การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) กระทรวงคมนาคม โดย นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการ กทพ. เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการอำนวยความสะดวกและความปลอดภัย รองรับการเดินทางของประชาชนช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2568 และปล่อยแถวชุดปฏิบัติงานบนทางพิเศษ โดย กทพ. ได้ยกเว้นค่าผ่านทางพิเศษของทางพิเศษบูรพาวิถี (บางนา-ชลบุรี) และทางพิเศษกาญจนาภิเษก (บางพลี-สุขสวัสดิ์) โดยเริ่มตั้งแต่วันพฤหัสบดีที่ 26 ธันวาคม 2567 เวลา 00.01 น. ถึงวันพฤหัสบดีที่ 2 มกราคม 2568 เวลา 24.00 น. รวม 8 วัน และร่วมกับบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และบริษัท ทางด่วนกรุงเทพเหนือ จำกัด เว้นค่าผ่านทางพิเศษของทางพิเศษเฉลิมมหานคร (ทางด่วนขั้นที่ 1 ดินแดง-บางนา-ดาวคะนอง) ทางพิเศษศรีรัช (ทางด่วนขั้นที่ 2 แจ้งวัฒนะ-บางโคล่-ศรีนครินทร์) และทางพิเศษอุดรรัถยา (บางปะอิน-ปากเกร็ด) โดยเริ่มตั้งแต่ วันอังคารที่ 31 ธันวาคม 2567 เวลา 00.01 น. ถึงวันพุธที่ 1 มกราคม 2568 เวลา 24.00 น. รวม 2 วัน พร้อมทั้งจัดตั้งหน่วยบริการประชาชนให้บริการฟรีในการตรวจเช็คเครื่องยนต์เบื้องต้น สอบถามเส้นทาง รวมทั้งบริการน้ำดื่ม โดยปฏิบัติงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจทางด่วน บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เพื่อบริการประชาชนที่ใช้ทางพิเศษเดินทางเข้า - ออก กรุงเทพมหานคร จำนวน 6 จุด ดังนี้
- ด่านฯ ขาออกเมือง (วันพฤหัสบดีที่ 26 ธันวาคม 2567 - วันอังคารที่ 31 ธันวาคม 2567) ที่ด่านฯ บางแก้ว 1 ทางพิเศษกาญจนาภิเษก ด่านฯ ฉิมพลี ทางพิเศษประจิมรัถยา และด่านฯ บางปะอิน (ขาออก) ทางพิเศษอุดรรัถยา เวลา 07.00 - 21.00 น.
- ด่านฯ ขาเข้าเมือง (วันพุธที่ 1 มกราคม 2568 - วันพฤหัสบดีที่ 2 มกราคม 2568) ที่ด่านฯ บางนา ทางพิเศษเฉลิมมหานคร ด่านฯ จตุโชติ ทางพิเศษฉลองรัช และด่านฯ บางปะอิน (ขาเข้า) ทางพิเศษอุดรรัถยา เวลา 07.00 - 21.00 น.
ในการนี้ เพื่ออำนวยความสะดวกและความปลอดภัยรองรับการเดินทางของประชาชน กทพ. จัดให้มีการดำเนินการกิจกรรม ดังนี้
1) จัดตั้งศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจ (WAR ROOM) ณ ศูนย์บริหารการจราจรทางพิเศษ (Expressway Traffic Management Center : ETM) ชั้น 22 อาคารศูนย์บริหารทางพิเศษ กทพ. ตั้งแต่ วันพุธที่ 25 ธันวาคม 2567 ถึงวันศุกร์ที่ 3 มกราคม 2568 เพื่อควบคุมสั่งการในการแก้ไขปัญหาการจราจรในทางพิเศษและอุบัติเหตุต่าง ๆ พร้อมประชาสัมพันธ์ข่าวสารการจราจร ผ่านทางป้าย VMS และประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตลอด 24 ชั่วโมง ในทุกสายทางเพื่อรองรับการเดินทางของประชาชนช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2568
2) รณรงค์ให้ประชาชนร่วมกันขับขี่ปลอดภัย “เดินทางทั่วไทย คมนาคม สะดวก ปลอดภัย ใส่ใจให้บริการประชาชน”
3) จัดกำลังพนักงานจัดการจราจร พนักงานกู้ภัย พนักงานหน่วยปฏิบัติการพิเศษ รถกู้ภัย รถยก พร้อมหน่วยเคลื่อนที่เร็ว และอุปกรณ์ เพื่ออำนวยการจราจรในทุกเส้นทาง ที่มีผู้ใช้บริการทางพิเศษ เดินทางออกนอกเมืองและเข้าเมือง เพื่อเฝ้าระวัง ในการเข้าให้ ความช่วยเหลือแก่ผู้ใช้บริการทางพิเศษที่ประสบเหตุต่าง ๆ อย่างทันท่วงทีและรวดเร็ว โดยคำนึงถึงความปลอดภัยในการเดินทาง พร้อม ทั้งตรวจสอบเส้นทาง ทางพิเศษทั้ง 7 สายทาง ตลอด 24 ชั่วโมง รวมทั้งได้ดำเนินการจัดตั้งจุดกวดขันวินัยจราจร บริเวณด่านฯ ชลบุรี ด่านฯ บางนา ด่านฯ บางขุนเทียน 1 และด่านฯ ประชาชื่น ในวันอาทิตย์ที่ 29 ธันวาคม 2567 เวลา 20.00 - 24.00 น. โดยจัดพนักงานจัดการจราจรร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจทางด่วน เพื่อกวดขันรถยนต์บรรทุกคนนั่งกระบะท้ายที่ไม่มีหลังคาปกปิดมิดชิดพร้อมทั้ง การบรรทุกสิ่งของไม่เรียบร้อยและควบคุมรถยนต์ที่บรรทุกวัตถุอันตรายให้เป็นไปตามกฎหมาย
ทั้งนี้ ผู้ใช้ทางพิเศษยังสามารถสอบถามข้อมูลสภาพการจราจรและแจ้งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบนทางพิเศษ ได้ที่ “EXAT Call Center 1543” ตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมทั้งให้บริการขอความช่วยเหลือกรณีรถเกิดอุบัติเหตุรถขัดข้องหรือเหตุฉุกเฉินต่าง ๆ บนทางพิเศษ ผ่าน Application “EXAT Portal SOS” ได้อีกช่องทางหนึ่งด้วย
การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) กระทรวงคมนาคม ได้ว่าจ้าง กิจการร่วมค้า ไอทีดี-วีซีบี (ITD-VCB Joint Venture) ประกอบด้วย บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท วิจิตรภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด เป็นผู้รับจ้างดําเนินการก่อสร้าง โครงการทางพิเศษสายพระราม3 – ดาวคะนอง - วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตกสัญญาที่ 3 แจ้งการปิดจราจรชั่วคราวบนทางพิเศษเฉลิมมหานคร บริเวณด่านฯ ดาวคะนอง ฝั่งขาเข้ากรุงเทพฯ ด้านขวาทางจำนวน 1 ช่องจราจร เพื่อดำเนินการติดตั้งคานขวางของโครงการฯ ตั้งแต่วันที่ 7 ธันวาคม 2567 ถึงวันที่ 30 เมษายน 2568 ตลอด 24 ชั่วโมง
กทพ. ต้องขออภัยในความไม่สะดวกมา ณ โอกาสนี้ และขอความร่วมมือผู้ที่ใช้เส้นทางบริเวณดังกล่าวโปรดสังเกตป้ายเตือนสัญญาณจราจรต่างๆ และปฏิบัติตามเครื่องหมายจราจรอย่างเคร่งครัด เพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้ทาง หากมีข้อเสนอแนะ สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ 02-405-4896 ตั้งแต่ 08.00-19.00 และ 062-912-6211 ตลอด 24 ชั่วโมง
นายวิทยา ยาม่วง รองปลัดกระทรวงคมนาคม (หัวหน้ากลุ่มภารกิจการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านทางหลวง) เป็นประธานในงานวันคล้ายวันก่อตั้งการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) กระทรวงคมนาคม ครบรอบ 52 ปี โดยมี นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการ กทพ. ผู้บริหาร พนักงานและลูกจ้าง กทพ. ร่วมให้การต้อนรับ ณ หอประชุม 0101 ชั้น 1 อาคารศูนย์บริหารทางพิเศษ กทพ.
นายวิทยา ยาม่วง รองปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า กทพ. เป็นหน่วยงานอันดับต้น ๆ ที่มีส่วนช่วยอำนวยความสะดวกในการเดินทางของพี่น้องประชาชน และช่วยแก้ไขปัญหาจราจรในภาพรวมของกรุงเทพมหานครและปริมณฑล รวมถึงจังหวัดต่าง ๆ ทั่วภูมิภาคของประเทศไทย ซึ่ง กทพ. มีการเติบโตอย่างเข้มแข็งมาจนครบ 52 ปีเต็ม สิ่งเหล่านี้เกิดจากความมุ่งมั่น ทุ่มเท ร่วมแรงร่วมใจของผู้บริหาร พนักงานและลูกจ้างของ กทพ. ทุกคน
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา กทพ. มีผลงานการพัฒนาและนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาใช้ในการให้บริการประชาชนไม่ว่าจะเป็นระบบเก็บค่าผ่านทางอัตโนมัติด้วยบัตร Easy Pass รวมถึงการเปิดบริการ Application EXAT Portal และล่าสุดคือการพัฒนาโครงการสะสมคะแนน “EXAT REWARD” เพื่อยกระดับ การให้บริการบัตร Easy Pass เพิ่มความคุ้มค่าให้กับประชาชนในการใช้ทางพิเศษอีกด้วย
นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการ กทพ. เปิดเผยว่า ตลอดระยะเวลา 52 ปี กทพ. มุ่งมั่นพัฒนาโครงข่ายขยายเส้นทางเพื่อแก้ไขปัญหาการจราจร และช่วยอำนวยความสะดวกในการเดินทางของประชาชนเป็นทางเลือกที่คุ้มค่า ปลอดภัย ได้มาตรฐาน สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ ส่งเสริมคุณภาพชีวิตคนไทยอย่างยั่งยืน ตามนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงคมนาคม โดยปัจจุบัน กทพ. ได้เปิดให้บริการทางพิเศษรวม 8 สายทาง รวมระยะทาง 224.6 กิโลเมตร ประกอบด้วย ทางพิเศษเฉลิมมหานคร ทางพิเศษศรีรัช ทางพิเศษฉลองรัช ทางพิเศษบูรพาวิถี ทางพิเศษอุดรรัถยา ทางพิเศษสายบางนา-อาจณรงค์ ทางพิเศษกาญจนาภิเษก และทางพิเศษประจิมรัถยา และมีโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง 2 โครงการ คือ โครงการทางพิเศษสายพระราม 3 -ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก ระยะทาง 18.7 กิโลเมตร ที่จะเปิดให้บริการภายในปี 2568 และโครงการทางพิเศษสายฉลองรัชส่วนต่อขยาย (ช่วงจตุโชติ-ลำลูกกา) ที่เริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ในปี 2568 นอกจากนี้ กทพ. มีแผนการขยายเส้นทางทางพิเศษไปยังภูมิภาคต่าง ๆ ได้แก่ โครงการทางพิเศษสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก ที่จะเปิดให้บริการภายในปี 2568 และโครงการทางพิเศษสายฉลองรัชส่วนต่อขยาย (ช่วงจตุโชติ-ลำลูกกา) ซึ่งจะเริ่มก่อสร้างในปี 2568 รวมทั้งการทางพิเศษฯ ยังมีโครงการสำคัญในเขตเมืองที่อยู่ระหว่างดำเนินการ ได้แก่ โครงการทางยกระระดับชั้นที่ 2 (ช่วงงามวงศ์วาน -พระราม 9) โครงการทางพิเศษสายฉลองรัช-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันออก และโครงการทางพิเศษสายศรีนครินทร์-ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และยังมีแผนการขยายเส้นทางทางพิเศษไปยังภูมิภาคต่าง ๆ ได้แก่ โครงการทางพิเศษจังหวัดภูเก็ต ระยะที่ ๑ (ช่วงกะทู้- ป่าตอง) และ ระยะที่ ๒ (ช่วงเมืองใหม่-เกาะแก้ว-กะทู้) รวมทั้งอยู่ระหว่างศึกษาความเหมาะสมโครงการทางพิเศษเชื่อมเกาะสมุย จังหวัดสุราษฏร์ธานี และโครงการทางพิเศษเชื่อมเกาะช้าง จังหวัดตราด
นอกจากภารกิจหลักในการสร้างทางพิเศษแล้ว กทพ. ยังให้ความสำคัญกับเยาวชน โดยได้สนับสนุนทุนการศึกษามาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2545 จนถึงปัจจุบัน จำนวน 1,247 ทุน เป็นเงินทั้งสิ้น 7,730,000 บาท อีกทั้ง มีส่วนร่วมในการส่งเสริม พัฒนาและสนับสนุนการแข่งขันกีฬาในระดับประเทศ ตามนโยบายของรัฐบาล
ในการพัฒนาด้านกีฬาให้เกิดความยั่งยืนโดยได้ให้การสนับสนุนสมาคมกีฬายิงเป้าบิน และสมาคมกีฬาเทคบอลแห่งประเทศไทย กทพ. ยังคำนึงถึงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและการสร้างคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืน โดยที่ผ่านมาได้ดำเนินการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์บนหลังคา (Solar Rooftop) ที่อาคารศูนย์บริหารทางพิเศษไปแล้วกว่า 780 กิโลวัตต์ ช่วยประหยัดค่าไฟฟ้าได้ประมาณ 3.7 ล้านบาทต่อปีลดคาร์บอนไดออกไซด์ 412.87 tonCo2e (ตันคาร์บอนไดออกไซด์) ต่อปีหรือเทียบเท่าการปลูกต้นสัก 469,173 ต้น คิดเป็นพื้นที่ป่า 4,692 ไร่ และยังได้รับการรับรองโครงการสนับสนุนกิจกรรมลดก๊าซเรือนกระจก จากองค์การบริการการจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ปัจจุบัน กทพ. ได้เปลี่ยนหลอดไฟภายในอาคารสำนักงานเป็นชนิดประหยัดพลังงาน (LED) พื้นที่ปฏิบัติงาน และอาคารศูนย์ควบคุมทางพิเศษของทางพิเศษบูรพาวิถี ทำให้สามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้ 12.146 tonCo2 ต่อปี และยังร่วมกับสมาคมอุตสาหกรรมปูนซิเมนต์ไทยในการเลือกใช้ปูนไฮดรอลิก
ในการก่อสร้างทางพิเศษ ตลอดจนจัดโครงการ EXAT POWER GREEN ภายใต้ชื่อกิจกรรม “EXAT รักษ์โลก” โดยเชิญชวนประชาชนผู้ใช้บริการทางพิเศษ เข้ากิจกรรมฯ ร่วมสร้างพื้นที่ สีเขียวด้วยการร่วมปลูกต้นไม้และร่วมเรียนรู้การอนุรักษ์ธรรมชาติลดปรากฏการณ์ก๊าซเรือนกระจก อีกด้วย “การทางพิเศษฯ จะมุ่งมั่นพัฒนาศักยภาพในการให้บริการ โดยนำระบบเทคโนโลยี AI เข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาจราจร และอำนวยความสะดวกในการเดินทางเชื่อมต่อระหว่างพื้นที่ในเมืองและนอกเมือง รวมถึงการพัฒนาพื้นที่โดยให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน ยกระดับมาตรฐานการเดินทาง สร้างความสุขให้กับคนไทย ในโอกาสก้าวสู่ปีที่ 53 ด้วยคำจำกัดความว่า พัฒนาเส้นทาง สร้างแรงบันดาลใจ ก้าวไปสู่ Net Zero Society” นายสุรเชษฐ์ฯ กล่าวในท้ายที่สุด
การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) กระทรวงคมนาคม ได้ว่าจ้าง บริษัท เวิร์ล บริดจ์ เทคโนโลยี จำกัด เป็นผู้รับจ้างดำเนินการก่อสร้าง งานปรับปรุงรอยต่อผิวจราจรบนทางพิเศษเฉลิมมหานคร (Site 3 และทางขึ้น-ลงเพชรบุรีคลองตัน) และทางพิเศษฉลองรัช บริเวณ กม.22+100 ทิศทางจตุโชติ-รามอินทรา ซึ่งมีความจำเป็นจะต้องปิดการจราจรบริเวณทางต่างระดับท่าเรือ มุ่งหน้าดินแดง ถ.พระราม 9 แจ้งวัฒนะ ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2567 ถึงวันที่ 4 พฤศจิกายน 2567 ตลอดเวลา 24 ชั่วโมง โดยผู้ที่จะต้องใช้เส้นทางดังกล่าว ให้ใช้ทางออกถนนพระราม 4 เป็นการทดแทน
ทั้งนี้ ผู้รับจ้างได้ทำการติดตั้งป้ายแจ้งการจราจรก่อนถึงพื้นที่ก่อสร้างและติดตั้งไฟสัญญาณไฟจราจรต่าง ๆ ป้ายประชาสัมพันธ์การเบี่ยงจราจรพร้อมไฟวับวาบ เพื่อให้ผู้ใช้เส้นทางได้ทราบ
กทพ. ต้องขออภัยในความไม่สะดวกมา ณ โอกาสนี้ และขอความร่วมมือผู้ที่ใช้เส้นทางบริเวณดังกล่าวโปรดสังเกตป้ายเตือน สัญญาณจราจรต่าง ๆ โดยปฏิบัติตามกฎหมายจราจรอย่างเคร่งครัด เพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนนของท่านและผู้อื่น และขออภัยในความไม่สะดวกมา ณ โอกาสนี้
หากมีข้อร้องเรียนแจ้งเหตุ หรือ ข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์สามารถแจ้งได้ที่ 085-346-8455 นายปฏิภาณ ไทรงาม (วิศวกรคุมงานของ กทพ.) และ 086-306-0666 นายยุทธพงษ์ ภู่งาม (วิศวกรคุมงาน ของผู้รับจ้าง)