว่าการลงนามความร่วมมือครั้งนี้จะเป็นการ Kick-off ความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในวงการกีฬา นำปัญหาที่ถูกซุกซ่อนอยู่ ให้ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นวาระสำคัญทางสังคม และตนเองในฐานะตัวแทนสร้างการเปลี่ยนแปลง มองเห็นศักยภาพของหน่วยงานภาคีเครือข่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับวงการกีฬาและด้านสิทธิมนุษยชนที่มารวมตัวกันในวันนี้ ว่าจะเป็นกำลังสำคัญร่วมกันผลักดันมาตรการเกี่ยวกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาการล่วงละเมิดหรือการคุกคามทางเพศ ให้เกิดขึ้นในวงการกีฬาบ้านเรา อีกทั้งภารกิจนี้ยังเป็นส่วนหนึ่งของประเด็น Safe Sport ที่ Olympic สากลกำหนดเป็นข้อปฏิบัติสำคัญของทุกองค์กรที่เกี่ยวกับกีฬาทั่วโลกที่ต้องมีการดูแลนักกีฬาในด้านของ Safe Sport ดังนั้น พวกเราในฐานะคนจากการกีฬาแห่งประเทศไทยจึงต้องผลักดัน Safe Sport ให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรม

“การร่วมมือในครั้งนี้สะท้อนถึงความมุ่งมั่นของทุกฝ่ายในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการล่วงละเมิดและคุกคามทางเพศในวงการกีฬา เพื่อส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและเอื้อต่อการพัฒนาศักยภาพของนักกีฬา การดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรมในด้านนี้จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของนักกีฬาให้ดียิ่งขึ้น พร้อมทั้งสร้างบรรยากาศการทำงานและแข่งขันที่เคารพในสิทธิมนุษยชน การสร้างความเชื่อมั่นในความเท่าเทียมและความปลอดภัยจะเป็นรากฐานสำคัญของวงการกีฬาที่มีคุณภาพและยั่งยืนต่อไป” ดร.สุวรรณา กล่าวทิ้งท้าย

ผู้ที่สนใจสามารถติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ https://www.m-society.go.th เพจเฟซบุ๊ก กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ https://www.facebook.com/msdhs.go.th และเพจเฟซบุ๊กกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว https://www.facebook.com/sorkor

นายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ร่วมกับภาคีเครือข่าย ได้แก่ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล, สสส., มูลนิธิเด็ก เยาวชนและครอบครัว, สภาสมาคมสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์, สมาคมสตรีภาคพื้นแปซิฟิกและเอเชียอาคเนย์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ และสมาคมกีฬาฟิกเกอร์และสปีดสเก็ตติ้งแห่งประเทศไทย ร่วมกันจัดกิจกรรมรณรงค์ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ประจำปี 2567 ภายใต้แนวคิด “สงกรานต์ปลอดภัย สังคมไทยเคารพสิทธิ” ณ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยมีการปล่อยขบวนรถสามล้อรณรงค์ ที่วิ่งในเขตพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์และบริเวณใกล้เคียง การแสดงละครสะท้อนปัญหาการไม่เคารพสิทธิในช่วงเทศกาลสงกรานต์  และและเสวนาในหัวข้อ “การสร้างความปลอดภัยต่อสังคมในช่วงสงกรานต์” อีกด้วย

นายอนุกูลฯ กล่าวว่า ตามที่ UNESCO ได้ประกาศขึ้นทะเบียนให้ “สงกรานต์ในประเทศไทย” เป็นรายการในบัญชีมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ ที่สะท้อนความหลากหลายทางวัฒนธรรม และความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ โดยคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติจึงได้เสนอหลักการจัดงาน “Maha Songkran World Water Festival เย็นทั่วหล้ามหาสงกรานต์ 2567” ซึ่ง ครม. มีมติเห็นชอบให้จัดกิจกรรมสงกรานต์ 21 วัน ตั้งแต่วันที่ 1 – 21 เมษายน 2567 ทั่วประเทศ เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองในโอกาสดังกล่าว และโดยที่ทราบกันทั่วไปว่า เทศกาลสงกรานต์ของไทยเป็นเทศกาลที่เน้นความสนุกสนาน และส่วนใหญ่ในช่วงเทศกาลก็มักจะมีการสังสรรค์ด้วยเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่เป็นสาเหตุหลักที่ก่อให้เกิดปัญหาความรุนแรงตามมา โดยเฉพาะอุบัติเหตุบนท้องถนน และการทะเลาะวิวาท แต่ยังมีอีกหนึ่งปัญหาความรุนแรงที่เรามักจะมองข้าม หรือไม่คิดว่าสิ่งนั้นเป็นปัญหา นั่นคือ ปัญหาการคุกคามทางเพศ พม. และภาคีเครือข่าย จึงได้จัดการรณรงค์ครั้งนี้ขึ้นมา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประชาสัมพันธ์และสร้างความตระหนักถึงปัญหาการคุกคามทางเพศที่เกิดขึ้นในช่วงเทศกาลสงกรานต์ สร้างการรับรู้เกี่ยวกับการคุกคามทางเพศ ที่ไม่ว่าจะเล็กน้อยเพียงใดก็เป็นเรื่องไม่ถูกต้อง และผิดกฎหมาย สร้างความเข้าใจในเรื่องการเคารพ ให้เกียรติ ในสิทธิเนื้อตัวร่างกาย ความยินยอมพร้อมใจของผู้อื่น ไม่ฉวยโอกาสลวนลาม หรือคุกคามทางเพศ และไม่ใช้ความรุนแรงในทุกรูปแบบ เพื่อให้ทุกคนในสังคมไม่ว่าจะเด็ก สตรี คนพิการ ผู้สูงอายุ หรือผู้มีความหลากหลายทางเพศ ต่างก็มีความปลอดภัยในทุกพื้นที่ ได้รับการคุ้มครองอย่างเท่าเทียมกัน ช่วยกันสร้างกระแสให้สังคมร่วมกันผลักดัน ร่วมกันเป็นเครือข่ายเฝ้าระวัง ให้ความช่วยเหลือผู้ประสบกับปัญหาความรุนแรงและปัญหาการคุกคามทางเพศ และปลูกจิตสำนึกแก่เยาวชนให้เห็นถึงโทษของแอลกอฮอล์ การลดผลกระทบจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และลดความสูญเสียที่เกิดขึ้นในช่วงเทศกาลสงกรานต์ในมิติต่าง ๆ

“กิจกรรมการรณรงค์ “สงกรานต์ปลอดภัย สังคมไทยเคารพสิทธิ” จะไม่จบลงเฉพาะในการจัดงานในวันนี้เท่านั้น โดย พม. และภาคีเครือข่าย ได้สนับสนุนสื่อประชาสัมพันธ์และแนวคิดการรณรงค์ฯ ไปยังเครือข่ายและหน่วยงานระดับจังหวัด ทั่วประเทศ เพื่อให้ช่วงเวลาของเทศกาลสงกรานต์ในทุกพื้นที่ ที่นอกจากจะสืบสานประเพณีอันดีงามแล้ว ยังเป็นเทศกาลแห่งความสุข สนุกสนาน และในช่วงเวลานี้ยังเป็นวันผู้สูงอายุกับวันครอบครัว ซึ่งเราจะใช้ช่วงเวลานี้ไปรดน้ำขอพรจากพ่อแม่ ปู่ย่าตายาย และผู้ที่เคารพนับถือ เป็นการเริ่มต้นปีใหม่ไทยที่มีความสุข มีความปลอดภัย ปราศจากแอลกอฮอล์ และขอชวนเชิญทุกท่านให้ร่วมตระหนักไปด้วยกันว่า ในทุก ๆ วัน ไม่เฉพาะเทศกาลนี้เท่านั้น สังคมไทยต้องปลอดภัยจากการคุกคาม ทุกพื้นที่ต้องปลอดภัยสำหรับคนทุกเพศ ทุกวัย เป็นสังคมที่ให้ความเคารพในสิทธิ ซึ่งกันและกัน” นายอนุกูลฯ กล่าวทิ้งท้าย

นางสาวรุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ให้ข้อมูลว่า ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) รายงานสถานการณ์สงกรานต์ ปี 2566 พบว่า มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน 264 คน ลดลง 14 คน จากปี 2565 ที่มีผู้เสียชีวิต 278 คน ส่วนการดื่มแล้วขับที่เป็นเหตุให้เสียชีวิตลดจาก 16.5% ในปี 2565 เหลือ 10.6% ในปี 2566 สอดคล้องกับจำนวนผู้เสียชีวิตคาที่ลดลงจาก 56.8% ในปี 2565 เหลือ 53.4% ในปี 2566 ส่วนใหญ่มาจากการขับรถเร็วที่มีการชนรุนแรงจนทำให้เสียชีวิตในทันที นอกจากนี้ข้อมูลการจากการเก็บข้อมูลของมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ในช่วงสงกรานต์ปีที่ผ่านมาพบปัญหาส่วนใหญ่ คือ ถูกประแป้งที่ใบหน้าหรือร่างกาย ถูกแซว/ผิวปากหรือใช้สายตาจ้องมองทำให้อึดอัด เคยถูกฉวยโอกาสลวนลาม เกิดอุบัติเหตุ ถูกก่อกวนจากคนเมาหรือถูกบังคับให้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และทะเลาะกันในครอบครัว

“สงกรานต์ปีนี้ สสส. จึงเน้นย้ำเรื่องการจัดพื้นที่เล่นน้ำปลอดเหล้า ป้องกันลดอุบัติเหตุ ความรุนแรง มีสติ มีขอบเขตและการเคารพสิทธิ ปัจจุบันมีพื้นที่เข้าร่วมกว่า 100 พื้นที่ ถนนตระกูลข้าวปลอดเหล้ากว่า 60 แห่ง โดยขอฝากทุกคนว่า “ดื่มไม่ขับ ดื่มเหล้า เมาถึงสมอง” เพราะร่างกายเรามีร่างเดียว เปลี่ยนไม่ได้ ต้องดูแลให้ดีเพื่อให้ใช้ได้ยาวนาน จนถึงวัยชรา จึงอยากเชิญชวนให้ ลด ละ เลิก เครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพื่อลดการทำลายสมอง” นางสาวรุ่งอรุณฯ กล่าว

ดร.ณัฐพล แย้มฉิม ประธานสวนดุสิตโพล เปิดเผยข้อมูลความคิดเห็นของประชาชนต่อเทศกาลสงกรานต์ 2567 ระหว่างวันที่ 26-29 มีนาคม 2567 โดยสำรวจจากประชาชนในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด จำนวน 4,011 คน พบว่า ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ส่วนใหญ่ร้อยละ 66.09 ไม่เล่นน้ำสงกรานต์ เพราะต้องการพักผ่อน อากาศร้อน มีร้อยละ 14.19 ที่ไม่เล่นเพราะกลัวถูกลวนลาม (บางส่วนเคยถูกลวนลาม) กลุ่มที่เคยเล่นสงกราน์ส่วนใหญ่เคยเจอสถานการณ์ถูกประแป้งที่ใบหน้า ร้อยละ 57.79 ถูกฉวยโอกาสแต๊ะอั๋ง/ลวนลาม ร้อยละ 32.43 และเด็กกลุ่มอายุต่ำกว่า 18 ปี เคยถูกประแป้งที่ใบหน้ามากที่สุด ร้อยละ 76.77

โดยพฤติกรรมการฉวยโอกาสแต๊ะอั๋ง/ลวนลามที่พบมากที่สุด คือ ถูกจับมือ/แขน/เบียดเสียด ร้อยละ 61.45 ถูกสัมผัสลูบไล้ร่างกาย ร้อยละ 37.19 ถูกจับแก้ม ร้อยละ 34.47 ใช้สายตาจ้องมอง แทะโลม ทําให้รู้สึกอึดอัด ไม่ปลอดภัย ร้อยละ 22.45 ถูกแซว/ล้อเลียนส่อไปในเรื่องเพศ ร้อยละ 21.54 และถูกสัมผัส/ล้วงอวัยวะอื่นๆ ที่เกินเลย ร้อยละ 16.55 และกลุ่มตัวอย่าง “รับรู้” ว่าการถูกลวนลาม/คุกคามทางเพศถือว่าเป็นการกระทําความผิดตามกฎหมายอาญา ร้อยละ 92.10 และเมื่อถามว่า ปี 2567 นี้จะออกไปเล่นน้ำสงกรานต์หรือไม่ พบว่า ร้อยละ 48.49 รอดูสถานการณ์/การจัดงาน/กิจกรรม ใกล้ ๆ ก่อน และไม่ออกแน่นอน ร้อยละ 37.70 สิ่งที่กังวลหรือห่วงใยในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีนี้ คือ ภัยอันตราย/อุบัติเหตุมากที่สุด ร้อยละ 85.06 การจราจรติดขัด ร้อยละ 52.03 น้ำไม่สะอาดและโรคที่มากับน้ำ ร้อยละ 47.12 สภาพอากาศร้อนและโรคที่มากับความร้อน ร้อยละ 43.72 การดื่มสุรา/น้ำกระท่อมทำให้ขาดสติ แล้วเกิดการทะเลาะวิวาท ร้อยละ 40.22 และการล่วงละเมิดทางเพศ ร้อยละ 34.13

ในส่วนของข้อเสนอแนะเกี่ยวกับปัญหาการลวนลามและการคุกคามทางเพศในเทศกาลสงกรานต์ อาทิ ให้ระมัดระวังตนเองขณะที่เล่นน้ำสงกรานต์ ร้อยละ 24.33 มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง เพิ่มบทลงโทษให้ชัดเจน และมีความรุนแรงมากขึ้น กับผู้ที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมหรือสร้างความเดือดร้อนให้กับผู้อื่น ร้อยละ 15.97 เพิ่มเจ้าหน้าที่คอยดูแลและควบคุมสถานการณ์ตามจุดต่าง ๆ อย่างเข้มงวดและทั่วถึงทุกพื้นที่ รวมถึงให้ภาคประชาชนช่วยสอดส่องดูแล ร้อยละ 11.04 รณรงค์สร้างจิตสำนึกที่ดีในการเล่นน้ำสงกรานต์ โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของตนเองและผู้อื่น เช่น ไม่เล่นสาดน้ำรุนแรง ทะเลาะวิวาทมีปากเสียงกัน ประแป้งอย่างสุภาพ ร้อยละ 10.00 หลีกเลี่ยงการเล่นน้ำสงกรานต์ในพื้นที่ที่มีผู้คนหนาแน่นและเสี่ยงที่จะถูกลวนลาม ร้อยละ 8.06 จัดกิจกรรมเล่นน้ำสงกรานต์แบบขนบธรรมเนียมประเพณีไทยดั้งเดิม เพื่อสืบสานวัฒนธรรมที่ดีไว้อย่างต่อเนื่องทุกปี เช่น จัดเทศกาลสงกรานต์ตามแบบฉบับของชุมชนต่าง ๆ เพื่อสืบสานประเพณีเดิมไม่ให้สูญหายไป และให้คนรุ่นใหม่รักษาและสืบสานประเพณีสงกรานต์แบบดั้งเดิม ร้อยละ 7.01

นายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ปลัด พม.) เป็นประธานกิจกรรมเปิดตัวโครงการแจงนับคนไร้บ้าน (One Night Count) เป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวง พม. โดยกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (พส.) และภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน อาทิ กรุงเทพมหานคร สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มูลนิธิกระจกเงา มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย และมูลนิธิอิสรชน เพื่อร่วมกันดำเนินการสำรวจสถานการณ์ปัญหาของกลุ่มคนเร่ร่อนหรือคนไร้บ้าน 77 จังหวัดทั่วประเทศ อีกทั้งทำให้ทราบถึงจำนวนคนไร้บ้านสำหรับนำมาใช้คาดการณ์ทางสถิติ ประชากร และอื่น ๆ นำไปสู่การปรับปรุง พัฒนาบริการของรัฐที่ตอบโจทย์ประชาชน โดยมี นางจตุพร โรจนพานิช อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ พร้อมคณะผู้บริหารกระทรวง พม. นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการ กทม. นายสุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการ สสส. รองศาสตราจารย์ และ ดร.ภาวิกา ศรีรัตนบัลล์ ผอ.สถาบันเอเชียศึกษา ร่วมกล่าวแสดงเจตนารมณ์บูรณาการทำงานและให้กำลังใจผู้ปฏิบัติงาน ณ บริเวณหน้าอาคารกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวง พม.

นายอนุกูล กล่าวว่า กระทรวง พม. โดยกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (พส.) มีภารกิจสำคัญในการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนไร้ที่พึ่งหรือคนไร้บ้าน ด้วยการให้บริการสวัสดิการสังคมทั้งการให้ความช่วยเหลือ คุ้มครอง และลงพื้นที่สำรวจปัญหาความต้องการของคนไร้บ้านอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการเก็บข้อมูลจำนวนคนไร้บ้านทั่วประเทศ โดยแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ ได้แก่ กลุ่มเป้าหมายที่รับบริการภายในหน่วยงานสังกัดกระทรวง พม. ปัจจุบัน มีจำนวน 5,083 คน และกลุ่มเป้าหมายคนไร้ที่พึ่งภายนอกหน่วยงานสังกัดกระทรวง พม. ที่ให้บริการอีกกว่า 21,239 ราย ซึ่งเป็นคนไร้บ้านกว่า 2,462 ราย และอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ กว่า 1,761 ราย

ทั้งนี้ กระทรวง พม. ได้ดำเนินการให้ความช่วยเหลือคนไร้ที่พึ่งหรือคนไร้บ้านอย่างต่อเนื่องในทุกพื้นที่ แต่กระทรวง พม. เพียงหน่วยงานเดียวไม่สามารถแก้ปัญหาดังกล่าวได้อย่างครอบคลุมทุกมิติ เนื่องจากคนไร้ที่พึ่งหรือคนไร้บ้านที่ถือเป็นกลุ่มเปราะบางที่ต้องได้รับการคุ้มครองทางสังคม (Social Protection) และการเสริมสร้างพลังทางสังคม (Social Empowerment) วันนี้ กระทรวง พม. โดย พส. จึงได้จัดกิจกรรมเปิดตัวโครงการแจงนับคนไร้บ้าน (One Night Count) เพื่อแสดงให้เห็นว่า กระทรวง พม. ได้บูรณาการการทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนอย่างต่อเนื่อง และมีเป้าหมายร่วมกันในการออกแบบระบบการคุ้มครองดูแล และจัดบริการสวัสดิการสังคมได้อย่างตรงจุด ตลอดจนส่งผลให้คนไร้บ้านสามารถเข้าถึงสวัสดิการและสามารถใช้ชีวิตตามปกติได้อย่างยั่งยืนต่อไป

นายสุปรีดา กล่าวว่า กิจกรรมครั้งนี้ จะทำให้เราได้เห็นสถานการณ์ทางประชากรและสุขภาวะของคนไร้บ้านในประเทศไทยที่ครอบคลุมประเด็นทั้งในเชิงจำนวนและข้อมูลทางประชากรเชิงลึก เพื่อเป็นข้อมูลสถานการณ์ทางประชากรที่จะเป็นพื้นฐานในการออกแบบและจัดทำนโยบายเกี่ยวกับคนไร้บ้านที่สอดคล้องและเท่าทันกับสถานการณ์ปัญหา

รองศาสตราจารย์ ดร.ภาวิกา กล่าวว่า การแจงนับคนไร้บ้านครั้งนี้ จะเป็นทั้งการนับจำนวน (Head Count) และเก็บข้อมูลทางประชากรเบื้องต้นของคนไร้บ้านทั้งที่อาศัยอยู่ในพื้นที่สาธารณะ (Unsheltered Count) และในสถานพักพิงที่รัฐหรือเอกชนจัดให้ (Sheltered Count) เพื่อป้องกันปัญหาการนับซ้ำ และสามารถกำหนดนิยามคนไร้บ้านให้ครอบคลุมทั้งในมิติทางวิชาการและมิติทางวัฒนธรรม ให้สอดคล้องกับบริบทของคนไร้บ้านในสังคมไทย สู่การนำมาพัฒนารูปแบบบริการ นวัตกรรมที่ตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมาย

นายศานนท์ กล่าวว่า กรุงเทพมหานคร นับว่าเป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องหลักในประเด็นคนไร้บ้านที่พบมากที่สุดในประเทศ เนื่องจากผู้คนทั่วประเทศหลั่งไหลเข้ามาอาศัยและทำมาหากิน ซึ่งที่ผ่านมาเราอาจจะไม่ทราบว่า คนไร้บ้าน มีจำนวนเท่าไร ประสบปัญหาอะไร ซึ่งกิจกรรมครั้งนี้ ถือเป็นอีกก้าวที่สำคัญและเป็นการบูรณาการที่เป็นประโยชน์ ทั้งระดับปฏิบัติและนโยบาย เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนงานการช่วยเหลือคนไร้บ้านให้ตรงจุดและมีทิศทางที่ดีขึ้น

นางจุตพร กล่าวเพิ่มเติมว่า กิจกรรมแจงนับคนไร้บ้าน (One Night Count) ในวันนี้  ประกอบด้วย 1) การเปิดตัวกิจกรรมฯ พร้อมกันทั่วประเทศ ณ หน้าอาคารกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวง พม. และผ่านระบบ Zoom Cloud Meeting โดยมีหน่วยงาน One Home พม. ทุกจังหวัดทั่วประเทศเข้าร่วม 2) การปล่อยแถวขบวนรถสายด่วน พม. 1300 ลงพื้นที่แจงนับคนไร้บ้านทั่วประเทศ และ 3) นายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัด พม. พร้อมผู้บริหาร และผู้แทนภาคีเครือข่าย ลงพื้นที่สำรวจแจงนับคนเร่ร่อนหรือคนไร้บ้าน ณ บริเวณอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ถนนราชดำเนิน กรุงเทพฯ 

ศูนย์การค้าเอ็ม บี เค เซ็นเตอร์ ร่วมกับ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) จัดงาน Gift to Give มหกรรมของขวัญถูกใจ ได้บุญ ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 ชวนแต่งชุดไทย เพลิดเพลินกับการช้อปของไทย ชิมอาหารไทย และชมโชว์แบบไทยๆ จากกลุ่มบุคคลที่ต้องการโอกาสจากสังคม ที่อยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงพัฒนาสังคมฯ ซึ่งการจัดงานครั้งนี้ นอกจากเป็นการเพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้าและสร้างรายได้ให้กลุ่มบุคคลที่อยู่ในความดูแลของเครือข่ายกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ และชุมชนต่างๆแล้ว ภายในงานยังสามารถร่วมทำบุญบริจาคเงิน และสิ่งของ เพื่อส่งต่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับกลุ่มเด็ก สตรี และผู้สูงอายุ อีกด้วย เรียกว่า สุขใจทั้งผู้ให้และผู้รับ

มาร่วมอิ่มบุญอิ่มใจกับการส่งมอบความสุข ได้ที่งาน Gift to Give มหกรรมของขวัญถูกใจ ได้บุญ ระหว่างวันที่ 9-11 ธ.ค. 2563 ตั้งแต่เวลา 10:00-20:00 น. ณ บริเวณลาน Avenue โซน A ชั้น G ศูนย์การค้า เอ็ม บี เค เซ็นเตอร์

X

Right Click

No right click