February 22, 2025

นายชูฉัตร ประมูลผล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เข้าร่วมงานสัมมนาการประกันภัย ครั้งที่ 29 ภายใต้หัวข้อ “การบริหารจัดการความเสี่ยงอุบัติใหม่ : ความท้าทายของธุรกิจประกันภัยในทศวรรษหน้า” จัดโดยสมาคมประกันวินาศภัยไทย เมื่อวันพุธที่ 29 มกราคม 2568 ณ ห้องแกรนด์บอลรูม โรงแรมชาเทรียม แกรนด์ ถนนเพชรบุรี กรุงเทพฯ

การสัมมนาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างองค์ความรู้และตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงของภูมิทัศน์ทางธุรกิจและความเสี่ยงที่ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมประกันภัยในอนาคต โดยเป็นเวทีสำคัญสำหรับผู้บริหารระดับสูงของบริษัทประกันวินาศภัย หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง และองค์กรหลักที่อยู่ในระบบนิเวศประกันภัย รวมถึงสื่อมวลชน ได้ร่วมแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับแนวโน้มและแนวทางการบริหารจัดการความเสี่ยงของธุรกิจประกันภัย เพื่อให้สามารถปรับตัวและรับมือกับความท้าทายในทศวรรษหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สำนักงาน คปภ. ยังคงเดินหน้าส่งเสริมและกำกับดูแลภาคธุรกิจประกันภัยให้มีความมั่นคง ควบคู่ไปกับการบริหารจัดการความเสี่ยงอุบัติใหม่ในโลกยุคดิจิทัล เพื่อให้ภาคธุรกิจสามารถปรับตัวและรองรับความเปลี่ยนแปลงได้อย่างเหมาะสม และสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนในการใช้ระบบประกันภัยเป็นเครื่องมือบริหารความเสี่ยงอย่างยั่งยืน

นายชูฉัตร ประมูลผล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เป็นประธานแถลงข่าวนโยบายและทิศทางการดำเนินงานของสำนักงาน คปภ. ประจำปี 2568 พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงของสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.) เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2568 ณ อาคารรับรองเกษะโกมล ถนนอำนวยสงคราม เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสื่อสารและประชาสัมพันธ์แผนงานและทิศทางการดำเนินงานของสำนักงาน คปภ. โดยมีสื่อมวลชนร่วมรับฟังข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับแผนงานและทิศทางการดำเนินงานพร้อมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกับผู้บริหารระดับสูงของสำนักงาน คปภ. เพื่อเผยแพร่ไปสู่สาธารณชน อันจะเป็นการส่งเสริมความเชื่อมั่นและสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของสำนักงาน คปภ. รวมทั้งภาคอุตสาหกรรมประกันภัยและระบบประกันภัยไทยในภาพรวม

เลขาธิการ คปภ. เปิดเผยว่า จากการที่สำนักงาน คปภ.ได้ตั้งเป้าหมายไว้ในปี 2569 ภาพรวมของธุรกิจประกันภัยไทยจะมีเบี้ยประกันภัยรับโดยตรงทั้งระบบแตะที่ 1,000,000 ล้านบาท ดังนั้นเพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว สำนักงาน คปภ. โดยด้านและสายงานต่าง ๆ ได้ร่วมกันกำหนดนโยบายและทิศทางการดำเนินงานของสำนักงาน คปภ. ประจำปี 2568 โดยแบ่งการขับเคลื่อนการดำเนินงานออกเป็น 3 ส่วนหลักๆ คือ ส่วนที่ 1 ประชาชน สามารถใช้ระบบประกันภัยเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการความเสี่ยงโดยได้รับความคุ้มครองอย่างเป็นธรรมและการบริการที่ได้มาตรฐาน อาทิ ลดเรื่องร้องเรียนที่มีปริมาณมากที่สุดคือข้อพิพาทเกี่ยวกับค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถยนต์ ดังนั้นจึงควรกำหนดค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถให้เป็นจำนวนที่ชัดเจนไม่กำหนดเป็นขั้นต่ำ และกำหนดค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถไว้ในเงื่อนไขกรมธรรม์ให้สามารถเรียกร้องจากบริษัทประกันภัยที่รับประกันรถยนต์กรณีเป็นฝ่ายถูกของตนเองไว้ และเฉพาะประเภท 1 กำหนดเป็น Knock for Knock รวมทั้งยกระดับมาตรฐานการดำเนินงานของสาขาบริษัทประกันภัยในส่วนภูมิภาคให้มีความเข้มแข็ง โปร่งใสและสร้างความเชื่อมั่นให้กับระบบประกันภัยไทย โดยจะมีการตรวจสาขาบริษัทประกันภัยในส่วนภูมิภาค ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีความใกล้ชิดและให้บริการโดยตรงกับประชาชน โดยเป็นการตรวจติดตามการดำเนินการตามประกาศ คปภ. เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขออนุญาตเปิดสาขาย้ายที่ตั้งสำนักงานใหญ่ หรือสาขา หรือเลิกสาขาของบริษัทประกันวินาศภัย/ประกันชีวิต พ.ศ. 2565 โดยจะเริ่มเข้าตรวจในไตรมาสที่ 2 เป็นต้นไป และจะมีการประสานความร่วมมือส่งเสริมความรู้ด้านการประกันภัยให้แก่ประชาชนและภาคอุตสาหกรรมของไทยอย่างเป็นระบบอีกด้วย

นอกจากนี้จะมีการทบทวนความคุ้มครองและอัตราเบี้ยประกันภัยของกรมธรรม์ประกันภัยรถภาคบังคับ โดยสำนักงาน คปภ. จะทบทวนความคุ้มครองและอัตราเบี้ยประกันภัยให้มีความเหมาะสมกับความเสี่ยงภัยและสถานการณ์ปัจจุบัน เพื่อให้ประชาชนได้รับความคุ้มครองอย่างเหมาะสมกับค่ารักษาพยาบาลในปัจจุบัน อีกทั้งจะมีการผลักดันการจำหน่ายกรมธรรม์รถภาคบังคับผ่านช่องทาง online และการออกกรมธรรม์รถภาคบังคับในรูปแบบ e-Policy ซึ่งถือเป็นการตอบสนองต่อความต้องการและอำนวยความสะดวกแก่ผู้บริโภคในยุคดิจิทัล และจัดโครงการส่งเสริมความปลอดภัยเพื่อลดจำนวนการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน โดยจะเน้นการศึกษาวิจัยเพื่อหามาตรการที่มีประสิทธิภาพในการลดอุบัติเหตุทางถนน ร่วมกับภาคอุตสาหกรรมประกันภัย หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน โดยตั้งเป้าเริ่มต้นที่จังหวัดปราจีนบุรีก่อนขยายผลไปในจังหวัดอื่น ๆ ทั่วประเทศ ในขณะเดียวกันก็จะส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการดำเนินงานด้าน ESG และมาตรการเชิงป้องกันของภาคธุรกิจประกันภัย โดยสำนักงาน คปภ. และภาคธุรกิจประกันภัย ดำเนินการจัดกิจกรรมเชิง ESG สร้างความตระหนักรู้ของผู้เอาประกันภัยและผู้รับประกันภัยในการใช้มาตรการเชิงป้องกันความเสียหาย (Preventive Measures) รวมทั้งส่งเสริมความรู้ด้านการประกันภัยในโรงเรียน/สถานศึกษา ผ่านโครงการยุวชนนักสื่อสารประกันภัยภัยรุ่นใหม่ ปี 2568 (Insurefluencer the new GEN 2025)  มีการปรับปรุงประสิทธิภาพ API Gateway เพื่อรองรับการให้บริการ OIC Gateway และ App ทางรัฐ ที่มีแนวโน้มการใช้บริการมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และเพิ่มบริการตรวจสอบพฤติกรรมขับขี่เพื่อใช้เป็นส่วนลดเบี้ยประกันภัยต่อไป

ส่วนที่ 2 ธุรกิจประกันภัย มีเสถียรภาพความมั่นคง ปรับตัวได้เท่าทันความเสี่ยงและสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง อาทิ มีการกำกับบริษัทประกันภัยแบบรวมกลุ่ม (Group Wide Supervision) ในระดับ Solo Consolidation ที่เกี่ยวข้องกับคุณสมบัติกรรมการ แนวทางการติดตามการถือหุ้นธรรมาภิบาล การบริหารความเสี่ยง การควบคุมภายใน และระดับ Full Consolidation จะมีการพิจารณาหารือกับหน่วยงานการกำกับดูแลภาคการเงิน/ภาคการประกันภัยจากในประเทศและต่างประเทศ เพื่อกำหนดหลักการกำกับดูแลในระดับ Full Consolidation ซึ่งจะครอบคลุมการกำกับบริษัทที่เป็นบริษัทแม่ของบริษัทประกันภัย รวมถึงบริษัทร่วมและบริษัทที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ ให้แล้วเสร็จภายในปี 2569 และมีการทบทวนหลักเกณฑ์การดำรงเงินกองทุนตามระดับความเสี่ยงของบริษัทประกันภัย (All Risks Calibration / Catastrophe Risk / Group Capital - for Group Risk) และมีการปรับเพิ่มอัตราการวางเงินสำรอง UPR  โดยจัดกลุ่มบริษัทตามศักยภาพในการดำเนินงานและความมั่นคงของบริษัท โดยมีแผนดำเนินการให้แล้วเสร็จและมีผลบังคับใช้ภายในปีนี้ อีกทั้งจะมีการปรับปรุงประกาศ คปภ. ว่าด้วยการลงทุนประกอบธุรกิจอื่น เพื่อให้สอดคล้องกับข้อกำหนดใหม่ (EWS / Group-Wide Supervision / Risk Proportionality) มีการยกระดับการกำกับดูแลและการตรวจสอบธุรกิจประกันภัย เรื่อง ERM-ORSA / Examination Form / Stress Test / แบบจำลองมาตรฐาน และมีการจัดทำคู่มือ/กรอบแนวปฏิบัติขั้นพื้นฐานของการจัดทำรายงานทางการเงินตาม TFRS 17 รวมทั้งทบทวน/ปรับปรุง EWS ให้สอดคล้องกับ TFRS 17

นอกจากนี้มีการเตรียมความพร้อมในการผลักดันร่างกฎหมายแม่บท และจัดเตรียมร่างกฎหมายลำดับรอง โดยสรุปสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ. กลุ่ม 2 (บทบัญญัติเกี่ยวกับการเสริมสร้างเสถียรภาพและความมั่นคง) และสรุปสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ. กลุ่ม 3 (บทบัญญัติเกี่ยวกับการส่งเสริมการควบโอนกิจการและความรับผิดของกรรมการ) รวมทั้งมีการพัฒนาระบบฐานข้อมูลที่ทันสมัย เชื่อมโยงฐานข้อมูลไปยังหน่วยงานภาคีเครือข่าย และมีการจัดทำระบบแสดงพฤติกรรมฐานข้อมูลฉ้อฉลประกันภัยหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าอาจมีลักษณะเป็นการฉ้อฉลประกันภัยของตัวแทน/นายหน้าประกันภัย เพื่อให้บริษัทประกันภัยเข้าใช้งานระบบเพื่อตรวจสอบข้อมูลได้อย่างสะดวกรวดเร็ว อีกทั้งมีการยกระดับการกำกับดูแลคนกลางประกันภัยด้วยแนวทาง Conduct Risk-Based  รวมทั้งยกระดับมาตรฐานความรู้และการดำเนินงานของคนกลางประกันภัยให้มีคุณภาพ

ในขณะเดียวกันก็จัดทำแผนยุทธศาสตร์ประกันสุขภาพภาคเอกชน เพื่อกำหนดภูมิทัศน์ด้านประกันภัยสุขภาพภาคเอกชนของประเทศไทย (Health Insurance Landscape in Thailand) รวมทั้งพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตรูปแบบใหม่ โดยปรับปรุงและพัฒนาหลักเกณฑ์การกำหนดอัตราเงินค่าเวนคืนตามกรมธรรม์ประกันภัยโดยเปิดโอกาสให้บริษัทสามารถกำหนดอัตราเงินค่าเวนคืนดามกรมธรรม์ที่ต่ำลงได้หรือที่เรียกว่า Low cash surrender value (Low CSV) ที่ส่งผลให้เบี้ยประกันภัยต่ำลง ซึ่งจะช่วยลดอุปสรรคและส่งเสริมโอกาสให้แก่บริษัทในการพัฒนาและต่อยอดผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตในประเทศไทยให้สามารถแข่งขันกับผลิตภัณฑ์ของต่างประเทศได้มากขึ้น

ไม่เพียงเท่านั้นยังมีการพัฒนาและส่งเสริมการประกันภัยพืชผล โดยสนับสนุนการประกันภัยการเกษตรให้ครอบคลุมและตอบสนองต่อความต้องการของเกษตรกรไทยอย่างแท้จริง โดยร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ ได้แก่ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) รวมถึงการหารือกับภาคธุรกิจประกันภัยต่อต่างประเทศถึงความสนใจในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยทางการเกษตรโดยใช้เทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในการสำรวจภัย และมีการทบทวนความคุ้มครองความรับผิดต่อชีวิต ร่างกาย อนามัย ของบุคคลภายนอกของกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจ รวมทั้งจัดทำแผนพัฒนาการประกันภัย ฉบับที่ 5 เพื่อเพิ่มศักยภาพภาคธุรกิจ ส่งเสริมให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของการประกันภัยและมีการ Open Insurance ซึ่งเป็นแผนการพัฒนาการให้บริการการแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เริ่มจากการเชื่อมโยงข้อมูลภายในภาคประกันภัย (Open Insurance) ในปี 2568 จากนั้น จึงจะขยายการเชื่อมโยงใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่มีในภาคส่วนอื่นๆ (Open Data) ในปี 2569 อีกทั้งจะมีการจัดทำ AI Governance Guideline สำหรับธุรกิจประกันภัย เพื่อให้มีกรอบแนวทางในการกำกับดูแลให้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงที่สอดรับกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยีและนวัตกรรม  ตลอดจนสร้างประเทศไทยให้มี Insurance Community เป็น Hub of Insurance ของภูมิภาคอาเซียน และเสริมสร้าง Insurance Literacy ด้วยการขยายบทบาทภารกิจของสถาบันวิทยาการประกันภัยระดับสูง สู่การเป็น Research & Development Center ของประเทศไทย และดำเนินการให้เป็นศูนย์กลางในการบริหารจัดการ รวบรวม จัดเก็บ และเผยแพร่องค์ความรู้ด้านการประกันภัย (Insurance Learning Center) ไปพร้อมๆกับการสร้างมาตรฐานทางวิชาชีพของบุคลากรประกันภัย โดยเริ่มจากการจัดทำหลักสูตรนานาชาติ สำหรับผู้กำกับดูแลและบุคลากรประกันชีวิต เป็นต้น

ส่วนที่ 3 ขับเคลื่อนสำนักงาน คปภ. เป็นองค์กรที่มีศักยภาพสูง อาทิ ปรับกระบวนการทำงาน Team-based / Project-based เพื่อให้การบริหารงานมีประสิทธิภาพและมีความคล่องตัวเพิ่มมากขึ้น และมุ่งสู่ AI Driven Organization โดยขับเคลื่อนการดำเนินการผ่าน AI Champion และนำ AI เข้ามาใช้ในการประมวลผลและวิเคราะห์ข้อมูลต่าง ๆ  มีการยกระดับการบริหารผลงาน ด้วยการตั้งเป้าหมายการทำงานด้วย OKRs ที่ชัดเจนและท้าทาย รวมทั้งให้ผู้บังคับบัญชามีการติดตามการทำงาน ให้คำปรึกษาแนะนำเกี่ยวกับการทำงาน (Coaching & Feedback) อย่างสม่ำเสมอ ตลอดจนทำการประชาสัมพันธ์สำนักงาน คปภ.ในเชิงรุกและหลากหลาย โดยการบูรณาการความร่วมมือด้านการสื่อสาร เพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์อุตสาหกรรมประกันภัยให้เป็นที่ยอมรับของประชาชนเพิ่มมากขึ้น

เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้ายด้วยว่า หัวใจสำคัญที่สุดในการขับเคลื่อนนโยบายและการดำเนินงานของสำนักงาน คปภ. คือ การทำให้อุตสาหกรรมประกันภัยทั้งระบบเป็นที่ยอมรับและเชื่อมั่นของประชาชนเพิ่มมากขึ้น โดยการสร้างความร่วมมือกับสมาคมที่เกี่ยวข้องด้านการประกันภัย บริษัทประกันชีวิต บริษัทประกันวินาศภัย บริษัทนายหน้าประกันภัยนิติบุคคล ตัวแทนประกันภัย และสื่อมวลชนทุกช่องทางเพื่อเป็นสื่อกลางนำเสนอข้อมูล ข่าวสาร แนวทางการดำเนินงาน และกิจกรรมต่าง ๆ ของสำนักงาน คปภ. ออกสู่สาธารณชนอย่างถูกต้อง รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ เพื่อให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่นในระบบประกันภัยไทย

ก้าวสู่ Community ด้านประกันภัยที่ใหญ่ที่สุดในไทย ยอดซื้อประกันสูงกว่าสองร้อยล้าน ยอดคนเข้าร่วมกว่าสองแสน

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเสนอแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการสถาบันคุ้มครองเงินฝาก จำนวน 4 ท่าน เนื่องจากกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเดิมได้พ้นจากตำแหน่งก่อนครบวาระเนื่องจากมีอายุครบเจ็ดสิบปีบริบูรณ์และดำรงตำแหน่งครบวาระ 4 ปี โดยจะมีผลตั้งแต่วันที่ 7 มกราคม 2568 เป็นต้นไป

รายชื่อกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิประกอบด้วย นายชูฉัตร ประมูลผล กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมาย นางสาวจอมขวัญ คงสกุล กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการเงินการคลัง นางสาวบัณฑรโฉม แก้วสอาด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการเงินการคลัง และนายปิยวัฒน์ ศิวรักษ์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการเงินการคลัง ทั้งนี้ การแต่งตั้งดังกล่าวมีความสำคัญต่อการพัฒนาระบบการคุ้มครองเงินฝากในประเทศไทยให้มีประสิทธิภาพและตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนได้อย่างเหมาะสม

นายชูฉัตร  ประมูลผล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า ตามที่กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง จัดงานมอบรางวัลทุนหมุนเวียนดีเด่น ประจำปี 2567 ภายใต้ชื่องาน “ทุนหมุนเวียน สร้างโอกาสความเสมอภาค ทางเศรษฐกิจและสังคม” ซึ่งจัดขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 16 โดยได้รับเกียรติจากนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานเปิดงานและมอบรางวัลดังกล่าว เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2567 ณ ห้องแซฟไฟร์ 204 - 205 อิมแพ็คฟอรั่ม เมืองทองธานี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างแรงจูงใจให้ทุนหมุนเวียนพัฒนาศักยภาพการบริหารจัดการให้เกิดประสิทธิภาพ สามารถสนับสนุนการปฏิบัติภารกิจของหน่วยงานของรัฐในการสร้างความเสมอภาคทางสังคม และการสร้างโอกาสให้กับประชาชน ตลอดจนเพื่อเป็นการส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันระหว่างทุนหมุนเวียนในการยกระดับคุณภาพการบริหารจัดการในภาพรวม และตอบสนองความคาดหวังของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในทุกภาคส่วน เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมถึงการพัฒนาสังคมและคุณภาพชีวิตของประชาชน

สำหรับการมอบรางวัลการประเมินทุนหมุนเวียนดีเด่นในปีนี้แบ่งออกเป็น 5 ประเภทรางวัล ประกอบด้วย 1. รางวัลผลการดำเนินงานดีเด่น 2. รางวัลประสิทธิภาพด้านการบริหารจัดการดีเด่น 3. รางวัลการพัฒนาดีเด่น 4. รางวัลเกียรติยศ และ 5. รางวัลผู้บริหารทุนหมุนเวียนดีเด่น โดยมีทุนหมุนเวียนที่เข้ารับการประเมินผลการดำเนินงานจากกรมบัญชีกลาง จำนวน 98 ทุนหมุนเวียน และมีทุนหมุนเวียนที่ได้รับรางวัลในครั้งนี้จำนวน 9 รางวัล จาก 6 ทุนหมุนเวียน

       

โดยกองทุนทดแทนผู้ประสบภัย สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.) ได้เข้าสู่ระบบการประเมินผลการดำเนินงานของทุนหมุนเวียน ของกรมบัญชีกลางตั้งแต่ 2558 -2567โดยในปี 2564 กองทุนทดแทนผู้ประสบภัย ได้รับการคัดเลือกให้ได้รับรางวัลประสิทธิภาพด้านการบริหารจัดการดีเด่น ประจำปี 2564 ด้วยคะแนนการประเมินภาพรวม 4.3414 คะแนน ดังนั้นกองทุนทดแทนผู้ประสบภัยจึงได้นำผลและข้อเสนอแนะที่ได้รับจากการประเมินมาปรับปรุงการดำเนินงานของกองทุนทดแทนผู้ประสบภัยอย่างต่อเนื่องทำให้ผลการดำเนินงานประจำปี 2566 ของกองทุนทดแทนผู้ประสบภัย สำนักงาน คปภ. ได้รับคะแนนการประเมินภาพรวม 4.5888 คะแนน และเป็นคะแนนการประเมินสูงสุดที่กองทุนทดแทนผู้ประสบภัยเคยได้รับการประเมินจากกรมบัญชีกลาง จึงได้รับรางวัลประสิทธิภาพด้านการบริหารจัดการดีเด่น ประจำปี 2567

“กองทุนทดแทนผู้ประสบภัย มีความภาคภูมิใจที่ได้รับรางวัลประสิทธิภาพด้านการบริหารจัดการดีเด่น ประจำปี 2567 อันเป็นผลจากความมุ่งมั่นในการยกระดับการให้บริการและเยียวยาผู้ประสบภัยจากรถอย่างรวดเร็ว ด้วยการนำเทคโนโลยีและหลักธรรมาภิบาลมาใช้ในการบริหารจัดการ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้ประสบภัยจากรถ และยังคงมุ่งมั่นสร้างมาตรฐานในการคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถให้เป็นเลิศอย่างยั่งยืนต่อไป” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย

Page 1 of 34
X

Right Click

No right click