November 22, 2024

เมื่อเร็วๆ นี้ นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานพิธีเปิดสถานธนานุเคราะห์ สาขาที่ 45 อย่างเป็นทางการ โดยมี นายคมสัน ญาณวัฒนา รองผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี กล่าวต้อนรับ นายอนันต์ ดนตรี รองปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวรายงาน พร้อมด้วยนายประสงค์ พันธ์ลิมา ผู้อำนวยการสำนักงานธนานุเคราะห์ คณะผู้บริหารกระทรวง พม. และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมงาน ณ อาคารสถานธนานุเคราะห์ สาขาที่ 45 โครงการบ้านเอื้ออาทรตลาดไท (เทพกุญชร 34) ตำบลคลองหนึ่ง อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี

นายชาติชาย กล่าวว่า สถานธนานุเคราะห์ (สธค.) หรือโรงรับจำนำของรัฐ เป็นรัฐวิสาหกิจสังกัดกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (พส.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ทำหน้าที่เป็นกลไกในการจัดสวัสดิการสังคม เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ประสบปัญหาความเดือดร้อนทางการเงิน โดยมีวัตถุประสงค์ที่สำคัญเพื่อรับจำนำในอัตราดอกเบี้ยต่ำ และตรึงระดับอัตราดอกเบี้ยไม่ให้โรงรับจำนำเอกชนเรียกค่าบริการสูงกว่าที่กฎหมายกำหนด โดยการให้บริการของ สธค. ถือเป็นทางเลือกหนึ่งที่ทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการของภาครัฐตามนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งขจัดความเดือดร้อนในด้านการเงินของประชาชนผู้มีรายได้น้อย และผู้ที่ประสบปัญหาทางการเงินเฉพาะหน้า

นายชาติชาย กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบัน สธค. ได้ขับเคลื่อนการดำเนินงานเข้าสู่ปีที่ 69  ด้วยวิสัยทัศน์ "เป็นโรงรับจำนำเพื่อสังคม บริการด้วยนวัตกรรมเเละเทคโนโลยีที่ทันสมัย โดยยึดหลักธรรมาภิบาล” ปัจจุบันมีทั้งหมด 45 แห่ง แบ่งเป็นสาขาในกรุงเทพมหานคร จำนวน 29 แห่ง และปริมณฑล จำนวน 5 แห่ง ได้แก่ จังหวัดนนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการ  ส่วนภูมิภาค จำนวน 11 แห่ง  ได้แก่ จังหวัดระยอง 2 แห่ง ลำพูน 1 แห่ง  สุราษฎร์ธานี 1 แห่ง อุดรธานี 1 แห่ง พิษณุโลก 1 แห่ง พระนครศรีอยุธยา 1 แห่ง ชลบุรี 1 แห่ง สุพรรณบุรี 1 แห่ง ราชบุรี 1 แห่ง และที่เพิ่งเปิดใหม่วันนี้อีก 1 แห่ง คือที่จังหวัดปทุมธานีแห่งนี้ นอกจากนี้ สธค. ยังได้จัดทำแผนขยายสาขาการให้บริการในพื้นที่ส่วนภูมิภาคให้ครอบคลุมทั่วทั้งประเทศในปี 2567 อีกจำนวน 2 แห่ง ได้แก่ สถานธนานุเคราะห์ สาขาที่ 46 (ลาดกระบัง) และ สถานธนานุเคราะห์ สาขาที่ 47 (บางขุนเทียน)

นายชาติชาย กล่าวต่ออีกว่า สำหรับวันนี้ ได้ทำการเปิดสาขาจังหวัดปทุมธานีอย่างเป็นทางการ ซึ่งเป็นสาขาที่ 45 เพื่อสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลในการช่วยเหลือประชาชนผู้มีรายได้น้อย และผู้ประสบปัญหาความเดือดร้อนเฉพาะหน้าทางการเงิน โดยสามารถนำสิ่งของมาจำนำ และเสียดอกเบี้ยในอัตราต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนด เป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ได้รับการบริการทางสังคมที่จำเป็นแก่การดำรงชีพ ทั้งนี้ สธค. มีการคิดอัตราดอกเบี้ย ดังนี้ 1) เงินต้นไม่เกิน 5,000 บาท คิดดอกเบี้ยร้อยละ 0.25 ต่อเดือน  2) เงินต้น 5,001 - 10,000 บาท คิดดอกเบี้ยร้อยละ 0.75 ต่อเดือน  3) เงินต้น 10,001 - 20,000 บาท คิดดอกเบี้ยร้อยละ 1.00 ต่อเดือน 4) เงินต้น 20,001 - 100,000 บาท คิดดอกเบี้ยร้อยละ 1.25 ต่อเดือน ซึ่ง สธค. ได้คิดอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำสุดในธุรกิจโรงรับจำนำ เพียงร้อยละ 0.25 ต่อเดือน (วงเงินไม่เกิน 5,000 บาท) อีกทั้ง ยังมีนโยบายอัตราการรับจำนำทรัพย์ประเภททอง นาก เงิน และรูปพรรณ โดยรับจำนำไม่เกินร้อยละ 87.5 ของราคาทองรูปพรรณในท้องตลาด ซึ่งให้ราคารับจำนำที่สูงขึ้นกว่าเดิม

นอกจากนี้ ตั้งแต่วันที่ 2 มกราคม - 29 กุมภาพันธ์ 2567 ทาง สธค. จัดโปรโมชั่นพิเศษ โดยการไม่คิดดอกเบี้ยเป็นเวลา 2 เดือน เมื่อจำนำไม่เกิน 5,000 บาท นับว่าเป็นการช่วยเหลือประชาชนผู้มีรายได้น้อยและผู้ที่ประสบปัญหาทางการเงินเฉพาะหน้า รวมทั้งมีการปรับภาพลักษณ์เปลี่ยนโฉมการบริการใหม่ ด้วยการนำเอาเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ การให้บริการที่สะดวก รวดเร็ว และมีมาตรฐานมากยิ่งขึ้น โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของประชาชน

นายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ปลัด พม.) เป็นประธานกิจกรรมเปิดตัวโครงการแจงนับคนไร้บ้าน (One Night Count) เป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวง พม. โดยกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (พส.) และภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน อาทิ กรุงเทพมหานคร สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มูลนิธิกระจกเงา มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย และมูลนิธิอิสรชน เพื่อร่วมกันดำเนินการสำรวจสถานการณ์ปัญหาของกลุ่มคนเร่ร่อนหรือคนไร้บ้าน 77 จังหวัดทั่วประเทศ อีกทั้งทำให้ทราบถึงจำนวนคนไร้บ้านสำหรับนำมาใช้คาดการณ์ทางสถิติ ประชากร และอื่น ๆ นำไปสู่การปรับปรุง พัฒนาบริการของรัฐที่ตอบโจทย์ประชาชน โดยมี นางจตุพร โรจนพานิช อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ พร้อมคณะผู้บริหารกระทรวง พม. นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการ กทม. นายสุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการ สสส. รองศาสตราจารย์ และ ดร.ภาวิกา ศรีรัตนบัลล์ ผอ.สถาบันเอเชียศึกษา ร่วมกล่าวแสดงเจตนารมณ์บูรณาการทำงานและให้กำลังใจผู้ปฏิบัติงาน ณ บริเวณหน้าอาคารกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวง พม.

นายอนุกูล กล่าวว่า กระทรวง พม. โดยกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (พส.) มีภารกิจสำคัญในการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนไร้ที่พึ่งหรือคนไร้บ้าน ด้วยการให้บริการสวัสดิการสังคมทั้งการให้ความช่วยเหลือ คุ้มครอง และลงพื้นที่สำรวจปัญหาความต้องการของคนไร้บ้านอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการเก็บข้อมูลจำนวนคนไร้บ้านทั่วประเทศ โดยแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ ได้แก่ กลุ่มเป้าหมายที่รับบริการภายในหน่วยงานสังกัดกระทรวง พม. ปัจจุบัน มีจำนวน 5,083 คน และกลุ่มเป้าหมายคนไร้ที่พึ่งภายนอกหน่วยงานสังกัดกระทรวง พม. ที่ให้บริการอีกกว่า 21,239 ราย ซึ่งเป็นคนไร้บ้านกว่า 2,462 ราย และอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ กว่า 1,761 ราย

ทั้งนี้ กระทรวง พม. ได้ดำเนินการให้ความช่วยเหลือคนไร้ที่พึ่งหรือคนไร้บ้านอย่างต่อเนื่องในทุกพื้นที่ แต่กระทรวง พม. เพียงหน่วยงานเดียวไม่สามารถแก้ปัญหาดังกล่าวได้อย่างครอบคลุมทุกมิติ เนื่องจากคนไร้ที่พึ่งหรือคนไร้บ้านที่ถือเป็นกลุ่มเปราะบางที่ต้องได้รับการคุ้มครองทางสังคม (Social Protection) และการเสริมสร้างพลังทางสังคม (Social Empowerment) วันนี้ กระทรวง พม. โดย พส. จึงได้จัดกิจกรรมเปิดตัวโครงการแจงนับคนไร้บ้าน (One Night Count) เพื่อแสดงให้เห็นว่า กระทรวง พม. ได้บูรณาการการทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนอย่างต่อเนื่อง และมีเป้าหมายร่วมกันในการออกแบบระบบการคุ้มครองดูแล และจัดบริการสวัสดิการสังคมได้อย่างตรงจุด ตลอดจนส่งผลให้คนไร้บ้านสามารถเข้าถึงสวัสดิการและสามารถใช้ชีวิตตามปกติได้อย่างยั่งยืนต่อไป

นายสุปรีดา กล่าวว่า กิจกรรมครั้งนี้ จะทำให้เราได้เห็นสถานการณ์ทางประชากรและสุขภาวะของคนไร้บ้านในประเทศไทยที่ครอบคลุมประเด็นทั้งในเชิงจำนวนและข้อมูลทางประชากรเชิงลึก เพื่อเป็นข้อมูลสถานการณ์ทางประชากรที่จะเป็นพื้นฐานในการออกแบบและจัดทำนโยบายเกี่ยวกับคนไร้บ้านที่สอดคล้องและเท่าทันกับสถานการณ์ปัญหา

รองศาสตราจารย์ ดร.ภาวิกา กล่าวว่า การแจงนับคนไร้บ้านครั้งนี้ จะเป็นทั้งการนับจำนวน (Head Count) และเก็บข้อมูลทางประชากรเบื้องต้นของคนไร้บ้านทั้งที่อาศัยอยู่ในพื้นที่สาธารณะ (Unsheltered Count) และในสถานพักพิงที่รัฐหรือเอกชนจัดให้ (Sheltered Count) เพื่อป้องกันปัญหาการนับซ้ำ และสามารถกำหนดนิยามคนไร้บ้านให้ครอบคลุมทั้งในมิติทางวิชาการและมิติทางวัฒนธรรม ให้สอดคล้องกับบริบทของคนไร้บ้านในสังคมไทย สู่การนำมาพัฒนารูปแบบบริการ นวัตกรรมที่ตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมาย

นายศานนท์ กล่าวว่า กรุงเทพมหานคร นับว่าเป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องหลักในประเด็นคนไร้บ้านที่พบมากที่สุดในประเทศ เนื่องจากผู้คนทั่วประเทศหลั่งไหลเข้ามาอาศัยและทำมาหากิน ซึ่งที่ผ่านมาเราอาจจะไม่ทราบว่า คนไร้บ้าน มีจำนวนเท่าไร ประสบปัญหาอะไร ซึ่งกิจกรรมครั้งนี้ ถือเป็นอีกก้าวที่สำคัญและเป็นการบูรณาการที่เป็นประโยชน์ ทั้งระดับปฏิบัติและนโยบาย เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนงานการช่วยเหลือคนไร้บ้านให้ตรงจุดและมีทิศทางที่ดีขึ้น

นางจุตพร กล่าวเพิ่มเติมว่า กิจกรรมแจงนับคนไร้บ้าน (One Night Count) ในวันนี้  ประกอบด้วย 1) การเปิดตัวกิจกรรมฯ พร้อมกันทั่วประเทศ ณ หน้าอาคารกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวง พม. และผ่านระบบ Zoom Cloud Meeting โดยมีหน่วยงาน One Home พม. ทุกจังหวัดทั่วประเทศเข้าร่วม 2) การปล่อยแถวขบวนรถสายด่วน พม. 1300 ลงพื้นที่แจงนับคนไร้บ้านทั่วประเทศ และ 3) นายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัด พม. พร้อมผู้บริหาร และผู้แทนภาคีเครือข่าย ลงพื้นที่สำรวจแจงนับคนเร่ร่อนหรือคนไร้บ้าน ณ บริเวณอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ถนนราชดำเนิน กรุงเทพฯ 

X

Right Click

No right click