

เปิดปีใหม่มานี้...น้องๆ หลายคน ยังอยู่ในช่วงซีซั่นลงสนามสอบ TCAS68 ซึ่งตอนนี้อยู่ในช่วงของรอบ Admission ที่ทุกคนคงได้รู้คะแนน TGAT/ TPAT กันไปเรียบร้อยแล้ว และในอีกไม่กี่วันข้างหน้า ก็จะเป็นการสอบ A-LEVEL หรือ Applied Knowledge Level วัดความรู้เชิงวิชาการและความสามารถในการประยุกต์ใช้ความรู้ในแต่ละวิชา อีกหนึ่งด่านสำคัญที่ต้องดันคะแนนกันต่อ เพื่อเอามารวมกับ TGAT/TPAT ให้ได้มากที่สุด ช่วยให้น้องๆ ได้พิชิตคณะในฝัน เข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัยได้ตามที่ตั้งใจ
ในการสอบ TCAS67 ที่ผ่านมา มีจำนวนผู้สมัครสอบ A-LEVEL ทั้งหมด 187,342 คน ซึ่งจากสถิติในปี 2567 พบว่าวิชาที่มีค่าเฉลี่ยผลสอบสูงสุด คือ ภาษาไทย อยู่ที่ 57.39 คะแนน ขณะที่วิชาฟิสิกส์และสังคม มีสถิติค่าเฉลี่ยผลสอบต่ำสุดในรอบ 4 ปี ย้อนหลัง (2564 – 2567) โดยวิชาฟิสิกส์ มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 20.58 คะแนน ส่วนวิชาสังคม มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 35.21 คะแนน โดยเฉพาะวิชาสังคม มีผู้ที่ได้คะแนนสูงสุด 82 คะแนน หรือมากกว่า 80 คะแนน เพียง 1 คน จากผู้สมัครสอบวิชาสังคม A-LEVEL TCAS67 ทั้งหมด 156,197 คนทั่วประเทศ หลายคนเห็นข้อมูลสถิติแล้ว อาจจะคิดหนัก แต่หากเราเตรียมตัวให้พร้อมอยู่เสมอ ก็จะเพิ่มความได้เปรียบในการทำข้อสอบมากขึ้น เพิ่มโอกาสในการติดอันดับที่ต้องการมากขึ้น
จัดเต็ม...ฟรีคอร์สออนไลน์ A-LEVEL ติวจบ ครบที่เดียว กับ “ทรูปลูกปัญญา” ทั้งเว็บ แอป ช่องทีวี
ทรูปลูกปัญญา คลังความรู้ออนไลน์ที่มีสถิติผู้ใช้งานสูงสุดถึง 32 ล้านคน และมีผู้ใช้งานถึง 2.6 ล้านเพจวิวต่อเดือน จัดเตรียมคอร์สออนไลน์ A-LEVEL ที่ออกแบบมาเพื่อช่วยให้นักเรียนชั้น ม.6 ได้ทบทวนเนื้อหาวิชาแบบเข้าใจง่ายๆ ฝึกฝนนำความรู้ไปใช้แก้ปัญหาในสถานการณ์ต่างๆ พร้อมตะลุยโจทย์ข้อสอบจริง ครอบคลุมทั้ง 10 วิชาหลัก ได้แก่ คณิต 1 คณิต 2 วิทย์ประยุกต์ ฟิสิกส์ เคมี ชีวะ ภาษาไทย สังคม ภาษาอังกฤษ และภาษาต่างประเทศ (ครบทั้ง 7 ภาษา) ที่จะจัดสอบพร้อมกัน ได้แก่ ฝรั่งเศส เยอรมัน ญี่ปุ่น เกาหลี จีน บาลี และสเปน น้องๆ สามารถเข้าไปเรียนออนไลน์ผ่านเว็บไซต์และแอปพลิเคชันทรูปลูกปัญญา ไม่ต้องลงทะเบียนก็สามารถเข้าถึงเนื้อหาได้ทันที โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
รวมคลิปติว A-LEVEL ใหม่ล่าสุด ขนทัพติวเตอร์ชั้นนำ ในรายการสอนศาสตร์
ในปี 2025 นี้ รายการสอนศาสตร์ โดยทรูปลูกปัญญา ยังได้จัดทำคลิปติว A-LEVEL ชุดใหม่ มาให้เรียนฟรี พบกับพี่ๆ ติวเตอร์จากสถาบันชั้นนำที่จะมาแจกเทคนิคแก้โจทย์ คิดวิเคราะห์ เชื่อมโยงเนื้อหา เพิ่มความแม่นยำและความมั่นใจให้กับน้องๆ ได้อัปสกอร์โค้งสุดท้าย TCAS68 อาทิ ภาษาอังกฤษ โดย ครูพี่กิ๊บ ENCONCEPT ภาษาไทยและสังคมศึกษา โดย อ.ปิง คณิตศาสตร์ 1 โดยพี่แท็ป OnDemand ฟิสิกส์ โดยพี่เต้ย OnDemand คณิตศาสตร์ 2 โดยพี่โดนัท OnDemand เคมี โดยพี่เคน OnDemand และชีววิทยา โดยพี่วิเวียน OnDemand ออกอากาศแล้วทางช่องทรูปลูกปัญญา ทรูวิชั่นส์ 37 / HD 111 ทุกวันเวลา 19.30 น. นอกจากนี้ น้องๆ ยังสามารถติดตามรายการสอนศาสตร์ และดูคลิปย้อนหลังได้ที่แอปพลิเคชันทรูปลูกปัญญา
อีกหนึ่งไฮไลท์ เตรียมความพร้อมสอบอย่างมั่นใจ ที่ทรูปลูกปัญญาจัดให้ คือ Pre-Test A-LEVEL ที่รวบรวมชุดข้อสอบเสมือนจริงสำหรับการสอบวิชา A-LEVEL ให้น้องๆ ได้ฝึกทำข้อสอบออนไลน์ แบบจับเวลา พร้อมรับ Report วิเคราะห์จุดอ่อน จุดแข็ง เพื่อวางแผนติวเพิ่มเติมได้ อีกทั้ง ยังรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ให้แก่น้องๆ ทั้งการเลือกวิชาที่จะสอบ การตั้งเป้าคะแนน การเตรียมความพร้อมสอบ ช่วยวางแผนการอ่านหนังสือและการสอบได้อย่างมั่นใจ นอกจากนี้ น้องๆ ยังสามารถดูปฏิทิน TCAS68 ตลอดจนรายละเอียดข้อมูลครบทุกขั้นตอนของการสมัครสอบและตารางสอบ A-LEVEL แบบอัปเดทล่าสุด ไม่พลาดทุกสเต็ปสำคัญ พร้อมคำแนะนำในการเตรียมเอกสารและขั้นตอนการสมัครอย่างละเอียด
ดาวน์โหลดแอปทรูปลูกปัญญาได้แล้ววันนี้ ที่ www.trueplookpanya.com/go/app แถมใช้ฟรี ไม่เสียค่าเน็ต เมื่อใช้งานผ่านทรูมูฟ เอชด้วยนะ...แล้วมาเริ่มต้นการเตรียมสอบอย่างตรงจุด เพิ่มโอกาสพิชิตเป้าหมายมหาวิทยาลัยในฝันไปด้วยกัน
“การศึกษา” ถือเป็นเครื่องมือสำคัญแห่งการพัฒนาความเจริญก้าวหน้าให้แก่ปัจเจกบุคคล สังคม และประเทศชาติ ทว่า การจัดการระบบการศึกษาให้เกิดผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมทั้งในแง่ปริมาณและคุณภาพ จำต้องใช้ทรัพยากรมหาศาล ไม่ว่าจะเป็นงบประมาณ บุคลากร เวลา และเทคโนโลยี
ด้วยตระหนักถึงความสำคัญของการศึกษาต่อความเจริญก้าวหน้าของชาติ ทรู คอร์ปอเรชั่น จึงได้ก่อตั้งโครงการ “ทรูปลูกปัญญา” เพื่อร่วมพัฒนาและขยายโอกาสทางการศึกษาด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ซึ่งปัจจุบัน ดำเนินงานเข้าสู่ปีที่ 17 แล้ว
ในการณ์นี้ True Blog ได้มีโอกาสพูดคุยกับน้องๆ เยาวชนวัยเรียน 3 คนที่มีภูมิหลังทางการศึกษาที่แตกต่างกัน แต่ทั้ง 3 ได้ใช้คลังความรู้ “ทรูปลูกปัญญา” ส่องสว่างเส้นทางการศึกษา
เสาหลักภายใต้ห้วงการเปลี่ยนผ่าน
จ๊ะจ๋า - จิณณาภา ญานะ นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บอกว่า เธอเป็นเด็กที่เติบโตมาจากการศึกษา 2 ระบบ โดยเข้ารับการศึกษาระบบโรงเรียนในระดับประถมศึกษา ต่อมาเธอตัดสินใจเข้ารับการศึกษาในระบบโฮมสกูล (Home School) ซึ่งเป็นการศึกษาในระบบรูปแบบหนึ่งตาม พรบ. การศึกษา พ.ศ. 2545 มาตรา 12 ที่ให้สิทธิบุคคลหรือหน่วยงานในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ทั้งนี้ ในกรณีโฮมสกูลนั้น จะใช้บ้านเป็นฐานการเรียนรู้ มีการจัดแผนการเรียนโดยอิงจากความสนใจของผู้เรียนเป็นหลัก ภายใต้คำแนะนำของศึกษานิเทศก์
“ในช่วงคาบเกี่ยวระหว่างประถมสู่มัธยม พี่ชายจ๊ะจ๋ามีความสนใจด้านคอมพิวเตอร์มาก และกำลังมองหาระบบการศึกษาที่เอื้อต่อความสนใจของเขา แม้ตอนนั้น หนูจะเด็กมาก แต่ก็รู้สึกว่าโลกนอกตำรายังมีสิ่งน่าสนใจอีกมาก หนูจึงตัดสินใจย้ายมาระบบโฮมสกูลเช่นกัน” จิณณาภา เล่าถึงภูมิหลังทางการศึกษา
ในห้วงแห่งเปลี่ยนผ่านนั้น เธอยอมรับว่า เธอเองก็เผชิญกับความยากลำบากด้านการจัดการหลักสูตร เนื่องจากยังไม่ค้นพบแนวทางการเรียนรู้ของตนเอง แม้ระบบโฮมสกูลจะให้อิสระและความยืนหยุ่นแก่ผู้เรียน
ทั้งในแง่หัวข้อและเวลา แต่ขณะเดียวกัน ผู้เรียนจะต้องมีความรับผิดชอบต่อตัวเองอย่างมากเฉกเช่นเดียวกับผู้ใหญ่คนหนึ่ง เพราะด้วยแนวคิดและวิธีการของระบบโฮมสกูล ผู้เรียนคือ เจ้าของการเรียนรู้ที่แท้จริง ด้วยเหตุนี้ คุณแม่ผู้เคยทำหน้าที่ครูในระบบโรงเรียนมาก่อน จึงแนะนำเว็บไซต์ https://www.trueplookpanya.com/ ให้เป็นทางออก
“เพราะแต่ละเทอม หนูจะต้องรวบรวมผลงานส่ง สนข. พื้นที่การศึกษาเพื่อเทียบเคียงวุฒิฯ กับหลักสูตรแกนกลาง และด้วยทรูปลูกปัญญานี้เอง ทำให้หนูจับหลักหาแนวทางของตัวเองได้” เธอกล่าวและเสริมว่า “นอกจากการสอนที่มีคุณภาพจากคุณครูที่ช่วยให้เราเห็นการเชื่อมโยงกับบริบททางสังคมในโลกแห่งความจริงได้แล้ว ช่วงท้ายของวิดีโอยังมีการสรุปบทเรียนออกมาเป็นประเด็นๆ ทั้งยังสามารถพิมพ์ออกมาให้เราเทคโน้ต ที่สำคัญ ยังมีใบงานที่ทำให้เราได้ทบทวนความเข้าใจของบทเรียน ใช้เป็นร่องรอยหลักฐานส่ง สนข. พื้นที่การศึกษาได้เลย”
เป็นระยะเวลาราว 7 ปีกับห้องเรียนอันกว้างใหญ่ จิณณาภาได้ศึกษาเรียนรู้สิ่งต่างๆ รอบตัวตามความถนัด ด้วยกระบวนการเรียนรู้อันหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการฟอร์มทีมแข่งขันประกวดสื่อสร้างสรรค์ การนำเสนอแผนโครงการแอปพลิเคชันเกม ตลอดจนงานอดิเรกอย่างงานเย็บปักถักร้อย
“โฮมสกูลทำให้หนูได้มีโอกาสทดลองเรียนรู้ในศาสตร์ต่างๆ ที่ไม่จำกัดด้วยกรอบของหลักสูตรฯ เท่านั้น เพราะโลกคือห้องเรียน” จิณณาภา กล่าว
ภายหลังสำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาในระบบโฮมสกูล จิณณาภาเลือกกลับเข้าสู่ระบบการศึกษากระแสหลักอีกครั้ง โดยได้รับคัดเลือกเข้าศึกษาคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ เพราะด้วยหลักสูตรที่มีความเป็นสหวิชา กอปรกับนิสัยรักการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ และชื่นชอบการทำงานทางความคิดของเธอ ทำให้เธอตกผลึกทางความคิดต่อประเด็นด้านการศึกษาว่า
“การศึกษาคือ เครื่องมือในการพัฒนาตัวเองให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ดังนั้น การศึกษาที่มีคุณภาพ จึงควรเป็นเครื่องมือที่ให้ทุกคนเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม ไม่ว่าจะอยู่ในการศึกษาระบบไหน ซึ่งรวมถึงผู้ที่ไม่เข้าถึงการศึกษาด้วยเช่นกัน ซึ่งทรูปลูกปัญญาได้ทำหน้าที่นั้นอย่างแท้จริง กล่าวคือ การทำหน้าที่เป็นคลังความรู้ให้ทุกคนได้เข้าถึงการเรียนการสอนที่มีคุณภาพและมาตรฐาน ทั้งยังตอบโจทย์การเรียนรู้ของผู้เรียนที่หลากหลาย ไม่ว่าจะ
เป็นคนชอบสรุป คนชอบเนื้อหาเชิงลึก รวมถึงความยืดหยุ่น ที่ทำให้เราเรียนที่ไหน เมื่อไหร่ก็ได้” จิณณาภา กล่าว
ค้นหาแรงบันดาลใจ-ความถนัดทางการศึกษา
ไปรท์ - วราเทพ ชื่นตา นิสิตชั้นปีที่ ๅ คณะครุศาสตร์ สาขาประถมศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกว่า เขาเป็นหนึ่งในผลผลิตทางการศึกษาจากค่านิยมของสังคม กล่าวคือ สังคมไทยโดยผู้ใหญ่รุ่นพ่อรุ่นแม่มักมีมายาคติ “เรียนเผื่อเลือก” รวมถึงการเหมารวม (Stereotype) ของการศึกษา ทำให้เกิดค่านิยมเลือกแผนการเรียนสายวิทย์-คณิตในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายอย่างกว้างขวาง แม้เด็กบางคน จะยอมรับว่าชื่นชอบหลักวิชาทางสังคมศาสตร์มากกว่า นำมาสู่ปัญหาเชิงโครงสร้างของระบบการศึกษาที่จำกัดกรอบการเรียนรู้ของผู้เรียน
“จริงๆ แล้ว ผมชอบวิชาสังคมศึกษา เพราะมันทำให้ฝึกการคิดวิเคราะห์ การคิดเชิงตรรกะ และการเชื่อมโยงของปัจจัยต่างๆ ต่อปรากฏการณ์สังคม แต่ด้วยค่านิยมทางการศึกษาและคำชี้แนะกึ่งบังคับของผู้ใหญ่ จึงเลือกเรียนสายวิทย์-คณิต ซึ่งพอเจอวิชาคำนวณอย่างฟิสิกส์ เคมีเข้าไป ผมทิ้งเลย ขมขื่นมากๆ ทั้งๆ ที่รู้อยู่เต็มอกว่าผมไม่ชอบการคำนวณ” วราเทพ บอกเล่าถึงประสบการณ์การเรียน
แต่เมื่อเลือกแล้ว เขาจึงเดินหน้าต่อ โฟกัสและหาเป้าหมายต่อไปในสายวิชาที่ชื่นชอบ ภายหลังพิจารณาอย่างถี่ถ้วน หนึ่งในคณะที่วาดฝันไว้จึงเป็นคณะครุศาสตร์ ทว่า การสมัครเข้าคัดเลือกในคณะดังกล่าว จำเป็นต้องใช้คะแนนวิชาความถนัดครู (TPAT5) วราเทพจึงหาวิถีทางในการเตรียมสอบฯ โดยรบกวนผู้ปกครองให้น้อยที่สุด นั่นจึงทำให้เขาพบกับคลังความรู้ “ทรูปลูกปัญญา” ภายในเว็บไซต์มีคลังข้อสอบ และแบบทดสอบจำลองเสมือนจริง ทำให้เขา “เข้าใจ” ถึงหลักคิด และ “จับทาง” บททดสอบ ตั้งแต่ระดับความยากง่าย ประเด็นที่ทดสอบ รวมถึงจุดเแข็งและจุดอ่อนของตัวเอง เพื่อชี้ให้เห็นแนวทางการศึกษาเพิ่มเติมในอนาคต
ขณะเดียวกัน วราเทพยังได้ใช้สื่อการเรียนการสอนทั้งในรูปแบบ digital book และวิดีโอในคลังบทเรียน เพื่อทบทวนบทเรียนจากโรงเรียน รวมถึงค้นคว้าข้อมูลเพิ่มเติมสำหรับทำการบ้านและรายงานส่งอาจารย์ โดยเฉพาะวิชาโปรดอย่างภาษาไทยและสังคมศึกษา จนทำให้เขาได้รับการคัดเลือกเข้าศึกษาในคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
“ผมมองว่า การศึกษาคือ การเรียนรู้ที่ไม่สิ้นสุด อันเป็นวิถีแห่งการพัฒนาศักยภาพและขีดความสามารถของผู้เรียนให้ก้าวไปอีกขั้น โดยมีพื้นฐานจากความกระหายใคร่รู้ ไม่ใช่เพื่อตัวเลขบนข้อสอบ ซึ่งคลังความรู้อย่างทรูปลูกปัญญา ถือเป็นอีกหนึ่งแพลทฟอร์มสำหรับการเริ่มต้น เพื่อค้นหาความถนัดของตัวเอง” วราเทพ กล่าว
ตั้งเป้าหมาย-ค้นหาตัวเอง
วี - ศิวัช สุชาครีส์ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 สายวิทย์-คณิต โรงเรียนเทพศิรินทร์ นนทบุรี ให้ความเห็นว่า เขาและเพื่อนวัยเรียนต่างเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า เนื้อหาที่บรรจุในหลักสูตรการศึกษาภาคบังคับนั้นมีปริมาณมากเกินไป ทั้งแนวกว้างและแนวดิ่ง โดยมองข้ามมิติด้านความถนัดไป อย่างไรก็ตาม เขามองว่า ปริมาณและความหลากหลายของเนื้อหาวิชานั้นถือเป็นสิ่งที่ดี แต่ควรปรับรูปแบบจากภาคบังคับเป็นลักษณะ “ตลาดวิชา” ให้ผู้เรียนสามารถเลือกเรียนตามความถนัดหรือความสนใจของแต่ละคนได้เอง การ จากสภาวะทางการศึกษาดังกล่าว ทำให้ผู้เรียนจำนวนไม่น้อยในปัจจุบันอยู่ในภาวะเครียดสะสม
“ผมว่าการศึกษาในระบบโรงเรียนยังไม่ตอบโจทย์ผู้เรียนมากพอในยุคที่ข้อมูลความรู้อยู่รอบตัว การเรียนการสอนยังเป็นลักษณะท่องจำมากกว่าเข้าใจ” วี กล่าว
ทั้งนี้ การสอบเเข่งขันเข้ามหาวิทยาลัยนับเป็นอีกหนึ่ง “จุดเปลี่ยน” ของชีวิต ที่ทำให้หลายคนฟันฝ่า มุ่งมั่น ทุ่มแรงกายแรงใจ เพื่อพิชิตคณะที่ต้องการ บ้างเลือกตามความสนใจ บ้างเลือกตามความถนัด และบ้างก็เลือกตามค่านิยมของสังคม หรือความต้องการของตลาดแรงงาน สิ่งเหล่านี้ สะท้อนถึง “ยอดภูเขาน้ำแข็ง” ของปัญหาในระบบการศึกษาไทย
ด้วยเหตุนี้ วี จึงมองหา “ตัวช่วย” นำทาง พาให้เขาไปถึงฝั่งฝันทางการศึกษาและอาชีพการงาน โดยเขาได้ใช้ Plook Explorer ระบบที่ช่วยให้ทุกคนรู้จักตัวตนมากขึ้น และค้นพบตัวเองในเวอร์ชั่นที่ดีกว่า บนเว็บไซต์ https://www.trueplookpanya.com/ เพื่อทำความเข้าใจอย่างถ่องแท้ ข้อดีข้อเสียของแต่ละสาขาอาชีพ เพื่อใช้เป็นแนวทางในการเลือกคณะหลักและสำรองทั้ง 10 อันดับของ TCAS นอกจากนี้ วียังได้ค้นคว้าเจาะลึกถึงการเตรียมพร้อมการประกอบอาชีพวิศวกรผ่านคู่มือ เอื้ออำนวยต่อการวางแผน กิจกรรม ทักษะและสิ่งที่ต้องเตรียมก่อนการสมัครรอบต่างๆ ฯลฯ“ผมมองว่าการศึกษา คือ การเรียนรู้ที่ไม่มีพรมแดน ศาสตร์ทุกศาสตร์ล้วนมีความสัมพันธ์และเชื่อมโยงกันทั้งสิ้น ขอเพียงแต่มีความกระหายใคร่รู้อยู่เสมอ” วี กล่าวทิ้งท้าย
มุ่งมั่นเดินหน้าปลูกจิตสำนึกเยาวชนและคนไทยทั้งประเทศ สร้างแรงบันดาลใจในการอนุรักษ์สัตว์ป่าและป่าไม้ ผ่านการประกวดภาพถ่าย ‘สัตว์มีค่า ป่ามีคุณ’ ต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 29 โดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผนึกกำลังเครือเจริญโภคภัณฑ์ ด้วยการดำเนินงานของ ซีพีเอฟ ซีพีออลล์ และทรู คอร์ปอเรชั่น จัดพิธีมอบรางวัลโครงการปลูกจิตสำนึกอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การประกวดภาพถ่าย 'สัตว์มีค่า ป่ามีคุณ' ประจำปี 2565-2566 พร้อมจัดนิทรรศการภาพถ่ายอันทรงคุณค่า ประจำปี 2565 และ ปี 2566 ณ ลานกิจกรรมชั้น 1 และผนังโค้งชั้น 3 ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
โดยมี นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานเปิดงาน พร้อมด้วย ดร.อาชว์ เตาลานนท์ รองประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช และดร.เนตรชนก วิภาตะศิลปิน หัวหน้าสายงานกลยุทธ์องค์กรและด้านการศึกษา บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น โดยผู้ได้รับรางวัลเกียรติยศในปี 2565-2566 มีดังนี้
- ประจำปี 2566 ระดับบุคคลทั่วไป ประเภทสัตว์มีค่า ภาพพฤติกรรมสัตว์ป่า
นายธีรพงศ์ เพ็ชร์รัตน์ เจ้าของภาพ “ศึกชนช้าง”
- ประจำปี 2565 ระดับบุคคลทั่วไป ประเภทสัตว์มีค่า ภาพสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม
นายปฤษฎิ์ เก่งสูงเนิน เจ้าของภาพ “More than Dream”
- ประจำปี 2566 ระดับบุคคลทั่วไป ประเภทป่ามีคุณ ภาพถ่ายระยะใกล้
นายศราวุฒิ ทองเมือง เจ้าของภาพ “Hoar Frost”
- ประจำปี 2565 ระดับบุคคลทั่วไป ประเภทป่ามีคุณ ภาพทิวทัศน์
นายสุชาติ เกื้อทาน เจ้าของภาพ “ไออุ่นแห่งขุนเขา”
ทั้งนี้ ในปี 2565 และปี 2566 มีเยาวชนและประชาชนทั่วไปเข้าร่วมประกวดทั้งสิ้น 1,126 คน รวม 4,041 ภาพ เป็นการตอกย้ำ และสร้างความตระหนัก ปลูกใจรักสิ่งแวดล้อม รวมถึงการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์สมบัติอันล้ำค่าอันเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติให้ยั่งยืนสืบไป
ปลูกใจรักสิ่งแวดล้อม ทรูปลูกปัญญา